คราวที่แล้วเล่าเรื่องการจาริกไปยังดินแดนพุทธภูมิของพระสงฆ์ ในโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล รุ่น ๖ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๗ ที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย (อ่านย้อนหลังได้ในบทความ พุทธพลิกใจ ไทยพลิกโลก พระสงฆ์สื่อธรรมอย่างไรในยุคออนไลน์ ) โดยมีบันทึกในระหว่างการเดินทางกลับมาฝากผู้อ่านในทุกเพจฟอร์มของสื่อออนไลน์ ทั้งในโซเชียลมีเดียที่พระหลายๆ ท่านอาจมีเฟซบุ๊กเผยแผ่ธรรมะอยู่แล้ว ตลอดทั้งสื่อต่างๆ ที่ได้นำเรื่องราวของท่านไปลงในหนังสือพิมพ์บ้าง นิตยสารบ้าง ซึ่งเป็นบทความการเล่าเรื่องในดินแดนพุทธภูมิจากประสบการณ์ส่วนตัวไปพร้อมๆ กับการปรากฏของสภาวธรรมภายในจิต ผสานไปกับข้อมูลจากพระไตปิฎก ย่อมทำให้ผู้อ่านได้รับการเรียนรู้พุทธประวัติแต่ละช่วงตอนมีชีวิตชีวา น่าศึกษาเรียนรู้และน่าฝึกหัดขัดเกลาตนตามรอยพระพุทธองค์และพระอริยสงฆ์ในสมัยพุทธกาลมากยิ่งขึ้น
เรียกว่า เป็นการทำให้พระไตรปิฎกมีชีวิตและลมหายใจ …
วันนี้จึงขอขยายความต่อในเรื่อง
หน้าที่ของพระวิทยากร
คือ การสร้างความร่มเย็นแก่โลก และสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร.
ต้นทางการบ่มเพาะพระนักเขียนนั้นเกิดขึ้นใน “โครงการพระนักเขียน” ซึ่งสร้างสรรค์หลักสูตรจากพระไตรปิฎกและพัฒนาหลักสูตให้่ร่วมสมัย โดย สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ วัดสระเกศ ผ่านไปหลายรุ่นหลายร้อยหลายพันรูป นั้นมีที่มากดังนี้
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๙ เกิดขึ้นโดยการปรารภของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ เพื่อเป็นสำนักงานที่รองรับการทำงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ทั่วประเทศ ต่อมาได้มีมติมหาเถรสมาคม ที่ ๔๑๒/๒๕๕๖ เห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการสนับสนุน การดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการทำงานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ผลงานการทำงานของพระวิทยากรสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ จึงเป็นการทำงานทั้งในแง่สร้างพระวิทยากรรุ่นใหม่ และเผยแผ่หลักธรรมในพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนและเยาวชนในทั่วทุกพื้นที่โดยอาศัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (ปี๒๕๖๐-๒๕๖๔) ยุทธศาสตร์ที่ ๑ ซึ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ และการพัฒนานั้นมุ่งเน้นการพัฒนาเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และในปี พ.ศ.๒๕๕๙ ที่ผ่านมา มีการทำงานหลายภาคส่วน และที่นำมาสรุปไว้ในที่นี้เป็นแค่บางส่วน คือ
1. การพัฒนาศักยภาพพระวิทยากรรุ่นใหม่ เป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาพระภิกษุสามเณรให้มีความรู้ทางพุทธศาสนาในการนำไปประยุกต์ใช้ มีทักษะในการปฏิบัติการเข้าค่ายคุณธรรม การบรรยาย และการเผยแผ่ทั้งผ่านการใช้สื่อสารออนไลน์ และการเขียน และสร้างอุดมการณ์ในการเผยแผ่ เน้นกิจกรรมอีกทั้งยังเป็นการการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระวิทยากรทุกภูมิภาค ให้มีความสามัคคี อันจะส่งผลให้เครือข่ายการทำงานของพระวิทยากรมีความเข้มแข็งในการทำงานเผยแผ่พระศาสนาต่อไป ผ่านโครงการเหล่านี้คือ
