ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ส่วนหนึ่งจากคำนำ
“ในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิบากกรรมจากโทษของวัฏฏะอย่างหนักหน่วง กินระยะเวลายาวนานหลายปี (พุทธศักราช ๒๕๖๑ – ๒๕๖๗ : ขณะเขียนคำนำ) บางช่วงบางเวลา มีโอกาสได้นั่งทบทวนอะไรบางอย่าง วันคืนก็ล่วงไป ล่วงไป ไม่ได้ล่วงไปเปล่า แต่กำลังได้ถดถอยลงไปด้วย อายุมากขึ้น ชีวิตก็เหลือน้อยลงทุกขณะ อะไรที่ทำแล้ว และอะไรที่เคยตั้งใจเอาไว้ แต่ยังไม่ได้ทำ ก็ควรลงมือทำเสียตั้งแต่วันนี้ ไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท
“ควรทำความเพียรเสียตั้งแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะตายหรือไม่ ฯ” (พระพุทธพจน์)
การมาของวัยชราทำให้ร่างกายของโยมพ่อและโยมแม่กลายเป็นที่ประชุมแห่งโรค ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอันสามัญของชีวิต คงใกล้จะมาถึงในอีกไม่ช้า การทำอะไรไว้เป็นเครื่องอนุสรณ์ถึง ในขณะที่โยมทั้งสองยังรับรู้ได้ ชื่อว่าเป็นการสนองพระคุณในความกตัญญูอย่างหนึ่ง
แม้ระหว่างนี้จะยังอยู่ในช่วงที่โทษของวัฏฏะตามบีบคั้นอย่างไม่ลดละ สถานการณ์ชีวิตพลิกผันไปตามความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ในแต่ละวัน แต่เมื่อคำนึงถึงพระพุทธพจน์ข้างต้น ก็ทำให้ไม่อาจวางใจลงในความประมาทได้ จึงหาเวลาสนทนากับโยมพ่อด้วยเรื่องสัพเพเหระ ตามโอกาสอันควร อันจะเป็นการเติมเต็มความปรารถนาในใจให้ถึงความบริบูรณ์
บางแง่มุมในการสนทนา ก็เป็นเรื่องของการหาเลี้ยงปากท้อง ตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชราของโยมพ่อ ตามวิถีชีวิตชาวบ้านอันธรรมดาแต่ก็แฝงไว้ด้วยปูมหลัง พื้นประวัติ ภูมิปัญญา คติชน และความเชื่อ อันเป็นรากฐานของชุมชน บางแง่มุมในการสนทนาของบางวัน กลับดิ่งลึกลงไป ในความคิดอันแหลมคม ทำให้เห็นชีวิตในความหมายของคำว่า “พ่อ” ยิ่งกว่าบทเทศนาว่าด้วยความกตัญญูใด ๆ
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา (พุทธศักราช ๒๕๖๔ ) หลังการสนทนาจบลงในแต่ละครั้ง จึงหาข้อมูลเพิ่มเติม และเริ่มเรียบเรียงถ้อยคำของโยมพ่อ ออกเป็นตัวหนังสือ เป็นที่มาของ ๕๕ ความเรียงจากบทสนทนา ระหว่างพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ญาณวชิระ
พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร,
มกราคม ๒๕๖๗
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๑๖ “วิถีของคนหาปลา” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๑๖
วิถีของคนหาปลา
ชาวบ้านปากน้ำมีเครื่องมือหาปลาหลายชนิด และมีวิธีหาปลาหลายวิธี ส่วนเครื่องมือจับปลาก็จะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล และตามชนิดของปลาที่จะจับ
