วันนี้วันพระ วันศุกร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๓)

“ นิมิตเกิดขึ้นได้อย่างไร ”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

นิมิตเกิดขึ้นได้อย่างไร

นิมิตเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นคำถามที่อยู่ในใจของผู้ปฏิบัติ จะอธิบายตามลำดับแห่งโพชฌงค์ ๗ ประการ

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ปฏิบัติสมาธิมีฉันทะอันมีในใจขึ้น มีสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก เรียกว่า “สติสัมโพชฌงค์”

เมื่อมีสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ตรึกก็ตรึกอยู่กับลมหายใจ ตรองก็ตรองอยู่กับลมหายใจ พิจารณาก็พิจารณาอยู่กับลมหายใจ รู้ก็รู้อยู่กับลมหายใจ

หายใจเข้ายาวก็รู้

หายใจออกยาวก็รู้

หายใจเข้าสั้นก็รู้

หายใจออกสั้นก็รู้

ลมหายใจหยาบก็รู้

ลมหายใจละเอียดก็รู้

ครุ่นคิดพิจารณา

ไตร่ตรองธรรมอยู่กับลมหายใจ

เรียกว่า “ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

เมื่อสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจ อยู่กับการครุ่นคิด ใคร่ครวญพิจารณาธรรม มีความเพียรพยายามดำเนินจิตเช่นนี้อยู่บ่อยๆ จะเพียรก็เพียรอยู่กับการพลิกขณะจิตกลับมาไว้ที่ลมหายใจ จะเพียรก็เพียรอยู่กับการพิจารณาใคร่ครวญธรรม เมื่อเผอเรอหลงลืมสติไปบ้างก็เพียรพลิกขณะจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจเรียกว่า “วิริยสัมโพชฌงค์”

เมื่อมีความเพียรพยายามพลิกขณะจิตเปลี่ยนความคิดให้กลับมามีสติอยู่กับลมหายใจเนืองๆ  จิตก็จะเริ่มเกาะแนบแน่นมีอารมณ์เดียวอยู่กับลมหายใจ ความฟุ้งความวุ่นวายเริ่มระงับลง ลมหายใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิต และจิตก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลมหายใจ ความปีติลิงโลดใจก็เกิดขึ้น เรียกว่า “ปีติสัมโพชฌงค์”

เมื่อปีติเกิดขึ้นความปั่นป่วนภายในจิตก็เกิดขึ้น ทั้งตื่นเต้น ทั้งดีใจ ทั้งลิงโลดใจ กล้าๆกลัวๆ ขนลุกขนพอง น้ำหูน้ำตาไหล ควบคุมสติไว้ไม่อยู่ ร้องห่มร้องไห้ เกิดความอัศจรรย์ใจ กว่าจะข่มความตื่นเต้น ความดีใจ ความกล้าๆ กลัวๆ ลง ให้อยู่ในอาการสงบราบเรียบ ก็ต้องใช้เวลานานหลายบัลลังก์ต่อการนั่งแต่ละครั้ง

ในระหว่างนี้แหละที่นิมิต หรือวิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้น มีอาการต่างๆ ต้องประคองจิตอย่าตื่นเต้นจนเกินไป อย่าตกใจกลัวจนเกินไป

ให้เฝ้าสังเกตความเป็นไปของจิต

เหมือนคนนั่งริมฝั่งดูผิวน้ำ

จะเกิดระลอกคลื่น ก็รู้

จะเกิดคลื่นลูกใหญ่ก็รู้

จะเกิดปั่นป่วนเหมือนทะเลคลั่งก็รู้

ก็เป็นแต่เพียงผู้รู้

ไม่ใช่ไปเป็นคลื่นน้ำ

ก็เป็นแต่เพียงผู้รู้ความปีติลิงโลด

แต่ไม่ได้เป็นความปีติลิงโลด

แล้วจิตจะสงบระงับราบเรียบลง

เป็นปัสสิทธิ

เรียกว่า “ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

เมื่อจิตสงบระงับความปั่นป่วนจากปีติและสุขก็หมายความว่า ปัสสัทธิเกิด คือมีความสงบระงับ จิตก็จะตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นสมาธิ ก็เป็น “สมาธิสัมโพชฌงค์”

