คนเรามักตัดพ้อต่อโชคชะตาเมื่อโอกาสยังไม่มาถึง
แต่เหตุใด เมื่อโอกาสมาถึงแล้วตัดพ้อต่อว่าโอกาสนั้นอีกเล่า …
ทำอย่างไรจึงจะมีสติ รู้เท่าทันความคิดไม่ดีแล้วขจัดความคิดไม่ดีออกเสียก่อน
แล้วจะพบว่า โอกาสนั้น เราสามารถสร้างได้ด้วยตัวของเราเองอย่างไร
จักรแห่งธรรมนำพัฒนา
เรียนรู้เรื่องโอกาส กับ การพึ่งตน
โดย พระมหาประสิทธิ์. ญาณปฺปทีโป
หลังจากที่ได้อ่านเรื่องเล่าในหนังสือเรียนภาษาอังกฤษของเด็กอินเดียแล้วรู้สึกสะกิดใจอยากนำมาเล่าต่อ เหตุการณ์มีอยู่ว่า ชายคนหนึ่งขับรถมาจากเมืองนาคะปูระผ่านมาตามถนน เขาสังเกตเห็นชายชราคนหนึ่ง กำลังเดินอยู่ข้างทาง ท่าทางเหมือนกับเหนื่อยและหนักกับถุงที่แบกอยู่ เขาจึงชะลอรถและถอยกลับไปถามไถ่พร้อมทั้งชวนขึ้นรถเพื่อที่จะไปส่งให้ใกล้ที่สุด ชายชราผู้นั้นได้ขึ้นรถมาพร้อมด้วยกล่าวขอบคุณ
เมื่อรถออกตัวได้สักพัก ชายหนุ่มจึงได้สังเกตเห็นว่า ชายชราคนนั้นไม่ยอมวางถุงใหญ่ใบนั้นแต่ยังแบกไว้อยู่ จึงถามว่า “ทำไมท่านไม่วางถุงลงล่ะ”
ชายชราตอบว่า “รถท่านหนักเพราะบรรทุกเราแล้ว ไม่อยากให้หนักเพราะถุงของเราอีก จึงช่วยแบกไว้” เรื่องจบลงเท่านี้
เรื่องนี้คล้าย จะเล่าต่อๆ กันไปหลายประเทศ หลากสำนวน แต่เป้าหมายก็น่าจะชี้ประเด็นเดียวกันก็คือ การไม่รู้จักปล่อยวาง
หลายคนพร้อมที่จะช่วยเหลือเราอยู่แล้ว แต่ประเด็นก็คือ ไม่มีใครสามารถช่วยเราได้อย่างแท้จริง มีแค่เราเท่านั้นที่จะจัดการความหนัก เครียด หรือความครุ่นคิดในใจของเราได้
พระสงฆ์ นักจิตบำบัด จิตแพทย์ เพื่อน ครู ไม่สามารถช่วยคนที่ไม่คิดช่วยตัวเองได้ และท่านเหล่านั้นก็เป็นเพียงผู้จัดกระบวนการเพื่อการช่วยเหลือ แต่กลไกทางความคิดที่จะพิจาณาให้เรานั้นทำตามกระบวนการและเรียนรู้ไปกับกระบวนการดังกล่าว ก็คือ ตัวเราเอง
“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” จึงเป็นคำที่เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ เพื่อให้เราเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองก่อนที่จะคิดพึ่งพิงคนอื่น
เมื่อเรามีพื้นฐานเบื้องต้นในการเป็นที่พึ่งของตนเองได้แล้วในระดับหนึ่ง เมื่อคนอื่นช่วยเหลือ หรือหยิบยื่นโอกาสให้ เราก็จะสามารถไขว่คว้ามันไว้ได้
ยกตัวอย่าง เช่น เรามีทักษะฝีมือด้านอาชีพ มีความรู้ความสามารถอยู่แล้วในระดับที่ใช้ได้ เมื่อรัฐบาลยื่นโอกาส กองทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ หรือกองกทุนชีวิต ก็จะสามารถนำมาต่อยอดด้วยการลงทุน และขยายธุรกิจของตนเองได้ โอกาสที่ได้มาก็จะไม่เสียเปล่า
แต่ว่า ถ้าเราไม่มีความรู้ ฝีมือในการประกอบอาชีพก็ไม่มี เมื่อได้ทุนมา เราก็ไม่รู้จะนำไปต่อยอดอะไร ทำได้ก็แค่ซื้อกิน หรือจ่ายค่าอุปโภคบริโภค ซึ่งมันก็จะหมดไป ขณะที่ตนเองก็กลายเป็นหนี้กองทุนเสียอีก แทนที่จะเบากลับต้องแบกหนักกว่าเดิม