ยิ่งช่วงฤดูกาลหาปลาขาย บุ่งสระพังจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนหาปลาขาย ส่งเสียงถามกันไปมาทั้งวันไม่ขาดระยะ กลางค่ำกลางคืนไม่ว่าจะดึกดื่นแค่ไหน บุ่งสระพังก็จะวอม ๆ แวม ๆ ไปด้วยแสงไฟจากหัวเรือคนยามมอง ยามตุ้ม ยามไซ
บางทีฝนใหม่ก็วิ่งไล่จับปลาบืนโคกตามน้ำหลากขึ้นไปหาบึงวังใหม่ บางที หัวลมอ่วยพัดหนาวมาวอย ๆ แล้งจะมา ปลาก็บืนหนีน้ำขอดลงไปหาหนองใหญ่ พ่อเล่าถึงวิธีหาปลาของชาวบ้านปากน้ำไว้หลายวิธี ส่วนจะใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับว่าใครถนัดเครื่องมือหาปลาแบบไหนหรือใช้จับปลาชนิดใด ได้เก็บรวบรวมวิธีที่ชาวบ้านใช้หาปลาจากคำสนทนาของพ่อ พอสรุปได้ ดังนี้
ลงต้อน การลงต้อนต้องใช้เผือก หรือ เผียก*(*เผือก หรือ เผียก คือ แนวกั้นปลาทำจากริ้วไม้ไผ่ม้วนพันไว้) กั้นเป็นแนวจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ขวางทางปลาเอาไว้ แล้วทำคอกดักปลาไว้สองหรือสามจุด เปิดทางให้ปลาออกไปติดอยู่ในคอกดักปลา พอปลาหาทางออกไปตามเผือกจนเจอทางออก ก็จะไปติดอยู่ในคอกดักปลา
กางมอง มองจะถูกกางเอาไว้ตอนเย็น ตื่นเช้ามาจึงไปยามเอาปลามาทำกินงาย พอเย็น ๆ ก็ไปยามอีกที เผื่อมีปลาติด จะได้เอาไปทำกินแลง บางที ก็ยามแค่ตอนเช้ารอบเดียว วันต่อไป ค่อยมายามใหม่อีกที
เมื่อกางไว้หลายวันแล้ว เห็นว่า ปลาเริ่มไม่ติดมองแล้ว ก็กู้มองย้ายไปหาที่กางใหม่
ถ้าเป็นช่วงหาปลาขายต้องได้ปลาที่ยังเป็น ๆ ใส่กระชังขังเอาไว้ ต้องยามมองหลายรอบ ช่วงนั้นจึงต้องนอนนา หรือทำตูบนอนอยู่ตามท่าน้ำ เพราะต้องยามมองหลายรอบ รอบสุดท้ายของวันจะลุกขึ้นมายามราวตีสามตีสี่ เวลาขังปลา ต้องให้ส่วนบนของกระชัง พ้นน้ำขึ้นมา เพื่อให้ปลาขึ้นหายใจ เพราะถ้าไม่มีที่ขึ้นหายใจ ปลาในกระชังก็จะตาย
ไล่มอง เป็นการไล่ปลาให้ไปติดมอง การไล่มองต้องเลือกทำเลที่คิดว่ามีปลาอาศัยอยู่ เช่น ตามกองเยาะ เฟือยไม้ ป่าจอก ป่าแหน เป็นต้น พอกางมองเสร็จก็ยืนบนหัวเรือใช้ไม้ไล่มองตีไปตามน้ำ ตามพุ่มไม้ ตามกองเยาะ จอกแหน สำหรับไม้ไล่มองจะทำจากไม้ไผ่ยาวราว ๓ – ๔ วา ตรงหัวไม้ไล่มองจะใส่ห่วงเหล็กเอาไว้หลายห่วงเพื่อให้เกิดเสียง พอตีลงน้ำ หรือกระทุ้งไปตามพุ่มไม้ ปลาได้ยินเสียงห่วงเหล็กกระทบกันก็จะตกใจวิ่งไปติดมอง
จากนั้น จึงกู้มอง ปลดเอาปลา แล้วพายเรือย้ายที่กางใหม่ กะว่า ได้พอแลงพองายแล้วก็เลิก
ไหลมอง การหาปลาด้วยวิธีไหลมองจะใช้ในแม่น้ำมูล ต้องกางมองขวางทางน้ำไหล ผูกป่อมมอง*ไว้เป็นช่วง ๆ ปล่อยให้น้ำพัดมองไหลไปตามกระแสน้ำ ได้ระยะไกลพอประมาณ จึงกู้มองปลดเอาปลา จากนั้น จึงพายเรือทวนน้ำกลับขึ้นมา แล้วกางมองให้ไหลไปตามน้ำใหม่อีกที (*ป่อมมอง คือ ทุ่นที่ทำจากป้องไม้ไผ่ โฟม ขวดพลาสติกเปล่า หรือวัสดุอื่นใดที่ลอยน้ำได้)
