ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“งดเว้นจากการทำบาปทุกอย่าง ”

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๒

(ตอนที่ ๑)

จากธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

คำนำผู้เขียน

ความตั้งใจเดิมมาจากการที่ผู้เขียนเห็นว่า ปู่กับย่า มีอายุมากแล้ว ผู้มีอายุย่าง ๘๐ ปี ไม่ต่างอะไรจากไม้ใกล้ฝั่ง จึงคิดจะให้ปู่กับย่ามีธรรมะได้อ่านได้ฟัง จะได้เป็นที่พึ่งทางใจยามวัยชรา โดยมีความมุ่งหวังว่า แม้โยมปู่กับโยมย่าจะไปทำบุญที่วัดไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งร่างกายยังแข็งแรง แต่ก็สามารถทำบุญอยู่กับบ้านได้ตลอดทั้งวัน การเข้าวัดฟังธรรมดูเป็นการยากสำหรับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยภาระหน้าที่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บอกเล่า เรื่องการทำบุญและการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนหัวถึงหมอน ผ่านจดหมายธรรมะที่เขียนถึงปู่กับย่า ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖ เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงานก็สามารถทำบุญได้ครบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

พระมหาเทอด ญาณวชิโร

มกราคม วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๗

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (ภาพในอดีต)
พระมหาเทอด ญาณวชิโร (ภาพในอดีต)

เจริญพรโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ทั้งสอง 

โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่ (โทน วงศ์ชะอุ่ม คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า)
และ โยมพ่อใหญ่ (โทน วงศ์ชะอุ่ม คุณปู่)

วันนี้เป็นวันมาฆบูชาวันที่สำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา อาตมาอยากนำเรื่องวันมาฆบูชามาเล่าให้โยมทั้งสองฟัง ต่อจากเรื่องการทำบุญที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้ว ขอให้โยมทั้งสองอย่าได้เบื่อเสียก่อน

วันนี้ในอดีตเมื่อประมาณราว ๒๕๐๐ ปีล่วงแล้ว ภายใต้ป่าไผ่อันเขียวครึ้ม พระพุทธองค์ ผู้เป็นบรมศาสดาของเราชาวพุทธทั้งหลาย ได้แสดงธรรมะอันเป็นหลักคุณธรรมพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ให้พระภิกษุสงฆ์อรหันตสาวกได้รับรู้ ว่ามนุษย์ควรดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คุณธรรมพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่พระองค์แสดงมี ๓ ประการ คือ

• งดเว้นจากการทำบาปทุกอย่าง
• พยายามทำความดีให้เจริญงอกงามไพบูลย์ในจิตใจ
• หมั่นเจริญสมาธิภาวนาชำระจิตใจให้ผ่องใส

 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่วัดเวฬุวัน หลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือน มีสาระที่พระองค์ทรงเน้นให้เราได้ทราบว่า ทุกคนล้วนปรารถนาสุขเกลียดทุกข์ ด้วยกันทั้งนั้น  เราต่างต้องการให้ตนเองและญาติพี่น้องมีความสุขและเกลียดสิ่งที่จะก่อให้เกิดทุกข์  เมื่อรู้ว่าญาติพี่น้องคนใดไม่สบายเป็นทุกข์ ประสบปัญหา บ้านทั้งบ้านก็ดูจะเงียบเหงา  เราต่างก็กระวีกระวาดขวนขวายหาทางป้องกันรักษาจนถึงต้องบวงสรวงบนบานศาลกล่าวให้หาย หรือให้บรรลุในสิ่งที่ตนปรารถนา

ด้วยเหตุนี้ คนเราจึงไม่ควรใส่ร้าย ไม่ควรทำร้ายซึ่งกันและกัน

ควรดำเนินชีวิตอย่างสงบเสงี่ยมเรียบง่ายอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เย่อหยิ่งจองหองดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่น สำรวมระวัง ไม่กระทบกระทั่ง ไม่พยาบาทปองร้าย ไม่อิจฉาริษยา มีความอ่อนโยนเมตตาปรานี ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข  เราปรารถนาให้ความสุขเกิดแก่ชีวิตเราและญาติพี่นองฉันใด จงปรารถนาให้  ความสุขเช่นนั้นเกิดแก่คนอื่นๆ เหมือนกัน ฉันนั้น

