ขอน้อมถวาย

ผลงานนี้ไว้ในพระพุทธศาสนา

เพื่อเป็นพุทธบูชา

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา

พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง

พุทโธ ปะกิคัณหาตุ อัจจะยันตัง

กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ ฯ

หากจะมีกรรมอันน่าติเตียนใด

ที่ข้าพเจ้าได้ทำผิดพลาดไว้

ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ

ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงยกโทษล่วงเกินนั้น

เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีความสำรวมระวัง

ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกาลต่อไปฯ

ญาณวชิระ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทศชาติ

ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

การบำเพ็ญบารมีสิบชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

เขียนโดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

คำนำผู้เขียน

ทศชาติ เป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญบารมี เพื่อบรรลุพระโพธิญาณ และเป็นเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่ชาวโลก ไม่เฉพาะแต่คนไทยรู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง บรรพบุรุษไทยในอดีต ได้นำทศชาติมาเขียนเป็นจิตกรรมฝาผนังพระอุโบสถตามวัดต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานได้ศึกษาเส้นทางชีวิตมหาบุรุษ ผู้ที่จะเกิดมาเป็นพระศาสดาเอกของโลก

หลายปีมาแล้ว ผู้เขียนชอบเข้าไปนั่งในพระอุโบสถ ดูภาพจิตกรรมฝาผนัง วันแล้ววันเล่าไม่รู้จักอิ่ม ความงดงามของภาพจิตรกรรม ดึงผู้เขียนให้จมลึกลงไปสู่เหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตตามภาพจิตรกรรม ทั้งงดงามและอิ่มเอิบ

ค่ำคืนวันหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้ปรารภถึงเรื่องอยากให้มีหนังสือทศชาติที่อ่านง่าย และเหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน พร้อมกับส่งหนังสือให้เล่มหนึ่ง วันเวลาล่วงเลยมาจนถึงจนถึงต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ผู้เขียนเริ่มเปิดพระไตรปิฎกและอรรถกถาออกอ่าน แล้วผู้เขียนก็จมหายไปกับเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า

บางเรื่องราวดูเจ็บปวดหนักหน่วงในชีวิตมนุษย์ จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีชีวิตเช่นนี้อยู่จริงบนโลก

บางเรื่องราวดูงดงาม บางเรื่องราวดูเหงาเศร้า แต่ทั้งหมดก็เต็มไปด้วยพลังแห่งความเพียรพยายามของมหาบุรุษเอกของโลก พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์โดยเลือดเนื้อและชีวิตอย่างมนุษย์ทั่วไป แต่ทรงสูงส่งยิ่งด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ เหนือมนุษย์และเทวดาทุกผู้ทุกนาม

ผู้เขียนพยายามเก็บความจากพระไตรปิฎก และอรรถกถาให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ แล้วนำมาจัดเรียงหัวข้อใหม่ เพื่อให้น่าสนใจและชวนติดตามมากขึ้น โดยได้เชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลไว้ด้วย

นอกจากนั้น ยังได้นำแผนที่แสดงที่ตั้งเมืองต่างๆ ในชมพูทวีปและสุวรรณภูมิสมัยโบราณมาประกอบไว้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น บางเมืองในชาดกยังมีชื่อปรากฏอยู่ในสมัยพุทธกาล บางเมืองได้เปลี่ยนชื่อไปหลายชื่อ แต่บางเมืองก็ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา บางเรื่องบางเหตุการณ์ในทศชาติ อาจดูเป็นเรื่องเกินจริงสำหรับชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง

แต่หากพิจารณาให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าว มีโอกาสเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ได้เสมอ.

ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙

ความนำ

จากทศชาติสู่ทศบารมี

พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีเพื่อปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หลายภพหลายชาติจนไม่อาจกำหนดได้แล้วเกิดเป็นมนุษย์สามัญชน จนถึงเป็นพระมหากษัตริย์ ๑๐ ชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้ พระองค์เกิดเป็นมนุษย์ชั้นสูง แต่ละชาติทรงบำเพ็ญบารมีแต่ละอย่างด้วยจิตใจที่แน่วแน่มั่นคง

