จิรํ ติฏฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาล

ญาณวชิระ

ลูกผู้ชายต้องบวช

บรรพ์ที่ ๘ : สมาธิภาวนา การเดินจงกรม และธุดงค์

: เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

บรรพ์ที่ ๘

สมาธิภาวนา การเดินจงกรม และธุดงค์

 การปฏิบัติสมาธิเบื้องต้น

         การเดินจงกรม

 เรื่องของธุดงค์

เกี่ยวกับคำและความหมายของสมาธิ

สมาธิมีชื่อเรียกหลายอย่าง จะเรียกว่า“สมาธิ” “กรรมฐาน” “การปฏิบัติธรรม” หรือ “การเจริญภาวนา” ก็ได้  แต่โดยรวมก็เป็นวิธีการที่จะทำให้จิตสงบนั่นเอง   โดยทั่วไปนิยมเรียกการทำสมาธิว่า  “กรรมฐาน” 

สมัยพุทธกาล  พระอุปัชฌาย์ต้องให้พระภิกษุผู้บวชใหม่ เรียนพระกรรมฐานเบื้องต้นก่อนเสมอ  เนื่องจากพระภิกษุผู้บวชใหม่ยังไม่รู้วิธีฝึกหัดขัดเกลา ควบคุมจิตใจ  อาจทำให้รุ่มร้อน กระวนกระวาย เรียกอย่างปัจจุบันว่า “ผ้าเหลืองร้อน” จึงต้องให้กรรมฐานไว้ก่อน  

กรรมฐานที่ให้เรียนเป็นเบื้องต้น เรียกว่า “มูลกรรมฐาน” โดยบริกรรมว่า

เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ (อนุโลม)

ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา (ปฏิโลม)

หรือจะนั่งนึกแยกองค์ประกอบต่างๆ ของร่างกายว่า

 ผม ขน เล็บ  ฟัน หนัง

บริกรรมกลับไปกลับมา  เพื่อให้จิตผูกเพ่งอยู่กับคำบริกรรมข้างต้น  เมื่อจิตไหลไปตามคำบริกรรมเป็นกระแส ไม่ขาดสาย  ก็ทำให้เกิดสติกำกับจิตไม่ปล่อยให้จิตคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ

พระกรรมฐานข้างต้น เป็นกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระอุปัชฌาย์ใช้สอนพระภิกษุผู้บวชใหม่ บวชในวันนั้นต้องเรียนกรรมฐานชนิดนี้ในวันนั้น ที่เรียกว่า “มูลกรรมฐาน” เพราะเป็นพระกรรมฐานแบบแรกที่พระภิกษุสามเณรต้องเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ และเมื่อบวชไปแล้วจึงค่อยเรียนรู้กรรมฐานอย่างอื่นที่พิสดารกว้างขวางออกไปตามอัธยาศัย

กรรมฐาน ๒ วิธี

  กรรมฐาน หรือวิธีทำให้จิตใจสงบตามหลักพระพุทธศาสนามี ๒ วิธี   คือ

สมถกรรมฐาน   กรรมฐานที่มุ่งให้จิตเกิดความสงบ

วิปัสสนากรรมฐาน  กรรมฐานที่มุ่งให้จิตเกิดปัญญา

สมถกรรมฐาน กรรมฐานที่มุ่งให้จิตเกิดความสงบ

สมถกรรมฐานเป็นวิธีการข่มจิตให้สงบ ทำให้จิตมีสมาธิ ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญมากในการที่จะไปต่อในการทำวิปัสสนา จะข้ามขั้นตอนนี้ไปไม่ได้ โดยวิธีการข่มจิต ทำให้จิตสงบก็คือ เมื่อจิตอยากคิดก็ไม่คิด จิตอยากขยับก็ไม่ขยับ จิตอยากลุกก็ไม่ลุก คันก็ไม่เกา จิตอยากทำอะไรก็ไม่ทำตาม ฝืนจิตทวนกระแสสิ่งที่จิตอยากคิด อยากทำ  การไม่ทำตามใจอยาก เรียกว่า ข่มจิตให้สงบระงับเป็นสมาธิ

วิธีการของสมถกรรมฐาน คือ การเอาจิตไปผูกเพ่งไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือคำใดคำหนึ่ง  หากเพ่งธาตุ ดิน น้ำ ลม หรือ ไฟ ก็ให้จิตผูกเพ่งอยู่ที่ดิน น้ำ ลม หรือไฟ เพียงอย่างเดียว  ไม่ใส่ใจสิ่งอื่น ไม่ใส่ใจความคิด  จิตอยากคิดเรื่องอื่นก็ไม่คิด  ไม่เอา หากเป็นคำบริกรรมก็ผูกเพ่งอยู่ที่คำบริกรรม 

กล่าวได้ว่า สมถกรรมฐานเป็นวิธีการทำให้จิตสงบระงับ โดยไม่ใส่ใจรายละเอียดของจิตว่าเป็นอย่างไร   จิตจะเป็นอย่างไร มีพฤติกรรมอย่างไร ชอบอะไร เกลียดอะไร เพียงรู้อาการของจิตเฉยๆ ว่าฟุ้ง หรือหยุดฟุ้งแล้ว จนกระทั่งเห็น จิตหยุดคิด และ จิตสงบ  สมาธิ คือการทำให้จิตสยบยอมอยู่กับที่ให้ได้

โดยวิธีนี้กิเลสในจิตจะอ่อนล้า ในที่สุดก็ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสงบนิ่งเป็นสมาธิ

วิปัสสนากรรมฐาน

กรรมฐานที่มุ่งให้จิตเกิดปัญญาตามรู้

ว่าจิตเป็นอย่างไร

หลังจากสมาธิเกิดแล้วจากสมถกรรมฐาน ต่อมาก็ตามดูจิตว่าคิดอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร ชอบอะไรเกลียดอะไร ทำไมจึงชอบ ทำไมจึงเกลียด  จิตจะคิดบ้างก็ปล่อยให้คิด  เพียงให้รู้ว่าจิตกำลังคิดอะไร 

โดยวิธีนี้ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดปัญญารู้เท่าทันจิต เป็นเหตุให้เข้าใจตัวเอง คือ เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ที่ปรากฎในจิต

แม้การปฏิบัติสมาธิจะมีสองวิธี แต่ทั้งสองวิธีสืบเนื่องกันไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเบ็ดเสร็จ วิปัสสนาจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีฐานของสมถะ

เมื่อกล่าวถึงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แท้จริงก็คือการปฏิบัติสมถกรรมฐานด้วยนั่นเอง เพราะจิตที่สงบเป็นสมถะได้ในระดับหนึ่ง จึงจะมีสติปัญญาพอที่จะตามรู้จิตของตนเองจนเห็นไตรลักษณ์ เห็นสภาวะกายและใจตามความเป็นจริงที่ เรียกว่า “วิปัสสนา” ได้ 

ในขณะเดียวกัน  จิตที่เป็นวิปัสสนาจนสามารถตามรู้จิตได้ทุกขณะนั้น ก็ต้องเป็นสมาธิมีความสงบเป็นสมถะในระดับหนึ่งเช่นกัน  

สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน แยกเป็น ๒ คำ ก็เฉพาะในหลักวิชาการเท่านั้น เพื่อให้จิตเห็นความละเอียดของจิต แต่ในการปฏิบัติ ไม่สามารถแยกกันออกได้ เพราะทั้ง ๒ วิธี ต้องอาศัยซึ่งกันและกันในการปฏิบัติ  หรือ อาจจะเรียกได้ว่า ทั้งสมถะและวิปัสสนาแยกกันในหลักวิชาการ แต่เป็นสิ่งเดียวกันในการปฏิบัติ

หากจะเปรียบก็เหมือนคนเดินทางแล้วแวะพัก (คือทำสมาธิให้จิตสงบ) จากนั้นก็ออกเดินทางต่อจนถึงปลายทาง คือความพ้นทุกข์จากกิเลสตัณหา โดยอาศัยวิปัสสนา คือการมองเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริงว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา โดยอาศัย ความสงบแห่งจิต

หากเปรียบสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานกับการเดินทาง  สมถกรรมฐานเหมือนการเตรียมตัว และออกเดินทางอย่างรู้ชัดเจนว่าเป้าหมายอยู่ที่ใด โดยมีวิปัสสนาเป็นตัวเดินทางต่อไปจนถึงปลายทางของการพ้นทุกข์

อารมณ์พระกรรมฐาน ๔๐

การปฏิบัติสมาธิต้องมีที่ให้จิตยึดเหนี่ยว เรียกว่า “คำบริกรรมภาวนา”  เช่น พุทโธ พองหนอยุบหนอ และสัมมาอะระหัง เป็นต้น

บางครั้งเรียกว่า “อารมณ์พระกรรมฐาน” คือ สิ่งที่จะให้จิต ผูกติด ผูกเพ่ง หรือ เกาะเกี่ยว  อยู่นั่นเอง 

สิ่งที่จะนำมาบริกรรมหรือเป็นอารมณ์พระกรรมฐานนั้นมีมากอย่าง  อาจเรียกได้ว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นอารมณ์กรรมฐานได้

ตามหลักการปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำไว้ มีถึง ๔๐ อย่าง  เรียกว่า กรรมฐาน ๔๐ อย่าง คือ