ความจริงแล้ว พระพุทธศาสนาของเรานั้น คำสอนส่วนใหญ่มุ่งให้เรานั้นพัฒนาตน ตามลำดับขึ้นตอนที่มีตนเองเป็นพื้นฐาน บางคนบอกว่า “ผมไม่อยากเรียนพระพุทธศาสนาครับ กลัวบรรลุธรรมแล้วจะไม่อยากแต่งงาน”
ฟังแล้วก็สะเทือนใจ เลยแนะไปว่า “ในหนังสือนวโกวาท ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับพระบวชใหม่ เกินครึ่งเป็นหลักของการสร้างครอบครัวให้เป็นสุขนะ ลองไปอ่านดูสิ”
ฆราวาส หรือผู้อยู่ครองเรือน มีครอบครัว ยิ่งจะต้องพัฒนาตนเอง ให้มีทักษะความสามารถที่จะบริหารจัดการครอบครัวให้มีความสุข และมีความมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ ถึงจะเป็นที่พึ่งให้กับพระสงฆ์ หรือพระพุทธศาสนาได้
พระสงฆ์ทำหน้าที่ในขอบเขตที่จำกัด ตามบริบททางสังคม ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรได้ตามต้องการหรือมีสิทธิพิเศษอะไร ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีสิทธิเสียมากกว่า เช่น งานกฐินผ้าป่า ชาวบ้านอยากให้มีมหรสพ ฉลอง พระสงฆ์แนะแล้วว่าอาจจะคึกคะนองเกินไปไหม แต่ชาวบ้านต้องการพระสงฆ์ก็แค่รับทราบ ยิ่งถ้าตามต่างจังหวัด อำนาจการตัดสินใจในหลายๆ เรื่องนั้น เป็นส่วนของชาวบ้าน เมื่อพระสงฆ์อ่อนกำลัง ฆราวาสขาดความเข้าใจ การจัดการบางอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามความเหมาะสม
เราจะก้าวกันต่อไปอย่างไร?
ในอนาคตข้างหน้า นักวิเคราะห์หลายสำนัก (ไม่ใช่สำนักหมอดูนะ) มองว่า ปัญหาต่างๆ จะเกิดมีมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้นึกถึงหลักธรรมที่ชื่อว่า จักร ๔ เป็นธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง เหมือนกับล้อรถที่นำไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ดี
เมื่อเขาบอกว่ากงล้อแห่งเวลากำลังหมุนไปในทางเสื่อม เราเห็นภัยในอนาคตแล้ว ถึงจะห้ามการหมุนไปของกาลเวลาไม่ได้แต่เราปรับการขับเคลื่อนชีวิตของเราได้ จึงอยากจะลองนำหลักจักร ๔ นี้มาประยุกต์สู่การปรับใช้ในชีวิตและการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมของเราให้ดีงาม ด้วย ๔ องค์ประกอบดังนี้
๑.ปฏิรูปเทสวาสะ จัดสภาพทางสังคม ให้เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้มีพื้นที่สาธารณะที่เป็นไปเพื่อการพัฒนาเยาวชน ประชาชนให้มากขึ้น เข้าถึงง่ายและใช้ได้จริง เช่น แหล่งส่งเสริมการเรียนรู้ มีหลายวัดเปิดเป็นโรงเรียนวันอาทิตย์ โรงเรียนผู้สูงอายุ ถือเป็นแนวทางที่ดี ทำอย่างไรจะขยายออกไปให้กว้างขึ้นอีก