เมื่อจิตมีความตั้งมั่นไม่หวั่นไหวก้าวเข้าสู่ความว่างภายใน มีสติบริบูรณ์ มีอุเบกขาเป็นใหญ่ เบิกบานสว่างไสวอยู่ เหมือนเกิดภาวะครอบแก้วครอบดวงจิตไว้ให้ดำรงอยู่ด้วยปัญญาอันเลิศ เรียกว่า “อุเบกขาสัมโพชฌงค์”

เมื่อจิตถอนออกมาจากความว่างภายใน ก็อาจจะเกิดนิมิตได้อีก ตอนก้าวเข้าสู่ความว่างภายในก็อาจเกิดนิมิต หรือหลังจิตถอนออกมาจากความว่างภายในก็อาจเกิดนิมิต  ก่อนจิตเข้าสู่ความเป็นจิตปภัสสร ก็อาจเกิดนิมิต หรือหลังจากจิตถอนออกมาก็อาจเกิดนิมิต

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นิมิตหรือวิปัสสนูปกิเลสล้วนเกิดจากจิตที่เกิดความสงบ ก็จะเกิดอาการต่างๆ ซึ่งเป็นการแสดงอาการของจิตขณะดำเนินไปสู่ความสงบ ไม่ใช่สิ่งวิเศษวิเสโสอะไร เป็นธรรมดาของจิตสงบ

เมื่อดูลมหายใจไปจนจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวกับลมหายใจ ก่อนจะรวมดวงลงสู่ความว่างภายใน ระหว่างนั้นจะเกิดนิมิตเป็นภาพต่างๆ เป็นอาการต่างๆ แทรกเข้ามา เหมือนคลื่นวิทยุที่ถูกคลื่นแทรกไม่ชัดเจน เป็นการเกิดการสั่นสะเทือนอย่างแรงของจิตก่อนเข้าสู่ความสงบ เช่นเห็นภูตผีปีศาจน่ากลัว  เห็นสัตว์ประหลาดน่ากลัว เห็นเทพบุตรเทพธิดา เห็นคนคุ้นเคยทั้งที่ตายแล้ว และที่ยังมีชีวิตอยู่ เห็นพระพุทธรูป เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระสงฆ์ เห็นพระอรหันต์ เห็นพระอริยสงฆ์ เห็นครูบาอาจารย์ อาจจะชัดบ้างไม่ชัดบ้างตามคุณภาพของจิตขณะนั้น ปะติดปะต่อได้บ้างไม่ได้บ้าง ซึ่งจะเป็นอาการธรรมดาในระยะแรกๆ ของความสงบ

เมื่อเกิดอาการดังกล่าวนี้ จิตจะละวางลมหายใจไปชั่วขณะ ก็ให้พลิกขณะจิตกลับมาดูลมหายใจต่อไป เพื่อไม่ไห้จิตขาดหลัก เห็นก็เห็น ได้ยินก็ได้ยิน รู้สึกได้ก็รู้สึกได้ รับรู้ได้ก็รับรู้  แต่ให้มีสติ พลิกขณะจิตกลับมาดูลมหายใจต่อไป แม้จะเห็นก็เห็นเฉยๆ ก็กลับมาดูลมหายใจต่อไป ได้ยินก็ได้ยินเฉยๆ ก็กลับมาดูลมหายใจต่อไป รับรู้ก็รับรู้เฉยๆ ก็กลับมาดูลมหายใจต่อไป

ให้ทำเช่นนี้บ่อยๆ เพื่อให้จิตคุ้นชินกับนิมิต กับวิปัสสนูปกิเลส เพื่อให้อินทรีย์แก่กล้าขึ้นมา จนกลายเป็นเห็นธรรมดารู้ธรรมดา ไม่ตื่นเต้นไม่ดีใจไม่เสียใจไม่ลิงโลดใจ ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่เห็น