การหาปลาด้วยวิธีไหลมอง จะหาในช่วงที่แม่น้ำมูล หรือน้ำบุ่งขึ้นสูง น้ำจะไหลแรง พัดพาเอามองไหลไปตามสายน้ำ โดยมากมองที่ใช้ไหลในแม่น้ำมูลจะเป็นมองตาใหญ่ สำหรับจับปลาใหญ่ ส่วนในบุ่งจะเป็นมองตาขนาดกลางและเล็ก เพราะบุ่งเป็นที่อาศัยของปลาเล็ก
เอาเยาะ “กองเยาะ” คือ การตัดฟดไม้*(*ฟดไม้ คือ กิ่งไม้) ขอนไม้ ตอไม้ ลงใส่น้ำบุ่งไว้เป็นกอง ๆ ปล่อยทิ้งไว้สองเดือน สามเดือน ให้ปลาเข้ามาอาศัย จากนั้น จึงใช้เผือกล้อมกองเยาะเอาไว้ ขนต้นไม้ กิ่งไม้ ขอนไม้ออก แล้วพันเผือกล้อมเอาปลา โดยมากการทำกองเยาะ จะทำในหน้าแล้ง ในที่น้ำไม่ลึกมาก เพราะถ้าน้ำลึก นอกจากทำกองเยาะยากแล้ว ความสูงของเผือกจะไม่พอด้วย
การลงเอาเยาะ จะเอาตอนมีบุญเดือนสี่ หรือมีงานบุญอย่างอื่น
ใส่จั่น “จั่น” คือ เครื่องดักปลาชนิดหนึ่ง การจับปลาด้วยจั่น ต้องเอาจั่นไปวางตามริมน้ำ ใต้พุ่มไม้บ้าง กอหญ้าบ้าง กอผือบ้าง ให้ปลาเข้ามาติดจั่น ตอนเช้าหรือเย็นก็จะไปยามจั่น โดยมากปลาที่ติดจั่น จะเป็นปลาช่อน ปลาดุก หรือปลาบู่
ขุดสา*(*ขุดสา คือ ขุดหลุมดักปลา) คือ การขุดดินริมน้ำให้เป็นหลุม ป้านคูกั้นไว้ แล้วเอาฟดไม้ กิ่งไม้ ขอนไม้ไปใส่ลงไป เอาต้นกก ต้นผือ และต้นหญ้าปลูกให้ขึ้นเป็นธรรมชาติ เปิดปากสาไว้ราวศอกหนึ่ง เพื่อให้ปลาเข้ามาอาศัย ปล่อยทิ้งไว้หลายเดือน จึงไปปิดปากทางคูสาเอาไว้ เอาคันโซ่สาน้ำออก* แล้วขนไม้ออกจากสาจับเอาปลา จากนั้นก็ทำไว้อย่างเดิม (*คันโซ่ คือ เครื่องมือวิดน้ำ, *สาน้ำออก คือ วิดน้ำออก)
สักสุ่ม การสักสุ่ม คือ การใช้สุ่มสักไปตามน้ำที่คิดว่าจะมีปลา ถ้าสักถูกปลา ปลาจะวิ่งชนสุ่มดังตึก ๆ ก็จะรู้ว่า มีปลาติดสุ่ม จึงงมจับเอา ส่วนมากจะไปหาสักสุ่มตามซ้ง และหนองต่าง ๆ
ใส่บั้งลัน “บั้งลัน” คือ เครื่องมือจับเอี่ยน* (*เอี่ยน คือ ปลาไหล) บั้งลันจะทำจากป้องไม้ไผ่ยาวราวสองวา โดยเจาะบ้องไม้ไผ่ให้ทะลุถึงกัน ด้านปากบั้งลัน จะถักงาแซงจากไม้ไผ่ให้เป็นลิ้นทางเอี่ยนเข้า ใช้ใส้เดือนเป็นเหยื่อ วางไว้ตามน้ำ พอเอี่ยนเข้าบั้งลัน ก็จะติดงาแซงออกไม่ได้
ใส่ตุ้ม “ตุ้ม” คือ เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ใช้ไม้ไผ่สาน รูปคล้ายข้อง มีงาแซงถักจากด้ายและริ้วไผ่อยู่ด้านข้าง เป็นลิ้นสำหรับให้ปลาเข้า ตุ้มมีหลายชนิด ทั้งชนิดสานตาห่าง ใช้ดักปลาใหญ่ และสานตาถี่ ใช้ดักปลาเล็ก เรียกตุ้มลาน ถ้าทำรองรับปลาที่ก้นลี้ จะมีขนาดใหญ่และยาว เรียกว่า ตุ้มต่งปลา
เหยื่อสำหรับใส่ตุ้มหล่อปลา จะทำจากข้าวปลายปั้นเป็นก้อน แล้วนึ่งให้สุกใส่ไว้ในตุ้มให้ปลาเข้ามากิน
ใส่ไซ “ไซ” คือ เครื่องมือดักปลาชนิดหนึ่ง ใช้ในน้ำไม่ลึก สำหรับดักกุ้ง และปลาเล็กปลาน้อย ใส่ขวางทางน้ำไหล วิธีใส่ไซ จะป้านคูขั้นขวางทางน้ำ แล้วเปิดช่องระบายให้น้ำไหลผ่านเพื่อเป็นทางให้กุ้งและปลาออกมาติดไซ
