“ขุนเขาย่อมมีวันทะลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ญาณวชิระ

หนังสือ "ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง" โดย ญาณวชิระ ซึ่งเป็นนามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๘ จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศฯ คณะ ๗ ปีพ.ศ.๒๕๕๗
หนังสือ “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” โดย ญาณวชิระ ซึ่งเป็นนามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๘ จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศฯ คณะ ๗ ปีพ.ศ.๒๕๕๗

วันนี้วันพระ

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓  แรม ๘ ค่ำ เดือน ๓ ครบรอบอายุมงคล ๔๙ ปี ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ผู้เขียนขอกราบอาเศียรวาท อาราธนาพระรัตนตรัย น้อมถวายความกตัญญุตาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และพ่อแม่ครูอาจารย์ ขอรำลึกวันวาน มโนปณิธานท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้น ที่ผู้เขียนเคารพศรัทธาเหนือเศียรเกล้า เพื่อเป็นพละ เป็นกำลังใจในการก้าวเดินไปบนหทางแห่งพระพุทธองค์ไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ในที่สุด

ด้วยมโนปณิธานของท่านมั่นคงดังคำปรารภบนปกหนังสือ “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ที่ท่านเขียนขึ้นในนามปากกา “ญาณวชิระ” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ คือวิถีแห่งพระโพธิสัตว์ ที่ท่านดำเนินอยู่อย่างมั่นคงในหนทางอย่างแน่วแน่ ไม่ว่าจะพบเจออุปสรรคเพียงใด ความกล้าหาญทางธรรมบนหนทางแห่งสัจจะ และยืนยันความจริง ยังคงประจักษ์ชัดเจนแจ่มแจ้งในดวงจิตของท่าน ตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก้าวต่อก้าว ไปพร้อมๆ กับภาระธุระงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนสองบ่าของท่านที่ได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) พระอุปัชฌาย์ของท่านมาโดยตลอด

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๕๙ เจ้าของนามปากกา "ญาณวชิระ "
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๕๙ เจ้าของนามปากกา “ญาณวชิระ ”
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับคณะสงฆ์กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม และกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับคณะสงฆ์กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม และกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม

อันเป็นพลังใจของศิษย์ในการก้าวเดินไปบนเส้นทางเดินเดี่ยว ให้มั่นคงหนักแน่นในการดำรงจิตไว้บนหนทางอย่างกล้าหาญทางธรรม

ผู้เขียน ยังจำคำกล่าวของท่านอยู่ในใจเสมอว่า

“ในสังสารวัฏนี้ ไม่มีใครมีกรรมกับอาตมา”

ดังที่ท่านดำรงจิตของท่านด้วยความเมตตากับทุกคนทุกชีวิตเสมอกัน ตั้งแต่ท่านเป็นสามเณรน้อยที่ขอหลวงพ่อ

พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จัตตสัลโล) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ไปอุปัฏฐากพระอาจารย์มหามังกร ปัญญาวโร ( หลวงตาน้อย ) ครูบาอาจารย์ของท่านอีกรูปหนึ่งกลางป่าใหญ่

ในเวลากลางวัน หลังจากทำกิจวัตรของสงฆ์ อุปัฏฐากครูบาอาจารย์แล้ว ท่านก็ออกมานั่งสมาธิใต้ร่มไม้แล้วปักไม้ผูกจีวรเก่าๆ ไว้กลางทุ่ง เขียนว่า “เขตอภัยทาน” เมื่อชาวบ้านเข้าป่าจะล่าสัตว์ เมื่อเห็นท่านนั่งทำสมาธิอยู่ และมีจีวรเก่าๆ อยู่บนไม้เขียนไว้ดังนั้น ชาวบ้านก็จะเกิดความเมตตาต่อสัตว์น้อยใหญ่และเลิกการล่าสัตว์ไปเอง

สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม
สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม

ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าในโลกนี้ไม่มีใครที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่พี่น้องเรามาก่อน ความเมตตาของท่านจึงแผ่ไปในทุกทิศที่ทุกคนได้พบเจอท่านล้วนได้รับความเมตตาจากท่านเสมอกัน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ท่านสอนว่า ให้เราทำประโยชน์กับที่นั่น