ไม่ว่าจะเกิดอาการอะไร

ก็พลิกขณะจิตกลับมาดูลมหายใจ

อย่าใส่ใจนิมิตดังกล่าว

พระอาจารย์ญาณวชิระ

บางทีก็เหมือนมีปีศาจจ้องมองมาข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น จนรู้สึกกลัว ก็ให้มีสติพลิกขณะจิต เปลี่ยนความคิดกลับมาดูลมหายใจ ในขณะอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็ให้เอาลมหายใจเป็นฐานที่มั่นของจิตไปก่อน เมื่อพลิกขณะจิตมาตั้งมั่นไว้ที่ลมหายใจแล้ว บางขณะจิตจะถูกนิมิตดึงดูดให้หลุดจากลมหายใจ เลื่อนลอยออกไปจับจ้องอยู่ที่นิมิตต่างๆ อีก ก็ให้มีสติพลิกขณะจิต หรือให้มีสติเปลี่ยนความคิด กลับมาตั้งหลักไว้ที่ลมหายใจ

บางขณะอาจเกิดปีติ เกิดน้ำตาไหล ร้องห่มร้องไห้ ขนลุกขนพอง บางขณะเหมือนตัวพองขยายใหญ่ขึ้นหรือหดเล็กลง ท่อนล่างหนักเหมือนถูกกลืนกิน เกิดแสงเป็นเฉดสีต่างๆ ปรากฏขึ้นมาหรือปรากฏเป็นดวงไฟเล็กใหญ่ใกล้เข้ามา ถอยห่างออกไป หรือลอยนิ่งๆ อยู่ อาจเป็นแสงนวลใยอุ่นๆ อยู่ระหว่างหน้าผาก อาจเป็นแสงใสสุกสว่างเหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ หรืออาจเป็นแสงร้อนแรงเหมือนดวงพระอาทิตย์ส่องสว่างเต็มห้องแล้วขยายออกไปสุดขอบจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นอะไรแทรกเข้ามา ในระหว่างที่ขณะจิตกำลังรวมดวงก่อนก้าวเข้าสู่ความเป็นเอกภาพ มีความว่างภายใน ก็อย่าคำนึงถึง อย่าใส่ใจ อย่าตื่นเต้นดีใจ อย่ากลัว อย่าสงสัย ให้ดูให้รู้เฉยๆ แล้วพลิกขณะจิตกลับเข้าสู่ฐานที่ตั้ง คือ ลมหายใจ เพื่อรอโอกาสให้จิตมีกำลังขึ้นมา

ภาษาในทางปฏิบัติกล่าวว่า เพื่อให้อินทรีย์แก่กล้าขึ้นมา จะได้ไม่ถูกนิมิตหลอกจนหลงไปตามสิ่งที่จิตสร้างขึ้น ปรุงแต่งขึ้น หรือสิ่งที่จิตสังขารขึ้น บางทีจิตก็ดึงเอาเหตุการณ์ในอดีตย้อนไปจนถึงชาติหนหลังขึ้นมาก็ให้รู้

บางขณะเกิดอาการหมุนคว้างเหมือนหมุนตามการหมุนของจักรวาลแล้วหมุนแคบเข้ามาจนตัวเราหมุน จากหมุนกว้างๆ ก็เป็นหมุนแคบเข้ามา จากหมุนช้าเหมือนการหมุนของจักรวาล ก็ค่อยๆ หมุนเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ จนความเร็วเพิ่มขึ้นเท่ากับจังหวะการเต้นของหัวใจ ที่จริงในระยะแรกเหมือนรู้สึกสบายกับการหมุนลอยคว้างอยู่ในอากาศ จิตจึงจับจ้องที่อาการลอย เพราะขาดสติไปหลงยินดี (อภิชฌา) กับการลอยและการหมุน จึงไม่รู้สึกตัวว่ากำลังหมุนเร็วขึ้น กระชั้นขึ้น ตามการเร่งของลมหายใจ

ในที่สุดลมหายใจก็กระชั้นการหมุนก็เร็วเหมือนลูกข่าง

บางขณะก็ได้ยินเสียงแทรกเข้ามา ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง บางทีก็เหมือนแว่วเสียง บางทีก็เหมือนชัด เหมือนกระซิบเข้ามาข้างหูบ้าง บางทีก็แว่วมาจากที่ไหนสักแห่ง ว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว เป็นพระโสดาบันบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง เป็นพระอริยบุคคลบ้าง ปฏิบัติถูกต้องตรงแล้วบ้าง ก็ฟังเฉยๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ที่ท่านเรียกว่าละอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ค่อยๆ ชะลอให้ก้าวข้ามพ้นนิมิตไป จิตจึงจะรวมดวงเป็นเอกภาพเข้าสู่ความว่างภายใน

