โยมแม่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ถวายภัตตาหาร ณ วัดป่าบ้านบาก บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ราวปีพ.ศ.๒๕๕๙
โยมแม่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ถวายภัตตาหาร ณ วัดป่าบ้านบาก บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ราวปีพ.ศ.๒๕๕๙

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๗๔

“กตัญญูพระในบ้าน

และครูบาอาจารย์ ด้วยความเพียร”

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

       วันนี้ วันศุกร์ทื่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ก็เป็นวันพระใหญ่

ด้วยความกตัญญุตาบุพการีประดุจพระอรหันต์ในบ้าน ผู้เขียนจึงขอน้อมนำบทความจากคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เมตตาเขียนให้ในหน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เรื่อง ก้าวข้ามความทุกข์ด้วย “ความเพียร” มาเป็นพละ เป็นกำลังใจให้เราท่านได้ระลึกถึงพระคุณบิดรมารดาดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเมตตาเล่าไว้ในมโนปณิธานถึงความรักของโยมพ่อและโยมแม่อันไม่มีประมาณที่มอบท่านฝากไว้กับพระพุทธศาสนาด้วยชีวิต…

คอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เรื่อง ก้าวข้ามความทุกข์ด้วย “ความเพียร”
คอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เรื่อง ก้าวข้ามความทุกข์ด้วย “ความเพียร”

          ด้วยความศรัทธา คือ “พละ” ธรรมข้อแรกที่เป็น “กำลัง” ในพระพุทธศาสนา ที่จะส่งพลังให้เราให้มีกำลังในข้อต่อไป คือ วิริยะ ความเพียรอย่างยิ่งยวดที่จะก้าวข้ามความทุกข์ได้

ยิ่งสังคมในทุกวันนี้ ส่งผลให้เกิดความทุกข์ได้ง่ายมาก ตั้งแต่ลืมตาตื่นไปจนกระทั่งหลับ เราจะเกาะเกี่ยวความทุกข์ไปตลอดเวลาหรือจะพยายามที่จะให้ความทุกข์โบยบินไปจากใจให้เร็วที่สุด เพื่อที่ว่า ก่อนเข้านอนในแต่ละวันจะได้พบกับความร่มเย็นใจ

และ วิริยะ คือ ความเพียรนี้เอง ที่ทำให้แม้เราจะเจอปัญหามากเพียงใดก็ตาม  เจออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตหนักหนาสาหัสอย่างไรก็ตาม  ที่เรียกว่า “ทุกข์ “ บาลีว่า  ชาติปิ ทุกขา  คือ เมื่อมีความเกิด ความทุกข์ก็ตามมา แต่อาศัยว่าเราได้ศึกษาในพระพุทธศาสนา มีความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา  เราก็มีความสามารถในการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่เราได้ศึกษาได้เรียนรู้นี่แหละ มาเป็นน้ำในการชโลมใจให้เรา ทำให้เรามีพละกำลังขึ้นมาในการที่จะแก้ไขปัญหา แก้ไขความทุกข์ให้ผ่านไปได้

ความทุกข์ดังกล่าวนี้ แม้เกิดขึ้นแล้ว  เพียงแต่เราไม่สามารถที่จะรู้เท่าทัน โดยไม่สามารถที่จะบริกรรมว่าพุทโธ พุทโธ เพื่อให้ความทุกข์ระงับดับลงได้ทันท่วงที แต่ด้วยศรัทธาเชื่อมั่นว่า เราทำความดี เราปฏิบัติในความดี กุศลก็จะคุ้มครองเรา  ก็จะประคับจิตใจเราให้สูงขึ้นๆ โดยลำดับ  แล้วสามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้   เราก็สามารถบริกรรมว่า “พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว”

   เมื่อพรุ่งนี้เช้าแล้ว ทุกข์นี้ก็จะดับลง  ถ้าเช้าวันนี้ทุกข์ยังไม่ดับ เราก็ภาวนาต่อไปอีกว่า พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว ทุกข์ก็จะดับลง โดยการทำดังกล่าวนี้ เรียกว่าเราศรัทธาเชื่อมั่น เป็นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา  แล้วเราก็นำหลักธรรมดังกล่าวนี้มาประคับประคอง  ยกจิตของเราให้สูงขึ้น  ก้าวข้ามทุกข์ ก้าวข้ามปัญหา  แก้ทุกข์ได้ แล้วมาดำรงอยู่ในความดี บำเพ็ญความดีต่อไป นี้เรียกว่า วิริยะ คือ ความเพียร…

พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ขณะนำชาวบ้านปากน้ำปฏิบัติธรรม ในวันพระ ณ วัดป่าบ้านบาก ดงพระคเณศ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ราวปี พ.ศ. ๒๕๒๙ : ขอขอบคุณ ภาพจากคณะศิษย์)
พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ขณะนำชาวบ้านปากน้ำปฏิบัติธรรม ในวันพระ ณ วัดป่าบ้านบาก ดงพระคเณศ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ราวปี พ.ศ. ๒๕๒๙ : ขอขอบคุณ ภาพจากคณะศิษย์)

   ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เมตตาเล่าเรื่องความเพียรในสมัยเป็นสามเณรน้อยในป่าใหญ่สมัยอุปัฏฐากพระอาจารย์พระมหามังกร ปญฺญาวโร ให้ฟังต่อมาว่า ขอเล่าถึงสภาพของวัดป่าในช่วงเวลานั้นเพิ่มเติม ที่วัดป่ามีเครื่องปั่นไฟอยู่เครื่องหนึ่งจะใช้เฉพาะวันพระ เนื่องจากต้องประหยัดน้ำมัน เวลาติดเครื่องจะใช้เหล็กหมุนตรงหัวเครื่อง หน่วงให้ได้จังหวะที่พอเหมาะ กับวงรอบของช่วงแขน แล้วเร่งให้เร็วขึ้น จนเครื่องติด หากไม่ชำนาญ ยังไม่รู้จังหวะ เอาเหล็กหมุนออกไม่ทัน  บางทีเหล็กก็อาจจะตีมือหรือคางแตกได้ แต่เมื่อทำไปนานเข้าก็จะรู้จังหวะเอง