ทศบารมี ๑๐ ประการ ได้แก่ ๑. ทานบารมี ๒. ศีลบารมี ๓. เนกขัมบารมี ๔. ปัญญาบารมี ๕. วิริยบารมี ๖.ขันติบารมี ๗. สัจจบารมี ๘.อธิษฐานบารมี ๙. เมตตาบารมี ๑๐. อุเบกขาบารมี

บารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นบารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญมาอย่างยิ่งยวด ๓ ขั้น จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คือ

อย่างธรรมดา เรียกว่า “บารมี” ทรงบำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณโดยไม่คำนึงถึงทรัพย์สมบัติ ยศฐาบรรดาศักดิ์ คนที่พระองค์รัก และอวัยวะร่างกาย ทรงหวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนคนรักและทรัพย์สมบัติ จึงทรงสละได้แม้กระทั่งคนรักและทรัพย์สมบัติ

อย่างกลาง เรียกว่า “อุปบารมี” ทรงบำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณโดยไม่คำนึงถึงอวัยวะร่างกาย ทรงหวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนอวัยวะร่างกาย จึงทรงสละได้แม้กระทั่งอวัยวะร่างกาย

อย่างสูงสุด เรียกว่า “ปรมัตถบารมี” ทรงบำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณ โดยไม่คำนึงถึงชีวิต ทรงหวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนชีวิต จึงทรงสละได้แม้กระทั่งชีวิต

บารมีทั้ง ๑๐ ประการ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญละเอียดขึ้นไปตามลำดับจนถึงขั้นสูงสุด รวมเป็น ๓๐ บารมี ดังนี้

๑. เนกขัมมบารมี

การพรากกายและจิตออกจากเครื่องผูกรัด อันเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำความดี

ด้วยการบังคับกายไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งยั่วยุทางกาย แม้จะยังไม่ออกบวช ก็เป็นการพรากกายออกไปจากความวุ่นวายสับสนของโลกในขณะนั้น เป็นกายวิเวก และการตั้งจิตให้อยู่ในความสงบเป็นจิตวิเวก อย่างสูงสุดหมายถึง ออกจากกิเลสทั้งปวง โดยมีความดับทุกข์เป็นเป้าหมาย

พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติในเนกขัมมบารมีมาโดยลำดับจนถึงขั้นสูงสุด บางพระชาติก็ออกบวช บางพระชาติแม้ไม่ได้ออกบวช แต่ก็ทรงดำรงตนอย่างมีสติ น้อมใจให้ออกจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองต่างๆ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีอย่างแรงกล้าตามลำดับ ดังนี้

(๑) เนกขัมมบารมี ออกไปด้วยความรักในพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รัก และทรัพย์สมบัติ จึงตัดความห่วงใย ปลีกตนเองไปบำเพ็ญกายวิเวก คือ ความสงัดทางกาย สงัดจากกาม และอกุศลกรรมทั้งหลาย เนกขัมมะในระดับนี้ แม้คนรักและทรัพย์สมบัติจะสูญสิ้นไป ก็ไม่ยอมละทิ้งปณิธาน ไม่ยอมให้กายไปเกี่ยวข้องกับกาม พยาบาท อวิหิงสา ตลอดจนอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะมีเป้าหมายอยู่ที่พระโพธิญาณ

(๒) เนกขัมมอุปบารมี ออกไปด้วยความรักในพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะ ร่างกาย จึงตัดความห่วงใย ปลีกตนออกบำเพ็ญจิตวิเวก คือ ความสงัดทางจิต จากกามและอกุศลทั้งหลาย ด้วยญาณและสมาธิ เนกขัมมบารมีระดับนี้ แม้จะสูญเสียอวัยวะร่างกายก็ไม่ยอมทิ้งปณิธาน ฝึกบังคับใจไม่ให้เกี่ยวข้องในกาม พยาบาท อวิหิงสา ตลอดจนอกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยญาณและสมาธิ เพราะมีเป้าหมายยู่ที่พระโพธิญาณ

(๓) เนกขัมมปรมัตถบารมี ออกด้วยความรักในพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิต จึงตัดความห่วงใย ไม่อาลัยในชีวิต ปลีกตนออกบำเพ็ญอุปธิวิเวก คือ ความสงัดจากกิเลส รวมทั้งกามและอกุศลทั้งหลาย ด้วยอริยมรรคญาณ แม้ชีวิตจะแตกดับก็ไม่ยอมทิ้งปณิธาน เนกขัมมบารมี ในระดับนี้ เป็นขั้นสงัดจากกาม พยาบาท อวิหิงสา ตลอดจนกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ด้วยอริยมรรคญาณ

