พระเจดีย์ที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี
พระเจดีย์ที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี

“พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย ความสงสัยไม่มีวันสิ้นไปได้ ด้วยการคิด ด้วยทฤษฎี ด้วยการคาดคะเน หรือด้วยการถกเถียงกัน หรือจะอยู่เฉยๆ ไม่ภาวนาเลย ความสงสัยก็จะหายไปไม่ได้อีกเหมือนกัน

“กิเลสจะหายสิ้นไปก็ด้วยการพัฒนาทางจิต ซึ่งจะเกิดได้ก็ด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น การปฏิบัติทางจิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น ตรงกันข้ามกับหนทางของโลกอย่างสิ้นเชิง คำสั่งสอนของพระองค์มาจากพระทัยอันบริสุทธิ์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลสอาสวะทั้งหลาย นี่คือแนวทางของพระพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธองค์”

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

วันนี้วันพระ

วันเสาร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๓ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓

ผู้เขียนเปิดบันทึกคำสอนของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งที่ท่านเมตตาไปให้กรรมฐานคุณแม่ผู้เขียนที่โรงพยาบาลเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่คุณแม่จะจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พศ.๒๕๖๐ ในครั้งนั้น ท่านเมตตาไปพร้อมกับพระครูสิริวิหารการ และพระครูอมรโฆสิต ผู้เขียนรำลึกถึงพระคุณของพระอาจารย์ไม่เคยลืม

ซึ่งการไปเยี่ยมผู้ป่วย และผู้ป่วยในวาระสุดท้ายนั้น เป็นวัตรปฏิบัติของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้น เป็นปกติอยู่แล้วในแต่ละวัน ท่านจะต้องไปเยี่ยมผู้ป่วยและให้กำลังใจผู้ป่วยที่โรงพยาบาลโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะลูกศิษย์เท่านั้น

และวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นี้ เป็นวันเกิดคุณแม่ ผู้เขียนก็ตั้งใจเล่าเรื่องบันทึกธรรมท่านอาจารย์เจ้าคุณให้คุณแม่ฟัง พร้อมๆ กับเล่าให้ท่านผู้อ่านไปด้วยกัน ในปฏิปทาอันงดงามของท่านอาจารย์เจ้าคุณที่ผ่านประสบการณ์การภาวนาส่วนตนและการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างถวายชีวิตท่ามกลางความอบอุ่นของครูบาอาจารย์และสหธรรมิก ที่มีแนวความคิดและอุดมการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ เพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ตลอดไปเพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ให้เห็นธรรม …

จึงขอน้อมนำบทความจากคอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน (หน้าธรรมวิจัย คมชัดลึก นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐) ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ( เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น เมตตาเขียนให้เป็นธรรมทาน จึงขอนำมาแบ่งปัน…

พิธีกรรม ลมหายใจแห่งพระพุทธองค์

“พิธีกรรม” เป็นการนำหลักคำสอนของพระพุทธองค์มาสู่การใช้ในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานที่เข้มแข็งของพระพุทธศาสนา และทำให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนามีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าหากคนเราได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาแบบไทยๆ ที่หล่อหลอมขึ้นมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมของคนไทย ก็จะเข้าใจได้ว่า พระพุทธศาสนา คือ ศาสนาที่มีชีวิตเป็นอย่างไร

เพราะนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติตาม จึงเกิดพิธีกรรมขึ้นมา และเพราะพิธีกรรมนี้เอง ทำให้คนไทยมีประเพณีของตนๆ ที่ถือปฏิบัติไปตามท้องถิ่น และเพราะประเพณีที่ปฏิบัติอยู่กันประจำตามท่องถิ่น จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมของชนชาติ

พิธีกรรมจึงเป็นเพียงผลที่ปรากฏออกมาของจิตใจที่มีศรัทธามั่นคงต่อหลักคำสอนแล้วแสดงออกมาเป็นการกระทำ ซึ่ง แสดงให้เห็นว่า เรากำลังปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเป็นรูปธรรม

ดูเหมือนผู้คนพยายามปฏิเสธพิธีกรรม ด้วยเหตุผลว่า ไม่ใช่แก่นคำสอน แต่หารู้ไม่ว่า ที่จริง พิธีกรรมก็เป็นผลมาจากการปฏิบัติตามคำสอนนั่นเอง

เหมือนเห็นใบไม้ แต่ไม่เห็นรากและแก่นของต้นไม้ ที่จริง ใบไม้ก็มาจากต้นไม้มีราก มีแก่น ยิ่งรากลึก แก่นก็ยิ่งใหญ่ ทำให้กิ่งก้านมาก และใบก็ดกหนา เมื่อใบดกหนา ร่มเงาก็มากตามไปด้วย

