ขุนเขาย่อมมีวันทลาย

สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ

: ชาติที่ ๑๐ พระเวสสันดร มหาชาติ มหาทาน

“ถ้าใครขอหทัย เราก็จะผ่าอก เอาหทัยให้

ถ้าใครขอดวงตา เราก็จะควักดวงตาทั้งสองข้างให้

ถ้าใครขอเนื้อในกาย เราก็จะเชือดเนื้อให้

ถ้าใครขอโลหิต เราก็จะกรีดเลือดให้

แม้ถ้าใคร ต้องการให้เราเป็นทาส

เราก็ยินดี ยอมตัวเป็นทาสเขาผู้นั้น

      พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ เมื่อครั้งเกิดเป็นพระเวสสันดรไว้ในเวสสันดรชาดก ทรงมีปณิธานแน่วแน่ ที่จะบําเพ็ญ“ทานบารมี”

เวสสันดรชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต และอรรถกถา  ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต

      พระพุทธองค์ ตรัสเวสสันดรชาดก ที่นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ ในระหว่างพรรษาที่ ๒ หลังการตรัสรู้ ขณะเสด็จมหานครแห่งราชสกุล เพื่อโปรดพระประยูรญาติ

พระนครแห่งราชสกุล

      พระเจ้าาสุทโธทนะ สดับข่าวว่า พระโอรสได้ตรัสรู้แล้ว ทรงประกาศธรรมจักรอันบวร  พระเกียรติคุณแผ่ไพศาลไปในแคว้นต่าง ๆ ขณะนี้ ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ จึงรับสั่ง อํามาตย์คนหนึ่ง พร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ คน ไปกราบทูลเชิญเสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์  อํามาตย์พร้อมด้วยบริวาร ไปยังกรุงราชคฤห์ เส้นทางไกลประมาณ ๖๐ โยชน์ เพื่อทูลนิมนต์พระพุทธองค์ เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์

      เมื่อถึงกรุงราชคฤห์ อํามาตย์พาบริวารเข้าไปยังพระเวฬุวันวิหาร ในขณะที่พระพุทธองค์กําลังแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ อํามาตย์พร้อมด้วยบริวาร ยืนฟังพระธรรมเทศนาอยู่ด้านท้ายสุดของพุทธบริษัท ก็ได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ จึงทูลขอบวชพร้อมบริวาร

      ภายหลังจากที่พระภิกษุอำมาตย์ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่ได้กลับไปกราบทูลความให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะไม่ได้รับข่าวสาส์น จึงส่งอํามาตย์คนอื่น พร้อมด้วยบริวาร ไปอีกถึง ๙ ครั้ง ก็ยังไม่ได้รับทราบข่าวคราว เพราะว่า เมื่อพระภิกษุผู้เป็นอํามาตย์ทุกคน ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ บวชแล้ว ก็พํานักอยู่ในกรุงราชคฤห์นั้น ไม่มีใครส่งข่าวสาส์นกลับไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะ

      พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงดําริว่า อํามาตย์ทุกคน ไปแล้ว ก็หายเงียบ ไม่มีใครกลับมา แม้ข่าวสาส์น ก็ไม่ได้ส่งกลับมาบอก พระองค์จึงตัดสินใจส่ง กาฬุทายีอํามาตย์ ซึ่งเป็นอํามาตย์ผู้ใหญ่ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ไปนิมนต์พระพุทธเจ้า

      พระเจ้าสุทโธทนะ รับสั่งกับกาฬุทายีอํามาตย์ว่า “กาฬุทายี เราปรารถนาที่จะเห็นบุตรของเรา  จึงส่งอํามาตย์ไปถึง ๙ ครั้ง ๙ ครา แต่ไม่มีใครกลับมา แม้แต่คนเดียว แม้ข่าวสาส์น ก็ยังไม่ได้รับ  ไม่มีใครรู้ว่า ชีวิตจะเป็นอย่างไร ขณะยังมีชีวิตอยู่ เราปรารถนาจะเห็นบุตรเราสักครั้ง เธอสามารถนําบุตรของเรามาได้หรือไม่” กาฬุทายีอํามาตย์กราบทูลว่า “ได้ พระเจ้าข้า หากข้าพระพุทธเจ้าจะได้บวช” พระเจ้าสุทโธทนะตรัสว่า “เธอจะบวช หรือไม่ก็ตาม แต่จงนําบุตรของเรา กลับมาให้ได้” กาฬุทายีอํามาตย์ ทูลรับพระบัญชา แล้วเดินทางไปยังกรุงราชคฤห์

      เมื่อกาฬุทายีอํามาตย์ ถึงพระเวฬุวันวิหาร ได้ยืนอยู่ท้ายบริษัท ฟังพระบรมศาสดาแสดงพระธรรมเทศนา ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมทั้งบริวาร จึงได้ทูลขออุปสมบท

      หลังจากพระบรมศาสดา ตรัสรู้แล้ว ในพรรษาแรก ประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ออกพรรษา ปวารณาแล้ว เสด็จไปยังตําบลอุรุเวลาเสนานิคม ประทับอยู่ที่ตําบลอุรุเวลา ตลอด ๓ เดือน ทรงแนะนําชฏิล ๓ พี่น้อง พร้อมทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ คน ในวันเพ็ญเดือนยี่ เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พร้อมด้วยพราหมณ์ และคหบดีชาวมคธ ให้บรรลุธรรม  ประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ อีก ๒ เดือน โดยลําดับกาล เป็นเวลา ๕ เดือน นับแต่เสด็จออกจากกรุงพาราณสี  

      เหมันตฤดู ล่วงไปแล้ว นับแต่วันที่พระกาฬุทายีเถระมาถึง วันเวลา ก็ล่วงไปโดยลําดับ  ครั้นใกล้เข้าพรรษาที่ ๒ ในวันเพ็ญเดือน ๔ พระกาฬุทายีเถระ คิดว่า บัดนี้ วสันตฤดู กําลังย่างเข้ามา  หนทางที่จะเสด็จไปก็ชุ่มชื่น แผ่นดินปกคลุมไปด้วยหญ้าเขียวขจี ราวป่ามีดอกไม้ บานสะพรั่ง มรรคา ก็เหมาะแก่การที่จะเดินทาง ควรที่พระพุทธองค์ จะเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระพุทธบิดา  และพระประยูรญาติ  

๑ สหชาติ คือ สิ่งที่เกิดพร้อมกันกับวันที่พระพุทธเจ้าเกิด สหชาติ ๗ นั้น คือ ๑. พระนางพิมพา ยโสธรา ๒. พระอานนท์  ๓. กาฬุทายีอํามาตย์ ๔. นายฉันนะ มหาดเล็ก ๕. ม้ากัณฐกะ ๖. ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ๗. ขุมทองทั้ง ๔ (สังขนิธี, เอลนิธี, อุบลนิธี และ  บุญฑริกนิธี)

      พระกาฬุทายี เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พรรณนาเส้นทางเสด็จพระพุทธดําเนินไปยังพระนครแห่งราชสกุลของพระพุทธองค์ ด้วยคาถาประมาณ ๖๐ คาถาว่า  

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในฤดูกาลนี้ มวลไม้ในราวป่า กําลังผลัดใบเก่าร่วงหล่นไป ใบใหม่แตกยอดผลิดอกบานสะพรั่ง สีแดง สว่างไสว เรืองรุ่ง ดุจเปลวเพลิง ส่งกลิ่นหอมฟุ้งตลบไปทั่วทิศ   น่ารื่นรมย์ใจ บ้างก็ผลิดอกออกผลหลากชนิด งดงามยิ่ง กาลนี้ เป็นกาลที่สมควรจะจาริกไป ขอเชิญพระพิชิตมาร เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ อันเป็นพระนครแห่งราชสกุล เพื่ออนุเคราะห์หมู่พระประยูรญาติ

      ข้าแต่พระมหามุนี ฤดูนี้ เป็นฤดูที่ไม่หนาวนัก  ไม่ร้อนนัก อากาศเย็นสบาย ทั้งมรรคา ก็สะดวก ภาคพื้นมีหญ้าสีเขียวขจี อาหารหาได้ง่าย ไม่แร้นแค้น ขอพวกศากยะ  และโกลิยะ ทั้งหลาย จงได้เข้าเฝ้าพระองค์ ที่แม่น้ำโรหิณี ชาวนาไถนาหว่านกล้า ด้วยหวังผล พ่อค้าแล่นเรือออกมหาสมุทรไปค้าขาย ก็หวังทรัพย์ หมู่พระประยูรญาติ อยู่ที่พระนคร ก็หวังที่จะเห็นพระองค์ เสด็จสู่พระนครแห่งราชสกุล เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล ชาวนาก็ได้ไถนาหว่านพืช  แว่นแคว้นก็อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร พวกยาจกเที่ยวขอทานอยู่เป็นประจํา เป็นเหตุให้ผู้เป็นทานบดี มีโอกาสให้ทานบ่อย ๆ ครั้นให้ทานบ่อย ๆ ย่อมได้ไปสู่สวรรค์   

      บุรุษผู้มีความเพียร มีปัญญากว้างขวาง เกิดในสกุลใด ย่อมทําสกุลนั้น ให้บริสุทธิ์ สะอาด  ข้าพระองค์ เข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพเจ้าที่ประเสริฐกว่าเทพเจ้าทั้งหลาย ทรงสามารถทําให้สกุลบริสุทธิ์ เพราะพระองค์เกิดแล้ว โดยอริยชาติ ได้สัจจะนามว่า “นักปราชญ์” สมเด็จพระบิดาของพระองค์ พระนามว่า สุทโธทนะ และพระนางเจ้าสิริมหามายา  เป็นพระมารดาของพระพุทธองค์ ทรงทะนุถนอมพระองค์ ผู้เป็นพระโพธิสัตว์มาด้วยพระครรภ์

       บัดนี้  พระนางเจ้า เสด็จสวรรคต ไปบันเทิงอยู่ในไตรทิพย์ พรั่งพร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์  มีหมู่นางฟ้าห้อมล้อม บันเทิงอยู่ด้วยเบญจกามคุณ แม้ข้าพระองค์ ก็เป็นบุตรของพระพุทธเจ้า  ผู้ไม่มีสิ่งใดจะย่ำยีได้ มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย ไม่มีผู้เปรียบปาน ผู้คงที่  พระองค์เป็นบิดาของบิดา เป็นพระอัยกาของข้าพระองค์ โดยธรรม ฯลฯ

      ระหว่างสองข้างทางสู่มหานครแห่งราชสกุล มีบ้าน และนิคมตั้งเรียงราย  ประชาชนต่างมีศรัทธาเลื่อมใส นับถือพระรัตนตรัย พวกเขา ล้วนตั้งหน้าตั้งตารอคอยพระองค์ บัดนี้เป็นเวลาสมควรแล้ว ที่พระองค์จะเสด็จพระนครแห่งราชสกุล เพื่ออนุเคราะห์หมู่พระประยูรญาติ

      พระบรมศาสดา ตรัสถามพระกาฬุทายีว่า “กาฬุทายี เพราะเหตุไร เธอจึงพรรณนาเส้นทางสู่กบิลพัสดุ์นคร ด้วยถ้อยคําอันไพเราะเช่นนี้”  

พระกาฬุทายี กราบทูลให้ทรงทราบว่า “พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา  มีพระประสงค์จะพบพระองค์ ขอพระองค์ เสด็จสู่กบิลพัสดุ์นคร เพื่อสงเคราะห์พระชนก และพระประยูรญาติ ทั้งหลาย”

      พระบรมศาสดา รับคําพระกาฬุทายีเถระแล้ว จึงทรงรับสั่งให้แจ้งข่าวภิกษุสงฆ์ เพื่อเตรียมการ เสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ ครั้นแล้ว พระพุทธองค์ แวดล้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อรหันตขีณาสพจํานวนมาก  ทรงคํานวณเส้นทางจากกรุงราชคฤห์ ถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ประมาณ ๖๐ โยชน์ เดินทางวันละ ๑ โยชน์  ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ เดือน จึงเสด็จจาริกไป โดยไม่รีบเร่ง   

ภิกษุสงฆ์อรหันตขีณาสพ ที่ตามเสด็จองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สู่กรุงกบิลพัสดุ์ในครั้งนั้น มีจํานวนถึง ๒๐,๐๐๐ องค์ ได้แก่ พระภิกษุกุลบุตร ชาวแคว้นอังคะ และแคว้นมคธ  จํานวน ๑๐,๐๐๐ องค์ พระภิกษุกุลบุตร ชาวกรุงกบิลพัสดุ์ ที่เป็นทูตมาทูลเชิญเสด็จ จํานวน ๑๐,๐๐๐  องค์

พระกาฬุทายี คิดว่า ควรจะไปทูลความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา ให้พระเจ้าสุทโธทนะ  ทรงทราบ จึงเหาะไปทางอากาศ ปรากฏในพระราชนิเวศน์   

๒ ระยะทาง ๑ โยชน์ คิดเป็นระยะทาง ในสมัยปัจจุบัน ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร คิดตามมาตราวัด สมัยพุทธกาล ระยะทาง จากกรุงกบิลพัสดุ์ ไปวัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ๖๐ โยชน์ ประมาณ ๙๖๐ กิโลเมตร พระพุทธองค์ ต้องใช้เวลาเดินทาง จากวัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ไปโปรดพระประยูรญาติ ที่กรุงกบิลพัสดุ์ และเดินทางกลับมาจําพรรษาที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ อีกครั้ง ซึ่งมีเวลา ประมาณ ๒ เดือน ก่อนเข้าพรรษาที่ ๒

      ครั้งแรก พระราชาทรงจําพระกาฬุทายีเถระไม่ได้ เนื่องจากเครื่องแต่งตัวเปลี่ยนไป  เมื่อพระเถระ ทูลให้ทราบว่า ท่านคือกาฬุทายีอำมาตย์  จึงตรัสถามถึงพระบรมศาสดา พระเถระทูลให้ทราบว่า  พระบรมศาสดา  พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นจํานวนมาก กําลังเสด็จมา ขณะนี้ อยู่ในระหว่างทาง  พระราชา ทรงดีพระทัย นิมนต์พระเถระ ให้ฉันบิณฑบาตก่อน แล้วนําบิณฑบาต จากพระราชนิเวศน์ ไปถวายพระพุทธองค์ 

      พระเถระ เหาะกลับไปทางอากาศ ท่ามกลางสายตาของชาวกรุงกบิลพัสดุ์ นําบิณฑบาตมาถวายพระบรมศาสดา พระพุทธเจ้า เสวยบิณฑบาตนั้น ในระหว่างทางเสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ พระเถระ ได้นําบิณฑบาตมาถวายพระพุทธเจ้า เช่นนี้ทุกวัน แม้พระบรมศาสดา ก็เสวยเฉพาะบิณฑบาตของพระชนก เท่านั้น  

      พระเถระ กราบทูลพระราชา ทุกวัน ว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จมาถึงตรงนี้ ๆ เป็นเหตุให้ราชสกุล ต่างก็ยินดี เกิดความเสื่อมใสพระบรมศาสดามากยิ่งขึ้น ทั้งที่ยังไม่ได้เห็นพระองค์

      เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาใกล้ถึงกบิลพัสดุ์นคร เจ้าศากยะทั้งหลาย ต่างพากันตื่นเต้น คิดว่าจะได้เห็นพระญาติผู้ประเสริฐของเรา จึงประชุมกัน พิจารณาหาสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า  

      อุทยานของเจ้านิโครธศากยะ ร่มรื่น น่าอยู่อาศัย จึงตกลงปรับปรุง เป็นที่รับเสด็จพระพุทธองค์

       เมื่อพระพุทธเจ้า เสด็จมาถึงพระนคร เจ้าศากยะ ได้จัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่อลังการ  ด้วยการให้เด็กชาย และเด็กหญิง คนหนุ่มสาว ชาวกบิลพัสดุ์นคร ไปตั้งแถว ถือของหอม และดอกไม้  แต่งตัวด้วยเครื่องประดับอันงดงาม เดินนําหน้า ตามด้วยพระราชกุมาร และพระราชกุมารี  ส่วนเจ้าศากยะทั้งหลาย ถือของหอม ดอกไม้ ตามเสด็จมาข้างหลัง

      ๓ ในเวลาต่อมา พระบรมศาสดา จึงทรงสรรเสริญพระกาฬุทายีเถระว่า  เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ด้านทําให้ราชสกุลเกิดความเลื่อมใส  ด้วยพระดํารัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระกาฬุทายีนี้ เป็นเลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายของเรา ผู้ยังราชสกุลให้เลื่อมใส”

พระราชกุมาร และพระราชกุมารี นําเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ไปยังนิโครธาราม  

      พวกเจ้าศากยะ ต้อนรับพระพุทธเจ้า  ในฐานะเจ้าชาย  ผู้จะก้าวขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ มิใช่ในฐานะพระบรมศาสดาเอกของโลก จึงยังเป็นผู้ถือตัวสูง ในเรื่องชาติสกุลต่างดำริ  กันว่า “พวกตน เป็นพระกนิษฐา เป็นพระภาคิไนย เป็นพระโอรส สิทธัตถะเป็นหลาน  จะถวายการเคารพ ได้อย่างไร” จึงประทับอยู่ห่าง ๆ ด้วยอาการเคอะเขิน รับสั่งให้พระราชกุมาร  ที่ยังหนุ่ม เข้าไปนั่งใกล้พระพุทธเจ้า  

      เจ้าศากยะผู้ใหญ่ทั้งหลาย มิได้กราบไหว้ถวายความเคารพ พากันนั่งเฉยอยู่ พระพุทธองค์ทราบอัธยาศัย  เพื่อจะทําลายมานะของพระประยูรญาติ จึงทรงเข้าจตุตถฌาน อันเป็นบาทแห่งอภิญญา  ออกจากจตุตถฌานแล้ว เหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์

      ปานประหนึ่ง จะโปรยปรายละอองธุลีพระบาท ลงบนพระเศียรของพวกเจ้าศากยะ  

      ยมกปาฏิหาริย์ ประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้

      เปลวไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน สายธารพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง เปลวไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่างสายธารพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน เปลวไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า สายธารพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง เปลวไฟพุ่งออก จากพระกายเบื้องหลัง สายธารพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า เปลวไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา สายธารพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย เปลวไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย สายธารพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา

โดยทํานองเดียวกันนี้ เปลวไฟ และสายธาร พุ่งออกจากเบื้องซ้าย และเบื้องขวา ของช่องพระกรรณ ช่องพระนาสิก พระอังสะ พระหัตถ์ พระปรัศว์ พระบาท พระองคุลี ขุมพระโลมาแต่ละขุม และในพระวรกายส่วนอื่น ๆ ของพระพุทธองค์ ตั้งแต่พระศอ ลงไป จนถึงพระบาท  

พระเจ้าสุทโธทนะ ทอดพระเนตรเห็นความอัศจรรย์ เช่นนั้น จึงตรัสเล่าความหลังว่า “ในวันที่พระองค์ประสูติ หม่อมฉัน ได้เห็นพระบาทของพระองค์ ขณะถูกอุ้มเข้าไป ให้ไหว้กาฬเทวิลดาบส  กลับไปประดิษฐานบนชฎาของดาบส หม่อมฉัน ก็ได้ไหว้พระองค์ นั่น เป็นการไหว้ครั้งแรกของหม่อมฉัน ในวันวัปปมงคล แรกนาขวัญ หม่อมฉัน ก็ได้เห็นร่มเงาไม้หว้า ที่พระองค์นั่งขัดสมาธิอยู่บนพระแท่น มิได้คล้อยไปตามตะวัน ก็ได้ไหว้พระองค์ นั่น เป็นการไหว้ครั้งที่ ๒ บัดนี้ ได้เห็นปาฏิหาริย์ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต จึงขอไหว้พระองค์อีกครั้ง นับเป็นการไหว้ครั้งที่ ๓  ของหม่อมฉัน”

      เมื่อพระราชา ถวายบังคมแล้ว เหล่าเจ้าศากยะทั้งหลาย ก็พากันถวายบังคมตามทั้งหมด  พระพุทธเจ้า เสด็จลงจากอากาศ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์  

      จากนั้น ฝนโบกขรพรรษ ได้ตกลงมา น้ำฝนนั้น มีสีแดง ผู้ประสงค์ให้เปียก จึงจะเปียก  ฝนโบกขรพรรษ แม้ว่าหยดเดียว ก็ไม่ตกลงบนร่างกาย ของผู้ที่ไม่ประสงค์จะให้เปียก เจ้าศากยะทั้งปวง เห็นดังนั้น เกิดอัศจรรย์ใจ เลื่อมใสอย่างมาก  

      เมื่อเจ้าศากยะทั้งปวง ฟังพระธรรมกถาจบลง ก็เสด็จลุกขึ้น ถวายบังคม แล้วพากันกลับไป ไม่มีพระราชา หรือมหาอํามาตย์ของพระราชาพระองค์ใด กราบทูลพระบรมศาสดา ให้ทรงรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น แม้แต่ผู้เดียว  

      ภายหลังจากหมู่พระประยูรญาติ กลับพระราชนิเวศน์ไปแล้ว ตะวันบ่ายคล้อยไปสู่สายัณห์กาล แดดอ่อนยามเย็น สาดแสงทะลุม่านเมฆผ่านละอองฝน ลงทาบวัดนิโครธาราม  แม้จะเป็นยามเย็น แต่บรรยากาศ กลับคล้ายยามรุ่งอรุณ ดอกไม้ในอุทยานนิโครธาราม ผลิดอก  บานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวล ราวกับยามเช้า แม้หมู่นก ก็โผบินกลับรวงรังอย่างลังเล ไม่แน่ใจ ว่า เป็นยามรุ่งอรุณ หรือสายัณห์กาล  

      ขณะนั้น หมู่พระภิกษุ ออกจากที่พัก มานั่งชุมนุมสนทนากัน ถึงฝนที่ตกลงมาอย่างน่าประหลาด  และบรรยากาศ ที่น่าอัศจรรย์  

      พระพุทธองค์ เสด็จมาสู่วงสนทนาของหมู่พระภิกษุสงฆ์ ตรัสถามถึงเรื่องที่กําลังสนทนากัน  เมื่อภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสแย้มว่า “ฝนนี้ เรียกว่า “ฝนโบกขรพรรษ” ตกลงในสมาคมแห่งพระญาติของเราในปัจจุบันชาติ  หาได้เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ไม่  แต่ในอดีตกาล  เมื่อเราเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ นามว่า “เวสสันดร” บําเพ็ญบารมีธรรม เพื่อพระโพธิญาณ  จนเป็นเหตุให้ฝนโบกขรพรรษ ตกในสมาคมแห่งพระญาติ นั่นสิ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์กว่า”  

      พวกภิกษุสงฆ์ ต่างพากันกราบทูล ให้พระองค์ทรงเล่าเรื่องราวของพระเวสสันดรให้ฟัง จากนั้นพระพุทธองค์ จึงได้ตรัสเรื่อง “เวสสันดรชาดก” ซึ่งเป็นชีวิตในอดีตชาติของพระองค์  

พร ๑๐ ประการ

      ในอดีตชาติ ได้มีพระราชา พระนามว่า “สีพีมหาราช” ครองราชสมบัติ ในกรุงเชตุดร แคว้นสีพี  พระองค์ มีพระโอรสองค์หนึ่ง พระนามว่า “สญชัยกุมาร” เมื่อสญชัยกุมาร เจริญวัย ได้อภิเษกสมรสกับ “พระนางผุสดี” พระธิดาของพระเจ้ามัททราช ต่อมา พระเจ้าสีพี ทรงอภิเษกสญชัยราชกุมารขึ้นครองราชสมบัติ และสถาปนาพระนางผุสดี เป็นอัครมเหสี

พระนางผุสดีนั้น ได้บำเพ็ญบารมี มาตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน

      นับย้อนกลับไป ๙๑ กัป เป็นยุคที่พระบรมศาสดา พระนามว่า “วิปัสสี” เสด็จอุบัติขึ้น ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้า ในโลก  

      สมัยนั้น “พระเจ้าพันธุมราช” ครองราชสมบัติ ในนครพันธุมดี พระองค์ มีพระธิดา ๒ องค์

กาลต่อมา พระราชาพระองค์หนึ่ง ได้ส่งดอกไม้ทองราคาหนึ่งแสน กับแก่นจันทน์มีค่ามากมาเป็นเครื่องบรรณาการ พระเจ้าพันธุมราช ประทานแก่นจันทน์ แก่พระธิดาองค์ใหญ่ ประทานดอกไม้ทอง แก่พระธิดาองค์เล็ก  

      ขณะนั้น พระวิปัสสีพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ เขตมฤคทายวัน ในนครพันธุมดี พระธิดาทั้งสองพระองค์ ประสงค์จะนําของพระราชทาน ไปบูชาพระบรมศาสดา จึงได้กราบทูลพระบิดา เมื่อได้รับอนุญาต พระธิดาองค์ใหญ่ จึงบดแก่นจันทน์ให้ละเอียด บรรจุลงในผอบทองคํา ส่วนพระธิดาองค์เล็ก ให้ทําดอกไม้ทองคํา เป็นมาลา ปิดทรวง นําไปถวายพระพุทธเจ้า ที่มฤคทายวันวิหาร  

      พระธิดาองค์ใหญ่ ได้ตั้งความปรารถนา ให้ได้เป็นมารดาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาล  

      ส่วนพระธิดาองค์เล็ก ได้ตั้งความปรารถนาว่า ทุกชาติที่เกิด ขอให้ร่างกายงดงาม เหมือนประดับด้วยเครื่องประดับนี้ตลอดไป จนกว่าจะบรรลุพระอรหัตผล  

พระบรมศาสดา ได้อนุโมทนาพระธิดาทั้งสองพระองค์

      ครั้นพระธิดาทั้งสองพระองค์ สิ้นพระชนม์ ได้ไปเกิดในเทวโลก เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในเทวโลก และมนุษย์โลก หลายภพหลายชาติ

      เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระธิดาองค์เล็ก ได้มาเกิดเป็นพระธิดาของพระเจ้ากิกีราช พระนามว่า “เจ้าหญิงอุรัจฉทาราชกุมารี” เพราะมีพระสิริโฉมงดงาม  หน้าอกเหมือนมีเครื่องประดับงดงามอยู่ตลอดเวลา เมื่อเจ้าหญิงอุรัจฉทา มีอายุ ๑๖ ปี สดับเทศนาของพระกัสสปพุทธเจ้า ได้บรรลุโสดาปัตติผล

      ต่อมา ในวันที่พระบิดาสดับเทศนาจนได้บรรลุโสดาปัตติผล ส่วนเจ้าหญิงอุรัจฉทา ได้บรรลุอรหัตผล จึงผนวชแล้วนิพพาน

      ๕ ต่อมา พระราชธิดาองค์ใหญ่ ได้มาเกิดเป็นพระพุทธมารดา มีพระนามว่า “มหามายาเทวี” ตามความปรารถนา พระธิดาองค์เล็ก ได้บรรลุพระอรหัตไปก่อน ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า  

      นอกจากเจ้าหญิงอุรัจฉทาแล้ว พระเจ้ากิกีราช ยังมีพระธิดาอีก ๗ องค์ คือ เจ้าหญิงสมณี  เจ้าหญิงสมณคุตตา เจ้าหญิงภิกษุณี เจ้าหญิงภิกขุทาสิกา เจ้าหญิงธรรมา เจ้าหญิงสุธรรมา และ เจ้าหญิงสังฆทาสี

      เจ้าหญิงสุธรรมา ได้บําเพ็ญบุญโดยประการต่าง ๆ และด้วยอานิสงส์แห่งการบูชาพระวิปัสสีพุทธเจ้า ด้วยจุณจันทน์ ในอดีตชาติ ครั้นสิ้นชีวิต จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  เป็นอัครมเหสีของท้าวสักกเทวราช มีนามว่า “ผุสดีเทพธิดา”  

      ต่อมา ท้าวสักกเทวราช ทราบว่า ผุสดีเทพธิดา จะสิ้นอายุ เพราะปรากฏบุรพนิมิต ที่เป็นเหตุ ให้รู้ว่า เทวดาจะสิ้นอายุ คือ ดอกไม้ที่ประดับเหี่ยวแห้ง พัสตราภรณ์ที่สวมใส่เศร้าหมอง เหงื่อไหลออกจากรักแร้ ผิวพรรณเศร้าหมอง และหมดความยินดีในทิพยสมบัติของตน จึงนําไปยังอุทยานนันทวัน  บอกให้ทราบว่า ถึงเวลาต้องไปเกิดเป็นมนุษย์

      นางผุสดีเทพธิดา แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจ ท้าวสักกะ จึงตรัสปลอบว่า “บาปกรรม  เธอไม่ได้ทําไว้เลย ทั้งไม่ใช่ว่า เราไม่รักเธอ แต่เป็นเพราะ เธอหมดบุญแล้ว ความตายใกล้เธอเข้ามา ทุกขณะ อย่าได้เศร้าโศกเสียใจ เธอจะต้องพลัดพรากจากไป เราจะให้พร ๑๐ ประการ”  ผุสดีเทพกัญญา รู้ว่า ต้องจุติแน่แล้ว จึงทูลขอพร ๑๐ ประการ ดังนี้