บางขณะก็ได้กลิ่นเหมือนสัตว์เน่าคละคลุ้งอยู่รอบตัว จนต้องลุกขึ้นไปดูนึกว่ามีสัตว์มาตายอยู่ข้างๆ พอลุกไปดูก็ไม่เห็นมีอะไร บางทีก็เหมือนเหม็นติดอยู่ปลายจมูก พอดูให้ชัดลงไปอีกก็เหมือนเหม็นออกมาจากลมหายใจ อย่ากลัว อย่าตกใจ อย่าสงสัย ให้รู้เฉยๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ตัดความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ แล้วพลิกขณะจิตกลับสู่ฐานที่ตั้งของจิต คือลมหายใจ ก็ดูลมหายใจต่อไป 

บางขณะก็เหมือนได้ยินเสียงระฆังดังกังวาลอยู่ในหูติดต่อกันไม่หยุด ที่จริงเป็นเสียงความเงียบในหู แต่จิตละเอียดมากจึงปรุงแต่งไปเร็วเป็นเสียงระฆัง ทำให้เกิดความรำคาญเสียงที่ดังอยู่ในหู เกิดความรู้สึกขัดเคืองใจต่อเสียง ความที่จิตละเอียดจะรำคาญแม้กระทั่งเสียงเข็มนาฬิกาเดิน

บางขณะก็ได้กลิ่นหอมเหมือนดอกไม้บานอยู่รอบตัว จิตก็ปรุงแต่งจินตนาการไปว่าเป็นดอกไม้ทิพย์บ้าง เป็นเทวดามาโปรยดอกไม้ทิพย์ให้บ้าง ก็รู้เฉยๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายตัดความยินดียินร้าย ตัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ แล้วพลิกขณะจิตกลับเข้าสู่ฐานที่ตั้งแห่งสติ คือลมหายใจ

บางขณะก็ปรากฏเหมือนมีพระธุดงค์มาบอกพระกรรมฐาน บางครั้งติดขัดเรื่องอารมณ์พระกรรมฐานก็จะมีพระกรรมฐานมาแก้อารมณ์ให้ เป็นครูอาบาจารย์ที่เคยพบเคยเห็นบ้าง ไม่เคยพบเคยเห็นบ้าง บางครั้งก็สอนเดินจงกรม แบบช้าบ้าง แบบเร็วบ้าง แบบลอยอยู่กลางอากาศเหมือนนกบินอยู่ในอากาศบ้าง สอนให้เห็นถึงการปรากฏแห่งอนิจจัง ทุกข์ อนัตตา มีอยู่ทุกขณะของก้าวย่าง มายืนยันการปฏิบัติว่าถูกต้องแล้ว ปฏิบัติดีแล้วบ้าง ก็รู้เฉยๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ตัดความยินดียินร้าย ตัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

บางขณะนิมิตก็ผุดขึ้นมาจากภายในจิตเอง เป็นมรรคบ้าง เป็นผลบ้าง เป็นความรู้ชนิดต่างๆ บ้าง เป็นบทแห่งคาถาโบราณ เป็นบทกวีบ้าง เป็นผู้รู้เห็นสิ่งที่ถูกปกปิดไว้บ้าง แทรกขึ้นมาภายในจิตเป็นลักษณะรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ แม้จะเป็นนิมิตที่ผุดขึ้นมาจากจิต ก็ไม่ยินดียินร้าย  แล้วพลิกขณะจิตกลับเข้าสู่ฐานที่ตั้งแห่งสติ คือลมหายใจ ใช้สติตัดอย่าให้ทันได้ปรุงแต่งไปมาก เพราะจิตที่ละเอียดกำลังก้าวลงสู่ความสงบจะปรุงแต่งเร็วมาก ได้ยินเสียงอะไร ได้กลิ่นอะไร ถ้าสติไม่เร็วพอที่จะตัดได้ทันก็จะปรุงแต่งจินตนาการไปไกล กลายเป็นเสียงวิเศษวิเสโส กลายเป็นกลิ่นทิพย์ไปก็มี

