วันเสาร์ที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓ เป็นวันคล้ายวันเจริญอายุวัฒนมงคลเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พระมหาเถระผู้อยู่ในประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก พระผู้ปิดทองหลังพระ ผู้บุกเบิกพระธรรมทูตไทยในต่างแดนจนกลายเป็นตำนานในการเปิดโลกพระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตก

“ขอให้พระพุทธศาสนา

ได้ตั้งมั่นอยู่ในประเทศไทย

คู่กับสถาบันชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์”

“ขอให้สถาบันทั้งสาม ได้เจริญเป็นหลักอยู่ในบ้านเมืองของเรา ตามที่เราทั้งหลายมีความปรารถนาเหมือนกัน ความงดงามโดยประการต่างๆ ก็จะเกิดพรั่งพร้อมแก่ประเทศชาติบ้านเมืองของเรา ตามที่เราทั้งหลายประสงค์เหมือนกัน ขอให้สรรพความดีงามทั้งหลาย ได้เกิดขึ้นในประเทศชาติบ้านเมืองอย่างพรั่งพร้อมตลอดนิตกาล เทอญฯ” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

พ.ศ.๒๕๕๕ อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ไวาดภาพถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ในนิทรรศการสุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ ในโอกาสครบ ๘๕ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์
พ.ศ.๒๕๕๕ อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู วาดภาพถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ในนิทรรศการสุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ ในโอกาสครบ ๘๕ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า กว่าที่ท่านจะได้มาช่วยงานหลวงพ่อสมเด็จฯ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านแบกภาระธุระด้านพระศาสนาบนบ่าทั้งสองข้างอย่างเต็มกำลัง ตามปณิธานหลวงพ่อสมเด็จฯ ว่า “เราตายได้ แต่พระพุทธศาสนาตายไม่ได้” ศิษยานุศิษย์ทุกคนผู้เป็นพุทธบุตรพระพุทธเจ้า ต้องเสียสละทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตเพื่อรักษาธรรมตามรอยพระพุทธเจ้า และตามรอยปฏิปทาหลวงพ่อสมเด็จ ซึ่งการที่จะเป็นลูกศิษย์สนองงาน หลวงพ่อสมเด็จ ฯ ท่านจะดูวัตรปฏิบัติของลูกศิษย์อย่างละเอียด เรียกว่าดูแล้วดูอีก…

“บ่อยครั้งในสมัยก่อนที่หลวงพ่อสมเด็จไปเยี่ยมเยียนพระเถระและพระสงฆ์ตลอดจนสานงานพระศาสนาทางอุบลราชธานี ท่านก็แวะไปที่วัดปากน้ำ และวัดป่าที่อาตมาเคยจำพรรษาอยู่สมัยเป็นสามเณร แล้วท่านก็จะไปถามพระที่วัดเมื่อไปเห็นร่องรอยที่อาตมาเขียนไว้บนต้นไม้บ้าง ข้างฝาบ้าง เกี่ยวกับข้อธรรมต่างๆ จำได้ว่า มีคำหนึ่งที่อาตมาเขียนไว้คือคำว่า ‘อภัยทาน ‘หลวงพ่อสมเด็จท่านยังนำกลับมาเล่าให้อาตมาฟังในภายหลัง”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น เมื่อครั้งยังเป็น พระมหาเทอด ญาณวชิโร

เพราะการสานงานพระพุทธศาสนาเชิงรุกตามรอยหลวงพ่อสมเด็จฯ นั้นมีรากฐานอันยาวนาน ดังที่ปรากฏ ในหนังสือ “ข้อคิดและความคิด” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.๙ ) พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก ดำเนินการโดย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พิมพ์ในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.๙ ) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ตอนหนึ่งว่า…

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) “ผู้นำพระพุทธศาสนาก้าวสู่โลกยุคใหม่ ”

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นหนึ่งในพระมหาเถระผู้มุ่งมั่นที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่ในผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก

แม้จะตั้งใจบวชเป็นสามเณรเพียง ๗ วัน แต่กลับดำรงตนอยู่ในสมณเพศตลอดมาตราบเข้าสู่วัยชรา ได้สร้างคุณูปการให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างมากมายมหาศาล เหมือนมีชีวิตเกิดมาเพื่อต่อลมหายใจให้กับพระพุทธศาสนา”