เหมือนเรารักเรากตัญญูต่อพ่อแม่ ความรักอยู่ในใจ แต่เราก็อยากให้ท่านเห็นว่า เรารัก จึงจัดดอกไม้มากราบมาไหว้ มาขอขมาในกรณีที่เห็นว่าจะทำให้ท่านไม่สบายใจ กลายเป็นพิธีกรรมขึ้นมา เรียกว่า ความรักเป็นนามธรรมในใจ  ส่วนพิธีกรรมที่แสดงออกมาทำให้ความรักกลายเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ เราเห็นก็นำมาปฏิบัติในชีวิต

อาจกล่าวได้ว่า พิธีกรรม เป็นผลปรากฏออกมาจากการที่กำลังปฏิบัติตามหลักคำสอนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พิธีกรรมถวายทาน พิธีกรรมสมาทานศีลพิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

ที่จริง การให้(ทาน) ไม่ต้องมีพิธีอะไรเลย แค่ยื่นให้ ก็คือ การให้ แต่เพราะการปฏิบัติตามหลักของทานมาจากศรัทธาที่เชื่อมั่นในหลักคำสอน จึงมีการคิดพิธีกรรมการให้ทานให้มีความละเอียดประณีตขึ้น ตามความละเอียดของศรัทธาที่มีอยู่ และทั้งหมดก็เป็นการปลูกศรัทธาขึ้นมาให้มั่นคงในใจคนนั่นเอง

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) และ พระราชอุปเสณาภรณ์ (สังคม ญาณวฑฺฒโน) ในขณะน้ัน ที่พระเจดีย์บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปีพ.ศ.๒๕๕๘
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) และ พระราชอุปเสณาภรณ์ (สังคม ญาณวฑฺฒโน) ในขณะน้ัน ที่พระเจดีย์บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปีพ.ศ.๒๕๕๘

เมื่อก่อน วิถีวัด วิถีบ้าน วิถีชุมชนกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน วัดพึ่งบ้าน บ้านพึ่งวัด ผิดถูกถ้อยทีถ้อยอาศัย ประคับประคองเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ถึงหน้าประเพณีฮีตบ้านคองวัด พระก็นำชาวบ้านจัดกิจกรรมตามประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ ถึงเวลาทำกิจกรรมทางศาสนา ก็ให้ความสำคัญเคร่งครัดรัดกุม ตกเย็นหลังทำวัตรเสร็จ พระก็จะตีฆ้องออกคอง เพื่อส่งสัญญาณให้ชาวบ้านรู้ว่า พระเสร็จจากคองของพระแล้ว ใครมีอะไรก็ให้เตรียมไว้ถวาย สามเณรก็จะเข้าหมู่บ้านแผ่(รับบริจาค)สิ่งของจากชาวบ้าน มีโยมเดินนำหน้า ตีฆ้อง ร้องป่าวไปว่า “แผ่กระบอง ตอง ปูน พรู ยา” หมายถึง ขอรับบริจาค กระบอง(ขี้ใต้ น้ำมัน ใส่ตะเกียง)สำหรับจุดให้แสงว่าง ตอง(ใบตอง) สำหรับดูดบุหรี่

เมื่อก่อนพระใช้ใบตองกล้วยพันยาสูบดูดบุหรี่ ปูนสำหรับกินหมาก ยา คือ ใบยาสูบ หรือ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย บางคราว นานๆ ทีโยมก็จัดปรมัตถ์ถวาย ยังมีอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นพิธีกรรม ซึ่งเป็นกุศโลบายในวิถีธรรมที่นำพุทธศาสนิกชนไปสู่การรักษาศีล สมาธิ จนก่อเกิดปัญญาในการพินิจพิจารณากายและใจจนไปประจักษ์แจ้งในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา  

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ที่พระเจดีย์ บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ที่พระเจดีย์ บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี

วิถีของพระและชุมชนอันมีขนบประเพณีวัฒนธรรมที่งดงามจึงผูกโยงเป็นสายใยแน่นแฟ้น อบอุ่นประดุจเครือญาติกันเช่นนี้มานมนานในสังคมไทย ที่ได้รักษาแก่นพระพุทธศาสนาไว้ได้มาจนถึงทุกวันนี้

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ที่พระเจดีย์ บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี

​รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๕๘ “เปลือกรักษาแก่น พิธีกรรม สานต่อลมหายใจแห่งพระพุทธองค์” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ขอกราบขอบพระคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ภาพวาดท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้น โดย หมอนไม้
ภาพวาดท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้น โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ตอนที่ ๒๓ “นี่คือความจริงแห่งธรรม