กสิน ๑๐ ได้แก่  การเพ่งดิน น้ำ ลม ไฟ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว แสงสว่าง  และโอกาสที่ว่างเป็นคำบริกรรมหรือเป็นอารมณ์กรรมฐาน

อสุภะ ๑๐ ได้แก่  การเพ่งซากศพโดยความเป็นของไม่สวยไม่งามอยู่ในอาการต่างๆ  เช่น ศพเน่าพอง ศพมีสีเขียวคล้ำ ศพที่มีน้ำเหลืองไหลออก ศพที่ขาดกลางตัว ศพที่สัตว์กัดกิน ศพที่มือ เท้า และศีรษะขาด  ศพที่ถูกคนร้ายสับขาดเป็นท่อนๆ ศพที่ถูกอาวุธฟันมีเลือดไหลอาบอยู่ ศพที่มีตัวหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด และซากศพที่ยังเหลือแต่โครงกระดูก

อนุสติ ๑๐ นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรม นึกถึงพระสงฆ์   นึกถึงศีลที่ตนรักษา นึกถึงทานที่บริจาค นึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา นึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา พิจารณากายให้เห็นว่าไม่งาม ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า “อานาปานสติ” คือ  ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ คือ นิพพาน

พรหมวิหาร ๔ นึกไปทางเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่กว้างออกไปในสรรพสัตว์ทุกจำพวกทุกหมู่เหล่าไม่มีประมาณ ไร้ขอบเขตขีดขั้น ไร้เชื้อชาติศาสนา

อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ การพิจารณาอาหารว่า  เป็นเพียงธาตุที่ตั้งอยู่ตามธรรมดา  มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  เป็นของปฏิกูล  มีความเปื่อยเน่าไปเป็นธรรมดา  และกำลังเปื่อยเน่าไปตามเหตุปัจจัย  เมื่อมาอยู่ในร่างกายซึ่งเปื่อยเน่าอยู่แล้ว  ก็ยิ่งเป็นของเปื่อยเน่าเข้าไปอีก จึงไม่ควรยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  อาหารทุกอย่างให้พิจารณาเป็นเพียงธาตุ ไม่ให้แบ่งแยกชนิดว่าเป็นนั่นเป็นนี่ 

จตุธาตุววัตถาน  พิจารณาร่างกายว่าเป็นที่รวมแห่งธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟมิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  เป็นของปฏิกูล  มีความเปื่อยเน่าไปเป็นธรรมดา  และกำลังเปื่อยเน่าไปตามเหตุปัจจัย

อรูป ๔ เป็นอารมณ์ของผู้เข้าถึงฌานแล้ว แต่ยังต้องให้จิตมีที่ยึดเหนี่ยวต่อไป คือ กำหนดความไม่มีที่สิ้นสุดของความว่างเปล่า  กำหนดความไม่มีที่สิ้นสุดของวิญญาณ  กำหนดความมีตัวตนที่แท้จริงของสรรพสิ่ง และกำหนดสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

หากพิจารณาสิ่งที่จะนำมาเป็นอารมณ์พระกรรมฐานทั้ง ๔๐ อย่างข้างต้น ทุกอย่างที่อยู่รอบตัว สามารถเก็บมาเป็นอารมณ์พระกรรมฐานได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ไม้ แสง สี เสียง อากาศหนาวร้อน ข้าวของเครื่องใช้   สภาพแวดล้อมรอบตัว  ความรู้สึกนึกคิด  เหตุการณ์ที่ผ่านมา อาการเจ็บปวดสุขสบาย สิ่งเหล่านี้ใช้เป็น อารมณ์พระกรรมฐานได้ทั้งหมด 

รวมความ คือ ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอารมณ์พระกรรมฐานได้ทั้งนั้น   ขึ้นอยู่ที่ว่า  จะให้จิตผูกเพ่งอยู่กับสิ่งใด

ในสมัยพุทธกาล  มีพระภิกษุรูปหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้  จนพระพี่ชายเห็นว่า น้องชายไม่มีบุญที่จะบวชเป็นพระภิกษุอยู่ต่อไป  ควรที่จะลาสิกขาไปทำบุญอย่างฆราวาส  ส่วนพระน้องชายก็คิดว่าตนเองอาภัพ  ตั้งใจปฏิบัติธรรมมานานนับปี  ก็ไม่มีผล ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น จึงคิดจะลาสิกขาตามที่พี่ชายสั่ง แต่ก่อนจะลาสิกขา  ท่านได้ไปกราบทูลลาพระพุทธเจ้า 

พระพุทธองค์ให้ท่านนั่งทำกรรมฐาน  โดยให้นั่งลูบผ้าขาว พร้อมกับบริกรรมภาวนาว่า “ระโช หะระนังๆ” แปลเป็นไทยว่า  “เศร้าหมอง เศร้าหมอง

ตอนแรกท่านก็สงสัยว่าผ้าสีขาวบริสุทธิ์ ทำไมพระพุทธเจ้าให้ว่าเศร้าหมอง แต่ด้วยความเคารพพระพุทธเจ้า ท่านก็นั่งบริกรรมแต่โดยดี ขณะที่ท่านไปพบพระพุทธเจ้านั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ ครั้นสายแดดแรง ผ้าขาวบริสุทธิ์ถูกเหงื่อที่ฝ่ามือก็เปลี่ยนเป็นเศร้าหมอง ตามที่บริกรรม พลันนั้นท่านก็เห็นความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง เกิดความเข้าใจในธรรม

ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุธรรม  เพราะคำบริกรรมว่า “เศร้าหมอง (ระโช หะระนัง)” 

อีกรูปหนึ่ง  ท่านเดินทางผ่านทุ่งนา  ได้ยินเสียงเด็กชาวบ้านเลี้ยงควายไปร้องเพลงไปอย่างสบายอารมณ์  ท่านจึงหยุดยืนฟัง เอาจิตไปผูกเพ่งอยู่กับกระแสเสียงของเด็ก เนื้อความเพลงนั้น  พูดถึงความรักที่ไม่เที่ยงแท้ เปลี่ยนแปรเพราะคนหลายใจ เหมือนสรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน พระรูปนั้นท่านพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งจริง ตามเนื้อเพลง พลันก็ได้บรรลุธรรม

ข้อนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า  สิ่งใดก็สามารถนำมาเป็นอารมณ์พระกรรมฐานได้

แต่อารมณ์พระกรรมฐานที่ทราบ และถูกสอนอยู่ในปัจจุบัน อาทิเช่น  พุทโธ  , พองหนอยุบหนอ  , สัมมาอะระหัง  และ อานาปานสติ (กำหนดลมหายใจ)  

กรรมฐานทั้งหมดที่กล่าวมาให้เลือกปฏิบัติตามจริต คือ ความชอบใจที่จะสามารถทำให้เจริญในธรรม เกิดสมาธิและมีปัญญาในการมองเห็นกายใจตามความเป็นจริงจนเบื่อหน่ายจางคลายในวัตถุธาตุทั้งหลาย ถอนความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานได้จนถึงนิพพิทาญาณในที่สุด คือ เบื่อหน่ายในกองทุกข์ทั้งปวง ซึ่งเป็นเรื่องของหลักการที่พระพุทธองค์วางไว้เป็นกรอบ แต่วิธีปฏิบัติในชีวิตจริง ก็มีข้อปลีกย่อยที่ควรทำความเข้าใจจากครูบาอาจารย์และพระอุปัชฌาย์อาจารย์ จนนำมาสู่การปฏิบัติด้วยตนเองจนเกิดเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง

ธรรมชาติของจิต

          การทำสมาธิ คือ การจับจิต หรือ ควบคุมจิตของตนให้อยู่กับที่ หรือ ให้อยู่กับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่เรากำหนด  ผู้ปฏิบัติต้องทำกติกากับตนเองว่า   จะเอาอะไรเป็นตำแหน่งที่จะให้จิตผูกติดอยู่ 

จะกำหนด “พุทโธ” , กำหนด “ลมหายใจเข้า-ออก” หรือกำหนดพุทโธสัมพันธ์กับลมหายใจก็ได้ ไม่ก็ กำหนด “พองหนอยุบหนอ” , “สัมมาอะระหัง”   หรืออื่นใดในบรรดากรรมฐาน ๔๐ ที่กล่าวมาแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง  

ข้อสำคัญของสมาธิ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้จักธรรมชาติของจิตก่อนว่าเป็นอย่างไร  หากรู้จักธรรมชาติของจิต แล้วจะสามารถกำหนดจิตได้ง่ายขึ้น

            เมื่อจะจับจิต   ต้องรู้จักลักษณะของจิต   จึงจะจับได้ถูก เหมือนคนจับไก่ต้องรู้จักลักษณะของไก่ก่อน หากบอกคนไม่รู้จักไก่ไปจับไก่  อาจจับผิดได้เป็ด ได้ห่าน ได้หมา หรือแมวมาก็ได้  เพราะยังไม่รู้ว่าไก่เป็นอย่างไร  พระพุทธเจ้าตรัสถึงธรรมชาติของจิตไว้ว่า

