ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์ อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์ อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“อาตมาเตือนตัวเองเสมอ 

แม่อุ้มท้องมาเก้าเดือน

กว่าจะคลอดเราออกมาเป็นผู้เป็นคน

จนได้บวชเรียนเขียนอ่านวันนี้

แม่ลำบากมากกว่าเราอุ้มบาตรตั้งร้อยเท่าพันเท่า”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๓

 ท้ายพรรษา ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓

ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง

(ตอนที่ ๔)

หน้าที่ลูกคือบำรุงบิดามารดา ๕ สถาน

จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน "หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน"
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน “หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

หน้าที่ลูกคือบำรุงบิดามารดา ๕ สถาน

ด้วยเหตุนี้เอง  แม้ว่าเราจะแสวงบุญด้วยการไปไหว้พระที่ไหนก็อย่าลืมไหว้พระคือแม่ พระคือพ่อ  ซึ่งเป็นพระประจำบ้านของเรา  แม้จะไปไหว้เทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน ก็อย่าลืมไหว้เคารพพ่อแม่  ซึ่งเป็นเทวดาศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้าน 

บางคนออกไปเที่ยวกราบไหว้พระ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตกโดยรอบ  ด้วยคิดว่าพระที่นั่นเป็นพระอรหันต์  พระที่นั่นศักดิ์สิทธิ์  พระที่นั้นเป็นพระอริยะ  เที่ยวกราบไหว้บูชาภูผา  ต้นไม้ และหุบเขา  โดยคิดว่ามีเทวดาศักดิ์สิทธิ์สิงอยู่  แต่ไม่เคยกราบไหว้พ่อแม่ตนเองเลย  เพราะลืมนึกไปว่าพระอรหันต์อยู่ในบ้านแล้ว  ก็แล้วเทวดาที่ไหนจะอำนวยประโยชน์แก่เขา  ในเมื่อพ่อแม่ของตนก็ยังไม่เห็นความสำคัญ

ลูกทั้งหลาย  เมื่อหวนนึกถึงพ่อแม่ว่า มีพระคุณ  ด้วยสำนึกแห่งความเป็นผู้มีความกตัญญูจึงควรบำรุงเลี้ยงพ่อแม่ ๕ สถาน คือ

(๑) พ่อแม่ได้เลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ  พ่อแม่ได้เลี้ยงเรามาตั้งแต่เล็กจนเติบโตพึงเลี้ยงพ่อแม่ให้เป็นสุข  ถึงคราวท่านเจ็บป่วย หรือแก่ชราลง  ลูกๆ พึงตั้งใจปฏิบัติ เลี้ยงดูรักษาพยาบาลท่าน

(๒) ช่วยทำกิจการงานของพ่อแม่  แสดงความกระตือรือร้นสนใจในกิจการของพ่อแม่  ขวนขวายช่วยกิจการงานของท่าน  กิจการงานใดที่เป็นของพ่อแม่ทำไว้ หรือท่านใช้ให้ทำ หากลูกๆ มีความสามารถที่จะช่วยเหลือท่านได้  ก็พึงกระทำ  เป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพ่อแม่

(๓) ดำรงวงศ์สกุลของพ่อแม่ เกิดในตระกูลใด พึงรักษาตระกูลของตนไว้ ไม่ให้ เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ ไม่ทำให้คนดูหมิ่นตระกูลของตน ควรพยายามทำตระกูลของตนให้เป็นที่นิยมนับถือของคนทั่วไป

(๔) ประพฤติตนให้เป็นที่ไว้ใจได้ว่า จะรักษาสมบัติของตระกูลไว้ไม่ให้ ล่มจม ลูกๆ ผู้สมควรรับทรัพย์มรดกของพ่อแม่ ต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี น่าไว้วางใจ ละเว้นจากอบายมุข ละเว้นจากการกินเหล้าเมาสุรา คือทำตนให้ น่าไว้ ใจได้ว่าเมื่อรับสมบัติของตระกูลแล้วจะรักษาไว้ได้ ไม่ล้างผลาญเสียหมด

(๕) เมื่อพ่อแม่ล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน ผู้มีความกตัญญูกตเวที เมื่อพ่อแม่ล่วงลับไปแล้ว ควรทำบุญให้ท่าน อุทิศส่วนกุศลไปให้ท่านตามกำลังความสามารถของตน

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ลูกๆ ควรนำไปปฏิบัติต่อพ่อแม่ของตนให้ท่านเกิดความเบาใจจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้คุณและตอบแทนคุณของพ่อแม่    

ภาพถ่ายภูเขาทอง โดย ศิลปิน วิทยา : ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ภาพถ่ายภูเขาทอง โดย ศิลปิน วิทยา : ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

วันนี้เป็นวันออกพรรษา นกแจนแวนส่งเสียงร้องแว่วรับอรุณมาจากภูเขาทอง บอกให้รู้ว่าใกล้สิ้นหน้าฝน และ หน้าหนาวกำลังจะมาเยือน พระสงฆ์โดยทั่วไปต่างเตรียมตัวปวารณาออกพรรษา จากนี้ท่านก็คงมีโอกาสท่องเที่ยวจาริกไปค้างแรมในที่ต่างๆ ได้  ตลอดระยะเวลาสามเดือนในฤดูฝนปีนี้ ดูเหมือนผ่านไปเร็วมาก ผ่านไปเร็วราวกับว่า เป็นแค่สองสามวัน