จริยาวัตรและปฏิปทาที่งดงาม ภายใต้ใบหน้าอ่อนโยน มีรอยยิ้มฉายอยู่บนใบหน้าตลอดเวลา บ่งบอกถึงพลังเมตตาธรรม เป็นภาพที่ติดตาตรึงใจแก่ผู้พบเห็นอยู่ตลอด อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฝึกฝนในพระกรรมฐานอย่างหนัก

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อยู่ ญาโณทยมหาเถร ป.ธ.๙) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  ขอขอบคุณ ภาพจาก watsrakesa.com
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อยู่ ญาโณทยมหาเถร ป.ธ.๙) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ขอขอบคุณ ภาพจาก watsrakesa.com

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เรียนพระกรรมฐานในเบื้องต้น จากหลวงพ่อพริ้ง ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์องค์สำคัญของเกาะสมุย โดยหลวงพ่อพริ้งได้นำเจริญพระกรรมฐานบนหลุงฝังศพขณะมีอายุเพียง ๑๒ ปีเท่านั้น ต่อมาได้เรียนพระกรรมฐานจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า พระองค์ท่านมีความชำนาญด้านกสิณ และเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ยังได้ให้ความสนใจวิธีการเจริญพระกรรมฐานตามแนวต่างๆ จนมีความชำนาญ สามารถสวดพระปาฏิโมกข์ได้ในพรรษาแรกแห่งการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และยังสามารถเรียนสำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค อันเป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์

สำนึกที่มีต่อความรับผิดชอบพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ก่อตัวขึ้น ท่ามกลางการฝึกฝนอย่างหนักของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ผู้เป็นพระอาจารย์ ผู้ได้เล็งเห็นอุปนิสัย ด้วยญาณวิถีแล้วว่า ศิษย์ผู้นี้ คือ ผู้ที่จะนำพาพระพุทธศาสนาผ่านห้วงเวลาแห่งความยากลำบากในอนาคต

จากวันที่สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค เพราะความรักที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่าล้นเปี่ยม เมื่อก้าวขึ้นสู่การบริหารคณะสงฆ์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะผู้ปกครองในภาคกลาง แต่เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ กลับเลือกที่จะไปเป็นผู้ปกครองทางภาคที่กันดารและเดินทางไปยากที่สุด คือ ภาคอีสาน เนื่องจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เล็งเห็นว่า หากจะพัฒนาประเทศชาติและพระศาสนา จะต้องพัฒนาจากภาคที่มีประชากรมากที่สุดก่อน โดยเน้นที่การให้การศึกษา

จากวันนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการที่จะพบปะผู้คน ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจ เพื่องานพระศาสนาอย่างต่อเนื่อง ออกเยี่ยมพระสงฆ์ในทุกวัดที่อยู่ในการปกครอง ศึกษาทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และสภาพการเป็นอยู่ของถิ่นนั้นๆ เพื่อแนะนำการจัดระบบการศึกษา

ภายหลังเมื่อลูกศิษย์รูปหนึ่ง ออกไปปฏิบัติศาสนกิจในจังหวัดที่ห่างไกล เกิดอาพาธไม่มีโรงพยาบาลรักษาจนถึงแก่มรณภาพลง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างตึกสงฆ์อาพาธในจังหวัดชายแดนตามมาอย่างเงียบๆ ภายใต้ชื่อ “ตึกผู้มีพระคุณ” โดยไม่มีการเรี่ยไร ไม่มีการบอกบุญ และไม่ได้ประกาศให้ใครรับรู้ ทุนในการสร้างทั้งหมดได้มาจากการรวบรวมปัจจัยจากผู้มีจิตศรัทธาที่ทำบุญในโอกาสต่างๆ เมื่อครบจำนวนก็ลงมือสร้างตามแบบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

จากวันนั้นเป็นต้นมา ตึกสงฆ์อาพาธภายใต้ชื่อ “ตึกผู้มีพระคุณ” จึงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนตึกแล้วตึกเล่าตราบจนปัจจุบัน

เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ได้นำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ อันเป็นยุคแห่งการปฏิวัติการเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งสำคัญ เป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดงานพระศาสนาเชิงรุกด้านต่างๆ เช่น ก่อตั้งโรงพิมพ์กรมศาสนา จัดพิมพ์แถลงการณ์คณะสงฆ์ รวบรวมกิจการต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารงานคณะสงฆ์ ตลอดทั้งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่งมหาเถรสมาคม เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ และการพระศาสนาออกเป็นรายเดือนทุกวันที่ ๒๕ ของเดือน และหนังสือธรรมะอื่นๆ