๒.สัปปุริสูปัสสยะ สร้างสมาคมสัตบุรุษ ในข้อแรกนั้นมีงบประมาณก็ทำได้ แต่ข้อสองนี้สิ ถือว่ายากเพราะเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อน กงธรรมจักรนี้เลยทีเดียว คือ เราจะต้องมีกลุ่มคนที่คิดทำเพื่อสังคม สร้างกลุ่มนักปราชญ์ชุมชน เช่น มีลานออกกำลังกายแล้ว แต่ไม่มีคนแนะนำวิธีออกกำลังกายที่ดี เครื่องมือก็ขาดประสิทธิภาพ มีห้องสมุดแล้ว แต่ขาดคนที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ห้องสมุดก็เหงาเหมือนเดิม มีลานวัดลานธรรมแล้ว แต่หาคนมาทำกิจกรรมไม่มี ลานวัดก็กลายเป็นลานเลี้ยงวัวไป
การส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันทำดี โดยมีผู้นำหรือกลุ่มผู้รู้เป็นแกนนำขับเคลื่อนกิจกรรม มั่นใจว่า จะขยับไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ตามมาแน่นอน
๓.อัตตสมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ คือมีจิตคิดมุ่งไปทางเจริญ นำตนเองไปสู่ทางที่ถูกต้อง ทุกๆ คนต้องปรับความคิดหรือที่คนสมัยนี้เขามักจะพูดว่า “mindset” เพราะถึงมีสภาพแวดล้อมดี มีคนช่วยเหลือ แต่ตัวเราเองกลับไม่คิดพัฒนา สิ่งที่สร้างหรือลงทุนมาก็ไร้ผล เราทุกคนจึงต้องตั้งใจพิจารณาให้ดีว่า ตนเองอยากจะพัฒนาชีวิตให้เป็นไปในทางไหน เช่น สุขภาพดี มีครอบครัวมั่นคง ชีวิตเป็นสุขไม่ทุกข์ ไม่เครียด ไม่มีปัญหาการเงิน เราก็ต้องตั้งเป้าหมายการพัฒนาตนเองไว้ด้วยเช่นเดียวกัน
๔.ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว เราต้องทำตัวเราให้ดีและสร้างความดีไว้เป็นฐานให้กับชีวิตของตนเอง ด้วยการรักษาศีล และบำเพ็ญเบญจธรรม พร้อมทั้งหมั่นฝึกตนให้สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ไม่อ่อนแอหวั่นไหวไปกับเรื่องต่างๆ มากจนเกินไป
เมื่อเราปลื้มใจในการทำบุญสร้างความดีของเราแล้ว ความรู้สึกที่อยากจะแสวงหาความบันเทิงตามกิเลสมันก็จะน้อยลง เพราะเรามีความสุขในบุญ ไม่ใช่สุขเพราะต้องมีของใช้แพง กินหรู อยู่สบายแต่ปลายเดือนไม่เหลือเงินเก็บ แถมยังจะเจ็บเพราะดอกเบี้ยหนี้บานเบอะ แบบนี้ก็แย่นะ และเราต้องศึกษาหาความรู้ให้กับตนเองบ้าง มีทักษะความสามารถติดตัวบ้าง เมื่อมีคนให้ทุนมาก็จะได้นำมาสร้างตัวเองได้
ธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เรื่องอีกอย่างว่า พหุการธรรม คือ ธรรมที่มีอุปการะมาก เป็นเครื่องนำเราไปสู่ความสำเร็จและมีความเจริญงอกงามในชีวิต
สองข้อแรก คนอื่นอาจจะช่วยเราได้บ้าง แต่อีกสองข้อท้ายนั้น เราต้องฝึกฝนด้วยตนเอง แต่ก็อยากให้สังคมหรือชุมชนช่วยกันสร้างและขับเคลื่อนจักรแห่งธรรมนี้ให้เลื่อนไปสู่ความเจริญ อย่าปล่อยให้ไหลไปตามยถากรรม
เหมือนเรื่องที่ยกมาในตอนต้น ทุกคนใส่ใจกัน แบ่งเบาภาระกันและกัน ก็ช่วยให้สังคมมีความสันติสุข สำหรับทุกข์โดยส่วนตัวนั้น เราก็จะต้องฝึกฝนปฏิบัติด้วยตนเองและปล่อยวางด้วยใจของเรานี่เอง… ไม่มีใครช่วยเราได้จริงๆ ถ้าเราไม่คิดที่จะพึ่งตนเองให้ได้ก่อน !