วันนี้วันพระ วันวิสาขปุรณมีบูชา

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระ
ผู้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดนำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่
และสร้างพระสงฆ์ผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย
จาริกธรรมไปทั่วโลกเพื่อประโยชน์สุขของมนุษย์และสรรพชีวิต

สำหรับสองตอนนี้เป็นความสืบเนื่องในสายธารธรรมจากสามเณรเกี่ยว โชคชัย ผู้มุ่งมั่นในการเรียนบาลี แม้อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเรียนบาลีไม่ขาดตอนเลย เมื่อหลวงพ่อพริ้งพาท่านมายังสำนักเรียนบาลี วัดสระเกศฯ เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) มอบให้พระครูปลัดเทียบเป็นอาจารย์ผู้ปกครองสามเณรเกี่ยวในเวลาต่อมา และนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางด้านในเพื่อบรรลุโพธิญาณอย่างอุกฤษฏ์เมื่อมีพระอุปัชฌาย์ที่เข้มข้นในธรรม

น้อมรำลึกถึงพระคุณอันหาประมาณมิได้ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ในวันนี้เมื่อ ๕๗ ปีก่อน ด้วยการปฏิบัติบูชาอย่างเต็มกำลังความสามารถจนกว่าจะสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏ

วิถีแห่งผู้นำ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) เรียบเรียง

๒๒.

กลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร อีกครั้ง

              หลังจากสงครามสงบลง หลวงพ่อพริ้งจึงแวะไปรับสามเณรเกี่ยวที่วัดพุมเรียง  แล้วพาศิษย์เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครอีกครั้งหนึ่ง  ครั้งนี้หลวงพ่อพริ้งได้นำสามเณรเกี่ยวไปอยู่กับพระครูปลัดเทียบ ธมฺมธโร

การกลับคืนกรุงเทพฯ ในครั้งนี้สามเณรเกี่ยวมิได้ขาดตอนต่อจากวิชาที่เรียนเพราะได้ศึกษาวิชาความรู้กับพระมหากลั่นในช่วงพักหลบภัยสงคราม 

การที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) มอบให้พระครูปลัดเทียบเป็นอาจารย์ผู้ปกครองสามเณรเกี่ยว ก็เนื่องจากอาจารย์มหาเกตุได้ลาสิกขาแล้ว  อีกอย่าง ทั้งหลวงพ่อพริ้ง และพระครูปลัดเทียบ  ต่างก็เป็นเพื่อนกัน มีความคุ้นเคยกันมาแต่เดิม

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เล่าย้อนเหตุการณ์วันที่ท่านเข้ามาอยู่วัดสระเกศฯ วันแรกว่า

“วัดสระเกศ สมัยนั้น สภาพไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้  ในวัด  ถนนทางเดินทำด้วยอิฐแดงวางซ้อนเรียงเป็นแถว  ตามลานโบสถ์ ลานวิหาร ก็ปูด้วยหินแผ่นใหญ่ๆ หนาๆ ถ้าเป็นต่างประเทศ  เช่นที่ฝรั่งเศส  ถนนทำด้วยอิฐอย่างนี้  ถือว่า เป็นถนนที่มีค่า 

“พอเข้ามาในวัดครั้งแรกรู้สึกแปลกใจ วัดเป็นคล้ายๆ ตึก ๒ ชั้น  ทำไมวัดเป็นอย่างนี้  พระโผล่หน้าออกมาทางหน้าต่าง  มามองดู  ท่านคงสงสัยว่าเป็นใคร  เพราะได้ยินเสียงเท้าเดินผ่านเข้ามา  นึกในใจว่า เอะ ทำไมพระอยู่กันอย่างนี้”

“จำได้เลยว่า  ตอนนั้น เป็นเณรอายุไม่เกิน ๑๓-๑๔ ขวบเท่านั้นเอง  แล้วหลวงพ่อพริ้งก็พาไปกราบสมเด็จพระสังฆราช  พระองค์ท่านก็ให้เรียกพระรูปหนึ่งมารับ  ภายหลัง คือ อาจารย์มหาเกตุ  หลวงพ่อพริ้งอยู่สนทนากับอาจารย์มหาเกตุ  และพระครูปลัดเทียบ  สองสามวันก็เดินทางกลับ  เพราะท่านคุ้นเคยกันอยู่แต่เดิม  เวลามาวัดสระเกศฯ หลวงพ่อพริ้งท่านพักที่คณะ ๗ ห้องที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดอยู่

