“เพราะเห็นทุกข์ จึงเห็นธรรม”

ผูัเขียนจดจำคำสอนของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้นได้เสมอ และน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกวัน แม้ความทุกข์ถาโถมเพียงใด เราก็ต้องเห็นความทุกข์ มิใช่จ่อมจมอยู่กับความทุกข์ ….คำสอนของท่าน…อยู่ในชีวิตของท่าน อยู่ในงานของท่าน อยู่ในทุกลมหายใจเข้าออกของท่าน และอยู่ในกายใจของมนุษย์ทุกคนเช่นเดียวกัน เป็นเรื่องเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงสอนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์หลังจากตรัสรู้อริยสัจธรรม ก็คือ เรื่อง ทุกข์ และการดับทุกข์นี้เอง

หลังจากที่ผู้เขียนได้ชมภาพยนต์การ์ตูนปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต(ภูเขาทอง) ก็ย้อนกลับไปเปิดบันทึก มโนปณิธาน ตอนที่ ๓๐ ซึ่งได้เขียนไว้ในหน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒ จึงขอน้อมนำมารำลึกถึงพระคุณท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด พ่อแม่ครูอาจารย์ของผู้เขียน ผู้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนามาตลอดด้วยความตั้งใจที่จะเป็นพระมาตั้งแต่อายุเพียงสิบสองสิบสามปี และหลังจากท่านได้บรรพชาในวัยสิบสามปี และอุปสมบทเมื่อครบอายุบวชแล้ว ตลอดชีวิตของท่านก็มุ่งแต่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามรอยปฏิปทาหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) พระอุปัชฌาย์ของท่านที่มีอุดมการณ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อดับทุกข์ในใจคนตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาโดยตลอดจนถึงวันนี้

พระราขกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พระราขกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒ พระอาทิตย์ทรงกลด เหนือพระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดยพระครูอมร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒ พระอาทิตย์ทรงกลด เหนือพระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดยพระครูอมร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๖๒ “กราบพระบรมสารีริกธาตุ

วันที่พระอาทิตย์ทรงกลด เหนือพระเจดีย์ภูเขาทอง และจุดเริ่มต้นแห่งบันทึกธรรม”

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน (หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒ )

เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ พระอาทิตย์ทรงกลด เหนือพระเจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  กรุงเทพฯ ทำให้ผู้เขียนย้อนระลึกถึงย้อนไปเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ได้มีโอกาสไปกราบพระบรมสารีริกธาตุเป็นครั้งแรกในชีวิต ในคราวนั้นก็เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดเช่นนี้เหมือนกัน และก็ได้พบกับพระธรรมสิทธินายก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ (ต่อมา คือพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ) ในครั้งนั้นพอดี ก็เลยกราบเรียนถามท่านเกี่ยวกับความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ

พระอาทิตย์ทรงกลดเหนือสุวรรณบรรพต (ภูเขาทอง ) วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ ภาพถ่ายโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
พระอาทิตย์ทรงกลดเหนือสุวรรณบรรพต (ภูเขาทอง ) วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ ภาพถ่ายโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ภาพถ่ายโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ ปีพ.ศ.๒๕๕๔
พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ภาพถ่ายโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ ปีพ.ศ.๒๕๕๔

ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า พระบรมสารีริกธาตุ บนภูเขาทอง วัดสระเกศ ฯ นี้มีความสำคัญมาก ตั้งแต่การขุดพบ การอัญเชิญมา แม้แต่การขุดพบในอินเดีย เขาก็บันทึกเป็นหลักฐานว่า การขุดพบ ขุดพบอย่างไร ชั้นดินที่ขุดอยู่ในชั้นอะไร เรื่องราวมาจากทางจดหมายเหตุทั้งหมด  ดังในคำนำ หนังสือ “๑๑๒ ปี แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงกบิลพัสดุ์ สู่สยามประเทศ” เขียนโดยคณะสงฆ์วัดสระเกศ พุทธศักราช ๒๕๕๔ ตอนหนึ่งว่า  เนื่องจากในปี พุทธศักราช ๒๔๔๐ มิสเตอร์วิลเลียม เปปเป ชาวอังกฤษ ได้ขุดพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จารึกอักษรโบราณ ความว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในส่วนของศากยราชสกุล ได้รับการแบ่งไปในคราวโทณพราหมณ์ ได้รับหน้าที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ภายหลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระหลังพุทธกาลนั้น

“รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองประเทศอินเดียในขณะนั้น เห็นสมควรถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แล้วพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ออกเดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากรัฐบาลอินเดียกลับสู่สยามประเทศและทรงพระกรุณาโปรดเกล้า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศฯ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย แก่เจ้าพระยายมราชในคราวนั้นด้วย

           “นับแต่วันบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในสมัยพระพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงปัจจุบันนั้นเป็นเวลา ๑๑๒ ปี แล้ว (ในปี ๒๕๕๔ หากนักถึงปัจจุบันก็ ๑๒๐ ปีพอดี)

           และในปีนั้น ๒๕๕๔ ผู้สืบสกุลเจ้าพระยายมราช ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนนั้นมาถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในโอกาสเฉลิมฉลอง ๒๖ พุทธศตวรรษ พระพุทธศาสนามีอายุ ๒,๖๐๐ ปี นับแต่กาลตรัสรู้แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันจะเป็นการสนองพระเดชพระคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระบรมสารีริกธาตุเป็นมรดกของพระพุทธศาสนา ประเทศชาติ บ้านเมือง และเป็นสิริมงคล แก่ประชาชนในชาติตลอดไป  และเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล ถวายเป็นพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙  ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ในโอกาสมหามงคล ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔

พระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุในปีพ.ศ. ๒๕๕๔ บนภูเขาทอง ภาพถ่ายโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
พระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุในปีพ.ศ. ๒๕๕๔ บนภูเขาทอง ภาพถ่ายโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

           “คณะสงฆ์วัดสระเกศ พร้อมพุทธศาสนิกชนทั้งมวล เห็นสมควรอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งผู้สืบสกุลเจ้าพระยายมราช ได้อัญเชิญมาถวายนั้น  ขึ้นไปประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง)  และได้จัดพิมพ์หนังสือ “ประวัติพระบรมสารีริกธาตุ ตามจดหมายเหตุ ร.ศ.๑๑๖ เป็นที่ระลึก”

           หลังจากนั้นผู้เขียนก็นำเรื่องการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในช่วง ๒๖๐๐ ปี มาเขียนลงนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และนสพ.คมชัดลึก ที่เคยทำงานอยู่ ด้วยความปีติ ที่ได้ทราบว่า พระบรมสารีริกธาตุองค์จริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ประดิษฐานอยู่ในประเทศไทยด้วยเหมือนกัน ทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมเพื่อให้รู้เห็นกายใจตามความเป็นจริงไปจนกว่าจะสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏด้วยความศรัทธาในพระรัตนตรัยยิ่งชีวิต

           ขณะเดียวกันในปีนั้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ เป็นต้นมา ได้เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ตามลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศไทย ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง น้ำได้เอ่อไหลขึ้นท่วมบ้านเรือน เรือกสวน ไร่นา สร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างมาก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในหนังสือ “สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์” โดยพระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เขียนไว้ในบท “พระสงฆ์ สายน้ำ และความทรงจำ” ในมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ ตอนหนึ่งว่า ในคราวนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  มีความเมตตาห่วงใยพระภิกษุสามเณร และผู้ประสบอุทกภัย จึงได้มีบัญชาให้คณะสงฆ์นำสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค ออกไปช่วยเหลือประชาชนตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพราะผู้คนต่างไร้ที่อยู่อาศัย ประชาชนต้องออกจากบ้านมาอาศัยอยู่ตามศาลาการเปรียญของวัด และวัดได้กลายสภาพเป็นศูนย์พักพิงของผู้ประสบภัยน้ำท่วมไปโดยปริยาย

“อันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ธรรมเยียวยาใจ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดย พระวิทยากรจิตอาสา กลุ่ม เพื่อชีวิตดีงาม และกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม จากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ได้ลงพื้นที่ เยี่ยมเยียน จัดกระบวนการเยียวยาใจ โดยประยุกต์ใช้กระบวนการพุทธจิตวิทยา การให้คำปรึกษาแบบกลุ่มและรายบุคคล จัดกิจกรรมนันทนาการ และนำสวดมนต์ เจริญจิตภาวนา จนครบทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมในปีนั้น”

พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ทำให้เห็นลมหายใจแห่งพระพุทธองค์ที่ยังทรงปรากฏอยู่ในพระเจดีย์สุวรรณบรรพตผ่านพระสงฆ์สุปฏิปันโนที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ผู้เดินตามรอยบาทพระบรมศาสดาแต่ละก้าวด้วยสติปัญญาและความเมตตากรุณาอันไม่มีประมาณเพื่อขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาผ่านการประยุกต์ธรรมเพื่อรับใช้สังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผู้เขียนขอบันทึกมโนปณิธานชีวิตและการทำงานของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด จนนำมาสู่บันทึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ในเวลาต่อมาจนถึงทุกวันนี้

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ภาพประกอบสีฝุ่น โดย หมอนไม้
ภาพประกอบสีฝุ่น โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (ตอนที่ ๒๗)