ก. โครงการพระวิทยากรกระบวนธรรม เป็นโครงการอบรมพระภิกษุสามเณรจากทุกจังหวัดจำนวน ๘๐ รูป เวลาอบรมจำนวน ๑๒ วัน เพื่อเพิ่มทักษะการเข้าค่าย การบรรยาย การจัดกิจกรรม จิตวิทยาการให้คำปรึกษาเบื้องต้น สร้างอุดมการณ์ความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ การเขียนโครงการและการเขียนเพื่อสื่อสารในรูปแบบต่างๆ โดยแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรกศึกษาทฤษฎีและฝึกปฏิบัติ ทั้งการอบรม การบรรยาย การสื่อสารรูปแบบต่างๆ และการเขียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖-๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ ณ วัดสามพระยา ภาค ๒ เดินทางไปปฏิบัติธรรม ณ แดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย เพื่อสร้างอุดมการณ์ในการเป็นนักเผยแผ่ จัดขึ้นระหว่าง ๓-๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙
และโครงการฝึกอบรมพระวิทยากร จ.อุบลราชธานี เป็นโครงการอบรมพระภิกษุสามเณรภายในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน ๑๕๐ รูป เวลาอบรมจำนวน ๑๕ วัน จัดที่วัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง) จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ ๑๗ มิถุนายน – ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เพื่อเพิ่มทักษะการทำงานเผยแผ่ด้านต่างๆ เป็นต้น
ดังที่พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และอดีตประธานคณะกรรมการโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ กล่าวไว้ในคำปรารภหนังสือคัมภีร์พระวิทยากร ตอนหนึ่งว่า “การทำหน้าที่ของพระวิทยากร เป็นการทำหน้าที่เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา การสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวออกไป เป็นประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ชาวโลก เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะต้องปฏิบัติตามกำลังความสามารถ ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระวิทยากร ต้องอาศัยความเสียสละสูง มีความอดทนอย่างยิ่ง พร้อมที่จะเผชิญทุกปัญหาที่เดินทางไป เพราะเหตุที่บูรพาจารย์ ท่านมีความสำนึกในหน้าที่ และปฏิบัติตามกันมาโดยลำดับเช่นนี้ พระพุทธศาสนาจึงเป็นอมตมรดกให้ความร่มเย็นแก่โลก มีความมั่นคง วัฒนาสถาพรสืบต่อมาโดยลำดับ…”
ข. โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากรด้านการสื่อสารและด้านจิตวิทยา เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากรจำนวน ๔๐ รูป ระยะเวลาด้านสื่อสาร ๕ วัน ระหว่างวันที่ ๖-๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ และด้านจิตวิทยา ๓ วัน ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ ให้มีความสามารถด้านการใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค การสร้างสื่อ การถ่ายรูป และการพัฒนาด้านจิตวิทยากระบวนการที่เน้นความรู้ความเข้าใจกระบวนการทางจิตวิทยาสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพในการอบรมเชิงจิตวิทยาที่ประยุกต์เข้าหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
และมีโครงการอบรมพระธรรมทูต โดยร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตีอบรมตามหัวข้อว่า “สุ จิ ปุ ลิ เพื่อชีวิตดีงาม” ตามหลักสูตรเตรียมพระธรรมทูต แก่ผู้เตรียมตัวเป็นพระธรรมทูตที่คัดมาจากทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจด้านการเผยแพร่ผ่านการฝึกเทคนิคการฟัง การคิด การถาม และการบันทึก จำนวน ๓๐ รูป ระยะเวลาอบรม ๓ วัน