ริเริ่มให้มีศูนย์การคณะสงฆ์ประจำภาค ริเริ่มให้มีสำนักพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อรองรับงานคณะสงฆ์
ริเริ่มให้มีพุทธมณฑลประจำจังหวัด ริเริ่มให้จัดตั้งสำนักเรียนบาลีประจำจังหวัด ริเริ่มให้จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ริเริ่มให้ยกร่างหลักสูตรการเรียนการสอนภาคภาษาอังกฤษในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ยกร่างหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ

ริเริ่มการจัดตั้งโรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ริเริ่มให้มหาวิทยาลัยสงฆ์เปิดหลักสูตรผู้บริหารสำหรับพระสังฆาธิการ เพื่อยกระดับการศึกษาของพระสังฆาธิการในสังฆมณฑล ริเริ่มการจัดตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์พระพุทธศาสนา ริเริ่มให้พระสงฆ์นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ริเริ่มให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์สำหรับคณะสงฆ์อนัมนิกาย ชื่อว่า “มหาปัญญาวิทยาลัย”

ริเริ่มให้จัดตั้งกลุ่มโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา จัดการเรียนการสอนตามแนวโรงเรียนวิถีพุทธ และให้เรียกเยาวชนที่เรียนในโรงเรียนการกุศลว่า “ลูกพระพุทธเจ้า”

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

ริเริ่มให้ปรับการเจริญพระพุทธชัยมงคลคาถาในวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสวดมนต์ข้ามปี เพื่ออนุวัติให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม

พิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีที่ภูเขาทอง ปี ๒๕๕๙ ขอขอบคุณ ภาพจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีที่ภูเขาทอง ปี ๒๕๕๙ ขอขอบคุณ ภาพจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในปีพ.ศ.๒๕๕๙
พิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในปีพ.ศ.๒๕๕๙

ริเริ่มให้มีการกิจกรรมงานวัด และกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อนุวัติให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ ริเริ่มจัดตั้งพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ริเริ่มให้พระสังฆาธิการเกษียณอายุในวัย ๘๐ ปีเพื่อยกเป็นปูชนียบุคคลของสังฆมณฑล

และริเริ่มให้จัดต้ังองค์กรพระสงฆ์รุ่นหนุ่มเข้ามาทำงานการบริหารคณะสงฆ์ เพื่อรองรับงานพระศาสนาให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) และ พระราชอุปเสณาภรณ์ ในขณะนั้น  

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) “ผู้นำพระพุทธศาสนาก้องโลก”

ในส่วนงานพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ริเริ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ริเริ่มด้วยการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ และริเริ่มให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศ ริเริ่มสานศาสนสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และริเริ่มฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศจีน ได้ออกเดินทางไปต่างประเทศทั่วทุกมุมโลก เพื่อหาแนวทางที่จะให้มีวัดเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ อันมีแรงบันดาลใจจากเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ผู้เป็นพระอาจารย์

ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้ออกเดินทางไปร่วมประชุมสังคายนาฉัฏฐสังคีติ ณ ประเทศพม่า และในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ก็ได้เดินทางไปประชุมอรรถกถาสังคายนา เพื่อฉลองกึ่งพุทธศตวรรษ ณ ประเทศพม่าอีกครั้ง ต่อมา ในปีพ.ศ.๒๕๐๒ ภายหลังการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีและเป็นหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เดินทางไปสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศใกล้เคียง ได้แก่ ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา เป็นต้น

พุทธศักราช ๒๕๒๔ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นรองประธานสภาสงฆ์โลก เป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ก้าวขึ้นสู่การบริหารองค์การสงฆ์โลก

พุทธศักราช ๒๕๒๔ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นรองประธานสภาสงฆ์โลก เป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ก้าวขึ้นสู่การบริหารองค์การสงฆ์โลก

ต่อมา ท่านได้มอบภาระธุระให้กับศิษยานุศิษย์สานต่องานพระศาสนา ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้ัน ก็เป็นหนึ่งในศิษยานุศิษย์ที่ได้รับภาระธุระในงานพระศาสนาไว้บนบ่าทั้งสองข้างจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์อย่างเสียสละชีวิตเพื่อธรรมมาโดยตลอด ดังที่งานของท่านปรากฏมาตลอดชีวิตที่ได้สนองงานหลวงพ่อสมเด็จฯ จนลมหายใจสุดท้าย ซึ่งท่านเมตตาเขียนไว้ในคอลัมน์ “วิปัสสนาบนหน้าข่าว” นสพ. คมชัดลึก วันพระ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เรื่อง “พลังแห่งพุทธานุภาพ ให้มองพระพุทธศาสนาในมุมกว้าง “ ตอนหนึ่งว่า…