๒. วิริยบารมี

มีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไปไม่ท้อถอย จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ เพียรพยายามในการไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศล และในการที่จะทำกุศลให้เกิดขึ้น

ซึ่งเป็นความเพียรที่จะไม่ทำความชั่ว เพียรทำความดี และเพียรชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ที่สำคัญ มุ่งเอาความเพียรพยายามที่จะพ้นทุกข์ ความเพียรที่จะต้องตั้งไว้อย่างสูงสุดมี ๔ ประการ คือ

สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น

ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

ภาวนาปธาน เพียรทำความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

อนุรักขนาปธาน เพียรทำความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งอยู่

พระพุทธเจ้าเมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงปฏิบัติวิริยบารมีอย่างแรงกล้า ๓ ขั้น ดังนี้

(๑) วิริยบารมี ความเพียรที่บำเพ็ญด้วยความมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย รักเพียรเพื่อบรรลุโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน จึงเพียรพยายามที่จะตัดใจสละคนที่รักและทรัพย์สินเพื่อมุ่งหวังพระโพธิญาณ

(๒) วิริยอุปบารมี ความเพียรที่บำเพ็ญด้วยความมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีความเพียรพยายามเพื่อบรรลุพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน ไม่คำนึงถึงอวัยวะร่างกายจึงกล้าสละได้แม้อวัยวะร่างกาย

(๓) วิริยปรมัตถบารมี ความเพียรที่บำเพ็ญด้วยความมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย รักความเพียรพยายามเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตตน ไม่คำนึงถึงชีวิต เพื่อที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณ จึงกล้าสละได้แม้กระทั่งชีวิต

๓. เมตตาบารมี

ความเมตตา คือ ไมตรีจิต ความรัก ความปรารถนาดี ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจดีต่อกัน ต้องการทำประโยชน์สุขให้แก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย

เมตตาจัดเป็นธรรมพื้นฐานของใจขั้นแรกในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทำให้มองกันในแง่ดี หวังดีต่อกัน พร้อมที่จะรับฟัง และเจรจากันด้วยความเข้าใจ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีอคติ ไม่มีความโกรธ ความเกลียด เป็นที่ตั้ง เป็นหลักธรรมพื้นฐานสำหรับสร้างความสามัคคีและเอกภาพของหมู่ชน ประกอบด้วย เมตตากายกรรม การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เมตตาวจีกรรม การพูดจากันด้วยถ้อยคำสุภาพอ่อนโยน ว่ากล่าวตักเตือนด้วยความหวังดีและจริงใจ เมตตามโนกรรม การมองกันในแง่ดี มีความปรารถนาดี มีความหวังดี มีความสงสาร มีความเห็นใจ อยากช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ คิดทำแต่สิ่งที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่กันและกันอย่างสูงสุด มุ่งที่จะเห็นตนเองและผู้อื่นพ้นทุกข์ในสังสารวัฏ จึงยอมสละทรัพย์สิน คนรัก อวัยวะ ร่างกาย หรือแม้กระทั่งชีวิต เห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตายของสรรพสัตว์ เป็นสิ่งที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ เมื่อพระพุทธเจ้า ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงปฏิบัติในความเมตตาบารมีอย่างแรงกล้า ๓ ขั้น ดังนี้

(๑) เมตตาบารมี ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีมาโดยลำดับ ทรงรักษาปฏิบัติในเมตตาบารมีเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่ารักษาคนที่รักและทรัพย์สิน

(๒) เมตตาอุปบารมี ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมียิ่งขึ้นโดยลำดับ ทรงรักษาเมตตาบารมียิ่งกว่าอวัยวะร่างกาย คือ ทรงรักษาปฏิบัติในเมตตาบารมีเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกาย

(๓) เมตตาปรมัตถบารมี ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีอย่างสูงสุด ด้วยการรักษาเมตตาบารมียิ่งกว่าชีวิต คือ ทรงรักษาปฏิบัติในเมตตาบารมีเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิต

๔. อธิษฐานบารมี

อธิษฐานใจให้ชีวิตมีเป้าหมาย มุ่งมั่นเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ การอธิษฐาน ที่จะเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลที่พึงประสงค์นั้น ต้องมีวิริยะ คือ ความเพียรพยายามอยู่ร่ำไปไม่ท้อถอย มีขันติ คือ ความอดทน มีสัจจะ คือ ความจริงใจ และรักษาความตั้งใจไว้อย่างมุ่งมั่นไม่หวั่นไหว กำหนดเป้าหมายไว้แล้วเดินไปอย่างมุ่งมั่น

ลักษณะอธิษฐานธรรมนั้น ต้องประกอบด้วยปัญญา สิ่งนั้นต้องเป็นจริง และมีความจริงใจซื่อตรงต่อสิ่งที่อธิษฐาน

ยอมสละทรัพย์สิน คนรัก อวัยวะร่างกาย หรือแม้กระทั่งชีวิตที่จะทำให้เป้าหมายที่อธิษฐานไว้เปลี่ยนไป ตลอดจนแสวงหาความสงบส่งเสริมให้จิตมีความมั่นคงต่อสิ่งที่อธิษฐาน

สิ่งที่จะต้องอธิษฐานไว้สูงสุด คือ อธิษฐานให้สามารถดับทุกข์ได้เป็นเป้าหมายสูงสุด เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้ตรัสรู้ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงปฏิบัติในอธิษฐานบารมีอย่างแรงกล้า ๓ ขั้น ดังนี้

(๑) อธิษฐานบารมี ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีมาโดยลำดับ ทรงรักษาอธิษฐานเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่ารักษาคนที่รัก และทรัพย์สิน แม้จะสูญเสียคนรักและทรัพย์สินไปก็จะไม่ละทิ้งเป้าหมายที่อธิษฐานไว้

(๒) อธิษฐานอุปบารมี ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมียิ่งขึ้นโดยลำดับ ทรงรักษาอธิษฐานยิ่งกว่าอวัยวะร่างกาย คือ ทรงรักษาอธิษฐานเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกาย แม้จะสูญเสียอวัยวะร่างกายไป ก็จะไม่ละทิ้งเป้าหมายที่อธิษฐานไว้

(๓) อธิษฐานปรมัตถบารมี ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีอย่างสูงสุด ด้วยการรักษาอธิษฐานยิ่งกว่าชีวิต คือ ทรงรักษาอธิษฐานเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิต แม้จะสูญเสียชีวิตก็จะไม่ละทิ้งเป้าหมายที่อธิษฐานไว้

๕. ปัญญาบารมี

ความรอบรู้ เป็นพื้นฐานที่ใช้พิจารณาไตร่ตรอง รู้จริงตามเหตุและผล ช่วยในการวินิจฉัยเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาให้รู้ว่า ผิด ถูก ชั่ว ดี อย่างไร อะไรจริง อะไรเท็จ และอะไรเป็นสัจธรรม เลือกยึดถือเอาแต่สิ่งที่ถูกต้อง ละทิ้งสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ปัญญาบารมีอย่างสูงสุด ต้องมุ่งให้เกิดความพ้นทุกข์

โดยอบรมศีลให้เจริญ ศีลอบรมสมาธิ และสมาธิอบรมปัญญา จนเกิดความรู้ในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ทำให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนสามารถตัดกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญปัญญาบารมีโดยประการต่างๆ ดังนี้

(๑) ปัญญาบารมี ทรงมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักปัญญาเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนรักและทรัพย์สิน แม้จะสูญเสียคนรักและทรัพย์สินไป ก็จะไม่ละทิ้งสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญญา

(๒) ปัญญาอุปบารมี ทรงมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักปัญญาเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน แม้จะสูญเสียอวัยวะร่างกายไปก็จะไม่ละทิ้งสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญญา

(๓) ปัญญาปรมัตถบารมี ทรงมุ่งพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักปัญญาเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน แม้จะสูญเสียชีวิตไปก็จะไม่ละทิ้งที่จะทำให้เกิดปัญญา