“วัดสระเกศหลังสงคราม มีสภาพทรุดโทรมมาก สมเด็จพระสังฆราช ต้องฟื้นฟู รียกว่า ทรงบูรณะแทบทุกส่วน ทั้งการศึกษาพระเณร พระองค์ก็ไม่ทรงละเลย ”

สามเณรเกี่ยวกลับมาวัดสระเกศ  อีกครั้ง  ได้พำนักอยู่ที่คณะ ๕  เหมือนเดิม และได้เริ่มศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป

๒๓.

สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)

สมเด็จพระสังฆราช  พระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

              สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ประสูติเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๑๗  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่เรือนแพหน้าวัดกัลยาณมิตร อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี  บิดาชื่อ ตรุษ  มารดาชื่อ จันทร์

พระนามเดิม อยู่  นามสกุล (แซ่) ฉั่ว  ต่อมาเปลี่ยนเป็น ช้างโสภา

เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงรับการศึกษาเบื้องต้นกับบิดา  และต่อมา มีอายุพอสมควรได้ไปศึกษาวิชาเลขลูกคิด และโหราศาสตร์ ในสำนักของพระอาจารย์ช้าง วัดสระเกศฯ  ได้รับการศึกษาเล่าเรียนในสำนักวัดสระเกศฯ สืบมา จนกระทั่งบรรพชาเป็นสามเณร  ก็ได้เริ่มเรียนแผนกบาลี  เรียนมูลกัจจายน์ (หลักสูตรการเรียนภาษาบาลีชั้นสูง สมัยนั้น) ในสำนักพระอาจารย์ช้าง  และเรียนต่อๆ มาในสำนักท่านเจ้าคุณพระธรรมกิติ (เม่น) บ้าง  ในสำนักเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์  และในสำนักพระธรรมปรีชา (ทิม) ตามลำดับ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓  ครั้งยังเป็นสามเณรได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นครั้งแรก ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค 

ต่อมา ในพ.ศ. ๒๔๓๖ ยังเป็นสามเณรเช่นเดิม  ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวงที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ได้เปรียญอีก ๑ ประโยค รวมเป็นเปรียญ ๔ ประโยค

จนถึงปี ๒๔๓๗ ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  โดยมีสมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ เป็นพระอุปัชฌาย์  พระธรรมทานาจารย์ (จุ่น) วัดสระเกศฯ  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และพระธรรมกิตติ (เม่น) วัดสระเกศฯ  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้รับฉายา ว่า “ญาโณทโย”

ต่อมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีก ได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค  และ พ.ศ.๒๔๔๓ ได้เป็นเปรียญ ๖ ประโยค

เมื่อสอบได้เปรียญ ๖ ประโยคแล้ว  ก็คิดว่า จะหยุดไม่เข้าแปลอีกต่อไป  ความทรงทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕  ทรงมีรับสั่งให้เข้าแปลประโยค ๗ ต่อไป  จึงต้องรับสนองพระกระแสรับสั่งเข้าแปลต่อไป  และแปลได้อีก ๑ ประโยค  เป็นเปรียญ ๗ ประโยค 

พระรุ่นเก่าในวัดสระเกศ เล่าต่อกันมาว่า เรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕  ทรงมีรับสั่งให้ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ) เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาอยู่ ญาโณทโย เข้าแปลประโยค ๗ ต่อไปนั้น  ท่านเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการเวลานั้น  ได้เป็นผู้นำพระกระแสรับสั่งมาบอก

เกิดธรรมเนียมนำรถยต์หลวงส่งเปรียญ ๙ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๔๔ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ) ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง  แปลได้อีก ๑ ประโยค  ได้เป็นเปรียญ ๘ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้เข้าแปลประโยค ๙ ต่อไป ก็ได้เป็นเปรียญเอก ๙ ประโยค ในปีนั้น

