ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
๒๒.
พ่อหัดถีบจักรยานเป็นครั้งแรก
จากจักรยานฮ้างของลุงเริญ
พ่อมีพี่สาวคนโต คือ ป้าจันทร์ศรี กรองมาลัย (สกุลเดิม วงศ์ชะอุ่ม) มีพี่ชายถัดจากพ่อ คือ ลุงเริญ มีน้องชายสองคน คือ น้าเวิน กับ น้าวัง (ครูวิโรจน์ วงศ์ชะอุ่ม) ซึ่งที่ถูกตามศักดิ์แล้ว ทั้งน้าเวินกับน้าวังเป็นน้องชายของพ่อ จึงมีศักดิ์เป็นอาว คนอีสานเรียกน้องชายของพ่อว่า “อาว” และเรียกน้องสาวของพ่อว่า “อา” แต่ทุกคนในบ้านก็เรียกว่าน้ากันมาจนติดปาก ตามพวกพี่ ๆ ทางฝั่งป้า ส่วนพี่อีกคน พ่อเคยได้ยินแม่ใหญ่เล่าว่า ตายตั้งแต่แรกเกิด พอคลอดออกมายังไม่ทันได้ตั้งชื่อก็ตาย
ด้วยความที่ลุงเริญเป็นพี่ชายถัดจากพ่อทั้งลุงเริญกับพ่อจึงสนิทกันมาก
ป้าจันทร์ศรีออกเรือนกับลุงแอ่งไปอยู่บ้านน้อยระยะหนึ่ง ต่อมา พ่อใหญ่แม่ใหญ่อยากให้ป้าจันทร์ศรีมาปลูกบ้านอยู่ใกล้ เพราะตอนนั้น บ้านใหญ่ไม่มีใครแล้ว น้าเวินก็ไม่ค่อยแข็งแรง จะทำนาทำไร่ก็คงลำบาก พ่อใหญ่แม่ใหญ่จึงให้ไปเรียนซ่อมวิทยุ เผื่อจะมีวิชาหากินติดตัว
น้าวังก็บวชเรียนไปอยู่กรุงเทพ พ่อใหญ่จึงให้ป้าจันทร์ศรีมาสร้างบ้านอยู่ใกล้ ๆ ป้าจันทร์ศรี เห็นว่าพ่อใหญ่แม่ใหญ่ ไม่มีใครอยู่ด้วย จึงให้เอื้อยไยมาอยู่กับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ คอยปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือน ทำกับข้าวกับปลาให้พ่อใหญ่แม่ใหญ่กิน
พ่อเล่าว่า ตอนนั้นป้าจันทร์ศรียังอยู่บ้านหลังเก่า ตรงบ้านเอื้อยไย ปัจจุบัน ที่ดินตรงนั้นพ่อใหญ่ได้มาเป็นค่าจ้างจากการเอาเกวียนแก่ฝุ่นใส่นาแม่พ่อใหญ่บุญเตี้ยให้ที่ดินเป็นค่าจ้าง ตอนนั้น คิดเป็นเงินก็ราว ๓๐๐ หรือ ๔๐๐ บาท พ่อเองก็จำไม่ได้ คงแก่เกวียนหลายเที่ยวรวมกัน
ส่วนพ่อออกมาปลูกเฮือนอยู่บ้านน้อย ในที่ดินพ่อใหญ่เล็ด ตอนนั้นยังเป็นบ้านหลังเล็กใช้ไม้เก่าจากบ้านย่าหอมสร้าง พ่อใหญ่เล็ดให้ที่ดิน ส่วนพ่อใหญ่โทนให้บ้าน “พ่อเถ้า(พ่อตา) ให้ที่ อีพ่อให้เฮือน” ต่อมา พ่อใหญ่คงเห็นลูกอยู่บ้านหลังเก่า จึงบอกให้พ่อไปตีกราไม้ยางไว้สร้างบ้าน หาเงินได้ตอนไหนค่อยสร้าง ให้ตีกราขออนุญาตตัดไม้เอาไว้ก่อน สมัยนั้น ถึงแม้จะเป็นไม้ในบ้านในสวนก็ต้องขออนุญาตทางการก่อน