“อย่าหายใจทิ้ง”

คำสอนของท่านยังก้องอยู่ในใจของผู้เขียน และน้อมนำมาปฏิบัติอยู่ทุกวัน แม้ว่าชีวิตจะลำบากเพียงใด อย่าให้จิตต้องขาดที่พึ่ง จิตจะต้องมีสติปัญญาเป็นที่พึ่ง

การที่เรามีตนเป็นที่พึ่งของตนเอง คือจุดเริ่มต้นที่เราจะช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไม่คาดหวัง เราจะรู้ว่า อะไรที่ควรทำ เราจะทำ นี้เป็นจุดเริ่มต้นในการดำรงไว้ซึ่งการรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ตลอดกาลจากการปฏิบัติของเราเองในแต่ละขณะอย่างมั่นคงไม่คลอนแคลน ดังปฏิธานและวิถีการปฏิบัติของท่าน ที่สะท้อนออกมาในคำกล่าวของท่าน

โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

“บาลีว่า ตาทิโน ความเป็นผู้คงที่ ทำจิตให้คงที่ คือ ทำตัวให้ชินกับความทุกข์ และสิ่งที่จะช่วยให้เรามีหลักยึด ก็คือ มุมมอง หรือทัศนคติ เป็นสิ่งที่สำคัญแม้ว่าสิ่งรอบข้าง มันจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อใดที่เรามีมุมมองที่ชัดเจน โดยท่าทีที่มั่นคง มีทัศนคติที่ถูกสร้างขึ้นมาจากความเข้าใจ ก็จะไม่หวั่นไหว

“เหมือนกับศิลาที่เป็นแท่งทึบ หรือภูเขาที่เป็นหินล้วน แม้จะถูกลมพายุพัดกระหน่ำอย่างไร ก็ไม่ทำให้ภูเขาสั่นไหว เพราะทัศนคติ มุมมอง หรือท่าทีถูกทำให้ถูกต้อง ชัดเจนแล้ว มุมมองถูกปักลงไป เป็นมุมมองที่คงที่  มีความเสถียรทางความคิด 

” ถ้าคนเราเข้าใจเช่นนี้ กระแสข่าวเป็นอย่างไร ชีวิตแวดล้อมดำเนินไปอย่างไร แม้แต่ชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้เราหวั่นไหวในเป้าหมายได้ หากเรามีท่าที มีทัศนคติที่มั่นคง ก็คือ เรามีศรัทธาที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว เป็นอจลศรัทธา นั่นเอง”

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

จึงขอน้อมถวายบันทึก รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในขณะนั้น ด้วยบทความ จากคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” ที่ท่านเมตตาเขียนให้นสพ.คมชัดลึก ที่ผู้เขียนเคยทำงานอยู่มากกว่ายี่สิบห้าปีมาเป็นกำลังใจในวันที่คนเล็กๆ อย่างเราจะต้องมีความเพียรอย่างไม่ลดละในการที่จะทำความดีต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตก็ตาม…

คอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน (หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๐) โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด  ญาณวชิโร )

สืบต่อพระพุทธศาสนาทีละวัน

         ภาพการบวชนี้ แม้ดูเป็นการบวชตามประเพณี แต่ใครจะสามารถตีค่าความปิติในใจของตัวผู้บวชออกมาเป็นเพียงสูตรตามตัวเลขทางคณิตศาสตร์ได้ เขาได้ทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นว่า มีคุณค่ามากกว่าคุณค่าอื่นใดให้กับคนที่เขาเทิดทูน (พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ฯลฯ )

         ในแง่สืบต่ออายุพระศาสนา แม้บวชเพียงหนึ่งวัน พระศาสนาก็สืบต่อไปได้อีกหนึ่งวัน บวชสองวัน อายุพระศาสนาก็สืบไปได้สองวัน หรือจะบวชสองเดือน สองปี ก็เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ตามมา ความดีงาม คือ ศรัทธาเริ่มก่อตัวขึ้นในจิตใจเขา เหมือนโพธิ์เริ่มแตกจากหน่อ พร้อมที่จะเติบโตเมื่อเหตุปัจจัยพรั่งพร้อม คือ ได้ดิน น้ำ อากาศ ปุ๋ยที่เหมาะสม ศรัทธาในใจผู้คน ก็พร้อมที่จะงอกงาม

