จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

“ญาณวชิระ”

นครหลวงประเทศไทย ระหว่างพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐

หนังสือที่ลูกผู้ชายทุกคนต้องอ่าน

“ลูกผู้ชายต้องบวช”

เรียนรู้ชีวิตลูกผู้ชาย ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์

เพื่อเรียนรู้ชีวิตพระภิกษุที่สมบูรณ์

ญาณวชิระ

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๙ : พิธีฉลองพระภิกษุใหม่ : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

บรรพ์ที่  ๙ พิธีฉลองพระภิกษุใหม่

              การฉลองพระภิกษุผู้บวชใหม่  เป็นการเปิดโอกาสให้บิดามารดาและญาติๆ ของพระภิกษุผู้บวชใหม่ได้บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ ตามประเพณีนิยม ด้วยปรารภการที่ลูกได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา  แม้โดยปกติบิดามารดาจะทำบุญอยู่แล้ว  แต่เมื่อลูกชายบวชก็หาโอกาสที่จะได้ทำบุญเป็นพิเศษเพิ่มอีก  เรียกว่า  “ฉลองพระภิกษุผู้บวชใหม่”

การฉลองพระภิกษุผู้บวชใหม่  ไม่จำเป็นต้องทำหลังจากวันที่บวช  คือ บวชเช้าฉลองเพลวันนั้น  หรือบวชบ่ายวันนี้ฉลองวันรุ่งขึ้น  แต่จะฉลองถัดไปอีกกี่วันก็ได้  เอาความสะดวกระหว่างพ่อแม่  ญาติพี่น้องที่จะมาร่วมบุญได้ด้วย

            นอกจากนั้น  การฉลองพระภิกษุผู้บวชใหม่ต้องคำนึงถึงความสะดวกของพระสงฆ์ที่จะมาร่วมพิธีฉลองพระภิกษุผู้บวชใหม่ด้วย  ที่ดีควรปรึกษาพระอุปัชฌาย์  อาจารย์  หรือพระสงฆ์ที่ได้รับ มอบหมายจากพระอุปัชฌาย์ให้ดูแลพระภิกษุผู้บวชใหม่  ในการฉลองพระภิกษุผู้บวชใหม่นิยมนิมนต์พระอุปัชฌาย์ และพระคู่สวดมาร่วมพิธีในกรณีที่ท่านว่าง 

            ในการฉลองพระภิกษุผู้บวชใหม่  หากสถานที่ไม่สะดวก  ก็ไม่จำเป็นต้องให้พระภิกษุใหม่ตักบาตร เพราะการตักบาตรเป็นหน้าที่ญาติโยมไม่ใช่หน้าที่ของพระสงฆ์ แต่ให้จัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์ที่นิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์  โดยจัดให้เหมือนการทำบุญทั่วๆ ไป  ในที่นี้จะขอแนะนำขั้นตอนการฉลองพระภิกษุผู้บวชใหม่ไว้เป็นหลัก  ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามประเพณีนิยมของแต่ละท้องถิ่น

ขั้นตอนการฉลองพระภิกษุผู้บวชใหม่

              เจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และฉันภัตตาหารเช้าหรือเพลตามแต่จะกำหนด  จะทำที่วัดหรือที่บ้านก็ได้ตามความเหมาะสม  โดยปกตินิยมนิมนต์พระเจริญพระพุทธมนต์ ๙ รูป (ไม่รวมพระภิกษุผู้บวชใหม่) เตรียมจตุปัจจัยไทยทานถวายพระ เจริญพระพุทธมนต์ ในบางกรณีอาจนิมนต์พระฉันร่วม  ซึ่งขึ้นอยู่กับเจตจำนงของเจ้าภาพ

            (๑) เมื่อได้เวลา พระภิกษุผู้บวชใหม่จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย  เสร็จแล้วกราบ  ๓  หน

            (๒) โยมรับศีล ๕ ในขณะที่โยมรับศีล พระภิกษุผู้บวชใหม่ไม่ต้องประณมมือ ให้วางมือในท่าที่สำรวม ไม่ควรนั่งทับสังฆาฏิ วางเท้าให้ชิดกัน