อริยสัจ

อยู่ที่กายใจของเรา

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

(ความเดิมตอนที่แล้ว) อริยสัจอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่กายใจเราเอง เมื่อเราก็กลับมาดูอริยสัจที่กายที่ใจของเรา เราก็จะเห็นอริยสัจอยู่ภายในตัวเรานี่เอง ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน เราก็จะเห็นกายมันเป็นทุกข์ ใจมันเป็นทุกข์ เมื่อเห็นใจมันทุกข์ ทุรนทุราย ก็คือเห็นอริยสัจที่ใจ เป็นการเห็นอริยสัจเข้ามาที่กายที่ใจของเราเอง 

เมื่อเห็นว่า ตอนนี้กายเป็นทุกข์ ตอนนี้ใจเป็นทุกข์ ก็เห็นสิ่งประเสริฐ

ทีนี้ เมื่อเห็นอริยสัจอยู่อย่างนี้แล้ว ก็ดูบ่อยๆ อย่าให้คลาดสายตา อย่าให้การเห็นแบบนี้คลาดไปจากสติ ให้ความสนใจจับจ้องความทุกข์ความเจ็บปวดไว้ แล้วก็ดูไปเรื่อย (แต่ไม่ต้องจ้องหรือเคร่งเครียด ดูสภาวะการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ) เวลาความทุกข์ความเจ็บปวดหายไป ก็ดูกลับเข้ามาที่ใจว่ารู้สึกอย่างไร พอใจไหม ชอบใจไหม

ดีใจชอบใจก็ไม่เที่ยง เอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวก็จะเปลี่ยน ก็บอกตัวเองอย่างนั้นไว้เสมอ

ทุกข์กายทุกข์ใจมันก็ทุกข์ของมันไป กายมีปัจจัยปรุงแต่ง นั่งนาน ยืนนาน เดินนาน นอนนาน มันก็ทุกข์ของมันตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้นมาในขณะนั้นๆ ใจมีปัจจัยปรุงแต่งมันก็ทุกข์ของมันตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้น นั่งนานกายเจ็บปวด พอลุกไปเสีย ความเจ็บปวดก็คลายไป เราก็ดีใจว่าทุกข์หาย แต่แท้จริงทุกข์ไม่ได้หาย เพียงแต่ทุกข์คลายไป เพราะอิริยาบถมาคั่นไว้ อิริยาบถถูกปิดบังไว้  เรียกตามธรรมก็ว่า เหตุปัจจัยเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง พอกลับมานั่งอีกก็เจ็บก็ปวดอีก

กายนั่งนานมันก็เจ็บปวด โดนหนามตำ มีดบาด น้ำร้อนลวกมันก็เจ็บปวดแสบปวดร้อน ใจได้ยินคำชม มันก็ชอบ ได้ยินคำด่ามันก็เกลียด ซึ่งเป็นธรรมดาเพราะเหตุปัจจัยมันพร้อม 

ถ้าได้รับการฝึกหัดให้ใจรู้ หูได้ยินก็เป็นแต่เพียงผู้รู้

ความทุกข์จึงเป็นสิ่งที่ต้องรู้ตามสภาพของทุกข์ ทุกข์ตรงไหนก็รู้ตรงนั้น ไม่ต้องผลักไส  ไม่ต้องหนี ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องดัดแปลงตบแต่งความคิด คิดอะไรก็รู้ตามนั้น

รู้อะไร?

รู้ว่า ความคิดมันเปลี่ยนแปลง มันไม่เที่ยง  ก็ดูความคิดมันเปลี่ยนไปเรื่อย ความทุกข์ก็ซ่อนอยู่ในความคิดนี่แหละ เราก็จะเห็นความทุกข์มันเปลี่ยน พอเห็นความทุกข์เปลี่ยนก็เห็นความจริงอันประเสริฐ เป็นการเห็นความจริงในอริยสัจเข้ามาที่กายใจของเรา

ถ้าเห็นว่า ความทุกข์มันคงอยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง ก็เห็นทุกข์ในความยึดถือว่า ความทุกข์เป็นสิ่งทนถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ก็เห็นทุกข์ไม่ตรงทุกข์  ยังไม่ใช่เห็นทุกข์ที่เป็นอริยสัจ

ความเห็นที่ถูกต้อง ตรงทุกข์  ก็ต้องเห็นว่า ความเจ็บปวดนี้ปรุงแต่งขึ้นจากการนั่งนาน  พอเปลี่ยนท่านั่งความเจ็บปวดก็จะหาย

จึงอย่าเกลียดกลัวความทุกข์ความเจ็บปวด เพราะทุกข์เป็นความจริงอันประเสริฐ เป็นอริยสัจ

ทุกครั้งที่ทุกข์ปรากฏ ก็บอกกับตัวเองว่า ได้ประสบพบเห็นความจริงอันประเสริฐแล้ว

โปรดติดตาม “รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน และ บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ” ตอนต่อไป…

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here