           เมื่อครั้งที่ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อาพาธ ก่อนที่จะมรณภาพด้วยภาวะไตวายเรื้อรังและติดเชื้อในกระแสเลือดที่โรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖  เวลา ๐๘.๔๑ นาฬิกา นับเป็นโชคดีของชีวิตอาตมาที่ได้ถวายการอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์จนวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน และลมหายใจสุดท้าย ท่านยังฝากให้ดูแลงานพระศาสนาต่อไป

          ” จำได้ว่า ราวสองเดือนก่อนท่านจะละสังขารที่ข้างเตียงผู้ป่วย ผิวกายท่านผ่องใส เนื้อหนังแดงด้วยเลือดฝาด ไม่เหมือนคนแก่ ไม่เหมือนคนป่วย ท่านพูดคุยเรื่องการพระศาสนา ปรารภถึงด้วยความห่วงใย แต่ก็เข้าใจความเป็นไป ท่านวิเคราะห์การคณะสงฆ์ในประเทศ ให้ฟัง และให้มองกว้างออกไปยังการพระศาสนาในต่างประเทศ เหมือนกำลังสอนมุมมอง ให้มองมุมกว้าง อย่ามองมุมแคบ ให้มองหลายๆ มุม อย่ามองมุมเดียว ให้ใช้ชุดความรู้หลายๆ ชุด อย่าใช้เพียงชุดเดียว ในการมองพระพุทธศาสนา “

ในการทำสื่อตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีก่อน จำไม่ได้ว่าสนทนากับท่านประเด็นอะไร แต่จำรอยยิ้มอันเปี่ยมด้วยความเมตตาของท่านได้ และเสียงของท่านในการสนทนาก็เบาๆ ค่อยๆ พูด ให้ความเป็นกันเองกับนักข่าว แม้งานพระศาสนาของท่านเยอะมากๆ แต่ท่านก็ยังกรุณาให้เวลากับงานทุกอย่างเสมอกัน…

จากนั้น ผู้เขียนยังได้ไปทำข่าวในช่วงที่ท่านจัดงานวิสาขบูชาโลก ในประเทศไทยอีกหลายปีต่อมา มีพระเถระจากทั่วโลกจากทุกสาย ทั้งเถรวาท มหายาน วัชรยานมาประชุมกัน เล่าเรื่องราวแลกเปลี่ยนกันในการเคลื่อนกงล้อพระธรรมจักรเพื่อดับทุกข์ให้กับผู้คนบนโลกใบนี้อย่างกว้างขวาง และกว้างไกล มาจนถึงปัจจุบัน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

หลวงพ่อสมเด็จฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ซึ่งท่านเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ของผู้เขียน ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณาอย่างไม่มีประมาณ ท่านได้เล่าประวัติชีวิตของหลวงพ่อสมเด็จฯ หลากหลายมิติการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในเชิงลึกและกว้างไกล กับการมองไปข้างหน้าของการประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ในใจคนทั่วทั้งโลก ผ่านการทำงานอย่างหนักของพระเณรทุกสาย ทุกสำนัก หลวงพ่อสมเด็จเป็นพระเถระที่รักสังฆมณฑลยิ่งชีพ

ท่านสนับสนุนพระเณรทุกด้านในการฝึกตนทั้งการภาวนาส่วนตน และศึกษาทางโลกที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย เพื่อเกื้อกูลชาวโลกอย่างรู้ปัญหาของเขา จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด การเกื้อกูลสังคม ผู้เปี่ยมไปด้วยความเมตตาในการเกื้อกูลให้พระเณรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มีโอกาสกลับไปช่วยเหลือคนทุกข์ในประเทศบ้านเกิดของแต่ละท่าน โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้มีพระอุปัชฌาย์ในต่างประเทศสามารถบวชพระในประเทศต่างๆ ได้ ดังเช่น พระเถระชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์หลวงปู่ชา สุภัทโท หลายท่าน ได้กล่าวถึงหลวงพ่อสมเด็จฯ ซึ่งผู้เขียนได้บันทึกไว้ในคอลัมน์ “หมายเหตุพระไตรสรณคมน์” เรื่อง “ความหมายของพระอุปัชฌาย์ แสงสว่างแห่งปัญญาในต่างแดน” หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น กับ พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮนนิ่ง เกวลี ) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี

ในครั้งนั้น ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์เล่าว่า  พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮนนิ่ง เกวลี ) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระชาวเยอรมัน สอบผ่านการเป็นพระอุปัชฌาย์ โดยใช้เวลาถึงสองปีในการเตรียมสอบจนกระทั่งเป็นพระชาวต่างชาติรูปแรกที่สอบผ่านตามระบบคณะสงฆ์ไทย ตามกฎมหาเถรสมาคม โดยเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๑

“ท่านขอบคุณคณะสงฆ์ไทยที่ให้โอกาสพระชาวต่างชาติได้ทำหน้าที่เสมอเหมือนกับพระไทย ท่านรู้สึกอบอุ่นใจ โดยเฉพาะพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าคณะภาค ๑๐ และเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ที่ให้คำปรึกษา ให้แนวทางกับพระป่าสายปฏิบัติศิษยานุศิษย์ พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) มาโดยตลอด ซึ่งเชื่อมมาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ที่ได้ให้โอกาสพระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ)ปัจจุบัน พระเทพญาณวิเทศ วิ. พระชาวอเมริกัน แห่งวัดป่ารัตนวัน จังหวัดนครราชสีมา เป็นพระอุปัชฌาย์ในกรณีพิเศษเพื่อสร้างศาสนทายาทในต่างแดนจนสำเร็จเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน 

ดังในหนังสือ “ธรรมปรากฏ” ชีวประวัติพระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) ตอนหนึ่งว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการคณะสงฆ์และแวดวงพระศาสนาทั้งในและนอกประเทศ ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อให้พระพุทธศาสนาได้ไปเผยแผ่ยังต่างประเทศ เมื่อประสบปัญหาข้อขัดข้องอันเกี่ยวกับระเบียบข้อบัญญัติของมหาเถรสมาคม ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็จะรีบดำเนินการแก้ไขทันที เพื่อมิให้เกิดอุปสรรคต่อคณะสงฆ์ไทยในต่างแดน

“ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่หลวงพ่อชาจาริกอยู่ในประเทศอังกฤษ และได้มีโอกาสพบท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดพุทธปทีป ขณะนั้นท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพรหมคุณาภรณ์ ครั้งนั้น หลวงพ่อชาได้กล่าวฝากฝังศิษย์และเรียนท่านเรื่องการดำเนินงานสร้างวัดในประเทศอังกฤษ ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็กรุณารับเป็นธุระในการประสานงานกับทางมหาเถรสมาคม

ท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศฯ ท่านสนับสนุนทุกอย่าง ท่านมีศรัทธากับหลวงปู่ชามาก ท่านช่วยเป็นภาระในการพูดคุยกับมหาเถรสมาคมเมืองไทย เพื่อให้การสนับสนุนเราที่อยู่เมืองนอกอย่างมาก อย่างที่เราไม่เคยคิดจะเป็นอย่างนี้ ท่านอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ท่านแต่งตั้งให้เราเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชพระในต่างประเทศได้ และท่านก็เสนอชื่อให้เราเป็นเจ้าคุณ ถ้าไม่มีพระผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนอย่างนี้ เราคงทำไม่ได้ คงจะลำบากมาก”

           ด้วยสายธารแห่งความกรุณาจากหลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศ มาจนถึงท่านเจ้าคุณพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เป็นหมุดหมายสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมพระเถระนานาชาติได้เป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เพื่อบวชกุลบุตรต่อไปในภายภาคหน้า เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาในการดับทุกข์ในใจคนให้กว้างไกล ดังที่พระครูอุบลภาวนาวิเทศ สามารถเป็นพระชาวต่างชาติรูปแรกที่เข้าสู่การอบรมการเป็นพระอุปัชฌาย์ตามระบบคณะสงฆ์จนสอบผ่าน จึงเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งที่กงล้อธรรมจักรจักได้ขับเคลื่อนต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด โดยมีพระเถระรุ่นอาจารย์ที่ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อสมเด็จฯ ให้เป็นพระอุปัชฌาย์เป็นกรณีพิเศษมาแล้ว ดังเช่น หลวงพ่อสุเมโธ (พระเทพญาณวิเทศ วิ.) , ท่านพระอาจารย์อมโร (พระวิเทศพุทธิคุณ) ปัจจุบัน พระราชพุทธิวรคุณ วิ. และ พระอาจารย์ปสันโน (พระโพธิญาณวิเทศ) ปัจจุบัน พระราชโพธิวิเทศ วิ. เป็นต้น