ทำหลี่ คือ วิธีทำแนวกั้นดักปลาระหว่างฮ่องขนาดเล็ก โดยมากจะทำในหน้าฝน เพราะปลาจะมาตามน้ำที่ไหลไปตามฮ่อง การทำหลี่จะต่างจากการลงต้อน เนื่องจากหลี่จะมีขนาดเล็กและเป็นช่วงสั้น ๆ ตามความแคบของฮ่อง ส่วนการลงต้อนจะทำข้ามน้ำที่มีช่วงกว้างและรวมกันทำหลายเจ้า
ส้อนกุ้ง ใช้สวิง หรือกะแหง่งส้อนกุ้งพอน้ำบุ่งลด น้ำที่หัวบุ่งก็จะงวดลงตามไปด้วย สิ่งที่มาก คือ กุ้งฝอย และปลาแก้ว กุ้งฝอยและปลาแก้วจะชอบติดกะแหง่งตอนหัวค่ำ นอกจากจะทำส้มปลาจ่อม*ดีแล้วยังทำปลาแดกต้วงรสดีด้วย* (*ส้มปลาจ่อม หรือ ส้มปลาน้อย คือ วิธีถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินนาน ๆ บางทีทำจากกุ้ง ก็เรียกว่า จ่อมกุ้ง) (*ปลาแดกต้วง คือ ปลาร้าที่มีรสหอมหื่นใช้ตำส้มตำให้รสอร่อยดี)
อุปสรรคของการส้อนกุ้งตอนหัวค่ำ คือ ตัวริ้นจะเยอะมาก เวลาริ้นกัด จะคันยุบยิบไปตามตัว
ใส่เบ็ด วิธีใส่เบ็ดจะมีสองแบบ ได้แก่ ใส่เบ็ดเผียด คือ เบ็ดราว จะเอาเชือกผูกโยงไปตามน้ำ แล้วเอาด้ายผูกเบ็ดเสียบเหยื่อหย่อนไปเป็นระยะ โดยมาก เบ็ดเผียดใช้จับปลาสะธง อีกวิธีหนึ่ง ใส่เบ็ดคัน จะเสียบเหยื่อปักไปตามริมน้ำเป็นระยะ ๆ เหยื่อที่เสียบเบ็ด ก็จะต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่า ใส่เบ็ดปลาอะไร
นอกจากเบ็ดปลาแล้วก็ยังมีเบ็ดกบ ลักษณะเบ็ดกบจะใหญ่กว่าเบ็ดปลา จะมีหลักสูงราวหนึ่งศอกสำหรับปักลงดิน เชือกที่ใช้ผูกเบ็ดกบก็ต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีก เพราะกบจะมีแรงมากกว่าปลา
ขัวหอย หน้าแล้งหอยจะเข้าปลักอยู่ตามหนองที่แห้ง คนขัวหอยจะใช้เสียมขุดซัวะไปตามหนองที่แห้ง เรียกว่า ขัวหอย (*ขัว คือ ขุด หรือ ซัวะ) พอได้หอยมาแล้ว ต้องเอามาแช่น้ำเอาไว้วันสองวันให้หมากหอยคายดินออกก่อน จึงเอาไปต้มหรืออ่อมกินได้ ไม่อย่างนั้นก็จะหยาลิ้นหยาปาก (*หยา คือ สากลิ้น)
โฮงแมบ เครื่องมือดักปลาชนิดหนึ่ง ทำจากสังกะสี พอสังกะสีกระทบกับแสงอาทิตย์ก็จะเกิดแสงสะท้อนเข้าตาระยิบระยับ ปลากุ่มปลาส้อยตกใจจะกระโดดขึ้นเหนือน้ำมาตกใส่เรือ ที่เรียกโฮงแมบก็คงเรียกตามอาการที่สังกะสีกระทบอาทิตย์เกิดแสงวาวระยิบระยิบ ภาษาอีสาน เรียกว่า “เหลื่อมแมบ ๆ”
ปัจจุบันภูมิปัญญาการหาปลาด้วยวิธีนี้ได้หายไปจากหมู่บ้าน จนไม่มีใครรู้วิธีทำเครื่องมือหาปลาชนิดนี้แล้ว
จากคำสนทนาของพ่อ ชาวบ้านปากน้ำมีชีวิตอยู่กับบุ่งกับมูล จึงมีเครื่องมือหาปลาหลายชนิด และมีวิธีหาปลาหลายวิธี เครื่องมือจับปลาจะปรับไปตามฤดูกาล และชนิดของปลาที่จะจับ พอถึงหน้าแล้งตามบุ่งสระพังตั้งแต่ปากบุ่งถึงหัวบุ่งจะได้ยินเสียงไม้ไล่มองตีน้ำตูมตาม ๆ ตรงโน้นทีตรงนี้ไม่ขาดระยะ เสียงห่วงเหล็กจากปลายไม้ไล่มองกระทบกันฉาง ๆ ทำให้บุ่งสะพังไม่เงียบเหงา
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
แม้พ่อจะรู้วิธีหาปลาในบุ่งทุกวิธี และมีเครื่องมือจับปลาหลายชนิด แต่พ่อก็เลือกที่จะกางมอง ไล่มองเป็นวิธีหาปลาของพ่อ