อนึ่ง ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ) ได้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค  เป็นรูปแรกในรัชกาลที่  ๕  เมื่อพระชนมายุ ๒๘ พรรษา  และได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้นำรถยนต์หลวงมาส่งจนถึงที่เป็นพิเศษ  และนับตั้งแต่นั้นมา  ถ้าเปรียญรูปใดสอบไล่ได้ ๙ ประโยค  ก็ทรงพระกรุณาโปรดให้นำรถยต์หลวงส่งเปรียญรูปนั้นจนถึงที่เป็นธรรมเนียมมาจนถึงบัดนี้

อีกประการหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) นับตั้งแต่ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมมาตั้งแต่ประโยคต้นจนประโยคสุดท้าย ไม่เคยแปลตกเลย

ดำรงสมณศักดิ์

เมื่อทรงได้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยคแล้ว ก็ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสนามหลวงสอบไล่พระปริยัติธรรมตลอดมา

วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ในรัชกาลที่ ๕  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระปิฎกโกศล 

วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับเลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที ตรีปิฎกภูสิต ธรรมบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี

วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับเลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที ตรีปิฎกคุณสุนทรธรรมภูสิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ในรัชกาลที่ ๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเจดีย์ กวีวงศนายก ตรีปิฏกบัณฑิตมหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี  และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

พระรุ่นเก่าในวัดสระเกศ เล่าต่อกันมาถึงเหตุการณ์สำคัญของพระองค์ท่านว่า ในช่วงหนึ่ง พระองค์ไม่ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เลยเป็นระยะเวลาเกือบ ๒๐ ปี สืบเนื่องมาจากจะให้พระองค์เปลี่ยนวิธีห่มจีวรใหม่ ตามแบบที่มีความนิยมเปลี่ยนกันของพระในสมัยนั้น แต่พระองค์ก็ไม่ทรงเปลี่ยน ยังคงมั่นในวัตรปฏิบัติของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ทรงพาดสังฆาฏิ ห่มดอง ครองจีวรด้วยสีเหลืองทอง ตามแบบดั้งเดิมของบูรพาจารย์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในสำนัก

ในช่วงระยะเวลานั้น พระองค์จึงไม่เป็นที่โปรดปรานของพระผู้ใหญ่ และไม่ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นระยะเวลายาวนาน

เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ในรัชกาลที่ ๘  พระองค์ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระธรรมวโรดม บรมญาณอดุลย์ สุนทรนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูสิต สุทธิกิจสาทร มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี  ตำแหน่งเจ้าคณะรอง

ครั้นต่อมา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ในรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลคัมภีรญาณสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี

พ.ศ.๒๕๐๕ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร สิ้นพระชนม์ พระองค์ได้รับโปรดเกล้าฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

ทรงคำนึงถึงความสงบสุขของสังฆมณฑล

              ครั้นถึงวันที่ ๔ พ.ค.๒๕๐๖ โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  มีราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณ ญาโณทยาภิธานสังฆวิสุต พุทธบริษัทคารวสถาน ธรรมปฏิภาณญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช ในพระราชพิธีฉัตรมงคล นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเป็นประธานกรรมมหาเถรสมาคม รูปแรก ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยมีการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม ครั้งแรก ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖

เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจทุกอย่าง เพื่อความสงบสุขของสังฆมณฑล โดยมิทรงคำนึงถึงความชราภาพ  แม้จะทรงได้รับโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชท่ามกลางความวุ่นวายแตกแยกของคณะสงฆ์  มีการกล่าวหาพระผู้ใหญ่ ในข้อหาปาราชิก และจับกุมไปคุมขังไว้นานหลายปี ในข้อหาคอมมิวนิสต์ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ พระองค์ก็ทรงเป็นที่พึ่งของคณะสงฆ์ทุกฝ่าย  

เมื่อมีผู้กราบทูลพระองค์เสด็จมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  แม้จะมีทูลผู้ทัดทาน เพราะเกรงจะเป็นที่ครหา อันเนื่องมาจาก ในขณะนั้น มีพระผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถูกกล่าวหาว่า ต้องอาบัติปาราชิก และถูกจับกุมไปคุมขังไว้ ในข้อหามีการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ  แต่ก็ทรงวางพระองค์ในพรหมวิหารธรรม ทรงมุ่งความสงบสุขแห่งสังฆมณฑล  ได้เสด็จไปบำเพ็ญพระกรณียกิจ ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ตามที่มีผู้กราบทูล โดยมิได้คำนึงสักว่าจะเป็นข้อครหา ตามที่มีผู้มาทัดทาน  