ผนฺทนํ จ ปลํ จิตฺตํ      ทุรกฺขํ  ทุนฺนิวารยํ

สุทุทฺทสํ  สุนิปุณํ        ยตฺถ กามนิปาตินํ

แปลว่า

จิตนั้นมีธรรมชาติดิ้นรน อ่อนไหว  รักษาได้ยาก   ห้ามได้ยาก จิตนั้นกำหนดให้เห็นได้แสนยาก ละเอียดอ่อนยิ่งนัก มักตกไปหาอารมณ์ที่ปรารถนา

            นี่คือ ธรรมชาติของจิต   เพราะความดิ้นรน อ่อนไหว  รักษายาก ห้ามยาก  กำหนดได้ยาก  มีความละเอียดอ่อน มักคิดถึงอารมณ์ที่ชอบที่พอใจ

หากเราคิดจะจับจิตที่ดิ้นรน ประคับประคองจิตที่อ่อนไหว  รักษาจิตที่รักษายาก  ห้ามจิตที่ห้ามยาก ชอบคิดแต่เรื่องของอนาคต หมกมุ่นแต่เรื่องของอดีต แม้แต่จะเห็นก็ยังเห็นได้แสนยาก มีความละเอียดอ่อนประณีตยิ่งนัก  จะทำอย่างไร

            แค่เราห้ามเด็กไม่ให้ดื้อ บอกเด็กว่านิ่งๆ ยังห้ามได้แสนยาก ทั้งๆ ที่เด็กก็เป็นตัวเป็นตนมองเห็นได้ แต่นี่ห้ามจิตซึ่งมองไม่เห็น  ไม่มีตัวไม่มีตน  ไม่ให้จิตดิ้นรนฟุ้งซ่านจะทำได้อย่างไร

ทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของจิต

            การทำสมาธิ  คือ การจับจิตที่กำลังคิด หลักการนี้ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดไว้ในใจเสมอ เพราะจะเป็นฐานในการกำหนดจิต ต้องตามจับจิตเท่านั้นไม่ว่าจิตจะไปที่ไหน คิดอะไร เมื่อจิตคิดก็อย่าเข้าใจผิดไปว่าตนเองฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ

การคิด คือ ธรรมชาติของจิต โดยปกติจิตนั้นมีกำลังมากมายมหาศาล  มากจนทุกครั้งที่เราต้องการฝืนจิตว่า อย่ารักคนนี้นะ  จิตก็รัก อย่าเกลียดคนนี้นะ จิตก็เกลียด  อย่าโกรธคนนี้นะ  จิตก็โกรธ   อย่าโมโหคนนี้นะ จิตก็โมโห อย่ามองคนด้วยความดูหมิ่นนะ จิตก็ดูหมิ่น อย่าทำอย่างนี้นะ  จิตก็ทำ  เราต้องพ่ายแพ้ให้แก่จิตอยู่ร่ำไป  จิตมีกำลังมากมายมหาศาลเช่นนี้แหละ 

จิตนั้นมีกระบวนการทำงานอยู่ ๓ ทาง คือ

ทางกาย ได้แก่ เวลาเรายืน เดิน นั่ง นอน หรือทำโน่นทำนี่ จิตก็เฉลี่ยไปตามอิริยาบถต่างๆ เหล่านี้

ทางวาจา ได้แก่ เราพูดสิ่งโน้นพูดสิ่งนี่พูดกับคนโน้นคนนี้  จิตก็เฉลี่ยไปตามคำพูด

ทางใจ  ได้แก่  เราคิดเรื่องราวต่างๆ   มากมายในชีวิตวางแผนการทำงาน วาดภาพคิดฝันไปต่างๆ   

ที่เราเห็นจิตได้แสนยาก เพราะในชีวิตประจำวัน จิตทำงาน ๓ ทาง เฉลี่ยการคิดไปทั้ง ๓ ทางนั้น จึงไม่ค่อยได้เห็นจิต   แต่เมื่อใดที่เรารวมจิตไว้ในตำแหน่งเดียว  ก็สามารถเห็นจิตได้ง่ายขึ้น

จะเห็นได้ว่า ขณะนั่งลงทำสมาธิจิตจะวุ่นวายสับสน แรงและเร็ว จนเราบอกกับตนเองว่า นั่งสมาธิไม่ได้เลย มีแต่ความฟุ้งซ่าน ไม่รู้ทำไมความคิดร้อยแปดพันอย่างเต็มสมองไปหมดสุดท้ายต้องเลิกทำสมาธิ

            ความคิดเปรียบเหมือนสายน้ำ  หากไหลออกหลายทาง จะทำให้น้ำไม่มีแรงดัน   ไหลเพียงเอื่อยๆ  แต่หากปล่อยให้ไหลออกทางเดียว จะทำให้น้ำไหลแรง ยิ่งทางออกเล็กเท่าใด น้ำก็ยิ่งมีพลังมากเท่านั้น  และเราสัมผัสถึงความแรงของน้ำได้

การที่เรานั่งสมาธิแล้ว เห็นจิตเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างนี้   เพราะจิตมีโอกาสแสดงออกทางเดียว  คือ แสดงออกทางความคิดเท่านั้น 

ขณะนั่งสมาธิ  กายไม่ได้เคลื่อนไหว ไม่ได้เดินไปไหนมาไหน จิตก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานทางกาย เมื่อไม่ได้พูดกับใคร จิตก็ไม่ได้แสดงออกทางวาจา  มีทางเดียวที่จิตทำงานได้ คือ ทางใจ

จิตจึงคิด  คิด แล้วก็คิดไม่รู้จักจบสิ้น  เหมือนในสมองเต็มไปด้วยขยะแห่งความคิด เป็นผลทำให้ผู้ปฏิบัติสมาธิคิดว่า ตนเองฟุ้งซ่านรำคาญ   เกิดความเบื่อหน่ายจึงเลิกปฏิบัติ

แท้จริง เมื่อนั่งสมาธิแล้วเราเห็นจิตกำลังคิดฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่  แสดงว่าทำสมาธิถูกทาง   เพราะเรากำลังเห็นจิต   รู้จักจิต  เราเห็นสิ่งที่เรากำลังตามจับ  เห็นจิตว่ากำลังดิ้นรน อ่อนไหว  รักษาได้ยาก ห้ามได้ยาก ละเอียดอ่อนยิ่งนักมักตกไปหาอารมณ์ที่ใคร่ ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เราก็พุ่งเป้าหมายไปที่จิตได้ง่าย

แต่ถ้านั่งสมาธิแล้ว ยังไม่เห็นความฟุ้งซ่านของจิต โอกาสที่จิตจะเกิดสมาธินั้นยาก เพราะเราเองยังไม่รู้กำลังวิ่งไล่จับอะไรอยู่  การบริกรรมพุทโธและบริกรรมด้วยคำอื่นๆ ซึ่งอาจน้อมนำจากบทสวดมนต์ทำวัตรมาเป็นคำบริกรรมสั้นๆ ได้ เช่น พุทโธ ธัมโม สังโฆ จะช่วยให้จิตสงบเร็วขึ้น ทำให้เห็นการทำงานของจิตจนเข้าสู่วิปัสสนาได้ในที่สุด

ไม่ต้องเกลียด กังวล หรือกลัวความฟุ้งซ่าน เพราะสิ่งนี้คือ บันไดที่จะนำเข้าไปสู่ตัวจิต  เมื่อเห็นความฟุ้งซ่านก็คือเห็นจิต เพราะความฟุ้งซ่าน  คือ ธรรมชาติของจิตที่ยังไม่มีสมาธิ มันก็จะดิ้นรนกวัดแกว่งทุรนทุราย  ในขณะที่เรากำลังวิ่งไล่จับให้จิตอยู่กับที่จิตยิ่งฟุ้งซ่านเป้าหมายยิ่งชัดเจน

สติปัฏฐาน ฐานกำหนดจิต  ๔

เมื่อรู้จักธรรมชาติของจิตแล้ว สิ่งที่ต้องทำความรู้จักต่อไป คือ สถานที่คุมขังจิต เมื่อรู้จักจิต และ จับจิตได้แล้วจากนั้นจะคุมขังไว้ที่ใด

เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงทราบธรรมชาติของจิตว่า  ดิ้นรน  กวัดแกว่ง ขัดขืน ทำการจับกุมได้ยาก  จึงได้วางกับดักคุมขังจิตไว้ ๔ จุด  เพื่อให้จิตได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงสถานที่คุมขังบ้าง   เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ แปลว่า  ที่ตั้งของสติ ๔ ตำแหน่ง  คือ

กาย คือ ให้จิตคิดอยู่กับร่างกายของเรา  และสิ่งที่อยู่รอบกายเรา ซึ่งก็ คือ สภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวนั่นเอง  ทั้งอากาศเย็นหนาวร้อนอบอุ่นเสียงดังใกล้ไกลให้รับรู้สภาพแวดล้อมทางกายเหล่านี้โดยที่สุดให้ยึดเอาลมหายใจเข้าออกซึ่งสัมพันธ์อยู่กับกายเป็นจุดหลัก

หายใจเข้ารู้อาจกำหนด พุท กำกับลงไป หายใจออก โธ อาจกำหนดพุทโธกำกับตามไปได้ หรือ จะกำหนดรู้เพียงว่ามีลมหายใจเข้าออกอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีพุทโธก็ได้

เวทนา คือ ความรู้สึกว่าทุกข์  เจ็บคัน ปวดเมื่อย  เหน็บชา สุขสบาย  เอาจิตไปเพ่งพิจารณาอยู่กับเวทนาเหล่านี้

