ก่อนอ่านบทความนี้อยากให้ท่านย้อนไปอ่านในคอลัมน์นี้เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เพราะเป็นเนื้อหาต่อเนื่องกัน ซึ่งคราวที่แล้วอาตมาได้พูดถึงเรื่องประเด็นการนุ่งห่มจีวรของอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมเมื่อได้รับการประกันตัวออกมาจากเรือนจำแล้ว ซึ่งอาตมาก็ได้อธิบายทั้งในมุมของพระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมือง ให้เห็นแล้วว่าท่านมีความชอบธรรมที่จะใส่จีวรได้ตามปกติ เพราะก่อนท่านเข้าเรือนจำ ช่วงระหว่างที่ท่านอยู่ในเรือนจำ และหลังจากท่านได้รับการประกันตัวออกมาจากเรือนจำ ท่านก็มีสถานะเป็นพระภิกษุตามพระธรรมวินัยทุกประการ

การลาสิกขาตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม จากคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒

หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒
เรื่อง
“ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
นุ่งห่มจีวรหลังออกจากเรือนจำ กับ “พระพิมลธรรมโมเดล”
พระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมือง
โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

           เมื่อมาดูต้นเหตุของข้อกฎหมายที่บังคับให้ท่านต้องถอดจีวร โดยที่ไม่ได้กล่าวคำลาสิกขา และไม่มีเจตนาที่จะลาสิกขาแล้วต้องไปอยู่ในเรือนจำ เหตุมาจากที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย มาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

           มาตรา ๒๙ “พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้”

         สาระสำคัญของมาตรานี้คือ พระภิกษุที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ย่อมขอประกันตัวได้ตามมาตรา ๒๙ นี้ และก็ถือว่าเป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญด้วย แต่ถ้าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นลาสิกขาได้

         อนึ่ง มาตรา ๒๙ นี้มีประเด็นที่อาตมาสนใจมากที่สุดคือ “การลาสิกขา” เพราะมันคือหัวใจสำคัญของมาตรา ๒๙ และก็เป็นประเด็นปัญหาของมาตรานี้พอสมควร อาตมาจึงอยากนำเสนอให้สังคมได้เห็นอีกมุมมองในฐานะอาตมาที่เป็นพระภิกษุซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาตมาโดยตรง เพราะมาตรา ๒๙ นี้มีผลบังคับกับพระภิกษุทั่วสังฆมณฑล

           ทั้งนี้ ความหมายของการลาสิกขา อธิบายตามอรรถกถา ฎีกา และพระวินัยปิฎก ซึ่งพระฎีกาจารย์ ได้อธิบายการลาสิกขาจากคัมภีร์กังขาวิตรณีอรรถกถาไว้ว่า “จิตฺตเขตฺตญฺจ กาโล จ ปโยโค ปุคฺคโล ตถา วิชานนนฺติ สิกฺขาย  ปจฺจกฺขาน ฉฬงฺคิกนฺติ” ดังนั้นองค์ประกอบของการลาสิกขา ซึ่งจะได้อธิบายตามคัมภีร์กังขาวิตรณีอรรถกถา, กังขาวตรณีอภินวฏีกา และ สมันตปาสาทิกา มี ๖ ประการ ดังนี้

         ๑) “จิต” คือ ต้องตัดสินใจด้วยตนเองมีจิตที่ต้องการลาขาดจากความเป็นพระภิกษุอย่างแน่แท้

๒) “เขต” คือ เป็นการกล่าวคำลาสิกขาตามขอบเขตที่พระวินัยกำหนดไว้ พร้อมเข้าใจความหมายในคำกล่าวนั้นด้วย

๓) “กาล” คือ ต้องเป็นการกล่าวคำลาสิกขา ณ ปัจจุบันเท่านั้น จะไปยกเอาคำกล่าวในอดีตหรืออนาคตมาไม่ได้

๔) “ปโยค” คือ การกล่าวคำลาสิกขาจะสำเร็จได้ด้วยการพยายามเปล่งออกมาทางวาจาโดยให้รู้ความหมายเท่านั้น

           ๕) “บุคคล” คือ หนึ่งบุคคลซึ่งเป็นพระภิกษุที่ลาสิกขา สภาพจิตใจเป็นปกติ สองคือบุคลที่เป็นผู้รับการลาสิกขา มีชาติเป็นมนุษย์ที่รู้ความ จะเป็นพระภิกษุหรือบุคคลทั่วไปก็ได้ที่เข้าใจและรู้ภาษาความหมายในคำกล่าวลาสิกขา และบุคคลทั้งสองนั้นต้องไม่มีเวทนาหรือการถูกบังคับบีบคั้นขู่เข็ญคุกคามขืนใจ