๑. ขอให้มีนัยน์ตา ดําสนิท ดุจตาลูกเนื้อทราย

๒. ขอให้มีพระโขนง ดําสนิท ดุจสร้อยคอนกยูง

๓. ขอให้เกิดในพระราชนิเวศน์ มีนามว่า “ผุสดี”  

๔. ขอให้พระนาง ได้พระโอรสผู้ทรงเกียรติ กว่ากษัตริย์ทั้งปวง และให้เป็นผู้มีพระราชศรัทธาในการกุศล

๕. ขออย่าให้มีพระครรภ์นูน อย่างสตรีทั่วไป  

        ๖ ในยุคพระพุทธเจ้าของเรา พระราชธิดาทั้ง ๗ ของพระเจ้ากิกีราช ได้มาเกิดเป็นบุคคลเหล่านี้ คือ ๑. นางเขมา  ๒. นางอุบลวรรณา ๓. นางปฏาจารา ๔. พระนางโคตมี ๕. นางธรรมทินนา ๖. พระนางมหามายา และ ๗. นางวิสาขามหาอุบาสิกา

๖. ขออย่าให้พระถันทั้งคู่ดํา ในเวลาทรงครรภ์ และในเวลาคลอดพระโอรส ก็อย่าให้หย่อนยาน

๗. ขออย่าให้มีพระเกศาหงอก ขอให้มีพระเกศาดําสนิท เหมือนปีกแมลงค่อมทอง ตลอดเวลา

๘. ขอให้มีพระฉวีวรรณละเอียด ดุจทองธรรมชาติ

๙. ขอให้มีอํานาจ ปล่อยนักโทษประหารได้  

๑๐. ขอให้ได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสีพีราช

      ท้าวสักกเทวราช ประทานพร ตามที่พระนางผุสดีขอ  

กำเนิดพระเวสสันดร  

      ผุสดีเทพกัญญา รับพร แล้วจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาเกิดเป็นธิดาพระเจ้ามัททราช  พระญาติทั้งหลาย ขนานพระนามว่า “ผุสดี” ตามนามเดิมนั้น ครั้นพระนางผุสดี ทรงเจริญวัย  มีพระชนม์ได้ ๑๖ ชันษา ก็มีพระสิริโฉมงดงามยิ่ง ตามที่ปรารถนาไว้  

      ต่อมา พระเจ้าสีพี ได้สละราชสมบัติ ให้พระราชโอรสปกครอง ทรงอภิเษกสมรสพระนางผุสดี กับสญชัยกุมาร และสถาปนาพระนางผุสดี ให้เป็นพระอัครมเหสีของสญชัยราชโอรส พระนางผุสดีได้เป็นที่รักของพระเจ้าสญชัยอย่างมาก

      ท้าวสักกเทวราช ทรงหวนระลึกถึงพระนาง ก็ทรงทราบว่า พระนางผุสดี ได้พร ๙ ประการ  ตามความปรารถนาแล้ว แต่ยังไม่ได้พระโอรสผู้ประเสริฐ อันเป็นพร อีกข้อหนึ่ง  

      ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะ ทรงทราบว่า อายุพระโพธิสัตว์หมดแล้ว จึงไปเชิญ ให้ไปเกิดในโลกมนุษย์ เป็นพระโอรสพระนางผุสดี อัครมเหสีของพระเจ้าสีพีราช  กรุงเชตุดร พร้อมทั้งเหล่าเทพบุตร หกหมื่นองค์  

      พระโพธิสัตว์ จุติจากเทวโลก ไปเกิดในพระครรภ์พระนางผุสดี เทพบุตรหกหมื่น ก็บังเกิดเป็นลูกอํามาตย์หกหมื่นตระกูล เช่นกัน  

      ขณะพระนางผุสดี ทรงครรภ์ ทรงแพ้พระครรภ์ ประสงค์จะให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ  ที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ที่ท่ามกลางพระนคร ๑ ที่ประตูพระราชวัง ๑ ทรงสละพระราชทรัพย์หกแสนกหาปณะ บริจาคทาน ทุกวัน  

      พระเจ้าสญชัย จึงเรียกพราหมณ์ มาทํานายนิมิต ได้รับการทูลพยากรณ์ว่า “พระโอรสผู้ยินดียิ่งในทาน จะมาอุบัติในพระครรภ์พระราชเทวี”   

พระราชา ทรงยินดียิ่ง จึงโปรดให้สร้างโรงทาน เริ่มบริจาคทาน ตั้งแต่เวลาที่พระโพธิสัตว์ยังอยู่ในพระครรภ์ ส่วนการเก็บภาษีอากรเข้าพระคลังหลวง ก็เพิ่มขึ้นเหลือประมาณ ด้วยบุญญาธิการแห่งพระโพธิสัตว์  

      พระราชาในชมพูทวีปทั้งหมด ต่างส่งบรรณาการ ไปถวายพระเจ้าสญชัย ครั้นครบ ๑๐ เดือนบริบูรณ์ พระนางผุสดี ประสงค์จะทอดพระเนตรพระนคร พระเจ้าสญชัย จึงให้ตกแต่งพระนครให้พระราชเทวีทรงรถพระที่นั่ง ทําประทักษิณพระนคร  

      เมื่อพระนาง เสด็จถึงถนนย่านพ่อค้า เกิดปวดครรภ์ ทหารนําความกราบบังคมทูลพระราชา พระเจ้าสญชัยรับสั่งให้ทําพลับพลาสําหรับประสูติ ท่ามกลางถนนย่านพ่อค้า ให้ตั้งกองรักษาการ  พระนางเจ้าผุสดี ประสูติพระโอรส ที่ถนนย่านพ่อค้านั้น

      พระโพธิสัตว์ ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา เป็นผู้บริสุทธิ์ ลืมตาทั้งสองขึ้น เหยียดพระหัตถ์ต่อพระมารดา ตรัสว่า “แม่จ๋า หม่อมฉัน จะบริจาคทาน แม่มีทรัพย์อะไรอยู่บ้าง พระชนนี ตรัสตอบว่า “ลูกจงบริจาคทาน ตามอัธยาศัยเถิด” แล้ววางถุงเงินพันกหาปณะ ในมือน้อย ๆ ที่แบขออยู่

พระประยูรญาติ ได้ถวายพระนามว่า “เวสสันดร” เพราะพระองค์ประสูติในระหว่างถนนย่านพ่อค้า  

      ในวันที่พระเวสสันดรประสูติ มีนางช้างพังตระกูลฉัททันต์เชือกหนึ่ง ได้นําลูกช้างต้องตามคชลักษณ์อันเป็นมงคล มาไว้ที่โรงช้างต้น ส่วนตนเอง กลับสู่ป่าตามเดิม ลูกช้างนั้นเป็นช้างเผือก ขาวบริสุทธิ์ ประชาชนต่างชื่นชมในพระบารมี และให้ชื่อว่า “ปัจจยนาเคนทร์” เพราะช้างนั้น เกิดขึ้นโดยมีพระกุมารเป็นปัจจัย  

      พระราชา ได้ประทานนางนม แก่พระราชกุมาร และเด็กหกหมื่นคน ผู้เป็นสหชาติพระราชกุมาร ทรงเจริญวัย โดยมีเด็กหกหมื่นคน เป็นบริวาร

บริจาคเครื่องประดับ

      พระเวสสันดรกุมาร ทรงมีน้ำพระทัยเปี่ยมไปด้วยเมตตา บริจาคทานอยู่เป็นประจํา  เมื่อมีพระชนมายุได้ ๕ ชันษา พระราชบิดาให้ช่างทําเครื่องประดับพระราชทานแด่พระองค์ สิ้นค่าใช้จ่ายถึงแสนกหาปณะ พระราชกุมารเปลื้องเครื่องประดับนั้น ประทานแก่เหล่านางนม  แม้นางนมนั้น จะถวายคืน ก็ไม่ทรงรับ พวกนางนม กราบทูลให้พระราชาทรงทราบ พระราชาทรงเห็นว่า อาภรณ์ที่ลูกให้ทานแล้ว เป็นสิ่งที่ดี จึงให้ช่างทําเครื่องประดับพระราชทานอีก พระราชกุมารได้ประทานเครื่องประดับ ที่พระราชบิดาประทาน ให้เหล่านางนม ถึง ๙ ครั้ง   

      ๗ พระโพธิสัตว์ พอประสูติแล้ว ได้ตรัสกับพระมารดา ๓ ชาติ ดังนี้

             ๑. เมื่อเสวยพระชาติ เป็นพระมโหสถบัณฑิต ในอุมมังคชาดก

             ๒. เมื่อเสวยพระชาติ เป็นพระเวสสันดร ในเวสสันดรชาดก

             ๓. เมื่อเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ในชาติสุดท้าย และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ขณะมีพระชนมายุได้ ๘ ชันษา พระราชกุมาร เสด็จสู่ปราสาท ทรงดําริว่า “เราให้ทานด้วยของนอกกาย อย่างเดียว หาทําให้เรายินดีไม่ เราต้องการให้ทานภายใน ถ้าใครขอหทัย เราก็จะผ่าอก เอาหทัยให้ ถ้าใครขอดวงตา เราก็จะควักดวงตาทั้งสองข้างให้ ถ้าใครขอเนื้อในกาย เราก็จะเชือดเนื้อให้ ถ้าใครขอเลือด เราก็จะกรีดเลือดให้ หรือแม้ถ้าใคร ต้องการให้เราเป็นทาส เราก็ยินดียอมตัวเป็นทาสเขาผู้นั้น”  

      เมื่อพระเวสสันดร ทรงคํานึงถึงการให้ทานภายในเช่นนี้ แผ่นดินก็หวั่นไหว ขุนเขาก็สั่นคลอน  ท้องฟ้าก็คะนองลั่นตามเสียงปฐพี ฝนลูกเห็บก็ตก สายอสนี แม้มิใช่กาล ก็เปล่งแสงแวบวาบ สาครเกิดคลื่นป่วนปั่น ท้าวสักกเทวราช ก็ประนมพระหัตถ์ ท้าวมหาพรหม ก็ให้สาธุการ เกิดเสียงกึกก้องโกลาหล ขึ้นไปจนถึงพรหมโลก  

บริจาคช้างปัจจยนาเคนทร์

      ขณะพระโพธิสัตว์ มีพระชนมายุได้ ๑๖ ชันษา พระองค์ก็ได้สําเร็จการศึกษาศิลปะทุกศาสตร์

      พระราชบิดา ทรงประสงค์จะประทานราชสมบัติ ให้พระเวสสันดรปกครอง และตรัสขอพระนาง “มัทรี” พระราชธิดากษัตริย์ราชวงศ์แห่งมัททราช มาอภิเษกให้เป็นอัครมเหสี  ครั้นพระเวสสันดร ได้รับอภิเษกให้ครองราชสมบัติแล้ว ก็ให้ตั้งโรงทานบริจาคพระราชทรัพย์หกแสนกหาปณะ ทุกวัน   

      ๘  ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ที่พระเวสสันดรศึกษาสําเร็จ ได้แก่ ๑. สูติ วิชาความรู้ทั่วไป ๒. สัมมติ วิชาความรู้เกี่ยวกับ  กฎ ระเบียบ ธรรมเนียม ประเพณี ๓. สังขยา วิชาคณิตศาสตร์ ๔. โยคะ วิชาการใช้เครื่องยนต์ ๕. นิติศาสตร์ วิชาความรู้เกี่ยวกับ กฎหมาย ๖. วิเสสกา วิชาโหราศาสตร์ ๗. คันธัพพา วิชานาฏดุริยางคศิลป์ ๘. คณิกา วิชาพลศึกษา ๙. ธนุพเพทา วิชาการใช้อาวุธ  ๑๐. ปุราณา วิชาประวัติศาสตร์ ๑๑. ติกิจฉา วิชาการแพทย์ ๑๒. อิติหาสา วิชาวรรณคดี ๑๓. โชติ วิชาดาราศาสตร์ ๑๔. มายา วิชาพิชัยสงคราม ๑๕. ฉันทติ วิชาจินตกวี ๑๖. เกตุ วิชาการทูต ๑๗. มันตา วิชาเวทมนตร์ ๑๘. สัททา วิชาภาษาศาสตร์

      ต่อมา พระนางมัทรี ประสูติพระโอรส ๑ องค์ ประทานนาม ว่า “ชาลีราชกุมาร” เพราะขณะประสูติ พระญาติทั้งหลาย ได้รองรับด้วยข่ายทองคำ เมื่อพระราชกุมาร ทรงเดินได้ พระนางมัทรี ก็ประสูติพระราชธิดาอีก ๑ องค์ ประทานนามว่า “กัณหาชินาราชกุมารี” เพราะขณะประสูติ  พระญาติทั้งหลาย ได้รองรับด้วยหนังหมี  

พระเวสสันดรโพธิสัตว์ ประทับคอช้างปัจจยนาเคนทร์ เสด็จไปทอดพระเนตรโรงทานทั้ง ๖ แห่ง  เดือนละ ๖ ครั้ง

      ช้างปัจจยนาเคนทร์ เป็นช้างมงคล อุดมด้วยลักษณะแห่งคชาธารของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ไม่ว่าช้างมงคลนี้จะไปที่ไหน แม้จะมีความแห้งแล้ง เพียงใด ฝนก็จะตกลงมา ทําให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์  

      ครั้งนั้น แคว้นกาลิงครัฐ ได้เกิดฝนแล้ง ประชาชนปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่ได้ ผู้คนอดอยาก ล้มตายเป็นจํานวนมาก เกิดโจรผู้ร้าย ออกเที่ยวปล้นสะดมชาวบ้าน ประชาชนประสบความเดือดร้อน ทุกหย่อมหญ้า จึงชุมนุมกัน ที่ท้องสนามหลวง วิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  

      พระเจ้ากาลิงคราช มหากษัตริย์แห่งแคว้นกาลิงครัฐ ทรงคิดหาวิธีการที่จะทำให้ฝนตก  จึงสมาทานรักษาอุโบสถศีล ตลอด ๗ วัน แม้เช่นนั้น ก็ไม่สามารถทําให้ฝนตก พระองค์จึงให้ประชุมชาวเมือง รับสั่งว่า “เราได้สมาทานศีล รักษาอุโบสถศีล ตลอด ๗ วัน ฝนก็ยังไม่ตก ควรจะทําอย่างไร”  

      ชาวเมือง กราบทูลว่า “ถ้าพระองค์ ไม่สามารถทําให้ฝนตก พระราชโอรสของพระเจ้าสญชัย ในกรุงเชตุดร พระนามว่า เวสสันดร ทรงยินดีการให้ทาน พระองค์มีช้างเผือกต้องตามคชลักษณ์  แห่งช้างมงคล ไปที่ไหน ฝนก็ตกที่นั่น ขอพระองค์ส่งพราหมณ์ไปทูลขอช้างเชือกนั้นมา”  

      พระราชา ทรงเลือกพราหมณ์ ๘ คน คือ รามพราหมณ์ ธชพราหมณ์ ลักขณพราหมณ์  สุชาติมันตพราหมณ์ ยัญญพราหมณ์ สุชาตพราหมณ์ สุยามพราหมณ์ และโกณฑัญญพราหมณ์  โดยให้รามพราหมณ์ เป็นหัวหน้า ส่งไปทูลขอช้างปัจจยนาเคนทร์ จากพระเวสสันดร  

      พวกพราหมณ์ เดินทางไปจนถึงนครเชตุดร บริโภคอาหารในโรงทานแล้ว ทําเนื้อตัวให้มอมแมม เปื้อนฝุ่นธุลี ตกลงกันว่า รอให้ถึงวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ จึงค่อยขอ เมื่อพระเวสสันดร เสด็จตรวจโรงทาน ในวันต่อมา จึงพากันไปประตูเมืองด้านทิศตะวันออก  

      วันนั้น พระเวสสันดร ประทับบนคอคชาธาร เสด็จออกไปทางประตูพระนครทิศตะวันออก  พวกพราหมณ์ ไม่มีโอกาสทูลขอช้างที่นั่น จึงตามไปประตูเมืองด้านทิศใต้ ยืนอยู่ในที่สูง โล่งแจ้ง แบมือ  ข้างขวาออก ขอว่า “ข้าแต่พระเวสสันดร ขอพระองค์ จงทรงพระเจริญ ขอพระองค์ จงประสบแต่ชัยชนะ ”  

      พระเวสสันดร ทอดพระเนตรเห็นพวกพราหมณ์ ก็บ่ายช้างพระที่นั่ง ตรงเข้าไปหาพวกพราหมณ์  ประทับบนคอช้าง ตรัสถามว่า “พราหมณ์ เนื้อตัวมอมแมมไปด้วยฝุ่นธุลี พวกท่านแบมือจะขออะไร จากเราหรือ”  

      พราหมณ์ทั้ง ๘ คน กราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์โปรดพระราชทานช้างมงคล  ที่ทำให้แคว้นสีพี เจริญรุ่งเรือง ซึ่งเป็นพระราชพาหนะ ที่พระองค์ประทับ แก่พวกข้าพระองค์”   

      พระเวสสันดร ทรงดําริว่า เราต้องการบริจาคทานภายในมีอวัยวะ ร่างกาย เป็นต้น แต่พราหมณ์พวกนี้ มาขอทานภายนอกจากเรา แม้เช่นนั้น เราก็ควรทําความปรารถนาของพวกเขาให้บริบูรณ์ ประทับอยู่บนคอช้างนั่นเอง ตรัสว่า “เราไม่ได้หวั่นไหว จะให้ช้างพลายตัวประเสริฐ เป็นช้างราชพาหนะสูงสุด  ตามที่พวกท่านขอ”

      พระเวสสันดร น้อมไปในการบริจาคทาน เสด็จลงจากคอช้างปัจจยนาเคนทร์ พระราชทานแก่พราหมณ์ทั้งหลาย  

      ทรงทําประทักษิณช้าง ๓ รอบ ตรวจดูตัวช้างว่า มีส่วนไหนที่ยังไม่ได้ประดับบ้าง ก็ไม่เห็นมี  จึงจับพระเต้าทองคําเต็มด้วยน้ำหอมเจือดอกไม้ ตรัสเรียกพวกพราหมณ์ให้เข้ามาหาพระองค์ ทรงวางงวงช้างที่ประดับประดาอย่างงดงาม ในมือพราหมณ์เหล่านั้น ทรงหลั่งน้ำจากพระเต้าทองคําลง  พระราชทานช้าง

ช้างนั้น ประดับด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ รวมเป็นกหาปณะถึง ๒๔ แสนกหาปณะ นอกจากนั้น พระองค์ ยังได้พระราชทานควาญช้าง และคนเลี้ยงช้าง ๕๐๐ สกุล ให้ด้วย  

      เมื่อพระเวสสันดร หลั่งน้ำบริจาคทานเท่านั้น ก็เกิดแผ่นดินไหว สะเทือนเลื่อนลั่น กึกก้องไปทั่ว เกิดขนพองสยองเกล้า น่าสะพรึงกลัว เป็นที่น่าอัศจรรย์ ด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคทาน ของพระเวสสันดร

      พวกพราหมณ์ได้ช้างทางประตูพระนครด้านทิศใต้ จึงขึ้นช้างผ่านไปตามถนนหลวงกลางพระนคร ท่ามกลางประชาชนแวดล้อมตามไป ร้องถามว่า “พวกท่านขี่ช้างของพวกเรา  ท่านได้มาจากไหน” พวกพราหมณ์แสดงมือ โต้ตอบฝูงชนว่า “ช้างนี้ พระเวสสันดรพระราชทานให้พวกเรา” พลางขี่ไปตามถนนหลวงท่ามกลางพระนคร แล้วออกทางประตูทิศเหนือ

ถูกเนรเทศ

      ชาวพระนคร โกรธแค้นพระเวสสันดร จึงชุมนุมกันประท้วงการบริจาคช้างปัจจยนาเคนทร์  ช้างสําคัญของบ้านเมือง อย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นจลาจลขึ้นทั่วพระนคร  

      พวกเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง แพทย์ ชาวนา พราหมณ์ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และ  กองพลราบ ตลอดจนชาวแคว้นสีพีทั้งหมด มาประชุมกัน กราบทูลพระเจ้าสญชัยว่า “บ้านเมืองกําลังจะล่มจม เพราะถูกพระเวสสันดรล้างผลาญ เหตุไร พระเวสสันดร พระโอรสของพระองค์จึงพระราชทานช้างสําคัญของบ้านเมือง พระเวสสันดรจะพระราชทานข้าว น้ำ ทรัพย์สมบัติ  ก็พระราชทานไป พวกเรา ไม่ว่าอะไร แต่ทําไม พระเวสสันดรจึงพระราชทานช้างสําคัญ   ถ้าพระองค์ ไม่ทรงทําตามประชาชน เห็นทีจะเกิดปัญหาใหญ่แน่”  

      พระเจ้าสญชัย ทรงเข้าพระทัยว่า ชาวเมืองจะปลงพระชนม์พระเวสสันดร จึงตรัสว่า “ลูกเรา ไม่มีความผิด ถึงบ้านเมืองจะล่มสลาย แว่นแคว้นจะพินาศไปก็ตาม เราจะไม่ยอมฆ่าลูกของเรา เป็นเด็ดขาด”  

      ชาวเมืองสีพี กราบทูลว่า “พวกเราไม่ได้ให้พระองค์ปลงพระชนม์พระเวสสันดร แต่พระองค์ต้องเนรเทศพระเวสสันดร ออกจากแคว้น ไปอยู่เขาวงกต”  

      พระเจ้าสญชัย ตรัสว่า “ถ้าชาวสีพี ต้องการเช่นนั้น เราก็ไม่ขัดข้อง แต่ขอให้ลูกของเราได้อยู่ตลอดราตรีนี้ ครั้นสว่างแล้ว ชาวสีพีจะขับไล่ลูกเรา ก็ตามใจ”  

      ชาวเมือง ต่างพอใจตามนั้น เมื่อชาวเมืองกลับไปแล้ว พระเจ้าสญชัย ตรัสเรียกอำมาตย์ไปส่งข่าวให้พระโอรสทราบ อำมาตย์ไปเห็นพระเวสสันดร เบิกบานอยู่ท่ามกลางข้าราชบริพารก็อดสงสารไม่ได้ จึงร้องไห้ หมอบลงที่พระบาท กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทราบ  

      พระเวสสันดร ตรัสว่า “ทําไมชาวสีพี จึงโกรธเรา จนถึงเนรเทศออกจากเมือง” อำมาตย์ กราบทูลให้ทราบว่า “เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง แพทย์ ชาวนา พราหมณ์ กองพลช้าง กองพลม้า   กองพลรถ และกองพลราบ ต่างติเตียนพระองค์ ที่พระราชทานคชาธารที่สําคัญของบ้านเมือง  พวกเขา จึงจะขับไล่พระองค์”  

      พระเวสสันดร ยังทรงมีพระทัยแช่มชื่นเป็นปกติดีตรัสว่า “เราจะให้ดวงหทัย ดวงตา เงิน ทอง แก้วมุกดา หรือแก้วไพฑูรย์  ซึ่งเป็นทรัพย์ภายนอกของเรา ก็จะเป็นไรไป เมื่อยาจกมาขอ   แม้แขน เราก็ให้ได้ เราไม่หวั่นไหว เพราะใจของเรา ยินดีในการบริจาค ชาวสีพี จะเนรเทศ  จะฆ่าเรา หรือจะตัดเราออกเป็นท่อน ๆ ก็ตาม เราจะไม่หยุดการบริจาค”   

      เมื่ออำมาตย์ฟังดังนั้น ได้กราบทูลข้อความอย่างอื่นไปตามความคิดเห็นของตน ซึ่งเป็นข้อความที่พระเจ้าสญชัย  หรือชาวเมืองไม่ได้บอกให้ทูลว่า “ชาวสีพีประชุมกัน มีมติว่า พระเวสสันดร ต้องเสด็จไปตามทาง  ที่พระราชาผู้ถูกเนรเทศเสด็จไป ผ่านภูผาที่ชื่อว่า “อารัญชรคีรี” ไปตามฝั่งแม่น้ำ “โกนติมารา”  แล้วประทับอยู่ ที่เขาวงกต”  

      เส้นทางที่อำมาตย์คนนั้นกราบทูล เป็นเส้นทาง สําหรับพระราชาผู้ต้องโทษถูกเนรเทศ เสด็จไป  แม้เช่นนั้น พระเวสสันดร ก็ตรัสอย่างไม่สะทกสะท้านว่า “เราจะไปตามทางที่พระราชาผู้ต้องโทษ เสด็จไป ชาวเมืองไม่ได้ขับไล่เราด้วยโทษอื่น แต่ขับไล่เพราะเราให้ช้างเป็นทาน เราขอผลัดไป ๒ วัน เราจะบริจาคสัตตสดกมหาทานก่อน ขอชาวเมืองให้โอกาสเรา ได้ให้ทานสักหนึ่งวัน รุ่งขึ้น  เราให้ทานแล้ว จะไป”

ดินแดนหิมพานต์

      เมื่ออำมาตย์กลับไปแล้ว พระองค์รับสั่งให้มหาเสนาคุตต์ จัดเตรียมสัตตสดกมหาทานให้พร้อม    ทุกอย่าง แม้สุรา ซึ่งเป็นสิ่งไม่ควรให้ทาน ก็รับสั่งให้จัดเตรียม จากนั้น พระองค์เสด็จไปที่ประทับพระนางมัทรี เพียงลำพังพระองค์เดียว ประทับนั่งข้าง ๆ ตรัสกับพระนางอย่างอ่อนโยนว่า “ทรัพย์   สิ่งใดที่เราให้เธอ ทรัพย์สิ่งใด เป็นของใช้ส่วนตัว และทรัพย์สิ่งใด ที่เธอนําติดตัวมาจากพระชนก  เธอจงเก็บสิ่งนั้นไว้ทั้งหมด”  

      พระนางมัทรี นึกฉงนว่า เมื่อก่อนพระสวามี ไม่เคยบอกให้เก็บข้าวของ แต่เหตุใด วันนี้จึงบอกให้เก็บ จึงทูลถามว่า “เจ้าพี่ จะโปรดให้เก็บทรัพย์ไว้ที่ไหน ขอพระองค์รับสั่งหม่อมฉันด้วย”

      พระเวสสันดร ตรัสว่า “มัทรี เธอควรบริจาคทาน ให้ท่านผู้มีศีล ตามสมควร สัตว์ทั้งปวงไม่มีที่พึ่งอื่น ที่จะดียิ่งไปกว่าการบริจาคทาน”  

เมื่อพระนางมัทรี รับทราบแล้ว จึงตรัสสอนเพิ่มขึ้นไปอีกว่า “เธอจงเอ็นดูลูกทั้งสองของเรา  และจงดูแลพ่อแม่ฉัน ต่อไป เธอจะไม่ได้อยู่กับฉัน ถ้ากษัตริย์พระองค์ใดมาสู่ขอ เธอจงตกลงปลงใจ ไปอยู่กับกษัตริย์พระองค์นั้น เธอจงหาสามีอื่น จะได้ไม่ลําบาก”  

      ๙ สัตตสดกมหาทาน คือ การให้ทานครั้งยิ่งใหญ่ โดยกําหนดสิ่งของ หมวดละ ๗๐๐ อย่าง  ประกอบด้วย ๑. ช้าง ๗๐๐ เชือก ๒. ม้า ๗๐๐ ตัว ๓. รถ ๗๐๐ คัน ๔. สตรี ๗๐๐ คน ๕. โคนม ๗๐๐ ตัว ๖. ทาสชาย ๗๐๐ คน  ๗. ทาสหญิง ๗๐๐ คน นอกจากนั้น ยังมีเครื่องอาภรณ์ต่าง ๆ อย่างละ ๗๐๐ แม้สุรา ซึ่งเป็นของไม่ควรให้ทาน ก็ได้ประทานแก่นักเลงสุราด้วย  

พระนางมัทรี ดำริว่า ทำไม พระเวสสันดรตรัสได้ถึงขนาดนี้ จึงทูลถามว่า “เหตุไร พระองค์จึงตรัสไม่เป็นมงคล เช่นนี้”   

      พระเวสสันดร ตรัสตอบว่า “มัทรี ชาวสีพี โกรธเคืองที่พี่บริจาคช้าง จึงขับไล่จากแว่นแคว้น  พรุ่งนี้ พี่จะให้ทานครั้งใหญ่ แล้วจะออกจากพระนคร ในวันที่ ๓ พี่ต้องไปอยู่ป่าที่อันตราย  เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายมากมาย เมื่ออยู่ป่าคนเดียว อาจจะไม่รอดชีวิตก็ได้”