คำอาราธนาศีล ๕

            มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ / ติสะระเณนะ สะหะ // ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ // ทุติยัมปิ  มะยัง ภันเต // วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ // ติสะระเณนะ  สะหะ// ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ//

            ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต // วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ // ติสะระเณนะ สะหะ // ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ //

           (พระสงฆ์เริ่มให้ศีล)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมะสัมพุทธัสสะฯ (ว่าตาม ๓ จบ)

         (ว่าตาม) พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง  คัจฉามิ

สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง  คัจฉามิ

ทุติยัมปิ  ธัมมัง สะระณัง  คัจฉามิ

ทุติยัมปิ  สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง  คัจฉามิ

ตะติยัมปิ  ธัมมัง สะระณัง  คัจฉามิ

ตะติยัมปิ  สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ ฯ

           ปาณาติปาตา//  เวระมะณี  สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ

            อะทินนาทานา// เวระมะณี  สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ

            กาเมสุมิจฉาจารา// เวระมะณี  สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ

            มุสาวาทา// เวระมะณี  สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ

            สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา// เวระมะณี  สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ ฯ

(พระสรุปอานิสงส์ศีล) อิมานิ  ปัญจะสิกขาปะทานิ  สีเลนะ สุคะติง   ยันติ สิเลนะ  โภคะสัมปะทา   สีเลนะ   นิพพุติง    ยันติ   ตัสมา  สีลัง  วิโสธะเย ฯ

(๓) หลังจากนั้น พิธีกรอาราธนาพระปริตร ในกรณีที่เจ้าภาพอาราธนาได้ก็ให้เจ้าภาพอาราธนา พระภิกษุผู้บวชใหม่ยังไม่ต้องประณมมือ

                            คำอาราธนาพระปริตร

            วิปัตติปะฏิพาหายะ        สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะทุกขะวินาสายะ                 ปะริตตัง  พรูถะ มังคะลังฯ

            วิปัตติปะฏิพาหายะ        สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะภะยะวินาสายะ                 ปะริตตัง  พรูถะ มังคะลังฯ     

            วิปัตติปะฏิพาหายะ        สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะโรคะวินาสายะ                  ปะริตตัง  พรูถะ มังคะลังฯ

                                    คำแปล

           เพื่อป้องกันความวิบัติ     เพื่อความสำเร็จแห่งสมบัติทั้งปวง

เพื่อให้ทุกข์ทั้งหมดพินาศไป ขอท่านทั้งหลายจงสวดปริตรอันเป็นมงคล ฯ

            เพื่อป้องกันความวิบัติ     เพื่อความสำเร็จแห่งสมบัติทั้งปวง

เพื่อให้ทุกข์ทั้งหมดพินาศไป  ขอท่านทั้งหลายจงสวดปริตรอันเป็นมงคล  ฯ

            เพื่อป้องกันความวิบัติ     เพื่อความสำเร็จแห่งสมบัติทั้งปวง

เพื่อให้ทุกข์ทั้งหมดพินาศไป  ขอท่านทั้งหลายจงสวดปริตรอันเป็นมงคล ฯ

           ต่อจากนี้  พระสงฆ์ ๙ รูปเจริญพระพุทธมนต์  ให้ตั้งใจฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์  พระภิกษุผู้บวชใหม่ประณมมือฟังเจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ไปจนถึงบท  นะโมการะอัฏฐะกะคาถา  ซึ่งมีเนื้อความว่า

นะโม อะระหะโต สัมมา            สัมพุทธัสสะ มะเหสิโน

นะโม อุตตะมะธัมมัสสะ            สะวากขาตัสเสวะ เตนิธะ

ฯลฯ

พิธีกรจุดเทียนชนวนส่งให้ พระภิกษุผู้บวชใหม่รับเทียนชนวนไปจุดเทียนที่ขันน้ำมนต์  ส่งเทียนชนวนคืนให้พิธีกร  แล้วยกขันน้ำมนต์ถวายพระสงฆ์ที่เป็นประธานในการเจริญพระพุทธมนต์  การจุดเทียนน้ำมนต์ควรจ่อที่ไส้เทียนจนเห็นไฟติดดีแล้วจึงเอาออก   จากนั้นกลับไปนั่งที่เดิมฟังเจริญพระพุทธมนต์ไปจนจบ