“การปั่นไฟใช้นั้นจะปั่นเฉพาะวันพระเวลามีญาติโยมมาฟังเทศน์จากอาจารย์เท่านั้น เพราะประหยัดน้ำมัน  หลอดไฟที่ใช้เป็นหลอดกลมจะใช้ได้เพียงไม่กี่หลอด ติดอยู่บนศาลาสามหลอด และอยู่นอกศาลาพอให้โยมเห็นทางเดินอีกหลอดหรือสองหลอดเท่านั้น มากกว่านั้นแรงไฟไม่พอ ส่วนเครื่องปั่นไฟจะตั้งไว้ลึกเข้าไปในป่าห่างจากศาลาออกไปราว ๔๐ ถึง ๕๐ เมตร เพื่อไม่ให้เสียงรบกวนเวลาเทศน์  เพราะเสียงเครื่องจะดังมาก

            “อาตมามีหน้าที่ดูแลเครื่องปั่นไฟ จะคอยติดและปิดเครื่องตามเวลา ก่อนถึงวันพระต้องดูว่าน้ำมันมีเพียงพอไหม และต้องคอยตรวจสภาพการใช้งาน ต้องทดลองดูก่อนว่าใช้ได้ไหม ถ้ามีปัญหาก็เรียกโยมที่พอจะรู้เรื่องเครื่องปั่นไฟมาช่วยดู  เวลาจะปิดเครื่องต้องรอจนอาจารย์เทศน์จบ บางที แม้อาจารย์จะเทศน์ยาวไปจนดึกถึงสี่ทุ่มห้าทุ่ม ก็ต้องรอ ชาวบ้านจะเดินกลับเข้าหมู่บ้าน ส่วนบางคนจำศีลอุโบสถ บางคนมาจากในตัวเมือง หรือหมู่บ้านห่างออกไป และบางคนก็พ่ายเรือข้ามมาจากบ้านฮ่องอ้อ ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำมูล ก็ค้างคืนที่วัดป่า อาจารย์จะทักทายปฏิสันถารญาติโยมพอสมควร และส่งญาติโยมจนหมดก็จะขึ้นกุฏิจำวัด

“ส่วนอาตมาก็ต้องรอจนกว่าโยมจะหมด แล้วก็จะไปปิดเครื่องปั่นไฟจึงเข้าจำวัดได้ พอถึงเวลาเช้าต้องตื่นตั้งแต่ตีสามครึ่งเพื่อเตรียมตีระฆังทำวัตรตอนตีสี่ จากนั้น ก็จะเดินเข้าป่าไปติดเครื่องปั่นไฟ”

เรื่องการจำวัดดึกหลังสี่ทุ่มและตื่นตั้งแต่ตีสี่ ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเมตตาอธิบายต่อมาว่า ก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก อาจจะง่วงบ้าง งัวเงียบ้าง ก็ธรรมดาของเด็ก ถึงเวลาก็ต้องทำ เพราะหลวงพ่อที่วัดปากน้ำท่านฝึกหัดพระเณรของท่านให้ตื่นและนอนเวลานี้มาจนเป็นนิสัยแล้ว ถึงเวรของใคร เณรรูปไหนมีหน้าที่อะไร ก็ทำไป ไม่ว่าจะเป็นเวรตีกลอง ย่ำฆ้องวันพระ ตอกโปงบิณฑบาต ตักน้ำรดต้นไม้ ดายหญ้า ตัดกิ่งไผ่ทำตาด กวาดลานวัด เช็ดถูศาลา ต้มน้ำปานะ หรือจัดเวรถวายอุปัฏฐากหลวงพ่อ ต้มน้ำร้อน น้ำชา เก็บกวาดที่นอน ผลัดเวรกันตามท่านไปเข้ากรรมฐานที่วัดป่า ต้องทำกันทุกรูป ดื้อบ้าง ซนบ้าง ก็ตามประสาเณรที่ยังเด็กอยู่  หลวงพ่อท่านก็ดุด่าบ้าง ทำโทษบ้าง แต่ก็ด้วยเมตตา แม้ญาติโยมชาวบ้านก็เข้าใจ ไม่ถือสาหาความ เอาเป็นเอาตายให้โทษอะไร

((ภาพขวา) พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) หลวงพ่อวัดปากน้ำ (ภาพกลาง) พระครูภัทรวิหารกิจ (พร ภทฺทญาโณ) วัดบ้านกุดลาด พระอุปัชฌาย์ขณะเป็นสามเณร (ภาพซ้าย) พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร)
((ภาพขวา) พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) หลวงพ่อวัดปากน้ำ (ภาพกลาง) พระครูภัทรวิหารกิจ (พร ภทฺทญาโณ) วัดบ้านกุดลาด พระอุปัชฌาย์ขณะเป็นสามเณร (ภาพซ้าย) พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร)

         “เรื่องถวายอุปัฏฐากหลวงพ่อนั้น ท่านไม่ให้พระเณรรูปใดเป็นอุปัฏฐากประจำ จะให้ผลัดเวรอุปัฏฐากวนกันไปทุกรูป เพื่อเป็นอุบายให้พระเณรได้ใกล้ชิดท่าน

“สภาพเครื่องปั่นไฟที่ใช้อยู่จะเก่ามาก ผ่านการใช้งานมายาวนาน เป็นของหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านใช้มาตั้งแต่คราวที่ทหารอเมริกันถวายท่านไว้ เมื่อครั้งที่เขามาช่วยสร้างโบสถ์ในวัด สร้างโรงเรียนในหมู่บ้าน ตัดถนน และทำระบบน้ำประปาให้ เมื่อไฟฟ้าเข้าวัดในปี พ.ศ. ๒๕๒๑  ท่านก็ใช้เครื่องปั่นไฟบ้าง ไม่ได้ใช้บ้าง แต่ก็ยังเก็บรักษาไว้ เมื่อตอนที่อาจารย์มหามังกรมาจำพรรษาอยู่วัดป่า หลวงพ่อท่านจึงนำเครื่องปั่นไฟมาซ่อมบำรุง แล้วให้เณรยกขึ้นรถเข็ญมาไว้ใช้งานที่วัดป่า แต่ใช้เฉพาะในวันพระเวลาที่มีญาติโยมมาฟังเทศน์เท่านั้น เพราะน้ำมันเบนซินหายาก ต้องประหยัด

“ส่วนเวลาอื่นตอนทำวัตรเช้า-เย็น ก็จุดเทียนที่หน้าพระประธาน และจุดตะเกียงไว้กลางศาลา พอได้แสงสว่างเท่านั้น

(พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ขณะเป็นอาจารย์ สอนภาษาบาลี  : ขอขอบคุณ ภาพจากคณะศิษย์ )
(พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ขณะเป็นอาจารย์ สอนภาษาบาลี : ขอขอบคุณ ภาพจากคณะศิษย์ )

           “อาจารย์มหามังกร ท่านเป็นพระเรียบร้อย คำพูดคำจางดงาม ไม่มีคำรุนแรง จะครองจีวรอยู่เป็นนิตย์ ถึงจะอยู่ป่า แต่เวลามีญาติโยมมาวัดแทบจะไม่เคยเห็นท่านใส่เพียงอังสะเลย จะพบปะญาติโยม ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากที่ไหน เป็นต้องครองจีวรให้เรียบร้อย เวลามียุงกัดตามตัวตามแขน ท่านจะใช้มือลูบเบาๆ ไม่ปัดเปะปะ ท่านเป็นพระนักเทศน์มีชื่อเสียงมาก ในยุคนั้น  ไม่พูดตลกโปกฮา ไม่หัวเราะเสียงดัง ยิ้มพอประมาณ พูดจาคมชัด มีท่วงทำนอง เป็นถ้อยเป็นคำ

“ ท่านเคยเล่าว่า ตอนที่ท่านอยู่กรุงเทพที่วัดนรนาถสุนทริการาม เวลามีการจัดฝึกอบรมการพูด อบรมการเทศน์ที่ไหน ท่านก็จะไปอบรมกับเขาด้วย สมัยนั้น มีการฝึกอบรมทำงานการเผยแผ่หลายอย่าง และมีพระผู้ใหญ่หลายท่านที่เคยฝึกอบรมร่วมกับท่าน บางรูปก็ยังทำงานเผยแผ่อยู่ บางรูปก็เป็นพระผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์ เวลานี้

“ต่อมา เมื่อท่านย้ายจากกรุงเทพมาอยู่วัดสุปัฏนาราม ในเมืองอุบลราชธานี ขณะนั้น ท่านยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนบาลีอยู่ หลวงพ่อวัดปากน้ำได้นำอาตมาและเพื่อนสามเณรซึ่งกลับมาจากที่ท่านส่งไปเรียนบาลีที่วัดพระศรีเจริญ อำเภออำนาจเจริญ ให้ไปพักเรียนบาลีอยู่กับท่านอาจารย์มหามังกร ในช่วงหลังออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๒๘ แต่ก็เป็นช่วงระยะสั้นๆ ต้องนั่งท่องแบบไวยากรณ์ และหัดแปลธรรมบทใต้ต้นมะขามข้างกุฏิอาจารย์”

ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในขณะนั้นเล่าต่อมาว่า เวลานั้น มีสามเณรเรียนบาลีอยู่กับท่านมากรูป เมื่อหลวงพ่อนำอาตมามาฝากเรียนเพิ่มขึ้นอีก ห้องนอนไม่เพียงพอ ท่านอาจารย์จึงให้อาตมาไปจำวัดที่ห้องของท่านเป็นการชั่วคราวด้วย

พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร
พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร

“ในห้องของท่านอาจารย์มหามังกรทั้งห้องจะโล่งๆ เป็นห้องเปล่าๆ ไม่มีอะไรเลย ตู้เก็บข้าวของก็ไม่มี เตียงนอนก็ไม่มี ท่านจะนอนจำวัดกับพื้นไม้ มีหมอนใบเดียว จะมีเพียงโต๊ะอ่านหนังสือแบบนั่งกับพื้น และมีหนังสือสำหรับดูหัวข้อธรรมที่จะใช้ในการเทศน์เท่านั้น และมีเทปบันทึกเสียงอยู่เครื่องหนึ่ง มีม้วนเทป ทั้งม้วนเปล่าและม้วนที่บันทึกเสียงไว้แล้ว วางซ้อนกันอยู่ ท่านจะมีสติกเกอร์เขียนติดไว้ว่า เทปแผ่นนั้นๆ บันทึกเสียงเรื่องอะไร  ส่วนเรื่องไหนยาวติดต่อกันถึง ๔ ม้วน ๕ ม้วน ก็จะใช้สก็อตเทปใสติดสันกล่องเทปรวมให้เป็นชุดเดียวกัน

“เวลาดึกๆ พอเงียบเสียงเณรจ้อกแจ้กจอแจแล้ว ท่านก็จะบันทึกเทปธรรมะแทบทุกคืน เพื่อให้เขานำไปออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นต่างๆ

  “นอกจากนั้น บางวันท่านก็จะอ่านบันทึกเสียงแปลธรรมบทภาษาบาลี เพื่อนำไปเปิดให้สามเณรฟัง โดยจะคัดเลือกช่วงที่สำคัญ ช่วงที่แปลยาก และช่วงที่ท่านเห็นว่า จะออกเป็นข้อสอบในปีนั้นๆ

(หลวงตาพิมพ์ ธมฺมธโร วัดราชนัดดาราม กรุงเทพฯ สหธรรมมิกหลวงพ่อวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี กับท่านอาจารยืเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น )
(หลวงตาพิมพ์ ธมฺมธโร วัดราชนัดดาราม กรุงเทพฯ สหธรรมมิกหลวงพ่อวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี กับท่านอาจารยืเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น )

        “แต่ในปีนั้นอาตมาเรียนบาลีอยู่วัดสุปัฏนารามกับอาจารย์มหามังกรได้ไม่นาน ก่อนสิ้นปีหลวงพ่อวัดปากน้ำ ก็ให้ลงมาเรียนบาลีอยู่กรุงเทพมหานคร โดยท่านได้ติดต่อให้มาพักอยู่กับหลวงตาพิมพ์ ธมฺมธโร ที่วัดราชนัดดารามไว้แล้ว และเขียนจดหมายให้ถือลงมาด้วย  ซึ่งหลวงตาพิมพ์ท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อมายาวนาน ท่านจะเรียกหลวงพ่อด้วยความคุ้นเคยสนิทสนมว่า “ญาท่านจันทร์” แล้วหลวงตาพิมพ์ก็ให้เดินไปเรียนบาลีที่วัดสุทัศนเทพวนาราม เสาชิงช้า เพราะความที่หลวงพ่อวัดปากน้ำอยากให้เป็นมหาเปรียญ และหลวงตาพิมพ์ก็ให้ข้อมูลกับหลวงพ่อว่า ขณะนั้น อาจารย์มหาภิญโญ กำลังเปิดสอนบาลีเข้มข้นอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวราราม

“ซึ่งนั่นก็คงจะเป็นเหตุผลที่หลวงพ่อวัดปากน้ำขวนขวายส่งอาตมาลงมากรุงเทพมหานคร ในปีนั้น”

(จดหมายที่หลวงพ่อพระมงคลธรรมวัฒน์เขียนถึงครูวิโรจน์ วงศ์ชะอุ่ม(น้า) ขณะเรียนหนังสืออยู่กับหลวงตาพิมพ์ ซึ่งจดหมายฉบับนี้หลวงตาพิมพ์ เป็นผู้เก็บไว้)
(จดหมายที่หลวงพ่อพระมงคลธรรมวัฒน์เขียนถึงครูวิโรจน์ วงศ์ชะอุ่ม(น้า) ขณะเรียนหนังสืออยู่กับหลวงตาพิมพ์ ซึ่งจดหมายฉบับนี้หลวงตาพิมพ์ เป็นผู้เก็บไว้)

         ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เมตตาเล่าต่อมาว่า ความเป็นสหธรรมิกระหว่างหลวงพ่อกับหลวงตาพิมพ์มีมาอย่างยาวนาน นอกจากท่านจะเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกันที่วัดหลวงพิบูลย์ อำเภอพิบูลย์มังสาหาร และวัดปทุมมาลัย ในเมืองอุบลราชธานีแล้ว หลวงพ่อยังได้ส่งลูกศิษย์และลูกหลานบ้านปากน้ำมาอาศัยเรียนหนังสืออยู่กับหลวงตาพิมพ์ต่อเนื่องกันมานานหลายสิบปี น้าของอาตมา หมายถึง น้องชายโยมพ่อก็มาเรียนหนังสืออยู่กับหลวงตาพิมพ์

“ที่จริง ตามลำดับญาติต้องเรียกว่า อา เพราะเป็นน้องโยมพ่อ แต่อาตมาก็เรียกมาอย่างนั้นจนติดปาก และพี่ชาย หมายถึง ลูกของโยมป้า ก็ตามน้ามาเรียนหนังสืออยู่กับหลวงตาด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น ก็ยังมีญาติคนอื่นๆ  ที่เคยอยู่ต่อเนื่องกันมา ซึ่งหลวงตาชอบแนะนำถึงชื่อคนนั้นว่าเป็นลูกคนนี้ให้ฟังอยู่เสมอ แต่อาตมาก็ไม่รู้จัก เพราะช่วงอายุห่างกันมาก ก็ได้แต่เออออไปกับท่าน เมื่ออาตมามาพักอาศัยอยู่วัดราชนัดดา เพื่อเรียนบาลี จึงไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับหลวงตา พอรู้ว่า เป็นลูกหลานใคร ท่านก็ให้ความเมตตาเป็นอย่างดี

“เมื่ออาตมายังเด็กอยู่ โยมพ่อใหญ่กับโยมแม่ใหญ่ต้องตัดไม้เผาถ่านขายแล้วส่งเงินค่าเล่าเรียนมาให้น้า หลวงพ่อวัดปากน้ำจะเป็นผู้จัดการส่งมาที่หลวงตาพิมพ์ และหลวงตาจะมอบให้น้าอีกที เวลาฝากเงินที แม้จะอัตคัดขัดสนเพียงไร โยมป้า โยมลุง และโยมพ่อก็เป็นอันต้องเจียดเงินร่วมสมทบมากับโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่เสมอ เหมือนลงขันส่งน้าเรียน มากบ้างน้อยบ้าง ตามมีตามได้ ขาดเหลืออย่างไร หลวงพ่อท่านก็ช่วยเติมของท่านเอง และท่านจะเขียนจดหมายมาถึงน้าด้วย

“ ด้านหลังคณะที่พักอาศัยจะมีพื้นที่เป็นสวนเล็กๆ พอได้เดินเล่น และมีคลองคั่นระหว่างวัดราชนัดดารามกับวัดเทพธิดาราม ในสวนนั้นจะมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ข้างล่างมีท่อต่อเชื่อมมาจากคลอง บางทีก็มีปลาดุกตัวใหญ่หลงเข้ามา ก็เอาข้าวบิณฑบาตโปรยให้ปลาดุกกิน

(สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม รูปยืนตรงกลาง ขณะเป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีที่วัดปากน้ำ จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๒)
(สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม รูปยืนตรงกลาง ขณะเป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีที่วัดปากน้ำ จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๒)

          “แต่การเรียนบาลีในปีแรกของอาตมานั้น ยังจับหลักไม่ถูก ก็เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น จับต้นชนปลายยังไม่ได้ คือ หลวงพ่อท่านไม่ได้เป็นมหาเปรียญ แต่ก็อยากให้ลูกศิษย์ได้เป็นมหาเปรียญ สำนักไหนที่ใดเห็นว่าดี ท่านก็ขวนขวายแสวงหาให้ลูกศิษย์ได้ไปเรียน เมื่ออยู่สำนักนั้นไม่ได้ ก็ขวนขวายส่งไปสำนักอื่น อาตมาจึงต้องตระเวนไปเรียนบาลีในปีนั้นถึง ๓ สำนัก คือ จากวัดพระศรีเจริญ ในอำเภออำนาจเจริญ  มาวัดสุปัฏนาราม ในตัวเมืองอุบลราชธานี แล้วก็มาอยู่วัดราชนัดดาราม กรุงเทพมหานคร เพื่อไปเรียนที่วัดสุทัศนเทพวราราม

“ผลการสอบบาลีในปีแรกนั้น ปรากฏว่า สอบไม่ผ่าน แต่ก็ไม่มีใครเสียใจอะไร เพราะรู้ตัวว่า ไม่ได้เรียนจริงจังเท่าที่ควร

  “ที่จริง การเรียนบาลี ผู้เรียนต้องอดทนเอาใจใส่ต้องให้เวลามาก และจะต้องได้อาจารย์สอนที่เอาใจใส่ด้วย เมื่อปลงใจเรียนที่ไหนแล้ว ต้องปักหลักลงที่นั่น เรียนอย่างต่อเนื่อง จึงจะได้ผล หากเปลี่ยนที่บ่อย ก็จะไม่มีสมาธิอยู่กับตำราที่เรียน

