ย้อนอดีตรำลึกความทรงจำ จุดกำเนิดแห่งการเผยแผ่ธรรมของพระสงฆ์ยุคใหม่ ให้ทันโรคทางใจแก้ไขทุกข์ของผู้คนให้ทันท่วงที…

พุทธพลิกใจ  ไทยพลิกโลก

พระสงฆ์สื่อธรรมอย่างไรในยุคออนไลน์

โดย พระมหาขวัญชัย  กิตฺติเมธี ดร.ป.ธ.๙

           การก้าวไปข้างหน้าของงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคดิจิตอล มีความจำเป็นมากที่พระสงฆ์จะต้องมีความสามารถในการเผยแผ่ธรรมผ่านการสื่อสารในช่องทางต่างๆ ของสื่อออนไลน์เพื่อเป็นน้ำดีแทรกไว้ในสื่อร้อนๆ ที่กำลังพาคนหลงไปกระแสของอารมณ์จนทำให้ขาดสติ

การสื่อสารอย่างมีสติ จะช่วยลดการเบียดเบียนกันอันจะเกิดจากอารมณ์เป็นส่วนใหญ่

จึงขอเล่าย้อนกลับไปในโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล  รุ่น ๖ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๗ ที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์  ประเทศอินเดีย  โครงการนี้มีสโลแกนน่าฟังว่า

“ย้อนยุค ปลูกอุดมการณ์  ดูงานพระอริยสงฆ์ สานตรงต่อพระพุทธปณิธาน”

เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เริ่มต้นโดยเจ้าคุณอาจารย์พระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ์  วีรยุทฺโธ) หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา และอีกหลายวัดในแดนพุทธภูมิ  โดยได้รับการสนับสนุนจากดร.สุภชัย วีระภุชงค์  เลขาธิการ  สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ๖  โดยแต่ละรุ่นนั้นจะมีการคัดเลือกพระสังฆาธิการจากทั่วประเทศไทยจำนวน ๒๓ รูป, กัมพูชา ๒ รูป, ลาว ๒ รูป และเวียดนาม ๑ รูป รวม ๒๘ รูป  เพื่ออบรมวิชาการด้านต่างๆ เช่น  การสื่อสารมวลชน  เป็นต้น ในดินแดนพุทธภูมิ  เพื่อให้ท่านได้นำความรู้เหล่านั้นไปดำเนินการเผยแผ่และพัฒนาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย  อีกทั้งประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในเขตสุวรรณภูมิต่อไป

พระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ์  วีรยุทฺโธ)
หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา

  หนึ่งในวิชาการที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เรียนรู้ก็คือ “การเขียนบทความทางพระพุทธศาสนา”  โดยได้นิมนต์พระวิทยาการจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ วัดสระเกศ นำโดยพระมหาขวัญชัย  กิตฺติเมธี, พระมหาวีระพันธุ์  ชุติปัญโญ และ พระมหาประสิทธิ์ ญาณัปปทีโป 

พุทธพลิกใจ ไทยพลิกโลก โดย พระมหา ดร.ขวัญชัย กิตฺติเมธี ดร.ป.ธ.๙
พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เจ้าคุณเทอด ญาณวชิโร)

โดยในครั้งนั้น พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เจ้าคุณเทอด ญาณวชิโร) ได้กล่าวว่า “พระธรรมทูตแต่ละท่านที่เข้าอบรมในครั้งนี้ล้วนแต่มีความรู้  ความสามารถ เป็นเจ้าคณะปกครอง  เพียงแต่ยังไม่รู้วิธีการนำความรู้เหล่านี้ออกมา  การเขียนจะช่วยเหลือท่านได้  เพราะแค่ท่านเดินทางในอินเดียแล้วได้เรียนรู้วิธีการจดบันทึก  นั่นก็เท่ากับเป็นการเริ่มต้นงานเขียนแล้ว”

พระอาจารย์เฉลิมชาติ ชาติวโร ผู้ดูแลฝ่ายวิชาการได้เล่าถึงความเป็นมาเป็นไปว่า “การเขียนหนังสือ “พุทธพลิกโลก” มาจากประสบการณ์ตลอด ๓ เดือนในดินแดนพุทธภูมิของพระสังฆาธิการผู้เข้าร่วมอบรมเขียนขึ้น หลังจากเดินทางเพื่อเปิดเผยประสบการณ์ตรง และความรู้สึกจากการได้ใช้ชีวิตสัมผัสกับละอองบารมีในดินแดนต้นกำเนิดที่เต็มไปด้วยรอยพระพุทธบาท และรอยเท้าของเหล่าพระอริยสงฆ์ ว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้อย่างไร โดยได้รับการอุปถัมภ์จากดร.สุภชัย วีระภุชงค์และคณะชมรมโพธิคยา ๙๘๐”

สำหรับ พระครูสังฆรักษ์ไพบูลย์ ปัญญานันโท หนึ่งในพระบัณฑิตเผยแผ่จากวัดพระธาตุผาเงา  จังหวัดเชียงรายถามด้วยความสนใจ  “ทำอย่างไรจะเกิดอารมณ์อยากเขียนธรรมะเผยแผ่ธรรม ”