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

         ดังเช่น นักเรียนตำรวจนายร้อยสามพรานในภาพที่ได้อุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และเฉลิมพระเกียรติ ถวายพระพรชัยมงคล แด่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ เพื่อเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพอย่างสูงสุด ของประชาชนชาวไทยในโครงการ “นวกะโพธิ รุ่นที่ ๗ “ จำนวน ๖๕ ท่าน

โดยมีพิธีบรรพชาสามเณร ณ ลานโพธิ์ลังกา วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม และ ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ก็เดินทางไปประกอบพิธีบรรพชาสามเณร ณ มณฑลพิธีใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา และพิธีอุปสมบท ณ วัดไทยพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย ในช่วงเวลาดังกล่าว พระวิทยากรได้นำพระนวกะทั้งหมดจาริกไปยังสังเวชนียสถาน ทั้ง ๔ แห่ง แล้วเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๐ เพื่อทำพิธีลาสิกขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

         การมีโอกาสเกิดเป็นลูกผู้ชาย ภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นความโชคดีของชีวิต เป็นความโชคดีที่ลูกผู้ชายอีกหลายพันล้านคนไม่มีโอกาสสัมผัสได้ ยิ่งถ้ามีโอกาสได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ดำเนินชีวิตอย่างพุทธบุตร ผู้แสวงหาความสงบ แม้ชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิต มากบ้าง น้อยบ้างตามโอกาส ยิ่งเป็นช่วงชีวิตที่งดงาม ควรค่าแก่การจดจำ ยากที่จะลืมได้

         บางคนเชื่อว่า การบวช ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน เป็นสัญญาณ บอกให้รู้ว่า อายุพระศาสนาสั้นเข้า เป็นยุคที่พระศาสนาเสื่อม แต่ถ้ามองกลับกัน ตราบใดที่ยังมีการบวชสั้นๆ เช่นนี้ ติดต่อกันอย่างไม่ขาดสาย ตราบนั้น พระพุทธศาสนาก็ไม่มีวันเสื่อมสลาย

         สีแห่งผ้ากาสาวพัสตร์จะยังคงเหลืองอร่ามในโลกตลอดไป

         พระพุทธศาสนาในเมืองไทย มั่นคงมาถึงวันนี้ เนื่องมาจากการวางรากฐานให้มีการบวชตามประเพณีได้ ซึ่งเป็นช่วงบ่มเพาะศรัทธาให้งอกงาม ตั้งมั่นในพระศาสนา

         เพราะผู้ที่ผ่านการบวชเรียนในช่วงสั้นๆ เมื่อลาสิกขากลับไปดำเนินชีวิตอย่างชาวบ้าน เขาเหล่านั้น ก็ล้วนผ่านเส้นทางธรรมมาแล้ว ย่อมมีหลักให้กับชีวิต สามารถประคับประคองตนให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมที่ดีงามได้ หากเป็นลูก ก็เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นสามี ก็เป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นพลเมือง ก็เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เป็นหลักในการเผยแผ่พระธรรม เป็นกำลังในการสืบทอดพระพุทธศาสนา และเป็นปราการที่แข็งแกร่งในการปกครอง คุ้มครองพระพุทธศาสนา

         เขาจะเป็นคนที่มีความอดทน เข้มแข็ง และกล้าแกร่งแม้ในยามต้องเผชิญช่วงเวลาแห่งความทุกข์ และความยากลำบากของชีวิต

         การบวชในพระพุทธศาสนา เป็นการเจริญรอยตามแบบอย่าง องค์ สมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า แม้พระองค์ทรงเป็นโอรสของกษัตริย์ แต่พระองค์กลับเสียสละทุกอย่างออกบวช เพื่อแสวงหาหนทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้ตามที่ทรงประสงค์

น้อมเศียรเกล้าอาจาริยบูชา ปฏิบัติบูชา ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ชาตกาลท่านอาจารย์ รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๕๗ ” สืบต่อพระพุทธศาสนาทีละวัน” เรียบเรียงโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ เพื่อรำลึกถึงพระคุณอันหาที่สุดมิได้ของพ่อแม่ครูอาจารย์

ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (ตอนทื่ ๒๒)

ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนมีอยู่แม้กับความสงบ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

เราหนีความไม่แน่นอนไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปเรื่อย บางทีเราคิดว่า วุ่นวายเหลือเกินชีวิต ไม่สงบ จึงไปปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ  เพื่อหนีความวุ่นวาย คิดว่าสมาธิจะทำให้สงบ แต่กลับต้องพบกับความวุ่นวายอีกอย่างหนึ่งผุดขึ้นมาในหัว แม้จะออกจากความวุ่นวายของครอบครัว  หน้าที่การงาน  และสังคม คิดว่าจะได้พบความสงบ กลับมาพบกับความวุ่นวายใจ

เราจะวุ่นวายอยู่กับคำถามในหัวว่า ทำไมไม่สงบ ทำไมฟุ้งซ่าน คนอื่นจะรู้ว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรมไหม แล้วคำถามเหล่านี้ก็จะวนกลับมาในหัวซ้ำๆ

เราอาจจะระงับความคิดฟุ้งซ่าน ได้ในบางขณะ แต่แล้วคำถามเหล่านี้ก็จะวนกลับมาผุดขึ้นในหัวซ้ำๆ เราอาจจะระงับความคิดฟุ้งซ่านได้เพียงชั่วคราว แต่ความฟุ้งซ่านก็จะวนกลับมาเกิดอีก เมื่อมีเหตุปัจจัยแห่ง โลภะ โทสะ โมหะ เร่งเร้าให้เกิด เพราะตั้งคำถามกับคนรอบข้างและสิ่งรอบข้างถึงความอยากแบบใหม่

บางที ความอยากทำให้เห็นไปว่า การปฏิบัติสมาธิ เป็นเรื่องอัศจรรย์ ปฏิบัติแล้วอยากเห็นอะไรที่อัศจรรย์ บางทีก็จินตนาไปตามการอ่านหนังสือบ้าง ตามการเขียนปรุงแต่งเรื่องราวของครูบาอาจารย์บ้าง ตามการฟังจากคนโน้น คนนี้บ้าง ว่าต้องเห็นอย่างนั้น ต้องเห็นอย่างนี้ ต้องเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ปฏิบัติสมาธิแล้วต้องเห็นอะไรๆ ที่ประหลาดอัศจรรย์วิเศษวิเสโสขึ้นมา

ถ้าไม่เห็นถือว่าปฏิบัติสมาธิยังไม่ได้ ก็เสียใจ วุ่นวายใจ เพราะไปฟังมาว่า คนนั้นมีอาการอย่างนั้นอย่างนี้ เห็นแสงบ้าง ตัวลอยตัวเบาบ้าง สงบนิ่งไม่คิดอะไรได้เป็นเวลานานๆ  บ้าง พอไม่ได้ความสงบอย่างนั้น  ก็นึกว่าเราปฏิบัติไม่ได้  ก็นึกเสียใจ พลุกพล่านวุ่นวายใจ

            ที่จริง  พอนั่งสมาธิได้เห็นลมหายใจตัวเอง ก็เป็นอันปฏิบัติสมาธิได้แล้ว ทีแรกก็อาจดูได้ครั้งสองครั้ง ก็ไม่เป็นไร ก็ถือว่าได้ปฏิบัติสมาธิแล้ว เพราะได้เห็นลมหายใจ แล้วก็พยายามต่อไปอีก อาจจะได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ล้มลุกคลุกคลานบ้าง ก็ไม่เป็นไร เหมือนเด็กหัดเดินหัดพูด ก็เดินก็พูดอ้อแอ้ เต๊าะแตะๆ ล้มบ้าง ลุกบ้าง หัดเดินหัดพูดบ่อยๆ เข้าในที่สุดก็ไม่รู้เดินได้พูดได้คล่องตอนไหน