๖. ศีลบารมี

ศีล คือ การระวังกายไม่ให้ทำร้ายผู้ใด หรือสัตว์ใดจนเกิดความลำบากเดือดร้อน การระวังวาจาไม่ให้กระทบกระทั่งผู้ใดหรือสัตว์ใดจนเกิดความลำบากเดือดร้อน การระวังใจไม่ให้คิดที่จะทำร้ายผู้ใด หรือสัตว์ใด ได้รับความพินาศย่อยยับ

สูงสุด เพื่อจะรักษาศีล จึงยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิต

พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญศีล สั่งสมเป็นศีลบารมีมา รักษาศีลไว้โดยไม่อาลัยเลือดเนื้อและชีวิต ๓ ขั้น ดังนี้

(๑) ศีลบารมี ศีลที่บำเพ็ญด้วยการรักษาศีลยิ่งกว่าการรักษาคนรักและทรัพย์สิน เพื่อพระโพธิญาณ แม้จะสูญเสียคนรักและทรัพย์สิน แต่จะไม่ยอมให้ศีลขาด

(๒) ศีลอุปบารมี ศีลที่บำเพ็ญด้วยความรักศีลยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน เพื่อพระโพธิญาณ แม้จะสูญเสียอวัยวะร่างกาย แต่จะไม่ยอมให้ศีลขาด

(๓) ศีลปรมัตถบารมี ศีลที่บำเพ็ญด้วยการรักษาศีลยิ่งกว่าชีวิตของตน เพื่อรักษาศีล ยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิต ซึ่งเป็นการรักษาศีลอย่างสูงสุด โดยมีพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย

๗. ขันติบารมี

ความอดทน อดกลั้นต่อความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ ในเบื้องต้น เป็นความอดทนต่อความตรากตรำทั้งหนาวร้อน หิวกระหาย ทนต่อทุกขเวทนาในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย สูงสุดสามารถทนต่อความเจ็บปวดใจ ต่อถ้อยคำที่คนอื่นดูถูกเหยียดหยาม

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญขันติบารมี ๓ ขั้น คือ

(๑) ขันติบารมี ขันติที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักขันติเพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน แม้จะสูญเสียคนรักและทรัพย์สมบัติก็จะไม่ละทิ้งขันติ

(๒) ขันติอุปบารมี ขันติที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักขันติเพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน แม้จะสูญเสียอวัยวะร่างกาย ก็จะไม่ละทิ้งขันติ

(๓) ขันติปรมัตถบารมี ขันติที่บำเพ็ญด้วยความมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้ารักขันติ เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าชีวิตของตน แม้จะสูญเสียชีวิตก็จะไม่ละทิ้งขันติ

๘. อุเบกขาบารมี

การวางใจให้เป็นกลาง แม้จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากใจ ก็มีใจเป็นกลาง ไม่โกรธเกลียด มองทุกสิ่งและยอมรับตามความเป็นจริง

อุเบกขาในเบื้องต้น เป็นการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่ให้อคติมามีอิทธิพล ทำให้เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ด้วยอำนาจของความรักชัง อุเบกขาอย่างสูง ได้แก่ อุเบกขาในญาณอันเป็นผลมาจาก อันเป็นผลมาจากกำลังสมาธิที่เกิดจากความสงบระงับอย่างสูง

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญอุเบกขาสูงสุดด้วยการเกิดเป็นพรหม ดำรงอยู่ในอุเบกขาอันเป็นสุขอย่างสุงสุด เพราะไม่มีความทุกข์สุขอันเป็นผลมาจากรักชัง แม้เช่นนั้นก็ทรงปรารถนาพระโพธิญาณ อุเบกขามี ๓ ขั้น คือ

(๑) อุเบกขาบารมี อุเบกขาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาอุเบกขายิ่งกว่ารักษาทรัพย์สิน

(๒) อุเบกขาอุปบารมี อุเบกขาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาอุเบกขายิ่งกว่ารักษาอวัยวะของตนเอง

(๓) อุเบกขาปรมัตถบารมี อุเบกขาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาอุเบกขายิ่งกว่าชีวิตของตน

๙. สัจจบารมี

ความจริง หรือ ความซื่อตรง พูดไว้อย่างไรก็ยอมรับตามนั้น ตั้งใจไว้อย่างไรก็ทำตามนั้น มุ่งแสวงหาความจริงหรือความถูกต้องเที่ยงธรรม และรักษาความเที่ยงธรรมไว้