      พระนางมัทรี กราบทูลว่า “พระองค์อย่าตรัสเช่นนี้ ไม่ดีเลย พระองค์ไม่สมควรเสด็จพระองค์เดียว แม้หม่อมฉัน ก็จะโดยเสด็จด้วย ให้ตายร่วมกับพระองค์ ยังจะดีกว่าที่จะพรากจากพระองค์ ให้เผาตัวเองตายเสีย ยังจะดีกว่าอยู่โดยไม่มีพระองค์ นางช้างพัง ตามช้างพลายไปอยู่ป่า เที่ยวไปตามภูผาทางกันดาร สถานที่ขรุขระ ฉันใด แม้หม่อนฉัน จะพาลูกทั้งสอง ตามเสด็จไปข้างหลัง ฉันนั้น หม่อมฉันและลูก จะเป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่ทําให้พระองค์เป็นภาระ”  

      ครั้นพระนางมัทรีกราบทูลพระสวามีอย่างนี้แล้ว จึงพรรณนาถึงป่าหิมพานต์ที่งดงามอย่างละเอียด ประหนึ่งว่า เคยเห็นด้วยตัวเองมาก่อนว่า  

“เมื่อลูกไปด้วย พระองค์อยู่ป่า ได้ทอดพระเนตรเห็นลูกทั้งสอง พูดจาฉอเลาะ ไพเราะ น่ารัก น่าเอ็นดู เก็บดอกไม้ประดับตน นั่งเล่นอยู่ที่พุ่มไม้ในป่าบ้าง ที่อาศรมรมณียสถานบ้าง ก็จะทําให้พระองค์ เพลิดเพลิน ไม่เป็นทุกข์ เพราะทรงระลึกถึงราชสมบัติ   

      เมื่อพระองค์ ทอดพระเนตรเห็นช้างมาตังคะ เที่ยวอยู่ในป่าตัวเดียวก็ตาม เดินนําหน้าโขลง ช้างพัง ส่งเสียงร้องกึกก้องโกญจนาทไปก็ตาม ทอดพระเนตรป่าเขาลําเนาไพรระหว่าง ๒ ข้างทาง  เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงสัตว์นานาชนิด ทั้งเหล่ากินนรฟ้อนรําอยู่กลางป่า กึกก้องไปด้วยเสียงกระแสน้ำตกกระทบโขดหิน ไหลรินไม่ขาดสาย เสียงร้องของนกเค้า ที่เที่ยวอยู่ตามซอกเขา เสียงสัตว์ร้าย  ในป่า ทั้งราชสีห์ เสือโคร่ง แรด โค และฝูงนกยูง จับอยู่ที่ยอดเขา เกลื่อนกล่นไปด้วยนางนกยูง  กําลังรําแพน มีแพนหางวิจิตร ขับร้องอยู่ในเวลาเย็น เต็มไปด้วยมวลดอกไม้นานาพรรณ เบ่งบาน  ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง ที่พื้นดินก็เขียวชอุ่ม ปกคลุมไปด้วยแมลงค่อมทอง ทั้งอัญชันเขียวสด กําลังแตกยอดอ่อน บัวบกออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง และปทุมชาติมีดอก ร่วงหล่นในเดือนฤดูเหมันต์ เมื่อนั้น พระองค์ก็จะไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ”  

      พระนางมัทรี ทรงพรรณนาถึงหิมวันตประเทศ ตามจินตนาการของพระองค์ เหมือนพระองค์ เคยเสด็จประทับอยู่ที่ป่าหิมพานต์มาก่อน๑๐

บริจาคมหาทานราชทรัพย์

      พระนางผุสดี ทรงเป็นทุกข์ใจว่า ลูกรู้ข่าวแล้วหรือยัง เมื่อลูกรู้แล้ว จะทําอย่างไร จึงแอบเสด็จไปพบพระโอรส ด้วยวอที่สวยงาม มีม่านปกปิด ประทับยืนที่หน้าประตูห้องบรรทมพระเวสสันดร  ได้ยินเสียงสนทนากัน ระหว่างพระเวสสันดรกับพระนางมัทรี ก็พลอยกรรแสงคร่ำครวญอย่างน่าเวทนา ว่า เรากินยาพิษ โดดเหว หรือเอาเชือกผูกคอตาย ยังจะดีเสียกว่า ที่จะให้ชาวเมืองขับไล่ลูกผู้ไม่มีความผิด ทําไมชาวนครสีพี จึงขับไล่ลูกเรา ผู้ไม่ทําร้ายใคร เป็นคนฉลาด มีแต่การให้ทาน  ไม่ตระหนี่ พระราชาต่าง ๆ ก็ยกย่องสรรเสริญ  

      ๑๐ พระเวสสันดร และพระนางมัทรี เคยเกิดเป็นสัตว์ป่าหิมพานต์หลายชาติ พระนางมัทรี จึงพรรณนาป่าหิมพานต์จากความทรงจําแห่งอดีตชาติได้ เหมือนอย่างตาเห็น

      พระนางผุสดี เข้าไปหาพระโอรส ทรงคร่ำครวญ อย่างน่าสงสาร ปลอบพระโอรสและพระนางมัทรี ให้อุ่นใจ แล้วเสด็จกลับไปกราบทูลพระเจ้าสญชัยว่า “ชาวเมือง ให้ขับไล่ลูกผู้ไม่มีความผิด ออกจากแคว้น ต่อไป บ้านเมืองจะเป็นเหมือนรังผึ้งร้าง ที่ผึ้งหนีจากไป   พระเจ้าแผ่นดิน ที่ถูกอำมาตย์ทอดทิ้ง จะต้องอยู่ลําบากตามลำพัง เหมือนหงส์ไร้ขนปีก จับเจ่าอยู่ ในเปือกตมแห้ง ขอพระองค์ อย่าทรงขับไล่ลูก ตามคําของชาวสีพีเลย”

      พระเจ้าสญชัย ตรัสว่า “น้องผุสดี เมื่อเราขับไล่ลูกที่รัก ผู้เป็นดุจธงชัยของชาวสีพี ก็ทําตามขัตติยราชประเพณีธรรม ของแคว้นสีพีแต่โบราณ ถึงลูกจะเป็นที่รักกว่าชีวิต เราก็ทำไป ด้วยความจำเป็น”  

      พระนางผุสดี ทรงครวญคร่ำรําพัน โดยประการต่าง ๆ ว่า “เมื่อก่อน มียอดธงปลิวสะบัด  ติดตามลูกเวสสันดร ที่เสด็จโดยช้าง โดยวอ โดยราชรถ ทั้งมีกองทหารแต่งเครื่องแบบงดงาม ทอแสงวาววับติดตามมา เหมือนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง แต่วันนี้ ลูกจะเดินเท้าเปล่าไปตามทาง  ได้อย่างไร แม้มัทรี ที่ตามไป จะอยู่อย่างไร เมื่อก่อน แค่ได้ยินเสียงสุนัขเห่าหอน ก็สะดุ้ง เมื่อได้ยิน เสียงนกเค้าแมว นกฮูก ครวญคราง จะหวาดกลัวตัวสั่นแค่ไหน”  

นางฝ่ายใน ได้ยินพระนางผุสดีคร่ำครวญ ก็พากันร้องไห้ตามกัน เหล่าชนชาววังพระเวสสันดร  ได้ยินสตรีในวังหลวงพระเจ้าสญชัยคร่ำครวญ ก็คร่ำครวญไปตามกัน ในราชสกุลทั้งสอง ไม่มีใคร สามารถดํารงอยู่ตามภาวะของตนได้ ต่างล้มลง เกลือกกลิ้งไปมา คร่ำครวญ  

ราตรีนั้น ผ่านไปอย่างเงียบเหงา วังทั้งวัง ดูวังเวง เหมือนป่าช้า ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ จัดเตรียมทานเสร็จ ได้กราบทูลให้พระเวสสันดรทราบ  

      พระเวสสันดร ทรงสรงสนานแต่เช้า ประดับพระองค์เสร็จแล้ว เสวยพระกระยาหาร แวดล้อม ไปด้วยฝูงชน เสด็จเข้าสู่โรงทาน เพื่อบริจาคสัตตสดกมหาทาน ทั้งช้าง ม้า รถ ขัตติยกัญญา ทาส ทาสี  และ โคนม อย่างละ ๗๐๐ ตลอดจนสิ่งของอื่น ๆ อีกมากมาย

      เมื่อพระโพธิสัตว์ ทรงบริจาคทานอยู่อย่างนี้ ชาวพระนครที่มารับทาน ต่างร้องไห้รําพันว่า  “ข้าแต่พระเวสสันดร ชาวพระนครสีพี ขับไล่พระองค์ เพราะทรงบริจาคทาน ขอให้พระองค์   บริจาคทานให้มากยิ่งขึ้นไปอีกเถิด” เสียงกึกก้องโกลาหลน่าหวาดเสียว ดังสะท้อนเข้าไปในพระนคร

ฝ่ายผู้รับทาน ต่างพากันรําพันว่า “พระเวสสันดร จะเสด็จเข้าป่า พวกเรา หมดที่พึ่งแล้ว  ตั้งแต่นี้ไป พวกเราจะบากหน้าไปพึ่งใครได้ เหมือนพระองค์” จึงพากันนอนกลิ้งเกลือกไปมา ร้องให้คร่ำครวญ  

      พวกเหล่าเทวดา แจ้งให้พระราชาทั่วชมพูทวีปทราบว่า พระเวสสันดรทรงบําเพ็ญมหาทาน  จึงนํากษัตริย์ทั้งหลาย มารับนางขัตติยกัญญาเหล่านั้นไป   

      พระเวสสันดร ทรงบริจาคทานอยู่จนถึงเวลาเย็น จึงเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ ไปถวายบังคมลาพระชนกพระชนนี เพื่อเดินทางในวันรุ่งขึ้น พระนางมัทรี คิดว่า แม้เรา ก็จะโดยเสด็จพระสวามีจะไปกราบลาเช่นกัน จึงเสด็จไปพร้อมกับพระเวสสันดร   

      พระเวสสันดร ถวายบังคมลาพระบิดา กราบทูลว่า “เสด็จพ่อ สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่เกิดมาแล้ว ล้วนต้องตายทั้งนั้น ขอพระองค์ จงเนรเทศลูก ไปเขาวงกตเถิด หม่อมฉันบริจาคทาน ในวังของตน กลับถูกหาว่า เบียดเบียนชาวเมืองของตน ทั้งถูกเนรเทศ จากเมืองของตน หม่อมฉันจะประสบทุกข์ในป่า ที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายมากมาย”  

      จากนั้น จึงถวายบังคมพระมารดา ขออนุญาตบรรพชาว่า “เสด็จแม่ ขอจงทรงอนุญาตให้ลูกบวช ลูกบริจาคทานในวังของตน ยังถูกหาว่า เบียดเบียนชาวเมืองของตน ลูกจะออกไปจากแคว้นของตน ตามความต้องการของชาวเมือง”

      พระนางผุสดี ตรัสว่า “ลูกแม่ แม่อนุญาต ลูกจงบวชเถิด แต่มัทรีกับหลาน ๆ ให้อยู่กับแม่  มัทรีกับหลานทั้งสองจะไปทำอะไรในป่า” พระเวสสันดร ตรัสว่า “ลูกไม่ต้องการให้ใครติดตามไปด้วย แม้แต่ทาสีคนเดียว ก็ไม่อยากให้ไป แต่ถ้ามัทรีต้องการตามลูกไป ก็ตามใจ ถ้าไม่ต้องการไป ก็อยู่เถิด ลูกจะไม่ห้าม”  

      พระเจ้าสญชัย ลุกขึ้น เสด็จเข้าไปหาลูกสะใภ้ วิงวอนว่า “มัทรี การอยู่ในป่าลำบาก ลูกอย่าไปเลย” พระนางมัทรีกราบทูลว่า “เสด็จพ่อ หม่อมฉันจะไม่มีความสุขเลย ถ้าต้องอยู่ โดยปราศจากพระเวสสันดร”   

      พระเจ้าสญชัย ตรัสว่า “มัทรี ลูกคิดดูให้ดี ลูกยังไม่รู้ว่า กลางป่ามีอันตรายมาก เมื่อเห็นฝูงลิง น่ากลัว ท่าทางพิลึก ลูกจะทําอย่างไร ในป่าแสนจะลําบาก มีทั้งตั๊กแตน บุ้ง เหลือบ ยุง แมลง ผึ้ง  นอกจากนั้น ยังมีงู แม้งูเหลือมไม่มีพิษ แต่มันก็มีกําลังมาก มันรัดคนหรือสัตว์ให้ตายได้ หมีเป็นสัตว์ที่อันตราย ทั้งน่ากลัว แม้จะขึ้นต้นไม้ ก็หนีไม่พ้น ฝูงกระบือป่า ปลายเขาแหลม ชอบขวิดชน  เที่ยวอยู่ราวป่า ริมฝั่งแม่น้ำโสตุมพระ ถ้าลูกมัทรีเห็นฝูงกระบือในป่า จะทําอย่างไร ลูกเคยอยู่แต่ในวัง เมื่อไปถึงเขาวงกต จะอยู่อย่างไร”  

      พระนางมัทรี กราบทูลพระเจ้าสญชัยว่า “เสด็จพ่อ หม่อมฉันรู้ว่า ป่าใหญ่ มีอันตรายมาก  แต่หม่อมฉัน จะสู้ทนภัยทั้งหมด จะดั้นด้น แหวกต้นเป้ง หญ้าคา หญ้าคมบาง หญ้าแฝก หญ้าปล้อง และหญ้ามุงกระต่ายไป จะโดยเสด็จพระสวามีไป ไม่ย่อท้อ คงไม่มีชายใด อยากอยู่ร่วมกับหญิงหม้าย ที่ผัวทิ้ง มีแต่เขาจะจิกผมหญิงหม้าย ทุบตีให้ได้รับความอับอายขายหน้า  

      หญิงหม้าย แม้เกิดในสกุลญาติที่ร่ำรวย ก็ยังถูกญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง ค่อนแคะว่า  หญิงไม่มีผัวนี้ ต้องเป็นภาระพวกเราตลอดชีวิต แม่น้ำไม่มีน้ำ ก็ไร้ประโยชน์ แว่นแคว้นไร้จอมราชัน ก็ล่มจม หญิงหม้าย แม้มีพี่น้องตั้ง ๑๐๐ ก็เหมือนตัวคนเดียว

      ธง เป็นเครื่องหมายแห่งราชรถ ควัน เป็นที่ปรากฏแห่งไฟ พระราชา เป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน สามี ก็เป็นสง่าราศรีขอสตรี ความเป็นหม้ายเป็นทุกข์ในโลก ถึงอย่างไร หม่อมฉัน จะต้องไป  

      เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย สรรเสริญสตรีผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์กับสามี เพราะเธอทํา สิ่งที่ทํา  ได้ยาก หม่อมฉัน จะนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด โดยเสด็จพระสวามีไปทุกหนทุกแห่ง ให้แผ่นดินล่มสลาย  ยังดีกว่าเป็นหม้าย อยู่คนเดียว หม่อมฉัน ไม่ปรารถนาแผ่นดินที่มีทรัพย์มากมาย จรดฝั่งมหาสาคร   แต่ต้องพลัดพรากจากพระสวามี หญิงที่ทิ้งสามียามทุกข์ยาก เป็นหญิงไม่ดีเลย”  

      พระเจ้าสญชัย ตรัสว่า “ลูกมัทรี ถ้าเช่นนั้น หลานชาลี กับหลานกัณหาชินา ทั้งสองยังเล็กนัก ให้อยู่กับพ่อแม่เถิด พ่อแม่จะเลี้ยงดูเอง”  

      พระนางมัทรี กราบทูลว่า “ชาลีและกัณหาชินา จะทําให้ชีวิตที่เศร้าโศกของหม่อมฉันทั้งสอง รื่นรมย์อยู่กลางป่าแสนไกลไร้ผู้คน”  

      พระเจ้าสญชัย ตรัสว่า “หลานทั้งสอง เคยสุขสบาย ไปอยู่กลางป่าเช่นนั้น จะทําอย่างไร”  

      เมื่อกษัตริย์ เจรจากันอยู่อย่างนี้ ราตรีก็สว่าง เจ้าพนักงานนํารถเทียมม้าสินธพมาเทียบไว้ที่ประตูวัง รอรับพระเวสสันดร

      พระนางมัทรี ถวายบังคมกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ บอกลาสตรีข้าหลวงทั้งหลาย พาพระโอรส และพระธิดา ไปประทับอยู่บนรถ ก่อนพระเวสสันดร

บริจาคม้าและราชรถ

      พระเวสสันดร ถวายบังคมพระชนกและพระชนนี แล้วทรงทําประทักษิณ เสด็จขึ้นรถพระที่นั่ง พาพระโอรส พระธิดา และพระมเหสี มุ่งหน้าสู่เขาวงกต ขณะนั้น มีประชาชนมายืนคอยส่งเสด็จตามท้องถนน เป็นจํานวนมาก พระนางผุสดี ดำริว่า ลูกต้องให้ทานในระหว่างทาง  จึงให้คนนํารถบรรทุกรัตนะ ตามไปมอบให้พระเวสสันดร   

      พระเวสสันดรทรงบริจาครัตนะและเครื่องประดับ จนหมดตัว พระราชทานให้ยาจกผู้มาขอ ถึง ๑๘ ครั้ง จึงเสด็จออกจากพระนครไป ประสงค์จะทอดพระเนตรราชธานี เป็นครั้งสุดท้าย  แผ่นดินในที่มีประมาณเท่ารถพระที่นั่ง ก็แยกออก หมุนรถพระที่นั่ง ให้หันหน้ากลับพระนครเชตุดร  พระองค์ทอดพระเนตรสถานที่ประทับของพระชนกพระชนนี ทําให้เกิดแผ่นดินไหว เป็นที่น่าอัศจรรย์  พระองค์ ตรัสกับพระนางมัทรีว่า “น้องมัทรี ดูสิ นั่นพระราชนิเวศน์พระบิดา นั่นวังของเราที่พระบิดาประทานให้ ดูน่ารื่นรมย์ทีเดียว”  

      จากนั้น พระเวสสันดร รับสั่งให้อํามาตย์กลับ แล้วขับรถพระที่นั่งไปเอง ตรัสสั่งให้พระนางมัทรี  คอยดูข้างหลังไว้ หากมีคนขอทานตามมา ให้บอกด้วย

คราวนั้น มีพราหมณ์ ๔ คน มาไม่ทันรับมหาทาน ได้ถามทางที่พระเวสสันดรเสด็จไป ครั้นทราบแล้ว จึงรีบติดตามไป ทูลขอม้า ๔ ตัว พระนางมัทรี ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ทั้ง ๔ คน  ตามมา จึงบอกให้พระเวสสันดรทราบ พระเวสสันดร หยุดรถพระที่นั่ง พวกพราหมณ์ ได้ทูลขอม้าที่เทียมรถทั้ง ๔ ตัว พระเวสสันดร ได้พระราชทานให้คนละตัว  

      เมื่อพระเวสสันดร พระราชทานม้าทั้ง ๔ ตัวไปแล้ว งอนรถพระที่นั่ง ได้ตั้งอยู่ในอากาศ  ครั้นพราหมณ์ไปแล้ว เทวบุตร ๔ องค์ จําแลงกายเป็นละมั่งทอง มารองรับงอนรถ ลากไป

      พระโพธิสัตว์ ทรงทราบว่า ละมั่งทั้ง ๔ ตัวนั้น เป็นเทพบุตร จึงตรัสกับพระนางมัทรีว่า  “น้องมัทรี เธอดูละมั่งทองนั่นสิ มาลากรถเราไป เหมือนม้า ที่ฝึกมาดีแล้ว ช่างงดงามน่ารักจริง”  

ขณะที่พระเวสสันดร กําลังนั่งรถ เสด็จไป ได้มีพราหมณ์อีกคนหนึ่ง มาทูลขอรถ นับเป็นคนที่ ๕  ที่มาทูลขอรถจากพระเวสสันดร ในป่าแห่งนี้ พระเวสสันดร ให้พระโอรส พระธิดา และพระมเหสีลงจากรถ แล้วพระราชทานรถ ให้พราหมณ์ ขณะนั้น เหล่าเทพบุตร ก็ได้อันตรธานหายไป

ป่าใหญ่และไพรกว้าง

      พระโพธิสัตว์ ตรัสกับพระนางมัทรีว่า “น้องมัทรี เธออุ้มลูกกัณหา เพราะกัณหาเป็นน้อง ตัวเบา ส่วนพี่ จะอุ้มลูกชาลี” แล้วกษัตริย์ทั้งสอง ก็อุ้มพระโอรส และพระธิดา เสด็จไป ต่างร่าเริง บันเทิงใจ สนทนากัน ด้วยใบหน้าที่เปี่ยมสุข  

      พระเวสสันดร ตรัสถามทางไปเขาวงกต จากคนที่เดินสวนทางมา ผู้คนตอบว่า ยังต้องเดินทางอีกไกล

      ชาลีและกัณหาชินา สองพี่น้อง เห็นต้นไม้มีผลต่าง ๆ ห้อยย้อยอยู่ระหว่างสองข้างทาง ก็ทรงกรรแสง อยากเสวยผลไม้ ต้นไม้เหล่านั้น ก็โน้มกิ่งลงมา เป็นที่น่าอัศจรรย์ พระเวสสันดร เลือกเก็บผล ที่สุกดี ให้ลูกทั้งสอง

      พระเวสสันดร เดินทางจากกรุงเชตุดร จนถึงมาตุลนคร แคว้นเจตรัฐ รวมระยะทาง ๓๐ โยชน์  คือ จากกรุงเชตุดร ถึงเขา “สุวรรณคีรีตาละ” ระยะทาง ๕ โยชน์ จากเขาสุวรรณคีรีตาละ ถึงแม่น้ำ ชื่อ “โกนติมารา” ๕ โยชน์ จากแม่น้ำโกนติมารา ถึงเขา ชื่อ “อัญชรคีรี” ๕ โยชน์ จากภูเขาอัญชรคีรีถึงบ้านพราหมณ์ ชื่อ “ทุนนิวิฏฐะ” ๕ โยชน์ และจากบ้านพราหมณ์ทุนนิวิฏฐะ จนถึง “มาตุลนคร” ๑๐ โยชน์ รวมเป็น ๓๐ โยชน์

      เทวดา ย่นเส้นทางให้สั้นเข้า เพื่อไม่ให้พระกุมารทั้งสอง ลำบากในการเดินทาง กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ จึงเสด็จถึงมาตุลนคร แคว้นเจตรัฐ ในวันเดียวเท่านั้น  

      แคว้นเจตรัฐ เป็นชนบทมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ ผู้คนมากมาย พระเวสสันดร ไม่ต้องการให้เกิดความเอิกเกริก จึงไม่เสด็จเข้าไปภายในนคร ประทับพักอยู่ที่ศาลาใกล้ประตูเมือง พระนางมัทรีเช็ดฝุ่นที่พระบาทพระโพธิสัตว์ แล้วนวดพระบาท ทรงต้องการให้ประชาชนรู้ว่า พระเวสสันดรเสด็จมา  จึงออกจากศาลา ไปประทับยืนอยู่ที่หน้าศาลา ใกล้ประตูเมือง พวกหญิง ที่เดินเข้าออกพระนคร  เห็นพระนางมัทรี ดูลักษณะ ไม่เหมือนสามัญชนทั่วไป ต่างเข้ามาห้อมล้อม ไถ่ถามทุกข์สุข ประชาชนรู้ว่า เป็นพระนางมัทรี เสด็จมาด้วยพระบาทเปล่า ต่างมามุงดู กล่าวกันว่า “พระเวสสันดร และ พระกุมารทั้งสองพระองค์ เสด็จมา ดูน่าอนาถ” จึงไปกราบทูลกษัตริย์เจตราช ให้ทรงทราบ  

      กษัตริย์เจตราช ทราบข่าว จึงพากันเสด็จมาเยี่ยม ต่างกรรแสง ตรัสถามถึงทุกข์สุขของพระบิดาและพระมารดาพระเวสสันดร ตลอดจนเหตุการณ์บ้านเมือง ว่า “พระองค์ เดินทางมาไกล โดยไม่มี กองทหาร ไม่มีขบวนรถ พระองค์ ถูกฆ่าศึกย่ำยีหรือ จึงเสด็จมาไกลถึงที่นี้”

      พระโพธิสัตว์ ตรัสถึงเหตุการณ์ ที่พระองค์เสด็จมา ให้กษัตริย์เจตราชฟังว่า พระองค์ได้บริจาค ช้างปัจจยนาเคนทร์เป็นทานแก่พราหมณ์ ชาวเมืองพากันโกรธเคือง และพระบิดาก็กริ้ว จึงขับไล่ให้ไปอยู่เขาวงกต  

      กษัตริย์เจตราช จึงทูลขอพระเวสสันดร ให้เสด็จมาเป็นพระราชอาคันตุกะของแคว้นเจตรัฐ พระเวสสันดร ตรัสว่า พระราชบิดา ขับไล่พระองค์ออกจากแว่นแคว้น ดังนั้น พระองค์ จึงต้องไปเขาวงกต ตามรับสั่ง  

      กษัตริย์เจตราช จึงทูลเชิญให้ประทับอยู่ในแคว้นเจตรัฐ จนกว่าพวกตนจะไปกราบทูลให้พระเจ้าสญชัยพระราชทานอภัยโทษ  

      พระเวสสันดร ตรัสห้ามไม่ให้กษัตริย์เจตราช ไปเฝ้าพระราชบิดา เนื่องจากพระองค์ไม่มีอํานาจในการตัดสินใจ แต่ชาวเมืองต่างหาก ที่มีอํานาจในการตัดสินใจ และหากทำเช่นนั้นจะเปิดโอกาสให้ชาวเมือง และกองทัพ ที่โกรธแค้น ยกเป็นเหตุกําจัดพระราชบิดาของพระองค์ได้  

      พวกกษัตริย์เจตราช เชิญพระเวสสันดรเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในแคว้นเจตรัฐ แม้รัฐนี้ ก็มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ ชนบทก็มาก แผ่นดินก็กว้างใหญ่ไพศาล  

      พระเวสสันดร ตรัสว่า “เรา ถูกเนรเทศจากแว่นแคว้น ก็ไม่คิดครองราชสมบัติ หากพวกท่าน อภิเษกเรา ผู้ถูกเนรเทศจากแว่นแคว้น ให้ครองราชสมบัติเช่นนั้น ประชาชน และกองทัพจะไม่พอใจ ความบาดหมาง ระหว่างแคว้นสีพี และแคว้นเจตรัฐ จะเกิดขึ้น จนกลายเป็นชนวนสงคราม โดยมีเราเป็นต้นเหตุ เราไม่ต้องการเห็นผู้คนรบราฆ่าฟันกัน”  

      แม้กษัตริย์เจตราช จะทูลวิงวอนอย่างไร พระเวสสันดร ก็ไม่ต้องการราชสมบัติกษัตริย์เจตราช ต้องการทําการต้อนรับพระเวสสันดร อย่างยิ่งใหญ่ แต่พระองค์ ก็ไม่ประสงค์จะเสด็จเข้าไปภายในพระนคร  

      กษัตริย์เจตราช จึงให้ตกแต่งศาลานั้น กั้นม่าน ตั้งพระแท่นบรรทม แล้วตั้งกองรักษาการไว้ โดยรอบ

      พระเวสสันดร พักแรมอยู่ที่ศาลานั้น ๑ ราตรี รุ่งขึ้น สรงสนานแต่เช้า เสวยพระกระยาหาร  เสร็จแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไป กษัตริย์เจตราช ตามไปส่งพระเวสสันดร จนถึงชายป่า เป็นระยะทาง  ๑๕ โยชน์ กราบทูลให้ทรงทราบถึงเส้นทางข้างหน้าอีก ๑๕ โยชน์ว่า “ภูเขาหิน ที่เห็นอยู่ข้างหน้าโน้น  เป็นที่บําเพ็ญพรตของฤาษีบูชาไฟ ชื่อเขา “คันธมาทน์” ขอพระองค์ จงประทับพักแรม ที่ภูเขานั้น”  

      กษัตริย์เจตราช ต่างร้องไห้น้ำตาไหลนองหน้า สงสารพระเวสสันดร กราบทูลต่อไปว่า จากนั้น ขอให้พระองค์ บ่ายหน้าขึ้นเหนือ ก็จะเห็นเขา “เวปุลลบรรพต” เต็มไปด้วยหมู่ไม้ต่าง ๆ ร่มเย็น รื่นรมย์ เมื่อข้ามเขาลูกนั้นไปแล้ว ก็จะเห็นแม่น้ำ ชื่อ “เกตุมดี” เป็นแม่น้ำลึก ไหลมาจากซอกเขา มีน้ำเต็มฝั่งตลอดปี มีท่าราบเรียบสวยงาม เต็มไปด้วยฝูงปลานานาชนิด ขอพระองค์จงหยุดให้พระโอรส  พระธิดา และพระมเหสี พัก สรง เสวย ที่บริเวณแม่น้ำนั้น เมื่อเดินทางต่อ ก็จะพบต้นไทรใหญ่ บนยอดเขาน่ารื่นรมย์

      ถัดจากนั้นไป ก็จะเห็นภูเขา ชื่อ “นาลิกะ” ซึ่งเป็นเขาศิลาล้วน คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาชนิด  เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่กินนร ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาลูกนั้น มีสระน้ำ ชื่อ “มุจลินท์” เต็มไปด้วยดอกบุณฑริก ดอกอุบลขาว และดอกไม้น้ำ นานาพันธุ์ ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง   