ในขณะเดียวกัน ก็เพียรพยายามเพื่อให้ชีวิตเราเองมีความเจริญก้าวหน้ามั่นคงในหน้าที่การงาน เป็นการประคับประคองชีวิตไม่ให้ลำบากฝืดเคือง ไม่ให้เดือดร้อน

ในที่นี้จะแสดงสาระหลักการดังกล่าวนั้นแต่เพียงย่อๆ คราวหน้าหากมีโอกาสจะได้กล่าวเฉพาะเรื่องนี้อย่างละเอียด อีกครั้ง

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

งดเว้นจากการทำบาปทุกอย่าง

คุณธรรมพื้นฐานของชีวิตข้อที่ ๑

การงดเว้นจากการทำบาปทุกอย่าง สาระในหลักการข้อที่หนึ่งนี้ เริ่มด้วยการงดเว้นจากสิ่งที่เป็นบาปทุกอย่างเบื้องต้นของการงดเว้นจากบาปก็คือ การมีศีล ๕ จิตของคนที่มีศีล๕ ย่อมบ่งบอกได้ว่าเขาเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์  หากขาดศีล ๕ ฐานะจิตของเขาก็ต่ำลงกว่าจิตมนุษย์  ซึ่งลักษณะของจิตที่ไม่มีศีล ๕ นี้ มิใช่ลักษณะจิตของมนุษย์ ภพชาติต่อไปของเขาจึงเหมาะแก่ภพของสัตว์เดรัจฉาน  ภพของเปรต ภพของอสูรกาย หรือภพของสัตว์นรกทั้งหลาย ตามแต่ความหนักเบาของกรรมที่กระทำ

ศีล ๕ พื้นฐานของความเป็นมนุษย์

ในที่นี้จะกล่าวถึงศีล ๕ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์  มีสาระที่ควรทำความเข้าใจ ดังนี้

เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หมายถึง มีความเมตตาปรานี สงสารสัตว์ ให้ สงสารสัตว์เหมือนสงสารลูกๆ ของตนเอง เรารักสงสาร และห่วงใยลูกของเราอย่างไร จงรักสงสาร และห่วงใยสัตว์อย่างนั้น  เรารักชีวิตของเราอย่างไร คนอื่นและสัตว์อื่นก็รักชีวิตเขาอย่างนั้น เราหวาดหวั่นต่อความตายอย่างไร คนอื่นและสัตว์อื่นก็หวาดหวั่นต่อความตายอย่างนั้น เราหวาดหวั่นต่อความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานอย่างไร คนอื่นและสัตว์อื่นก็หวาดหวั่นต่อความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างนั้น จึงไม่ควรฆ่า ไม่ควรทำลาย  ไม่ควรทำให้เขาได้รับความทุกข์ ความเจ็บปวด

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ความจริง คนมีธรรมะก็ไม่จำเป็นต้องรักษาศีล เพราะมีธรรมะก็คือมีศีลอยู่ในตัวนั่นเอง เช่น คนมีเมตตาธรรม  มีความเมตตา ก็คือมีความสงสาร ไม่อยากให้เขาได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน จึงไม่เบียดเบียนใครๆ ไม่ทำร้ายใครๆเมื่อไม่เบียดเบียน  ไม่ทำร้าย เพราะเกิดความสงสารจึงมีศีลอยู่ในตัว

ผลของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เบียดเบียนผู้อื่น ผู้ที่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน แม้มีบุญพอที่จะให้เกิดเป็นมนุษย์ได้ แต่ผลกรรมก็จะทำให้เขาเป็นคนมีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์  น่าเกลียด เป็นคนมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนมาก มีอายุสั้น ตายก่อนวัยอันควร และยังเป็นเหตุให้คนอายุสั้นมาเกิดร่วมชายคาเดียวกับเขาด้วย

เว้นจากการลักทรัพย์ หมายถึง ไม่ปรารถนาสิ่งของ ทรัพย์สมบัติที่ได้มาโดยมิชอบธรรม มีการวางแผนและใช้อำนาจฉ้อโกงเบียดเบียนแล้วได้มา เป็นต้น เราหวงแหนทรัพย์สมบัติของเราอย่างไร คนอื่นก็หวงแหนทรัพย์สมบัติของเขาอย่างนั้น จึงไม่ควรลักขโมยหรือฉ้อโกงเอาสมบัติของคนอื่นมาเป็นของตน อันจะเป็นสาเหตุทำให้เขาเป็นทุกข์  เศร้าโศกเสียใจ

