วันนี้วันพระ วันพฤหัสบดีที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๙๘ – ๑๐๐ วิธีการทำงานของพระธรรมทูตอาสา (๑-๓)

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

สำหรับสามบทนี้ ผู้เขียนเล่าถึงหัวใจการทำงานของพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ ว่าต้องใช้วิริยะ ความเพียรมากมายเพียงใด ไม่เพียงปฏิบัติจิตภาวนาเพื่อพ้นทุกข์เฉพาะตน หากแต่ต้องฝึกตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นบนหนทางแห่งอนิจจังทุกลมหายใจเข้าออก และพระธรรมบทใดที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ที่พระธรรมทูตได้นำมาเป็นยุทธศาสตร์ในการฝึกตนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาในภาวะวิกฤติ

๙๘. วิธีการทำงานของพระธรรมทูตอาสา  (๑)

              การเผยแผ่สำหรับชาวพุทธในพื้นที่ตรงนี้ คือ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  พระธรรมทูตอาสาใช้วิธีการที่มีอยู่ตามรอยพระพุทธเจ้า คือ อยู่ที่นั่น และทำหน้าที่ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน  ไม่หวั่นแม้ว่าจะต้องเผชิญกับอันตรายที่คาดไม่ถึง มรณานุสติ จึงเป็นสิ่งที่ครองใจทุกลมหายใจเข้า-ออก ของสมณะผู้เป็นพุทธบุตรของพระพุทธเจ้าทุกรูป แล้วมาร่วมกันเพื่อที่จะทำงาน ถึงขั้นปกป้องหรือพิทักษ์พระพุทธศาสนาเพื่อที่จะอยู่ต่อไปให้ได้ในพื้นที่ตรงนี้  แม้ตัวจะต้องตาย แต่พระพุทธศาสนาจักต้องดำรงอยู่ต่อไป มิใช่เพื่ออะไร แต่เพื่อยังพระสัทธรรมให้ดำรงอยู่เพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์อย่างไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด รากแห่งพระพุทธศาสนา คือรากแห่งความจริงแท้ จักยังคงส่องประกายให้มนุษย์โลกเห็นตามความเป็นจริง ว่า ไม่มีใครควรค่าต่อการเกลียดชัง และการทำลาย เราต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ในสังสารวัฏอันไม่มีที่เริ่มต้นและจุดจบกันทั้งสิ้น ความเมตตา กรุณา การแบ่งปันกัน การเกื้อกูลกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ ย่อมยังให้ความสันติสุขดำรงอยู่สืบไป

แม้การเผยแผ่ในพื้นที่ตรงนั้น ไม่ใช่เผยแผ่ปกติอย่างที่ทำกันในพื้นที่อื่นๆ เพราะต้องระวังภัย แต่การระวังภัยก็คือ ความไม่ประมาท ่ดังที่พระพุทธเจ้าให้คติเป็นพระวาจาสุดท้ายไว้ก่อนที่พระองค์จะปรินิพพาน  ความไม่ประมาท คือ การระลึกถึงมรณานุสติทุกลมหายใจเข้าออก นั่นคือ การมีสติทุกขณะ

และเมื่อพระธรรมทูตอาสาอยู่ในพื้นที่ ก็จะทำให้มีความตื่นรู้ทุกขณะว่าเราอาจจะตายได้ทุกลมหายใจเข้า-ออกเป็นธรรมดา ทำให้การปฏิบัติส่วนตนเกิดมรรคเกิดผลขึ้นจริงๆ และสามารถที่จะทำให้ชาวพุทธที่บอกตัวเองเป็นชาวพุทธจริงๆ สามารถที่จะยืนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี  และมีความรู้สึกว่ามันทำได้จริง 

วิธีการในการเผยแผ่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ  และต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมหรือเป็นกลุ่ม  ที่สำคัญคือต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม  การเผยแผ่เชิงรับและเชิงรุกที่ต้องลุกไปหา  เพื่อเจาะพื้นที่สถานศึกษาโดยการเข้าไปเยี่ยม  หรือสอนหนังสือ  พระต้องออกจากวัดไปหาชาวบ้าน  ไม่เพียงแต่ชาวพุทธเท่านั้น  หากจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนในสังคมพหุวัฒนธรรมด้วย  นี้คือหัวใจในการทำงานของพระธรรมทูตอาสาที่เห็นว่าเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ตรงหน้า  ไม่ว่าเขาจะเป็นใครหากเดือดร้อนมาต้องช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างเต็มกำลังเสมอกัน 

เพราะพระสงฆ์ก็เกิดและเติบโตในพื้นที่ซึ่งเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาแต่บรรพชนโบราณนานมาเช่นกัน  ซึ่งสมัยก่อน  เราอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา  แต่เหตุใด  ในช่วงเวลาสิบกว่าปีกว่ามานี้  จึงเกิดความรุนแรงขึ้น  พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้คือผู้ซับน้ำตาชาวบ้านทุกหมู่เหล่าให้หวนคืนกลับมาหาความสันติสุขในใจ  ปราศจากความหวาดระแวงกันและกันดังเช่นในอดีตที่ผ่านมาโดยแท้…   

พระธรรมทูตจึงไม่ใช่พระที่สร้างวัดแล้วอยู่ในวัดอย่างเดียว  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่บริบทในพื้นที่ทั่วภูมิภาคด้วย  พื้นที่ไหนที่จะเสี่ยง  ต้องต้อนรับอยู่ที่วัดญาติโยมก็ทำเช่นนั้น  ไม่ว่าเด็กหรือเยาวชนเข้าวัด  ก็มีการอบรม  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามหลักของพระพุทธศาสนา  ที่สำคัญคือ พระธรรมทูตจะต้องไปในพื้นที่ทุกแห่งตามที่เขาจะขอร้องมาด้วย  นอกเหนือจากลงพื้นที่เองแล้ว  อย่างเช่น ทางโรงเรียนต่างๆ ร้องขอมาทางพระธรรมทูตทั่วไปเยอะมาก  ก็ต้องดำเนินการตามที่ขอ  เพราะแต่ละโรงเรียนที่พระธรรมทูตไปอบรมครูและนักเรียน  โดยการจัดกิจกรรมค่าย  พอไปแล้วทางโรงเรียนก็บอกต่อ  ว่าดีต่อครู และนักเรียนเขาอย่างไร  นักเรียนมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไร  เข้าใจตนเอง  เข้าใจพ่อแม่  เข้าใจว่าการศึกษามีความสำคัญกับชีวิตเขาอย่างไร  ก็ตั้งใจเรียน  ตั้งใจช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน  ตั้งใจฝึกสติ  สมาธิ จนปัญญาเกิด  สมองโล่ง  เกิดความคิดสร้างสรรค์มากมายในการเรียน  ทำให้การเรียนดีขึ้น  ทำให้การเรียนการสอนในโรงเรียนสนุกสนานและได้สาระ  ตอนนี้ก็สำเร็จอยู่มาก  แต่ต้องมีสื่อเป็นตัวกลางที่ช่วยนำเสนอการทำงานของพระธรรมทูตเป็นหลักด้วย

 ซึ่งเดี๋ยวนี้  สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) กลายเป็นสื่อกระแสหลักไปแล้ว  พระสงฆ์ไม่น้อยก็อาศัยการออนไลน์เป็นช่องทางเผยแผ่พระพุทธศาสนา  เล่าเรื่องการทำงานในพื้นที่อยู่สม่ำเสมอ  และถ่ายทอดวัตรปฏิบัติในวัดตั้งแต่ทำวัตรเช้า  ใส่บาตรทำบุญ  แสดงธรรม  ไปจนถึงเวลาทำวัตรเย็น  พระสงฆ์บางรูป  บางวัดยังจัดธรรมะก่อนนอนอีก  เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการใช้ชีวิตให้สมดุลโลกสมดุลธรรมเพื่อเตรียมต้อนรับวันใหม่ด้วยใจที่พร้อมจะเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าด้วยสติปัญญาอย่างแจ่มใส   และยังชักชวนผู้คนให้มาสวดมนต์ออนไลน์เพื่อเพิ่มกำลังสติ สมาธิ และปัญญากันได้ดีมาก 

ยิ่งในยุคที่โควิด –๑๙ ระบาดไปทั่วโลก  ตั้งแต่ต้นปีพ.ศ.๒๕๖๓  เป็นต้นมา  การเผยแผ่ธรรมเพื่อช่วยให้ผู้คนดับทุกข์ในใจ  ยิ่งต้องทันสมัยและทันกับทุกข์ที่ท่วมทับผู้คน   พระธรรมทูตอาสาจึงปรับตัวในการสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ  ไม่ว่าจะเป็นการที่พระสงฆ์ช่วยกันทำอาหาร “รสพระทำ”  เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่สามารถไปทำงานได้ในช่วงกักตัว  จัดปฏิบัติธรรมที่บ้านฟังเทศน์ออนไลน์   อีกทั้งพระธรรมทูตอาสาหลายๆ วัด ก็ช่วยกันสอนและสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านได้ยังชีพในช่วงเวลาวิกฤตินี้ผ่านสื่อโซเชียล  ตลอดจนช่วยเหลือในเรื่องเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับชาวบ้านตามที่ชาวบ้านต้องการ  

จะเห็นได้ว่า  งานของพระธรรมทูตอาสานั้นมากมายและหลากหลายเพิ่มมากขึ้น  ตามคลื่นแห่งความทุกข์ที่มากับการเติบโตของโรคระบาดอย่างไม่หยุดยั้ง  ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตบนพื้นฐานที่ต้องมีเศรษฐกิจที่ดีรองรับ  แต่เมื่อเกิดปัญหาอย่างหนึ่ง ก็เป็นเหมือนโดมิโนที่ล้มเป็นทอดๆ การศึกษาต้องหยุดชะงัก  เข้ามาสู่ระบบการเรียนผ่านออนไลน์แทน 

เมื่อโลกเปลี่ยนไป  การใช้ชีวิตในสังคมโลกใหม่  ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว  พระธรรมทูตนอกจากต้องฝึกตนบนหนทางแห่งการพ้นทุกข์เฉพาะตนตามรอยบาทพระบรมศาสดาแล้ว  ยังต้องทำงานอย่างหนักและทุ่มเทให้ทันการต่อการช่วยเหลือคนทุกข์ให้พ้นทุกข์ให้ทันท่วงที   ตามรอยพระพุทธเจ้าชนิดก้าวต่อก้าวเลยทีเดียว 

              ย้อนกลับไปก่อนที่โควิดระบาดอย่างหนัก  พระธรรมทูตก็ลงพื้นที่มาโดยตลอด  ขณะเดียวกันก็สร้างจิตอาสาไปด้วย  จากการพูดคุยสนทนากับญาติโยมมาที่วัด  ก็ถามถึงการเป็นอยู่การเรียน  การงานของลูกเขา  และแทรกธรรมะให้เขาไปอีกทาง   เด็กๆ และเยาวชนที่มากับพ่อแม่  และที่เคยมาอบรมเข้าค่ายปฏิบัติธรรมด้วย  หลายคนก็สนใจมาช่วยพระอีกแรงหนึ่ง  โดยมาเป็นทีมกับพระธรรมทูต เวลาลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง  เยี่ยมคนเฒ่าคนแก่ที่บ้านไม่มีใครดูแล  ก็จะเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนมากขึ้น  เกิดการเกื้อกูลกันอย่างเป็นธรรมชาติ 

ทุกครั้งหลังการอบรมค่ายธรรมะจบลง  พระธรรมทูตก็จะไปในโรงเรียนทั้งแบบทางการและไม่ทางการ  เพื่อไปติดตามและพูดคุยกับเด็กนักเรียนหลังจากอบรมไปแล้วว่ายังรักษาหัวข้อธรรมอะไรได้บ้าง  จำอะไรได้บ้าง  และจัดโครงการต่างๆ ขึ้น  ให้ชาวบ้านมาสวดมนต์เฉลิมพระเกียรติถวายพระพรในหลวง  มีการปฏิบัติธรรมพูดคุยเสวนาธรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  เป็นต้น

              เป็นการเชื่อมผู้คนในชุมชนให้รู้จักกัน  ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเหมือนสมัยปู่ย่าตายาย  เกิดจิตอาสาอย่างเป็นธรรมชาติ  จนมีอาสาสมัครถึง ๑๕๐ คน  เข้ามาอยู่แบ่งเป็นเขต  และก็จัดจิตอาสาเริ่มจากออกช่วยเหลือคนเจ็บคนป่วยมาตลอด  ทุกเรื่องที่ชาวบ้านปรึกษา  พระธรรมทูตอาสาก็ต้องหาคำตอบให้ได้  เพราะว่าพระธรรมทูตอาสาเป็นที่พึ่งของเขายามทุกข์ยากยามลำบาก  ต่อไปพระธรรมทูตอาสามีมากขึ้น  ก็มีทีมหนึ่งไปเยี่ยมคนป่วยที่โรงพยาบาล  อีกทีมก็ไปเยี่ยมคนป่วยติดเตียงที่บ้าน เป็นอย่างนี้

              พระธรรมทูตอาสาทำให้เป็นแบบอย่างโดยการพัฒนาวัดตัวเองก่อน  พัฒนาตามที่โยมต้องการ  แบบไหน  อย่างไร  ตามวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ ช่วยกันเป็นที่ปรึกษาให้กับญาติโยม  เมื่อพระธรรมทูตอาสาเป็นเสมือนลูกหลานชาวบ้าน  เขาก็เชื่อและไว้วางใจ  จากนั้นก็พัฒนาบริเวณรอบวัดให้เขามีส่วนร่วม  จัดกิจกรรมทำบุญ  ใส่บาตร  ฟังธรรม  จัดตลาดเกษตรกรรมธรรมชาติ  ช่วยเหลือเกื้อกูลให้ชาวบ้านมีหลักในการดำรงชีวิตและการทำงาน   เมื่อชาวบ้านรอบๆ วัดศรัทธา  เขาก็จะพูดไปเองว่าน่าไว้วางใจ  เชื่อถือได้  ทำแล้วไม่มีส่วนที่เป็นครหาทางการเงิน  ทางการบริหาร  เขาก็จะเชื่อถือพระธรรมทูตอาสา  แม้คนใต้จะเชื่อใจคนยาก  แต่ถ้าพระธรรมทูตเป็นส่วนหนึ่งของเขา  เป็นหนึ่งเดียวกัน  เหมือนบรรพชนที่อยู่อาศัยกันหลายๆ ศาสนาเชื้อชาติ  ก็อยู่ร่วมกันได้เช่นเดิม  ไม่หวาดระแวงกัน  เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่รักใคร่กัน  ช่วยเหลือกันเหมือนเดิม  นี่คืองานของพระธรรมทูต  คือ คืนความสุขสงบให้สังคมพหุวัฒนธรรม

              การทำงานเป็นกลุ่มจึงเป็นเรื่องสำคัญ  การทำงานเป็นทีมคือ  การดึงทุกส่วนที่อยู่รอบตัวเข้ามาช่วยในการเผยแผ่ให้เกิดประสิทธิภาพ  เช่น ผู้นำชุมชน  หน่วยราชการต่างๆ โรงเรียน ดึงคนที่มีความรู้สึกร่วมกันมาทำงานร่วมกัน  และสร้างเครือข่ายอย่างเป็นธรรมชาติ  โดยการดึงคนแม้ที่ไม่เห็นด้วยให้กลับมาเห็นด้วย  แต่ทั้งหมดก็เกิดจากใจ  ความรู้สึก  ความปรารถนาดีต่อสิ่งที่พระธรรมทูตเพียรทำอย่างบริสุทธิ์ใจ  ที่ออกมาทางด้านพฤติกรรมที่จริงใจจากงานเผยแผ่ที่ทำ  การปฏิบัติต่อคนที่เราเกี่ยวข้องโดยการพูด  การแสดงออก การคิด และวิธีการเผยแผ่นั้นก็จะทำให้ความสงบและสันติในใจของผู้คนเกิดขึ้นได้  จากนั้น ท้องถิ่นชุมชนก็สามารถเกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้ในที่สุด

๙๙. วิธีการทำงานของพระธรรมทูตอาสา  (๒) 

              ความเสียสละและความตั้งใจที่จะต้องจัดสรรเวลาในการทำงานในฐานะเป็นเจ้าคณะผู้ปกครองต้องทำคือ  การเข้าถึงพื้นที่  การเข้าถึงประชาชน  หมายถึงการอยู่ที่วัด  การเทศน์หรือจะบรรยายอยู่ที่วัด  อาจไม่เพียงพอแล้ว  เพราะปัจจุบันคนเข้าวัดน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มของเยาวชนนี้ถ้าไม่มีงานหรือกิจกรรม  เขาก็จะไม่เข้ามาที่วัด  สิ่งที่จะต้องทำให้ประสบความสำเร็จได้คือ  การเข้าไปสู่ชุมชน  โรงเรียน  หมู่บ้าน  และทำกิจกรรมของชุมชนร่วมกัน  ที่สังคมปัจจุบันเขามองเห็นว่าพระไม่ได้อยู่แค่ในวัด  แต่เป็นพระที่อยู่กับชาวบ้าน  หมายถึงเข้าหาชาวบ้าน  คือ แทนที่จะให้ชาวบ้านมาหาเรา  เราก็ไปหาชาวบ้านเอง  ในส่วนการไปหากลุ่มเป้าหมายที่เราคิดว่าจะไปจัดอบรมธรรมะ  หรือจัดกิจกรรมค่ายธรรมะ  เขาก็จะขอดูบริบทอะไรต่างๆ  ความพร้อมหลายๆ  ส่วนโดยเฉพาะสิ่งที่เราจะไปพูด  ไปทำ  ไปนำเสนอ  มันเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย  มันเป็นประโยชน์ในคนแต่ละกลุ่มไหม  ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน  หรือคนทำงาน  และผู้สูงอายุก็ตาม  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ความเสียสละนั่นแหละเป็นสิ่งที่จะต้องมีกับสังคม  ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่ต้องเสียสละเวลาที่เราจะนั่งพักในวัด  หรือเสียสละกิจนิมนต์ส่วนตัว 

              หน้าที่พระธรรมทูตอาสาสิ่งหนึ่งที่จะต้องสละไปก็คือกิจนิมนต์ส่วนตัว  หรือที่เราทำกันปกติ  พอได้มาทำหน้าที่เผยแผ่ทำให้มีความรู้สึกว่าเราต้องตัดกิจส่วนตัวออกไป  แล้วมอบหมายให้คนอื่นไปแทน  ทั้งนี้ทั้งนั้นมันอยู่ที่ความเสียสละ  พระธรรมทูตอาสาในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำงานอยู่ขณะนี้  ที่สัมผัสได้ก็คือมีใจที่จะทำและเสียสละเป็นที่ตั้ง

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ  ให้แนวทางพระธรรมทูตว่า  ต้องใช้ลีลา  สติปัญญา  วิธีการที่จะสอน  เมื่อเขาเข้ามาเรา  จะสอนอะไรเขา  ต้องเข้าใจบริบทของชาวบ้าน  ธรรมะอะไรที่เยียวยาใจเขาได้  บางครั้งเขาไม่เห็นว่าพระพุทธศาสนาจะช่วยแก้ทุกข์เขาได้อย่างไร  บางคนก็มองว่าพระพุทธศาสนาเป็นของไม่มีความหมาย  พระธรรมทูตก็ต้องมีกุศโลบายในการสอน  อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน  เราเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า  เราก็ต้องรู้ว่าวิธีการทำใจอย่างไรเมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นมา  เราจะบอกเขาอย่างไรเมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นมา  แล้วทำอย่างไรที่จะทำให้ใจเขาเย็นลง  ยอมรับตามความเป็นจริง  ถ้าลูกเขาตายขึ้นมาใครจะบอกเขาอย่างไร  การเกิดการตายเป็นสิ่งปกติ  ถ้าเขายอมรับได้ทุกสิ่งมันก็จบ  ไม่มีทุกข์  แล้วเขาก็จะเชื่อในพระพุทธศาสนาว่าดับทุกข์ทางใจให้เขาได้จริง 

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่อยู่บนหลักความเป็นจริง  เป็นธรรมชาติ  พระธรรมทูตต้องมีหลักที่จะสอนเขา  ถ้าเขาเห็นหลักตามความเป็นจริงแล้ว  เขาก็จะเชื่อเราอย่างจริงใจ  ต่อไปเขาก็จะไม่ทิ้งวัดไม่ทิ้งธรรมะ  ไม่ทิ้งพระศาสนา  คือการเผยแผ่ที่ทำด้วยใจ  ด้วยการเอาใจเขาใส่ใจเรา  ก็จะได้ใจเขากลับมา 

๑๐๐.วิธีการทำงานของพระธรรมทูตอาสา (๓)  

              การศึกษาปัญหาให้ลงไปดูพื้นที่จริง  สิ่งที่จะไปแนะนำเขาในพื้นที่ของแต่ละหมู่บ้าน  พระธรรมทูตก็จะจัดกลุ่มเยาวชน  กลุ่มผู้สูงอายุ  กลุ่มข้าราชการ  เพราะคนแต่ละประเภทเขามีการรับรู้ที่ไม่เหมือนกัน  เราจะต้องตรวจสอบรูปแบบก่อน 

โดยใช้ยุทธศาสตร์พาหุง ( มาจากบทสวดพาหุง หรือ บทพุทธชัยมงคลคาถา  ซึ่งเป็นพระพุทธมนต์ที่มีเนื้อหาสรรเสริญชัยชนะมาร ๘ ประการของพระพุทธเจ้า  หากมองการทำงานทางโลก  การทำงานก็ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา  เหมือนพระพุทธเจ้าผจญมาร หรืออุปสรรคทั้ง ๘ ประการ  แต่พระองค์ก็ชนะมารได้ด้วยความจริง และความดี ) 

เพราะบางคนพูดไม่เยอะเขาก็เข้าใจ  และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ลุล่วงด้วยดี   แต่บางคนต้องใช้กฎระเบียบเยอะ  จึงเข้าใจ และอาจต้องใช้การอธิบายมาก  จึงสามารถแก้ไขปัญหาได้  ซึ่งทุกปัญหาและอุปสรรคมีไว้เรียนรู้แก้ไข และพัฒนาตนเอง  จนในที่สุด  เราก็จะชนะอุปสรรคทั้งปวง   

              การ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”  คือ  เข้าใจในกระบวนการในการเผยแผ่  เข้าใจในชุมชน  รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง  รู้เขารู้เรา  ขณะนี้เรา  หมายถึงพระธรรมทูตทำงานแบบไม่รู้เขา  แต่เขารู้เราหมด  รู้ความเป็นไป  รู้ความเคลื่อนไหวจะด้วยวิธีหรือกลยุทธ์อะไรก็แล้วแต่ 

ดังนั้น  มีความคิดเห็นส่วนตัวในการเผยแผ่ที่จะประสบผลสำเร็จ  ถ้าใน ๓ จังหวัดชายแดนเป็นไปได้ยากมากในลักษณะของการเผยแผ่ 

ประการแรก  มาจากความแตกต่างทางด้านชุมชน วัฒนธรรม  และสังคม  เพราะเรามีศาสนสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นก็แค่ภาพ  เราไม่เอาความจริงมาพูดกัน  เราเอาแต่โลกสวยหรูต้องสันติ  มันมีกระบวนการที่ซับซ้อนมากในเรื่องสังคมเรื่องวัฒนธรรม  แต่ถ้าเป็นส่วนตัวในเรื่องของการสำเร็จจะต้องอิงหลักในการพัฒนาของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่ทราบกันดี เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา

              การเผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกวันนี้ก็ใช้วิธีหลายอย่าง  ใช้สื่อเป็นเครื่องมือ  สื่อหลักมี ๒ ส่วน  คือสื่อกระแสหลัก โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์  และสื่อกระแสรองก็คือ สื่อโซเชียล ทั้ง ๒ ส่วนนี้ก็นำมาเครื่องมือในการเผยแผ่ศาสนาเป็นหลัก  และอีกอย่างคือการพบปะผู้คน  พูดคุยสนทนา  และให้ความคิดตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิด  เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการเผยแผ่ได้เช่นกัน