      จากนั้น พระองค์จะเสด็จถึงภูมิประเทศ คล้ายมีหมอกปกคลุม มีหญ้าแพรก เขียวขจี ตลอดฤดูกาล แล้วจะล่วงเข้าเขตไพรสณฑ์ ซึ่งปกคลุมด้วยไม้ดอก และไม้ผล ทั้งสองข้างทาง เต็มไปด้วยฝูงนก ร้องกึกก้อง อื้ออึง ประสานเสียงในหมู่ไม้   

      เมื่อพระองค์ เสด็จถึงซอกเขา จะพบเส้นทางกันดาร เดินลําบาก เป็นแดนเกิดแห่งแม่น้ำทั้งหลาย จะทอดพระเนตรเห็นสระโบกขรณี ดารดาษไปด้วยต้นสอดน้ำ และกุ่มบก มีฝูงปลาแหวกว่ายไปมา มากมาย มีท่าเรียบราบ มีน้ำเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลา พระองค์จงสร้างบรรณศาลา ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แห่งสระโบกขรณีนั้น    

      กษัตริย์เจตราช กราบทูลเส้นทาง ให้พระเวสสันดรทราบ อย่างนี้แล้ว ส่งเสด็จ คิดหวั่นเกรงว่าจะมีศัตรูตามมาทำร้ายพระเวสสันดร จึงให้เรียกพรานป่าคนหนึ่ง ชื่อ “เจตบุตร” มารับสั่ง ให้อยู่รักษา ทางเข้าป่า คอยตรวจตราผู้คนที่เข้าออกป่า  

      พระเวสสันดร พร้อมด้วยพระโอรส พระธิดา และพระมเหสี เสด็จถึงเขาคันธมาทน์  หยุดพักอยู่ที่นั่นหนึ่งวัน จากนั้น จึงมุ่งหน้าขึ้นเหนือ ตามคำบอกเล่าของกษัตริย์เจตราช จนลุถึงเชิงเขาเวปุลลบรรพต ประทับนั่ง ที่ริมฝั่งแม่น้ำเกตุมดี เสวยเนื้อ ที่พรานป่าคนหนึ่งถวาย พระองค์พระราชทานเข็มทองคํา ให้นายพรานคนนั้น เป็นที่ระลึก ทรงสรงสนาน ที่แม่น้ำนั้น  ครั้นนั่งพักหายเหนื่อยแล้ว จึงเสด็จไปประทับนั่ง ที่ร่มไทรใหญ่ จากนั้น จึงเดินทางต่อไป ถึงเขานาลิกบรรพต  แล้วเสด็จต่อไป จนถึงสระมุจลินท์ ลัดเลาะไปตามริมฝั่ง จนถึงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเสด็จ เข้าสู่ป่าใหญ่ ซึ่งมีทางที่เดินได้เพียงคนเดียว ครั้นพ้นป่านั้น ก็ลุถึงสระโบกขรณี

      ขณะนั้น ภพท้าวสักกเทวราช เกิดรุ่มร้อน พิจารณาดู ก็ทราบว่า พระโพธิสัตว์ เสด็จเข้าสู่ป่าหิมวันตประเทศแล้ว พระองค์ควรได้ที่ประทับ จึงรับสั่งให้วิสสุกรรมเทพบุตร ไปเนรมิตอาศรมไว้ที่เวิ้งเขาวงกต วิสสุกรรมเทพบุตร ไปเนรมิตบรรณศาลา ๒ หลัง ที่จงกรม ๒ แห่ง และที่พักกลางคืน  ที่พักกลางวัน จัดเตรียมบริขารบรรพชิต และจารึกอักษรไว้ว่า “ผู้ประสงค์จะบวช ขอให้ใช้บริขารนี้”  แล้วทําการป้องกันอมนุษย์ และสัตว์ร้าย ตลอดจนสัตว์ที่มีเสียงน่ากลัว ไม่ให้เข้ามาบริเวณอาศรม  

      พระโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นทางเดินคนเดียว ทรงคะเนว่า น่าจะมีสถานที่อยู่ของบรรพชิต  จึงให้พระนางมัทรี พระโอรส และพระธิดา คอยอยู่ที่ทางเข้าอาศรม เสด็จเข้าไปสํารวจดูตามลําพัง  ทอดพระเนตรเห็นข้อความ ก็ทรงทราบว่า ท้าวสักกะ ประทานไว้ จึงเปิดประตูอาศรมเข้าไปเปลื้องพระแสงขรรค์ พระแสงศร และพระภูษาทรง ออก นุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดง พาดหนังเสือบนพระอังสา เกล้าชฎา บวชเป็นฤาษี ถือไม้เท้า เสด็จออกจากอาศรม ทรงเปล่งอุทานว่า “โอ เป็นสุข  เป็นสุขอย่างยิ่ง เราได้บวชแล้ว” เสด็จจงกรมไปมา แล้วเสด็จไปหาพระมเหสี ด้วยอาการสํารวม เช่นกับพระปัจเจกพุทธเจ้า

      พระนางมัทรี ทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงจําได้ ทรงหมอบลงที่พระบาทพระโพธิสัตว์ ทรงกรรแสงไห้ ตามพระโพธิสัตว์เข้าอาศรม แล้วแยกไปอาศรมของพระองค์ ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดง พาดหนังเสือ บนพระอังสา เกล้ามณฑลชฎา ทรงบวชเป็นดาบสินี จากนั้น จึงให้พระโอรส พระธิดา บวชในภายหลัง  เป็นดาบสกุมาร และดาบสินีกุมารี

      พระนางมัทรี ทูลพระเวสสันดรว่า “จากนี้ต่อไป พระองค์ไม่ต้องเสด็จไปป่า หาผลไม้  จงประทับอยู่ที่อาศรม กับลูกทั้งสอง หม่อมฉันจะเป็นผู้ไปเก็บผลไม้ มาถวาย”  

      ตั้งแต่นั้นมา พระนางก็เข้าป่า เก็บผลไม้ มาถวายพระสวามี พระโอรส และพระธิดา  พระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ ตรัสกับพระนางมัทรีว่า “บัดนี้ เราทั้งสอง ได้บวชเป็นบรรพชิตแล้ว  ธรรมดาสตรี เป็นมลทินต่อพรหมจรรย์ ตั้งแต่นี้ไป เธออย่ามาพบฉัน ในเวลาไม่เหมาะไม่ควร”  พระนางทรงรับตามนั้น

ด้วยพลานุภาพแห่งเมตตาจิตของพระโพธิสัตว์ แม้เหล่าสัตว์ในป่าแห่งนั้น โดยรอบก็ไม่เบียดเบียนกันและกัน เป็นที่น่าอัศจรรย์  

      พระนางมัทรี เสด็จไปอุปัฏฐากพระโพธิสัตว์แต่เช้า เตรียมน้ำดื่ม น้ำใช้ กวาดอาศรมให้พระกุมารทั้งสองอยู่กับพระชนก แล้วถือกระเช้า และเสียม เข้าป่า เก็บผลไม้จนเต็มกระเช้า  ครั้นตกเย็น จึงกลับออกจากป่า จัดเก็บผลไม้ไว้ สรงสนานเสร็จแล้ว จึงสรงให้พระกุมารทั้งสอง  แล้วประทับนั่ง เสวยผลไม้ร่วมกัน จากนั้น พระนางมัทรี จึงนําพระโอรส และพระธิดา กลับไปอาศรม ของพระองค์

      กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ ประทับอยู่เขาวงกต บําเพ็ญพรต โดยทํานองนี้ จนวันเวลาผ่านไป ๗ เดือน

กำเนิดชูชก

      ในสมัยนั้น ที่แคว้นกาลิงครัฐ มีพราหมณ์เข็ญใจไร้ญาติคนหนึ่ง ชื่อว่า “ชูชก” รูปร่างอัปลักษณ์ ต้องตามบุรุษโทษ ๑๘ ประการ เป็นชาวบ้านทุนนิวิฏฐะ เป็นโภวาทิกชาติ สำคัญตนว่า ดีกว่าผู้อื่น  ถึงแม้จะเป็นพราหมณ์ด้วยกันก็ตาม มีโคตรเป็น “ภารทวาชโคตร” มารดาชื่อ “นางจันทีพราหมณี” บิดาชื่อ “โตลกพราหมณ์” มีเรื่องเล่าว่า ในยามที่เขาเกิด มีลางร้าย ๔ ประการ คือ

      ๑. มารดาฝันร้าย ก่อนคลอดชูชก เช่น ฝันว่า ถูกงูกัดตาย  

      ๒. ร่างกายปรากฏลักษณะบุรุษโทษ ๑๘ ประการ

      ๓. คนเกิดในยามนี้จะมีนิสัยโกหก ตลกกิน ปลิ้นปล้อน ค่อนขอด

      ๔. เกิดนาม ๕ หรือนามงั่ว๑๑

      ชูชก ประกอบอาชีพ ด้วยการเที่ยวขอทาน เขาเที่ยวขอทาน จนได้เงิน ๑๐๐ กหาปณะ จึงนําไปฝากไว้กับเพื่อนคนหนึ่ง แล้วออกขอทานต่อไป เมื่อชูชก หายไปนาน พราหมณ์นั้น คิดว่า ชูชกสูญหาย   ตายจากไปแล้ว จึงใช้กหาปณะ จนหมด   

      อยู่มาวันหนึ่ง ชูชก กลับมาทวงกหาปณะที่ฝากไว้ พราหมณ์หามาคืนให้ไม่ได้ ชูชก ขู่จะฟ้องร้อง เอาความ จึงต้องยกลูกสาวชื่อ นางอมิตตตาปนา๑๒ ให้ชูชก ชูชกพอใจ จึงพานางอมิตตตา ไปอยู่บ้าน ทุนนิวิฏฐะ แคว้นกาลิงครัฐ นางอมิตตตา ปรนนิบัติพราหมณ์เฒ่า อย่างดี  

      พวกพราหมณ์หนุ่ม ๆ เห็นนางอมิตตตาดูแลชูชกอย่างดี จึงตําหนิภรรยาของตนว่า “แม้พราหมณ์ชูชก แก่แล้ว นางอมิตตตา ยังปรนนิบัติอย่างดี แต่พวกเจ้า กลับสู้นางไม่ได้”  พวกภรรยาพราหมณ์หนุ่ม เคียดแค้น ต่างก็คิดว่า ต้องทําให้นางอมิตตตา หนีไปจากหมู่บ้านนี้ ให้ได้  

      ๑๑  เกิดนามงั่ว คือ พ่อแม่ มีลูกชาย หรือหญิง ติด ๆ กันไป ลูกคนที่ ๕ เรียกว่า “เกิดนามงั่ว”

      ๑๒ “อมิตตตาปนา” เป็นชื่อที่ปรากฏในภาษาบาลี แปลว่า ผู้ที่ทำให้ผู้ชายเร่าร้อนด้วยความรัก หรือ ผู้ที่ทำให้ผู้ชายหลงรัก นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “อมิตตตา” ส่วนวรรณกรรมไทย นิยมเรียกว่า “อมิตตดา

เมื่อพวกพราหมณีไปตักน้ำ จึงพากันด่านางอมิตตตาที่ท่าน้ำว่า “อมิตตตา เธอยังเป็นสาวขนาดนี้ พ่อแม่ ยกให้ชูชก แก่คราวพ่อ ญาติของเธอ คงต้องมีความลับอะไรกัน จึงได้ทําเรื่องชั่วช้าเช่นนี้ได้ เธออยู่กับผัวแก่ จะหาความสุขได้อย่างไร ตายเสียยังจะดีกว่า มีผัวแก่ พ่อแม่คงหาชายอื่น  เป็นผัวเธอไม่ได้ จึงยกให้เป็นเมียพราหมณ์เฒ่า ชาติก่อน คงทําบุญไว้ไม่ดี หรือจะเคยด่าสมณพราหมณ์ผู้มีศีล ชาตินี้ จึงได้พราหมณ์แก่ เป็นผัว ถูกงูพิษกัด หรือถูกหอกแทงตาย ก็ยังไม่เจ็บปวด เท่ากับได้ผัวแก่ จะเล่นหัวฉอเลาะกระซิกกระซี้ หรือจะรื่นรมย์กับผัวแก่  ก็ไม่ได้เมื่อแอบเห็นผัวหนุ่มเมียสาวเขาคลอเคลียเย้าหยอกกันอยู่ในที่ลับ ก็แทงใจดํา อยากทําอย่างนั้นบ้าง ก็ทําไม่ได้ ขอให้เธอกลับไปอยู่บ้าน กับพ่อแม่เถิด อยู่กับผัวแก่ ไม่มีความสุขหรอก”

      นางอมิตตตาปนา ถูกด่าเช่นนั้น ก็ถือหม้อน้ำ ร้องไห้วิ่งกลับเรือน ครั้นถูกชูชกถาม ก็บอกว่า “ฉันจะไม่ไปตักน้ำอีกแล้ว พวกนางพราหมณี ด่ากระทบฉันว่า ได้ผัวแก่”  

      ชูชก กล่าวว่า “ต่อไป เธออย่าได้ทําการงานอีกเลย อย่าไปตักน้ำ ฉันจะไปตักน้ำเอง  อย่าโกรธเคืองนักเลย”  

      นางอมิตตตา จึงกล่าวว่า “ฉันไม่ได้เกิดในตระกูล ที่ใช้ผัวตักน้ำ ถ้าท่าน ไม่หาทาสหรือทาสีมารับใช้ ฉันจะไม่อยู่ในเรือนของท่าน” ชูชกกล่าวว่า ครอบครัวของตน ไม่มีความรู้ศิลปะด้านใด  ทั้งทรัพย์สมบัติ ก็ไม่มี แล้วจะไปหาทาสหรือทาสีที่ไหน มารับใช้นางได้   

      อดีตชาติของนางอมิตตตาปนานั้น เคยเกิดเป็นภรรยาน้อยของพระโพธิสัตว์ ในชาติที่เป็นพญาช้างฉัททันต์ น้อยใจว่า พญาฉัททันต์ รักภรรยาใหญ่ มากกว่าตน จึงผูกอาฆาตพญาช้างเอาไว้ หลังจากตรอมใจตายแล้ว๑๓ ได้ท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยใหญ่ เมื่อมาเกิดเป็นนางอมิตตตา  แรงอาฆาต ก็ยังไม่หมด จึงเกิดมาเป็นคู่เวร กับพระโพธิสัตว์ อีกครั้ง ครั้นในสมัยพุทธกาล  นางอมิตตตาได้กลับชาติ  มาเกิดเป็นนางจิญจมาณวิกา เป็นสาวกของเดียรถีย์ สร้างเรื่อง ใส่ความพระพุทธเจ้าว่า มีท้องกับตน จนถูกแผ่นดินสูบ

        ๑๓ เรื่องพญาช้างฉัททันต์ ปรากฏอยู่ในฉัททันตชาดก ขุททกนิกาย ชาดก และอรรถกา ฉัททันตชาดก ขุททกนิกาย   ชาดก

      นางอมิตตตาปนา กลับรับรู้ เรื่องพระเวสสันดร ถูกเนรเทศออกจากเมือง ไปอยู่กลางป่า  อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะแรงแห่งกรรม อันเกิดจากความอาฆาตนั้น จึงกล่าวว่า “ฉันจะบอกท่าน  ตามที่ได้ยินมา พระเวสสันดร ประทับอยู่ที่เขาวงกต ท่านจงไป ทูลขอลูกของพระองค์ มาเป็นทาส”   

      ชูชก กล่าวว่า “อมิตตตา ฉันแก่แล้ว ทุพพลภาพ เรี่ยวแรงไม่มี ทั้งหนทางก็ไกล  ไปแสนยาก เธออย่าคร่ำครวญ น้อยใจเลย ฉันจะดูแลเธอเอง อย่าขัดเคืองนักเลย”  

      นางอมิตตตาปนา กล่าวว่า “ท่านยังไม่ทันไปเลย ก็ยอมแพ้ เหมือนคนขลาด ไม่ทันถึงสนามรบ ยังไม่ทันได้รบ ก็ยอมแพ้แล้ว ถ้าท่าน ไม่หาทาส และทาสี มารับใช้ ก็ให้รู้ไว้ด้วยว่า ฉันจะไม่อยู่กับท่าน เมื่อท่านเห็นฉันแต่งตัวสวยงาม ไปเที่ยวงานมหรสพตามเทศกาลต่าง ๆ สนุกสนานอยู่กับชายหนุ่ม ท่านก็จะมีแต่ความทุกข์ เมื่อคนแก่ชราเช่นท่าน พิรี้พิไรคร่ำครวญอยู่ เพราะไม่เห็นฉัน  ร่างกายที่งอมอยู่แล้ว ก็ทรุดโทรมยิ่งขึ้น ผมที่หงอก ก็จะหงอกมากขึ้น”  

      ชูชก ถูกนางอมิตตตาขู่เช่นนั้น ก็ตกใจกลัว จึงบอกว่า “เธอจงจัดเสบียงทางให้ฉัน ฉันจะนํา คนที่ไม่เกียจคร้านทํางาน มารับใช้เธอ”  

      นางอมิตตตา ตระเตรียมเสบียงทาง ให้ชูชกอย่างเร่งรีบ ฝ่ายชูชกเป็นห่วงเมียที่ต้องอยู่คนเดียว จึงซ่อมประตูเรือนที่ชํารุด ให้มั่นคง ขนฟืนมาไว้ให้เพียงพอ ตักน้ำใส่ภาชนะในเรือน ให้เต็มทุกใบ แล้วแต่งตัวเป็นฤๅษีในเรือน นั่นเอง สอนนางอมิตตตาว่า “ตั้งแต่นี้ไป ในเวลาค่ำมืด เธออย่าออกไปนอกบ้าน อย่าประมาท จนกว่าฉันจะกลับมา” แล้วสวมรองเท้า ยกถุงย่ามบรรจุเสบียงขึ้นสะพาย  ร้องไห้ เดินมุ่งหน้าสู่นครสีพี เพื่อหาทาส

      ครั้นชูชก ไปถึงนครสีพี จึงสอบถามประชาชนว่า พระเวสสันดร ประทับอยู่ที่ไหน ประชาชนตอบว่า “พระเวสสันดร ถูกพวกแกเบียดเบียน เพราะทรงให้ทานมากไป ถูกขับไล่จากแว่นแคว้น จึงพาพระโอรส พระธิดา และพระมเหสี ไปอยู่เขาวงกต พวกแก ทําให้พระราชาของพวกเรา   พินาศแล้ว ยังจะมาขออะไรอีก” จึงเอาก้อนดิน และท่อนไม้ ขว้างปาไล่ชูชก  

      แม้ชูชก จะรู้ว่า ทางไปเขาวงกตแสนไกล แต่เมื่อหวนคิดถึงคําพูดนางอมิตตตาขึ้นมาทีไร  ก็ให้เกิดกําลังใจ จึงถือไม้เท้า ทั้งเครื่องบูชาไฟ และน้ำเต้า ดั้นด้น ถามทางคนที่ตนพบไปเรื่อย จนเข้าสู่ป่าใหญ่ เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ร้ายมากมาย แกหลงทาง กลัวตาย เดินร้องไห้อยู่กลางป่าอย่างน่าเวทนา

      ขณะนั้น หมาล่าสัตว์ ของนายพรานเจตบุตร กระโจนออกมา ล้อมแกไว้ จึงปีนขึ้นต้นไม้  นั่งร้องไห้บ่นเพ้อว่า “ใครจะบอกทาง ไปพบพระเวสสันดรให้เราได้ พระองค์ ผู้ทรงชนะความตระหนี่   ผู้ประทานความปลอดภัย ในเวลามีภัย เป็นที่อาศัยของเหล่าคนผู้ทุกข์ยาก เหมือนแผ่นดิน เป็นที่อาศัยของเหล่าสัตว์ เหมือนมหาสมุทร เป็นที่ไหลไปรวมแห่งแม่น้ำ เหมือนต้นไทรใหญ่ใกล้ทาง เป็นที่พักอาศัยของคนเดินทาง ใครจะบอกที่อยู่พระเวสสันดรให้เราได้ เขาจะได้บุญมาก”  

      ขณะนั้น พรานเจตบุตร ที่กษัตริย์เจตราชมอบหมายให้อารักขาพระเวสสันดร เที่ยวล่าสัตว์อยู่ในป่า ได้ยินเสียงหมาของตนเห่า และเสียงคร่ำครวญของชูชก คิดว่า พราหมณ์นี้ คร่ำครวญ อยากพบพระเวสสันดร แกคงไม่มาดีแน่ คงมาขอพระนางมัทรี หรือพระโอรส เราจะฆ่าทิ้งเสีย จึงเดินเข้าไปหาชูชก ยกหน้าไม้ขึ้นสาย ขู่จะยิงว่า “ตาพราหมณ์เฒ่า ข้าจะฆ่าแก พระเวสสันดรถูกพวกแกเบียดเบียน จึงถูกขับไล่ ออกจากแว่นแคว้น จนต้องพาพระโอรส พระธิดา และพระมเหสี หนีไปอยู่ที่เขาวงกต คนบัดซบอย่างแก ยังตามมาเบียดเบียนพระองค์ถึงป่าอีก แกอย่ามีชีวิตอยู่ ต่อไปอีกเลย ข้าจะไม่ให้แกได้ขออะไรจากพระองค์อีก เป็นอันขาด”   

      ชูชก ตกใจ กลัวตาย จึงออกอุบายโกหก ชูกลักพริกขิงขึ้น พร้อมขู่พรานเจตบุตรว่า “ช้าก่อน เจตบุตร ข้าเป็นพราหมณ์ราชทูต ใคร ๆ ไม่ควรฆ่าทูต นี่เป็นธรรมเนียมเก่า ฟังข้าก่อน ประชาชน ชาวสีพี หายโกรธเคืองพระเวสสันดรแล้ว พระชนก ก็ทรงปรารถนาจะพบพระโอรส ทั้งพระชนนีก็ชรา หูตาฝ้าฟาง เจตบุตร ! ข้าเป็นราชทูต มาทูลเชิญพระเวสสันดร กลับพระนคร ถ้าเจ้ารู้  ก็จงบอกทาง บัดนี้ พระองค์ ประทับอยู่ที่ไหน ?”

      พรานเจตบุตร ดีใจ หลงเชื่อชูชก คิดว่า พราหมณ์นี้ จะมาทูลเชิญเสด็จพระเวสสันดรกลับ  จึงผูกฝูงสุนัขไว้ แล้วช่วยให้ชูชก ลงจากต้นไม้ หักกิ่งไม้ ปูให้นั่ง จัดแจงโภชนาหารให้ทาน กล่าวด้วยความลิงโลดใจว่า “ตา ตาเป็นราชทูต ที่รักพระเวสสันดร จึงอุตส่าห์เดินทางมาสู่ป่าที่แสนลําบากเช่นนี้ ข้าจะให้กระบอกน้ำผึ้ง และขาเนื้อย่าง และบอกทางไปพบพระเวสสันดร”

จอมพรานเจตบุตร

      พรานเจตบุตร ให้ชูชกกินอาหารแล้ว ให้กระบอกน้ำผึ้ง และขาเนื้อย่าง แก่ชูชก เพื่อเป็นเสบียงทาง แล้วยืนชี้บอกทางว่า  

“ท่านพราหมณ์ เบื้องหน้านั้น คือ ภูเขาคันธมาทน์ ที่พระราชาเวสสันดรประทับอยู่  พระองค์ ทรงเพศเป็นบรรพชิต ทรงหนังเสือเหลือง เป็นภูษา บรรทมเหนือแผ่นดิน  

ทิวป่าเขียวนั้น เต็มไปด้วยผลไม้นานาชนิด และภูผาสูงยอดเสียดเมฆเขียวชอุ่มนั้น เป็นหมู่ไม้ตะแบก ไม้หูกวาง ไม้ตะเคียน ไม้รัง ไม้สะคร้อ และเถาย่านไทร ลู่ไหวไปตามลม เหมือนมาณพน้อยเพิ่งแตกเนื้อหนุ่ม เมาสุราครั้งแรกเดินซวนเซไปมา ฝูงนกนานาชนิด ส่งเสียงร้องราวดนตรีไพร ทั้งโพระดก และดุเหว่า ส่งเสียงร้องขันคูอยู่ยอดไม้ โผผินบินจากต้นนี้ ไปสู่ต้นนั้น หมู่ไม้ ต้องลมพัดกิ่งใบลู่ไหวเสียดสีกันไปมา ดังจะชวนบุคคลผู้ผ่านไปให้ยินดี ที่นั่นแหละ เป็นที่ประทับของพระเวสสันดร พร้อมทั้งพระนางมัทรี พระโอรส และพระธิดา”   

      พรานเจตบุตร พรรณนาป่าที่พระเวสสันดรอาศัยอยู่ ต่อไปว่า “ที่บริเวณอาศรมนั้น มีป่าไม้นานาพรรณ ทั้งมะม่วง มะขวิด ขนุน ไม้รัง ไม้หว้า สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม โพธิ และ พุทรา ทั้งมะพลับทอง ไทร มะขวิด มะซางหวาน และมะเดื่อ อีกทั้ง ผลไม้นานาพันธุ์ ออกลูกสุก แดงปลั่งอยู่เรี่ยดิน

ไม่ไกลจากอาศรม มีสระโบกขรณี น่ารื่นรมย์ เต็มไปด้วยดอกบัวหลากสี ที่ใกล้สระโบกขรณี นั้น มีฝูงนกดุเหว่า ส่งเสียงไพเราะจับใจ ทําให้ป่าอื้ออึงกึกก้อง เมื่อหมู่ไม้ผลิดอกแย้มบานตามฤดูกาล รสหวานดังน้ำผึ้ง ร่วงหล่นจากเกสรลงมา ค้างอยู่บนใบบัว เรียกว่า “โปกขรมธุ”  น้ำผึ้งใบบัว

      มีนกต่าง ๆ ทำรังอยู่ในสระ พวกหนึ่งเหมือนจะร้องขับขานกล่อมว่า “ขอถวายพระพร  ขอให้พระองค์ประทับอยู่ในป่าแห่งนี้เถิด” อีกพวกหนึ่งร้องว่า “ขอให้พระองค์ พร้อมทั้งพระโอรส  พระธิดา และพระมเหสี ทรงพระเกษมสำราญ จงมีพระชนม์ยิ่งยืนนาน” อีกพวกหนึ่งว่า  “ขอให้พระองค์ ปราศจากศัตรู” อีกพวกหนึ่งว่า “ขอให้พระโอรส พระธิดา และพระมเหสี  จงเป็นที่โปรดปรานของพระองค์”

ลมทางทิศใต้ และทิศตะวันตก พัดผ่านอาศรม ทําให้อาศรม เต็มไปด้วยละอองเกสรดอกบัวในสระโบกขรณีนั้น มีกระจับใหญ่ ทั้งข้าวสาลี ร่วงลงที่พื้นดิน ปูในสระนั้น ก็มีมาก ทั้งฝูงปลา และเต่า แหวกว่ายไปมา ในเมื่อเหง้าบัวแตก น้ำหวาน ก็ไหลออก เหมือนนมสด และเนยใส ไหลออก จากเหง้าบัว   

หมู่แมลงผึ้ง บินตอมดอกไม้ อยู่โดยรอบ มีฝูงนกหลากชนิด เริงร่าอยู่กับคู่ของตน ร่ำร้อง ขับขานรับกันอยู่ตลอดเวลา ฝูงนกอีกชนิด ทํารังอยู่ใกล้สระโบกขรณี ส่งเสียงร้องขับกล่อมกษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ ให้ชื่นชมยินดีอยู่ในป่า”

      ชูชก ยินดียิ่งว่า ความปรารถนาของตน ใกล้สําเร็จแล้ว จึงกล่าวว่า “สัตตุผงคลุกน้ำผึ้ง และสัตตุก้อนมีรสหวานอร่อย ที่นางอมิตตตาปนา เตรียมให้ ตาจะแบ่งให้เจ้า”   

      พรานเจตบุตร กล่าวว่า “ตา เอาไว้เป็นเสบียงทางเถิด ตา รับน้ำผึ้งกับขาเนื้อย่างของข้าไปเป็นเสบียงทางด้วย ขอให้ตา เดินทางปลอดภัย ทางนี้ เป็นทางเดินได้คนเดียว ไม่มีทางแยก ตรงไปอาศรมอัจจุตฤาษี ตา ไปถามทางต่อจากท่านเถิด”   

      ชูชก ทําประทักษิณพรานเจตบุตร มีจิตยินดี เดินทางไปยังอาศรมอัจจุตฤาษี

อัจจุตฤาษี

      ครั้นชูชก ภารทวาชโคตรนั้น เดินไปตามทาง ที่พรานเจตบุตรแนะนํา ก็ได้พบอัจจุตฤาษี ทั้งสองได้สนทนาปราศรัยปฏิสันถารไถ่ถามทุกข์สุขกันตามสมควร ชูชก แจ้งให้อัจจุตฤาษีทราบว่า ตนมาพบพระเวสสันดร พระโอรสของพระเจ้าสญชัย ที่ถูกชาวสีพี ขับไล่ให้มาอยู่ป่า  

