ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ขอขอบคุณ ภาพจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ขอขอบคุณ ภาพจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

“เพราะเราทุกคนคือคนเดียวกัน มาจากธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนกัน และจะต้องกลับคืนสู่ธาตุสี่เช่นกัน” …น้อมเศียรเกล้า อาจาริยบูชา “๑๑๔ ปีชาตกาลท่านอาจารย์พุทธทาส ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

“หลวงพ่อได้พบกับท่านพุทธทาส

เพราะเป็นศิษย์อาจารย์มหากลั่นด้วยกัน ”

เปิดบันทึกเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เขียนถึงท่านพุทธทาส และ เปิดจดหมายท่านพุทธทาสเขียนถึงเจ้าประคุณสมเด็จฯ

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น  ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ผู้เขียนเปิดบันทึกความทรงจำเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๙ เมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และเลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ในขณะนั้น เมตตาเล่าให้ฟังถึงความผูกพันของสองพระมหาเถระที่ใครๆ หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อน

จากบันทึกของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ที่เขียนถึงท่านอาจารย์พุทธทาสและและจดหมายที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเขียนถึงเจ้าประคุณสมเด็จฯ จากหนังสือ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก ” รัฐบาลจัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศล ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗

และหนังสือ “ชีวิตและความคิด” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก โดย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พิมพ์ในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.๙) ในวันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

เป็นอีกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งเล็กๆ ที่ผู้เขียนขอบันทึกไว้ในความทรงจำอันงดงาม หลังจากที่ได้พาคุณแม่ไปปฏิบัติธรรมที่ธรรมาศรมธรรมมาตา สวนโมกขพลาราม ๔ เดือน เมื่อยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา และหลังจากนั้นเราสองแม่ลูกก็ไปปฏิบัติธรรมที่ธรรมมาตาในช่วงวันล้ออายุท่านอาจารย์พุทธทาสแทบทุกปี

จนกระทั่งคุณแม่จากผู้เขียนไปเมื่อสองปีกว่ามาแล้ว และก็ยังได้ไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลสรีระศพ พระครูใบฎีกามณเฑียร มณฺฑิโร หรือ ท่านจ้อย พระอุปัฏฐากท่านอาจารย์พุทธทาส และ และงานฌาปนกิจสรีรสังขารท่าน ในวันจันทร์ที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ที่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และด้วยความที่ผู้เขียนเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด จึงได้ขออาราธนาประวัติช่วงสั้นๆ ของพระมหาเถระผู้มีบทบาทในการขับเคลื่อนธรรมจักรอย่างอาจหาญให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปทั่วโลกได้รับความเย็นใจจากพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบมากว่า ๒๖๐๐ ปี

และที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีนี้เอง ซึ่งชาวบ้านในสมัยโบราณเรียกว่า”เกาะนิพพาน” เป็นสถานที่ปลีกวิเวกสำหรับพระผู้แสวงความสันโดษ ตัดขาดจากความเกี่ยวข้องด้วยหมู่คณะ มุ่งหน้าสู่พระนิพพาน และที่นี่เองเป็นบ้านเกิดของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ในตระกูลโชคชัย เมื่อ ๙๒ ปีก่อน และต่อมาหลวงพ่อสมเด็จฯ ได้พบกับท่านอาจารย์พุทธทาสอย่างไร ท่านได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

“หลวงพ่อได้พบกับท่านพุทธทาส เพราะเป็นศิษย์อาจารย์มหากลั่นด้วยกัน ก็อยู่ด้วยกันตอนเป็นเณร แต่เป็นระยะสั้นๆ ตอนนั้นเกิดทหารพันธมิตรทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ หลวงพ่อพริ้ง อาจารย์ของหลวงพ่อท่านกลัวไม่ปลอดภัยจึงมารับไปไชยา อยู่ที่พุมเรียง และเข้าใจความรู้สึกของลูกศิษย์ว่า ตั้งใจอยากเรียนบาลี จึงนำหลวงพ่อซึ่งขณะนั้นเป็นสามเณรไปฝากไว้กับ “พระมหากลั่น ปิยทสฺสี” เพื่อเรียนบาลีศึกษาอยู่ที่พุมเรียง อำเภอไชยา จึงได้พบกับท่านพุทธทาส ท่านอยู่พุมเรียงและเป็นศิษย์ท่านมหากลั่นอยู่ก่อนแล้ว ขณะยังเป็น “พระมหาเงื่อม อินทปัญโญ” จึงนับได้ว่าเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกัน พอเหตุการณ์ปกติ พลวงพ่อพริ้งก็มารับกลับกรุงเทพฯ แต่ก็ยังได้พบกันอยู่บ่อยครั้ง ท่านทั้งสองจึงมีความผูกพันกันตั้งแต่นั้นมา