ความเดิมตอนที่แล้ว

การปฏิบัติสมาธิก็เพื่อให้เห็นความจริงแห่งธรรมชาติของชีวิต คือ ความจริงแห่งธรรม ซึ่งที่จริงเราก็ประสบความแห่งธรรมตลอดอยู่แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จึงต้องปฏิบัติสมาธิ  ให้จิตสงบ แล้วมองความจริงแห่งธรรมผ่านสายตาแห่งปัญญาซึ่งเกิดจากจิตที่มีความสงบ

เรายินดีเมื่อประสบสิ่งที่เราชอบใจ เรายินร้ายเมื่อประสบสิ่งที่ไม่ชอบใจ ทำให้เราขัดเคืองใจ ความรู้สึกนึกคิดเราวนเวียนอยู่กับความสุข ความทุกข์ ความพอใจ ไม่พอใจ อยู่ตลอดมาตั้งแต่เกิด แต่เราก็ไม่เห็น จึงต้องปฏิบัติสมาธิ ต้องใช้ปัญญาขบคิด พิจารณา ไตร่ตรองเพื่อให้เห็น ให้รู้จักกายใจตัวเอง

การจะรู้จักตัวเองใจต้องมีความมั่งคงเป็นสมาธิ แล้วคอยพิจารณาใจเราเองว่า  เวลาพูดเราพูดด้วยความรู้สึกอย่างไร พูดด้วยความรู้สึกขัดเคืองใจไหม พูดด้วยความรู้สึกแสดงออกมาจากโทสะไหม หรือพูดด้วยความรู้สึกแห่งราคะ

ที่จริง การจะพิจารณาให้รู้จักตัวเองเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิตามที่เราเข้าใจเสมอไป แต่จะใช้วิธีนั่งครุ่นคิดทบทวนพฤติกรรมที่ได้แสดงออกไปแล้ว ก็ใช้ได้เหมือนกัน ผู้ที่จิตมีกำลังอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องฝึกสมาธิ เหมือนคนที่กำลังดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกาย จะเดินจะเหินก็สะดวกคล่องแคล่ว แต่การออกกำลังไว้ก็เป็นการรักษากำลังกายไว้ กำลังมีตกได้

การนั่งสมาธิเป็นประจำก็ทำให้จิตมีกำลังขึ้นมา พอที่จะทำให้จิตคิดได้  เช่น  ได้ของชอบใจเกิดความยินดี ก็รู้ เสียของชอบใจเกิดความยินร้าย ก็รู้

ได้ตำแหน่งหน้าที่การงานตามที่ต้องการ ยินดี ก็รู้ เสียตำแหน่งหน้าที่การงานไป ยินร้าย ก็รู้ มีความคาดหวังว่า  จะได้รับคำยกยอปอปั้นสรรเสริญ  เมื่อได้รับคำยกยอตามที่คาดหวัง ดีใจ ก็รู้ เมื่อไม่ได้ตามที่คาดหวัง ทั้งยังถูกนินทา ถูกตำหนิ เสียใจ ก็รู้ มีความสุข ก็รู้ มีความทุกข์ ก็รู้ จิตฟูขึ้นก็ข่มจิตไว้ จิตตกก็ยกจิตขึ้น เอามาไว้กลางๆ

ยินดีก็อย่ายินดีจนเกินไป ยินร้ายก็อย่ายินร้ายจนเกินไป

สุดท้าย ก็ไม่มีอะไร ก็เป็นแต่เพียงผู้รู้อาการของใจ เมื่อมาได้รู้อย่างนี้แล้ว ก็มีแต่ความสว่างไสวอยู่ในใจ ใจผู้รู้ที่มีแต่ความสว่างไสวอย่างนี้ เรียกว่าเป็น “จิตปภัสสร” หรือจะเรียกว่า “จิตเดิมแท้” ก็ได้ พอใจใสอย่างนี้แล้วมีความคิดอะไรเกิดขึ้นก็รู้หมด เรียกว่ามีอุปกิเลส หรือ มีอารมณ์อะไรจรมาสู่ใจก็รู้หมด เพราะใจใสแล้วก็มองเห็นได้

เห็นอย่างนี้ชื่อว่า “เห็นธรรม”  เข้าใจอย่างนี้ชื่อว่า “เข้าใจธรรม”  รู้อย่างนี้ชื่อว่า “รู้ธรรม

การนั่งสมาธิก็เพื่อไปตั้งหลักที่ความสงบก่อน  พอสงบแล้ว  ก็คิดพิจารณาให้เห็นธรรมดังกล่าว

โปรดติดตาม บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ และ รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here