พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

บันทึกจาริกบ้าน จารึกธรรม …

ลมหายใจชายแดนใต้ : บนเส้นทางแห่งศรัทธา

(ตอนที่ ๒)

“มิตรภาพก้าวข้ามความตาย”

เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

ผู้ประสานงานโครงการพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
“มิตรภาพก้าวข้ามความตาย” เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท จากคอลัมน์ “จาริกบ้านจารึกธรรม” หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐

จากบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” เป็นธรรมทานผ่านมากว่าสามปี สู่การเดินทางครั้งใหม่ของคอลัมน์ “จาริกบ้าน จารึกธรรม” ใน Manasikul.com ที่ยังคงเป็นธรรมทานเช่นเดิม จากผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสา และพระนักเขียนจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ เป็นความสืบเนื่องของลมหายใจพระไตรสรณคมน์ จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกที่ปิดตัวไปแล้วเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๖๓

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ลมหายใจชายแดนใต้ : บนเส้นทางแห่งศรัทธา" : พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ลมหายใจชายแดนใต้ : บนเส้นทางแห่งศรัทธา” : พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
“มิตรภาพก้าวข้ามความตาย” อีกหนึ่งบทความที่รวมเล่มอยู่ใน ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ลมหายใจชายแดนใต้ : บนเส้นทางแห่งศรัทธา” เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้ประสานงานโครงการพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

      “ท่านมหาจำวัดกุฏินี้นะ” พระครูโฆษิตสุตาภรณ์ ประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  บอกผู้เขียนซึ่งมาถึงวัดบูรพาราม จังหวัดปัตตานี  ในขณะกำลังหิ้วสัมภาระลงจากรถ  หลังจากที่ได้ลงชุมชนในกิจกรรมเยี่ยมพระ พบปะโยม ในพื้นที่ของอำเภอยะหริ่งเสร็จ  ท่านก็ได้พาไปที่ห้องพักเปิดหน้าต่างให้  พอเปิดหน้าต่างก็เจอต้นไม้ใหญ่สองต้น ท่านเล่าให้ฟังว่า ต้นตะเคียน ๒ ต้นนี้ เดิมเป็นต้นแม่ลูกที่ใหญ่กว่านี้  ซึ่งเจ้าของเขาตัดขายไป  สองต้นนี้เกิดขึ้นมาแทน ตอนนี้ไม่มีใครกล้าตัดแล้ว ชาวบ้านแถบนี้แม้แต่เดินผ่านยังไม่มีใครกล้า ด้วยความอยากรู้ก็เลยถามว่า แล้วเคยเห็นอะไรไหมครับ ? ท่านตอบว่า ไม่เคยเห็นอะไร

ท่านเล่าให้ฟังต่อมาว่า แต่ก่อนมีคนเอาลิงมาผูกเลี้ยงไว้ แล้วก็มีคนมาให้อาหาร แต่ไม่รู้เป็นใครมาจากไหน หลัง ๆ ก็นาน ๆ ทีค่อยมาให้อาหาร ทหารที่อยู่ด้านหลังก็เลยสังเกตเห็นว่า เขาคงมาสังเกตดูพฤติกรรมทหาร แล้ววันหนึ่งลิงนั้นก็หายไปเลย ไม่มีใครเห็นอีกเลย

ระหว่างที่ฟังท่านเล่าอยู่นั้น ผู้เขียนก็มองไปเห็นไม้กระดานแผ่นหนาวางไว้ ฝั่งที่ติดถนนของห้องพักก็เลยถามว่า เอาไว้ทำอะไร ท่านก็ตอบว่า มันเป็นไม้เก่าที่อยู่ที่นี่นานแล้ว ไม่ได้เอาไว้ทำอะไร น่าจะเป็นสมัยเจ้าอาวาสองค์ก่อน ท่านพูดไปพร้อมรอยยิ้มว่า เพื่อนผมเคยมาพักที่ห้องนี้ แล้วก็เกิดความสงสัยเหมือนกันว่า ไม้นี้เขาเอาไว้ทำอะไร ผมก็ตอบไปไม่ได้จริงจังอะไรว่า เอาไว้กันกระสุนเผื่อมีใครกราดยิ่งเขามา เพื่อนผมไม่กล้านอนห้องนี้เลย