ที่จริงก็เป็นเพียงแว่วเสียงลมบ้าง กลิ่นน้ำหอม กลิ่นดอกไม้โชยลมมาบ้าง กลิ่นสาบสางของลมหายใจบ้าง แต่จิตที่ละเอียดก็จะปรุงแต่งไปเป็นสิ่งที่วิเศษ เพราะสติไม่เร็วพอที่จะตัดการปรุงแต่งของจิตได้ทัน จึงเปิดโอกาสให้จิตได้สังขารอย่างต่อเนื่องแล้วก็ยึดในสิ่งที่จิตสังขารขึ้นมา และการเพ่งความสนใจไปที่นิมิต ก็ไม่ได้อันตรายหรือว่าน่ากลัวอะไร ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตอะไร ที่ท่านไม่ให้เพ่งความสนใจไปที่นิมิตไม่ใช่กลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่กลัวว่า นิมิตจะทำให้เกิดความเนิ่นช้า เป็นอันตรายต่อการรวมดวงก้าวลงสู่ความสงบของจิต

นิมิตเป็นอันตรายต่อกันรวมดวงของจิต

ไม่ใช่เป็นอันตรายต่อชีวิต

พระอาจารย์ญาณวชิระ

ที่ไม่ให้ใส่ใจนิมิตเนื่องจากว่า เมื่อปฏิบัติสมาธิใหม่ๆ ศรัทธาจะแรงกล้า แต่จิตยังอ่อน สติยังอ่อน ปัญญายังอ่อน ถ้ามัวไปยุ่งอยู่กับนิมิตอาจทำให้หลงไป หลงไปแล้วจิตก็ไม่รวมดวงเป็นหนึ่ง ก้าวลงสู่ความสงบ เป็นเอกภาพอยู่ภายใน  รวมเรียกว่า “อินทรีย์ยังอ่อน” เหมือนเด็กอ่อนต่อโลก มัวหลงโลกก็จะเสียผู้เสียคน เพราะหลงแสงสีของโลก ท่านจึงให้กลับมาตั้งหลักไว้ที่ลมหายใจก่อน

ปรากฏอะไรขึ้นก็ให้มีสติ

กลับมาตั้งหลักอยู่ที่ลมหายใจก่อน 

แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาตรวจสอบดูให้แน่

ทำอยู่อย่างนี้เนืองๆ

อินทรีย์ก็จะแก่กล้าขึ้นมา

ทำให้รู้ถ้วนทั่วถึงอาการของจิต

ก็จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

อะไรเป็นจิต

อะไรเป็นอารมณ์ที่จิตสร้างขึ้น

อะไรมาจากข้างนอก

อะไรมาจากข้างใน

พระอาจารย์ญาณวชิระ

คำว่า “ไม่ให้ใส่ใจ” ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้รับรู้เลย ไม่ได้หมายความว่า “ไม่ให้ดู” “ไม่ให้รู้” ไม่ใช่เช่นนั้น ก็ให้ดูก็รู้ตามที่นิมิตเกิด เพราะนิมิตเกิดที่จิตก็ดูที่จิตแต่ดูเฉยๆ อย่าตกใจ อย่ากลัว อย่าตื่นเต้น อย่าลิงโลด ประคองจิตให้ราบเรียบสม่ำเสมอชะลอนิมิตให้ข้ามพ้นไป รวมความคือ ไม่ยินดี ต่อสุขเวทนา ไม่ยินร้าย เป็นทุกขเวทนา วางอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้  จิตก็รวมดวงก้าวลงสู่ความว่าง  มีสติกำหนดรู้การรวมของจิต ไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดใดๆ จิตจะบริสุทธิ์ เบิกบาน สว่างไสวอยู่เช่นนั้น