จิต  คือ ความรู้สึกนึกคิดซึ่งมีอยู่เป็นธรรมดา และเป็นธรรมชาติของจิตที่ต้องคิดโน่นคิดนี่  แต่เมื่อคิดแล้วให้เปลี่ยนจิตกลับมาขังไว้ที่ลมหายใจเหมือนเดิม

ธรรม  คือ อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางจิต ตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด ธรรมอย่างหยาบที่เป็นอาการทางจิต คือ รัก โลภ โกรธ หลง หงุดหงิด เบื่อหน่าย อาฆาตพยาบาท อิจฉาริษยา จนถึงอาการที่เกิดจากผลของสมาธิ เช่น ตัวหนัก ขาหายไปเหมือนถูกกลืนกินสูงขึ้นมาเรื่อยจนถึงเอว อก คอ ปาก สุดท้ายเหลือเพียงลมหายใจ วูบวาบ ตัวเบา ตัวลอย ดิ่งลงหมุนคว้าง แสงสว่าง เป็นต้น ให้กำหนดรู้ตามอาการของสิ่งเหล่านี้

สติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นตำแหน่งคุมขังจิต แม้สติปัฏฐานจะมีถึง ๔ ตำแหน่ง  แต่ก็ต้องมีตำแหน่งคุมขังหลัก คือ ตำแหน่งกาย  พระพุทธองค์ให้กำหนดเอาลมหายใจเป็นตำแหน่งหลัก  ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะนำเราก้าวข้ามโลกทางกายเข้าไปสู่มิติแห่งโลกทางจิตในที่สุด

๑  ทุรกฺขํ (ทุรักขัง)  หมายถึง คุมขังยาก รักษายาก

การฝึกสมาธิด้วยตนเอง

เมื่อทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับจิตแล้วไม่ว่าจะเป็นความหมายของสมาธิ  ธรรมชาติของจิต  และสถานที่ที่จะใช้ในการควบคุมจิตจากนี้ต่อไป  คือ  การลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง

แท้จริง   สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  เป็นหลักการ หรือ วิชาจากหนังสือ แต่การปฏิบัติเป็นเรื่องของจิตที่จะไปตรวจสอบวิชาการจากหนังสืออีกชั้นหนึ่ง

การนั่งสมาธิไม่จำเป็นต้องขึ้นกรรมฐานกับใครที่ไหน ขอให้เราทำความเข้าใจวิธีการ และตั้งใจปฏิบัติโดยมีพระพุทธองค์เป็นที่พึ่งที่ระลึกเสมอ

ท่านั่งสมาธิ

เบื้องแรกกำหนดสถานที่นั่ง จะนั่งที่ไหนท่าใดก็ได้ ไม่ใช่ข้อจำกัดตายตัว ขออย่าให้อึดอัด ให้เอาสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ เมื่อนั่งลงแล้วหากท่านั่งไม่สบายจะขยับให้ท่านั่งเข้าที่เข้าทางก็ได้ แต่โดยมากการนั่งสมาธิท่านกำหนดท่านั่งเป็นแบบไว้ว่า

ให้นั่งขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายตรงดำรงสติให้มั่น  มีสติเป็นไปเฉพาะหน้า

แม้การนั่งสมาธิจะไม่ได้กำหนดแบบตายตัวโดยให้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล

ผู้สนใจควรทราบวิธีการนั่งสมาธิตามแบบ อย่างน้อยเมื่อได้ท่านั่งตามแบบแล้ว ก็สามารถที่จะขยับขยายไปทำสมาธิในอิริยาบถอื่นได้ และสามารถแนะนำผู้อื่นให้นั่งสมาธิตามแบบได้ด้วย

วิธีลดระดับความเร็วของจิต 

เมื่อนั่งขาขวาทับขาซ้าย   มือขวาทับมือซ้าย   ตั้งกายตรงดำรงสติให้มั่น  มีสติเป็นไปเฉพาะหน้าแล้ว จากนั้นผู้ปฏิบัติสมาธิกำหนดสภาวะแวดล้อมทางกายเพื่อลดระดับความเร็วของจิต เมื่อนั่งในท่าที่ไม่อึดอัด ขยับตัวให้เข้าที่เข้าทางแล้ว  อย่าเพิ่งหลับตา อย่าเพิ่งกำหนดอะไรทั้งนั้น ปล่อยตัวปล่อยใจให้สบายๆ ให้สำรวจสิ่งที่อยู่รอบตัวเราก่อนว่ามีอะไรบ้าง 

หากนั่งหน้าโต๊ะหมู่บูชาจะเพ่งมองพระพุทธรูปก่อนก็ได้ หากไม่มีพระพุทธรูปจะคิดถึงประวัติของพุทธเจ้าก็ได้ เรียกว่า พุทธานุสสติ  ไม่คิดถึงพระพุทธเจ้า จะคิดถึงหลักธรรมข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ เรียกว่า ธัมมานุสสติ  ไม่คิดถึงหลักธรรมจะระลึกถึงพระสงฆ์ที่เราเคารพนับถือรูปใดรูปหนึ่งก็ได้ เรียกว่า สังฆานุสสติ  หรือจะนึกถึงบุญทานที่ได้ทำ ศีลที่ได้รักษาวันใดวันหนึ่ง ช่วงใดช่วงหนึ่งก็ได้

หากนั่งในห้องนอนจะมองสิ่งของที่อยู่ในห้องเราก็ได้  หากนั่งอยู่ท่ามกลางป่าให้นึกถึงต้นไม้สายน้ำป่าเขาลำเนาไพร 

            จากนั้น ค่อยๆ หลับตาลงช้าๆ  แล้วกำหนดสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับกายของเรา  ให้นึกดูด้วยจิตจากความทรงจำว่าในสถานที่ๆ เรานั่งมีอะไรตั้งอยู่บ้าง ด้านหน้า  ด้านหลัง ด้านซ้าย ด้านขวา เบื้องบนศีรษะมีอะไรบ้าง   พยายามกำหนดทุกอย่างให้เห็นอย่างละเอียด

            จากนั้น  กำหนดอากาศว่าหนาวหรือร้อน อบอุ่นหรือเย็นสบาย สายลมที่โชยพัดกระทบต้องกายเราเป็นลมจากธรรมชาติ  จากพัดลม หรือจากเครื่องปรับอากาศ ลมกระทบส่วนไหนของร่างกาย จังหวะที่กระทบเบาหรือแรงแตกต่างกันอย่างไร สายลมหอบเอาไออุ่น ไอร้อน  หรือไอเย็นมากระทบ  มองให้ชัดเจนด้วยจิตกำหนดให้ละเอียดลงไปอย่างนี้

จากนั้น  กำหนดเสียงที่อยู่รอบตัวเราว่าเสียงนั้นดังมาจากไหน เป็นเสียงอะไร  ทำตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  แล้วแยกธรรมชาติของเสียงแต่ละชนิดที่ผ่านเข้ามาทางโสตประสาทออกจากกัน  กำหนดเสียงแต่ละชนิด เสียงพัดลมดัง  เสียงเครื่องปรับอากาศ มีจังหวะของเสียงสม่ำเสมออย่างไร เสียงคนพูดคุยกัน เสียงนก เสียงจิ้งจกดังแทรกเข้ามาในระหว่างความเงียบ   เสียงรถดังกึกก้องจากที่ไกล   ฟังแม้กระทั่งเสียงความเงียบที่ดังก้องอยู่ในช่องหู มองให้ชัดกำหนดให้ละเอียดด้วยจิต  

แท้จริง สถานที่ๆ เราอยู่นั้น ความเงียบแผ่ปกคลุมไปทั่ว  ที่เรารู้สึกว่าสถานที่นั้นไม่เงียบเพราะใจเราสัมผัสเสียงต่างๆ โดยความเป็นเสียง ไม่ได้สัมผัสเสียงโดยความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถแยกเสียงออกจากความเงียบ แล้วกำหนดรู้โดยความเป็นเสียง กำหนดความเงียบโดยความเป็นความเงียบ เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งธรรมธรรมชาติ

จากนั้น กำหนดที่กาย โดยเอาจิตไปสำรวจท่านั่ง เครื่องแต่งตัว ส่วนไหนสัมผัสพื้น อ่อนนุ่มหยาบแข็ง สำรวจจากหัวจรดปลายเท้าจากปลายเท้าจรดหัว  โดยทั่วไปเวลานั่ง ยืน หรือ นอน เราคิดว่าเราหยุด  เวลาเดินทำโน่นทำนี่เราคิดว่าเราเคลื่อนไหว ขณะนั่งสมาธิเราคิดว่าเราหยุดเพราะมือเท้าไม่ได้เคลื่อนไหว  แต่ขณะที่เรานั่งก็ยังมีส่วนที่เคลื่อนไหว  กำหนดกายให้ละเอียด จะเห็นลมหายใจเคลื่อนไหวเข้าออก เมื่อหายใจเข้าลมจะขยายปอดให้พองออก ท้องขยายออก เมื่อหายใจออกท้องจะยุบ  ทดลองค่อยๆ หายใจเข้ายาวลึกจนสุดลมหายใจ  และค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกมาจนหมดลมหายใจสัก ๓–๔ ครั้ง  เพื่อเป็นการทดสอบลมหายใจ เหมือนช่างยนต์ทดสอบสมรรถภาพของเครื่องยนต์ก่อนนำออกไปใช้จริง