ลักษณะแห่งสัจจบารมีทางกายได้แก่ การตั้งสัจจะกับตนไว้ว่า จะไม่ทำสิ่งชั่วร้าย จะไม่พูดสิ่งชั่วร้าย และจะไม่คิดสิ่งชั่วร้ายโดยประการต่างๆ จะทำแต่สิ่งที่ดีงาม จะพูดแต่คำจริง คำอ่อนโยน คำที่ทำให้เกิดความสามัคคีก่อให้เกิดประโยชน์ จะไม่โลภ ไมโกรธ ไม่หลง ไม่อิจฉาตาร้อน เมื่อตั้งสัจจะไว้อย่างนี้แล้ว ก็ตั้งหน้าตั้งตารักษาสัจจะด้วยความซื่อสัตย์ต่อความตั้งใจของตน

สัจจบารมีในเบื้องต้น ได้แก่ ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ต่อการงาน ซื่อสัตย์ต่อบุคคล และซื่อสัตย์ต่อความเที่ยงธรรม สูงสุดได้แก่การรักษาสัจจะยอมสละได้แม้ชีวิต

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญสัจจบารมีอย่างแรงกล้า ๓ ขั้น คือ

(๑) สัจจบารมี สัจจะที่บำเพ็ญด้วยความหนักแน่นแน่นอน รักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน แม้จะสูญเสียคนรักและทรัพย์สมบัติ ก็จะไม่เสียสัจจะ

(๒) สัจอุปบารมี สัจจะที่บำเพ็ญด้วยความหนักแน่นแน่นอน รักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน แม้จะสูญเสียอวัยวะร่างกาย ก็จะไม่ยอมเสียสัจจะ

(๓) สัจปรมัตถบารมี สัจจะที่บำเพ็ญด้วยความหนักแน่นแน่นอน รักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน แม้จะมีอันตรายเกิดขึ้นแก่ชีวิต ก็จะไม่ยอมเสียสัจจะ

๑๐. ทานบารมี

การให้เพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ขาดแคลน เพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ เป็นการผูกมิตรภาพไมตรีจิต หรือเพื่อบูชาผู้ที่ควรบูชา เป็นการบูชาคุณ หรือตอบแทนคุณ หรือเป็นการบำเพ็ญบุญ

ในเบื้องต้นได้แก่ การสงเคราะห์ผู้อื่นและสัตว์อื่นด้วยวัตถุสิ่งของ เรียกว่า “อามิสทาน” นับตั้งแต่ญาติพี่น้อง พวกพ้อง สมณะพราหมณ์ผู้ทรงศีลและสัตว์เดรัจฉาน ตามโอกาส และเหมาะสมแก่ฐานะของคนนั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงทรัพย์สมบัติ อวัยวะ ร่างกาย และชีวิต

สูงขึ้นไป ได้แก่ การให้ธรรมะเป็นทาน ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนให้ผู้อื่นคิดดี ทำดี ให้เขาสามารถครองชีวิตอยู่ได้ด้วยความดีงาม เป็นการสงเคราะห์โดยธรรม

เป็นการให้ปัญญาแก่เขาได้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องและมีคุณค่า เรียกว่า “ธรรมทาน”

พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ ได้ทรงบำเพ็ญทาน ทรงสั่งสมเป็นทานบารมีมาช้านาน ทานบารมีของพระองค์ได้เต็มยิ่งขึ้นตามลำดับ ๓ ขั้น ดังนี้

(๑) ทานบารมี ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละทรัพย์ โดยมีพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย หวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนคนรักและทรัพย์สมบัติ เพื่อพระโพธิญาณจึงยอมให้ทานได้แม้กระทั่งคนรัก และทรัพย์สมบัติ

(๒) ทานอุปบารมี ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละอวัยวะ หวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนอวัยวะร่างกาย เพื่อพระโพธิญาณจึงยอมให้ทานไดเแม้กระทั่งอวัยวะร่างกาย

(๓) ทานปรมัตถบารมี ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละชีวิต หวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนชีวิต เพื่อพระะโพธิญาณจึงยอมให้ทานได้แม้กระทั่งชีวิต

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ตอนที่ ๑) ความนำ : จากทศชาติสู่ทศบารมี เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here