เมื่อจิตรวมดวงอยู่อย่าไปรบกวนจิต ก็ดูเฉยๆ รู้เฉยๆ รู้ว่าอยู่ในความว่างภายใน เมื่อจิตจะถอนออกมาก็จะถอนออกมาเอง อย่าไปอยากออก หรืออยากเข้า เมื่อจิตจะเข้าก็จะดำเนินเข้าไปตามลำดับของจิตเอง เมื่อจิตจะถอนจะคลายออก ก็จะถอนออกตามลำดับของจิตเอง แต่เมื่อจิตถอนออกมาก็พลิกขณะจิต ไปพักไว้ที่ลมหายใจ อย่าปล่อยให้จิตไร้ที่ยึด หรืออย่าปล่อยให้จิตไร้หลัก เมื่อไม่มีที่ยึดจะทำให้จิตเลื่อนลอยไปปรุงแต่งไปคิดอย่างอื่นแทน อย่าปล่อยโอกาสให้คลื่นความคิดอย่างอื่นแทรกเข้ามารบกวน 

พอจิตถอนออกจากความสงบ ก็ดูลมหายใจ เมื่อดูลมหายใจไป พอจิตกลับไปรวมดวงสู่ความสงบภายใน ก็ดูความว่าง พอจิตถอนออกจากความว่าง ก็ดูลมหายใจ ทำสลับกันไปมาอยู่อย่างนี้เนืองๆ  บัลลังก์แล้วบัลลังก์เล่า จนกว่าอินทรีย์จะแก่กล้าขึ้นมา ปัญญารู้รอบในสภาวะก็จะเกิดขึ้นตามมา ก็คือมีความชำนาญในการภาวนา มีความชำนาญในการรวมจิต และถอนจิต  ชำนาญในการเข้าและการออกจากสมาธิ ค่อยๆ ให้อินทรีย์เจริญเติบโตขึ้นมาจนแก่กล้าเหมือนก่อกองไฟจากหัวไม้ขีดก้านเล็กๆ เพียงก้านเดียว แต่ค่อยๆ ประคับประคองป้องลมเติมเชื้อชิ้นน้อยๆ ค่อยๆ ให้เป็นกองไฟใหญ่ขึ้นมาจนลุกโชติช่วง

เมื่อจิตมีกำลังขึ้นมา

จากนั้นก็ให้จิตทำงานวิปัสสนา

พิจารณากายใจ

โดยความเป็นของไม่เที่ยง

เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง

ฝึกให้จิตทำงานวิปัสสนาอยู่บ่อยๆ

เพื่อให้จิตคุ้นชินกับการคิดแบบวิปัสสนา

คุ้นชินกับการรับรู้อารมณ์ที่เป็นจริง

พระอาจารย์ญาณวชิระ

การทำอยู่บ่อยๆ ทำอยู่เนืองๆ เช่นนี้ เป็นการอบรมบ่มเพาะจิตให้วิชชาเกิดขึ้น เรียกว่า “ภาวนา” คือค่อยๆ ฝึกหัดให้รู้ขึ้นมา ค่อยๆ ให้เจริญขึ้นมา ค่อยๆ ให้เข้าใจขึ้นมา ค่อยๆ ให้มีประสบการณ์ทางจิตขึ้นมา จนเป็นความรู้ของตนเอง

ไม่ใช่ฟังจากครูบาอาจารย์มาพูด ฟังจากครูบาอาจารย์มาก็นำมาขบคิด ใคร่ครวญอยู่ภายใน น้อมเข้ามาภาวนาอยู่ภายใน วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ มาฝึกมาหัดจนเกิดเป็นความรู้ความเข้าใจด้วยตัวของตนเอง ไม่ใช่ความรู้ที่จำมาจากการอ่านหนังสือ อ่านตำรับตำรา ก็พูดไปตามตัวหนังสือพูดไปตามตำรับตำรา ซึ่งไม่ใช่ความรู้ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของตัวเอง ความรู้ที่จำมาจากครูบาอาจารย์  จดจำตำรับตำราก็อย่างหนึ่ง แต่ก็นำมาขบคิดใคร่ครวญ วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์  ให้เกิดเป็นความรู้ที่ตรงตามสภาวะธรรมขึ้นมาในตัว ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๓) “นิมิตเกิดขึ้นได้อย่างไร ” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here