  “ และนั่นคงจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่รุ่งขึ้นอีกปี คือปี พ.ศ. ๒๕๒๙ หลวงพ่อได้เปลี่ยนแนวทางจากการเป็นพระเกจิ จากการเป็นพระนักปฏิบัติ และจากการเป็นพระนักพัฒนาชุมชน มาให้ความสำคัญกับการเป็นพระนักการศึกษา เปิดสำนักเรียนบาลีขึ้นที่วัดปากน้ำ

   “แม้จะมีคำปรารภแบบห่วงใย เกรงว่าทำไปก็จะเหนื่อยเปล่า จากพระผู้ใหญ่รุ่นราวคราวเดียวกัน ในชนบทสมัยนั้น ว่า  “อาจารย์ไม่ได้เป็นมหา แล้วจะสอนลูกศิษย์ให้เป็นมหาได้อย่างไร” ก็ตาม แต่หลวงพ่อก็มุ่งหน้าปลุกปั้นสำนักเรียนบาลีขึ้นมาอย่างเงียบๆ และถ่อมตนแบบพระในชนบท

“ พระเณรที่เรียนบาลีของสำนักในยุคแรกนั้น ต้องทั้งเรียนหนังสือ ทั้งเทปูนสร้างอาคารเรียน และสร้างกุฏิที่อยู่อาศัยไปพร้อมกันด้วย จนเป็นสำนักเรียนบาลีที่มีชื่อของจังหวัดอุบลในยุคหนึ่ง โดยมีอาจารย์มหามังกร ซึ่งมาจำพรรษาอยู่วัดป่าคอยวางแนวทางและให้ความช่วยเหลือ ใช้วิธีพี่สอนน้องไปพรางก่อน ผู้ที่สอบไล่ได้ประโยค ๑-๒ ก็ช่วยส่งแบบช่วยสอนวิชาไวยากรณ์ ผู้ที่สอบไล่ได้ประโยค ๓ ก็ช่วยสอนวิชาแปลมคธเป็นไทย ผู้ที่สอบไล่ได้ประโยค ๔ ก็ช่วยสอนประโยค ๓

“ส่วนเปรียญธรรม ๔ ประโยคนั้น ต้องเรียนวิชาแต่งภาษาไทยเป็นภาษาบาลี เรียกว่า วิชา “แปลไทยเป็นมคธ” หลวงพ่อให้เดินมาเรียนกับอาจารย์มหามังกรที่วัดป่า เพราะขณะเริ่มก่อตั้งสำนักเรียนใหม่ๆ นั้น ยังไม่มีครูสอน ท่านอาจารย์มหามังกรจึงทำหน้าที่ให้คำแนะนำในเบื้องต้น พอให้รู้วิธีดูหนังสือเท่านั้น จากนั้น พอได้หลักแล้วก็ให้ไปดูหนังสือเอง จะไม่ได้เรียนเป็นหลักอะไร เพราะถือว่า เป็นผู้ใหญ่พอรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว  จนเมื่อมีอาจารย์สอนขึ้นมาในสำนักจึงจัดห้องเรียนสอนเป็นเรื่องเป็นราว

         “อาตมาก็ได้เรียนประโยค ๔ กับอาจารย์มหามังกรที่วัดป่านี้ด้วย

        “ในขณะที่หลวงพ่อวัดปากน้ำมุ่งหน้าทำสำนักเรียนบาลีขึ้นมาอย่างจริงจัง อาจารย์มหามังกรก็รับภาระเรื่องงานเผยแผ่ ฝึกอบรมเยาวชน และนำชาวบ้านฝึกปฏิบัติสมาธิอยู่วัดป่าไปพร้อมกันด้วย พอถึงวันพระ หรือมีจัดปริวาสกรรม นำญาติโยมปฏิบัติธรรม หลวงพ่อก็จะเป็นผู้นำพาชาวบ้านมาฟังเทศน์อาจารย์มหามังกรที่วัดป่า

(พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ขณะนำชาวบ้านปากน้ำปฏิบัติธรรม ในวันพระ ณ วัดป่าบ้านบาก ดงพระคเณศ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ราวปี พ.ศ. ๒๕๒๙ : ขอขอบคุณ ภาพจากคณะศิษย์)
(พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ขณะนำชาวบ้านปากน้ำปฏิบัติธรรม ในวันพระ ณ วัดป่าบ้านบาก ดงพระคเณศ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ราวปี พ.ศ. ๒๕๒๙ : ขอขอบคุณ ภาพจากคณะศิษย์)

        “ จากดงพระคเณศอันรกร้างในป่าใหญ่ริมแม่น้ำมูล มีเถาวัลย์น้อยใหญ่กอดเกี้ยวต้นไม้ใหญ่ทึบหนา แดดส่องไม่ทะลุดิน จากวัดป่าที่ชาวบ้านเรียกขานสถานที่ที่หลวงพ่อมาปักกลดเจริญกรรมฐาน ที่แทบไม่มีใครกล้าย่างกรายเข้ามาเพราะความเข็ดขวาง ก็เริ่มกลายสภาพเป็นวัดป่าที่ผู้คนเริ่มสัญจรเข้าออก ป่าโดยรอบก็เริ่มเปิด ชุมชนก็เริ่มขยายตัวเข้ามาตั้งแต่บัดนั้น

(หลวงตาพิมพ์ ธมฺมธโร วัดราชนัดดาราม กรุงเทพฯ สหธรรมมิกหลวงพ่อวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี กับท่านอาจารยืเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น )
(หลวงตาพิมพ์ ธมฺมธโร วัดราชนัดดาราม กรุงเทพฯ สหธรรมมิกหลวงพ่อวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี กับท่านอาจารยืเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น )

ผู้เขียนขอนำมโนปณิธานจากวันวานของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด มาเชื่อมโยงกับบทความในคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” ในฉบับเดียวกันนี้ ดังที่ท่านเมตตาอธิบายเรื่อง ความเพียรต่อมาอีกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้ใช้ความเพียรอย่างแรงกล้า บำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้า จึงสามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้