เพราะลมหายใจนี่แหละจะเป็นสะพานนำผู้ปฏิบัติก้าวข้ามโลกทางกายไปสู่มิติแห่งจิต  ลมหายใจเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกทางกายกับโลกทางจิต กำหนดให้เห็นความละเอียดประณีตของลมหายใจที่สัมพันธ์อยู่กับกาย โดยการหายใจเข้าออกยาวลึกจนสุดลมหายใจ

การกำหนดกาย และสภาพแวดล้อมทางกาย 

เมื่อกำหนดสภาวะแวดล้อมทางกาย ทดสอบลมหายใจด้วยการหายใจเข้าออกยาวลึกจนสุดลมหายใจ ๓-๔ ครั้งแล้ว จากนั้นกำหนดกาย  หรือ กายคตาสติ  หรือ กายานุปัสสนา แล้วแต่จะเรียก โดยรวม คือ กำหนดร่างกายของเรา เป็นการก้าวเข้าสู่กระบวนการกำหนดอารมณ์พระกรรมฐานอย่างแท้จริง โดยจะใช้คำใดเป็นคำบริกรรมภาวนาก็ได้ ในบรรดากรรมฐาน ๔๐ ตามที่กล่าวมาแล้ว  จะใช้พุทโธ พองหนอยุบหนอ สัมมาอะระหัง  กำหนดลูกแก้ว เปลวเทียน ลูกประคำ หรือจะกำหนดลมหายใจเพียงอย่างเดียวก็ได้ 

หากเข้าใจวิธีการกำหนด คำบริกรรมก็ไม่ใช่ข้อสำคัญอีกต่อไป   เพราะคำบริกรรมเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น  คำบริกรรมแทบจะไม่มีความหมายอะไร  เมื่อก้าวเข้าไปสู่มิติแห่งจิต 

ในมิติแห่งจิตไม่มีพุทโธ ไม่มีพองหนอยุบหนอ ไม่มีสัมมาอะระหัง   ไม่มีลูกแก้ว ไม่มีเปลวเทียน และไม่มีลูกประคำ  มีแต่สภาวะแห่งจิตที่เกิดขึ้น  ดำรงอยู่ และเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของจิต 

ในที่นี้จะแนะการกำหนดลมหายใจเข้าออก   หรืออานาปานสติ  เพราะเป็นกรรมฐานแบบกลางๆ เหมาะสำหรับคนทุกคน อีกอย่างหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นหลักในการกำหนด  หากได้หลักแล้วจะขยับขยายไปทดลองกำหนดแนวอื่นอีกต่อไปก็ได้ 

การกำหนดลมหายใจเป็นสิ่งที่สำคัญ  อาจจะเรียกว่าสำคัญกว่าตำแหน่งอื่น เพราะลมหายใจเป็นตำแหน่งหลัก  ต้องทำความเข้าใจว่าลมหายใจเป็นเหมือนบ้านของจิต  ไม่ว่าจิตจะเคลื่อนไปเพ่งอยู่ที่ตำแหน่ง เวทนา จิต หรือธรรม สุดท้ายต้องกลับมาประจำที่ลมหายใจเข้าออกเหมือนเดิม

หากเปรียบลมหายใจก็เหมือนบ้านของจิต  คนเราไม่ว่าจะไปที่ไหนสุดท้ายก็ต้องกลับบ้าน  ไปทำงานเลิกงานกลับบ้าน  ไปเรียนเลิกเรียนกลับบ้าน  ไปเที่ยวเสร็จแล้วกลับบ้าน

เวลาทำสมาธิก็เหมือนกัน  จิตไม่ว่าจะไปที่ไหนคิดเรื่องอะไรก็ปล่อยให้คิดบ้างแต่เมื่อหยุดคิด ได้สติว่าขณะนี้เรากำลังทำสมาธิ ต้องกลับไปที่ลมหายใจเข้าออก  การทำสมาธิเหมือนคนพยายามต่อสู้กับจิต จิตไปก็ดึงกลับมา  จิตไปก็ดึงกลับมา  ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการดึงจิตกลับมาไว้ที่ลมหายใจเข้าออก   ต้องเอาจิตกลับบ้านให้ได้ 

อย่าลืมว่าธรรมชาติของจิต คือ ดิ้นรน กวัดแกว่ง  ห้ามได้ยาก รักษาได้ยาก  จึงต้องพยายามห้าม  พยายามรักษา  พยายามประคับประคอง ให้จิตอยู่กับลมหายใจเข้าออก

การกำหนดเวทนา และการทะลุมิติแห่งเวทนา

เมื่อกำหนดลมหายใจเข้าออกได้ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง หากเกิดเวทนา คือ ความเจ็บปวดทางกายขึ้น เจ็บ คัน ปวดเมื่อย เหน็บชา ให้ผู้ปฏิบัติเปลี่ยนการกำหนดจากลมหายใจ เอาจิตไปเพ่งอยู่ที่อาการเจ็บ ปวด  คัน เหน็บชา  เพ่งจิตลงไปตรงที่เจ็บ ปวด คัน เหน็บชานั้น พร้อมกับบริกรรมว่า เจ็บๆๆๆ ปวดๆๆๆ คันๆๆๆ  เป็นต้น

คือ แทนที่จะเพ่งลมหายใจก็เปลี่ยนมาเพ่งความเจ็บปวดทางกาย   ต้องเพ่งจนกว่าเวทนานั้นจะแตกดับไป  เพราะเวทนาตามที่กล่าวมานี้เป็นเวทนาทางกายอย่างธรรมดา   แต่ยังมีเวทนาอย่างกล้าแข็งคอยขวางอยู่   ซึ่งจะเป็นด่านที่สำคัญในการก้าวข้ามสภาวะทางกายไปสู่อาณาจักรแห่งจิต 

เวทนาดังกล่าวเป็นเวทนาในเวทนา เวทนาอย่างละเอียด  บางครั้งครูบาอาจารย์สอนว่า  เป็นเวทนาที่เป็นผลมาจากกรรม  หากกรรมแรงก็เจอเวทนาแรง  บางครั้งเหมือนกระดูกจะแยกจากกันออกเป็นท่อนๆ

โดยมากเชื่อกันว่า  ผลที่ดีในการทำสมาธิแล้วพบเวทนา คือ เป็นการลดทอนกรรมในชีวิต  เพราะแทนที่เราจะต้องเผชิญความเจ็บปวดทางกายในชีวิตเพราะผลกรรม  เราก็ไปเจอในสมาธิเหมือนเป็นการลดทอนกรรมไปเรื่อยๆ นั่นเอง

ข้อสำคัญ คือ เมื่อเจอเวทนา คือ ความเจ็บปวดทางกายในสมาธิ  อย่าท้อถอยในการต่อสู้กับเวทนา  จงตั้งหน้าตั้งตากัดฟันก้าวข้ามไปด้วยความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด ยิ่งฝืนได้มาก ยิ่งเป็นการลดทอนกรรมลงได้มาก   ยิ่งฝืนเวทนาได้มากยิ่งเข้าใกล้อาณาจักรแห่งจิตมาก ต้องฝืนเวทนาจนกว่าจะทะลุกายเข้าไปสู่อาณาจักรแห่งจิต 

การก้าวข้ามเวทนา บางคนก็ยาก บางคนก็ง่าย  บางคนยากเหมือนฉายไฟกระทบกำแพง  แสงไม่สามารถทะลุผ่านกำแพงไปได้   บางคนก็ง่ายเหมือนฉายไฟส่องทะลุผ่านกระจก

โดยมาก  ผู้ปฏิบัติสมาธิจะผ่านเวทนายาก เหมือนแสงกระทบกำแพง แต่เมื่อสามารถทะลุผ่านเวทนาไปได้ในครั้งแรก ครั้งต่อไปจะง่าย เมื่อทนก้าวข้ามเวทนาบ่อยๆ จนเกิดความชำนาญ    ก็จะกลายเป็นธรรมดาเหมือนแสงทะลุผ่านกำแพง

การก้าวข้ามเวทนาต้องให้กำลังสมาธิสามารถแยกจิตออกจากเวทนาให้ได้  สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า

 จิตเป็นจิต  เวทนาเป็นเวทนา   ความเจ็บมีอยู่แต่จิตไม่เจ็บ   จิตมีอยู่แต่ไม่รับรู้เวทนา 

หากจะเปรียบก็เหมือนเราเอาเชือกด้านหนึ่งผูกก้อนหิน  อีกด้านหนึ่งผูกฟองน้ำ  แล้วเอาไปโยนลงแม่น้ำ  ก้อนหิน คือเวทนา เชือก คือ สติที่ดำรงอยู่ด้วยกำลังแห่งสมาธิ  ส่วนฟองน้ำคือ จิต  จิตจะรับรู้เวทนาว่ามีอยู่เหมือนหินถ่วงฟองน้ำ