อัจจุตฤาษี ไม่พอใจ จึงกล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “ชูชก เห็นทีแกจะมาขอพระนางมัทรี หรือ พระกุมาร แกคงไม่มาดีแน่ ในป่าแห่งนี้ พระเวสสันดร ไม่มีทรัพย์สมบัติจะให้แกแล้ว”  

ชูชก แก้ตัวว่า “ท่านอาจารย์ เข้าใจผิดไปใหญ่แล้ว ไม่ควรจะโกรธเคืองขนาดนั้น ข้าพเจ้า ไม่ได้มาขอทาน ให้เสื่อมเสียพงศ์พราหมณ์ ข้าพเจ้า มาเยี่ยมพระองค์ท่านจริง ๆ เพียงได้เห็น และได้สนทนากับพระองค์ ก็เป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ข้าพเจ้าไม่เคยพบพระเวสสันดร จึงอยากจะมีโอกาสได้พบพระองค์ท่าน สักครั้งหนึ่ง ถ้ารู้ทาง ก็บอกข้าพเจ้าด้วย”

เมื่อชูชก เอาความดีเข้าว่าอย่างนี้ อัจจุตฤาษี ก็ใจอ่อน กล่าวว่า “เอาเถอะ พรุ่งนี้ เราจะบอกทางให้ วันนี้ ท่านพักอยู่ที่นี้ก่อน” แล้วให้ชูชก กินผลไม้จนอิ่ม รุ่งขึ้น จึงออกไปยืนชี้บอกทางว่า  

“เบื้องหน้านั้น คือ ภูเขาคันธมาทน์ เป็นที่ประทับของพระเวสสันดร พระองค์บวชเป็นบรรพชิต ทรงหนังเสือเหลือง เป็นภูษา บรรทมเหนือแผ่นดิน บูชาไฟ นี้เป็นหนทางเดินได้คนเดียว ตรงไปจนถึงอาศรมสถาน โดยไม่มีทางแยก เมื่อถึงที่นั่นแล้ว จะไม่ลำบาก ไม่อดอยาก แต่อย่างไร พระเวสสันดร ประทับอยู่ที่นั่น พร้อมด้วยพระโอรส พระธิดา และพระมเหสี” แล้วพรรณนาป่า อันเป็นเส้นทาง สู่เขาวงกต โดยประการต่าง ๆ

      ชูชกพงศ์พราหมณ์ ได้ยิน ก็ดีใจมาก จึงทำประทักษิณอัจจุตฤาษี แสดงความเคารพ แล้วเดินทางมุ่งหน้าสู่ป่าใหญ่ไพรกว้าง ต่อไป

แก้วตาดวงใจ ยอดแห่งมหาทาน

      ชูชก เดินไปตามทาง ที่อัจจุตฤาษีแนะนำ จนถึงฝั่งสระใหญ่ คิดว่า วันนี้ เย็นเกินไป  พระนางมัทรี จะเสด็จกลับจากป่าแล้ว ปกติ ผู้หญิง ย่อมขัดขวางการให้ทาน พรุ่งนี้ เวลาพระนางไปป่า  เราจึงไปอาศรม เฝ้าพระเวสสันดร ทูลขอพระกุมารทั้งสอง พาไป ก่อนที่พระนางจะกลับมา จึงขึ้นนอน ที่เนินภูผาแห่งหนึ่ง ใกล้สระนั้น อย่างสุขใจ

      ใกล้รุ่งราตรีนั้น พระนางมัทรี ฝันว่า มีชายผิวดำคนหนึ่ง นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดสองผืน ทัดดอกไม้สีแดงที่หูทั้งสองข้าง ถือดาบ ตะคอกขู่ เข้ามาในอาศรม จับพระนางที่ชฎา ลากมา ผลักให้ล้มหงายลงพื้น ควักดวงตาออก แล้วตัดแขนทั้งสองข้างทิ้ง แม้พระนางจะร้องไห้วิงวอนอยู่อย่างไร ก็แหวกอก ควักเอาหัวใจ ทั้งที่มีหยดเลือดไหลเป็นทาง เดินจากไป

      พระนาง สะดุ้งตื่นด้วยความตกใจ ร่างกายสั่นเทิ้ม ทรงรำพึงว่า ฝันร้าย นอกจากพระเวสสันดร  ไม่มีใคร ทำนายฝันได้ จึงเสด็จไปเคาะประตูอาศรมพระเวสสันดร ขณะที่ยังเช้ามืดอยู่ อรุณยังไม่ขึ้น

      พระเวสสันดร ตรัสถามว่า “นั่นใคร” พระนางทูลตอบว่า “หม่อมฉันมัทรี เพคะ” พระเวสสันดรตรัสว่า “เธอ ลืมสิ่งที่เราทั้งสอง ตกลงกันไว้แล้วหรือ เพราะเหตุไร จึงมาในเวลานี้” พระนางมัทรีกราบทูลว่า “หม่อมฉัน ไม่ได้มาเฝ้าเพราะกิเลส แต่หม่อมฉันฝันร้าย”

      พระเวสสันดรตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงเล่าไป”

      พระนางมัทรี ก็เล่าถวาย ตามที่ทรงฝัน พระโพธิสัตว์ พิจารณา ก็ทรงทราบว่า ทานบารมีของพระองค์ จะเต็ม พรุ่งนี้ จะมีคนมาขอลูก จึงพูดให้พระนางอุ่นใจว่า “มัทรี จิตของเธอขุ่นมัวเพราะอยู่ป่า จึงนอนหลับไม่ดี ทานอาหารไม่ดี เธออย่ากลัวเลย” เมื่อตรัสปลอบแล้ว ก็ส่งกลับไป

      ครั้นสว่างแล้ว พระนางมัทรี ทำหน้าที่ทุกอย่างเสร็จ เตรียมจะเข้าป่า จึงสวมกอดลูกทั้งสอง จุมพิตที่พระเศียร สอนว่า “ลูก อย่าดื้อนะ เมื่อคืน แม่ฝันไม่ดี ลูกอย่าประมาท” แล้วพาไปอาศรมพระเวสสันดร ขอให้พระองค์อย่าเผลอ ดูแลลูกทั้งสอง ทรงถือกระเช้า และเสียม หวาดหวั่นใจ  เช็ดน้ำตา เข้าสู่ป่า

      ส่วนชูชก คะเนดูเวลาว่า พระนางมัทรี น่าจะเข้าป่าแล้ว จึงลงจากเนินผา เดินตามทางเล็ก ๆ ไปสู่อาศรม

      ขณะนั้น พระเวสสันดร คิดว่า ยาจก น่าจะมาเวลานี้ จึงเสด็จออกจากอาศรม ไปประทับนั่งที่แผ่นหินหน้าอาศรม ทอดพระเนตรทาง ที่ยาจกจะมา ส่วนพระโอรส และพระธิดา เล่นอยู่ใกล้พระบิดา

      พระเวสสันดรเห็นชูชก เดินเข้ามา ทรงดำริว่า พระองค์ไม่ได้ให้ทานมานาน  ร่วม ๗ เดือน เหมือนคนทอดทิ้งทานธุระ จึงตรัสเชื้อเชิญว่า “เชิญเข้ามาเถิดท่านพราหมณ์” แล้วตรัสเรียกพระโอรสว่า “ลูกชาลี ยาจกมาในวันนี้ ก็เหมือนการมาของพวกยาจกครั้งก่อน   พ่อเห็นเหมือนพราหมณ์ พวกเขา ทำให้พ่อเป็นสุขใจ”

      พระกุมาร กราบทูลว่า “แม้เกล้ากระหม่อม ก็เห็นเป็นเหมือนพราหมณ์ มาเป็นแขกของพวกเรา เช่นกัน”  

      ครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว ได้ทำความเคารพพระบิดา ลุกขึ้นวิ่งไปต้อนรับพราหมณ์ชูชก กุลีกุจอ ช่วยรับเครื่องบริขาร พราหมณ์ชูชกเห็นพระชาลี คิดว่า เด็กคนนี้ เห็นจะเป็นพระชาลี พระโอรส ของพระเวสสันดร เราจะพูดกำราบไว้เสียตั้งแต่แรก จึงชี้นิ้ว แสดงอาการให้รู้ว่า “ถอยไป ถอยไป ไม่ใช่กงการของเด็ก” พระชาลีจึงหลีกไป คิดว่า ตาพราหมณ์คนนี้ หยาบคาย เหลือเกิน ทอดมองดูไปตามร่างกาย ก็เห็นลักษณะบุรุษโทษ ๑๘ ประการ

      ชูชกเข้าไปเฝ้าพระเวสสันดร กล่าวปฏิสันถารถึงการเป็นอยู่โดยประการต่าง ๆ  ฝ่ายพระเวสสันดร ก็ปฏิสันถารชูชกเช่นกันว่า “พราหมณ์ พวกเราไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไร อยู่สุขสำราญดี  ผลไม้สำหรับเลี้ยงชีพ ก็หาได้ง่าย ทั้งเหลือบยุง และสัตว์เลื้อยคลาน มีบ้าง แต่ก็น้อย สัตว์ร้าย  ที่มาทำให้เดือดร้อน ก็ไม่มี พวกเรามาอยู่ป่าได้ ๗ เดือน เพิ่งมีโอกาสได้เห็นพราหมณ์ เป็นครั้งแรก  ท่านมาก็ดีแล้ว เชิญเข้าข้างในเถิด ข้างในมีผลไม้ น้ำดื่มก็มี เชิญท่านเลือกทานตามชอบใจ”

      พระโพธิสัตว์ ดำริว่า พราหมณ์นี้ คงจะไม่เข้าป่าใหญ่เช่นนี้ โดยไม่มีจุดประสงค์ จึงตรัสถามถึงสาเหตุที่มา

      ชูชก ทูลตอบว่า “พระองค์ มีพระทัยเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา ข้าพระองค์ มาทูลขอพระโอรส และพระธิดา ของพระองค์ ขอพระองค์ โปรดพระราชทานให้ข้าพระองค์เถิด”

      พระเวสสันดร ตรัสโดยไม่ลังเลว่า “พราหมณ์ เรายกให้ท่าน ไม่หวั่นไหว ท่านจงนำไปเถิด  แต่วันนี้ พระนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้ ตั้งแต่เช้า ยังไม่กลับมา จะกลับตอนเย็น ท่านจงอยู่ค้างเสีย คืนหนึ่งก่อน รุ่งเช้า จึงค่อยพาไป”

      ชูชก กล่าวว่า “ข้าพระองค์ ไม่ต้องการพักแรม จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ก็ต้องกลับไป ก่อนที่พระนางมัทรีจะกลับมา เพราะว่า พวกสตรี เป็นคนตระหนี่ ขอไม่ได้ ทั้งมีมายา จะขัดขวางทาน เมื่อพระองค์ให้ทานด้วยศรัทธา ก็อย่าได้คำนึงถึงมารดาของพระกุมารทั้งสองเลย ข้าพระองค์ จะต้องรีบไปเดี๋ยวนี้ ขอพระองค์ตรัสเรียกพระกุมารทั้งสองมา อย่าให้ทันได้พบพระมารดาเลย  เมื่อพระองค์บริจาคทานด้วยศรัทธา บุญก็ย่อมเจริญ และจะได้ไปสวรรค์”

      พระเวสสันดร ตรัสว่า “ถ้าท่านไม่ต้องการพบพระมเหสีของเรา ก็จงถวายลูกทั้งสองนี้ให้พระเจ้าสญชัย ผู้เป็นพระอัยกา ได้ทอดพระเนตร ลูกเราทั้งสองคนนี้ พูดจาน่ารัก ช่างเจรจา  พระองค์จะทรงปีติ จะพระราชทานทรัพย์มากมาย ให้ท่าน”

      ชูชก ทูลว่า “ข้าพระองค์ กลัวถูกจับไปลงราชทัณฑ์ ด้วยข้อหาขโมยพระกุมาร ขอพระองค์ โปรดฟัง เมื่อข้าพระองค์ ไม่มีทรัพย์ ทาสและทาสี กลับบ้าน นางอมิตตตาปนา จะตำหนิเอาได้”

      พระเวสสันดร ตรัสว่า “พระมหาราชเจ้า ผู้ปกครองแคว้นสีพี ทรงปกครองแผ่นดิน โดยธรรม  เมื่อพระองค์เห็นหลานทั้งสอง คงดีพระทัย จะพระราชทานทรัพย์มากมาย ให้ท่านอย่างแน่นอน”

      ชูชก ทูลว่า “ข้าพระองค์ คงจะไม่ทำตามรับสั่ง แต่จะนำเด็กทั้งสองไปรับใช้นางอมิตตตาปนา พราหมณี ที่แคว้นกาลิงครัฐ”

      สองพี่น้อง ได้ยินชูชกสนทนากับบิดา ก็กลัวจนตัวสั่น จึงพากันแอบหลบไปอยู่ ข้างหลังอาศรม แม้เช่นนั้น ก็ยังไม่อุ่นใจ จึงหนีออกไป ซ่อนอยู่ที่พุ่มไม้ สั่นสะท้าน หวาดกลัว นึกถึงภาพที่ถูกชูชกจับไป เมื่อไม่สามารถจะอยู่ที่ไหนได้ ก็วิ่งไปวิ่งมา ไปจนถึงสระโบกขรณี ทั้งสองพี่น้อง ไม่รู้จะหลบซ่อนที่ไหน  จึงตกลงกันว่า จะลงไปแอบอยู่ในสระ ถ้าลงไปอยู่ในสระ บิดาเห็นรอยเท้า เดินลงน้ำ ก็ต้องรู้ว่าอยู่ในสระ จึงเดินถอยหลังลงน้ำ เหมือนคนเดินขึ้นจากน้ำไปยืนแอบอยู่ในน้ำที่เต็มไปด้วยกอบัว  เอาใบบัวปิดบังพระเศียรไว้

      ชูชก มองไปรอบ ๆ ไม่เห็นสองกุมาร จึงพูดค่อนแคะพระเวสสันดรว่า “ปากพระองค์ ก็ว่าประทานพระกุมาร ให้ข้าพระองค์ ครั้นข้าพระองค์ ทูลว่า จะไม่ไปกรุงเชตุดร แต่จะนำพระกุมารไปรับใช้นางอมิตตตาปนา พราหมณีของข้าพระองค์ ที่แคว้นกาลิงครัฐ พระองค์ ก็ให้สัญญาณ  โบกไม้โบกมือ ให้พระโอรส และพระธิดา หลบหนีไปเสีย แล้วนั่งทำเป็นทองไม่รู้ร้อน คนปากว่าตาขยิบ โกหก เช่นพระองค์ ก็มีในโลก”

พระเวสสันดร ได้ยินดังนั้น ก็ตกใจ ดำริว่า ลูกทั้งสอง คงจะแอบหลบหนีไปแล้ว จึงรับสั่งกับพราหมณ์ว่า “ท่านอย่ากังวล เราจะไปตามมาให้” จึงลุกขึ้นเดินไปหลังอาศรม ก็ทราบว่า  พระโอรส และพระธิดา หนีเข้าสู่ป่าใหญ่ พระองค์ตามรอยเท้า ไปจนถึงสระน้ำ เห็นรอยเท้าขึ้นจากสระ  แต่ไม่มีรอยเท้าลงน้ำ ก็ทราบได้ทันทีว่า พระโอรส และพระธิดา ลงไปยืนหลบอยู่ในน้ำ จึงตรัสเรียกว่า  “ชาลี ลูกรัก ลูก ขึ้นมาเถิด จงเพิ่มพูนบารมีของพ่อ ให้เต็ม จงช่วยโสรจสรงหัวใจพ่อ ให้เย็นฉ่ำ  จงทำตามคำพ่อ ขอให้ลูกทั้งสอง จงเป็นนาวา นำพ่อข้ามมหาสมุทร คือ ภพ พ่อจะข้ามฝั่ง คือ ชาติ  แล้วจะนำมนุษย์ทั้งเทวดา ให้ข้ามพ้นด้วย”

      พระชาลีราชกุมาร คิดว่า ตาพราหมณ์ จะฆ่าจะแกงเราก็ตาม เราจะไม่ให้พระบิดาต้องพูดซ้ำถึงสองสามครั้ง จึงแหวกใบบัว โผล่หัวออกมา ขึ้นจากน้ำ หมอบแทบพระบาทเบื้องขวาพระโพธิสัตว์ กอดข้อพระบาทพระบิดา กรรแสง

      พระเวสสันดร ตรัสถามว่า “น้องหญิงของลูก ไปไหน” พระชาลีกราบทูลว่า “เมื่อภัยเกิดขึ้น  สัตว์ทั้งหลาย ก็ย่อมรักตัวกลัวตาย” พระโพธิสัตว์ก็ทรงทราบว่า ลูกทั้งสอง คงนัดแนะกันไว้ก่อน จึงตรัสเรียก

      พระกัณหาชินาราชกุมารี คิดว่า เราจะไม่ให้พระบิดา ต้องพูดซ้ำถึงสองสามครั้ง จึงขึ้นจากน้ำเหมือนกัน หมอบแทบพระบาทเบื้องซ้ายพระเวสสันดร ทรงกรรแสง กอดข้อพระบาทพระบิดาไว้แน่น  น้ำตาสองพี่น้อง หยดเปรอะเปื้อนพระบาทพระเวสสันดร แม้น้ำตาของพระเวสสันดร ก็หยดลงบนพระปฤษฎางค์พระโอรสทั้งสองพระองค์ เช่นกัน

      พระเวสสันดร ทรงหวั่นไหว มีพระทัยหดหู่ ลูบหลังพระโอรส อย่างอ่อนโยน ประคองให้ลุกขึ้น ว่า “ลูก ไม่รู้ว่า พ่อครุ่นคิดถึงทานบารมี มาตลอดดอกหรือ ลูก จงช่วยทำให้บารมีของพ่อเต็ม” แล้ว ประทับยืนในที่นั้น กำหนดราคาพระโอรส และพระธิดา ว่า “ชาลี ถ้าลูกอยากเป็นไท ลูกต้องให้ ทองคำ ๑,๐๐๐ ลิ่ม แก่พราหมณ์ เป็นค่าไถ่ ส่วนน้องหญิงของลูก มีสิริโฉมงดงาม ถ้าค่าไถ่น้อย  คนที่มีชาติต่ำ ก็จะได้ไป แม้มีทรัพย์เพียงเล็กน้อย นำมาไถ่จากพราหมณ์ ก็ทำให้น้องสาวของลูกเป็นไท เขาจะทำให้น้องสาวของลูก เสื่อมชาติ ยกเว้นกษัตริย์ ไม่มีใครสามารถให้สมบัติมากมายได้  ถ้าน้องหญิงของลูก อยากจะเป็นไท ต้องให้ทาสี ทาส ช้าง โค อย่างละ ๑๐๐ และทองคำ ๑๐๐ ลิ่ม  แก่พราหมณ์ เป็นค่าไถ่ จึงจะเป็นไท”

      พระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ กำหนดราคาพระกุมารทั้งสอง อย่างนี้แล้ว ทรงปลอบโยนลูก นำเสด็จกลับไปอาศรม จับเต้าน้ำ เรียกชูชกมา แล้วหลั่งน้ำ ลงในมือชูชก ปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณว่า “แม้บุตร จะเป็นที่รักยิ่งของเรา เพียงไรก็ตาม แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา ยิ่งกว่าบุตรทั้งสอง ร้อยเท่าพันเท่า”

      ขณะพระเวสสันดร หลั่งน้ำทักษิโณทกให้เทวดาฟ้าดินได้ร่วมเป็นสักขีพยาน และอนุโมทนา ถึงการสร้างทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ด้วยการบริจาคพระโอรสนั้น พื้นเมทนีดล ก็กัมปนาทหวั่นไหว เกิดอัศจรรย์ น่าขนพองสยองเกล้า แผ่นดินใหญ่ เกิดอึกทึกกึกก้องคำรามลั่น สั่นสะเทือนด้วยเดชแห่งทานบารมี ฝนก็ตกโปรยปรายลงชั่วขณะ สายฟ้าก็แลบแปลบพราย ผิดกาลผิดสมัย  มหาสาคร ก็กระเพื่อมปั่นป่วน ภูเขาสิเนรุ ก็โอนเอนน้อมยอดลงไปทางเขาวงกต ท้าวสักกเทวราชประสานพระหัตถ์ ประนมไหว้ มหาพรหม ประทานสาธุการ หมู่เทวดา ก็ส่งเสียงสาธุการบันลือลั่น เกิดโกลาหล ไปจนถึงพรหมโลก สัตว์สี่เท้า มีราชสีห์ เป็นต้น ที่อยู่ในป่าแห่งนั้น ก็ส่งเสียงร้องบันลือขึ้นพร้อมกันกึกก้องไปทั่วไพร

      พระเวสสันดร ทรงให้บุตรเป็นทานแล้ว ก็เกิดปีติ ว่า ได้บริจาคแก้วตาดวงใจให้เป็นทาน ประทับยืนทอดพระเนตรตามพระโอรส และพระธิดา

ลักษณะผู้ทำร้ายมิตร ๑๘ ประการ

      ฝ่ายชูชก เข้าป่า เอาฟันกัดเถาวัลย์ ถือมา ผูกพระหัตถ์เบื้องขวาของพระชาลี และพระหัตถ์เบื้องซ้ายของพระกัณหา จับปลายเถาวัลย์ไว้ ขู่ตะคอกอย่างหยาบคาย โบยตี ฉุดลากพาไป ต่อหน้าพระเวสสันดร

      ผิวกายสองพี่น้อง ตรงที่ถูกตี แตกปริ เป็นรอย เลือดไหลซิบออกมา เมื่อถูกพราหมณ์ตี สองพี่น้อง ต่างเอาหลังเข้ารับไม้ แทนกันและกัน ชูชกลื่นล้มลงในที่แห่งหนึ่ง เถาวัลย์เคลื่อนหลุดจากแขน พระกุมารทั้งสอง จึงร้องไห้ น้ำตานองหน้า วิ่งหนีกลับไปหาพระบิดา สะอื้นไห้ สั่นเทิ้มไปทั้งตัว กราบพระบาทพระบิดา ทูลว่า “พระมารดา ไปป่า ยังไม่กลับมา ขอให้หม่อมฉัน ได้พบพระมารดาก่อน จึงค่อยประทาน ให้พราหมณ์ เมื่อถึงเวลานั้น พราหมณ์ชูชกนี้ จะขาย หรือจะฆ่า หม่อมฉัน ก็สุดแล้วแต่ ชูชกนี้ มีลักษณะบุรุษโทษ ๑๘ ประการ คือ

. ตีนแบ

. เล็บกุด

. มีปลีน่อง ย้อยยาน  

. มีริมฝีปากบนยาว ปิดริมฝีปากล่าง

. น้ำลายไหลเป็นยางยืด ทั้งสองแก้ม

๖. เขี้ยวยาว งอกออกจากริมฝีปาก เหมือนเขี้ยวหมู  

. จมูกหัก

. มีพุงโต เป็นกะเปาะ เหมือนหม้อใหญ่  

. หลังค่อม

๑๐. ตาเหล่

๑๑. หนวดเคราแข็ง สีเหมือนลวดทองแดง

๑๒. ผมสีเหลือง

๑๓. หนังย่น ตกกระ เส้นเอ็นปูดโปน

๑๔. ตาเหลือกเหลือง

๑๕. เอวคด หลังโกง คอเอียง

๑๖. ขาโก่ง

๑๗. ขนตามตัวดก หยาบ ยาว

๑๘. นุ่งห่มหนังเสือเหลือง เป็นดังอมนุษย์ น่ากลัว

      ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์นี้ ไม่ใช่มนุษย์ แกเป็นยักษ์กินคน จากบ้าน เข้าป่ามาขอลูกไปกิน พระองค์เห็นหรือไม่ว่า หม่อมฉันทั้งสอง ถูกปีศาจพาไป พราหมณ์ชูชก ตีหม่อมฉันทั้งสอง  เหมือนตีฝูงโค พระองค์ ไม่เห็นหรือ พระทัยของพระองค์ แข็งราวกับเหล็ก ทนเห็นลูกถูกตีได้อย่างไร น้องหญิงกัณหา ยังเล็กนัก เกิดมา ยังไม่รู้จักทุกข์เลย สักนิดเดียว ขอให้น้อง อยู่กับพระบิดาที่นี้ เมื่อไม่เห็นเสด็จแม่ น้องจะร้องไห้ เหี่ยวแห้งตายไป เหมือนลูกกวางที่ยังไม่หย่านม  พลัดพรากจากฝูง ร้องคร่ำครวญหาแม่ อยากกินนม ขอเสด็จพ่อประทานหม่อมฉันเพียงคนเดียวเท่านั้น ให้พราหมณ์ น้องหญิงกัณหา ยังไม่รู้จักความทุกข์ยากเลย ขอให้น้องกัณหา อยู่ที่นี้กับพระบิดาเถิด”  

      แม้พระชาลีกุมาร กราบทูลอย่างนี้ พระเวสสันดร ก็ไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย พระชาลีกุมารจึงคร่ำครวญถึงพระชนกพระชนนีว่า “ทุกข์ ที่ต้องตกเป็นทาสคนอื่น ไม่สู้กระไรนัก เพราะทุกข์นี้ ลูกผู้ชายรับได้ แต่การที่น้องหญิงกัณหา ไม่ได้เห็นพระมารดา เป็นทุกข์ยิ่งกว่า  เมื่อเสด็จแม่ไม่เห็นน้องหญิงกัณหา ผู้น่ารัก น่าเอ็นดู ก็จะกรรแสงสิ้นราตรีนาน วันนี้ ลูกทั้งสอง จะจากป่า จากสวน จากแม่น้ำ ที่เคยเที่ยววิ่งเล่น จากทั้งดอกไม้ต่าง ๆ ที่เคยทัดทรง  จะจากผลไม้หลากชนิด บนภูผา จากตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า ตุ๊กตาวัว ที่พระบิดาปั้นให้เล่น”

      เมื่อสองพี่น้อง คร่ำครวญอยู่อย่างนี้ ชูชก ก็ตามมาโบยตี ดึงลากกลับไป สองพี่น้อง ได้ฝากความกราบทูลพระมารดาว่า “ขอเสด็จพ่อ โปรดบอกเสด็จแม่ว่า ลูกทั้งสอง สบายดี ขอให้เสด็จพ่อ จงทรงมีความสุขสำราญเถิด โปรดประทานตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า ตุ๊กตาวัว ของลูก แด่เสด็จแม่  พระองค์จะได้ดูต่างหน้า เมื่อเสด็จแม่ เห็นของเล่น ที่ลูกทั้งสองเคยเล่น จะทรงบรรเทาความเศร้าโศกได้”  

      เมื่อพระโอรส กราบทูลเช่นนั้น พระเวสสันดร เกิดความเศร้าโศก อย่างมาก ทรงหวนระลึกถึง พระโอรส พระธิดา ดวงหทัย ก็รุมร้อน เจ็บปวด ทรงหวั่นไหว ด้วยความเศร้าโศก ไม่สามารถจะดำรง  พระองค์อยู่ได้ มีพระเนตรนองไปด้วยน้ำตา เสด็จเข้าอาศรม พร่ำรำพัน อย่างน่าเวทนาว่า  

“วันนี้ ลูกทั้งสอง จะเป็นอย่างไรบ้าง จะหิว จะกลัว เดินทางร้องไห้ไปอย่างไร เวลาเย็นจะกินอาหารอย่างไร ใครจะหาข้าวปลาอาหารให้กิน ลูกทั้งสอง จะร้องขออาหารจากแม่ว่า “แม่จ๋า ! ลูกหิว” ลูกทั้งสอง เดินเท้าเปล่า จะเดินทางไปได้อย่างไร เท้าพองบวม ใครจะอุ้มให้เดิน  ชูชกตีลูก ๆ ต่อหน้าต่อตาเรา แกช่างไม่ละอายใจบ้าง แกชั่วช้าจริง ๆ ใครจะเลวร้ายถึงขนาดกล้าตีลูกคนอื่น ที่เขาให้ไปเป็นทาส ต่อหน้าต่อตาได้ แต่นี่ชูชก ด่า ตีลูก ต่อหน้าต่อตาเรา”

      พระเวสสันดร ทรงรำพึงด้วยความรักลูก แล้วก็ทรงคิดว่า “พราหมณ์นี้ ทำร้ายลูกเราเหลือเกิน  เราจะตามไปฆ่าพราหมณ์ นำลูกกลับมาดีไหม เราจะถือพระแสงศร เหน็บพระแสงขรรค์ ไปตามลูกกลับมา ลูกทั้งสอง ถูกเฆี่ยนตี เราเป็นทุกข์ เหลือเกิน” ครั้นแล้ว ก็กลับหวนคิดได้ว่า “การที่ลูกเรา ถูกทำร้าย เป็นความลำบากยิ่ง อย่าคำนึงเลย การบริจาคบุตรเป็นทาน แล้วเกิดความเดือดร้อนใจ ภายหลัง แล้วจะบริจาคไปทำไม ไม่ใช่ธรรมของสัตบุรุษ”

