“เกวียนได้หายไปจากหมู่บ้านมานานแล้ว จนไม่รู้ว่าเกวียนคันสุดท้ายของหมู่บ้านเป็นของใคร แต่วัวคู่สุดท้ายของพ่อหมดไปตอนสร้างบ้านหลังใหม่ ส่วนเกวียนสร้างชีวิตของพ่อได้ถวายวัดเพื่อเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์”
“แม้การเดินทางของชาวบ้านจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และทุกวันนี้ก็ไม่มีใครใช้เกวียนแล้ว แต่ละบ้านแต่ละเรือน ต่างคนต่างมีมอเตอร์ไซค์ และปิกอัพขับขี่ไปไร่ไปนา แต่สำหรับพ่อแล้ว เกวียนยังเป็นความทรงจำที่ดีของพ่อเสมอ”
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๑๑ “วัวคู่แรกและเกวียนของพ่อ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
๑๑.
วัวคู่แรกและเกวียนของพ่อ
เกวียน คือ พาหนะที่สำคัญ
ในการเดินทางของคนนาไกลในยุคของพ่อ
บ้านไหนเฮือนไหนมีเกวียนก็สะดวกในการไปนาไปไร่ ทั้งยังใช้รับจ้างแก่ไม้* แก่ถ่าน แก่ข้าว แก่ปอหาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้ (*แก่ คือ ขน บรรทุก หรือ ลาก) ส่วนมากคนนาหัวบุ่ง มีนาไกล ต้องมีเกวียนเทียวนา ไม่ว่าจะเป็นพ่อใหญ่*(*คือ พ่อใหญ่โทน หรือ ปู่โทน) พ่อใหญ่ทา พ่อใหญ่เบย พ่อใหญ่พวง ต่างก็มีเกวียนกันทั้งนั้น
แต่เกวียนก็ไม่ใช่สิ่งที่จะหาได้ง่ายเพราะเกวียนคันหนึ่ง* (*คัน คือ เล่ม) กับวัวคู่หนึ่งมีราคาไม่น้อยสำหรับคนสมัยนั้น ยิ่งวัวคู่งามฝึกหัดจนแก่เกวียนชำนาญแล้ว ก็ยิ่งมีราคาสูง
ใครมีวัวเทียมเกวียนคู่งามก็เป็นต้องได้อวดได้คุยกันเลยทีเดียว
ด้วยความที่วัวเทียมเกวียนคู่หนึ่งมีราคาสูง คนที่มีเกวียนในหมู่บ้านปากน้ำจึงแทบจะนับหลังคาเรือนได้
พ่อเป็นคนหนึ่งที่มีเกวียนตั้งแต่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว พอออกเรือนจากบ้านพ่อใหญ่มาปลูกบ้านของตัวเอง อยู่บ้านน้อยบนที่ดินที่ตาให้แม่ (*คือ พ่อใหญ่เล็ด วงศ์หอม) พ่อก็เริ่มเก็บเงินซื้อเกวียน
พ่อเริ่มจากซื้อวัวน้อยเอามาขุน* เอามาฝึก (*ขุน คือ เลี้ยง ดูแลประคบประหงมอย่างดีจนอ้วนพี) พอได้ราคาก็จะขายซื้อวัวคู่ใหม่มาขุนอีก จนมีเงินพอซื้อวัวคู่งามได้ในที่สุด
เวลาขับเกวียนไปนา พ่อจะฮัมเพลงในลำคออย่างสบายอารมณ์ บางที เด็ก ๆ เห็นก็วิ่งมาแขวนท้ายเกวียนสนุกสนานไปตามเรื่อง
แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
พ่อเล่าว่า
มีนาอยู่ไกลถึงหัวบุ่ง สงสารลูกเล็ก ๆ เดินไปนาไกล จึงต้องมีเกวียนเอาไว้ พอให้ลูกได้ขี่ไปนา ยิ่งนาดงบะเฮนยิ่งไกลออกไปอีก ต้องมีเกวียนไว้ขนข้าวขนของ ขนฝุ่น ลงไร่ลงนา