การกำหนดสภาวธรรม

และความประณีตของสภาวธรรม

เมื่อก้าวข้ามเวทนาได้แล้ว จิตจะรวมที่ลมหายใจ เห็นลมหายใจชัดเจนโดยความเป็นลมหายใจ หายใจออกสั้นก็รู้ว่าออกสั้น หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเข้ายาว  แล้วลมหายใจจะละเอียดขึ้นโดยลำดับ  จากที่ออกยาวเข้ายาวก็จะออกสั้นเข้าสั้น  และสั้นเข้าโดยลำดับจนปริ่มอยู่ที่ปลายจมูก  เมื่อลมหายใจสั้นเข้าปริ่มอยู่ที่ปลายจมูก ลมหายใจปรากฏเหมือนปุยนุ่น 

หากจะเปรียบให้เห็นอย่างง่ายๆ ก็เหมือนคนเป่าควันเข้าไปที่ปากขวด  ควันจะลอยตัวอย่างบางเบาที่ปากขวด  เหมือนลมหายใจขณะละเอียดมากขึ้น

จากนั้น อาการทางจิตต่างๆ จะเกิดขึ้น อันเป็นผลของสมาธิ เช่น ตัวหนัก ขาหายไปเหมือนถูกกลืนกินสูงขึ้นมาเรื่อยจนถึงเอว อก คอ ปาก สุดท้ายเหลือเพียงลมหายใจ วูบวาบ ตัวเบา ตัวลอย ดิ่งลงหมุนคว้าง แสงสว่าง เป็นต้น ให้กำหนดรู้ตามอาการของสิ่งเหล่านี้ โดยความเป็นธรรมชาติของจิตเท่านั้น  ไม่ใช่สิ่งวิเศษ หรือ สิ่งเหนือธรรมชาติ  แต่เป็นธรรมชาติของจิต  มีการเกิดขึ้น  ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา

ผู้ที่หลงคิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งวิเศษ จะทำให้จิตหลอกตัวเองอยู่ร่ำไป   จนกลายเป็นความยึดติดในอาการของจิต  อยากให้มี  อยากให้เป็น  อยากให้เกิด  อยากโอ้อวดผู้อื่น

เมื่อกำหนดรู้จิตตามอาการของจิตจนเช่นนี้ จิตก็จะดิ่งลึกลงสู่ภวังค์เข้าไปแตะสภาวะแห่งความสงบ

จะเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า ฌาน หรืออย่างไรก็ตาม  แต่ภาวะเช่นนี้แหละที่ทำให้จิตมีพลัง  เหมือนชาร์ตพลังงานให้กับตัวเองด้วยความสงบ จิตจะมีความไวต่อการรับรู้อารมณ์  และความไวต่อการ สามารถรับอารมณ์ที่เข้ามาสัมผัสได้อย่างรู้เท่าทัน  แม่นยำ  และตรงตามความเป็นจริง

การแผ่เมตตาหลังออกจากสมาธิ

            ภายหลังออกจากสมาธิควรแผ่เมตตาทุกครั้งเสมอ โดยทั่วไปครูบาอาจารย์ทางกรรมฐานจะแนะนำว่า สมาธิทำให้จิตมีพลัง  หากแผ่เมตตาหลังสมาธิ  จะเกิดอานิสงส์ตามที่ตั้งเมตตาจิตไป 

การแผ่เมตตา คือ การตั้งความปรารถนาดีไปในมวลสรรพสัตว์ตลอดจนเทพเทวา ภูติ ผี ปีศาจทั้งหลาย  ไม่มีประมาณ  ไม่มีขอบเขต ไร้พรมแดนขีดขั้น ไม่ว่าเขาผู้นั้น หรือสัตว์นั้น  จะเป็นเชื้อชาติศาสนาอะไร  จะเกี่ยวข้องกับเรา   โดยความเป็นญาติ  โดยความเป็นประเทศเชื้อชาติศาสนาหรือไม่ก็ตาม     ให้มีจิตกว้างขวางไร้พรมแดน     ไม่มีขอบเขตขีดขั้น      ขอให้เขาได้มีความสุข     อย่าได้มีความทุกข์ระทมขมขื่นใจ

ตามหลักการแผ่เมตตาในทางพระพุทธศาสนานั้น ในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง สิ่งที่ทุกคนปรารถนาก็คือความสุข และต้องการหลีกเลี่ยงจากภัยอันตรายต่างๆ  ซึ่งจะทำให้ชีวิตเป็นทุกข์  เราต้องการความสุขอย่างไร คนอื่นและสัตว์อื่นก็ต้องการความสุขอย่างนั้น 

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เอาความรู้สึกตัวเราเอง เป็นเครื่องเปรียบเทียบ วัดความรู้สึกของคนอื่นและสัตว์อื่น จะได้เห็นอกเห็นใจ มีเมตตาต่อคนอื่นและสัตว์อื่นมากขึ้น แล้วไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน 

การแผ่เมตตา จึงควรแผ่ให้ทั้งแก่ตนและคนอื่น ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตั้งความปรารถนาให้ทุกสรรพชีวิตมีความสุขเสมอกัน

 ในการแผ่เมตตา ไม่จำเป็นต้องกล่าวเป็นภาษาบาลีเสมอไป ให้ตั้งจิตอธิษฐานในสมาธิ แล้วนึกเป็นภาษาไทยแผ่กว้างออกไป  ขอให้เป็นภาษาของความรู้สึก  เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ  รู้สึกเมตตาสงสารการเกิดของตนเอง ที่ต้องเผชิญความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ ผิดหวัง ล้มเหลว เจ็บป่วยมีโรคภัยไข้เจ็บ และต้องเผชิญกับความแก่ความเจ็บความตายไม่รู้จักจบสิ้น 

ความรู้สึกนี้ให้เกิดตลอดไปจนถึงสรรพสัตว์ทุกจำพวกทุกหมู่เหล่า ไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน ไร้เชื้อชาติศาสนา แม้แต่ศัตรูที่จ้องทำลายล้างเราก็ให้รู้สึกเช่นนั้น  ให้นึกไปถึงสิ่งที่มองไม่เห็นเช่น เทวาอารักษ์พระภูมิเจ้าที่ทั้งหลายด้วย

คำแผ่เมตตาให้แก่ตนเอง

อะหัง  สุขิโต  โหมิ   ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข

นิททุกโข  โหมิ  ปราศจากความทุกข์

อะเวโร  โหมิ   ไม่มีเวรไม่มีภัย                                   

อัพยาปัชโฌ  โหมิ    ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน   

อะนีโฆ  โหมิ   ไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจ             

สุขี  อัตตานัง  ปะริหะรามิ   มีความสุขกายสุขใจและรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด ฯ

คำแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์            

สัพเพ  สัตตา  สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนทุกข์   เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

อะเวรา  โหนตุ    จงเป็นสุขเป็นสุขเถิดอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

อัพยาปัชฌา  โหนตุ     จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

อะนีฆา  โหนตุ   จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ    จงมีความสุขกายสุขใจ และรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งสิ้นเทอญฯ

เสร็จแล้ว กราบ ๓ หน

การเดินจงกรม

การเดินจงกรม คือ การที่พระภิกษุเดินย่างก้าว โดยมีสติกำหนดอยู่ที่เท้าซึ่งกำลังก้าวเดินไป  เป็นวิธีการทำสมาธิอย่างหนึ่งในอิริยาบถเดิน  ไม่เพียงพระภิกษุเท่านั้น พุทธบริษัท พุทธศาสนิกชน หรือผู้ที่สนใจการฝึกสติ สมาธิ และปัญญา ตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ ควรศึกษาและทำความเข้าใจการทำสมาธิด้วยอิริยาบถเดิน ที่เรียกว่า “เดินจงกรม” 

การเดินจงกรมมีหลายวิธี  ดังจะแนะนำตามลำดับ  ต่อไปนี้

            ๑. การเดินจงกรมโดยไม่ต้องมีคำบริกรรมแต่อย่างใด ผู้เดินจงกรม ยืนตรงเอามือประสานกันไว้ด้านหน้าหรือด้านหลังก็ได้ โดยมือขวาจับที่ข้อมือซ้าย หรือมือซ้ายจับที่ข้อมือขวา ตามความถนัด  เท้าทั้งสองชิดกันพอประมาณ

            จากนั้น กำหนดอาการยืนให้เห็นด้วยจิตว่าเรายืนอยู่อย่างไร  เท้าอยู่อย่างไร  มืออยู่อย่างไร กำหนดพื้นที่เท้าสัมผัสว่าเย็นร้อนนุ่มอ่อนแข็งอย่างไร กำหนดอากาศรอบๆ ตัวว่าเป็นอย่างไร แล้วเอาจิตไปไว้ที่เท้าทั้ง ๒ พร้อมกับก้าวเท้าออกเดิน จิตกำหนดอาการที่เท้ากำลังก้าวไปแต่ละก้าวๆ ปล่อยตัวตามสบาย ปล่อยกายตามสภาวะของกาย เหมือนกำลังเดินอยู่กลางจักรวาลอันกว้างไกล ไม่มีพันธะ ไม่มีสิ่งเกาะเกี่ยว  หรือทำความรู้สึกเหมือนคนกำลังปั่นจักรยาน  สิ่งที่กำลังก้าวไปไม่ใช่ตัวตนของเรา 

การเดินโดยไม่มีคำบริกรรมภาวนาจะเดินช้าหรือเร็วก็ได้  แต่นิยมเดินเร็วพอประมาณ เพราะถ้าเดินช้าจิตจะเปลี่ยนเร็ว คือ จิตจะไม่อยู่กับอาการที่เท้ากำลังก้าวไป 