ปัจจัยที่สำคัญต่อการเป็นพระอุปัชฌาย์ในต่างแดนนั้น ทำให้ชาวต่างชาติสามารถบวชเรียนได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น สามารถสร้างศาสนทายาทเป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มั่นคงยิ่งขึ้น จากการปฏิบัติอันเข้มข้นของครูบาอาจารย์ที่ส่งผ่านวัตรปฏิบัติตามรอยพระพุทธเจ้าชนิดก้าวต่อก้าว ทำให้พระชาวต่างชาติที่หลวงปู่ชาส่งไปอยู่ต่างประเทศ ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น และ พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮนนิ่ง เกวลี ) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น และ พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮนนิ่ง เกวลี ) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี

ดังที่ พระอาจารย์เฮนนิ่ง เกวลี กล่าวไว้ในการแสดงธรรมช่วงงานอาจาริยบูชา หลวงพ่อชา สุภัทโท เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๖ ตอนหนึ่งว่า  “ …อาตมามาจากสังคมที่ศาสนาหายไป แต่ยังเจอพระพุทธศาสนาที่เป็นต้นฉบับสมบูรณ์ ทำให้เห็นทางสำหรับตัวเอง ในประเทศไทยนี้ ซึ่งพระพุทธองค์สอนอย่างชัดเจน และเข้าถึงจิตใจชาวพุทธในประเทศไทยโดยไม่รู้สึกตัว

“ดังนั้น ถ้าคนไทยไม่รักษาไว้ก็หายได้เหมือนกัน เพราะเป็นการสอนที่มีการปฏิบัติที่ลึกมาก เพราะหลักพระพุทธศาสนาสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ การนั่งสมาธิมีผลกับสมอง อารมณ์ดีชั่วมีผลต่อร่างกายและจิตใจ การละความคิดอกุศล ทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ อาตมาเองได้สัมผัสกับประเทศของอาตมา ชาวเยอรมันล้วนให้เกียรติพระพุทธศาสนา เพราะมีเหตุผล ไม่ชักชวนในทางที่งมงาย สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง”

ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในครั้งนั้น อธิบายให้เห็นอานิสงส์ของการเป็นพระอุปัชฌาย์อีกว่า การที่พระอาจารย์เฮนนิ่ง เกวลี เป็นพระอุปัชฌาย์ จึงเป็นอีกหนึ่งแสงสว่างแห่งปัญญาที่จะเจิดจรัสในใจของผู้คนในต่างประเทศให้พบทางดับทุกข์ที่พระพุทธองค์ค้นพบมากว่า ๒๖๐๐ ปีให้สืบเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุดตราบกาลนาน  ตามรอยปฏิปทาเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) มาจนถึงมโนปณิธานท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดที่มุ่งมั่นในการรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ตลอดกาล ดังพระบาลีว่า จิรํ ติฏฐตุ พุทฺธสาสนํฯ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

และทั้งหมดนี้คือความหมายว่า “ทำไมลูกผู้ชายต้องบวช” คำถามที่กลายเป็นหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” ความยาวถึง ๕๓๓ หน้า โดย ญาณวชิระ นามปากกาของท่านอาจารย์เจ้าคุณ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น เป็นผลงานอมตะอีกเล่มหนึ่งของท่าน เพื่อจะบอกว่า “ขุนเขาย่อมมีวันทะลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช ” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ : บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ขอรับหนังสือได้ที่ ศาลาดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร จนกว่าหนังสือจะหมด
บันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” ตอนที่ ๑๗ ความว่างภายใน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” ตอนที่ ๑๗

ความว่างภายใน

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ความเดิมตอนที่แล้ว

กระแสชีวิตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะอวิชชา ทำให้ไม่รู้ ว่า โลภะ โทสะ โมหะ มีตันหาเป็นหัวเชื้อ มีอุปาทานความยึดถือเป็นยางเหนียวเชื่อมผนึกแน่น เป็นเหตุให้เกิดกระแสความคิดดำเนินไป จิตจึงเกิดการปรุงแต่งไปตามความยึดถือในโลภะ โทสะ โมหะ ตามขณะจิตนั้น ๆ แต่เมื่อวิชชาเกิดรู้แล้วว่า กระแสชีวิตเกิดขึ้นเพราะตัณหา คือ ความอยากทำให้เกิดความยึดถืออันมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นราก แม้จะเกิดความพอใจไม่พอใจหมุนไปตาม ก็จะไม่มีการปรุงแต่งสืบเนื่อง จะเป็นแต่เพียงขณะจิตของผู้รู้เกิดขึ้นและดับไป