ผู้เขียนก็ได้แต่นึกในใจ พระอาจารย์พูดซะน่ากลัวขนาดนั้น ใครๆก็คงหวั่นใจ หลังจากนั้นผู้เขียนก็จัดห้องพัก ด้วยความเหนื่อยของร่างกายเผลอหลับไปแต่ตอนไหนก็ไม่รู้

พระอาทิตย์กำลังจะลาลับขอบฟ้า แสงแดดอ่อน ๆ ทอแสงเข้ามาผ่านช่องหน้าต่างกระทบเข้าที่ตา ทำให้ผู้เขียนค่อย ๆ เอนกายลุกขึ้นด้วยความตกใจว่า ใกล้จะมืดแล้ว เผลอหลับไปแต่เมื่อไหร่ ว่าแล้วก็เดินออกมาจากห้องหยิบผ้าอาบน้ำ ถือขันสบู่เตรียมตัวที่จะไปสรงน้ำ สายตาเหลือบมองไปเห็นภาพเก่าๆ ที่ติดอยู่รอบ ๆ กุฏิด้านนอก

แล้วก็เดินดูรอบๆ ด้วยความสบายใจอยู่พักใหญ่ ยิ่งดูนานเท่าไรทำให้เห็นมนต์ขลังของภาพอย่างบอกไม่ถูก สายตาไปหยุดอยู่ที่ภาพเก่า ๆ ภาพหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพของพระเถระในสมัยก่อน คาดเดาเอาเองว่าคงจะเป็นอดีตเจ้าอาวาส ขณะที่มองภาพนั้นอยู่ ใจก็พลันคิดไปเองว่า ทำไมพระเถระในภาพจึงจองมองดูเราอย่างไม่ละสายตา ทำให้ต้องรีบเดินให้พ้นสายตาของภาพนั้น

เดินลงไปสรงน้ำด้วยความรู้สึกว่า เหมือนมีใครเดินตามมา ก็มองดูซ้ายขวา มองหน้าหลังก็ไม่เห็นอะไร มีความรู้สึกว่าทำไมเราต้องกลัว กลัวอะไร ก็พลางคิดไปถึงสิ่งที่มองไม่เห็น ผี วิญญาณอะไรก็ไม่เคยเห็น ก็ได้คำตอบให้กับตัวเองว่า ผี วิญญาณอะไรไม่เคยได้ยินว่าทำร้ายใครได้ แต่คนนี้ได้ยินบ่อยมาก ผู้เขียนเข้าไปสรงน้ำท่ามกลางความมืด ประมาณสิบนาทีก็เดินกลับขึ้นมาที่กุฏิ ทั่วตัวทั้งแขน ขายังเปียกไปด้วยน้ำ ขณะที่กำลังเช็ดตัวอย่างช้า ๆ ทำให้มีสติรู้สึกตัว ทำให้กลับมาอยู่กับกายกับใจอย่างแท้จริงๆ

หลังจากนั้นผู้เขียนก็รีบมานั่งที่เดิมตรงหน้าระเบียงของกุฏิ บทสนทนาก็เริ่ม พระครูโฆษิตสุตาภรณ์พูดขึ้นว่า เวลาประมาณนี้ถ้าเพื่อนผมอีกรูปหนึ่งมา แล้วนั่งตรงที่ท่านนั่ง เขาจะไม่ให้เปิดไฟ
ผู้เขียนก็ถามด้วยความสงสัย “เพราะอะไรครับ ?”

ท่านก็เล่าให้ฟังว่า เขากลัวจะมีผู้ไม่ประสงค์ดีกราดยิงเข้ามา เพราะถ้าเราเปิดไฟตรงนี้ เขาจะเห็นเราหมดเลย

ผู้เขียนฟังท่านพูดอย่างนี้ ก็เลยพูดขึ้นว่า งั้นเราปิดไฟดีไหมครับ ท่านก็พูดด้วยเสียงตรงไปตรงมาว่า ผมอยู่ที่นี่มายี่สิบสามสิบปี ไม่เคยมีเหตุการณ์อย่างนั้น มีแต่แค่เกิดเหตุระเบิดอยู่หน้าวัด