การเดินจงกรมโดยไม่มีคำบริกรรมภาวนา จึงนิยมเดินเร็ว   เพื่อไม่เปิดโอกาสให้จิตได้คิดเรื่องต่างๆ แต่ให้จิตเคลื่อนไปกับเท้าที่กำลังก้าวย่าง

            ๒. การเดินจงกรมโดยมีคำบริกรรมภาวนา  เช่น พุทโธ  หรือ ขวาย่างหนอ  ซ้ายย่างหนอ   หรือ อนิจจัง   ทุกขัง  อนัตตา

สำหรับคำบริกรรมว่า พุทโธ นั้นไม่นิยมนำมาใช้ในการเดินจงกรม เนื่องจากการเดินจงกรมจิตและคำบริกรรมต้องสัมพันธ์อยู่กับเท้าที่ก้าวย่างไป บูรพาจารย์จึงไม่นิยมใช้  แต่มีที่ใช้อยู่บางสำนักเท่านั้น เพราะท่านถือว่าการบริกรรมอยู่ที่ใจ 

การกำหนดยืน

            ก่อนเดินจงกรมให้ยืนกำหนดยืนหนอๆ ๓ ครั้ง โดยเอาจิตตรวจตั้งแต่ศีรษะเคลื่อนลงมาที่ตา จมูก ปาก คาง คอจนถึงปลายเท้า จากปลายเท้ากลับขึ้นมาจนถึงศีรษะ แล้วกำหนดอยากเดินหนอๆ ๓ ครั้ง

จากนั้น เอาจิตไปอยู่ที่เท้าข้างขวาพร้อมกับกำหนดขวาย่างหนอ  เอาสติไปอยู่ที่เท้าข้างซ้ายพร้อมกับกำหนดซ้ายย่างหนอ  แล้วกำหนดตามเท้าที่กำลังก้าวย่างไปอย่างช้าๆ

การกำหนดเดิน

ขณะบริกรรมว่า “ขวา”  แล้วค่อยๆ ยกส้นเท้าขวาขึ้นอย่างช้าๆ แต่ปลายเท้ายังไม่พ้นพื้น  ขณะบริกรรมว่า “ย่าง”  ปลายเท้าขวาพ้นจากพื้นพร้อมกับค่อยๆ เคลื่อนไปข้างหน้า  ขณะบริกรรมว่า “หนอ”   ปลายเท้าขวาแตะพื้นสุดเสียงคำบริกรรมว่า “หนอ” ฝ่าเท้าขวาวางเรียบเสมอพื้น อย่างนุ่มนวล แผ่วเบา แต่มั่นคง

จากนั้น เอาสติไปไว้ที่เท้าซ้ายพร้อมกับบริกรรมว่า ซ้ายย่างหนอ ขณะบริกรรมว่า “ซ้าย”  ค่อยๆ ยกส้นเท้าซ้ายขึ้นอย่างช้าๆ เช่นเดิม แต่ปลายเท้ายังไม่พ้นพื้น  ขณะบริกรรมว่า “ย่าง”  ค่อยๆ ยกปลายเท้าซ้ายขึ้นให้พ้นพื้นพร้อมกับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างช้าๆ   ขณะบริกรรมว่า “หนอ”   ปลายเท้าซ้ายแตะพื้นสุดเสียงคำบริกรรมว่า “หนอ” ฝ่าเท้าซ้ายวางเรียบเสมอพื้น   ให้กำหนดเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ตามเท้าที่ก้าวไป

การกำหนดกลับ

เมื่อถึงปลายทางที่จะกลับ  ให้วางเท้าทั้งสองคู่กันพร้อมกับกำหนดบริกรรมว่า “ยืนหนอๆ” ๓ ครั้ง โดยเอาจิตตรวจตั้งแต่ศีรษะเคลื่อนลงมาที่ตา จมูก ปาก คาง คอจนถึงปลายเท้า จากปลายเท้ากลับขึ้นมาจนถึงศีรษะ แล้วกำหนดบริกรรมว่า “อยากกลับหนอๆ” ๓ ครั้ง จากนั้นเอาจิตไปอยู่ที่เท้าข้างขวาพร้อมกับกำหนดบริกรรมว่า “กลับหนอๆ”  เป็นคู่ ๓ คู่ คือ

กลับหนอ กลับหนอ คู่แรก 

กลับหนอ กลับหนอ คู่ที่สอง 

กลับหนอ กลับหนอ คู่ที่สาม

 แต่ละคู่ให้เท้าทำมุมหมุนไปข้างขวาประมาณ ๖๐ องศา เมื่อครบทั้ง ๓ คู่ หน้าจะตรงทางที่เดินมาพอดี ในขณะที่เท้าทั้ง ๒ จะวางคู่กัน

เมื่อจะหยุดให้ยืนบริกรรม “ยืนหนอๆ” ๓ ครั้ง แล้วตามด้วย “อยากหยุดหนอๆ” ๓ ครั้ง  หากจะนั่งสมาธิให้บริกรรม “ยืนหนอๆ” ๓ ครั้ง แล้วตามด้วย  “อยากนั่งหนอๆ” ๓ ครั้ง แล้วกำหนดอาการนั่ง

สำหรับการเดินจงกรมโดยกำหนดแบบอนิจจัง (ความไม่เที่ยง)   ทุกขัง(ความเป็นทุกข์)  อนัตตา(ความไม่มีตัวตน)  ก็ไม่มีข้อแตกต่างอะไร เป็นแต่เพียงเปลี่ยนคำบริกรรมจากขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอมาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเท่านั้น โดยเอาจิตไปไว้ที่เท้าข้างขวาหรือซ้ายพร้อมกับกำหนดดังนี้ 

ขณะยกเท้าขึ้นให้บริกรรม “อนิจจัง” ขณะเท้าก้าวย่างไปให้บริกรรม  “ทุกขัง”  ขณะเท้าแตะพื้นให้บริกรรม “อนัตตา”

ในขณะเดินอาจหยุดยืนแล้วพิจารณาร่างกายเราหรือสรรพสิ่งว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นไม่มีตัวตนที่แท้จริงก็ได้ เมื่อพิจารณาแล้วก็ก้าวเดินต่อไป

นอกจากนั้น ยังมีวิธีเดินจงกรม โดยไม่ต้องมีคำบริกรรม  เพียงขณะเดินให้เอาจิตไปดูอาการที่เท้ากำลังเคลื่อนไหวขึ้นลง และสัมผัสพื้น   จะเดินช้าหรือเร็วก็ได้  ไม่มีข้อกำหนด ขอเพียงให้รับรู้อาการที่เท้ากำลังเคลื่อนไป  ให้ทำความรู้สึกว่าวัตถุสิ่งหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวไปข้างหน้า  ไม่ใช่เรา  ไม่ใช่เขา  มองทะลุผ่านความเป็นเราความเป็นเขาแล้วเคลื่อนเท้าไปอย่างสิ่งที่ปราศจากตัวเรา  แต่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ  คมและฉับไวต่อทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว

ธุดงค์ที่ควรรู้

ชาวพุทธไทยในปัจจุบัน   มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับธุดงค์อยู่มาก โดยเข้าใจกันว่า การธุดงค์ คือ การที่พระสงฆ์ห่มจีวรสีเศร้าหมอง สะพายบาตรแบกกลด แล้วเดินทางจาริกไปในที่ต่างๆ  ค่ำที่ไหนก็ปักกลดนอนที่นั่น

ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเช่นนี้ เนื่องจากคนไทยเอาเรื่องการจาริก คือ การท่องเที่ยวไปเพื่อโปรดสัตว์ผสมกับธุดงค์ คือ การปฏิบัติขัดเกลากิเลสเพื่อความมักน้อยสันโดษ จนแยกออกจากกันไม่ได้ระหว่างการจาริกกับธุดงควัตร

การจาริกสมัยพุทธกาล คือ การที่พระสงฆ์ เดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ  เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อเกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ค่ำที่ไหนก็ปักกลดนอนที่นั่น  เป็นการจาริกตามปกติของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา  โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อโปรดสัตว์  ดังพุทธดำรัสในการส่งพระสาวกรุ่นแรกจาริกไปประกาศสัจธรรมว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก   เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อย่าไปทางเดียวกันสองรูป 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้น ให้งดงามในท่ามกลาง ให้งดงามในที่สุดลงรอบ จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

แต่การจาริกเช่นนี้ต้องมีกำหนดระยะเวลา  พระพุทธองค์ทรงอนุญาตเฉพาะ ๘ เดือนนอกฤดูฝนเท่านั้น 

ธุดงค์  แปลว่า องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส เป็นข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสให้เบาบาง มีจุดประสงค์ให้พระภิกษุมีความมักน้อยสันโดษ การถือธุดงค์ไม่จำเป็นต้องจาริกท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ พระภิกษุอยู่วัดไหน ไม่ว่าจะเป็นเมืองหรือเป็นป่าก็สามารถปฏิบัติธุดงค์วัตรได้ เพราะเป็นเรื่องข้อวัตรปฏิบัติส่วนตน   ไม่เกี่ยวเนื่องกับผู้อื่น