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ขอขอบคุณ ภาพจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ขอขอบคุณ ภาพจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

ในประวัติท่านอาจารย์พุทธทาสช่วงนี้ บันทึกไว้ว่า ในพรรษาที่ ๕ ของพระเงื่อม อินทปัญโญ ได้เข้าไปศึกษาปริยัติธรรมต่อที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง เข้าอยู่ที่วัดปทุมคงคา เพื่อศึกษาภาษาบาลี ซึ่งส่วนมากเรียนกับพระมหากลั่น ปิยทสฺสี ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน เป็นญาติกันด้วย (ต่อมาพระมหากลั่นกลับมาเปิดสอนบาลีที่วัดใหม่พุมเรียง และได้เป็นพระครูชยาภิวัฒน์ หลังจากท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ก่อตั้งสวนโมกข์ขึ้นแล้ว) ซึ่งท่านสอนพิเศษให้ทุกคืน รวมกับพระภิกษุสามเณรอื่นอีก ๔ – ๕ รูป ปลายปี ๒๔๗๓ สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค เป็นพระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ

“ต่อมา ท่านพุทธทาสมีอาวุโสมากขึ้น ท่านก็มาหาที่วัดสระเกศฯ บอกอยากได้พระไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุไชยา เพราะท่านแก่แล้ว แต่ขอเป็นพระวัดสระเกศฯ หลวงพ่อสมเด็จฯ บอกท่านไปว่า “ได้” แล้วท่านก็มีหนังสือมา หนังสือฉบับนั้น ท่านพุทธทาสเขียนด้วยลายมือท่านเอง ขอให้ท่านเจ้าคุณสังข์ไป เพราะเห็นว่าคุ้นเคยกับท่านพุทธทาสอยู่ก่อน เจ้าคุณสังข์ท่านก็ยอมไป และอยู่มาจนกระทั่งท่านมรณภาพ ”

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ได้ไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณพระราชสุธรรมเมธี (สังข์ ภูริปญฺโญ , ปธ.๙) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมธาตุไชยา ท่านเล่าให้ฟังย้อนไปในอดีตว่า เจ้าคุณพระราชสุธรรมเมธี เคยพำนักศึกษาพระปริยัติธรรม ณ สำนักวัดสระเกศ จนสำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค และได้ช่วยเหลืองานในสำนักเป็นเอนกประการ จนดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ต่อมา หลวงพ่อพุทธทาส ได้มีหนังสือมาขอตัวจากหลวงพ่อสมเด็จฯ เพื่อไปช่วยดูแลวัดบรมธาตุไชยา ซึ่งเจ้าคุณพระราชสุธรรมเมธีก็ยอมเสียสละไปตามที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีหนังสือส่งตัวไป และได้บริหารงานคณะสงฆ์ด้วยความเสียสละ จนได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุราษฏร์ธานี  นับเป็นเกียรติ และนำความภาคภูมิใจมาสู่สำนักวัดสระเกศ เป็นอย่างยิ่ง


หลวงพ่อสมเด็จฯ เล่าว่า ตอนนั้นหลวงพ่อพุทธทาสมีหนังสือ มาขอเจ้าคุณสังข์ เห็นว่า ทางวัดสระเกศยังเงียบๆ อยู่ ท่านก็ตามมาถึงวัด คงเกรงว่า จะไม่ให้เจ้าคุณสังข์ไป หลวงพ่อสมเด็จก็บอกว่าให้ไป หลวงพ่อพุทธทาสก็บอกว่า ให้ตอบหนังสือด้วย จะได้มีหลักฐานไปยืนยันกับเจ้าคุณสังข์ หลวงพ่อสมเด็จก็จึงตอบหนังสือไป

ากนั้น พอเสร็จพิธีพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณพระราชสุธรรมเมธี (สังข์ ภูริปญฺโญ , ปธ.๙) คณะสงฆ์วัดสระเกศ ได้เดินทางไปเยี่ยมวัดพุมเรียง อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งเป็นวัดที่หลวงพ่อพริ้งนำเจ้าประคุณสมเด็จฯ ขณะเป็นสามเณร  หลบภัยการทิ้งระเบิดช่วงสงคราม  ออกจากกรุงเทพฯ มาพำนักเรียนภาษาบาลีอยู่กับอาจารย์มหากลั่น ปิยทัสสี

  เป็นเหตุให้หลวงพ่อสมเด็จได้พบกับหลวงพ่อพุทธทาส ซึ่งเป็นศิษย์อาจารย์มหากลั่น ที่วัดพุมเรียงแห่งนี้  เพราะความเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์จึงทำให้ท่านทั้งสองมีความผูกพันกันสืบมา แม้ช่วงที่หลวงพ่อพุทธทาสอาพาธ หลวงพ่อสมเด็จก็ไปเยี่ยมอยู่บ่อยครั้ง”


ช่วงที่หลวงพ่อสมเด็จไปพักเรียนบาลีที่พุ่มเรียง น่าจะเป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ  ต่อมา เมื่อเหตุการณ์ที่กรุงเทพ สงบลง หลวงพ่อพริ้งก็มารับตัวเจ้าประคุณสมเด็จฯ กลับวัดสระเกศ เช่นเดิม

พระมหากลั่น ปิยทัสสี พระอาจารย์สอนภาษาบาลีให้แก่พระเงื่อม อินทปัญโญ จนกระทั่งสอบ ปธ.๓ ประโยคได้โดยไม่ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนตามปกติ (ที่มา หนังสืออนุทินภาพ ๖๐ ปี สวนโมกข์ หน้า ๓๔)
พระมหากลั่น ปิยทัสสี พระอาจารย์สอนภาษาบาลีให้แก่พระเงื่อม อินทปัญโญ จนกระทั่งสอบ ปธ.๓ ประโยคได้โดยไม่ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนตามปกติ (ที่มา หนังสืออนุทินภาพ ๖๐ ปี สวนโมกข์ หน้า ๓๔)

คุณธรรม คือ ความกตัญญู

เป็นสิ่งที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยึดถือปฏิบัติและพร่ำสอนอยู่ตลอด พระมหากลั่น หรืออาจารย์มหากลั่น เป็นหนึ่งในพระเถระที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ รำลึกพระคุณอยู่เสมอ แม้มีโอกาสศึกษาปริยัติอยู่กับท่านไม่นานนัก แต่ด้วยวิสัยแห่งปราชญ์ทั้งหลาย ย่องยึดถือความกตัญญูเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าน้อยหรือมาก อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความเจริญในชีวิตทั้งคติโลกและคติธรรม เมื่อมีโอกาสเจ้าประคุณสมเด็จฯก็จะบำเพ็ญกุศลให้เสมอ…

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น เหนือเศียรเกล้า ที่เมตตาเล่าเรื่องราวแต่หนหลังให้ฟังเมื่อหลายปีก่อน เกี่ยวกับสองพระเถระนักปราชญ์ผู้มีความสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งแผ่นดินไทยและสากลโลกที่ทำให้จิตใจมนุษย์เกิดความเมตตากรุณาต่อกันจนเกิดสันติธรรมมาจนถึงทุกวันนี้

“หลวงพ่อได้พบกับท่านพุทธทาส เพราะเป็นศิษย์อาจารย์มหากลั่นด้วยกัน ” เปิดบันทึกเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เขียนถึงท่านพุทธทาส และ เปิดจดหมายท่านพุทธทาสเขียนถึงเจ้าประคุณสมเด็จฯ โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here