ประเพณีพระโพธิสัตว์

      ขณะนั้น พระเวสสันดร ทรงอนุสรณ์ถึงประเพณีพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย แล้วทรงอบรมพระองค์เองว่า “พระโพธิสัตว์ ที่ไม่บริจาค มหาบริจาค ๕ ประการ คือ

      ๑. ไม่บริจาคทรัพย์

      ๒. ไม่บริจาคอวัยวะ

      ๓. ไม่บริจาคชีวิต

      ๔. ไม่บริจาคบุตร

      ๕. ไม่บริจาคภรรยา

      ไม่เคยได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ตัวเรา ก็อยู่ในจำพวกพระโพธิสัตว์ ถ้าเราไม่บริจาคบุตรและภรรยา ก็เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ เวสสันดร เป็นอย่างไร ท่านไม่รู้หรือว่า การบริจาคลูกให้คนอื่น ทำให้เกิดความทุกข์ระทมขมขื่นใจ ไม่มีใคร ที่ไม่เป็นทุกข์ เพราะการให้ลูกแก่คนอื่น ท่านจะตามไป ฆ่าชูชก ด้วยเหตุไร บริจาคทานแล้ว เกิดความเดือดร้อนใจภายหลัง ก็ไม่ต้องทำ”

พระเวสสันดร ตำหนิพระองค์เอง อย่างนี้แล้ว ทรงอธิษฐาน สมาทานศีลอย่างแน่วแน่ว่า นับจากวันที่บริจาคลูกแล้ว ถึงชูชกจะฆ่าลูกทั้งสอง พระองค์จะไม่กังวล แล้วเสด็จออกจากอาศรมไปประทับนั่งบนแผ่นศิลา ใกล้ประตูทางเข้าอาศรม

      ขณะที่ชูชกโบยตีพระชาลีราชกุมาร และพระกัณหาชินาราชกุมารี ต่อหน้าพระโพธิสัตว์  ฉุดกระชาก ลากไป พระชาลี ปลอบน้องสาวว่า  

“ผู้คนในโลกนี้ พูดเอาไว้จริงทีเดียวว่า ผู้ใด ไม่มีมารดา ผู้นั้น ไม่มีทั้งบิดาด้วย มาเถิดน้องหญิงกัณหา น้องอย่ากลัวเลย เราจะตายด้วยกัน พระบิดา ได้ประทานเราทั้งสองให้พราหมณ์แล้ว อยู่ไป ก็ไม่มีประโยชน์ ถึงอย่างไร เราก็ต้องจากป่าแห่งนี้ไป”

      ชูชกพราหมณ์ พลาดล้มในสถานที่ขรุขระแห่งหนึ่ง เถาวัลย์ที่ผูก ก็เคลื่อนหลุดจากพระหัตถ์  พระกุมารทั้งสอง สองพี่น้อง สั่นสะท้านไปทั้งตัว เหมือนไก่ถูกตี วิ่งหนีกลับมาหาพระบิดาอย่างเร็ว

      ฝ่ายชูชกเฒ่า ลุกขึ้นได้ ก็ถือเถาวัลย์ และไม้ วิ่งตามไปอย่างรวดเร็ว ด้วยความกราดเกรี้ยว จึงขู่สำทับว่า “เจ้าทั้งสอง ฉลาดนักนะ ชอบหนีเหลือเกิน” จึงผูกพระหัตถ์สองพี่น้อง ลากกลับไปอีก  พราหมณ์ถือเถาวัลย์ ด้วยมือข้างหนึ่ง อีกข้าง ถือไม้เฆี่ยนตีไป ต่อหน้าพระเวสสันดร ที่ประทับนั่งอยู่  

      พระกัณหาชินา เหลียวกลับมาสะอื้นไห้ ตัดพ้อพระบิดาว่า “เสด็จพ่อ พราหมณ์นี้เอาไม้เท้า ตีหม่อมฉัน เหมือนนายตีทาสี ไหนเสด็จพ่อบอกว่า พราหมณ์มีธรรม แต่ตาพราหมณ์นี้  ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยักษ์แปลงเป็นพราหมณ์มา นำหม่อมฉันสองพี่น้อง ไปเคี้ยวกิน พระองค์ไม่เห็นหรือ”

      เมื่อพระราชกุมารีน้อย สะอึกสะอื้นร่ำไห้รำพัน ร่างกายสั่นเทิ้มเดินไป พระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ ทรงเศร้าโศกอย่างมาก ดวงหทัยร้อนผ่าว อึดอัด หายใจไม่สะดวก ทรงระบายลมหายใจ อันร้อนผ่าว ทางพระโอษฐ์ น้ำตาไหลเป็นทาง เหมือนหยาดเลือด ไหลออกจากพระเนตรทั้งสองข้าง ทรงดำริว่า “ทุกข์ใหญ่หลวงเช่นนี้ เกิดขึ้นกับเรา เพราะความรัก หาใช่เพราะเหตุอื่น  ไม่เราควรวางจิตเป็นกลาง ให้อยู่ในอุเบกขาธรรม อย่าทำความเสน่หาอาวรณ์” ทรงกล้ำกลืนฝืนความเศร้าโศก ด้วยกำลังแห่งพระญาณของพระองค์ แล้วประทับนั่งอยู่ ด้วยอาการเป็นปกติ

      พระธิดากัณหาชินาราชกุมารี เสด็จไปยังไม่ทันพ้นป่า ก็เดินคร่ำครวญไปตามทางว่า  “เราสองพี่น้อง เจ็บปวดเท้าเหลือเกิน ทั้งหนทาง ก็ไกล เดินลำบาก ดวงอาทิตย์จะตกดินอยู่แล้ว  พราหมณ์ ก็ยังไม่ยอมหยุดพัก เขาจะพาเราสองพี่น้อง เร่งรีบเดินทางไปไหน” แล้วก็ยกมือขึ้นไหว้  อธิษฐานต่อป่าเขาลำเนาไพรว่า

“เราสองพี่น้อง ขอน้อมนบไหว้เหล่าเทพเทวา ที่สิงสถิตอยู่ตามภูผาพนาลัย ที่แม่น้ำ และ สระบัว ทั้งที่ทุ่งหญ้า ลดาวัลย์ สรรพพฤกษา ที่เป็นโอสถ ที่เกิดในเขา และป่าไพร ขอจงทูลแด่พระมารดาว่า เราสองพี่น้อง เป็นสุขสบายดี ขอพระมารดา อย่าได้เป็นห่วง อย่าได้ทุกข์โศก   เพราะไม่ได้เห็นเราสองพี่น้อง ข้าแต่เทพเจ้า ขอเหล่าท่าน จงทูลแด่พระมารดาของเรา ผู้มีพระนาม  “พระแม่มัทรี” ถ้าพระมารดา ต้องการจะติดตามลูก ก็ให้รีบติดตามมาทางนี้เร็ว ๆ อย่าไปทางอื่น  จะได้พบลูกทั้งสอง พระมารดาไปหาผลไม้ในป่า กลับมา ไม่พบลูก จะระทมทุกข์ขนาดไหน วันนี้  คงหาผลไม้ได้มาก จนลืมกลับอาศรม คงไม่ทราบว่า ลูกถูกพราหมณ์ใจร้ายผูกไว้ แล้วตีเหมือนตีโค  ถ้าลูกทั้งสอง ได้พบพระมารดาเสด็จกลับมาจากหาผลไม้ในเย็นวันนี้ พระมารดาคงประทานผลไม้กับรวงผึ้ง ให้พราหมณ์ พราหมณ์นี้ กินอิ่มแล้ว คงจะไม่พาลูกทั้งสอง รีบเดินทางไป แม่จ๋า  เท้าของลูก บวมพองแล้ว ลูกเจ็บเหลือเกิน พราหมณ์ ก็ยังเร่งให้เดินไม่หยุด”  

พระธิดากัณหาชินา สะอึกสะอื้นร้องไห้รำพัน เดินตามพราหมณ์ไปในสถานที่ต่าง ๆ

พระนางเจ้ามัทรี

      เมื่อพระเวสสันดร บริจาคพระโอรส และพระธิดา ให้พราหมณ์เฒ่าเป็นทาน เกิดมหัศจรรย์ มหาปฐพีบันลือลั่นโกลาหลไปจนถึงพรหมโลก หมู่เทวดาผู้อยู่ในหิมวันตประเทศ เป็นประหนึ่งว่า หัวใจจะแตกสลาย เพราะได้ยินเสียงร้องไห้รำพันของสองพี่น้อง ที่ชูชกพราหมณ์พาไป ต่างปรึกษากันว่า ถ้าพระนางเจ้ามัทรี เสด็จกลับถึงอาศรมสถานแต่หัววัน พระนางไม่เห็นพระโอรส พระธิดาในอาศรม ทูลถามพระเวสสันดร ทรงทราบว่า พระสวามี พระราชทานให้พราหมณ์ชูชกไปแล้ว  จะต้องเสด็จตามไป ด้วยความรักพระโอรส ก็จะประสบทุกข์อยู่กลางป่า อย่างสาหัส

      เหล่าเทวดา จึงให้เทพบุตร ๓ องค์ จำแลงกายเป็นราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลืองไปขวางทางเสด็จพระนางมัทรีไว้ แม้พระนางวิงวอนขอทาง ก็อย่าให้ จนกว่าดวงอาทิตย์จะตกดิน และ  จัดการอารักขาพระนางให้ดี อย่าให้สัตว์ร้ายทำอันตรายพระนางได้

      เทพบุตรทั้งสาม ต่างจำแลงกาย กลายเป็นราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง มานอนหมอบเรียงกัน ขวางทางที่พระนางเจ้ามัทรี จะเสด็จมา

      ส่วนพระนางเจ้ามัทรี ขณะเข้าป่าหาผลไม้ ทรงหวั่นพระทัยว่า พระองค์ฝันร้าย จะรีบหาผลไม้ แล้วกลับอาศรมแต่ยังวัน

      ขณะเดินเที่ยวหาผลไม้ ก็เกิดลางร้าย เสียมหลุดจากพระหัตถ์ กระเช้าก็พลัดตกจากบ่า  พระเนตรเบื้องขวาก็เขม่น ต้นไม้ที่กินผลได้ ก็ไม่ค่อยมี ส่วนต้นไม้ที่กินผลไม่ได้ ก็กลับออกผลมากมายเต็มไปหมด พระนางหลงทาง กำหนดทิศไม่ได้ ทรงรำพึงอยู่กลางป่าว่า “นี่ เป็นอย่างไรหนอ ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ ไม่เคยเป็นอย่างนี้ หรือจะเกิดเหตุไม่ดีอะไรกับเรา กับลูก หรือพระสวามี” ทรงรำพึงกับพระองค์เองว่า “เสียมก็หลุดจากมือ กระเช้าก็พลัดตกจากบ่า นัยน์ตาข้างขวาก็เขม่น หาผลไม้ก็ไม่ได้ ทิศทั้งปวง ก็ฟั่นเฟือน ลุ่มหลง”

      พระนางเจ้ามัทรี คำนวณดูเวลาว่า อาทิตย์บ่ายคล้อยแล้ว จึงเสด็จกลับอาศรม ในเวลาเย็น  ขณะเดินมาตามทาง สัตว์ร้าย ได้นอนขวางทาง พระนางรำพึงว่า อาทิตย์ใกล้ตกดินแล้ว อาศรมก็ยังอยู่อีกไกล เราจะนำผลไม้ ไปให้พระสวามี และลูกทั้งสอง ได้อย่างไร พระองค์อยู่ที่อาศรม เห็นเรายังไม่กลับ คงจะปลอบโยนลูก ซึ่งกำลังหิว ลูกทั้งสอง เป็นกำพร้าเข็ญใจ เคยได้ดื่มนมตามเวลา  เคยลุกวิ่งออกไปรับเราใกล้อาศรม เหมือนลูกโคอ่อนยืนคอยนมแม่ ทางเดินไปอาศรม ก็มีเพียงทางเดียว  ด้านข้าง มีสระลึก ไม่มีทางอื่น แยกไปอาศรม

      ครั้นแล้ว พระนางทรงยกพระหัตถ์ขึ้นประนม กล่าวว่า “ข้าขอนอบน้อมพระยาพาลมฤค  ผู้มีกำลังมากในป่า ท่านทั้งหลาย เป็นพี่ของข้า โดยธรรม จงหลีกทางให้ข้าด้วยเถิด ข้าเป็นมเหสี  ของพระเวสสันดร ผู้ถูกเนรเทศ ให้มาอยู่ป่า ขณะนี้ พระองค์อยู่ในอาศรมเพียงคนเดียว คงกำลังปลอบลูกน้อยทั้งสอง ที่หิวกระหาย คอยมองทางข้ากลับมา ขอท่านทั้งหลาย จงหลีกทางให้ข้าได้ไปพบลูกทั้งสอง ดวงอาทิตย์ก็คล้อยลงต่ำ นี่ก็เย็นมากแล้ว อาศรมก็อยู่อีกไกล ลูกกำพร้าทั้งสองน่าสงสาร คงจะยืนมองทางคอยแม่มา รากไม้ผลไม้นี้ มีมาก และอาหาร ก็มีไม่น้อย ข้าให้พวกท่านครึ่งหนึ่ง พระมารดาของข้า เป็นพระราชบุตรี และพระบิดาของข้า ก็เป็นพระราชบุตรเช่นกัน   ท่านทั้งหลาย จงเป็นพี่ของข้า โดยธรรม ขอท่านทั้งหลาย จงหลีกทางให้ด้วยเถิด”

      แม้เช่นนั้น เทพบุตรที่จำแลงเป็นสัตว์มาขวางทาง ก็ไม่ยอมหลีกทางให้ รอจนรู้ว่า ได้เวลาจึงลุกขึ้น เดินหลีกไป เมื่อสัตว์ร้ายทั้งสามไปแล้ว พระนางเจ้ามัทรี จึงกลับอาศรม อย่างรีบเร่ง  

      วันนั้น เป็นวันพระอุโบสถ พระจันทร์คืนเพ็ญส่องสว่างไปทั่วผืนป่า เสียงนกกลางคืนแว่วมาจากที่ไกล พระนางเจ้า เสด็จถึงท้ายที่จงกรม ไม่เห็นลูกรักทั้งสอง ซึ่งเคยออกมายืนรอรับ จึงรำพึงกับพระองค์เองว่า

“เคยเห็นลูกน้อยทั้งสอง หน้าตาขะมุกขะมอมไปด้วยฝุ่น ยืนรอรับที่นี่ แต่วันนี้ ทำไม ไม่เห็นลูกทั้งสองร่าเริง วิ่งมาต้อนรับ ค้นชายพกแม่ ทำให้แม่ชื่นใจ วันนี้ ไม่เห็นลูก แม่ทิ้งลูกไว้  แล้วออกไปหาผลไม้ เหมือนแม่นกออกจากรัง เหมือนแม่ราชสีห์ทิ้งลูกไว้ ไปหาเหยื่อ แม่กลับมา  ไม่เห็นหน้าลูกรักทั้งสอง เห็นแต่รอยเท้าเหยียบย่ำอยู่ตามผืนทราย กองทรายที่ลูกทั้งสองกองไว้  ก็ยังเกลื่อนอยู่ ไม่ไกลจากอาศรม แม่เคยเห็นลูกทั้งสอง เอาทรายโปรยเล่น จนกายขะมุกขะมอมไปด้วยฝุ่น วิ่งไปรอบ ๆ นี่ผลมะตูมเหลือง ที่ลูกเล่น ตกอยู่ น้ำนมคัดเต็มถัน แม่เจ็บจนปวด  แต่อกแม่ กลับปวดร้าวราวจะแตก เพราะไม่ได้เห็นหน้าลูก เมื่อก่อน อาศรมเหมือนมีมหรสพเพราะลูกทั้งสอง ร่าเริงเล่นกันสนุกสนาน แต่วันนี้ นี่ อย่างไร อาศรม ช่างเงียบเชียบเสียจริง แม้แต่ฝูงกา ก็ไม่มี ฝูงนก ก็หายไป หรือ ลูกทั้งสอง ตายเสียแน่แล้ว”

      พระนางมัทรี ทรงรำพัน เสด็จไปเฝ้าพระเวสสันดร วางกระเช้าผลไม้ลง เห็นพระโพธิสัตว์ ประทับนั่งนิ่ง อยู่ลำพัง เพียงพระองค์เดียว แต่ไม่เห็นพระโอรส และพระธิดา จึงทูลถามว่า  

“นี้ อย่างไรกัน พระองค์ ทรงนิ่งอยู่ได้ เมื่อคืน หม่อมฉันฝันร้าย ใจก็หวาดหวั่นอยู่ว่า จะเกิดเหตุร้าย แม้ฝูงกา ฝูงนก ก็ไม่มี ลูกทั้งสอง หายไปไหน หรือถูกสัตว์ร้าย กัดกินเสียแล้ว หรือใครนำลูกทั้งสองไป พระองค์ ส่งไปให้เป็นทูตเฝ้าพระสีพีราชที่กรุงเชตุดร หรือเธอผู้ช่างเจรจา หลับอยู่ในอาศรม หรือพากันแอบไปเล่นข้างนอก แล้วพลัดหลงไป”

      แม้พระนางมัทรี จะกราบทูลอย่างนี้ พระเวสสันดร ก็ไม่ได้ตรัสอะไร พระนางจึงกราบทูลว่า

 “เหตุไร พระองค์จึงไม่ตรัสกับหม่อมฉัน หม่อมฉัน มีความผิดอะไร พระองค์เฉยเมยกับหม่อมฉันเช่นนี้ เป็นทุกข์ ยิ่งกว่าการที่หม่อมฉัน ไม่เห็นลูกทั้งสอง การไม่เห็นลูก เป็นทุกข์มากอยู่แล้ว แต่พระองค์ มาเย็นชา ไม่ตรัสกับหม่อมฉันเช่นนี้ ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น ถ้าคืนนี้ พระองค์ไม่บอกหม่อมฉันว่า ลูกไปไหน พรุ่งนี้ พระองค์คงจะได้เห็นศพหม่อมฉัน เป็นแน่”

พระเวสสันดร ดำริว่า จะให้พระนางมัทรีคลายความโศกเพราะบุตร ด้วยคำหยาบ จึงตรัสว่า

 “มัทรี เธอเป็นราชบุตรี มีเกียรติ รูปร่างหน้าตาก็งาม ไปหาผลไม้ตั้งแต่เช้า กลับมาจนมืดค่ำ ทั้งในป่า ก็มีพราน ดาบส และวิทยาธร ท่องเที่ยวอยู่ เป็นอันมาก ใครจะรู้ว่า เธอทำอะไร ลงไป หญิงที่ทิ้งลูกเข้าป่า ตั้งแต่เช้า กลับมาจนมืดค่ำเช่นนี้ ไม่มีใครเขาทำกัน เธอไม่มีแม้เพียงแต่ จะคิดว่า ลูกตัวน้อย จะเป็นอย่างไร หรือสามีของตน จะคิดอย่างไร เธอไปป่าแต่เช้า กลับมาจนมืดค่ำอย่างนี้ คงเห็นว่า ฉันยากเข็ญ”

      พระนางมัทรี ไม่ได้มีความน้อยเนื้อต่ำใจ คิดว่า พระสวามี คงเข้าใจผิดที่พระนางกลับมาช้ากว่าเวลา จึงทูลว่า  

“พระองค์ได้สดับเสียงร้องคำรามกึกก้องของราชสีห์ และเสือโคร่ง ที่มากินน้ำในสระหรือไม่  และขณะหม่อมฉัน เที่ยวหาผลไม้อยู่ในป่าใหญ่ ก็เกิดลางร้ายหลายอย่าง เสียมหลุดจากมือ กระเช้าที่คล้องอยู่บนบ่า ก็พลัดตก หม่อมฉัน ตกใจกลัว เป็นห่วงพระองค์ และลูก ๆ ได้ยกมือขึ้นไหว้ไปทั่วทิศ อธิษฐาน ขอให้หม่อมฉัน และพระองค์ ตลอดจนลูก ๆ รอดพ้นจากภัยนี้ ขออย่าให้ราชสีห์ และเสือเหลือง ทำอันตรายเลย หม่อมฉัน คิดว่า วันนี้ เกิดลางร้ายหลายอย่าง ทั้งเมื่อคืนก็ฝันร้าย จึงตั้งใจ จะกลับเร็วกว่าทุกวัน แต่หาผลไม้ไม่ได้ ไปที่ไหน ก็มีแต่ผลไม้ที่กินไม่ได้ จึงกลับออกจากป่าเย็นไป ซ้ำร้ายราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง ก็มาขวางทาง หม่อมฉัน จึงมาจนตกเย็น ขอพระองค์ ยกโทษให้หม่อมฉันเถิด” แม้เช่นนี้ พระเวสสันดร ก็ไม่ตรัสอะไรกับพระนาง

      พระนางมัทรี รำพันโดยประการต่าง ๆ ว่า “ทำไม ไม่ตรัสกับหม่อมฉันบ้าง หม่อมฉันนุ่งห่ม   หนังเสือเหลือง เก็บผลไม้ในป่า มาให้พระองค์ และลูก ตลอดมา หม่อมฉัน ฝนขมิ้น ทาให้ลูก นำมะตูมสุกเหลืองนี้ มาให้ลูกเล่น และเก็บผลไม้มา ด้วยหวังว่า จะเป็นเครื่องเล่นของลูก ขอเพียงให้พวกเรา ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูก พวกเราถูกเนรเทศจากแว่นแคว้น ร่วมสุขร่วมทุกข์กันมา ไม่ใช่เพราะหม่อมฉันรักพระองค์ และลูกหรอกหรือ พระองค์เห็นลูกบ้างหรือไม่  

หม่อมฉัน เคยด่าสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้มีศีล เป็นพหูสูต ไว้หรืออย่างไร  ชาตินี้ จึงต้องมาพลัดพรากจากลูก

      แม้พระนางมัทรี ทรงรำพันอยู่อย่างนี้ พระเวสสันดร ก็ไม่ได้ตรัสอะไร ๆ ด้วย

ทุกข์ของแม่

      ครั้นพระเวสสันดร ไม่ตรัสอะไร พระนางมัทรี ก็หวาดหวั่นใจ จึงอาศัยแสงจันทร์ ออกเที่ยว ตามหาพระโอรส และพระธิดา เสด็จไปตามสถานที่ต่าง ๆ มีต้นหว้า เป็นต้น ซึ่งเป็นที่พระโอรส  พระธิดา เคยเล่น ทรงคร่ำครวญ ไปตามต้นไม้ ที่ลูกเคยนั่งเล่น แต่ก็ไม่เห็นลูก เห็นเพียงตุ๊กตาช้าง  ตุ๊กตาม้า ตุ๊กตาวัว ที่ลูกทั้งสองเคยเล่น ทิ้งอยู่เกลื่อนกลาด จึงเที่ยวตามหาลูกบนภูเขา เมื่อไม่เห็น ก็ทรงคร่ำครวญ เสด็จลงจากภูเขา กลับมาคร่ำครวญอยู่ในอาศรม ทอดพระเนตรเห็นของเล่นพระโอรส  พระธิดา ก็ยิ่งร้องไห้คร่ำครวญหนักว่า “ตุ๊กตาเนื้อทรายทอง ตุ๊กตากระต่าย ตุ๊กตานกเค้า ตุ๊กตาชะมด  ตุ๊กตาหงส์ ตุ๊กตานกกระเรียน ตุ๊กตานกยูงขนหางวิจิตรเหล่านี้ ที่ลูกทั้งสองเคยเล่น ก็ยังอยู่  แล้วลูกทั้งสอง หายไปไหน” จนทำให้ฝูงสัตว์ และฝูงนก ตกใจ ออกจากที่อยู่ เพราะเสียงคร่ำครวญ  และเสียงฝีพระบาทของพระนางมัทรี

พระนางมัทรี ไม่เห็นลูกทั้งสอง ที่อาศรม ก็ออกจากอาศรม เที่ยวตามหาไปตามป่าอีกครั้ง  ทรงรำพันว่า “พุ่มไม้มีดอก และสระโบกขรณีมีนกจากพราก ส่งเสียงร้อง ดารดาษไปด้วยดอกมณฑา และปทุมอุบล รอยลูกทั้งสองมาเล่น ยังปรากฏอยู่ แต่ลูกทั้งสอง หายไปไหน”

      เมื่อพระนางมัทรี ไม่พบลูกจากที่ไหน ก็เสด็จไปหาพระเวสสันดรอีก เห็นพระองค์ประทับนั่ง  มีพระพักตร์เศร้าหมอง จึงทูลว่า

      “พระองค์ ไม่ได้ออกไปหาฟืน ไม่ได้ไปตักน้ำ ไม่ได้ก่อไฟ ไฉนพระองค์ จึงดูอิดโรย อ่อนแรง  เศร้าหมอง พระองค์ เป็นที่รักของหม่อมฉัน ไม่มีใคร ที่หม่อมฉันรัก ยิ่งกว่าพระองค์ เมื่อก่อน ความทุกข์ยากนานาประการ หายไป เมื่อได้อยู่ร่วมกับพระองค์ แต่วันนี้ แม้หม่อมฉัน เห็นพระองค์  กลับทำให้เกิดความเศร้าโศก มากขึ้น”

      แม้พระนางมัทรี กราบทูลถึงอย่างนี้ พระเวสสันดร ก็ประทับนั่งนิ่งอยู่นั่นเอง เมื่อพระเวสสันดร เย็นชา ไม่ตรัสด้วย พระนาง ก็เต็มแน่นไปด้วยความโศกเศร้า ร่างกายสั่นเทิ้ม เสด็จเที่ยวตามหาลูกไปตามที่เคยตามหาครั้งก่อน เมื่อไม่พบ ก็เสด็จกลับมาเฝ้าพระเวสสันดรอีก กราบทูลว่า“หม่อมฉัน ไม่พบลูก ลูกทั้งสอง คงตายแล้วแน่”

      พระนางมัทรี เศร้าโศก เที่ยวตามหาลูก ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ถึง ๓ รอบ สถานที่ที่พระนางเจ้าเที่ยวไปตลอดคืน เป็นระยะทางราว ๑๕ โยชน์

      ครั้นสว่าง พระนางเจ้า เสด็จมาประทับยืนคร่ำครวญอยู่ใกล้ ๆ พระเวสสันดร  เพราะความที่พระนาง เสด็จเที่ยวไปตามภูเขา เถื่อนถ้ำ ป่าไม้ และความทุกข์ระทมขมขื่นใจ จึงทำให้พระนาง หมดแรง สิ้นสติ ล้มลงใกล้พระยุคลบาทของพระเวสสันดร  

      พระโพธิสัตว์ ทรงตกพระทัย มือไม้สั่น เข้าใจว่า พระนางมัทรี สิ้นพระชนม์ จึงรำพึงว่า  “มัทรี เธอไม่ควรมาตายในป่าแดนไกล หากเธอตายในเชตุดรราชธานี ก็ยังจะได้จัดการศพอย่างยิ่งใหญ่ รัฐทั้งสอง ก็สะเทือนถึงกัน แต่ตัวเรา อยู่กลางป่า แต่เพียงผู้เดียว จะทำอย่างไรได้ แม้แต่เสียมที่จะขุดเสาเชิงตะกอนเผาศพก็ยังไม่มี “  แม้พระองค์ จะโศกเศร้าอย่างมาก แต่ก็ยังมีสติ เสด็จลุกขึ้น ด้วยตั้งใจว่า จะดูให้รู้แน่นอนก่อน  จึงวางพระหัตถ์ตรงหัวใจพระนางมัทรี ทราบว่า ยังมีความอบอุ่นอยู่ จึงนำน้ำจากพระเต้ามา  แม้ไม่ได้ถูกเนื้อต้องกายพระนาง มาตลอด ๗ เดือน ก็ไม่ทรงใส่ใจว่า พระองค์เป็นบรรพชิต  เพราะความเศร้าโศกสงสารพระนางมัทรี ทรงร้องไห้ น้ำตานองหน้า ช้อนพระเศียร พระนางมัทรี ขึ้นวางไว้บนตัก พรมด้วยน้ำ ลูบพระพักตร์ และที่ตรงพระหทัย ประทับนั่งอยู่

      ครู่หนึ่ง พระนางมัทรี ก็กลับได้สติ พระนางเจ้าทรงมีหิริ และโอตตัปปะ ลุกขึ้น  กราบพระโพธิสัตว์ ทรงร้องไห้ น้ำตานองหน้า ทูลถามว่า “ลูกทั้งสอง หายไปไหน” พระโพธิสัตว์ตอบว่า “พี่ ให้เป็นทาสพราหมณ์คนหนึ่ง ไปแล้ว”

      พระนางมัทรี ทูลว่า “พระองค์ ประทานลูกให้พราหมณ์ไป เหตุไร จึงไม่ยอมบอกหม่อมฉัน ให้รู้ ปล่อยให้คร่ำครวญ เที่ยวตามหาอยู่ ตลอดทั้งคืน” พระเวสสันดร ตรัสว่า “พี่ไม่อยากบอกเธอ ให้รู้ตั้งแต่แรก กลัวจะรับไม่ได้ เกิดทุกข์ว่า พราหมณ์เฒ่าเข็ญใจ มาขอลูกไป เธออย่ากลัวเลย  จงยินดีเถิด เธอจงเห็นแก่ฉัน ที่ปรารถนาพระโพธิญาณ อย่าคร่ำครวญนักเลย เธอคร่ำครวญ  ร้องไห้มาก ก็ทำให้พี่เจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก หากเรายังไม่ตาย ก็คงได้พบลูกทั้งสอง สัตบุรุษ  เห็นยาจกมาขอทาน ก็ควรให้ เธอจงอนุโมทนา การให้บุตรผู้เป็นที่รักยิ่งเป็นทานของพี่”

      พระนางมัทรี ทูลว่า “หม่อมฉัน ขออนุโมทนา พระองค์ ทรงบริจาคทานแล้ว จงทำพระทัย ให้เลื่อมใสเบิกบาน ขอจงทรงบำเพ็ญทาน ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด”

      ครั้นพระนางมัทรี ทูลอย่างนี้แล้ว พระเวสสันดร ตรัสว่า “มัทรี เธอพูดอะไร ถึงขนาดฉันให้ลูกที่รักทั้งสอง เป็นทานแล้ว จิตใจฉัน ไม่เลื่อมใส ความอัศจรรย์ทั้งหลาย ก็คงไม่เกิดขึ้น”  แล้วพระองค์ ได้ตรัสเล่าถึงความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ให้พระนางเจ้าฟัง

      พระนางมัทรี เกิดอัศจรรย์ และเลื่อมใสการให้บุตรเป็นทาน อันเป็นทานสูงสุดของพระเวสสันดร

สละพระชายา เพื่อพระโพธิญาณ

      ภายหลังจากพระเวสสันดร ให้บุตรเป็นมหาทานแล้ว ท้าวสักกเทวราช ดำริว่า เมื่อวานนี้ พระเวสสันดร ได้ประทานบุตรแก่ชูชก ทำให้เกิดแผ่นดินไหว บัดนี้ ถ้าจะมีคนต่ำช้าคนหนึ่งไปเฝ้าพระเวสสันดร ทูลขอพระนางมัทรี ผู้ทรงพระสิริโฉม มีศีลาจารวัตรงดงาม เคารพรักพระสวามี ยิ่งกว่าชีวิต ก็จะทำให้พระองค์ อยู่คนเดียว เปล่าเปลี่ยว ขาดผู้ปฏิบัติ อย่ากระนั้นเลย  เราจะแปลงเป็นพราหมณ์ ไปขอพระนางมัทรี ให้พระองค์บริจาคยอดแห่งทานบารมี พระองค์จะได้ไม่บริจาคพระนางมัทรีให้ใคร แล้วถวายพระนางคืนให้

      ครั้นรุ่งเช้า อาทิตย์อุทัยแล้ว ท้าวสักกเทวราช จึงแปลงเป็นพราหมณ์ชรางกเงิ่น ไปปรากฏให้สองกษัตริย์เห็น แต่เช้า แล้วตรัสปฏิสันถาร ถามถึงการเป็นอยู่ พระเวสสันดรตรัสว่า “พระองค์ทั้งสอง อยู่สุขสบายดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บแต่อย่างใด ในป่าใหญ่ แม้จะมีสัตว์ร้ายมากมาย  แต่ก็ไม่ทำอันตราย เมื่อพระองค์มาอยู่ป่า มีชีวิตลำบาก ตลอด ๗ เดือน เพิ่งจะเห็นพราหมณ์  เป็นคนที่สอง ท่านมาก็ดีแล้ว เชิญเข้ามาข้างในเถิด เชิญท่านเลือกทานผลไม้แต่ที่ดี ๆ ดื่มน้ำให้ชื่นใจก่อน”

      พระเวสสันดร ทำปฏิสันถารพราหมณ์ อย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามถึงสาเหตุ ที่เข้ามาป่าใหญ่

      ท้าวสักกเทวราช ทูลว่า มาที่นี้ เพื่อขอพระนางมัทรีอัครมเหสีของพระองค์

      เมื่อท้าวสักกเทวราชในคราบพราหมณ์ชรา ทูลอย่างนี้แล้ว พระเวสสันดร มิได้ตรัสว่า  “เมื่อวานนี้ อาตมา ได้ให้ทานลูกแก่พราหมณ์ไปแล้ว ถ้าให้พระนางมัทรี อาตมาจะต้องอยู่ในป่า เพียงคนเดียว แล้วจะให้มัทรีแก่ท่าน ได้อย่างไร” พระองค์ ไม่ทรงหดหู่ ลังเล ขัดเคือง ราวกับจะยังภูผา ให้บันลือลั่น ตรัสว่า “อาตมา ให้สิ่งที่ท่านขอ ด้วยความยินดี โดยไม่หวาดหวั่น”

      ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระเวสสันดร ทรงจับพระกรพระนางมัทรี ด้วยพระหัตถ์ข้างหนึ่ง จับพระเต้าน้ำ ด้วยพระหัตถ์ข้างหนึ่ง หลั่งน้ำลงในมือพราหมณ์ ได้พระราชทานพระนางมัทรีแก่พราหมณ์

      เมื่อพระเวสสันดร บริจาคพระนางมัทรีให้พราหมณ์ เป็นทาน ได้เกิดความมหัศจรรย์ ขนลุกพองสยองเกล้า แผ่นดิน ได้กัมปนาทหวั่นไหว แม้พระนางมัทรี ก็มิได้แสดงอาการกริ้วพระสวามี ไม่แสดงอาการขวยเขิน ไม่กรรแสง แต่ยินดีในการให้ทาน ของพระสวามี

      พระเวสสันดร คิดว่า มัทรี จะเป็นอย่างไร จึงทอดพระเนตรดูพระพักตร์ของพระนาง พระนางมัทรีจึงทูลถามว่า  “พระองค์ มองดูหน้าหม่อมฉัน ทำไม หม่อมฉัน เป็นชายาของพระองค์ ตั้งแต่ยังรุ่นสาว พระองค์เป็นพระสวามี ชื่อว่า เป็นเจ้าของหม่อมฉัน พระองค์ ทรงประสงค์จะพระราชทานแก่บุคคลใด ก็จงพระราชทานตามพระประสงค์ จะทรงขาย หรือจะทรงฆ่าเสีย ก็ได้”

      เมื่อสละพระชาลีราชโอรส พระธิดากัณหาชินาราชกุมารี และพระนางมัทรี พระเวสสันดรมิได้คิดเสียดายเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น ไม่ใช่ว่า พระองค์เกลียดชังลูกทั้งสอง ไม่ใช่ว่า พระองค์ไม่รักพระนางเจ้ามัทรี จึงให้เป็นทาน แต่เพราะพระองค์ รักพระสัพพัญญุตญาณยิ่งกว่า จึงได้ให้บุตร ธิดา และพระชายา ผู้เป็นที่รัก เป็นทาน เพื่อพระโพธิญาณ  

พร ๘ ประการ

      ท้าวสักกเทวราช ทราบอัธยาศัยอันประณีตของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ จึงชมเชยว่า “พระองค์ทั้งสอง ชนะข้าศึกทั้งมวล ทั้งที่เป็นของทิพย์ และของมนุษย์ ได้แล้ว ปฐพีบันลือลั่น ส่งเสียงสาธุการกึกก้องไปถึงสวรรค์ สายฟ้าก็แปลบปลาบไปโดยรอบ เกิดเสียงโกลาหล ประหนึ่งเสียงภูเขาถล่มทลาย หมู่เทพ ทั้งพระอินทร์ พระพรหม พระปชาบดี พระจันทร์ พระยม  และท้าวเวสสุวัณมหาราช ต่างอนุโมทนาว่า พระองค์ทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง ธรรมของสัตบุรุษ เป็นสิ่งที่อสัตบุรุษ ทำได้ยาก ภพภูมิ ที่ไปจากโลกนี้ ของสัตบุรุษ และอสัตบุรุษ แตกต่างกัน อสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไปสู่นรก ส่วนสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไปสู่สวรรค์ การที่พระองค์เสด็จประทับแรมอยู่กลางป่า ได้ให้พระโอรส และพระมเหสี เป็นทานนี้ จะทำให้พระองค์ สัมฤทธิ์ ในสิ่งที่ปรารถนา”

      ท้าวสักกเทวราช ดำริว่า ไม่ควรจะชักช้า ควรถวายพระนางมัทรี คืนพระเวสสันดร จึงตรัสว่า  “ข้าพระองค์ ขอถวายพระนางมัทรี คืนแด่พระองค์ เพราะพระองค์ทั้งสอง มีฉันทะ อัธยาศัยเสมอกัน พระองค์ทั้งสอง เป็นกษัตริย์ สมบูรณ์โดยสายโลหิต ทั้งฝ่ายพระมารดา และพระบิดาถูกเนรเทศ ให้มาอยู่อาศรมในราวไพรนี้ ขอจงบำเพ็ญบุญกุศลตามสมควรเถิด” แล้วบอกว่า พระองค์เป็นพระอินทร์ ขอให้เลือกรับพร ๘ ประการ

      ครั้นท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสอยู่อย่างนี้แล้ว ก็รุ่งเรือง เปล่งปลั่ง ด้วยร่างทิพย์ สถิตอยู่ในอากาศ

      พระเวสสันดร ตรัสว่า “ข้าแต่ท้าวสักกะ ถ้าพระองค์ จะประทานพร ขอพระชนก ทรงยินดีรับหม่อมฉัน กลับจากป่า สู่พระราชนิเวศน์ ครองราชสมบัติตามเดิม นี้เป็นพรข้อที่ ๑

      หม่อมฉัน ไม่ชอบการฆ่าคน แม้มีนักโทษทำผิดร้ายแรง ขอให้สามารถช่วยเขา รอดพ้นจากโทษประหารชีวิต นี้เป็นพรข้อที่ ๒

      คนที่อยู่ในวัยแก่ คนหนุ่ม และคนกลางคน เหล่านั้น พึงอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีพ ข้อนี้ เป็นพรข้อที่ ๓

      หม่อมฉัน ไม่พึงล่วงเกินภรรยาคนอื่น พอใจ แต่ในภรรยาของตน อย่าตกอยู่ในอำนาจสตรี  นี้เป็นพรข้อที่ ๔

      ขอให้บุตรของหม่อมฉัน ที่พลัดพรากไปนั้น มีอายุยืน จนได้ครองราชสมบัติ ขอให้เขาครองแผ่นดินโดยธรรม นี้เป็นพรข้อที่ ๕

      ขอให้หาอาหารได้ โดยไม่ลำบาก ทุกวัน นี้เป็นพรข้อที่ ๖

      เมื่อหม่อมฉัน บริจาคทาน ทรัพย์สมบัติ อย่าได้หมดสิ้นไป แม้บริจาคแล้ว ก็อย่าได้เดือดร้อน  ในภายหลัง ขณะกำลังบริจาค ก็ขอให้จิตใจผ่องใส นี้เป็นพรข้อที่ ๗

      เมื่อหม่อมฉัน ตายแล้ว ขอให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง ขออย่าได้เกิดอีก นี้เป็นพรข้อที่ ๘

      ท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสว่า “ไม่นานนัก พระบิดาของพระองค์ จะเสด็จมารับพระองค์ ส่วนพระโอรส และพระธิดา ก็อย่าทรงเป็นห่วง” ครั้นท้าวสักกเทวราช ประทานโอวาท อย่างนี้แล้ว ก็เสด็จกลับทิพยสถานของพระองค์

พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า

      พราหมณ์ชูชก พาพระชาลี และพระกัณหาชินา ทั้งสองพระองค์ เดินทางไกล ถึง ๖๐ โยชน์  เหล่าเทพยดา ได้อารักขาพระกุมารทั้งสองพระองค์ ตลอดเส้นทาง

      ในระหว่างการเดินทาง เมื่อดวงอาทิตย์อัสดงคต ชูชก ก็ผูกพระกุมารทั้งสอง ไว้ที่กอไม้  ให้บรรทมที่พื้นดิน ตนเอง ขึ้นต้นไม้ นอนที่หว่างคาคบกิ่งไม้ เพราะกลัวสัตว์ร้าย

      ในขณะนั้น มีเทพบุตรองค์หนึ่ง แปลงเป็นพระเวสสันดร และเทพธิดาองค์หนึ่ง แปลงเป็นพระนางมัทรี มาแก้มัดพระกุมารทั้งสองออก นวดพระหัตถ์ และพระบาท ให้สรงน้ำ แต่งตัว แล้วให้เสวยอาหารทิพย์ ให้บรรทมบนที่นอนทิพย์ พออรุณขึ้น ก็เอาเครื่องพันธนาการผูกไว้ตามเดิม แล้วอันตรธานหายไป

      พระราชกุมารทั้งสองพระองค์ มิได้เจ็บป่วยแต่อย่างไร เสด็จไปด้วยการอนุเคราะห์ของเทวดา อย่างนี้

      ครั้นสว่างแล้ว ชูชกลงจากต้นไม้ พาพระกุมารทั้งสอง เดินทางต่อไป มุ่งหน้าสู่กาลิงครัฐ  จนมาถึงทางสองแพร่ง ทางหนึ่งไปกาลิงครัฐ อีกทางหนึ่งไปกรุงเชตุดร เทวดา ดลใจให้ชูชกเห็นทางไป กรุงเชตุดร เป็นทางไปกาลิงครัฐ ชูชกจึงนำสองกุมารเลือกเดินทาง มุ่งหน้าไปกรุงเชตุดร ด้วยเข้าใจว่า เป็นทางไปแคว้นกาลิงครัฐ ลัดเลาะไปตามเชิงภูผา ที่เดินไปได้ยาก จนลุเข้าเขตกรุงเชตุดร

      ใกล้รุ่งวันนั้น พระเจ้าสญชัย ฝันว่า พระองค์ประทับนั่ง ในท้องพระโรง ขณะนั้น  มีชายคนหนึ่ง ผิวดำ หน้าตาเหี้ยมเกรียม นำดอกบัวสองดอก มาวางไว้ในพระหัตถ์ พระองค์รับดอกบัวทั้งสองดอกไว้ ประดับที่พระกรรณทั้งสองข้าง ละอองเกสรดอกปทุมสองดอก  ร่วงลงบนอกของพระองค์

      พระเจ้าสญชัย ตื่นบรรทม ทรงครุ่นคิดถึงความฝัน จึงตรัสเรียกพราหมณ์ มาทำนาย  พวกพราหมณ์ ทูลพยากรณ์ว่า “พระประยูรญาติ ผู้เป็นที่รักยิ่งของพระองค์ ที่จากไปนานจะกลับมา” พระเจ้าสญชัย สดับคำพยากรณ์นั้นแล้ว ทรงยินดีเป็นอย่างยิ่ง ทรงสนานพระเศียรแล้ว เสวยพระกระยาหาร ตั้งแต่เช้า ตกแต่งพระองค์ ด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง ประทับนั่งในท้องพระโรง  เทวดา ดลใจให้พราหมณ์ชูชก นำพระกุมารมายืนอยู่ที่ท้องสนามหลวง

      ขณะนั้น พระเจ้าสญชัย คอยทอดพระเนตรดูหนทางที่มาสู่ท้องสนามหลวงอยู่ตลอดเวลา  ทรงมีใจจดจ่ออยู่ว่า จะมีใครมา ทรงเห็นพระกุมาร ทั้งสองพระองค์ แต่ไกล จึงตรัสถามข้าราชบริพารว่า “นั่น ใครกัน หน้าตางดงามยิ่งนัก คนหนึ่ง คล้ายชาลี คนหนึ่ง คล้ายกัณหา หลานเรา”

      ทรงรับสั่งอำมาตย์คนหนึ่ง ให้ไปนำพราหมณ์กับเด็กทั้งสองมา อำมาตย์คนนั้น ไปนำพราหมณ์กับเด็กทั้งสองมาเบื้องพระพักตร์ พระเจ้าสญชัยทอดพระเนตรเห็นหลานถูกพราหมณ์ผูกมือจูงมาก็เศร้าโศกยิ่ง จึงตรัสถามพราหมณ์ชูชกว่า “พราหมณ์ ท่านนำเด็กทั้งสองคนนี้ มาจากไหน วันนี้จึงได้มาถึงเมืองของเรา แล้วท่านจะไปไหนต่อ”

      ชูชก กราบทูลว่า “พระเวสสันดร พระราชทานพระราชโอรสทั้งสอง ให้ข้าพระบาท นับแต่ข้าพระบาท ได้พระราชกุมาร พระราชกุมารี มา นับได้ ๑๕ ราตรีเข้าวันนี้”

      พระเจ้าสญชัย ตรัสว่า “ไหน ท่านพราหมณ์ลองว่าไป ท่านพูดอย่างไร พระเวสสันดร จึงประทานลูกให้ท่าน จะเชื่อได้อย่างไรว่า ท่านได้มาโดยชอบ ใครบ้าง จะให้ลูกในไส้เป็นทานได้”

      ชูชก กราบทูลว่า “พระเวสสันดร เป็นที่พึ่งของเหล่าคนยาก ดั่งธรณี เป็นที่พึ่งอาศัยของหมู่สัตว์ และดุจดั่งสาคร เป็นที่รวมแห่งแม่น้ำทุกสาย เมื่อพระเวสสันดร เสด็จประทับแรมอยู่ในป่าใหญ่ พระองค์ ได้พระราชทานพระโอรส และพระธิดา ให้ข้าพระบาท”

      ขณะนั้น พวกอำมาตย์ และข้าราชบริพาร ต่างติเตียนพระเวสสันดรกันขึ้น อื้ออึงว่า “พระเวสสันดร ทำลงไปได้อย่างไร เมื่อครั้ง ยังครองฆราวาส พระองค์ มีพระราชศรัทธา  บริจาคทาน มากมาย จึงถูกขับไล่จากราชอาณาจักร ให้ไปอยู่ในป่า กลับให้ทานลูกในไส้เสียอีก  ดูเอาเถิด หากพระองค์พระราชทานทาส ทาสี ม้า แม่ม้าอัสดร รถ ช้าง และแก้วแหวนเงินทองก็ยังไม่สู้กะไร แต่นี่พระองค์ พระราชทานพระโอรส พระธิดา พระองค์ทำลงไปได้อย่างไร”

      พระชาลีราชกุมาร ทรงอดทนเห็นเหล่าอำมาตย์ตำหนิติเตียนพระชนกไม่ได้ จึงพูดปกป้องพระบิดาว่า “ทาส ทาสี ม้า แม่ม้าอัสดร รถ ช้างกุญชร และแก้วแหวนเงินทอง ในอาศรม     ของพระบิดา ไม่มี ถ้าพระบิดา ไม่ให้ลูก แล้วจะให้อะไร”

      พระเจ้าสญชัย สดับคำองอาจฉาดฉานของหลานเช่นนั้น จึงตรัสว่า “หลานรัก พวกเราสรรเสริญทานของบิดาหลานดอก ไม่ได้ติเตียนเลย บิดาหลาน ให้หลานทั้งสอง แก่คนขอทาน หฤทัยของบิดาหลาน เป็นอย่างไรบ้าง”

      พระชาลีราชกุมาร กราบทูลว่า “พระอัยกา พระบิดา พระราชทานหม่อมฉันทั้งสองให้คนขอทานแล้ว ทรงฟังคำพูดที่น่าสงสารของน้องหญิงกัณหา พระองค์ทรงเป็นทุกข์ทรมานใจยิ่งนัก ทรงกรรแสง พระเนตรแดงก่ำ น้ำตาไหลนองหน้า น้องหญิงกัณหา กราบทูลพระบิดาว่า ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์นี้ เอาไม้เท้าตีหม่อมฉัน เหมือนตีทาสีผู้เกิดในเรือน ไหน คนเขาบอกว่า  พวกพราหมณ์มีธรรม แต่ตาพราหมณ์นี้ ทำไม ไม่เห็นเป็นเช่นนั้น แกเป็นยักษ์แปลงเป็นพราหมณ์มาขอหม่อมฉันทั้งสองไปกินแน่ ๆ หม่อมฉัน ถูกปีศาจนำไป เสด็จพ่อทอดพระเนตรเห็นไหม”  

      พระเจ้าสญชัย สดับเช่นนั้น ทรงสงสารหลานเหลือประมาณ ไม่อาจกลั้นความเศร้าโศกไว้ได้ ก็ทรงกรรแสง ทรงทอดพระเนตรเห็นหลานทั้งสอง ยังยืนอยู่กับพราหมณ์ชูชก ไม่เข้ามาหาพูดจาฉอเลาะ เหมือนเมื่อก่อน จึงตรัสว่า “แม่ของหลาน ก็เป็นพระราชบุตรี พ่อก็เป็นพระราชโอรส เมื่อก่อน หลานทั้งสอง เคยขึ้นนั่งบนตักปู่ คลอเคลียอยู่ข้างกาย เดี๋ยวนี้ ทำไม ยืนอยู่ห่างไกล เข้ามาหาเถิด หลานรัก”

      พระชาลีราชกุมาร น้อยพระทัย จึงกราบทูลว่า “พระชนนีของหม่อมฉัน เป็นพระราชบุตรี  ส่วนพระชนก ก็เป็นพระราชบุตร นั่น ก็เป็นส่วนของพระบิดา และพระมารดา แต่หม่อมฉันทั้งสอง เป็นทาสของพราหมณ์ หม่อมฉันทั้งสอง จึงต้องยืนอยู่ไกล ตามฐานะของทาส”

      พระเจ้าสญชัย สดับเช่นนั้น เหมือนหัวใจจะแตก ตรัสว่า “หลาน อย่าได้พูดอย่างนี้เลย ยิ่งทำให้ปู่เป็นทุกข์ หัวใจปู่ เร่าร้อน กายก็เหมือนถูกยกขึ้นไว้บนกองไฟ หลานรู้ไหม นับจากวันที่พวกเจ้าจากไป ปู่ไม่เคยมีความสุขในราชบัลลังก์เลย ยิ่งหลานรัก พูดอย่างนี้ ยิ่งทำให้เป็นทุกข์ ปู่จะเอาทรัพย์ไถ่หลานมา หลานจะได้ไม่ต้องเป็นทาส พ่อของหลาน ให้หลานทั้งสองแก่พราหมณ์  ตีราคาไว้เท่าไร พนักงาน จะได้ให้พราหมณ์รับทรัพย์ไป”  

      พระชาลีราชกุมาร กราบทูลว่า “พระอัยกา พระบิดา ตีราคาหม่อมฉัน ๑,๐๐๐ ตำลึงทองคำ ส่วนน้องหญิงกัณหา ตีราคาด้วยช้างเป็นต้น อย่างละ ๑๐๐” พระเจ้าสญชัย รับสั่งให้อำมาตย์ไปนำทรัพย์ตามกำหนด มาไถ่หลาน

      พระเจ้าสญชัย ได้พระราชทานสิ่งทั้งปวง อย่างละร้อย และทองคำ ๑,๐๐๐ ตำลึง และพระราชทานปราสาท ๗ ชั้น แก่พราหมณ์เฒ่าชูชก เป็นค่าไถ่หลาน ตั้งแต่นั้น ชูชก ก็มีบริวารมาก  แกรวบรวมทรัพย์ นำขึ้นปราสาท นั่งบนบัลลังก์ใหญ่ กินอาหารอย่างดี นอนบนที่นอนใหญ่

      พระเจ้าสญชัย ให้พระชาลี และพระกัณหาชินาสรงสนาน แล้วให้เสวยโภชนาหาร ทรงประดับหลาน จุมพิตพระเศียร แล้วให้พระชาลีประทับนั่งบนพระเพลา ส่วนพระกัณหาชินาประทับนั่งบนพระเพลาของพระนางเจ้าผุสดี ตรัสถามถึงความเป็นอยู่ของพระเวสสันดรกับพระนางเจ้ามัทรี

      พระชาลีราชกุมาร กราบทูลปู่ว่า “พระบิดา และพระมารดา ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บแต่อย่างไร  เลี้ยงชีวิตด้วยผลไม้ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน มีบ้าง แต่ก็เล็กน้อย แม้จะมี สัตว์ร้ายชุม แต่ก็ไม่ได้มาทำอันตราย แต่อย่างไร  

เสด็จแม่ เป็นสุขุมาลชาติ แต่ก็ต้องไปขุดมันหัวอ่อน มันมือเสือ มันนก และเก็บผลไม้ในป่า มาเลี้ยงพวกเรา จนซูบผอม ผิวกายหยาบกร้าน เพราะลม และแดด เมื่อเสด็จแม่ เที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ ซึ่งเกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ร้าย ทั้งแรด และเสือเหลือง พระเกสา ก็ยุ่งเหยิง พระองค์ เกล้าชฎา บนพระเกสา เหงื่อไหลเปรอะเปื้อนชฎา ทรงหนังเสือเหลืองเป็นพระภูษา ทรงบรรทมเหนือแผ่นดิน และบูชาไฟ

      ครั้นพระชาลี กราบทูลถึงความที่พระชนนีประสบความทุกข์ยาก อย่างนี้แล้ว จึงทูลเสด็จปู่ว่า  “ตามปกติ หลานเคยได้ยินมาว่า คนเป็นพ่อเป็นแม่ในโลกนี้ ต่างก็รักลูก เสด็จปู่ เห็นจะไม่รักลูกเป็นแน่ จึงปล่อยให้ลูกไปทุกข์ยากอยู่กลางป่า”

      พระเจ้าสญชัย ฟังคำฉอเลาะ ไร้เดียงสาของหลาน ทรงสะเทือนใจ อย่างมาก ตรัสว่า “หลานรัก การที่ปู่ขับไล่บิดาของหลาน ซึ่งไม่มีความผิดไปอยู่ป่า ตามคำของชาวสีพีนั้น ปู่ทำไม่ถูกต้อง สมบัติทุกอย่างของปู่ ที่มีอยู่ในพระนคร ปู่ยกให้บิดาของหลานทั้งหมด ขอให้บิดาหลานมาเป็นกษัตริย์ ปกครองแคว้นสีพีเถิด”

      พระชาลี กราบทูลว่า “พระอัยกา พระบิดาของหม่อมฉัน คงจะไม่มาเป็นพระราชา เพราะหม่อมฉันกราบทูลเป็นแน่ ขอพระอัยกา ไปเชิญพระบิดาด้วยพระองค์เองเถิด”

      พระเจ้าสญชัย สดับคำหลาน จึงมีพระราชดำรัส เรียกหาเสนาคุตต์อำมาตย์มา สั่งให้ป่าวประกาศไปทั่วพระนครว่า พระองค์จะเสด็จเขาวงกต และรับสั่งให้อำมาตย์หกหมื่น ผู้เป็นสหชาติของพระเวสสันดร เตรียมกองทัพ ทั้งกองพลช้าง กองพลม้า กองพลทหารราบ มีศัสตราวุธครบ และ ชาวนิคม พราหมณ์ปุโรหิต ตามเสด็จ

      พระเจ้าสญชัย รับสั่งให้ตกแต่งหนทางเสด็จ ให้ราบเรียบ ตั้งแต่เชตุดรราชธานี จนถึงเขาวงกต  ประดับตกแต่งเส้นทาง ให้งดงามไปด้วยดอกไม้นานาพรรรณ โปรยข้าวตอกเรี่ยราย มีการละเล่น และ ขับร้อง ประโคมดนตรีโดยประการต่าง ๆ

      ขณะที่พระเจ้าสญชัย รับสั่งให้ทหารเตรียมกองทัพ และจัดการประดับพระนครอยู่นั้น  ชูชก กินอาหารอย่างตะกละตะกลาม เพราะไม่เคยได้กินของดี ๆ อาหารไม่ย่อย จึงท้องแตกตาย

      พระเจ้าสญชัย ให้ทำฌาปนกิจศพชูชก ให้ป่าวประกาศหาญาติ มารับสมบัติที่ได้รับพระราชทาน  แต่ก็ไม่มีใครแจ้งความจำนง เพราะกลัวความผิด จึงโปรดให้ริบทรัพย์ทั้งหมด คืนเข้าพระคลังหลวง ตามเดิม

      พระเจ้าสญชัย จัดเตรียมกองทัพ ๑๒ กองทัพ ใช้เวลา ๗ วัน จึงเสร็จ ครั้นใกล้เวลาเคลื่อนพลโยธา ก็พอดี พระเจ้ากรุงกาลิงครัฐ โปรดให้พราหมณ์นำช้างปัจจยนาเคนทร์ ที่พระเวสสันดรบริจาคไป มาถวายคืนที่พระนครสีพี พระเจ้าสญชัย โปรดให้นำช้างปัจจยนาเคนทร์เข้าขบวนทัพไปรับพระเวสสันดรด้วย จึงยกกองทัพออกจากพระนคร พร้อมด้วยข้าราชบริพารอย่างมากมาย โดยมีพระชาลีราชกุมาร เป็นผู้นำทางเสด็จ ด้วยความดีใจ ช้างพลายกุญชร กำลังหนุ่มแน่น พอควาญช้างผูกสายรัด ก็บันลือโกญจนาท ม้าอาชาไนยก็ร่าเริง ทะยานไปเบื้องหน้า อย่างรวดเร็ว เสียงล้อรถบดพื้นดินดังกึกก้อง ฝุ่นละอองก็คละคลุ้งฟุ้งขึ้นปิดนภากาศ