“เราท่านทั้งหลาย แม้เจอปัญหา เจออุปสรรค  เจอความทุกข์อย่างไรก็ตาม  ก็เป็นความทุกข์อย่างธรรมดาของชีวิต ก็เป็นปัญหาอย่างธรรมดาของชีวิตที่จะเกิดขึ้นกับเราทุกคน  ทุกผู้ ทุกนาม ปัญหาแตกต่างกันไป  ความทุกข์แตกต่างกันไป  ตามแต่ชีวิตของแต่ละคนที่เกี่ยวข้อง  ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากหน้าที่การงาน  บุคคลที่เกี่ยวข้อง สามี ภรรยา  บุตรธิดา ข้าทาสบริวาร หรือสังคมที่เราอยู่ร่วม ก็ล้วนแล้วแต่ มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  แต่ว่าอาศัยความหนักแน่น  ความเพียร ความพยายาม  ความเชื่อมั่นดังกล่าวนี้  เราก็จะสามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้ ด้วยความเพียร

   “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า เป็นตัวอย่างในการบำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้า  ไม่ว่าจะเป็นในอดีตชาติของพระองค์ก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นในชาติที่บำเพ็ญการตรัสรู้ก็ตาม  ล้วนแล้วแต่อาศัยความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า  จึงสามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้  เมื่อพระองค์สามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้ พระองค์ก็นำวิธีเหล่านั้นมาชี้ทาง ให้พวกเราชาวพุทธทั้งหลาย  ได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติ ได้ศึกษา และดำเนินตาม

          “เพราฉะนั้น ความเพียร จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เป็นพละ เป็นกำลังที่สำคัญ ในการที่จะนำพาเราก้าวข้ามปัญหา อุปสรรคต่างๆ ในชีวิต”

(ส่วนหนึ่งจากคอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐)

(หลวงตาพิมพ์ ธมฺมธโร วัดราชนัดดาราม กรุงเทพฯ สหธรรมมิกหลวงพ่อวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี กับท่านอาจารยืเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น )
(หลวงตาพิมพ์ ธมฺมธโร วัดราชนัดดาราม กรุงเทพฯ สหธรรมมิกหลวงพ่อวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี กับท่านอาจารยืเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น )

บันทึกธรรมสัมมาสมาธิ

(ตอนที่ ๓๘)

“ต้องพลิกขณะจิตจากสมถะสู่วิปัสสนา”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้  วาดเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๓
ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้ วาดเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๓

          คราวที่แล้วท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเมตตาอธิบายเรื่อง “ดูกายในอริยาบทใหญ่ เปลี่ยนท่าอย่างไรรู้อย่างนั้น” ในตอนท้ายท่านอธิบายว่า ลมหายใจมีอยู่เพียงเพื่อให้สติระลึกรู้ไม่ใช่เพื่อให้ตัณหาและทิฐิเข้าไปอิงอาศัย กายมีอยู่เพียงเพื่อให้สติระลึกรู้ ไม่ใช่เพื่อให้ตัณหาและทิฐิเข้าไปอิงอาศัย

ในที่สุด จากการเฝ้าสังเกตอย่างต่อเนื่องก็จะเห็นร่างกายชัดขึ้นจากการเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวของร่างกาย และเห็นกายสังขารคือลมหายใจเข้าออกที่คอยหล่อเลี้ยงร่างกายเอาไว้ ร่างกายสติก็เห็นชัดกายสังขารคือลมหายใจที่หล่อเลี้ยงร่างกายเอาไว้ สติก็เห็นชัด เห็นชัดขึ้นทั้งร่างกายและสิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกาย

การเฝ้าสังเกตทั้งร่างกายและทั้งกายสังขาร ก็เป็นภาวนาขึ้นมาเพราะการสังเกตดูบ่อยๆ ก็เห็นชัดขึ้นมาเรื่อยๆ จนจิตนิ่งรู้อยู่กับสิ่งอันเดียวนี้ ไม่รู้อย่างอื่นไม่แตกความคิดออกไปเก็บเอาสิ่งอื่นมารู้ ก็มีอารมณ์อันเดียว ขบคิดอยู่กับร่างกายและกายสังขาร คือ ลมหายใจ

การรู้อยู่กับสิ่งเดียวนี้จนชัดขึ้นเป็นสมาธิ จะทำอย่างไรจึงจะเห็นกายใจตามความเป็นจริง

ต้องพลิกขณะจิตจากสมถะสู่วิปัสสนา”

คำว่า เพ่งความสนใจลงไป ก็คือ ฌานนั่นเอง การเพ่งเป็นสมถะ เพ่งความสนใจลงไปที่ไหนจิตก็รวมลงอยู่ที่นั่น จิตรวมลงที่ไหนความสงบระงับที่มีที่นั่น เมื่อจิตเข้าถึงความสงบจมดิ่งแช่นิ่งอยู่กับความว่างภายใน พอจิตถอนออกจากความสงบ ก็ฝึกพลิกขณะจิตกลับไปพักไว้ที่ลมหายใจ อย่าปล่อยให้จิตเลื่อนลอยปรุงแต่งอย่างไร้หลัก พอถอนออกจากความสงบก็พลิกขณะจิตกลับมาตั้งหลักไว้ที่ลมหายใจ แล้วพลิกขณะจิตกลับไปขบคิดพิจารณาความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน ความไม่แน่นอน มีอยู่แม้กระทั่งกับจิต ความไม่แน่นอนมีอยู่แม้กระทั่งในความว่าง

          คำว่า “ขบคิด พลิกขณะจิต” คือ คิดอย่างเอาใจจดจ่อหาผล ไม่ใช่ใช้ความคิดอย่างธรรมดา ฝึกเปลี่ยนจิตที่เพ่งจับจ้องให้ความสนใจอยู่กับอารมณ์หนึ่งไปยังอีกอารมณ์หนึ่ง

ฝึกเปลี่ยนความคิดหนึ่งไปยังอีกความคิดหนึ่งอยู่เนืองๆ เพื่อพลิกขณะจิตจากสมถะไปสู่วิปัสสนา หากไม่ฝึกจิตก็ไม่รู้วิธีที่จะพลิกตัวเอง ก็ฝึกอยู่เนืองๆ จนจิตรู้ที่จะพลิกขณะจิตด้วยจิตเอง เพื่อให้จิตเกิดความรู้ขึ้นมาไม่อย่างนั้นจิตจะจมดิ่งแช่นิ่งลึกไม่รับรู้อารมณ์