ค. โครงการพระนักเขียน ๔ ภาค เป็นการสร้างศักยภาพให้พระวิทยากรได้มีประสิทธิภาพในการเขียนธรรมะเพื่อการเผยแผ่ธรรมะและการทำงานในแต่ละพื้นที่ผ่านสื่อต่างๆ โดยแบ่งเป็น ๔ ภาค คือภาคกลาง จัดที่ค่ายพุทธบุตรอารยาภิวัทธน์ ด่านช้าง สุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙ ภาคใต้ จัดที่โรงเรียนฆังคทวีศิลป์ จ.นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ ๒๙ มิถุนายน-๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ภาคอีสาน จัดที่ศูนย์การคณะสงฆ์ภาค ๑๐ จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ ๖-๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ภาคเหนือ จัดที่มูลนิธิหยดธรรม ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙
ง. โครงการพัฒนาศักยภาพพระธรรมทูตอาสา ๕ ชายแดนใต้ เป็นโครงการที่มุ่งการพัฒนาพระธรรมทูตอาสาในพื้นที่ ๕ จังหวัดคือ สงขลา สตูล ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ให้มีความรู้ทางพุทธศาสนาในการนำไปประยุกต์ใช้ มีทักษะในการปฏิบัติการเข้าค่ายคุณธรรม การบรรยาย และการเผยแผ่ทั้งผ่านการใช้สื่อสารออนไลน์ และการเขียน และสร้างอุดมการณ์ในการเผยแผ่ จัดระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๕๙
คราวหน้าจะเล่าเรื่องการเผยแผ่และอบรมคุณธรรม จริยธรรม กันต่อ ซึ่งเป็นโครงการการเผยแผ่เชิงรุกที่ดำเนินการโดยพระวิทยากร เน้นการสร้างศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมแก่เยาวชนและประชาชน อย่างไร โดยผ่านการจัดค่ายธรรมะอย่างสร้างสรรค์ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งคณะพระวิทยากรจะมีวิธีการในการสร้างการเรียนรู้โดยศึกษาจากผู้เข้าอบรมเป็นหลัก เพื่อให้ผู้เข้าอบรม หรือเข้าค่ายศึกษาธรรมได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด คือ สามารถรู้จักตนเอง รู้ว่าศักยภาพของตนเองอยู่ตรงไหน จะเรียนอะไร จะทำอาชีพอะไร ตลอดจนการดำรงชีวิตอย่างมีสติปัญญา มีความสุขกับตนเองและแบ่งปันความสุขให้กับผู้คนรอบข้างได้อย่างไร
หากจะขยายคำอธิบายตรงนี้ก่อนที่จะไปถึงหลักการที่มาของหลักสูตรต่างๆ ในการสร้างพระวิทยากรในฉบับหน้า แวะอ่านคอลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ในฉบับนี้และฉบับก่อนๆ ที่ผ่านมา รวมไปถึงคอลัมน์ “โชคดีที่มีพระ” โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ก็จะเข้าใจภาคการปฏิบัติในการทำงานของพระวิทยากรจากพระสงฆ์ในกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม ที่เป็นทั้งพระวิทยากรอบรมพระสงฆ์ในโครงการมากว่าพันๆ รูป ทั่วประเทศ ซึ่งในขณะนี้ก็มีพระสงฆ์ที่จาริกธรรมไปเกื้อกูลชาวโลกยังต่างประเทศอีกมากมายก็จะค่อยๆ กล่าวถึงในฉบับต่อๆ ไป
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบโจทย์ความทุกข์ของคนในยุคนี้ที่ท่วมทับไปด้วยปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม รวมไปถึงทุกข์อะนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสื่อออนไลน์ จนอาจไม่เท่าทันอารมณ์รุนแรงที่ก่อให้เกิดการกระทบใจกันและกันโดยไม่รู้ตัวจนอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในตนเองจนลามไปถึงความขัดแย้งในครอบครัวและสังคมจนยากที่จะเยียวยา…ก่อนที่พายุอารมณ์จะพัดกระหน่ำไปทั่ว หน้าที่ของพระวิทยากรก็ตอบโจทย์ตรงนี้แหละ และจะช่วยเสริมการแก้ทุกข์ของผู้คนได้อย่างไร ! อย่าเพิ่งเชื่อ แต่จะเล่าสู่กันฟังต่อไป ในฉบับหน้า แล้วมาเรียนรู้ไปด้วยกัน