ส่วนลุงเริญไปมีครอบครัวอยู่บ้านกระโสบ ห่างออกไปราวสองกิโลเศษ แต่ลุงเริญจะถีบจักรยานขึ้นลงมาหาพ่อใหญ่แม่ใหญ่อยู่เป็นประจำ
เวลามีงานบุญบ้านกระโสบ งานบุญบ้านปากน้ำ หรือได้ข้าวปลาอาหารอะไร ดี ๆ มา ลุงเริญก็จะถีบจักรยานจากบ้านกระโสบ เอาอาหารมาส่งพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่บ้านปากน้ำไม่เคยขาด แล้วถีบจักรยานไปหาลุง ป้า น้า อา คนนั้นคนนี้ นั่งคุยกับพี่น้องอยู่พักหนึ่งจึงกลับ
พ่อเล่าว่าพ่อถีบจักรยานเป็นครั้งแรก เพราะเริ่มหัดจากจักรยานฮ้างของลุงเริญ พี่ชายของพ่อ
ลุงเริญมีจักรยานเก่า ๆ อยู่คันหนึ่ง พอขี่ไปไหนมาไหนได้ พ่อเรียกจักรยานของลุงเริญ ว่า “จักรยานฮ้าง” บางทีก็เรียกว่า “จักรยานแก่นหล่อน” เพราะเก่ามากใช้มานานจนเริ่มเหลือแต่โครง
ถึงอย่างนั้นลุงเริญก็ยังใช้ แม้จะเหยียบหนามยางรั่วก็ปะ ซ่อมไปใช้ไป
เวลาลุงเริญมาบ้านปากน้ำ พ่อก็เอาจักรยานของลุงเริญมาหัดถีบจนเป็นจึงอยากได้จักรยานบ้าง แม่ใหญ่บอกว่าอยากได้ก็ตีปอเอา พ่อก็ขะมักเขม้นทำไร่ปอ ตีปอขายได้เงินปีหนึ่งจึงขอแม่ใหญ่ซื้อ แม่ใหญ่ก็ให้เงินไปซื้อ
พ่อบอกว่าตอนลูก ๆ หัดถีบจักรยานใหม่ ๆ ก็หัดจากจักรยานฟิลลิปส์คันนี้ พี่น้องช่วยกันจับ ถีบกลับไปกลับมาตามทางหินแฮ่ จากฮ่มคร้อ นาทามน้อย เถียงนาพ่อใหญ่ ออกไปหานาลุ่ม ล้มบ้าง เข่าถลอกปอกเปิกบ้าง ก็ฝึกก็หัดจนถีบจักรยานเป็นกันทุกคน
ตอนลูก ๆ หัดถีบจักรยาน ต้องสอดขาเข้าด้านข้างปั่นไปเพราะจักรยานผู้ใหญ่มีคาน ด็กขึ้นนั่งอานแล้วขาถีบไม่ถึงตีนปั่นจักรยานจึงต้องสอดขาเข้าด้านข้าง
จักรยานจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเดินทางของชาวบ้าน จะไปไหนมาไหน ก็ต้องใช้จักรยาน ยิ่งเวลาเดินทางระหว่างหมู่บ้านก็ยิ่งจำเป็น เพราะแต่ละหมู่บ้านอยู่ห่างกันหลายกิโล
สองข้างทางระหว่างหมู่บ้าน ตลอดจนทางไปไร่ไปนา ทางลงบุ่งลงมูล ยังเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ๆ บางช่วงก็ยังเป็นป่าบักแงว ป่าบักผีผ่วน บักยางเครือ และบักคายข้าว จะไปมาหาสู่กันต้องใช้เวลามาก การมีจักรยานจะช่วยย่นระยะการเดินทางได้
ทางจากบ้านกระโสบมาบ้านปากน้ำก็ยังเป็นป่า ยิ่งช่วงขึ้นค้อยขุมหิน เวลากลางค่ำกลางคืน ไม่มีใครอยากผ่านไป