(๔) พระภิกษุใหม่ถวายข้าวพระพุทธ  เนื่องจากการดำเนินชีวิตของพระภิกษุอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบ  ข้าว น้ำโภชนาหารที่เกิดขึ้นแก่พระภิกษุ ก็ด้วยศรัทธาที่ตั้งมั่นต่อพระพุทธเจ้าเป็นเบื้องต้น  จึงควรบูชาพระพุทธเจ้าก่อน 

การบูชาข้าวพระพุทธตามธรรมเนียมโบราณที่มีมาแต่เดิมนั้น ไม่ใช่ถวายให้พระพุทธเจ้าฉัน  แต่ถวายในฐานะเป็นเครื่องสักการะบูชาอย่างหนึ่ง เสมือนหนึ่งบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน  แต่คนปัจจุบันไม่เข้าใจนึกว่าถวายให้พระพุทธเจ้าฉัน

การบูชาพระพุทธ

            การบูชาข้าวพระพุทธ ไม่ใช่บูชาเพื่อให้พระพุทธเจ้าฉันอาหารที่ถวาย   แต่บูชาเสมือนหนึ่งเครื่องสักการะบูชา  เป็นอุบายที่คนโบราณสอนให้น้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า แม้แต่เวลาที่จะฉันข้าว เนื่องจากการดำเนินชีวิตของพระภิกษุ อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบ  ข้าวน้ำโภชนาหารที่เกิดขึ้น  ก็เกิดด้วยศรัทธาที่ตั้งมั่นต่อพระพุทธเจ้าเป็นเบื้องต้น  จึงควรบูชาพระพุทธเจ้าก่อน

คำบูชาข้าวพระพุทธ

อิมัง  สูปะพะยัญชะนะ  สัมปันนัง   สาลีนัง  โภชะนัง  สะอุทะกัง  วะรัง  พุทธัสสะ  ปูเชมิฯ 

คำแปล

            ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวที่หุงจากเม็ดข้าว  พร้อมทั้งแกงและกับ  และน้ำอันประเสริฐนี้  แด่พระพุทธเจ้าฯ

คำลาข้าวพระพุทธ

(ใช้หลังจากเสร็จพิธีทำบุญแล้ว)

เสสัง  มังคะลัง  ยาจามิ

คำแปล

ข้าพเจ้า ขอรับส่วนที่เหลือที่เป็นมงคลนี้

            (๕)  ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ๙ รูปที่เจริญพระพุทธมนต์

           (๖) หลังจากพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว  ถวายจตุปัจจัยไทยทาน  โดยทั่วไปนิยมให้โยมพ่อและโยมแม่พระภิกษุใหม่  ได้ถวายจตุปัจจัยไทยทานแก่พระภิกษุผู้บวชใหม่  และพระภิกษุผู้บวชใหม่ถวายพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ต่ออีกครั้ง  และถวายเรื่อยไปโดยลำดับจนครบทั้ง ๙ รูป  หรือจะให้ญาติที่มาร่วมพิธีถวายด้วยก็ได้  ธรรมเนียมอาจปรับตามความเหมาะสม  ไม่ใช่รูปแบบที่ตายตัว

            (๘) กรวดน้ำรับพร  การกรวดน้ำในพิธีฉลองพระภิกษุผู้บวชใหม่ โดยทั่วไปนิยมให้พระภิกษุผู้บวชใหม่กรวดน้ำรูปเดียว  และให้อธิษฐานให้โยมพ่อโยมแม่กับญาติพี่น้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

            (๙) พระสงฆ์อนุโมทนา และประพรมน้ำพระพุทธมนต์  เป็นอันเสร็จพิธี

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๙ : พิธีฉลองพระภิกษุใหม่ : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here