ในที่สุด ก็จะเห็นว่า เพราะอวิชชาความไม่รู้นี่แหละ จึงหลงคิดปรุงแต่งไปตามโลภะ โทสะ โมหะ  

จิตจะคอยอบรมตัวเองให้รู้อยู่อย่างนี้

ความว่างภายใน

จิตที่ดำเนินไปในลักษณะของผู้รู้ จะคอยตัดเข้าสู่ความว่างภายในอยู่ตลอด จะคอยระมัดระวังไม่ให้จิตนำอารมณ์ต่างๆ จากภายนอกเข้ามาปรุงแต่ง ในขณะเดียวกัน อารมณ์ภายในที่มีอยู่แล้ว  ก็คอยถูกขจัดให้หมดไป เมื่อขจัดอารมณ์ใดออกไปได้แล้ว  ก็คอยเฝ้ารักษาสภาวะนั้นไว้ และขจัดอารมณ์อื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยไป

คำว่า “ขจัด” คือ “รู้เรื่อย ๆเกิดความคิดขึ้นมาก็รู้ ปัญญาจะถอยตัวเองออกมาเป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกตการณ์ดูความคิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไปแต่ละขณะจิต

จิตที่ดำเนินไปในลักษณะผู้รู้

คือ จิตจะรู้อารมณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัว

ตามหน้าที่ของจิต

แต่ผู้รู้คือจิตที่ได้รับการฝึกจนสติบริบูรณ์ จะตัดเข้าสู่ความว่างภายใน เพราะเฝ้าสังเกตกิริยาหรือพฤติกรรมของจิต และรับรู้ความเป็นไปอยู่ตลอด ให้พฤติกรรมของจิตอยู่ในสายตาแห่งสติอยู่เนืองๆ ไม่ว่าพฤติกรรมของจิตจะแสดงออกไปทาง ยินดี ยินร้าย ชอบใจ ไม่ชอบใจ ก็อยู่ในสายตาแห่งสติแล้วตัดเข้าสู่ความว่างภายใน และรักษาความสมดุลเป็นกลางอยู่อย่างนั้นเนือง ๆ

ขอทำความเข้าใจ  คำว่า “ความว่างภายใน” กับคำว่า “ความสมดุลเป็นกลาง” เพิ่มอีก

อันที่จริง “จิตไม่ได้ว่าง” หรือ “ความว่างของจิตไม่มี” เพราะจิตมีธรรมชาติเกิดดับไหลไปเป็นกระแส จึงทำให้กระแสชีวิตดำเนินไป เมื่อจิตดวงหนึ่งดับจะส่งต่อคุณสมบัติไปยังจิตอีกดวงหนึ่ง หรือความคิดหนึ่งๆ จะส่งต่อคุณสมบัติไปยังความคิดอีกความคิดหนึ่ง หากเกิดความคิดเป็นราคะ ความชอบใจ ก็จะส่งต่อคุณสมบัติแห่งราคะ ความชอบใจ ไปยังขณะความคิดต่อไป ขณะที่ความคิดเป็นโทสะ ปฏิฆะ โมหะหรืออวิชชา ก็ดำเนินไปในลักษณะเดียวกัน

จิตจึงไม่เคยว่างจากกระแสความคิด  แม้จะอยู่ในภาวะแห่งความสงบก็ตาม ก็จะหน่วงความสงบนั่นเองเป็นกระแส เพราะแม้ความสงบก็เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งที่จิตสร้างขึ้น คือ เป็นอารมณ์สงบ

จิตจึงไม่ได้ว่างจากอารมณ์

คำว่า “ความว่างภายใน” จึงเป็นคำพูดที่ใช้อธิบายสภาวะที่จิตมีความเป็นใหญ่ในตัวเองด้วยอำนาจของความสงบ จึงว่างจากนิวรณ์ ว่างจากการคิดปรุงแต่งไปตามสุข หรือทุกข์ ยินดี หรือยินร้าย พอใจ หรือไม่พอใจ ซึ่งมี โลภะ โทสะ หรือโมหะ เป็นส่วนผสมในการปรุงแต่ง มีตัณหาเป็นหัวเชื้อ มีอุปาทานเป็นตัวผนึกยึดแน่น  มีความสมดุลเป็นกลางระหว่างสุขหรือทุกข์ เพราะจิตไม่ปรุงแต่งหมุนไปตามสุขหรือทุกข์ พอใจหรือไม่พอใจด้านใดด้านหนึ่ง แต่ยึดความสงบเป็นอารมณ์   จึงเรียกว่า “ว่างภายใน