การฝึกหัดดูลมหายใจก็เช่นเดียวกัน แรกๆ อาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ให้พยายามไปเรื่อย พยายามอย่างต่อเนื่อง แรกๆ อาจดูได้ครั้งสองครั้ง ต่อไปอาจดูได้นานขึ้น เห็นได้หลายครั้งกว่าเดิม แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบไม่ต้องร้อน เร่งวันเร่งคืนจะปฏิบัติเอาให้ได้ในวันสองวัน ทำไปดูไปค่อยๆ ให้ศรัทธาในการปฏิบัติเติบโตขึ้น

ค่อยๆ ให้ความเพียร ความระลึกรู้ ความตั้งใจมั่น และปัญญาเติบโตขึ้นแก่รอบพร้อมๆ กัน ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่งโตก่อนกันก็โตไม่เสมอกัน เหมือนปลูกต้นไม้ ค่อยรดน้ำ ค่อยพรวนดิน ค่อยใส่ปุ๋ย ค่อยตัดแต่งกิ่งก้าน กิ่งไหนตายก็ตัดออก กิ่งไหนแมงเจาะก็รักษา ช่วงไหนควรเร่งปุ๋ย  เร่งน้ำ  ช่วงไหนควรพรวนดินกำจัดพัชพืช ช่วงไหนควรใส่ปุ๋ยเร่งลำต้น ช่วงควรใส่ปุ๋ยเร่งดอกเร่งผล ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนปลูก ส่วนการออกดอกออกผลก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธรรมชาติ

            ผู้ปฏิบัติสมาธิ เมื่อเริ่มเห็นลมหายใจ เราก็ทำสมาธิได้ของเราแล้ว เพียงแต่เราไปฟังคนอื่น ทำให้ความอยากล้ำหน้าการลงมือปฏิบัติ บางแห่งมีการสอบอารมณ์ คนอื่นก็เล่าเป็นคุ้งเป็นแคว ได้ยินเขาเล่าเราก็เดือดร้อนใจ ว่า ปฏิบัติแล้วทำไมไม่ได้อย่างที่เขาเห็นกัน 

ที่จริงเราปฏิบัติได้แล้ว คือ ได้เห็นลมหายใจ

เหมือนเริ่มลงมือปลูกต้นไม้ เมื่อปัจจัยแห่งดิน น้ำ ปุ๋ย พร้อม ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตออกดอกออกผลตามธรรมชาติ การปลูกต้นไม้เป็นหน้าที่ของเรา แต่การออกดอกออกผลเป็นหน้าที่ของธรรมชาติ อย่าไปเร่งวันเร่งคืนธรรมชาติ อย่าไปเร่งผลของสมาธิ ให้ปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับ

            การปฏิบัติสมาธิก็เพื่อให้เห็นความจริงแห่งธรรมชาติของชีวิต คือ ความจริงแห่งธรรม

ซึ่งที่จริงเราก็ประสบความแห่งธรรมตลอดอยู่แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จึงต้องปฏิบัติสมาธิ  ให้จิตสงบ แล้วมองความจริงแห่งธรรมผ่านสายตาแห่งปัญญาซึ่งเกิดจากจิตที่มีความสงบ

รายินดีเมื่อประสบสิ่งที่เราชอบใจ เรายินร้ายเมื่อประสบสิ่งที่ไม่ชอบใจ ทำให้เราขัดเคืองใจ ความรู้สึกนึกคิดเราวนเวียนอยู่กับความสุข ความทุกข์ ความพอใจ ไม่พอใจ อยู่ตลอดมาตั้งแต่เกิด แต่เราก็ไม่เห็น จึงต้องปฏิบัติสมาธิ ต้องใช้ปัญญาขบคิด พิจารณา ไตร่ตรองเพื่อให้เห็น ให้รู้จักกายใจตัวเอง

การจะรู้จักตัวเองใจต้องมีความมั่งคงเป็นสมาธิ แล้วคอยพิจารณาใจเราเองว่า  เวลาพูดเราพูดด้วยความรู้สึกอย่างไร พูดด้วยความรู้สึกขัดเคืองใจไหม พูดด้วยความรู้สึกแสดงออกมาจากโทสะไหม หรือพูดด้วยความรู้สึกแห่งราคะ

นี่คือความจริงแห่งธรรม

โปรดติดตาม รำลึกวันวาน มโนปณิธาน และ บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here