ฝนลงหนาเม็ดตั้งแต่ค่อนรุ่งจนถึงเช้ามืดแล้วซาเม็ดลงเมื่อฟ้าเริ่มสาง เป็นเวลาที่ต้องออกบิณฑบาต ความรู้สึกวันนี้ แปลกๆ ยังไงชอบกล อาจเป็นเพราะก่อนหน้าออกพรรษาไม่กี่วัน มีพระลาสิกขาไปรูปหนึ่ง บางทีเราอาจคุ้นเคยกันเร็วเกินไป จนเกิดความเป็นกันเอง เหมือนรู้จักกันมาเป็นเวลาสิบๆ ปี  บางครั้งมีความรู้สึกว่าเขาเหมือนญาติคนหนึ่ง ทั้งๆ ที่พยายามจะไม่ให้เป็นเช่นนั้น นอกจากทำตามหน้าที่ของเรา เมื่อเขาลาสิกขาไป จึงดูมีความรู้สึกว่า เหมือนมีอะไรบางอย่าง หล่นหายไปจากช่วงชีวิต สิ่งที่หล่นหายไปคือความคุ้นเคย

นี่เอง ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ความคุ้นเคยเป็นญาติ ยิ่งกว่าญาติ”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ความรู้สึกเช่นนี้ เคยเกิดเมื่อแรกบวชเป็นสามเณร เพื่อนที่บวชด้วยกันรูปหนึ่งลาสิกขาไป ก็เกิดความรู้สึกวังเวงยังไงชอบกล เหมือนเรากำลังเดินอยู่บนเส้นทางสายนี้เพียงคนเดียว แต่ความรู้สึกเช่นนี้ก็เข้าสู่จิตใจได้เพียงชั่วขณะเท่านั้น แล้วก็เลือนหายไป เป็นการยืนยันตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า

สรรพสิ่งนั้นไม่เที่ยง

แม้กระทั่งจิตใจของเรา”

นั่งมองดูสายฝนที่ไหลลงจากชายคากุฎี แล้วโยนตัวลงสู่พื้นแตกกระจายไป อดนึกถึงวันในวัยเด็กไม่ได้ นึกถึงวันที่ ฝนตกปรอยๆ อาตมาชอบออกไปกระโดดโลดเต้นกลางสายฝน มิใส่ใจแม้โยมแม่จะดุด่าว่ากล่าวอย่างไร คงสนุกสนานท่ามกลางสายฝนไปตามเรื่อง

อาตมาชอบฤดูฝนมากกว่าฤดูอื่น เพราะแมกไม้ ใบหญ้าได้รับฝน แตกใบเขียวชอุ่ม ทำให้สรรพสิ่งดูมีชีวิต นกกาบนต้นไม้ กบเขียดในท้องทุ่ง ฝูงวัวควาย ก็ดูมีชีวิตชีวา  ต่างกระโดดโลดเต้นกันอย่างร่าเริง”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

แต่เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว วันที่ฝนตกในเวลาออกบิณฑบาต ก็ไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเลยนะโยมแม่ใหญ่  พื้นดินเฉอะแฉะ เนื้อตัวก็เปียกปอน ไหนจะอุ้มบาตร ไหนจะถือร่ม ไหนจะหิ้วข้าวของพะรุงพะรัง เคยลื่นล้มครั้งหนึ่งข้าวปลาอาหารกระจายเจิ่งน้ำไปหมดเลย นึกแล้วยังรู้สึกละอายไม่หาย บางครั้งถูกหมาไล่งับก็ยังเคย

โยมแม่ได้ยินข่าวว่าอาตมาลื่นล้มขณะบิณฑบาต ยังตำหนิอาตมาว่าไม่เรียบร้อย แต่อาตมาก็เตือนตัวเองเสมอ  แม่อุ้มท้องมาเก้าเดือน กว่าจะคลอดเราออกมาเป็นผู้เป็นคน จนได้ บวชเรียนเขียนอ่าน วันนี้แม่ลำบากมากกว่าเราอุ้มบาตรตั้งร้อยเท่าพันเท่า”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ฉบับหน้าตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับภพภูมิ และการกำเนิดของคนเราตามหลักพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้แจ้งชัดว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนว่าต้องทำบุญ – ต้องทำบุญ อย่างน้อย ถ้าไม่ได้ไปเกิดเป็นเทพเทวา ก็ให้ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์  พบ พระพุทธศาสนา ยังสามารถสั่งสมบุญต่อไปได้อีก อย่าได้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเปรต อสูรกาย หรือสัตว์นรกซึ่งมืดบอด ไม่สามารถทำคุณงามความดีอะไรได้

จดหมายฉบับนี้เห็นทีจะพักไว้ก่อน หากมีเวลาแล้วจะเขียนมาเล่าอะไรให้ฟังอีกครั้ง

ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และด้วยอานุภาพแห่งศีล สมาธิ ปัญญา อันเกิดจากการที่ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา และที่เคยได้บำเพ็ญมาตั้งแต่ อดีตชาติตลอดจนถึงชาติปัจจุบัน  ขอให้โยมแม่ใหญ่มีพระพุทธเจ้า มีพระธรรมเจ้าและมีพระสังฆอริยเจ้า เป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่เสมอ อย่าได้ประมาท มีสุขภาพกายที่ดี และสุขภาพใจที่แช่มชื่นรื่นเริงเบิกบานในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดไป

ท้ายพรรษา ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๓ (ตอนที่ ๔) “หน้าที่ลูกคือบำรุงบิดามารดา ๕ สถาน” จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here