ท่านคงรู้ว่าผู้เขียนมีความกังวลใจอยู่ไม่น้อยในเรื่องที่ท่านพูด ท่านก็เลยพูดให้เข้าใจว่า ไม่มีอะไรหรอก ถ้าเขากราดยิงมาจริง ๆ ก็แค่ตาย

มาถึงตรงนี้ผู้เขียนฟังแล้วก็เห็นเป็นจริงตามนั้น แล้วก็พูดทบทวนคำพูดของท่านกลับไปมาเบา ๆ ว่า

ก็แค่ตาย ๆ ถูกต้อง

พระพุทธเจ้าให้เจริญมรณานุสติทุกลมหายใจ”

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

       ผู้เขียนก็เลยเปลี่ยนเรื่องพูดคุย พร้อมกับขยับที่นั่งมานั่งระหว่างต้นเสาของกุฏิด้วยความรู้สึกว่า จะเอาเสาเป็นที่พึ่ง เป็นที่กำบัง พร้อมกับถามถึงการทำงานที่ผ่านมาของท่านว่าเป็นอย่างไรบ้าง ท่านได้พูดถึงการทำหน้าที่ในฐานะเจ้าอาวาส หรือสมภาร ท่านบอกว่า

สมภาร แปลว่า ผู้แบกรับภารธุระอันหนัก ก็เลยมีความหนักอยู่บ้าง อีกอย่างผมทำงานในด้านการเผยแผ่เลยไม่คอยได้อยู่วัด เดี๋ยวก็มีกิจกรรมที่นั่นที่นี่อยู่ตลอดเวลา แต่ก็โชคดีหน่อยที่วัดนี้เรื่องของศาสนวัตถุไม่ต้องสร้างแล้ว ศาลาก็มีแล้ว โบสถ์ก็มีแล้ว ทุกอย่างมีพร้อมหมดแล้ว เหลือแต่คนที่จะบวชมาศึกษาธรรมะเท่านั้น”

พระครูโฆษิตสุตาภรณ์

       ท่านสะท้อนถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ฟัง

“กิจกรรมที่การเผยแผ่เชิงรุก รุกเอาธรรมะไปให้ญาติโยมถึงที่บ้านเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะความไม่สะดวกของญาติโยมในการเดินทางมาวัด อายุมากสุขภาพก็ไม่เอื้ออำนวย เราต้องรุกไปถึงที่บ้านแล้ว”

พระครูโฆษิตสุตาภรณ์ ประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันก่อนไปลงชุมชนเจอเหตุการณ์ที่สะเทือนใจเป็นอย่างมาก พอดีไปเยี่ยมยายคนหนึ่ง ยายเป็นคนชอบทำบุญสุนทาน ชอบมาวัดทำบุญตักบาตร ตลอดระยะเวลา ๓๐ กว่าปี ตั้งแต่เป็นสาวจนอายุมากก็มาวัดไม่เคยได้ว่างเว้น ตั้งแต่สมัยผมเป็นสามเณรก็เห็นยายมาวัดตลอด จนวันหนึ่งยายก็หายไป แต่เราก็ไม่ได้คิดอะไร

วันที่เดินเข้าไปในบ้าน ผมเห็นภาพยายแก่ๆคนหนึ่งที่อายุย่างเข้า ๗๒ ปี แล้ว หูหนวก ตาพร่ามั่วไปหมด มองก็ไม่ค่อยชัด ถามยายว่า จำได้ไหมว่าเป็นใคร

ยายตอบว่า จำเสียงได้ แต่ตาก็ไม่ค่อยเห็น เดินก็ไม่ได้แล้ว ไปไหนมาไหนก็ต้องนั่งวิลแชร์ พร้อมกับปั่นวิลแชร์มาใกล้ ๆ แล้วประนมมือไหว้ ผมรู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างมาก พอยายได้ไหว้พระแล้วก็น้ำตาไหลพรากออกมาด้วยความดีใจ แต่ยายก็พูดสะท้อนความรู้สึกออกมาด้วยความน้อยใจเหมือนกันว่า