ผลของการลักทรัพย์ ฉ้อโกง คอร์รัปชัน คือ เขาจะกลายเป็นคนยากจนข้นแค้นมีความอดอยาก ไม่ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา มีความผิดหวังในการประกอบอาชีพอยู่ร่ำไป  ไม่ประสบผลสำเร็จในการค้าขาย หรือหากเป็นคนร่ำรวยมีทรัพย์สมบัติเป็นมรดกตกทอดมาจากตระกูลจะเป็นคนไม่มีปัญญารักษา มรดกนั้นไว้ได้  ทรัพย์สมบัติจะพินาศล่มจมในที่สุด

เว้นจากการประพฤติผิดจากครองธรรมในเรื่องกาม

กามเป็นเรื่องของชาวโลก เป็นธรรมชาติของมนุษย์ตลอดจนสัตว์ทุกจำพวก แต่มีข้อแตกต่างกันระหว่างกามในมนุษย์กับสัตว์ ตรงที่มนุษย์มีครองธรรมในการเสพกาม สัตว์ ทั้งหลายไม่มีครองธรรมในการเสพกาม

ครองธรรมในกามของมนุษย์  ได้แก่  “ขอบเขตของการเสพกาม” ซึ่งพระพุทธองค์กำหนดไว้ใน ศีล ๕ ข้อที่สาม คือ มนุษย์ควรมีกามแต่เฉพาะกับคู่ครองของตน  ตลอดจนไม่แสดงพฤติกรรมเบี่ยงเบนกามผิดไปจากประเวณี เช่น ผู้ หญิงแสดงกามด้วยกันเอง หรือ ผู้ชายแสดงกามด้วยกันเอง  อันแสดงถึงความไม่เคารพต่อเพศของตนเอง

เป็นความจริงที่ว่า กามเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ปุถุชนทั่วไป แต่ก็ไม่ควรให้ กามท่วมท้นจิตใจ จนทำลายความดีงามของความเป็นมนุษย์  บางคนอาจพูดว่า ถ้าเขายอมล่ะ? แม้จะยอมก็ไม่ได้หมายความว่า จะพ้นจากการผิดศีลข้อนี้ เพราะคนทุกคนนั้นมีการคุ้มครองจากหลายสิ่ง คือ

พ่อแม่คุ้มครอง

หมู่ญาติคุ้มครอง

ธรรมะ  คือ  ความถูกต้องชอบธรรมคุ้มครอง

ถ้าเราละเมิดการคุ้มครองดังกล่าวข้างต้น  ก็เป็นอันผิดศีลทั้งนั้น ถ้าตัวเขายินยอม  เราก็ล่วงละเมิดพ่อแม่เขา หรือถ้าพ่อแม่เขายินยอม ในกรณีของการส่งลูกมาค้าประเวณีตามค่านิยมของบางท้องถิ่น  เราก็ล่วงละเมิดญาติเขาหรือแม้ถ้าญาติเขายอมรับ

ก็ไม่ได้พ้นจากการล่วงละเมิด การคุ้มครองจากธรรม

ผลของการประพฤติผิดในกาม

ผู้ที่ประพฤติผิดในกามเป็นประจำ เพราะเศษกรรมที่เหลือตกค้างจะทำให้เกิดในตระกูลต่ำ มีผู้เกลียดชังโดยมากไม่ทราบสาเหตุ มีผู้คิดปองร้ายมาก มักถูกมองด้วยสายตาที่ดูหมิ่น เกิดเป็นหญิงก็มีจิตวิปริต อยากเป็นชาย เกิดเป็นชายก็มีจิตวิปริตอยากเป็นหญิง  มีคดีความฟ้องร้องกล่าวโทษต้องให้ได้รับความอับอายขายหน้าอยู่เป็นประจำ เป็นคนขี้ขลาดกล้าๆ กลัวๆ ขาดความมั่นใจในตนเอง จนกลายเป็นคนวิตกจริต เขาจะมีเหตุให้ต้องพลัดพรากจากคนที่ตนรักอยู่ร่ำไป  หากมีลูกสาวก็จะถูกกระทำเช่นนั้นให้ได้รับความเจ็บปวดใจ

