จากแนวความคิดของ พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙,ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

โรหิตัสสสูตร ว่าด้วยโรหิตัสสเทพบุตร

จาก พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

                          ไม่ว่าในเวลาไหน ที่สุดแห่งโลก

                          ใครก็ถึงไม่ได้ด้วยการไป

                          และเมื่อยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก

                          ย่อมไม่มีการเปลื้องตนจากทุกข์

                          เพราะเหตุนั้นแล ผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี

                          ถึงที่สุดแห่งโลก อยู่จบพรหมจรรย์

                          สงบระงับ รู้ที่สุดแห่งโลก

                          ย่อมไม่หวังทั้งโลกนี้และโลกหน้า

ขอขอบคุณ ภาพจิตรกรรมฝาผนังจาก ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพจิตรกรรมฝาผนังจาก ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ในพระไตรปิฏกจารึกไว้ว่า ในสมัยก่อนพุทธกาล มีมาณพหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อ โรหิตัสสะ เขาอยากรู้ความเป็นจริงของโลกว่าที่สุดของโลกหรือที่สุดของจักรวาลอยู่ที่ไหน เมื่อเรียนจบศิลปวิทยาทั้ง ๑๘ สาขาแล้ว เขาก็พยายามศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง โดยออกบวช ตั้งใจฝึกสมาธิอย่างจริงจัง จนสามารถทำฌานสมาบัติให้เกิดได้ เป็นนักบวชที่มีฤทธิ์มีเดช สามารถเหาะเหินเดินอากาศไปได้ตามความปรารถนา เวลาจะไปแสวงหาอาหารและผลไม้ ท่านก็จะเหาะไปยังป่าหิมพานต์ หรือไม่ก็เหาะข้ามไปยังอุตตรกุรุทวีป แล้วก็กลับมาบำเพ็ญภาวนาต่อในมนุษย์โลก

ดังในพระไตรปิฎก ความว่า ” ข้าพระองค์เป็นฤๅษีชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตรของผู้ใหญ่บ้าน มีฤทธิ์ เหาะได้ ความเร็วของข้าพระองค์นั้นเปรียบได้กับนายขมังธนู ผู้ยิงธนูแม่นยำ ศึกษามาดีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญ ฝึกซ้อมมาดี พึงยิงลูกศรเบาให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่ยากฉะนั้น การย่างเท้าแต่ละก้าวของข้าพระองค์เปรียบได้กับระยะทางจากทะเลด้านตะวันออกถึงทะเลด้านตะวันตกฉะนั้น ความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เราจักถึงที่สุดแห่งโลกด้วยการไป’ เกิดแก่ข้าพระองค์นั้น นั้นแล เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การหลับ และการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย มีอายุ ๑๐๐ ปี ดำรงชีพอยู่ได้ตั้ง ๑๐๐ ปี ดำเนินไปได้ตั้ง ๑๐๐ ปี ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกก็ตายเสียก่อนในระหว่างทาง”

ท่านโลหิตตัสสะ ฝึกทำสมาธิจนใช้งานได้แคล่วคล่อง นึกอยากไปไหนก็ไปได้ทันที เมื่อมีฤทธานุภาพมากแล้ว จึงตั้งใจว่าจะเดินทางไปให้สุดโลก จึงได้เข้าฌานสมาบัติ แล้วเหาะไปเรื่อยๆ โดยไม่หยุดพักในระหว่างทาง มีปีติสุขอยู่ในฌานเป็นอาหาร ไม่ต้องนอนหลับ แต่พักผ่อนในฌาน ท่านใช้เวลาเดินทางอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานถึง ๑๐๐ ปี จากจักรวาลหนึ่งไปยังอีกจักรวาลหนึ่ง ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ทั้งภพน้อยภพใหญ่ ก็ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก

ลูกธนูที่นายขมังธนูยิงออกจากแล่ง ว่ามีความเร็วปานใด ท่านยังมีความเร็วยิ่งกว่านั้นเป็นแสนเป็นล้านเท่า แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่สามารถไปให้สุดจักรวาลได้ ต้องหมดอายุขัยลงในระหว่างทางนั่นเอง

ขอขอบคุณ ภาพจิตรกรรมฝาผนังจาก ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพจิตรกรรมฝาผนังจาก ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ได้ไปบังเกิดในโลกสวรรค์ เป็นเทพบุตร ผู้มีรัศมีกายสว่างไสว เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก โรหิตตัสสเทพบุตรได้ออกจากวิมาน มาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งกำลังประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี

ครั้งนั้น โรหิตัสสเทพบุตร ในยามราตรีก็มีวรรณะงามยิ่ง ทำพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยปัญหาที่ค้างคาใจมานานว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์สามารถจะทรงรู้ ทรงเห็น หรือ ทรงถึงที่สุดแห่งโลก ที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติด้วยการไป และการมาหรือไม่อย่างไร

“มีสถานที่ใด ที่ไม่มีการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตายบ้างไหม ข้าพระองค์ได้เดินทางตลอดหลายชีวิต ตั้งแต่เมื่อเป็นมหาฤาษี แต่ต้องตายเสียในระหว่างทาง ยังไม่สามารถเดินทางให้พ้นจากโลก พ้นจากภพได้เลย แล้วจะมีมนุษย์ที่สามารถไปให้ถึงที่สุดโลก ได้หรือไม่พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ท่านเทพบุตร ที่สุดโลกนั้น บุคคลไม่อาจไปได้ด้วยการเดินทางไกล ถ้าหากตถาคตยังไม่บรรลุถึงที่สุดของโลกแล้ว ก็จะไม่กล่าวถึงการกระทำที่สุดทุกข์ ก็แต่บัดนี้ ตถาคตบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก การดับของโลก และทางที่ให้ถึงความดับโลก ว่ามีอยู่ในเรือนกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก ที่มีใจครองนี้”

ถ้าไม่กระทำที่สุดแห่งทุกข์ ก็ยังต้องท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ อนันตกาล

             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป เราไม่กล่าวว่า การที่บุคคลยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได 

อนึ่ง เราบัญญัติโลก ๑. ความเกิดแห่งโลก ๒. ความดับแห่งโลก ๓. และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก ๔. ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจนี้เอง”

เชิงอรรถ :

๑ โลก ในที่นี้หมายถึงทุกขสัจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๕/๓๔๕)

๒. ความเกิดแห่งโลก หมายถึงสมุทัยสัจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๕/๓๔๕)

๓. ความดับแห่งโลก หมายถึงนิโรธสัจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๕/๓๔๕)

๔. ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก หมายถึงมัคคสัจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๕/๓๔๕)

ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๗๔

โดยสรุป ที่พระพุทธเจ้าตรัสกับ โรหิตัสสะเทพบุตรก็คือ ที่สุดแห่งโลก ก็คือ เกิดที่ใจ ดับที่ใจ (ดับที่ใจ ก็คือ ดับกิเลสตัณหาที่เกาะกุมใจ)

ขอขอบคุณ ภาพจิตรกรรมฝาผนังจาก ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพจิตรกรรมฝาผนังจาก ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here