การปฏิบัติสมาธิจึงไม่ใช่แค่ปฏิบัติให้ “หยุดคิด” เท่านั้น แต่ปฏิบัติเพื่อให้ “รู้ความคิด”  โดยอาศัย “อุเบกขา”  คือ ความสมดุลเป็นกลางคอย เฝ้าดูจิตที่หลุดออกไปเป็นสุขหรือทุกข์ แล้วรู้ตามอาการที่เป็นจริงของความคิดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องไหลไปเป็นกระแส  สลับกันเกิดขึ้นระหว่างกระแสแห่งความไม่รู้ ซึ่งเป็นกระแสแห่งอวิชชา และกระแสแห่งความระลึกรู้ ซึ่งเป็นกระแสแห่งวิชชา แต่จิตมักจะไหลไปตามกระแสแห่งอวิชชาตลอดสาย เกิดดับอยู่ในกระแสแห่งความไม่รู้ต่อเนื่อง

การที่สติระลึกรู้ตัดเข้าสู่ความว่างภายใน ก็เป็นการที่กระแสความรู้ตัดกระแสความไม่รู้ให้ตกไป แล้วตัดเข้าสู่ความเป็นกลาง กระแสแห่งอวิชชาใดที่เกิดขึ้น ก็จะถูกสติระลึกรู้ตัดให้ขาดเป็นตอน ๆ อยู่ตลอด ไม่ปล่อยให้เกิดความคิดต่อกันเป็นกระแส

อุเบกขา คือ ความสมดุลเป็นกลางจะคอยเฝ้าสังเกตดูจิต พอกระแสอวิชชาเกิดขึ้นยังไม่ทันได้ก่อตัวคิดปรุงแต่งเป็นกระแส ก็จะถูกสติทำหน้าที่ระลึกรู้ตัดเข้าสู่ความสมดุลเป็นกลาง คือ ความว่างภายใน  ในที่สุดสติความระลึกรู้ก็จะคอยตัดความคิดให้กลายเป็นท่อนๆเป็นตอนๆ

เวลาเฝ้าสังเกตดูกระแสความคิด  ให้ทำความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ริมตลิ่งเฝ้ามองดูสายน้ำที่กำลังไหลไป อย่างไม่ได้ตั้งใจเพ่งมองจุดใดจุดหนึ่ง น้ำในแม่น้ำไหลไปก็เห็นเป็นกระแสน้ำ บางครั้งก็เห็นระลอกคลื่นกระฉอกบาง ๆ บนพื้นผิวกระแสน้ำ  เพราะถูกลมภายนอกกระทบ แต่ไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้กระแสน้ำกระเพื่อมขึ้นมา เพียงแต่ลมทำให้เกิดระลอกคลื่นเล็กน้อยที่พื้นผิวเท่านั้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอพายุโหมกระหน่ำ หรือเจอแผ่นดินไหว กระแสน้ำก็จะกระเพื่อมปั่นป่วนขึ้นมาอย่างบ้าคลั่ง อาจทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้าให้พินาศได้ 

อารมณ์ภายนอกไม่สามารถทำให้จิตที่เข้าถึงความเป็นเอกภาพมีความสมดุลเป็นกลางกระเพื่อมปั่นป่วนขึ้นมาได้ แม้อารมณ์ภายในก็ไม่ก่ออันตราย เพราะอยู่ในสายตาแห่งสติคอยระลึกรู้ อารมณ์ใดเกิดขึ้นก็รู้เฉย ๆ ไม่สำคัญมั่นหมาย แล้วก็จะตัดความคิดให้ขาดตกไปเป็นท่อนๆ  

สติในฐานะฝ่ายวิชชา

จะคอยตัดความคิดฝ่ายอวิชชาให้ขาดตอนอยู่เสมอ

(โปรดติดตามตอนต่อไป )

ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๕๒ “พลังแห่งพุทธานุภาพ จากพระพุทธเจ้าถึง ปฏิปทาหลวงพ่อสมเด็จฯ พระเถระผู้ปิดทองหลังพระ” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here