ระหว่างสมถะกับวิปัสสนา จึงทำงานสืบเนื่องเป็นอันเดียวกัน หนุนเนื่องซึ่งกันและกัน ต่างกันตรงที่ทำคนละขณะจิต ขณะจิตหนึ่งนิ่งสงบราบเรียบสว่างไสวอยู่ภายใน อีกขณะจิตหนึ่งเกิดสติระลึกรู้ ขบคิดพิจารณาความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสภาวะที่เกิดขึ้น

          “ฌาน” คือ “เพ่ง”

 เพ่งความสนใจลงไปที่ลมหายใจ จิตรวมลงที่ลมหายใจ จิตละวางลงหายใจเข้าสู้ความว่างภายใจก็เป็นสมถะ ระยะเวลาที่จิตรวมดวงเป็นสมถะ สว่างไสวเด่นดวงอยู่นั้น จะช้าจะนานแค่ไหนก็ไม่สามารถบอกได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้นๆ

บางขณะแค่เข้าไปแตะความสงบก็ถอนออก บางขณะก็ทรงอยู่นานบางขณะก็ทรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แต่ละครั้งไม่แน่นอน เมื่อจิตถอนออก บางขณะก็กลับเข้าไปใหม่ได้ บางขณะก็กลับเข้าไปใหม่ไม่ได้ บางขณะก็ยึดอารมณ์อย่างอื่นทั้งอารมณ์ที่เป็นกุศลและอกุศลปรุงแต่งสืบเนื่องเลื่อนลอยต่อไปเหมือนนกเต้นเกาะไปตามกิ่งไม้กิ่งใหม่ไปเรื่อย

วิธีที่จะกลับเข้าสู่ความว่างภายในได้ ก็ต้องพลิกขณะจิตไปสู่ที่ตั้งเดิมคือลมหายใจ เป็นการกลับไปเริ่มต้นที่ลมหายใจใหม่อีกครั้ง แล้วลมหายใจจะดึงดูดจิตกลับเข้าไปสู่ความว่างภายใน

เมื่อจิตถอนออกมา ก็ฝึกหัดให้รู้วิธีที่จะดำเนินจิตกลับเข้าไปด้วยวิธีเดิมๆ เนืองๆ

สำหรับผู้ที่ฝึกสมาธิจนชำนาญในการเข้าและการออกจากสมาธิแล้ว แม้จิตจะถอนออกก็สามารถกำหนดจิตลงไปที่ความว่างใหม่ได้ โดยไม่ต้องกลับไปตั้งหลักที่ลมหายใจใหม่อีกครั้ง พอเพ่งความสนใจลงไปที่ความสงบ จิตก็จะรวมดวงดำเนินไปสู่ความว่าง ความว่างก็ปรากฏเมื่อจิตละวางลมหายใจ เข้าสู่ความว่างภายใน มีความเป็นเอกภาพรวมดวง เบิกบานสว่างไสวเด่นดวงอยู่เช่นนั้น ก็เป็นสมถะ เมื่อจิตถอนออกมาพลิกขณะจิตไปเพ่งความสนใจระลึกรู้อยู่กับลมหายใจพิจารณาลมหายใจว่า มีความเกิดดับ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ลมหายใจมีอยู่แต่ไม่มีผู้หายใจ มีแต่การหายใจเป็นการเห็นอริยสัจในลมหายใจ ก็เป็นวิปัสสนา

   เพ่งความสนใจลงไปที่อิริยาบถ จิตรวมดวงลงที่อิริยาบถเป็นสมถะ จิตถอนออกเห็นรูปยืน รูปเดิน รูปนั่งรูปนอนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ไม่มีผู้ยืน มีแต่รูปยืน ไม่มีผู้เดิน มีแต่รูปเดิน ไม่มีผู้นั่งมีแต่รูปนั่ง ไม่มีผู้นอนมีแต่รูปนอน เห็นความไม่เที่ยงของรูปเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นการเห็นอริยสัจในอิริยาบถก็เป็นวิปัสสนา

   เพ่งความสนใจลงไปที่การเคลื่อนไหว จิตรวมดวงลงที่อาการเคลื่อนไหว ไม่มีผู้เคลื่อนไหว มีแต่การเคลื่อนไหวก็เป็นสมถะ จิตถอนออกจากการรวมดวงที่อาการเคลื่อนไหว พิจารณาเห็นรูปมีการเคลื่อนไหว และเห็นองคาพยพต่างๆ เคลื่อนไหวตามอยู่ตลอด มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับไปข้างหลัง มีการแล การเหลียว การลิ้มรส การครองจีวร การทาบสังฆาฏิ การสวมใส่เสื้อผ้า เป็นต้น มีความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นการเห็นอริยสัจแม้ในความเคลื่อนไหวก็เป็นวิปัสสนา

   เพ่งความสนใจลงไปที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตลอดจนอวัยวะส่วนอื่นๆ จิตรวมดวงลงที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อาการใดอาการหนึ่ง ก็เป็นสมถะ จิตถอนออกมาพิจารณาเห็นอวัยวะ มีความไม่สะอาดเป็นของปฏิกูล เป็นรังของโรคชนิดต่างๆ  จิตเกิดความท้อถอยการยึดถือในอวัยวะต่างๆ ก็เป็นวิปัสสนา

   เพ่งความสนใจลงไปที่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จิตรวมดวงลงไปที่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมก็เป็นสมถะ จิตถอนออกมาพิจารณาเห็นความไม่มีอยู่จริงความเปลี่ยนแปลงความเป็นทุกข์ของธาตุในกาย ไม่มีส่วนใดน่ายึดถือ ก็เป็นวิปัสสนา

   เพ่งความสนใจลงไปที่รูปกายเป็นประหนึ่งซากศพ  ทั้งรูปกายของตนเองและผู้อื่น จิตรวมดวงลงที่รูปกายเป็นประหนึ่งซากศพ ทั้งซากศพที่ตายใหม่ ซากศพที่กลายสภาพขึ้นอืดเขียวช้ำเลือดช้ำหนอง น่าสะอิดสะเอียน สภาพศพที่มีน้ำเหลืองไหลออกมา สภาพศพที่เน่าเปื่อย สภาพศพที่เหลือแต่โครงกระดูก สภาพศพที่กระดูกย่อยสลายเป็นผุยผง เป็นสมถะ เมื่อจิตพลิกขณะถอนออกมาพิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดสลดสังเวชเกิดความเบื่อหน่ายในการเกิด เห็นโทษของการมีครอบครัว ต้องคอยเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องประคับประคองดูแลเติมไม่รู้จักเต็มเหมือนมหาสมุทรที่พร่องอยู่ตลอดเวลา ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ได้บ้างไม่ได้บ้างก็เป็นทุกข์ เห็นโทษในความขัดแย้งต้องแก่งแย่งชิงไหวชิงพริบ