แต่พอเมืองขยายออกมา ถนนเริ่มดี คนเริ่มถางป่าปลูกยาง ป่าก็หมดไป พอมีมอเตอร์ไซค์ การเดินทางสะดวก
ตอนครูบาบวชเณรต้องไปบวชที่บ้านกุดลาด พ่อก็ปั่นจักรยานให้ครูบาซ้อนท้ายพาไปบวช แต่ตอนนั้น พ่อขายจักรยานฟิลลิปส์ และซื้อจักรยานคันใหม่แล้ว เป็นจักรยานคันสีแดง พอถึงค้อยคลองไผ่ และค้อย*แม่ใหญ่คำตาต้องลงจูง ให้ครูบาเดิน พอจูงขึ้นค้อยได้ จึงขึ้นจักรยานปั่นต่อ พอถึงป่าทางเข้าบ้านกุดลาด เป็นทางเกวียนดินทราย สองข้างทางยังเป็นป่ายางนาและป่ายางเครือ ต้องลงจูงอีก พอถึงวัดบ้านกุดลาด อุปัชฌาย์พรก็บวชให้ บวชเสร็จก็ให้เณรซ้อนท้ายจักรยานพากลับมาถึงวัดที่บ้าน ก็พอดีตีกลองเพลทันฉันเพล
ด้วยสภาพของถนนหนทางในยุคนั้นยังไม่ดี บางช่วงขึ้นถีบจักรยานไปได้ แต่บางช่วงต้องขึ้นมอ และบางช่วงก็เป็นทางดินทราย ถีบจักรยานไม่ได้ ต้องลงจูงจักรยานเดินไป พ่อจึงจำไปว่า พาลูกเดินไปบวชที่บ้านกุดลาด
“แนวมันดน โตกะจำบ่ค่อยได้ คึดว่าพาลูกย่างไปบวชกับญาถ่านพร บ้านกุดลาด สิแม่นถีบจักรยานไป บาดย่างกะมี บาดถีบจักรยานกะมี”
ตอนนั้นไปกันสองคนกับพ่อกี๋ แม่เสริฐ พ่อของเณรทัศน์ ส่วนพ่อถ่านไม่ได้ไป
ท่านนิมนต์พระอุปัชฌาย์พร วัดบ้านกุดลาดไว้ให้แล้ว พอโกนหัวเสร็จท่านก็เอาผ้าไตรมาให้พาครูบาไปบวช เณรรูปอื่นบวชกันไปก่อนหน้านี้นานแล้ว ครูบาขอบวชพ่อก็ไม่อยากให้บวช อยากให้ช่วยแม่ตัดไม้เผาถ่าน ตอนนั้น กำลังเผาถ่านขายได้ราคา ได้เงินพันห้าพันหกก็ไม่ธรรมดา เดี๋ยวก็ว่าคนนั้นบวช เดี๋ยวก็ว่า คนนี้บวช ลูกอยากบวชมาขอก็นึกสงสารจึงยอมให้บวช
พ่อเล่าว่า ตอนครูบาบวชเณรใหม่ ๆ พ่อใหญ่แม่ใหญ่ก็เหงาไปเหมือนกัน คงคิดถึงหลานเพราะตอนยังเด็ก ไปไหนมาไหน ครูบาไม่เคยห่าง นอนนาก็นอนอยู่กับพ่อใหญ่ ไปหาปูหาหาปลาก็นั่งหัวเรือไปด้วย ต้นมะม่วงที่ครูบาปลูกไว้ ใครแตะไม่ได้ จะตัดทิ้งปลูกอย่างอื่น ก็ไม่ยอมให้ตัด เสื้อผ้าที่ครูบาใส่วันบวชเณร แม่ใหญ่ก็เอาไปเก็บไว้เอง
พ่อเริ่มหัดถีบจักรยานจากจักรยานฮ้างของลุงเริญ พี่ชายของพ่อ แม้วันนี้พี่น้องของพ่อจะล่วงไปเกือบหมดแล้ว ยังเหลือเพียงพ่อกับน้าเวินน้องชายคนเล็กเท่านั้น แต่พ่อก็ยังมีความทรงจำที่ดีกับพี่น้องอยู่เสมอ
๒๒ “พ่อหัดถีบจักรยานเป็นครั้งแรก จากจักรยานฮ้างของลุงเริญ”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร