ขอขอบคุณ ภาาพจากปฏิทินธนาาคารออมสิน พ.ศ.๒๕๖๐
ขอขอบคุณ ภาาพจากปฏิทินธนาาคารออมสิน พ.ศ.๒๕๖๐

สิ่งที่พ่อสร้างไว้

เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม/ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

สิ่งที่พ่อสร้างไว้ เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐
สิ่งที่พ่อสร้างไว้ เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐

“ขอฝันใฝ่ในฝัน   อันเหลือเชื่อ

ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว”

ฯลฯ

            ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในบทเพลง “ความฝันอันสูงสุด”   ซึ่งผู้เขียนมักใช้ประกอบการบรรยายทุกครั้ง เมื่อได้รับมอบหมายให้พูดเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙  และทุกๆ  ครั้งก็จะต้องข่มกลั้นความรู้สึกแต่บางครั้งก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่  มันไหลพรั่งพรูออกมา  ดีที่ขณะนั้นปิดไฟและทุกคนจุดเทียน   

ตลอดทั้งปีนี้ผู้เขียนไม่อาจรับหน้าที่นี้ได้  ไม่สามารถที่จะประคองใจให้ดำเนินกิจกรรมไปจนสำเร็จ  แม้ใจจะแกร่งอยู่บ้าง   แต่ก็ถูกกร่อนด้วยความจริงที่พยายามเตรียมใจรอ แต่ก็มิอาจจะข่มใจไม่ให้สั่นไหวได้  เมื่อเผชิญกับความเป็นจริง 

เมื่อค้นพบว่า ใจเราไม่ได้แข็งพอ  จึงพยายามฝึกและบรรเทาความสั่นเครือของใจ   ให้มีความสงบระงับเศร้า ขณะที่เผชิญความรู้สึกทุกข์ได้   ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเป็นพระ  ถ้าจิตยังอ่อนไหว งานใดๆ ก็จะด้อยประสิทธิภาพ 

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ในสมัยพุทธกาลช่วงที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน  ก็จะมีพระสงฆ์บางส่วนไม่ได้อยู่เฝ้าเศร้าสงบอยู่ตรงที่ประทับ  แต่จะละออกไปอยู่ป่าเร่งภาวนาเพื่อให้คนเองได้เข้าถึงสัจธรรม   ก่อนที่พระองค์จะสิ้นไป  ก็พยายามถือคตินี้  เมื่อพ่อไม่อยู่เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และพึ่งตนเองให้ได้  ทั้งทางกายและใจ  แม้จะห่างไกลแต่เราก็จะรักษางานของพ่อไว้และสานต่อจนสุดกำลัง

ขอขอบคุณ ภาพจากปฏิทินธนาคารออมสิน พ.ศ.๒๕๖๐
ขอขอบคุณ ภาพจากปฏิทินธนาคารออมสิน พ.ศ.๒๕๖๐

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นต้นแบบที่ดีงามสำหรับชาวไทยทุกคน  ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่  ที่เราได้เกิดมาในรัชกาลของพระองค์” 

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

ผู้เขียนยังจำได้ดีที่แม่พาหยอดออมสินสมัยยังเด็ก  แม่บอกธนาคารออมสินบอกว่า “หลวงให้หัดออมเงิน”  ในความหมายของแม่คือ “ในหลวง”  อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่แม่ก็บอกให้เราทำออมสิน ด้วยกระป๋องแป้งที่ใช้หมดแล้ว 

แรกๆ ก็ไม่ได้สนใจมากนัก จนครั้งหนึ่งครูได้เล่าเรื่องในหลวงกับสมเด็จย่าให้ฟังว่า  สมัยที่ในหลวงทรงเป็นเด็ก  อยากได้รถจักรยาน  แต่แม่ซึ่งก็คือสมเด็จย่า  บอกให้ออมเงินซื้อเอง  พระองค์ก็เลยต้องออมค่าขนมไว้เพื่อซื้อรถจักรยาน   จนปลายปีเมื่อแคะกระปุกออกมาแล้ว  เงินที่ได้ก็ยังไม่พอค่าจักรยาน  แต่แม่ก็ซื้อให้  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ  พระองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างแท้จริงที่อยากจะได้สิ่งของ และได้พยายามด้วยตัวเองก่อน 

ขอขอบคุณ ภาาพจากปฏิทินธนาาคารออมสิน พ.ศ.๒๕๖๐
ขอขอบคุณ ภาาพจากปฏิทินธนาาคารออมสิน พ.ศ.๒๕๖๐

เรื่องนี้  เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนได้ฝึกเก็บเหรียญแม้สลึงตั้งแต่ประถม  เมื่อมาบวชเณรก็ยิ่งได้มาเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างประหยัดกับพระอาจารย์อีกท่านเล่าถึงในหลวงใช้ยาสีฟันจนลีบแบน   แล้วให้เราฝึกใช้ของแบบนั้น  แม้กระทั้งการใช้สบู่ ๓ สี เพราะเราเลือกยี่ห้อสบู่ไม่ได้แล้วแต่เขาจะถวาย  ใช้จนใกล้หมดแล้วก็เอาก้อนใหม่มาทาบกับก้อนเก่า ซึ่งตอนนั้นก็คิดว่าดีมากเลย  เพราะบางครั้งมันมีทั้งมอยเจอร์ไรเซอร์บำรุงผิวและกำจัดแบคทีเรียไปด้วยในก้อนเดียวกัน   

สมัยนั้นสามเณรในต่างจังหวัด  ไปสวดมาติกาบังสุกุล ก็จะได้ครั้ง ๕-๑๐ บาท มาช่วงหลังถึงเพิ่มเป็น ๒๐ ซึ่งก็เก็บออมจนสามารถใช้เป็นค่ารถในการไปเรียนได้  ทำอยู่อย่างนี้จนทุกวันนี้ผู้เขียนก็ยังมีเหรียญในกระป๋องชาจีน  นานครั้งก็มีคนมาขอไปทำโปรยทาน  (เขาจะเอาริบบิ้นถักรอบเหรียญ ใช้ในงานบวชและงานศพ) 

เมื่อสอบเรียนที่สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ได้  และมีการเปิดสอนวิชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นครั้งแรก  ผู้เขียนจึงไม่รั้งรอที่จะสมัครเรียนเป็นวิชาเลือก  ถึงจะทำให้ต้องกลับวัดดึกหลายครั้ง แต่ก็ทำให้ได้เข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มากขึ้น เป็นการเรียนด้วยความภูมิใจ 

ผู้เขียนเล่าด้วยหวังสร้างแรงบันดาลใจให้โยมพ่อ ได้ดำเนินวิถีพอเพียงทำเกษตรแบบสวนผสม  ทำให้บ้านของโยมพ่อผู้เขียนขนาดเกือบๆ ๔ ไร่ มีนาข้าว  มีเล้าหมู ไก่ไข่ คอกควาย สะตอ บ่อกบ บ่อปลา และปลูกผัก

ครั้งหนึ่งพ่อเล่าให้ฟังว่า “ไปประชุมมาแต่ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะไม่เข้าเกณฑ์ คือ ไม่มีหนี้”  แล้วพ่อก็พูดคำหนึ่งว่า “ถึงไม่มากแต่ก็พอ”  เป็นอีกหนึ่งของความภูมิใจส่วนตัว  ที่นำแนวทางของพ่อหลวงมาให้พ่อผู้ให้เกิดได้ดำเนินชีวิตมีความสุขร่มเย็น  พอยังอัตภาพให้เป็นไปอย่างไม่ลำบากเกินไปมากนัก 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้  อยากจะแบ่งปันประสบการณ์บางส่วนของความเป็นพสกนิกรชาวไทยว่า เราได้ซึมซับอุปนิสัยบางอย่างจากพ่อหลวงของเรามากแค่ไหน  และสิ่งที่พระองค์ทรงวางรากฐานไว้มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อคนไทยทุกคน 

วันนี้พระองค์ไม่ทรงอยู่แล้วจึงอยากชวนเราทุกคนร่วมกันระลึกและตรึกตรองดูว่ามีสิ่งใดบ้าง ที่เราจะสามารถทำได้  เพื่อรักษาและพัฒนาสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ผู้เป็นที่รักยิ่งได้สร้างไว้อันเป็นมรดกที่ล้ำค่า แก่เราทุกคน

การบูชาส่งเสร็จพระองค์สู่สวรรคาลัย  นอกจากกราบบูชาด้วยจิตนอบน้อมแล้ว  ยังจะต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปในแนวทางที่พระองค์ทรงวางไว้ ถือเป็นการ  “ปฏิบัติบูชา”  ที่พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นการบูชาที่ถูกต้องและน่าสรรเสริญมากที่สุด 

ขอขอบคุณ ภาาพจากปฏิทินธนาาคารออมสิน พ.ศ.๒๕๖๐
ขอขอบคุณ ภาาพจากปฏิทินธนาาคารออมสิน พ.ศ.๒๕๖๐

เรามีพระบรมฉายาลักษณ์ติดไว้ที่บ้านแล้ว  ก็อยากให้เราน้อมนำพระบรมราโชวาทและแนวแห่งพระจริยาวัตรอันประเสริฐมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต พัฒนาตนและสังคม ให้มีความมั่นคงสถาพร เปี่ยมด้วยสุขและสันติ  บางทีนี่อาจจะเป็นพระประสงค์หนึ่งที่พระองค์ปรารถนา  และเราก็สามารถทำได้  ให้สมกับเป็นลูกพ่อ 

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน

สิ่งที่พ่อสร้างไว้” เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม/ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐

หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐
หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here