“ยายใส่บาตรมา ๓๐ กว่าปี ไม่เคยมีพระรูปไหนมาเยี่ยมที่บ้านเลย เวลานี้โยมแก่มากแล้วไปวัดก็ไม่ได้ พระจะออกมาเยี่ยมให้กำลังใจไม่ได้หรือ  ตอนนี้ไม่ใช่เพียงแค่น้ำตาของยายยิ้มเท่านั้นที่ไหลออกมา น้ำตาของผมก็ไหลออกมาพร้อมกับความรู้สึกหลาย ๆ อย่าง”

พระครูโฆษิตสุตาภรณ์

“พลางตำหนิตัวเองเช่นกันว่า ที่ผ่านมาเราลืมเรื่องเหล่านี้ไปเลย แต่ก่อนเคยเห็นยายใส่บาตรตลอด แล้ววันหนึ่งยายก็หายไป ก็ไม่เคยคิดว่ายายจะเป็นอย่างนี้ นึกว่าไปอยู่กับลูกหลานที่อื่นแล้ว

“เพราะมีช่วงหนึ่งที่ผมได้หยุดบิณฑบาต เพราะทหารขอให้หยุดด้วยกลัวความไม่ปลอดภัย อีกอย่างก็มียายที่เป็นมุสลิมคนเก่าแก่ที่อยู่ในหมู่บ้านมาเล่าให้ฟังว่า มีคนมาถามว่า ช่วงนี้พระออกบิณฑบาตไหม ก็เลยหยุดไปอยู่ช่วงหนึ่ง

ผู้เขียนสัมผัสถึงเสียงอันสั่นเครือของท่าน ท่ามกลางเสียงอันสั่นเครือท่านได้สะท้อนให้ฟังอีกว่า ผมเสียดายเหมือนกันที่ผ่านมาคงจะมีหลายคนที่อยากจะเห็นชายผ้าเหลือง อยากจะฟังธรรมะ ขณะที่ยังมีลมหายใจ จนสุดท้ายของลมหายใจก็หมดไปโดยที่ไม่ได้เห็นชายผ้าเหลือง ไม่ได้ฟังธรรมะ พร้อมกับถอนลมหายใจเข้าออกเบา ๆ

ท่านยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า เสียงของยายยังดังก้องอยู่ในใจของผมอยู่เลย ในการพบเจอกันในครั้งนั้นเหมือนเป็นการฝากผีฝากไข้

ยายบอกว่า ตอนนี้ยายอยู่บ้านคนเดียว ตื่นตีสามตีสี่ทุกวันเพื่อเตรียมของใส่บาตร ต่อไปนี้จะใส่บาตรทุกวัน วันไหนถ้าพระมาบิณฑบาตแล้วประตูบ้านปิดอยู่ ให้พังประตูได้เลย เพราะยายอาจจะนอนสิ้นลมอยู่ในบ้าน

ท่านยังได้พูดทิ้งท้ายให้ฟังถึงความตั้งใจในการทำหน้าที่ว่า

“ผมได้ฟังยายพูดอย่างนี้แล้ว ผมจะต้องเสี่ยงชีวิตออกบิณฑบาตแล้วแหละ เพื่อรักษาศรัทธาของยายของญาติโยม จะต้องหมั่นออกเยี่ยมชุมชนบ่อยๆแล้ว เราอยู่ได้ด้วยชุมชน ชุมชนก็อยู่ได้ด้วยเรา”

พระครูโฆษิตสุตาภรณ์

       ในการเดินทางมา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ในบางครั้งก็เป็นการให้กำลังใจโดยไม่รู้ตัว พระอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังว่า มีญาติหลายท่านดีใจที่เห็นพระมาจากกรุงเทพฯ หลายคนไม่เชื่อว่า พระจะมาจากกรุงเทพฯ อยู่ที่นั่นสบายแล้ว จะมาลำบากเสี่ยงเป็นเสียงตายทำไม ทำให้ญาติโยมมีกำลังใจ

เมื่อได้มาแล้วก็ทำให้ได้คิดหลาย ๆ อย่างว่า เราลงมาเราเสี่ยงแค่วันเดียว แต่ญาติโยมที่นี่เสี่ยงทุกวัน ทำให้เห็นคุณค่าของการมาในแต่ละครั้ง

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน

ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา (ตอนที่ ๒) “มิตรภาพก้าวข้ามความตาย” เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้ประสานงานโครงการพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖๐
หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here