พระมหาขวัญชัย  กิตฺติเมธี เจ้าของนามปากกา “กิตติเมธี

พระมหาขวัญชัย  กิตฺติเมธี เจ้าของนามปากกา “กิตติเมธี”  ตอบประเด็นนี้ว่า  “การเขียนบางทีไม่ต้องสร้างอารมณ์ก่อนแล้วจึงค่อยลงมือเขียน  เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้เขียน  แต่เรามาลองฝึกเขียนจนกว่าจะเกิดอารมณ์ดีกว่า  เพราะตอนนี้เรามาอยู่ที่แดนพุทธภูมิแล้ว  เชื่อว่าเราจะเขียนด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในพุทธคุณได้ไม่ยาก”

ส่วนพระอาจารย์ใส  สุรปัญโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิพฤกษาราม จ.สุรินทร์ ถามต่อ “เคยทดลองเขียนแล้วแต่โดนหาว่าภาษาลูกทุ่ง  ไม่มีความเป็นวิชาการ  เลยไม่กล้าเขียน” 

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ในประเด็นนี้พระมหาวีระพันธุ์ ชุติปัญโญ เจ้าของนามปากกา “ชุติปัญโญ” ได้กล่าวว่า “การใช้ภาษาเราอาจไม่ได้ดีมาแต่เดิม  แต่เมื่อเราฝึกฝนอย่างจริงจังผ่านการเรียนรู้จากนักเขียนอื่น เช่น หลวงพ่อพุทธทาส, พระพรหมคุณาภรณ์ (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ,พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เป็นต้น แล้วสร้างงานเขียนที่เป็นของเราเองในแบบของเราได้ในที่สุด” 

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

และสรุปท้ายด้วยพระมหาประสิทธิ์  ญาณัปปทีโป  เจ้าของนามปากกา “ธรรมรตา” ได้สรุปต่อว่า “การถูกต่อว่าถือว่าเป็นเครื่องพัฒนางานของเรา  ต้องถามตัวเองว่าเรามีจุดมุ่งหมายอย่างไรในการเขียน  แล้วไม่ว่าจะโดนตำหนิกี่ครั้งเราจะไม่ล้มเลิกง่าย  เพราะเรามีจุดหมายที่การเขียนให้สำเร็จ”

พระมหาประสิทธิ์  ญาณัปปทีโป  เจ้าของนามปากกา “ธรรมรตา”

           จากความสนใจ ใส่ใจและเข้าใจความสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ถือเป็นเหตุผลหลักในการจัดการอบรมครั้งนี้ จนทำให้เกิดงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านงานเขียนที่ตรงใจผู้อ่านในการแก้ปัญหาความทุกข์ได้ทันท่วงทีในหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ และตามเพจเฟซบุ๊กของพระอาจารย์แต่ละท่านผู้ได้เรียนรู้เทคนิกการเขียนเพื่อการสื่อสารให้เข้าใจง่าย เพื่อนำไปใช้ในการเผยแผ่ธรรมให้นำสมัย 

หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พระสงฆ์ที่ได้อบรมการเขียนในโครงการพระนักเขียน กับ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ วัดสระเกศ ผ่านไปหลายรุ่นหลายร้อยหลายพันรูป

ซึ่งแต่ละท่านก็ได้ทำหน้าที่สื่อธรรมะจากพระพุทธเจ้ามายังคนทุกข์ให้ย่อยง่าย ใช้ได้จริงมาโดยตลอด ผ่านการอบรมคนทำงาน ครูบาอาจารย์ นักการศึกษา ประชาชนทั่วไป  ตลอดจนเด็กและเยาวชน

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ซึ่งในปัจจุบัน ก็ประจักษ์ชัดแล้วว่า โครงการพระนักเขียนได้เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่ธรรมในยุคออนไลน์ที่สร้างผลงานคุณภาพที่ผสมทั้งงานเขียนทางวิชาการด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายเกิดขึ้นในสังคมไทย  

ซึ่งทางผู้จัดและทีมงานทุกท่านเชื่อว่าในอนาคตจะมีพระนักเขียนที่สร้างผลงานอันสามารถถ่ายทอดความรู้จากแดนพุทธภูมิที่จะช่วยพัฒนาจิตใจคนไทยให้ก้าวหน้าไกลในโลกได้อย่างแน่นอน

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ดร.
  • งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านงานเขียนในหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ และตามเพจเฟซบุ๊กของพระอาจารย์แต่ละท่านก็เพื่อเป็นการสื่อธรรมให้เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้อ่านนำไปใช้แก้ทุกข์ได้ทันท่วงที ขณะที่พระสงฆ์ก็ได้ใช้สื่อในทางสร้างสรรค์เพื่อการเผยแผ่ธรรมให้นำสมัย 

พระมหาขวัญชัย  กิตฺติเมธี ดร.ป.ธ.๙ ผู้เขียน

พุทธพลิกใจ  ไทยพลิกโลก

พระสงฆ์สื่อธรรมอย่างไรในยุคออนไลน์

คอลัมน์ “ท่องเที่ยวโลกกะธรรม” หน้าพระไตรสรณคมน์
วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here