“ตอนนั่น เห็นนาไกล คึดหลูโตน*ลูกย่างเทียวนา เลยอยากมีเกวียนไว้แน่ พอได้ให้ลูกขี่ไปไฮ่ไปนา (หลูโตน* คือ สงสาร) “ตอนนั่น เห็นนาไกล คึดหลูโตน*ลูกย่างเทียวนา เลยอยากมีเกวียนไว้แน่ พอได้ให้ลูกขี่ไปไฮ่ไปนา (หลูโตน* คือ สงสาร) ตอนครูบายังน้อย ๆ ตกเกวียนตายคืน พอจำได้อยู่บ่ แม่เลาขับเกวียนเมือนา มาฮอดทางลงโสก นาหัวบุ่ง ม้องตอยางใหญ่ จักแม่นงัวตื่นหยัง จั้งจังใด๋กะแล่นบ่หยุด จนมาฮอดฮ่มคร้อ”
ก่อนจะมีวัวเกวียนใช้ พ่อซื้อขายวัวเก็บเงินมาระยะหนึ่ง วัวเกวียนคู่แรกของพ่อซื้อมาจากพ่อใหญ่ทา ย่าสี วันหนา เป็นลูกวัวยังโตไม่เต็มที่ ยังลากเกวียนไม่เป็น ซื้อมาด้วยราคา ๓,๐๐๐ บาท เท่ากับตกตัวละหนึ่งพันห้าร้อยบาท แต่พ่อมีเงินแค่ ๒,๐๐๐ บาท จึงให้เท่านั้นไปก่อน พ่อบอกว่า ตีปอขายได้แล้วจึงจะเอาไปให้อีก ๑,๐๐๐ บาท
สำหรับเงินจำนวน ๓,๐๐๐ บาท เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว นับว่า เป็นเงินจำนวนไม่ใช่น้อย
ส่วนเกวียนคันแรกพ่อซื้อมาจากพ่อใหญ่คำทน ประสานพิมพ์* ราคา ๓๐๐ บาท (พ่อใหญ่คำทน* คือ โยมพ่อของพ่อถ่านจันทร์) พ่อใหญ่คำทนเลิกใช้แล้ว จอดทิ้งไว้ใต้ถุนบ้าน พ่อจึงขอซื้อต่อมาซ่อมใช้ พ่อใหญ่คำทนก็ขายให้
พ่อเล่าว่า ซื้อวัวมาตอนแรกยังไม่เป็นเกวียน* (*ไม่เป็นเกวียน คือ เทียมเกวียนยังไม่เป็น) จึงต้องซื้อมาฝึกมาหัดเอง เพราะถ้าซื้อวัวเป็นเกวียนแล้วราคาจะแพง พ่อไม่มีเงินพอ ตอนฝึกวัวเทียมเกวียนคู่แรก พ่อเป็นคนขับ แม่เป็นคนจูง หัดกลับไปกลับมาจากนาทามน้อยมาหานาลุ่ม เพื่อให้วัวคุ้นเคยกับเกวียน
พ่อขุนวัวคู่แรกอย่างดี ประคบประหงม ทั้งเลี้ยงทั้งเกี่ยวหญ้ามาให้กิน ใช้เวลาฝึกอยู่พักหนึ่งจึงลากเกวียนเป็น แล้วพ่อก็ใช้ขนปอ ขนถ่านขนแตง ขนพริก ขนถั่ว ขนมะเขือเทศ ขนดอกบัว และฝักบัวให้แม่ไปขายในเมือง แต่วัวเกวียนคู่นี้เอาไปรับจ้างเหมือนคนอื่นยังไม่ได้ เพราะเป็นวัวน้อย
พ่อขายวัวเกวียนคู่แรก ตอนไปเผาถ่านอยู่นาดงบะเฮน กำลังเลี้ยงวัวอยู่ คนบ้านยางมาหว่านแหหาปลาที่ชลประทานเห็นเข้าจึงขอซื้อ พ่อเห็นว่าวัวตัวหนึ่งขุนไม่ขึ้น ขนาดขุนอย่างดี เกี่ยวหญ้ามาให้กินก็ยังไม่โต แคระแกร็น ถึงแม้พ่อจะฝึกหัดจนลากเกวียนเป็นแล้ว ก็จำใจยอมขายในราคา ๔,๕๐๐ บาท แล้วพ่อก็มาซื้อวัวเกวียนคู่ใหม่ในราคา ๔,๓๐๐ บาท แต่ขุนอย่างไรก็ไม่อ้วนไม่พีอีกเหมือนกัน จึงขายทั้งวัวทั้งเกวียนพร้อมกัน
