เมื่อเทียนเล่มหนึ่งถูกจุดขึ้น…

แสงสว่างก็ปรากฏยังเทียนเล่มต่อๆ ไปไม่สิ้นสุด

ในช่วงท้ายๆ ของการทำงานในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ผู้เขียนได้กราบขอสัมภาษณ์ประวัติของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) อยู่หลายครั้ง หลังจากท่านเมตตาเขียนบทความอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙) ให้กับนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ เป็นธรรมทานก่อนที่นิตยสารจะปิดตัวลง

จนกระทั่งท่านเมตตาให้สัมภาษณ์ และกล่าวว่า…

“หากเขียนโดยไม่ได้เชิดชูเป็นตัวบุคคลก็ยินดี เพื่อให้เห็นถึงภูมิปัญญาบูรพาจารย์ ทั้งพระป่าและพระบ้านที่ไปด้วยกันบหนทางแห่งความศรัทธาอันมั่นคงในบวรพระพุทธศาสนาจากรุ่นต่อรุ่นมาถึงวันนี้ โดยมีท่านเป็นเพียงพระเล็กๆ ที่เชื่อมร้อยพระหลวงปู่หลวงตาไปยังพระรุ่นใหม่ๆ และคนรุ่นต่อๆ ไปก็ยินดี”

คอลัมน์ ธรรมโอสถ : มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ ๑. จากนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์

มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จึงเกิดขึ้นในหน้านิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และนสพ.คมชัดลึกมาระยะหนึ่งในปีพ.ศ.๒๕๖๐ -พ.ศ. ๒๕๖๑

ด้วยชีวิตของท่านมีคุณค่ายิ่งในการปลูกศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาของกุลบุตรกุลธิดาผู้ปรารถนาที่จะก้าวเดินไปบนหทางมรรคาสู่ความพ้นทุกข์ในสังสารวัฏอันหาที่สุดมิได้

คอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ ในนสพ.คมชัดลึก พ.ศ.๒๕๖๐-พ.ศ.๒๕๖๑

รำลึกวันวาน… มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

๑) กตัญญุตาบูรพมหากษัตริย์ไทย

เป็นเวลากว่า ๖ เดือน ที่เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เสียสละเวลาเมตตาเขียนบทความ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เป็นธรรมทาน จำนวน ๒๔ ตอน เผยแผ่ในนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ อันนำความทุกข์โทมนัสมายังพสกนิกรของพระองค์ทั้งแผ่นดิน

เมื่อบทสวดมาติกา โดยพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เช้าถึงค่ำจนถึงขณะนี้ผ่านไปกว่า ๘ เดือนแล้ว พระบรมมหาราชวังยังคงเปิดให้ประชาชนเข้ากราบบังคมสักการะพระบรมศพมาโดยตลอด ท่ามกลางเสียงสวดพระอภิธรรมที่ยังคงแสดงสัจธรรมแห่งความจริงในความพลัดพรากอันเป็นสาเหตุของความทุกข์…

ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเห็นว่า เมื่อปฐมเหตุแห่งความทุกข์ของแผ่นดินเกิดขึ้นเช่นนี้ พระอภิธรรมจะช่วยคลายความโศกในใจของผู้คนได้อย่างไร ท่านจึงความลงเห็นว่า การอธิบายความหมายอันลึกซึ้งของพระอภิธรรม จะเป็นน้ำทิพยมนต์ช่วยคลายทุกข์ผู้คนในแผ่นดิน นอกจากตัวท่านจะได้สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงยกย่องท่านให้ได้รับเกียรติตามคติโลกแล้ว

ยังจะเป็นโอกาสให้ประชาชนที่ตั้งใจสดับฟังพระอภิธรรมได้รับอานิสงส์อย่างเต็มเปี่ยม คือ ได้รับความสงบภายในใจ และความสงบนี้เป็นบาทฐานที่สำคัญนำไปสู่สมาธิ และวิปัสสนาปัญญา ในการน้อมความจริงเข้ามาไว้ในใจจนเห็นประจักษ์แจ้งไตรลักษณ์ คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในที่สุด

คอลัมน์ ธรรมโอสถ : ความเป็นมาของพระอภิธรรม โดย พระราชกิจจาภรณ์
ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีพ.ศ.๒๕๕๙

ด้วยความที่พระอภิธรรมมีความลึกซึ้ง ละเอียดลออ เป็นเรื่องของสภาวธรรมล้วนๆ ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้าหลังการตรัสรู้ธรรม และเป็นภาคทฤษฎีสำหรับผู้ศึกษาในรุ่นหลังๆ จึงเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับบุคคลทั่วไป

ท่านจึงเมตตาถอดรหัสให้เข้าใจง่ายสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยและไม่เคยศึกษาพระอภิธรรมมาก่อนก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก อีกทั้งจะยิ่งเข้าใจมากขึ้น หากสามารถนำพระอภิธรรมในภาคทฤษฎีนี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดมีเจตนารมณ์ที่จะอธิบายการนำพระอภิธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันต่อจากนี้ แต่ด้วยการงานของคณะสงฆ์ที่มากมาย ทั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐ หัวหน้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นประธานกรรมการออกแบบหลักสูตรอบรมพระวิทยากร เพื่อสร้างพระนักเผยแผ่ ฯลฯ ทำให้ต้องยุติพระอภิธรรม(ภาคทฤษฎี)ไปก่อนตามเหตุปัจจัย อีกทั้งเมื่อ “เนชั่นสุดสัปดาห์” ปิดตัวลง เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐ คอลัมน์ “ธรรมโอสถ” ที่ถ่ายทอดอัตชีวประวัติของท่านยังเขียนไม่จบ จึงต้องยุติไปก่อนเวลาอันควร

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

จึงขอนำมโนปณิธานอันมั่นคงของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด มาเรียงร้อยให้ผู้อ่านได้เป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตต่อไปในบวรพระพุทธศาสนาอันร่มเย็นที่บูรพมหากษัตริย์ไทยได้ทรงวางรากฐานอย่างแน่นแฟ้นไว้ให้ชนรุ่นหลังช่วยกันรักษา ทะนุถนอม และนำมาเป็นหลักชัยสำหรับชีวิตในการก้าวเดินต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน ณ ที่นี้ 

นอกจากนี้ยังได้หวังว่า หากท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด พอมีเวลาเขียน “พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน” เราคงได้ติดตามอ่านพระอภิธรรม(ภาคปฏิบัติ)กันต่อไปในหน้าธรรมวิจัย หนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก ”แห่งนี้ในอนาคต จึงขอนำอัตตโนประวัติของท่านมาเล่าสู่กันฟัง เป็นบทคั่นการศึกษาพระอภิธรรมฉบับประชาชนในกาลต่อไป

(จากคอลัมน์ มโนปณิธาน  โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์  หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here