“การสอนเด็ก…ไม่ใช่แค่ให้เขารู้อะไร แต่ให้เขารู้วิธีคิด เพราะถ้ามีวิธีคิดที่ดีแล้วจะนำไปสู่การแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง

 


มีลาอยู่ตัวหนึ่ง มันเล็มหญ้าอยู่ที่ทุ่งอันเขียวขจีกว้างใหญ่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ทำให้เช้าๆ หมอกเม็ดหนาค้างอยู่บนยอดหญ้าสะท้อนกับแสงแดดเป็นประกายดุจเพชรเม็ดงาม  กระจายทั่วทุ่ง  เสียงจิ้งหรีดดังระงมไปทั่วทุ่ง สร้างความบันเทิงใจให้กับลาตัวนั้นมาก  ความหลงใหลในเสียงของจิ้งหรีดทำให้ลาตัดสินใจเดินไปถามว่า

“เจ้าจิ้งหรีดน้อย เสียงเจ้าดีเหลือเกิน เจ้าทำยังไงถึงได้เสียงดีขนาดนี้?”

จิ้งหรีดน้อยร้องตอบไปว่า  “ข้าตื่นแต่เช้ากินน้ำค้างทุกวัน”

ฟังเพียงเท่านี้เจ้าลาตัวนั้นมันก็เลิกกินหญ้า  ตื่นเช้ามาก็เลียกินแต่น้ำค้าง  ด้วยหวังว่าสักวันมันจะมีเสียงที่ดีเหมือนจิ้งหรีด

ไม่นานลาตัวนั้นก็ตาย เพราะร่างกายผอมโซขาดใจตายในที่สุด

ผู้เขียนเล่าเรื่องนี้ให้เด็กๆ ฟัง ก่อนจะถามว่าเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร

เด็กๆ หลายคนบอกว่า “ลาโง่ไม่ดูตัวเอง”

มีเด็กคนหนึ่งบอกว่า “ลาไม่ได้โง่แค่ค้นหาตัวเองไม่เจอ เลยมัวแต่เลียนแบบคนอื่น จึงไม่ประสบความสำเร็จ”

ฟังแล้วก็ได้แต่แย้มน้อยๆ เพราะไม่กี่ครั้งที่เล่าไปแล้วจะมีคนค้นพบรหัสที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเล่า  เพราะการสอนเด็กยุคนี้  การอธิบายให้ฟังไม่ค่อยได้ผลเพราะเขาหาอ่านได้จากอินเทอร์เน็ต  แต่การกระตุ้นด้วยคำถามหรือเรื่องเล่าเพื่อชวนคิด  และขบประเด็นบางอย่าง  จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ดีกว่า เพราะบางครั้งเราไม่ใช่แค่ให้เขารู้อะไร  แต่อยากให้เขารู้วิธีคิดมากกว่า  เพราะถ้ามีวิธีคิดที่ดีแล้วจะนำไปสู่การแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง  

จากเรื่องลากับจิ้งหรีด  เราช่วยกันสรุปประเด็นว่า ลาเหมือนจะมีความฝันที่อยากจะเสียงดี หรือมันอาจจะอยากเป็นนักร้องก็ได้ แต่ว่ามันหาการแสวงหาความรู้ที่ถูกต้อง  ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นนักร้องไม่ได้  แต่มันอาจจะค้นหาแนวของตัวเองมากกว่าเลียนแบบคนอื่นจนลืมตัวตนไป

และเมื่อขยายประเด็นเราก็พบว่า คนเรานั้นมีความทุกข์เมื่อเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น  เพราะส่วนใหญ่มักจะเปรียบด้วยสิ่งที่ตนเองขาดกับสิ่งที่คนอื่นมี  ก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ  ที่ตนเองมีไม่เท่าเขา และก็ยิ่งอยากให้ตัวเองมีเหมือนคนอื่นเพิ่มขึ้นไปอีก

เมื่อรู้สึกว่าตัวเองมีไม่พอก็เลยทุกข์  ทั้งที่ตัวเองนั้นมีมากกว่าคนอื่นหลายเท่า

การเปรียบเทียบเพื่อแข่งขัน        เป็นมุมบวก

การเปรียบเทียบเพื่อแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น เป็นมุมลบ

เพื่อเป็นการเปรียบเทียบเชิงสร้างสรรค์  ใช้ค้นหาตนเอง ลองมาพิจารณาดูสิว่า เรานั้นมีอะไรบ้างที่เด่นเห็นว่าเป็นข้อได้เปรียบหรือพิเศษกว่าคนอื่นบ้าง  สักประมาณ ๔ อย่างก็พอ เช่น

๑.มีอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่น

๒.เคยมีประสบการณ์อะไรที่ยอดเยี่ยมกว่าคนอื่น

๓.ทำได้ดีกว่าคนอื่น

.มีใครที่รักเสมอ

ในหนึ่งคำถามอาจจะตอบได้มากกว่าหนึ่งอย่าง แล้วลองพิจารณาคำตอบของตัวเองดูอีกครั้ง  ไม่ใช่ว่าอันไหนถูกหรือผิด  แต่ลองคิดถึงตัวเองให้มากที่สุด  ภาพตัวตนของเราจะปรากฏชัดขึ้นมาเรื่อยๆ

เมื่อเห็นตนชัด  ก็จะพัฒนาตนถูก 

ดูตนให้ออก  บอกตนให้ได้  ใช้ตนให้เป็น 

ในช่วงต้นปีนี้  หลายคนคงได้ทบทวนตัวเองมากพอสมควรแล้ว  ก็อยากให้เราพัฒนาต่อไป  ทบทวนเปรียบเทียบตนกับคนอื่นแล้วอย่าไปทับถมปมด้อย  ให้ค่อยๆ พัฒนาปรับปรุง  ส่วนปมเด่นก็ต่อยยอดให้ดีงามมากยิ่งขึ้น

ไม่แน่ว่า  ปีนี้อาจจะเป็นปีแห่งการค้นพบตัวเอง…ก็เป็นได้…

 พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here