๖) “วิชานนะ” คือ ความเข้าใจขอบบุคคลผู้ได้ยินคำกล่าวลาสิกขา มี ๒ ประการ หนึ่งความเข้าใจของบุคคลที่พระภิกษุผู้ลาสิกขากล่าวเจาะจงเฉพาะต่อหน้า พระแดง พระดำ นายมา นางสา ซึ่งอยู่ในสถานที่ลาสิกขาเข้าใจความหมาย การลาสิกขาสมบูรณ์ทันที แต่ถ้าบุคคลเหล่านั้นฟังแล้วยังมึนงง ไม่เข้าใจว่าพูดอะไร ไม่ถือว่าเป็นการลาสิกขาความเป็นพระภิกษุยังคงมีอยู่ สองคือความเข้าใจของบุคคลที่พระภิกษุผู้ลาสิกขากล่าวต่อหน้าไม่เจาะจง ผู้ใดผู้หนึ่ง ถ้าปรากฏว่ามีบุคลคลผู้ใดผู้หนึ่งที่รู้ความ เข้าใจและรู้ภาษาความหมายในคำกล่าว การลาสิกขามีผลสมบูรณ์ทันที

           จะเห็นว่าความสมบูรณ์ของการลาสิกขาตามพระธรรมวินัยคือ พระภิกษุได้กล่าวคำลาสิกขาตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ ต่อหน้ามนุษย์ผู้รู้ความ คือเข้าใจและรู้ภาษาความหมายในคำกล่าวนั้น และเป็นการกระทำที่มีสภาพจิตใจเป็นปกติไม่ถูกบีบคั้นขู่เข็ญขืนใจ

         สำหรับในทางจารีตคณะสงฆ์เวลาทำการลาสิกขาจะกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุด้วยกันเท่านั้น  การทำการลาสิกขาต่อหน้าฆราวาส ไม่นับว่าเป็นการลาสิกขาตามจารีตคณะสงฆ์ไทย

           การลาสิกขาตามมาตรา ๒๙ จะสมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น นอกจากการลาสิกขาจะเป็นไปตามขั้นตอนของพระธรรมวินัยที่ได้บัญญัติไว้แล้ว ต้องดำเนินการตามกระบวนการของมาตรา ๓๐ อีกด้วย

         มาตรา ๓๐ เมื่อจะต้องจำคุก กักขังหรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น

         กล่าวคือ เมื่อศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวหรือไม่ปล่อยตัวชั่วคราวพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่ากลัวหลบหนี หรือไปทำลายพยานหลักฐานฯ เป็นเหตุให้พระภิกษุรูปนั้นต้องลาสิกขาตามมาตรา ๒๙ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลต้องรายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศตามมาตรา ๓๐ ด้วย

         จะเห็นว่าการลาสิกขาตามมาตรา ๒๙ ต้องกระทำการลาสิกขาตามกระบวนการขั้นตอนของพระธรรมวินัย พร้อมทั้งต้องรายงานผลดังกล่าวให้ศาลท่านทราบด้วยตามมาตรา ๓๐ ในประเด็นนี้อาตมาขอตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเจ้าพนักงานดำเนินการให้ลาสิกขาแล้ว แต่ไม่ได้รายงานผลดังกล่าวต่อศาล ตามมาตรา ๓๐ เจ้าพนักงานจะต้องรับผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ หรือไม่

         ดังนั้นมาตรา ๒๙ นี้มันก็สามารถมองได้ ๒ มุมด้วยกันคือ อาตมาเข้าใจฝ่ายบ้านเมืองว่าที่ต้องบัญญัติมาตรานี้ขึ้น ก็เพื่อที่จะให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาดำเนินการต่อไปได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย

         แต่อีกอีกมุมก็คือพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหานั้นคดีโลกก็ยังไม่มีการตัดสินหรือคดีถึงที่สุด คดีทางธรรมคณะสงฆ์ก็ยังไม่ได้ตั้งพระวินัยธรตัดสิน แต่ท่านต้องถูกบังคับให้ลาสิกขา การลาสิกขาในทางพระพุทธศาสนาถ้าเปรียบเทียบกับโทษทางอาญานั้นหมายถึงโทษประหารชีวิต จะเห็นว่าแค่เพียงพระภิกษุถูกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็ถูกลงโทษประหารชีวิตเสียแล้ว ก็น่าคิดอยู่ว่ามันยุติธรรมหรือไม่สำหรับพระภิกษุที่ต้องถูกกฎหมายมาตรา ๒๙ นี้บังคับให้ลาสิกขา

         ถ้าเป็นตัวท่านเองเพียงแค่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา แต่ก็ถูกกฎหมายลงโทษประหารชีวิต ท่านว่ามันยุติธรรมสำหรับตัวท่านหรือไม่ ?

           ในตอนต่อไปติดตามอ่านเรื่อง “การใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์”

บทความพิเศษ ตอนที่ ๒ จากคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒การลาสิกขาตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม พระธรรมทูต ประเทศสกอตแลนด์ ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here