ต่อมา พ่อซื้อวัวคู่ใหม่ที่เทียมเกวียนเป็นแล้วจากพ่อใหญ่เบย กำไรงามในราคา ๔,๐๐๐ บาท แม้จะดูผอมแต่ก็มีลักษณะของวัวคู่งาม แล้วขอซื้อเกวียนจากปู่มี วงศ์ชะอุ่ม (*พ่อเรียกอาวมี) ซึ่งเป็นน้องชายพ่อใหญ่ ในราคา ๑,๐๐๐ บาท เป็นเกวียนที่ยังใหม่ เครื่องเกวียนทุกอย่างยังสมบูรณ์ดี ปู่มีทำเสร็จใหม่ ๆ ยังใช้ได้ไม่กี่ครั้งก็เลิกอาชีพรับจ้างลากเกวียน พ่อเห็นว่า ปู่มีจอดทิ้งไว้ใต้ถุนบ้านเฉย ๆ ไม่ได้ใช้งานแล้วจึงขอซื้อมาใช้ พ่อตั้งใจขุนวัวคู่นี้ เกี่ยวหญ้าเกี่ยวผือให้กินจึงอ้วนถ้วนสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วพ่อก็เอาไปรับจ้างแก่ไม้แก่ปอหาเงิน
หลังจากนั้นพ่อก็ใช้วิธีซื้อวัวมาเลี้ยง รับจ้างขนปอขนไม้หาเงิน เมื่อขุนอ้วนถ้วนดี พอได้ราคาก็ขายไป วัวคู่สุดท้ายของพ่อถูกขายไปตอนสร้างบ้านหลังใหม่ เงินไม่พอจึงยอมตัดใจขายวัวเกวียนมาสร้างบ้าน เมื่อเกวียนขาดวัวเทียมจึงถูกจอดทิ้งไว้ แล้วพ่อก็เลิกอาชีพรับจ้างแก่เกวียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมา พ่อได้นำเกวียนไปถวายวัดบ้านปากน้ำเพื่อเข้าพิพิธภัณฑ์ บางครั้งไปช่วยงานวัดพ่อ ก็แอบแวะดูเกวียนที่พ่อเคยใช้รับจ้างหาเงินเลี้ยงลูก ซึ่งเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์
“บางเถื่อไปซ่อยงานวัด คึดอยากเห็นเกวียนเคยไซ้* กะย่างไปส่องเบิ่งอยู่ พ่อถ่านเพิ่นเอาเข้าพิพิธภัณฑ์” (*เคยไซ้ คือ เคยถูกใช้งาน)
เมื่อสร้างบ้านเสร็จ เงินหมดเนื้อหมดตัว ทั้งบ้านไม่มีเงินเหลือแม้แต่บาทเดียว จึงจำใจบากหน้าไปขอยืมเงิน ๖,๐๐๐ บาท จากแม่ใหญ่ (*คือ แม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม) มาเป็นทุนสร้างตัว
พ่อบอกว่า นั่นคือ ครั้งแรกที่พ่อกลับไปขอหยิบยืมเงินจากพ่อจากแม่ นับตั้งแต่มีครอบมีครัวเป็นของตัวเอง
พอได้เงินจากแม่ใหญ่จึงไปซื้อวัวที่หมายตาไว้ทันที จูงวัวยังไม่ทันถึงบ้านก็มีคนถามซื้อในราคา ๖,๕๐๐ บาท พ่อเล่าว่าวันนั้นยังไม่ทันถึงบ้านพ่อก็ได้กำไรจากการขายวัว ๕๐๐ บาท พ่อมองเห็นทางที่จะหาเงินจากการค้าขายวัว แล้วพ่อก็ใช้เงินที่ยืมมาจากแม่ใหญ่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่อีกครั้ง ซื้อวัวซื้อควายมาขุนได้ราคาก็ขายไป ทั้งเลื่อยไม้ ทั้งเผาถ่านขาย พอเก็บกำเงินได้บ้าง ก็เริ่มทยอยเอาไปคืนแม่ใหญ่
เกวียนได้หายไปจากหมู่บ้านมานานแล้ว จนไม่รู้ว่าเกวียนคันสุดท้ายของหมู่บ้านเป็นของใคร แต่วัวคู่สุดท้ายของพ่อหมดไปตอนสร้างบ้านหลังใหม่ ส่วนเกวียนสร้างชีวิตของพ่อได้ถวายวัดเพื่อเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์
แม้การเดินทางของชาวบ้านจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และทุกวันนี้ก็ไม่มีใครใช้เกวียนแล้ว แต่ละบ้านแต่ละเรือน ต่างคนต่างมีมอเตอร์ไซค์ และปิกอัพขับขี่ไปไร่ไปนา แต่สำหรับพ่อแล้ว เกวียนยังเป็นความทรงจำที่ดีของพ่อเสมอ
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร