“ต้นไม้เล็กทนต่อการเสียดทานของดินฟ้าอากาศได้ ก็เติบโตได้
ชาติบัณฑิต ถูกโลกธรรมกระทบ ทนต่อการดูหมิ่น เหยียดหยามได้ ก็เจริญได้ฯ”

ธูปเทียนแพถวายเป็นอุปัชฌายบูชา เพื่อน้อมรำลึก “๙ มีนาคม” วันสลายสรีรสังขารหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) พระอุปัชฌาย์ผู้เลิศคุณ ผู้ให้ภาวะความเป็นภิกษุ แก่ สานุศิษย์สืบมาฯ

ภูเขาทอง , วัดสระเกศ

๙ มีนาคม ๒๕๖๓

ข้าพเจ้าเห็นภาพนี้และตัวอักษรไม่กี่ประโยค น้ำตาก็ไหลริน แต่ก็ต้องเข้มแข็งไว้ รำลึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ที่ไม่ให้ติดกับอารมณ์ ชีวิตต้องเดินหน้า ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ทุกอย่างก็จะผ่านไป”

คอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๑๙ "กว่ามะม่วงจะสุก" หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พศ.๒๕๖๑
คอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๑๙ “กว่ามะม่วงจะสุก” หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พศ.๒๕๖๑

ทำให้ข้าพเจ้ารำลึกความทรงจำเมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ได้เมตตาให้โอกาสไปเป็นวิทยากรถวายความรู้เกี่ยวกับการเขียนบทความแด่พระสงฆ์ในโครงการ พระนักเขียน ซึ่งจัดโดยสถาบันพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เมื่อปีพ.ศ.๒๕๖๐

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ในครั้งนั้น ได้กราบเรียนท่านว่า สมัยเป็นนักข่าวใหม่ๆ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ได้มีโอกาสมากราบเรียนสัมภาษณ์หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และในสมัยนั้น ยังไม่รู้จักวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อสมเด็จฯ ได้แต่อ่านผ่านสื่อเท่านั้นเอง ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และพระอาจารย์อีกสองรูป จึงเมตตาพาเยี่ยมชมกุฏิหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในคณะ ๕ ซึ่งมีเพียงเตียงไม้เล็กๆ ติดหน้าต่างบานหนึ่ง หันศรีษะไปทางภูเขาทอง

กุฏิหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในคณะ ๕ ซึ่งมีเพียงเตียงไม้เล็กๆ ติดหน้าต่างบานหนึ่ง หันศรีษะไปทางภูเขาทอง
กุฏิหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในคณะ ๕ ซึ่งมีเพียงเตียงไม้เล็กๆ ติดหน้าต่างบานหนึ่ง หันศรีษะไปทางภูเขาทอง

แล้วท่านก็เล่าให้ฟังว่า ปกติเวลาจำวัดหลวงพ่อสมเด็จจะหันศีรษะไปทางภูเขาทอง เพื่อเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

“ปกติท่านจำวัดบนพื้นไม้ ในห้องเดิมซึ่งอยู่มาตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร ปูผ้าอาบผืนเดียว  มีหมอนใบเดียว ห่มผ้าจีวรจำวัด ท่านไม่ใช้ผ้าห่ม จนกระทั่งในช่วงหลังๆ ท่านเริ่มชราและอาพาธ คุณหมอจึงให้ท่านจำวัดบนเตียงนี้ แต่ช่วงแรกๆ ท่านก็ยังลงมาปูผ้าอาบจำวัดข้างๆ เตียง บอกว่า ท่านจำวัดบนพื้นไม้มานานจนชินแล้ว

“แม้เวลาสรงน้ำ ท่านก็ใช้ผ้าอาบเช็ดตัว ไม่ใช้ผ้าขนหนู มีโยมมาถวายผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัว ท่านจะรับไว้เพื่อรักษาศรัทธา แล้วมอบให้พระเณรตามโอกาส”

ที่หน้าห้องมีโต๊ะทำงานของหลวงพ่อสมเด็จ เป็นเพียงโต๊ะตัวเล็กๆ ธรรมดาและเก้าอี้ตัวเดียวเท่านั้น ท่านเจ้าคุณอาจารย์เล่าต่อมาว่า หลังทำวัตรค่ำหลวงพ่อสมเด็จจะนั่งที่โต๊ะตัวนี้เป็นประจำ ดูฤกษ์ยามออกรถใหม่ ลงไม้มงคลปลูกบ้าน ดูฤกษ์งานแต่ง ตั้งชื่อให้กับเด็กที่เกิดใหม่ ตามแต่จะมีผู้มาขอ และวินิจฉัยการพระศาสนาในประเทศ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย ไปจนถึงการพระศาสนาในต่างประเทศทั่วโลก พระเณรในพระอารามมีเรื่องอะไรก็จะมากราบเรียนท่านที่นี่ เวลาดูข่าวจะไม่มีใครรบกวนท่าน โดยเฉพาะข่าวในพระราชสำนัก หากพอมีเวลาก็จะเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้พระเณรฟังไม่รู้จักเหนื่อย

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

“สำหรับญาติโยมที่มาพบ ท่านจะรับที่ศาลาเรือนไทยหน้ากุฏิ ท่านจะฟังปัญหาจากญาติโยมที่มาปรึกษาอย่างตั้งใจ ให้เขาคลายใจว่า มีผู้รับรู้ทุกข์ของเขา แล้วก็จะให้ข้อธรรม ให้ศีลให้พร พอเป็นหลักในการประคองสติต่อไป”

จากนั้นท่านก็พาชมสมุดวิชาโบราณต่างๆ ของสำนัก ตั้งแต่ตำรายา ตำราพิชัยสงคราม โหราศาสตร์ ฤกษ์ยาม เป็นต้น ดูสมุดบันทึกและหนังสือที่หลวงพ่อสมเด็จเรียนบาลีตั้งแต่เป็นสามเณร เป็นพระมหา ตลอดจนงานหนังสือที่หลวงพ่อสมเด็จฯ เขียน ไปจนถึงอาสนะที่หลวงพ่อสมเด็จนั่ง ทุกอย่างจัดวางไว้คงเดิมสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นประธานให้กับคณะสงฆ์ได้มีกำลังใจในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนากันอย่างเต็มกำลัง ทำให้ได้มีโอกาสสัมผัสวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อสมเด็จที่เรียบง่าย แม้ว่าท่านจะมีงานบริหารคณะสงฆ์มากมายในยุคที่เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชก็ตาม

ท่านเมตตาเล่าให้ฟังต่อมาว่า กลับไปครั้งนี้หลวงพ่อสมเด็จเริ่มสอนให้คิด ให้มองคณะสงฆ์แบบภาพรวม ไม่ให้มองจุดใดจุดหนึ่ง หรือมุมใดมุมหนึ่ง สอนให้มีชุดความรู้ และชุดความคิดหลายๆ ชุด สอนให้เห็นว่า การปกครองคณะสงฆ์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นกลไกให้พระศาสนาเดินไปได้อย่างมีทิศทาง ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ

“หลวงพ่อสมเด็จบอกเสมอว่า มีผู้อยากให้คณะสงฆ์อ่อนแอ อ่อนกำลัง จึงพยายามทำลายระบบการปกครองคณะสงฆ์ เหมือนพยายามตัดเส้นเอ็นออกจากกระดูก ในที่สุดพระศาสนาก็เดินต่อไปไม่ได้  เพราะไร้ทิศทาง คณะสงฆ์จึงต้องฝากพระศาสนาไว้กับงานเผยแผ่ ทำงานเผยแผ่กันให้มาก การเผยแผ่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปกครองคณะสงฆ์ แม้การก่อสร้างซ่อมแซมบูรณะวัดวาวิหารเรือนพระเจดีย์ พระเณรก็ต้องทำ รวมไปถึงการช่วยเหลือสงเคราะห์สังคม การศึกษาทั้งนักธรรม บาลี และปริยัติสามัญ ตลอดจนความรู้อื่นๆ ที่ไม่ขัดพระธรรมวินัย ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ เป็นความมั่นคงของพระศาสนา

ท่านสอนให้มองกว้างออกไปจนถึงต่างประเทศ ต้องนำพระศาสนาออกไปยังต่างประเทศ เป็นการเตรียมหาที่มั่นแห่งใหม่ให้กับพระศาสนา หากพระโสณะพระอุตระไม่เสียสละเดินทางจาริกท่องเที่ยวมา สุวรรณภูมิก็คงไม่ได้เป็นที่มั่นพระศาสนามาจนถึงทุกวันนี้

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) กับ พระมหาเทอด ญาณวชิโร
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) กับ พระมหาเทอด ญาณวชิโร

นั่นคือจุดเปลี่ยนแห่งชีวิตของพระมหาเทอด ญาณวชิโร ที่ต้องตัดสินใจอีกครั้ง หลังจากที่หลวงพ่อสมเด็จฯ ไปตามหาท่านที่วัดในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อตามท่านกลับมาสานต่องานเผยแผ่พระศาสนาตามดำริของหลวงพ่อสมเด็จ ฯ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่าน

หลังจากการตัดสินใจอีกครั้งผ่านไปด้วยดี ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ สมัยยังเป็นพระมหาเทอด ญาณวชิโร ก็เดินทางโดยรถไฟกลับวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

จุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้งจากศรัทธาญาติโยมที่ตั้งใจนิมนต์ท่านเป็นเจ้าอาวาสในวัยหนุ่ม นำมาสู่การเติบโตทางความคิดที่นำไปสู่ความลุ่มลึกในการมองภาพรวมของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาอย่างไร

หนังสือ "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
หนังสือ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

ในช่วงนั้น ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ก็เริ่มเขียน “หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรม” ท่านเล่าว่า ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจทำเป็นหนังสือ แต่เริ่มต้นจากการเขียนจดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ (โยมย่า) ก่อน เพราะตอนที่กลับมาที่บ้านเกิดในอุบลราชธานี ทุกครั้งที่วัดจัดปฏิบัติธรรม โยมแม่ใหญ่ก็จะเข้าวัดปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดด้วยเป็นประจำ

ส่วนโยมพ่อใหญ่ (โยมปู่) แม้ไม่ค่อยได้เข้าวัด แต่ท่านก็จิตใจดี คิดตามประสาชาวบ้านว่า โยมแม่ใหญ่เข้าวัดแล้ว ตัวท่านก็คงจะได้เหมือนกัน เพราะโยมพ่อใหญ่มีอัธยาศัยชอบสันโดษ ไม่ชอบผู้คนมากมาย ชอบอยู่เถียงนา อยู่ตามป่า ตามทุ่ง แต่ถึงแม้โยมพ่อใหญ่ไม่ได้เข้าวัด พอถึงวันพระท่านก็จะเป็นผู้คอยเตือนโยมแม่ใหญ่ให้ไปวัดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำไร่ ทำนา ทำสวน หากได้ยินเสียงพระกลองแลงสะท้อนาจากวัด โยมพ่อใหญ่ก็จะเตือนให้โยมแม่ใหญ่วางมือจากงานไปวัดฟังเทศน์ ส่วนอาตมาตอนเป็นเด็กก็จะมีหน้าที่เก็บดอกไม้เตรียมให้โยมแม่ใหญ่ไปบูชาพระ

“ตอนที่กลับมากรุงเทพฯ อีกครั้ง ก็เห็นว่า โยมทั้งสองอายุมากแล้ว อาจจะอยู่อีกไม่นาน และการจากกันครั้งที่สอง โยมก็คงคิดถึงเหมือนกัน จะทำอย่างไรให้โยมได้ฟังธรรม จึงเริ่มเขียนจดหมาย เขียนด้วยลายมือ เนื่องจากเป็นจดหมายที่ค่อนข้างยาว ไม่อาจเขียนจบในวันเดียว ดังนั้นจึงใช้เวลาในตอนเช้าตื่นมาตีสี่ตีห้าก็เขียนก่อนออกไปบิณฑบาต เขียนทุกวันจนคิดว่าเพียงพอต่อฉบับหนึ่งก็ส่งให้โยม แล้วก็ซื้อเครื่องเล่นเทปไปให้โยมเครื่องหนึ่ง พร้อมกับเทปธรรมะของหลวงพ่อชา สุภัทโท บ้าง ละครธรรมะบ้าง ที่คิดว่าเหมาะกับท่าน แล้วก็เขียนจดหมายแต่ละฉบับไปให้

“จนกระทั่ง เขียนถึงฉบับที่สองหรือที่สาม ไม่แน่ใจ โยมปู่ก็ป่วย อาตมากลับมาเยี่ยมหลายครั้ง แล้วในที่สุดโยมปู่ก็สิ้น โดยที่ยังไม่ได้อ่านจดหมายฉบับต่อมา ช่วงเวลานั้น เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ความพลัดพรากเป็นธรรมดามาเยือน จึงนำจดหมายฉบับนั้นเผาไปให้โยมพ่อใหญ่ด้วย ต่อมาอีกไม่กี่ปี โยมแม่ใหญ่ก็จากไปเช่นกัน จดหมายก็เขียนต่อเนื่องเป็นฉบับที่ ๔ ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายที่เขียน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๖๐
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๖๐

“หนังสือ หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรม เล่มนี้ จริงๆ แล้วไม่ได้เจตนาให้เป็นหนังสือ แต่เป็นจดหมายที่เขียนถึงโยม ต่อมามีโยมเห็นต้นฉบับที่เขียนถึงโยมเป็นลายมือ เขาก็เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ จึงขอไปพิมพ์ จึงรวบรวมพิมพ์ขึ้นมา ก็มีปรับสำนวนบ้าง เพิ่มเติมอะไรลงไปบ้าง เพื่อให้เป็นหนังสือมากขึ้น”

นั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของหนังสือที่เขียนจากประสบการณ์ชีวิตจริงของท่าน ทำให้เข้าใจบวรพระพุทธศาสนาที่หยั่งลึกในประเทศไทย อยู่ในหัวใจชาวไทย มายาวนานกว่า ๑๐๐๐ ปี จนเกิดความมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้

สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม
สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม

จากจุดกำเนิดเล็กๆ ของเด็กชายคนหนึ่งที่ปรารถนาจะเป็นพระ เพราะเห็นคุณย่าเตรียมข้าวปลาอาหารและดูแลมะม่วงที่กำลังออกผลเป็นอย่างดีเพื่อเตรียมไว้ใส่บาตรและไปวัดรักษาอุโบสถศีลในวันพระ ก่อเกิดเป็นมโนปณิธานอันมั่นคงในวันนี้

ท่านกล่าวว่า ไม่เคยต้องการอะไรในชีวิต นอกจากการเป็นพระ ที่ได้บำเพ็ญสมณธรรมตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสู่ความพ้นทุกข์ในสังสารวัฏ และทำหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากพระอุปัชฌาย์ของท่าน ภาระธุระเกี่ยวกับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ท่านแบกไว้บนบ่าทั้งสองอย่างถวายชีวิต เพื่อดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาที่จักช่วยคนให้พ้นทุกข์ต่อไป ตลอดไป “

ดังคำกล่าวของหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ว่า

“เราตายได้ พระพุทธศาสนาตายไม่ได้ ”

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๑๙ “กว่ามะม่วงจะสุก” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พศ.๒๕๖๑

"พระพุทธเจ้าในจินตนาการ" ภาพประกอบสีฝุ่น โดย หมอนไม้
“พระพุทธเจ้าในจินตนาการ” ภาพประกอบสีฝุ่น โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (ตอนที่ ๒๖)

รู้ทุกข์จริงแท้ที่กายใจ”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

“ความทุกข์” เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็น

เมื่อเห็นทุกข์แล้วอย่าได้หนีทุกข์ ยิ่งทุกข์เกี่ยวกับการปฏิบัติ  ก็ยิ่งต้องเฝ้าสังเกตดู เห็นคนอื่นนั่งได้นาน ก็ไปเที่ยวถาม ทำอย่างไรจึงจะนั่งได้นาน ทำอย่างไรจึงจะไม่ปวดขา ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นเหน็บ ทำอย่างไรจึงจะไม่เมื่อย ไม่ปวดหลัง บางทีก็ปวดก้นกบเหมือนกระดูกจะแตก

ที่จริง ไม่ต้องหนี เพราะความจริงนี่แหละที่พระพุทธเจ้าอยากให้เห็น อยากให้รู้ เมื่อความจริงเกิดขึ้นต่อหน้าแล้ว เราจะหนีไปไหน พระพุทธเจ้าให้ดูความจริงนี้แล้วให้เห็นความจริงตามนี้ เราแสวงหาความจริงอันประเสริฐก็ได้เห็นแล้ว

การนั่งนานก็ต้องปวดเป็นธรรมดา พอเปลี่ยนท่านั่งอาการเจ็บปวดก็หายไป พอสู้อดทนนั่งดูไปอีกหน่อย จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิดีก็หายปวด ที่จริงก็ไม่หายปวด ร่างกายมันก็เจ็บมันก็ปวดของมันอยู่อย่างนั้น เพียงจิตไปใส่ใจอยู่กับความสงบ ก็ละวางความเจ็บปวดไป แต่พอลองเปลี่ยนจิตกลับมาดูที่ความเจ็บปวด อาการเจ็บปวดก็จะเด่นชัดขึ้นมาให้เห็น ส่วนความสงบก็จะจางหายไป พอกลับไปใส่ใจความสงบ ความสงบก็จะเด่นชัดขึ้นมาแทนที่ ความเจ็บปวดก็จางหายไป

แต่ถ้าปวดจนรู้สึกว่าทนไม่ไหว ก็เปลี่ยนท่านั่ง จะเปลี่ยนอิริยาบถลุกไปเดิน ยืดแข้งยืดขาให้ผ่อนคลาย เพื่อไม่ให้เกร็งเคร่งเครียดก็ได้ เพียงแต่พอจะเปลี่ยนท่านั่ง หรือเปลี่ยนอิริยาบถก็ให้มีสติระลึกรู้ขาที่เหยียดออกคู้เข้า แขนที่เหยียดออกคู้เข้า จะเดินจะเหินก็ต้องรู้

ไม่ต้องไปวางท่าทางให้เห็นเป็นนักสมาธิ ต้องมีท่าทางอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ใช้ชีวิตตามปกติ ก็เดิน ก็นั่ง ยิ้ม หัวเราะพูดคุย ไปตามปกติเหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ในใจรู้ว่ายิ้ม รู้ว่าหัวเราะ

บางทีปฏิบัติไปแล้วสติระลึกรู้ไม่ทันอารมณ์ ก็ลองนึกย้อนหลังไปดูว่า เมื่อสักครู่ที่ผ่านมาเราทำ พูด คิดอะไร ก็เป็นการฝึกสติระลึกรู้เช่นกัน

ปฏิบัติสมาธิไป ถ้าง่วงนอนก็ลุกไปล้างหน้าล้างตา เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นหรือไปเดินจงกรม เดินจงกรมแบบเร็วเพื่อคลายความง่วง อย่าปฏิบัติให้ดูมีลักษณะเกร็งแข็งขืน ฝืดฝืน แสดงท่าทางประหลาดๆ ไม่ขยับเพื่อให้ดูว่าเราเป็นนักสมาธิ อย่าไปรังเกียจการเปลี่ยนอิริยาบถ อย่าไปทำความรู้สึกรังเกียจการนอน

ปรับอิริยาบถให้เกิดความพอดีมีความสมดุล กายก็มีความสมดุล ใจก็มีความสมดุล จะเปลี่ยนท่านั่งก็เพียงแต่ให้รู้ จะขยับเขยื้อนแขนขา หรือร่างกายส่วนใดก็เพียงแต่ให้รู้ ดูกายดูใจไป ง่วงก็ดูใจ ให้รู้ว่าง่วง เหนื่อยก็ดูใจให้รู้ว่าเหนื่อย อ่อนล้าก็ดูกายใจให้รู้ว่าอ่อนล้า เจ็บปวดก็ดูกายดูใจให้รู้ว่าเจ็บปวด เมื่อยอยากเปลี่ยนท่านั่ง ก็ดูความอยาก ก็เห็นความอยากทุรนทุรายอยู่ในใจดูว่าความอยากเป็นอย่างไร  ดูความขัดเคืองหงุดหงิดเดือดดานเป็นอย่างไร

สุดท้าย เราก็กลับมาดูอริยสัจที่กายที่ใจของเรา เราก็จะเห็นอริยสัจอยู่ภายในตัวเรานี่เอง ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน เราก็จะเห็นกายมันเป็นทุกข์ ใจมันเป็นทุกข์ เมื่อเห็นใจมันทุกข์ ทุรนทุราย ก็คือเห็นอริยสัจที่ใจ เป็นการเห็นอริยสัจเข้ามาที่กายที่ใจของเราเอง  เห็นว่า ตอนนี้กายเป็นทุกข์ ตอนนี้ใจเป็นทุกข์ ก็เห็นสิ่งประเสริฐ

โปรดติดตาม “บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ” และ “รำลึกวันวาน… มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)” ตอนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here