ทรงรับสั่งกับผู้ทัดทานว่า  “สังฆราช”

ไม่ใช่ “สังฆราชี” (ความแตกแยกแห่งสงฆ์)

หตุการณ์สำคัญที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในขณะที่กำลังเผชิญกับมรสุมแห่งคลื่นลมแรง ได้นำความชุ่มเย็นมาสู่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้  และสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากไปได้ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เล่าไว้อย่างละเอียดแล้ว ในหนังสือ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งลื่นลม” ซึ่งเป็นหนังสือจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานออกเมรุเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ

รับภารธุระพระศาสนา

              พ.ศ. ๒๔๔๕  เมื่อได้เป็นเปรียญธรรม ๕ ประโยคแล้ว  ก็ได้รับหน้าที่เป็นกรรมการสนามหลวง สอบไล่พระปริยัติธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามตลอดมา

  พ.ศ. ๒๔๕๖  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  วัดบวรนิเวศ ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระคณาจารย์โท ฝ่ายคันถธุระ  และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดสระเกศฯ

พ.ศ. ๒๔๕๘  ย้ายสนามหลวงการสอบบาลี  ไปที่วัดเบญจมบพิตร  เปลี่ยนการแปลด้วยปาก  เป็นการเขียน ก็ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจประโยคด้วย

พ.ศ. ๒๔๖๒  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศ ทรงแต่งตั้งให้เป็นแม่กองธรรมสนามมณฑลนครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๖๔  พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  โปรดให้เป็นแม่กองธรรมสนามจังหวัดกาญจนบุรี

พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๔๖๖  รับหน้าที่เป็นแม่กองธรรมสนามมณฑลภูเก็ต รวม ๒ ปีติด ๆ กัน

พ.ศ.๒๔๖๗  เป็นผู้รั้งตำแหน่ง เจ้าคณะแขวงเหนือ จังหวัดธนบุรี

พ.ศ. ๒๔๖๗   เป็นแม่กองธรรมสนามมณฑลภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๖๘  เป็นแม่กองธรรมสนามมณฑลนครราชสีมา

วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๙ ในรัชกาลที่ ๗  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงเหนือ  จังหวัดธนบุรี ได้รับหน้าที่นั้นตลอดมาจนถึงการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ๒๔๘๔

พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมตลอดมาถึง พ.ศ. ๒๔๘๔

พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับเลือกเป็นรองประธานสังฆสภา  และต่อมา เมื่อประธานสังฆสภาว่างลง  ก็ได้รับเลือกให้เลื่อนเป็นประธานสังฆสภา

ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้พระไตรสรณคมณ์ ๒ แบบ

              พ.ศ. ๒๔๖๐ เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ แล้ว  ก็ได้เป็นพระอุปัชฌาย์  ทรงให้การบรรพชาอุปสมบทกุลบุตร พร้อมทั้งทำหน้าที่ให้การศึกษาอบรมภิกษุสามเณร และศิษย์ในสำนักให้ได้รับการศึกษาเป็นไปด้วยดีตลอดมา

การทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของพระองค์นั้น ทรงปฏิบัติตามวิธีบรรพชาอุปสมบท แบบเดิม ที่ยึดถือปฏิบัติมาของสำนัก โดยไม่ได้มีการตัดทอนตามแบบที่มีผู้นิยมตัดทอนในเวลานั้น โดยเหตุผลว่ายืดยาวเกินความจำเป็น พระองค์รักษาแบบแผนวิธีการบรรพชาอุปสมบทแบบดั้งเดิมเอาไว้  ไม่ให้เลื่อนหาย ทรงให้พระไตรสรณคมน์ ๒ แบบ คือ แบบบาลี และ แบบสันสกฤต  

แม้วิธีเรียกผู้รับการบรรพชาอุปมบทเข้ามาสอบถามอันตรายิกธรรมท่ามกลางหมู่สงฆ์ ก็รักษารูปแบบดั้งเดิมเอาไว้