เว้นจากการโกหกหลอกลวง

การโกหกเป็นการแสดงออกถึงความเป็นคนไม่ ซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งแสดงออกทางการพูดปด ตอแหล ปลิ้นปล้อน ส่อเสียด ใส่ความผู้อื่น มีคำกล่าวว่า “ไม่มีความชั่วใดที่คนโกหกทำไม่ได้” ถ้าคนสามารถโกหกโดยมีจิตพยาบาท คิดจะให้เกิดความพินาศเสียหายแก่ผู้อื่นได้แล้ว ก็ไม่ มีความชั่วใดที่เขาจะทำไม่ได้

ผลของการพูดโกหก ผลของการพูดโกหกจะทำให้เป็นคนพูดจาน่ารำคาญทรัพย์สมบัติจะวิบัติด้วยไฟ ด้วยน้ำ ด้วยโจร หรือด้วยศัตรูคู่แค้น คือทรัพย์ สมบัติจะถูกไฟไหม้ น้ำท่วม โจรปล้น หรือศัตรูคู่แค้นก่อความเดือดร้อนเสียหาย  การทะเลาะวิวาทบาดหมาง เป็นความไม่รู้จักจบสิ้น เสื่อมเสีย ชื่อเสียงเกียรติยศ  เป็นคนหมดยางอาย และสุดท้ายจะกลายเป็คนปัญญาเสื่อม

เว้นจากการดื่มน้ำเมาและเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดให้โทษ

การดื่มน้ำเมาและสิ่งเสพติดให้โทษ ก่อให้เกิดความผิดพลาดในการครองสติ ทำให้ลืมตัว เป็นสาเหตุในการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงจนไม่สามารถแก้ได้  การดื่มน้ำเมา รวมถึงสิ่งเสพติดทั้งหลายทั้งปวง นอกจากจะมีผลโดยตรงต่อสติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่รักษาจิตให้มั่นคงแล้ว การดื่มน้ำเมาและสิ่งเสพติดต่างๆ ยังมีผลต่อร่างกายเป็นที่มาของโรคร้ายมากมายอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อขาดสติเพราะเครื่องมึนเมา  เราอาจทำผิดศีลได้ทุกข้อ

ผลของการเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดให้โทษ  การเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดให้ โทษ คือเขาจะกลายเป็นคนพูดไม่ชัดถ้อยชัดคำ  ฟันไม่เป็นระเบียบ ปากเหม็น มีกลิ่นตัวมาก จิตไม่เที่ยง คล้ายคนวิกลจริต

ผลกรรมที่จะตามมาจากการละเมิดศีล ๕ เป็นนิจตามที่กล่าวมา หากยังไม่ ประสบในปัจจุบันทันตาเห็นก็จะเกิดในภพชาติต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ นอน

กล่าวโดยสรุป ศีล ๕ นั้น เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของความเป็นมนุษย์ เมื่อมนุษย์เริ่มบังคับตนให้รักษาศีล ๕ ได้แล้ว คุณธรรมขั้นสูงอื่นๆ ก็จะตามมา ในขณะเดียวกันทางมาแห่งบาปกรรมอื่นๆ ก็จะเบาบางลงด้วย เช่น การเป็นนักเลงพนัน การเป็นเสือผู้หญิง การเที่ยวเตร่ ความเย่อหยิ่งจองหองลำพอง ตน ความถือตัวว่าดีว่าเก่งกว่าผู้อื่น  ความดูถูกดูหมิ่นผู้อื่น  การคิดจะเอาชนะคนอื่น เป็นต้น  เขาจะเริ่มรู้ด้วยตัวเขาเองว่า สิ่งเหล่านี้ๆ เป็นโทษ ควรงดเว้น ไม่ควรให้เกิดขึ้นในจิตใจ

ผู้ที่จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ในภพชาติต่อไป จึงต้องรักษาจิตใจให้มีศีล ๕ เป็นอย่างน้อย

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ราวปีพ.ศ.๒๕๕๙ ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ราวปีพ.ศ.๒๕๕๙ ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“งดเว้นจากการทำบาปทุกอย่าง ” จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๒ (ตอนที่ ๑) จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here