              วิธีการในการเผยแผ่ของพระธรรมทูตอาสาสำหรับ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ประกอบด้วย  การพบปะพูดคุย  เสวนาธรรม  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  เพื่อสร้างความไว้วางใจแล้วค่อยแทรกธรรมะ  จัดอบรม  ดึงมวลชน  ดึงจิตอาสาออกมาจนมีอาสา  ทำให้เป็นแบบอย่างโดยการพัฒนาวัดตัวเองก่อน  ต้องใช้ลีลา สติปัญญา  วิธีการที่จะสอน  จากการศึกษาปัญหาดูพื้นที่จริง  เข้าใจ  เข้าถึงและพัฒนา  เข้าใจในกระบวนการในการเผยแผ่  เข้าใจในชุมชน  การเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยการใช้สื่อเป็นเครื่องมือ

              ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสาใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านภาวะผู้นำของพระธรรมทูตอาสา  ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ  พระธรรมทูตอาสา  สามารถสร้างขวัญกำลังใจชาวพุทธในพื้นที่ภาคใต้  เข้าใจในหน้าที่  เพื่อนร่วมงานมีความรับผิดชอบในการทำงานเชิงรุกและเชิงรับ  สามารถประสานกับกับข้าราชการ  เจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ  และส่วนบ้านเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้

              และหลักการบริหารของพระธรรมทูตในพื้นที่ ๕ จังหวัดภาคใต้  ซึ่งมีบริบทพิเศษต่างจากพื้นที่อื่น จึงต้องทำความเข้าใจ  โดยการศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่  คำนึงถึงการทำงานกับคณะทำงาน  ประเมินตนเอง  เชื่อมโยงไปยังสถานการณ์ว่าสามารถเข้าไปเพื่อลดความขัดแย้งหรือลดความขัดแย้งและลดช่องว่างระหว่าง วัด ชุมชน และหน่วยงานราชการได้อย่างรู้กาล 

โดยเฉพาะเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก  มีการเชื่อมโยงผู้นำชุมชนให้เข้ามาร่วมกัน  ยกย่องและให้เกียรติในการทำกิจกรรม  วางแผน  จัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการทำงาน  มอบหมายการทำหน้าที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่  เป็นผู้ให้  เสียสละ ไปเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจให้ขวัญ ให้สิ่งของต่างๆ

              ทรัพยากรที่ใช้ในการบริหารเพื่อผลสัมฤทธิ์ของงานเผยแผ่  ได้แก่  งบประมาณ  อุปกรณ์ในการสื่อสาร  เช่น  โทรศัพท์  คอมพิวเตอร์  สื่อออนไลน์ต่างๆ  เครื่องบันทึก  เครื่องมือสื่อสาร  กล้องถ่ายรูป ยานพาหนะในการเดินทาง  สื่อการเรียนการสอน  บุคลากร  การประชาสัมพันธ์  หลักธรรม  งานเผยแผ่จะอยู่ได้ศาสนาจะต้องอยู่รอด  และต้องมีการติดตามประเมินผล

              ประกอบกับแนวคิดเกิดขึ้นในการบริหารงานพระธรรมทูตอาสา  เป็นการจัดการทรัพยากรมนุษย์  องค์กรต้องมองบุคลากรในองค์กรไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยทางการบริหาร  แต่เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้มีความก้าวหน้า

กระบวนการบริหารงานบุคคลจะต้องปรับเปลี่ยน  เชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ขององค์กรและตอบสนองเป้าหมายขององค์กร  สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร  กระบวนการจัดการทรัพยากรมนุษย์มีลักษณะบูรณาการอย่างแท้จริง 

ผู้บริหารต้องเชื่อมั่นต่อผู้ใต้บังคับบัญชา  มอบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  กระตุ้นให้เกิดการพัฒนา  และการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  และผสมผสานโยงใยศักยภาพของบุคคลให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก  เพื่อให้เกิดแรงบวกในการใช้ศักยภาพของตนเอง

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน ได้เป็นเครื่องจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๙๘ – ๑๐๐ วิธีการทำงานของพระธรรมทูตอาสา (๑-๓) เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here