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เล่าตามที่ได้ยินมาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ว่า วัดสระเกศเป็นวัดที่มีการผูกพัทธสีมา ทั้งตามแบบพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน  พระอุปัชฌาย์ที่ให้พระไตรสรณคมน์ในพิธีบรรพชาอุปสมบทภายในพัทธสีมาพระอุโบสถวัดสระเกศ จึงต้องให้พระไตรสรณคมณ์ทั้ง ๒ แบบ คือ ทั้งแบบบาลี และ แบบสันสกฤต สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยวินัยกรรมบัญญัติไว้ว่า การบรรพชาอุปสมบทจะสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์นั้น  ผู้บรรพชาอุปสมบท ต้องมีความเชื่อความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า และมีความเข้าใจในพระไตรสรณคมน์อย่างแจ้งชัด เป็นเบื้องต้นเสียก่อน

เหตุเพราะแต่เดิมมา ชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนาทั้ง ๒ แบบ  คือ ทั้งแบบมหายาน และแบบเถรวาท ฝ่ายมหายานใช้ภาษาสันสกฤตบันทึกและเผยแผ่คำสอน ส่วนเถรวาทเราใช้ภาษาบาลีบันทึกและเผยแผ่คำสอน

ทั้งภาษาสันสกฤตและภาษาบาลี มีวิธีออกเสียงที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการป้องกันการเปล่งวาจาในการเข้าถึงพระรัตนตรัย  มิให้คลาดเคลื่อน อันจะเป็นเหตุให้การบรรพชาอุปสมบทมั่นคงเข้า บูรพาจารย์จึงกำหนดวิธีการเปล่งวาจาถึงพระไตรสรณคมน์ทั้งสองแบบ  คือ ทั้งแบบบาลีและสันสกฤต ควบคู่กันไป

วัดสระเกศได้ยึดถือปฏิบัติสืบกันมาตามลำดับบูรพาจารย์ของสำนัก ตามแบบอย่างเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) โดยไม่ได้มีการตัดทอนแต่อย่างใด

พัฒนาการศึกษาบาลีของสำนัก

ในฐานะที่พระองค์เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดสระเกศฯ  ทรงจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกธรรม และแผนกบาลีขึ้น  มีพระภิกษุสามเณรทั้งในวัดและต่างวัดมาอาศัยศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก  จนวัดสระเกศได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในวัดที่เป็นศูนย์กลางการเรียนบาลีของคณะสงฆ์ ในยุคนั้น โดยใช้ศาลารายรอบพระอุโบสถ เป็นสถานที่เรียน ปรากฏว่า มีนักเรียนสอบไล่ได้นักธรรมและบาลี ปีละจำนวนมาก

ได้ยินพระรุ่นเก่าของวัดสระเกศฯ เล่าถึงบรรยากาศการเรียนบาลีที่ศาลารายรอบพระอุโบสถ ว่า ในช่วงนั้น มีพระเณรมาเรียนกันมาก รูปไหนอยู่วัดไกล ต้องนั่งรถรางมาเรียน ญาติโยมจะซื้อตั๋วรถรางให้เป็นเล่มๆ เอาไว้นั่งมาเรียน

เมื่อครั้งเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  ยังเป็นสามเณรเรียนบาลี  ก็เคยมาเรียนบาลีไวยากรณ์ ที่วัดสระเกศ  ขณะนั้น ชั้นบาลีไวยากรณ์แบ่งเป็นกองหนึ่ง กับกองสอง ผู้ที่ท่องจำแบบแม่นจะได้อยู่กองหนึ่ง  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  จำแบบแม่นจึงได้อยู่กองหนึ่ง

ต่อมา เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงสร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรมขนาดสองชั้นขึ้นหลังหนึ่ง จึงย้ายจากศาลารายรอบพระอุโบสถ ขึ้นไปเรียนที่อาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังใหม่ ซึ่งนับว่า เป็นอาคารเรียนพระปริยัติธรรมที่ก้าวหน้า และทันสมัยมาก  ในยุคนั้น

ในเวลานั้น มีพระมหาเปรียญในสำนักวัดสระเกศ ออกไปเผยแผ่การศึกษาในต่างจังหวัด จนปรากฏว่า ได้รับหน้าที่ที่สำคัญทางคณะสงฆ์ และดำรงสมณศักดิ์ที่สูงขึ้นตามลำดับ เป็นจำนวนมาก