เห็นโทษของการใส่ความกัน เห็นการลงโทษทัณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม เห็นการทรมาน เห็นการจับกุมคุมขัง เห็นโทษในสังสารวัฏ จนขนพองสยองเกล้า รู้สึกว่าสังสารวัฏลุกเป็นไฟอยู่ตลอด อยากหนีไปให้พ้น ก็เป็นวิปัสสนา

          เพ่งความสนใจลงไปที่ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตรวมดวงลงไปที่ขันธ์ ๕  เมื่อจิตถอนออกมาพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของขันธ์ ๕  แม้รูปก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้เวทนาก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้สัญญาก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้สังขารก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้วิญญาณก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เพ่งความสนใจลงไปที่อายตนะทั้งภายในและภายนอกคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจและรูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ คืออารมณ์ที่เกิดขึ้นทางใจ จิตรวมดวงลงไปที่อายตนะทั้งภายในและภายนอก ก็เป็นสมถะ จิตถอนออกจากการเพ่งอายตนะมาพิจารณาเห็นอายตนะเป็นประหนึ่งไฟลุกโชนด้วยราคะ โทสะ โมหะอยู่ตลอด เห็นความไม่เที่ยงของอายตนะ เกิดความสลดสังเวช เบื่อหน่ายท้อถอยในความทุกข์ร้อนและความไม่มีอยู่จริงของอายตนะ ก็เป็นวิปัสสนา

เพ่งความสนใจลงไปที่อริยสัจ จิตรวมดวงลงไปที่ทุกข์เป็นสมถะ เห็นความทุกข์เป็นสภาพที่เป็นทุกข์ เห็นการเกิดเป็นทุกข์จริง เห็นความเจ็บป่วยเป็นทุกข์จริง เห็นความตายเป็นทุกข์จริง ความเศร้าโศกเสียใจก็เป็นทุกข์จริง ความอยากได้ใคร่ดีแล้วไม่ได้ดั่งใจก็เป็นทุกข์จริง ความประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์จริง พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์จริง

มองอริยสัจเข้ามาที่ใจ เห็นใจเป็นทุกข์ ก็เห็นอริยสัจที่ใจ

เพ่งความสนใจลงไปถึงสิ่งที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ ก็รู้ว่าตัณหา คือความอยากนั่นเองที่เป็นสาเหตุให้ทุกข์เกิด เห็นการดิ้นรนของใจที่ทะยานอยากอยู่ตลอดเหมือนพายุความอยากโหมพัดอยู่ในใจมีวันหยุดพัก  ครุ่นคิดให้ลึกๆ ลงไปจนกลัวการเกิดขึ้นมาอย่างจับใจ เพราะกลัวว่าเกิดแล้วจะต้องทุกข์อย่างนี้อยู่ร่ำไป

ที่ตัณหาคือ ความอยาก เป็นสาเหตุของความทุกข์ ก็เพราะอุปาทานคือความยึดมั่นในขันธ์ ๕ นั่นเอง เมื่อยึดมั่นในขันธ์ ๕  ก็อยากให้ขันธ์เป็นไปตามที่ใจอยาก ในเมื่อธรรมชาติของขันธ์มีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา แต่เราไปยึดมั่นในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดานั้นแล้วคิดปรุงแต่งสร้างความคาดหวังว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อขันธ์เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นทุกข์

ในที่สุดก็ทุกข์เพราะกายใจตนเอง ทุกข์เพราะกายใจคนอื่น

          ไม่อยากเจ็บป่วย แต่ก็ต้องเจ็บป่วย ก็เป็นทุกข์ เจ็บป่วยแล้ว อยากหาย เมื่อไม่หายก็เป็นทุกข์ ไม่อยากเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็ต้องประสบเหตุให้เศร้าโศกเสียใจ ก็เป็นทุกข์ ชี้หน้าลงไปตรงๆว่า ตัณหาคือความอยากให้เป็นอย่างนั้นๆ ความอยากไม่ให้เป็นอย่างนั้นๆ นั่นแหละเป็นสาเหตุของความทุกข์คือสมุทัย เมื่อพิจารณารู้เข้าไปถึงตัณหาว่าเป็นสาเหตุของความทุกข์ ก็เป็นวิปัสสนา

อีกอย่างหนึ่ง ความโลภ (โลภะ) เมื่อคิดอยากได้บ่อยๆ สมองก็จะจดจำแต่ความอยาก จนกลายเป็นทะยานอยาก(ตัณหา) เมื่อทะยานอยากมากเข้า ก็กลายเป็นอุปาทาน ความยึดมั่นในตัวเราของเรา ตัวตนของเรา ความคิดเห็นของเรา  ก็เหนียวแน่นเข้า ภพชาติก็เกิดที่นี่ ค่อยๆ ขยายขอบข่ายการมองด้วยปัญญาให้ละเอียดลงไป จนเป็น “จักขุง อุทปาทิ ปัญญา อุทปาทิ ญาณัง อุทปาทิ วิชชา อุทปาทิ อาโลโก” เมื่อดวงตาแห่งอวิชชาปิดลง ดวงตาแห่งปัญญาก็ถูกเปิดขึ้น ญาณก็เกิดขึ้น วิชชาก็เกิดขึ้น ก็สว่างโร่ เกิดความเข้าใจว่า “อ้อ เป็นอย่างนี้นี่เอง

ปฏิฆะ ความขัดเคืองใจ เมื่อขัดเคืองใจเพราะไม่ได้ดั่งใจก็ผูกโกรธ (โทสะ) เมื่อผูกโกรธมากเข้า ก็กลายเป็นทะยานอยาก คือ ตัณหา อยากทำร้าย อยากทำลาย อยากทำให้พินาศย่อยยับ  เมื่อทำร้ายคนอื่นไม่ได้ ก็ทำร้ายตนเอง เมื่ออยากมากเข้าก็กลายเป็นอุปาทาน ความยึดมั่น ภพชาติก็เกิดที่นี่

นี่เรียกว่าตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์

(โปรดติดตาม บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ และ รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป )

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here