ฝนโบกขรพรรษ

      พระชาลีราชกุมาร ให้ตั้งค่ายไว้ ใกล้ฝั่งสระมุจลินท์ เตรียมขบวนรถ หันหน้ากลับพระนครให้จัดกองรักษาการป้องกันสัตว์ร้ายไว้ตามจุดต่าง ๆ เสียงพาหนะ มีช้าง เป็นต้น กึกก้องอื้ออึงสนั่นป่า

      พระเวสสันดร สดับเสียงนั้น ก็ทรงหวาดกลัว ด้วยเข้าพระทัยว่า ศัตรูปลงพระชนม์พระชนกของพระองค์แล้ว ยกทัพตามมาฆ่าพระองค์ จึงพาพระนางมัทรี เสด็จขึ้นภูผา ทอดพระเนตรดูกองทัพ  ตรัสกับพระนางมัทรีว่า “น้องมัทรี เธอจงพิจารณาเสียงกึกก้องในป่า ฝูงม้าศึก คึกคักร่าเริง ปลายธงต้องลมสะบัดไหว พวกเขายกกองทัพมาล้อมเราไว้ เหมือนนายพรานต้อนฝูงสัตว์ป่าให้ตกหลุมพราง  พวกเราไร้ความผิด ต้องถูกเนรเทศมาอยู่ป่า แล้วยังตามมาทำลายล้าง เขากำลังจะฆ่าคนที่ไม่มีทางสู้”

      พระนางมัทรี ทอดพระเนตรกองทัพ ก็จำได้ ทรงทราบว่า ทั้งหมด ล้วนเป็นกองทัพ ที่จงรักภักดี  ต่อพระองค์ จึงตรัสปลอบพระสวามี ให้อุ่นใจว่า “เหล่าศัตรู ไม่สามารถข่มเหงพระองค์ได้ เหมือนไฟ ไม่สามารถเผามหาสมุทร พรที่ท้าวสักกเทวราชประทาน กำลังจะบังเกิดผล เรากำลังจะพบ              กับความสวัสดี ด้วยกองทัพนี้ เป็นแน่”

      พระเวสสันดร ทรงคลายความตกใจแล้ว จึงเสด็จลงจากภูเขาพร้อมด้วยพระนางมัทรีไปประทับนั่งที่ประตูบรรณศาลา ทรงตั้งพระทัยให้หนักแน่น

      พระเจ้าสญชัย รับสั่งกับพระนางผุสดีว่า ควรจะค่อย ๆ ทะยอยกันเข้าไป พระองค์จะเข้าไปก่อน เพราะถ้าเข้าไปพร้อมกันทั้งหมด จะเกิดความเศร้าโศกอย่างมาก ให้คอยกำหนดดูว่า ผู้ที่เข้าไปก่อนคลายความเศร้าโศกแล้ว จึงค่อยให้ข้าราชบริพาร ตามเข้าไป ส่วนหลาน อยู่ก่อน ค่อยตามเข้าไป ภายหลัง

      พระเจ้าสญชัย ให้กลับขบวนรถ หันหน้าสู่พระนครเชตุดร พักกองทัพตั้งยับยั้งอยู่ภายนอก   จัดวางกำลังอารักขาไว้อย่างดี แล้วเสด็จเข้าไปหาพระเวสสันดร เพียงลำพัง พระองค์เสด็จลงจากช้างพระที่นั่ง ทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรส ร่างกายกร้านเกรียม นั่งอยู่ในอาศรม ก็ทรงสะเทือนพระทัย

      พระเวสสันดร เห็นพระราชบิดาเสด็จมา ก็ลุกต้อนรับ ถวายบังคม ฝ่ายพระนางมัทรีซบพระเศียรอภิวาทแทบพระบาท สะอื้นไห้ พระเจ้าสญชัย ตรัสอะไรไม่ออก ทรงสวมกอดสองกษัตริย์ไว้แนบทรวง ฝ่าพระหัตถ์ลูบหลังไปมา ทรงกรรแสงอยู่อย่างนั้น ครั้นสร่างโศก จึงตรัสถามถึงความเป็นอยู่

      พระเวสสันดร กราบทูลว่า “หม่อมฉัน ถูกเนรเทศ ต้องหาเลี้ยงชีพในป่า อยู่อย่างคนเข็ญใจ  เที่ยวเก็บผลไม้ เลี้ยงชีพ ความเข็ญใจ ฝึกหม่อมฉันทั้งสอง ให้เข้มแข็ง ดุจนายสารถี ฝึกม้าให้หมดพยศ เพราะคิดถึงพระชนก และพระชนนี ร่างกายจึงผ่ายผอม” พระเวสสันดร ทูลถามถึงข่าวคราวของพระโอรส และพระธิดา ที่พราหมณ์เฒ่าหยาบช้าขอไป เฆี่ยนตีเหมือนคนตีโค ว่า พระบิดาได้ข่าวบ้างหรือไม่

      พระเจ้าสญชัย ตรัสว่า พระองค์ได้ไถ่หลานทั้งสอง มาจากพราหมณ์ไว้แล้ว พระเวสสันดรและพระนางมัทรี สดับดังนั้น ก็ทรงปลอดโปร่ง ตรัสปฏิสันถารกับพระบิดาถึงสุขภาพ ความสงบสุขของอาณาประชาราษฎร์ ตลอดจนเหตุการณ์บ้านเมืองต่าง ๆ พระเจ้าสญชัย ตรัสบอกถึงความไม่มีโรคาพาธของพระองค์ ตลอดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองว่า สงบสุข ชนบทก็มั่งคั่ง ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล

      ขณะที่กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์ กำลังตรัสสนทนากัน พระนางผุสดี คำนวณระยะเวลาตามที่กำหนด เห็นชักช้า ไม่อาจรออยู่ต่อไปได้ จึงเสด็จมา โดยไม่ได้สวมฉลองพระบาท พระเวสสันดร  และพระนางมัทรี ทอดพระเนตรเห็นพระชนนี ผ่านเหลี่ยมภูผา กำลังเสด็จมา ก็ลุกขึ้นต้อนรับถวายบังคม

      ในขณะที่พระเวสสันดร และพระนางมัทรี ถวายบังคม พระนางผุสดีเทวี เงยพระพักตร์ขึ้น ประทับยืนอยู่ พระชาลี และพระกัณหาทั้งสอง ก็เสด็จพ้นเหลี่ยมเขามา

      พระนางมัทรี ทอดพระเนตรเห็นพระโอรส พระธิดา ก็สั่นไปทั่วพระวรกาย ไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ ทรงร้องไห้คร่ำครวญ วิ่งไปหาลูก พระชาลี และพระกัณหา เห็นพระมารดาก็ทรงคร่ำครวญ วิ่งโผเข้าไปหาพระมารดา เช่นกัน

      พระนางมัทรี ทรงร้องไห้โฮ คร่ำครวญด้วยพระสุรเสียงอันดัง พระวรกายสั่นสะท้านถึงวิสัญญีภาพ สลบล้มลงนอนเหนือแผ่นดิน พระชาลี และพระกัณหา วิ่งมาอย่างเร็ว ครั้นถึงก็โผเข้ากอดพระชนนี ที่นอนสลบอยู่ ถึงวิสัญญีภาพ ล้มลงทับพระมารดา ในขณะนั้น น้ำนมที่อัดคัด  อยู่นาน ก็ไหลออกจากพระยุคลถันของพระนางมัทรี

      พระเวสสันดร ทอดพระเนตรเห็นสามแม่ลูก สลบลงเช่นนั้น ทรงสะเทือนพระทัยอย่างแรง  ไม่อาจทรงกลั้นโศกาดูรไว้ได้ ก็ถึงวิสัญญีภาพ สลบล้มลง แม้พระชนก และพระชนนี พระเวสสันดรก็สะเทือนพระทัย ถึงวิสัญญีภาพ ล้มลงในที่นั้นเหมือนกัน

      เหล่าอำมาตย์หกหมื่น ผู้เป็นสหชาติ ของพระเวสสันดร เห็นเช่นนั้น ต่างก็สะเทือนใจ สลบล้มลงที่นั้น เหมือนกัน

      บรรดาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ เห็นเหตุการณ์อันน่าสงสาร และสะเทือนใจนั้น แม้คนหนึ่งก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยภาวะของตน ทั่วทั้งอาศรม เต็มไปด้วยความโศกเศร้า เหมือนป่ารังถูกลมกระหน่ำพัด กรีดเสียงหวีดหวิววังเวงใจ

      ขณะนั้น ภูผาทั้งหลาย ก็บันลือลั่น มหาปฐพีก็หวั่นไหว มหาสมุทรก็เกิดคลื่นยักษ์ปั่นป่วน  เขาสิเนรุราชก็โอนเอนไปมา ทั่วทั้งเทวโลกก็โกลาหล  

      ท้าวสักกเทวราช ทรงดำริว่า กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ถึงวิสัญญีภาพ  สลบแล้ว ไม่มีใครแม้แต่คนเดียว ที่สามารถจะลุกขึ้น เอาน้ำราดรดสรีระของใครได้ เอาเถอะ เราจะให้ ฝนโบกขรพรรษตก เพื่อชนเหล่านั้น จึงให้ฝนโบกขรพรรษ ตกลงท่ามกลางสมาคมแห่งกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์

      กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ตลอดจนข้าราชบริพาร ก็กลับฟื้นคืนสติ มหาชน ต่างเกิดอัศจรรย์ว่า  ฝนโบกขรพรรษ ตกท่ามกลางสมาคมพระญาติแห่งพระโพธิสัตว์ แผ่นดินก็ไหว ภูเขาทั้งหลายก็บันลือลั่น เกิดความมหัศจรรย์ ชวนให้ขนพองสยองเกล้า

      ขณะนั้น พระเจ้าสญชัย ทรงพรั่งพร้อมด้วยพระประยูรญาติ พระชาลี และพระกัณหาชินา ผู้พระราชนัดดา พระนางมัทรี ผู้สะใภ้ พระเวสสันดร ผู้พระราชโอรส และพระนางเจ้าผุสดี พระมเหสี

      มหาชนชาวแคว้นสีพี ที่มาประชุมกันทั้งหมด ร้องไห้อยู่ในป่าอันน่ากลัว ประนมมือแด่พระเวสสันดร ทูลวิงวอนพระเวสสันดร และพระนางมัทรี ให้ครองราชสมบัติ

กลับสู่พระนครเชตุดร

      พระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ ทรงสดับดังนั้นแล้ว แม้ทรงประสงค์จะครองราชสมบัติ แต่เมื่อไม่ตรัสอะไร ก็เหมือนพระองค์ใจง่าย ไม่หนักแน่น จึงตรัสกับพระชนกว่า “พระบิดา  อาณาประชาราษฎร์ ตลอดจนชาวนิคม ประชุมกันเนรเทศหม่อมฉัน ผู้ครองราชสมบัติโดยธรรมจากแว่นแคว้น มิใช่หรือ แล้วจะครองราชสมบัติ ได้อย่างไร”

      พระเจ้าสญชัย ยอมรับว่า การที่พระองค์เนรเทศพระเวสสันดร ผู้ไม่มีความผิด  ออกจากแว่นแคว้น ตามคำประชาชน พระองค์ ทำไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ทางแห่งความเจริญ แต่ ขึ้นชื่อว่า  บุตรทั้งหลาย ควรปลดเปลื้องทุกข์ ที่เกิดกับบิดา มารดา และพี่น้อง แล้วพระเจ้าสญชัย ได้เชิญให้พระเวสสันดร กลับไปครองราชสมบัติ พระบรมโพธิสัตว์ ทรงรับคำพระบิดา

      เหล่าอำมาตย์ผู้สหชาติ ทราบว่า พระโพธิสัตว์ ทรงรับราชสมบัติ แล้วจึงกราบทูลให้ทรงสรงสนาน พระเวสสันดร เสด็จเข้าอาศรม ทรงเปลื้องเครื่องฤาษี เก็บไว้ ทรงพระภูษาสีดุจสังข์ เสด็จออกจากอาศรม ทรงรำพึงว่า “ที่นี่ เป็นสถานที่ที่เราเจริญสมณธรรม ตลอด ๗ เดือนครึ่ง   สถานที่นี้เอง ที่แผ่นดินไหว เพราะอาศัยบารมี คือ การให้บุตร และภรรยา ผู้เป็นที่รักของเราเป็นทาน” ทรงรำพึงเช่นนี้แล้ว ก็ทรงทำประทักษิณอาศรม ๓ รอบ ทรงกราบอาศรมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วประทับยืนอย่างองอาจ  

      อาณาประชาราษฎร์ อภิเษกพระองค์ ขึ้นเป็นพระราชา ครองราชสมบัติในนครเชตุดร แคว้นสีพี อีกครั้ง

      พระเวสสันดร ทรงพระภูษาอันสะอาดงดงาม ทรงผูกสอดพระแสงขรรค์ ทำให้ดูน่าเกรงขาม  เสด็จขึ้นทรงพญาช้างปัจจยนาเคนทร์ เป็นพระคชาธาร เหล่าโยธา ต่างร่าเริง โห่ร้องส่งเสียงกึกก้อง ห้อมล้อมพระโพธิสัตว์ผู้เป็นจอมทัพของตน

      พระเวสสันดรเมื่อทรงระลึกถึงความยากลำบากของพระองค์ ขณะเสด็จประทับอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้  จึงทรงให้ทหารนำกลองไปตีป่าวประกาศไปทั่วตามเวิ้งเขาวงกตอันรื่นรมย์

      เหล่านางข้าหลวง ถวายน้ำสรงสนานพระเศียรพระนางเจ้ามัทรี  ได้กล่าวมงคลว่า  “ขอให้พระเวสสันดร รักพระนางเจ้า ตลอดไป ขอพระชาลี และพระกัณหาชินา ทั้งสองพระองค์  จงอภิบาลพระนางเจ้า ขอพระเจ้าสญชัยมหาราช จงคุ้มครองรักษาพระนางเจ้าเถิด”  

      พระนางมัทรี เมื่อทรงระลึกถึงความลำบากของพระองค์ในกาลก่อน กว่าจะได้พบกับลูกทั้งสอง จึงตรัสกับพระโอรส พระธิดาว่า “ลูกรัก เมื่อก่อน แม่บำเพ็ญวัตร นอนบนพื้นดิน ที่ทำอย่างนี้ก็เพราะแม่อธิษฐานใจ อยากได้ลูกกลับคืนมา วันนี้ บุญกุศลนั้นออกผลแล้ว ขอบุญกุศลที่พ่อกับแม่บำเพ็ญมา จงตามคุ้มครองลูกของแม่ ขอพระมหาราชสญชัย จงคุ้มครองลูก บุญอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่แม่และพ่อได้บำเพ็ญไว้ จงเกิดแก่ลูก ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้น ขอลูกอย่าได้เจ็บป่วยไข้ อย่าตาย ก่อนวัยอันควร”

      ฝ่ายพระนางผุสดีเทวี ทรงดำริว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป เราใส่ชุดอย่างไร ลูกสะใภ้ของเรา จงใส่ชุดอย่างนั้น ทรงจัดแจงเครื่องแต่งตัวของพระนางมัทรี ด้วยพระองค์เอง พระองค์ใส่เครื่องประดับอย่างใด ก็จัดแจงเครื่องประดับอย่างนั้น ให้พระนางมัทรี

      พวกอำมาตย์ เชิญพระนางมัทรี เสด็จขึ้นช้างดรุณหัตถีเชือกหนึ่ง พระเวสสันดร และ พระนางมัทรี ทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จไปสู่กองทัพ ฝ่ายพระเจ้าสญชัยมหาราช พร้อมด้วยกองทัพ  ประพาสเล่น ตามภูผาและป่าเขา อย่างสำราญพระองค์ ประมาณหนึ่งเดือน จึงโปรดให้ทูลพระเวสสันดร ป่าวร้องให้ทราบกาล เสด็จกลับพระนคร

      ขณะที่พระโพธิสัตว์ ประทับที่เขาวงกต สัตว์ร้าย ในป่าแห่งนั้น ตลอดจนฝูงนกนานาชนิด  ไม่เบียดเบียนกันและกัน ต่างส่งเสียงร้อง ด้วยความร่าเริง เมื่อพระเวสสันดร เสด็จไปแล้ว ฝูงสัตว์ป่าและฝูงนกทั้งหมด เกิดความเศร้า ต่างมาชุมนุมกันในป่านั้น ไม่ส่งเสียงร้องขับขาน  ด้วยความเบิกบาน เหมือนเมื่อก่อน ป่าทั้งป่า เงียบเหงา

      พระเวสสันดร เสด็จกลับกรุงเชตุดร ด้วยราชานุภาพอันยิ่งใหญ่ ใช้ระยะเวลา ๒ เดือนตลอดเส้นทาง ๖๐ โยชน์ พระองค์ เสด็จผ่านไปตามท้องถนน ที่ประดับตกแต่งไว้ ขณะที่กษัตริย์ทั้งหกพระองค์ เสด็จมาถึง ประชาชน ต่างยินดีปรีดา ฟ้อนรำ ขับร้อง โบกธง ตีกลอง ร้องป่าวประกาศ ไปทั่ว ให้ชาวพระนครปล่อยสรรพสัตว์ที่ถูกขังไว้

      ในวันพระเวสสันดร เสด็จเข้าพระนคร ท้าวสักกะ บันดาลให้ฝนรัตนะทั้งเจ็ดตกให้บริเวณพระราชนิเวศน์ เต็มด้วยรัตนะ สูงประมาณเอว พระโพธิสัตว์ โปรดให้พระราชทานทรัพย์ที่ตกแก่ตระกูลต่าง ๆ และให้ขนทรัพย์ที่เหลือ เข้าท้องพระคลังหลวง ทรงบำเพ็ญทานบารมีตลอดพระชนม์ชีพ ภายหลังสิ้นพระชนม์แล้ว ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต  

กลับชาติมาเกิดสมัยพุทธกาล

      ครั้นพระบรมศาสดา ตรัสเรื่องพระเวสสันดรแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย แม้ในชาติก่อน  มหาเมฆ ก็ทำให้ฝนโบกขรพรรษ ตกในสมาคมแห่งพระประยูรญาติของเรา อย่างนี้เหมือนกัน” ทรงประชุมชาดกว่า

“พราหมณ์ชูชก ในอดีตชาตินั้น คือ ภิกษุเทวทัต นางอมิตตตาปนา คือ นางจิญจมาณวิกา  นายพรานเจตบุตร คือ ภิกษุฉันนะ อัจจุตดาบส คือ ภิกษุสารีบุตร ท้าวสักกเทวราช คือ  ภิกษุอนุรุทธะ พระเจ้าสญชัยนรินทรราช คือ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระนางผุสดีเทวี คือ พระนางสิริมหามายา พระนางมัทรี คือ พระนางยโสธรา พระมารดาราหุล ชาลีกุมาร คือ ราหุล  กัณหา คือ ภิกษุณีอุบลวรรณา ข้าราชบริพารที่เหลือ คือ พุทธบริษัท ส่วนพระเวสสันดรราช คือ  เราเอง ผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า”

โปรดพระพุทธบิดา

      ในวันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดา แวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุสองหมื่นรูป เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงกบิลพัสดุ์ พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับยืนที่ประตูพระราชวัง ทรงพิจารณาว่า พระพุทธเจ้า  ทั้งหลาย ในปางก่อน เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครแห่งราชสกุล อย่างไร เสด็จไปยังเรือนของเหล่าชน  โดยข้ามลำดับ หรือเสด็จเที่ยวไป ตามลำดับ

      ทรงพิจารณาแล้ว ก็มิได้เห็นพระพุทธเจ้า แม้สักพระองค์หนึ่ง ที่จะเสด็จไปโดยข้ามลำดับ  จึงทรงดำริว่า บัดนี้ แม้เรา ก็ควรจะรักษาประเพณีพระพุทธเจ้าไว้ และต่อไป สาวกทั้งหลายของเรา  เมื่อปฏิบัติตามเราอยู่ จะได้บำเพ็ญ ปิณฑจาริกวัตร๑๔ พิจารณาดังนี้แล้ว จึงเสด็จเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเรือน ประชาชนชาวกรุงกบิลพัสดุ์ ต่างโจษขานกันว่า “เจ้าชายสิทธัตถะ พระราชโอรส เดินเที่ยวขอทาน” ต่างก็พากันเปิดหน้าต่างออกดูพระราชโอรส เดินอยู่ท่ามกลางถนน

๑๔ ปิณฑจาริกวัตร คือ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

พระนางเจ้ายโสธรา ดำริว่า เมื่อก่อน พระลูกเจ้า เสด็จไปในพระนคร ด้วยราชานุภาพอันยิ่งใหญ่ พรั่งพร้อมด้วยกองพลทุกหมู่เหล่า มาบัดนี้ พระองค์ ปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นนักบวช ถือกระเบื้องเสด็จเที่ยวขอข้าวอยู่กลางถนน จะเป็นอย่างไร  จึงเปิดหน้าต่าง ทอดพระเนตร ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงยังมรรคาในพระนคร ให้สว่างไสวด้วยพุทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ พระรัศมีแห่งพระสรีระไพโรจน์ยิ่ง งดงามด้วยพุทธสิริ หาสิ่งเปรียบมิได้  ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ รุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ เจิดจรัสด้วยพระรัศมี ด้านละวา จึงทรงกล่าวชม ตั้งแต่พระอุณหิส จนถึงพื้นพระบาท ด้วยนรสีหคาถาว่า  “พระผู้นรสีห์ มีพระเกสาดำสนิท มีพระนลาฏ ปราศจากมลทิน ดุจดวงอาทิตย์ มีพระนาสิก งดงาม พอเหมาะ มีข่ายแห่งพระรัศมี ซ่านไป ฯลฯ”

      พระเทวี ได้กราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะว่า “พระโอรสของพระองค์ เสด็จเที่ยวขอข้าวอยู่ตามถนน” พระพุทธบิดาสลดพระทัย ทรงจัดผ้าสาฎกให้เรียบร้อย รีบเสด็จดำเนินออกไป โดยเร็ว ประทับยืนเบื้องพระพักตร์ ขวางทางเสด็จบิณฑบาตของพระพุทธองค์ แล้วตรัสถามว่า  “เหตุไร ลูก จึงทำให้พ่อได้อาย ทำไม จึงเที่ยวขอข้าวตามถนนเช่นนี้” พระบรมศาสดา ตรัสว่า  “มหาบพิตร นี้ เป็นการประพฤติตามวงศ์ ของอาตมภาพ”

      พระพุทธบิดา ตรัสว่า “ลูก วงศ์ของเรา เป็นวงศ์กษัตริย์ ในวงศ์กษัตริย์ ไม่เคยมีกษัตริย์แม้สักพระองค์เดียว เที่ยวขออาหาร”  

      พระบรมศาสดา ตรัสว่า “มหาบพิตร วงศ์กษัตริย์นั้น เป็นวงศ์ของพระองค์ ส่วนพุทธวงศ์เป็นวงศ์ของอาตมภาพ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เลี้ยงชีพ ด้วยการเที่ยวบิณฑบาต” พระบรมศาสดา  ประทับยืนอยู่ในระหว่างมรรคานั้นเอง แสดงพระธรรมเทศนา โปรดพระพุทธบิดา ด้วยพระคาถาว่า

“บุคคล ไม่ควรประมาท ในโภชนะที่ตนได้รับ พึงประพฤติธรรม ให้สุจริต ผู้ประพฤติธรรม อันสุจริต เป็นปกติ ย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า”

      เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระพุทธบิดา บรรลุโสดาปัตติผล ครั้นพระพุทธบิดา ทรงบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ทรงรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จนำพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ขึ้นสู่มหาปราสาท ถวายภัตตาหาร หลังเสร็จภัตกิจ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสย้ำว่า“บุคคลพึงประพฤติธรรม ให้สุจริต ไม่พึงประพฤติธรรม ให้ทุจริต ผู้ประพฤติธรรม อันสุจริต เป็นปกติ  ย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า”

      ครั้นจบพระดำรัส พระเจ้าสุทโธทนะ บรรลุสกทาคามิผล ส่วนพระนางมหาปชาบดีโคตมี  บรรลุโสดาปัตติผล นางสนมทั้งปวง พากันมาถวายบังคมพระพุทธองค์ เว้นพระนางเจ้ายโสธรา  มารดาพระราหุล แม้เหล่าข้าราชบริพาร จะพากันกราบทูล ขอให้เสด็จไปถวายบังคมพระพุทธเจ้า  ก็ตรัสว่า “ถ้าเรา มีความดีอยู่บ้าง พระลูกเจ้า ก็จะเสด็จมาหาเราเอง เมื่อนั้น เราจึงจะถวายบังคม”  ตรัสดังนั้นแล้ว ก็มิได้เสด็จไป

โปรดพระนางยโสธรา

      หลังจากบรรดาพระประยูรญาติเข้าเฝ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้พระพุทธบิดารับบาตร เสด็จไปยังตำหนักของพระนางยโสธรา พร้อมด้วยอัครสาวกทั้งสอง ประทับนั่งบนพระแท่นที่เขาจัดถวาย พระเทวีรีบเสด็จมาเฝ้า จับข้อพระบาททั้งสอง กลิ้งเกลือกพระเศียร ที่หลังพระบาท แล้ว  ถวายบังคม ตามพระอัธยาศัย

      พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงพรรณนาคุณของพระนางยโสธรา ที่มีความจงรักภักดีต่อพระพุทธองค์ ตลอดมาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สะใภ้ของหม่อมฉัน เมื่อได้สดับว่า พระองค์ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ตั้งแต่นั้น ก็ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ ได้สดับว่า พระองค์ฉันอาหารมื้อเดียว ก็เสวยพระกระยาหารมื้อเดียว ทรงสดับว่า พระองค์ทรงไม่นั่ง ไม่นอน ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ก็บรรทมบนเตียงน้อย ที่ขึงด้วยแผ่นผ้า ทรงทราบว่า พระองค์ ไม่ใช้ของหอมมีดอกไม้ เป็นต้น ก็งดเว้น ดอกไม้ และของหอม ในระยะกาลที่พระองค์ผนวชแล้ว พระสุณิสาของหม่อมฉัน เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติอย่างนี้”

      พระพุทธองค์ ตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อที่พระนาง มีพระองค์คุ้มครองอยู่ ในบัดนี้ปฏิบัติตนได้ ในเมื่อญาณแก่กล้าแล้วเช่นนี้ ไม่น่าอัศจรรย์ ในชาติก่อน พระนางท่องเที่ยวอยู่ที่เชิงเขา เพียงลำพัง แม้ไม่มีผู้ใดอารักขา ก็ยังคุ้มครองตนได้ ทั้งที่ญาณยังไม่แก่กล้า” แล้วตรัสจันทกินนรีชาดก เพื่อบรรเทาความเศร้าโศกของพระนางยโสธรา

      พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตชาติ เมื่อครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นกินนร มีภรรยาชื่อ “จันทกินนรี” อาศัยอยู่ที่เขาจันทบรรพต เมื่อถึงฤดูแล้ง สองสามีภรรยา ลงมาหากินที่เชิงเขา

ครั้งนั้น พระราชาเสด็จประพาสป่า มาถึงลำน้ำ ที่กินนร และกินนรี สองสามีภรรยาพากันเล่นน้ำ และร้องเพลงกัน อย่างมีความสุข

      พระราชา ทอดพระเนตรเห็น ทรงมีจิตปฏิพัทธ์นางกินนรี จึงยิงกินนรตาย นางจันทกินนรี ร้องไห้คร่ำครวญถึงสามีของตน อย่างน่าเวทนา พระราชา ตรัสปลอบนางผู้กำลังร่ำไห้ว่า “เธอจะได้เป็นอัครมเหสี ผู้เป็นใหญ่ ในนครของเรา”

      นางกินนรี กล่าวว่า “ถึงแม้เรา จะต้องตาย ก็จะไม่ยอมเป็นมเหสี ของผู้ฆ่าสามีของเรา  ทั้ง ๆ ที่ ไม่มีความผิด” แล้วอุ้มสามี ขึ้นสู่ยอดเขา ยกศีรษะ วางไว้บนตักของตน พลางร้องไห้ รำพัน ขอชีวิตสามีคืน

      ท้าวสักกะ ทรงทราบเหตุนั้น จึงแปลงเป็นพราหมณ์ ถือกุณฑีน้ำ มารดบนร่างของกินนร  ทันใดนั้น กินนร ก็กลับฟื้นคืนชีวิต ท้าวสักกะ ได้ประทานโอวาทแก่ทั้งคู่ว่า “ตั้งแต่บัดนี้ เธอทั้งสองอย่าลงจากจันทบรรพต จงพากันหากินอยู่บนเขานี้ เท่านั้น”

      พระบรมศาสดา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ จบลง มารดาพระราหุล ได้บรรลุโสดาปัตติผล ณ ที่นั้นเอง ต่อมา พระนางยโสธรา ได้บวชเป็นภิกษุณี ในพระพุทธศาสนา และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในเวลาต่อมา

ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ : ชาติที่ ๑๐ พระเวสสันดร มหาชาติ มหาทาน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here