ด้านการปฏิสังขรณ์

เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว  ก็ได้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถทั่วทั้งหลัง  ได้ต่อหน้าชานพระวิหารให้กว้างใหญ่ขึ้น  ทำความสะดวกให้แก่สัปปุรุษ อุบาสก และอุบาสิกา  ที่จะได้เข้าไปนมัสการพระอัฏฐารสในพระวิหาร ได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถนนในวัดให้มีสภาพดีขึ้นกว่าเก่าเป็นอันมาก  กับทั้งยังได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เป็นการใหญ่จนสำเร็จ 

ด้านการอบรมศีลธรรมประชาชน

              จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันธรรมสวนะ  ซึ่ง มีอุบาสก อุบาสิกา  มาประชุมฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลในวันพระหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก  ทั้งในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  เช่น วันวิสาขบูชา  และมาฆบูชา  ถือว่า เป็นกิจสำคัญยิ่งขาดเสียมิได้

สำหรับภิกษุสามเณรภายในวัดก็จัดให้มีการประชุม  อบรม  ให้การศึกษา  ให้โอวาทานุสาสนี และคำแนะนำเสมอมา โดยเฉพาะนวกภิกษุในวัดต้องได้รับโอวาทานุสาสนี  การอบรม  และการศึกษาเป็นประจำ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๒ ปี สิ้นพระชนมเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๘  สิริพระชันษา ๙๐ ปี ๑๖๖ วัน

และวันนี้ เป็นวันวิสาขปุณรมีบูชา วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ จึงขอน้อมรำลึกถึงพระคุณอันหาประมาณมิได้ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เป็นเวลา ๕๗ ปีที่ผ่านมา ด้วยการปฏิบัติบูชาอย่างเต็มกำลังความสามารถจนกว่าจะสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏ

เรื่องเล่าเมื่อวันวาน จากนายแพทย์พิชัย ตั้งสิน

มูลนิธิตั้งสินอุปถัมภ์ จัดบรรพชาอุปสมบทศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันในความอุปการะของมูลนิธิตั้งสินอุปถัมภ์ ซึ่งเปรียบเหมือนลูกๆ ของคุณแม่มาลี ตั้งสิน ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร สำหรับปีนี้ นายแพทย์พิชัย ตั้งสิน กรรมการบริหารโรงแรมแม่น้ำ รามาดา พลาซา เล่าว่า ได้จัดบรรพชาและอุปสมบท ตั้งแต่วันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ และลาสิกขาวันที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ และได้นิมนต์สามเณรและพระภิกษุมาทำบุญ และถ่ายรูป ณ พระตำหนักสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อยู่ ญาโณทโยมหาเถร)

” เป็นสถานที่ที่ผมเองไปร่วมทำบุญมากกว่า ๕๐ ครั้ง ตั้งแต่ยังตัวเล็กๆ ทุกวันวิสาขบูชา ผมจะต้องไปร่วมงานสดับปกรณ์เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์สมเด็จพระสังฆราช อยู่ ญาโณทยมหาเถระ
คุณพ่อผมอุ้มผมไปถวายเป็นลูกสมเด็จพระสังฆราช ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๗ ตอนผมอายุสักสี่ห้าเดือน

“ตอนผมเล็กๆ พ่อผมจะบอกพี่ๆ ผมว่าห้ามตีผม เพราะได้ถวายผมเป็นลูกสมเด็จพระสังฆราช ทำอะไรผิดให้มาบอกพ่อ พ่อจะสอบสวนเอง

“ด้วยบ้านเกิดผมเช่าวัดสระเกศ วัดภูเขาทองนั่นแหละครับ เรียกว่าเช่าธรณีสงฆ์ สมัยก่อนวัดกับบ้านมีอะไรก็ช่วยกัน คุณพ่อผมก็ใกล้ชิดกับวัดมากเลย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) กับคุณแม่ผม ก็เกิดปีเดียวกัน เวลาสมัยก่อนท่านเจอกัน ท่านก็จะทักแม่ผมว่า แข็งแรงกว่าเยอะเลย” (จาก คอลัมน์ คุยนอกกรอบ นสพ. คมชัดลึก วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘ เรื่อง การบวชสองครั้งของ… นพ.พิชัย ตั้งสิน กับความสุขในการบุกเบิกห้องสมุดชุมชน : โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์)

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ๒๒. กลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร อีกครั้ง ๒๓. สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here