ธุดงค์ ๑๓ อย่าง

ธุดงควัตร อันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสที่พระพุทธองค์ตรัสไว้มี ๑๒ อย่าง ดังนี้     

          ๑. ปังสุกูลิกังคะ  ถือการใช้ผ้าบังสุกุล  ไม่ใช้ผ้าสำเร็จรูปที่มีผู้ถวาย

           ๒. เตจีวริกัง ถือการใช้เพียงผ้าไตรจีวร พระภิกษุผู้ถือธุดงค์ข้อนี้ จะใช้เพียงผ้าไตรจีวร ๓ ที่อธิษฐานเท่านั้น 

           ๓. ปิณฑปาติกังคะ   ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ  ไม่รับกิจนิมนต์  ฉันอาหารจากบิณฑบาตเพียงอย่างเดียว 

           ๔. สปทานจาริกกังคะ  ถือการบิณฑบาตไปตามลำดับบ้าน  ไม่ข้ามไปบ้านโน้นบ้านนี้ 

           ๕. เอกาสนิกังคะ   ถือการฉันมื้อเดียว  บางครั้งเรียกว่าฉันบนอาสนะเดียว  คือ นั่งแล้วก็จะฉันไปจนอิ่ม เมื่อลุกแล้วจะไม่ฉันอีกเลยในวันนั้น

           ๖. ปัตตปิณฑิกังคะ  ถือการฉันเฉพาะในบาตร  ไม่ฉันในสำหรับที่เขาจัดถวาย

           ๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือการลงมือฉันแล้วไม่รับเพิ่มอีก 

           ๘ อารัญญิกังคะ   ถือการอยู่ป่า

           ๙. รุกขมูลิกังคะ        ถือการอยู่โคนไม้

          ๑๐. อัพโภกาสิกังคะ   ถือการอยู่กลางแจ้ง

          ๑๑. โสสานิกังคะ       ถือการอยู่ป่าช้า

          ๑๒.ยถาสันถติกังคะ   ถือการอยู่แต่ในที่ที่เขาจัดให้

           ๑๓.เนสัชชิกังคะ       ถือการนั่งไม่นอน

ธุดงค์นั้นไม่ใช่กิจจำเป็น ตามแต่พระภิกษุรูปใดจะสมัครใจถือปฏิบัติ  พระภิกษุจะถือปฏิบัติก็ได้ไม่ปฏิบัติก็ได้  จะถือข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ พระพุทธองค์ให้พระภิกษุพิจารณาดูสุขภาพร่างกายและกำลังสติปัญญาของตนแล้วสมาทานปฏิบัติตามความเหมาะสม  เพราะหากไม่คำนึงถึงสุขภาพร่างกาย ก็จะเป็นการทำตนให้ลำบาก อันเป็นการทรมานตนเอง  เข้าใกล้การบำเพ็ญทุกกรกิริยา  ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงห้ามพระภิกษุในพระพุทธศาสนาปฏิบัติ 

การถือธุดงค์

พระภิกษุผู้ถือการใช้ผ้าบังสุกุล จะไม่รับจีวรสำเร็จรูปที่ญาติโยมถวาย แต่จะเก็บเล็กผสมน้อยเศษผ้า ที่เขาใช้ห่อศพแล้วทิ้งไว้ตามป่าช้า หรือเศษผ้าเหลือใช้ที่เขาทิ้งไว้ตามพื้นดินตามขยะมูลฝอยเอามาตัดเย็บจีวรใช้ด้วยมือตัวเอง พระเถระที่ถือธุดงค์ข้อนี้คือ พระมหากัสสปะ จนในที่สุดพระพุทธองค์เห็นสังฆาฏิท่านเศร้าหมองเกินไปจึงเปลี่ยนสังฆาฏิให้  

ในปัจจุบันพระสงฆ์ไทยบางแห่งก็ยังถือการตัดเย็บจีวรใช้เอง  แม้ผ้าจะไม่ได้มาจากการเก็บเล็กผสมน้อยตามป่าช้าอย่างสมัยพุทธกาล  ก็นับเข้าในธุดงค์ข้อนี้ได้เช่นกัน  เพราะไม่ใช้จีวรสำเร็จรูปที่ชาวบ้านถวาย

            ส่วนธุดงค์ข้ออื่นๆ  คือ ถือการใช้เพียงผ้าไตรจีวร พระภิกษุผู้ถือธุดงค์ข้อนี้  จะใช้เพียงผ้าไตรจีวร ๓ ที่อธิษฐานเท่านั้น 

พระภิกษุผู้ถือการบิณฑบาต จะไม่รับอติเรกลาภซึ่งเป็นกิจนิมนต์  จะฉันเฉพาะอาหารที่บิณฑบาตได้มา

 พระภิกษุผู้ถือการบิณฑบาตไปตามลำดับบ้าน คือ รับไปลำดับบ้านไม่เดินข้ามไปฝั่งโน้นทีฝั่งนี้ที ตั้งใจว่าจะรับบิณฑบาตตามเส้นทางนี้ก็เดินไปตามลำดับบ้านจะได้หรือไม่ได้ไม่ก็ตาม

พระภิกษุผู้ถือการฉันมื้อเดียว บางครั้งเรียกว่าฉันบนอาสนะเดียว  คือ นั่งแล้วจะไม่ลุกขึ้นจนกว่าจะอิ่ม  เมื่อลุกแล้วจะไม่ฉันอีกในวันนั้น

พระภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตร  ไม่ฉันในสำรับที่เขาจัดถวายไม่ใช้ภาชนะอย่างอื่นรองอาหารฉันตั้งแต่  ๒  ใบขึ้นไป   ฉันเฉพาะอาหารในบาตรเท่านั้น

พระภิกษุผู้ถือเมื่อลงมือฉันแล้วไม่รับเพิ่มอีก  แม้มีผู้นำอาหารมาถวายที่หลังก็ไม่รับ

พระภิกษุผู้ถือการอยู่ป่า ย่อมไม่อยู่แรมคืนในบ้าน  แต่จะอยู่ค้างคืนในป่าที่ห่างจากบ้านคน  เป็นที่วิเวกปราศจากผู้คนพลุกพล่านเข้าออก 

ส่วนพระภิกษุผู้ถือการอยู่โคนต้นไม้  ถือการอยู่กลางแจ้ง  และถือการอยู่ป่าช้า  ก็คือการถือการอยู่ป่าอย่างหนึ่งนั่นเอง  เป็นแต่เพียงกำหนดลงไปอีกว่า  เมื่ออยู่ป่าแล้วจะอยู่ในที่เช่นไร  แต่ธุดงค์ข้อนี้มีกำหนดระยะเวลา  คือ ต้องอยู่นอกฤดูฝนเท่านั้น  เพราะในฤดูฝนต้องจำพรรษาตามพระวินัย

       ส่วนพระภิกษุผู้ถือการอยู่แต่ในที่ที่เขาจัดให้ ย่อมไม่มีความอาลัยในเสนาสนะกุฎีที่อยู่อันเป็นที่สะดวกสบาย  แม้ได้เสนาสนะกุฎีที่ไม่สะดวกสบาย ไม่ถูกใจ ก็ไม่ทำความเดือดร้อนวุ่นวายแส่หาเสนาสนะกุฎีอื่นที่ตนชอบใจ เป็นที่สะดวกสบาย อยู่อาศัยในกุฎีตามที่พระภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่เสนาสนะคาหาปกะจัดให้ แม้จะถูกย้ายเสนาสนะเพราะเหตุอย่างไรอย่างหนึ่งก็ไม่ขัดเคืองขัดขืน 

สำหรับพระภิกษุผู้ถือการนั่ง จะไม่เอนหลังลงนอน แต่จะอยู่ด้วยการนั่ง ด้วยการยืน และด้วยการเดินเท่านั้น การถือธุดงค์นี้ สมาทานปฏิบัติเป็นบางครั้งบางคราวได้   หากสมาทานปฏิบัติตลอดจะเป็นการทรมานตน พระพุทธเจ้าทรงห้ามให้สมาทานเช่นนั้น พระเถระที่สมาทานกรรมฐานข้อไม่เอนหลังลงนอนตลอดพรรษา ๓ เดือน คือ พระจักขุบาลเถระ  เป็นเหตุให้ตาบอด

จะเห็นได้ว่า การถือธุดงค์ตามวิธีการของพระพุทธเจ้า ที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าพระภิกษุจะอยู่เมืองหรืออยู่ป่าก็สามารถถือปฏิบัติได้ตามความเหมาะสม เพราะเป็นข้อวัตรปฏิบัติส่วนตัวของพระภิกษุ ไม่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลอื่น และไม่ใช่สิ่งที่จะไปประกาศให้ใครรับรู้ พระภิกษุไม่ว่าจะอยู่เมืองหรืออยู่ป่าจึงสามารถสมาทานปฏิบัติธุดงค์ได้

การถือธุดงค์สมัยพุทธกาลนั้น พระภิกษุสมาทานจากพระพุทธเจ้า  แต่เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว  สมัยปัจจุบัน พระภิกษุสามารถสมาทานธุดงค์ ด้วยการอธิษฐานจิตต่อหน้าพระพุทธรูปว่าจะสมาทานปฏิบัติธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่งตามกำลังความสามารถ

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๘ : สมาธิภาวนา การเดินจงกรม และธุดงค์ : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here