พระพุทธรูปพระประธานในพระอุโบสถ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
หนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม” โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม ) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๙ โดยกองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศฯ ฉบับธรรมทาน

วันนี้วันพระ

วันพฤหัสบดีที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒

ขออาราธนาพระพุทธมนต์จากหนังสือ “ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร” เรียบเรียงโดย พระราชกิจจภาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ฯ ฉบับธรรมทาน , หนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม” โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม ) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๙ โดยกองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศฯ ฉบับธรรมทาน, บทความเรื่อง “ทำไมเราต้องสวดมนต์เป็นภาษาบาลี” โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ และ บทความ เรื่องของการสวดมนต์โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น ตีพิมพ์ลงในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และนสพ.คมชัดลึก ปี พ.ศ.๒๕๖๐

ศึกษาความเป็นมาและอานุภาพพระพุทธมนต์

” บทถวายพรพระ”

คาถาว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธองค์

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ผู้เขียน และ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น

ทำไมเราต้องสวดมนต์เป็นภาษาบาลี

การเจริญสมาธิภาวนา  คือ  การที่จิตผูกหรือเพ่งอยู่กับคำใดคำหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น  พุทโธ  พุทโธ, พองหนอ-ยุบหนอ, สัมมา-อะระหัง เป็นต้น ให้จิตเกาะเกี่ยวไหลไปตามกระแสของคำนั้นๆ  เพื่อเป็นสื่อให้จิตเข้าถึงความสงบ มีค่าเท่ากับจิตผูกเพ่งอยู่กับการสวดมนต์ที่จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกอักระของบทสวดมนต์

จิตที่ไหลไปเป็นกระแสตามทุกอักขระเช่นนี้ ไม่เปิดโอกาสให้นิวรณ์  ๑  คือ  สิ่งที่ขวางกั้นจิตไม่ให้ทำความดี  เช่น ความรักโลภ โกรธหลง  กามราคะ  อาฆาตพยาบาท  หงุดหงิด  ฟุ้งซ่าน  รำคาญ  เบื่อหน่ายแทรกเข้ามาครอบงำจิตได้  ทำให้จิตมีความผ่องใส  เป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะเข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา  มีความฉับไวต่อการรับรู้อารมณ์ และคมต่อการแยกแยะความถูกผิด

การสวดมนต์ คือ การเจริญสมาธิภาวนา

การเจริญพระพุทธมนต์ เป็นรูปแบบของการเจริญสมาธิภาวนาอย่างหนึ่ง แต่แทนที่จะใช้วิธีนั่งบริกรรม ให้จิตเกาะเกี่ยวอยู่กับคำใดคำหนึ่ง  หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น  พุทโธ  พุทโธ เป็นต้น เพื่อเป็นสื่อให้เข้าถึงความสงบ   ก็ใช้วิธีให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับอักขระเป็นกระแสเช่นนี้ ไม่ปล่อยให้ความ รักโลภโกรธหลง  กามราคะ อาฆาตพยาบาทได้โอกาสแทรกเข้ามา ครอบงำจิต  ทำให้จิตมีความผ่องใสเป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะ เข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา

จิตเช่นนี้เป็นจิตสงบ  คือ  สงบจากกาม ราคะ  อาฆาตพยาบาท  หงุดหงิดฟุ้งซ่าน  รำคาญ  เบื่อหน่ายจึงชื่อว่า  “จิตเป็นสมาธิ”

การสวดมนต์คือการทรงจำพระพุทธพจน์

การสวดมนต์ คือ การท่องบ่นสาธยายพระพุทธพจน์ ซึ่งถูกบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี เพื่อการทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ยืนยาวสืบต่อไป

การสวดมนต์ในอีกด้านหนึ่งก็คือการเจริญสมาธิภาวนาที่ได้นำเอาพระพุทธพจน์มาเป็นบทบริกรรมภาวนา  ให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกขณะของอักขระที่กำลังสาธยาย ไม่ปล่อยให้ นิวรณ์แทรกเข้ามาทำให้จิตเศร้าหมองได้นั่นเอง

พระสงฆ์สาวกสมัยพุทธกาล  นอกจากจะมีหน้าที่ในการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อนำตนออกจากทุกข์แล้ว  ยังมีภาระหน้าที่ในการทรงจำพระพุทธพจน์  เพื่อสืบต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ควบคู่กันไปอีกด้วย   พระสาวกสมัยพุทธกาลจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งที่จะต้องท่องบ่น  สาธยายพระพุทธพจน์  เพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธองค์เป็นหลัก  ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งความเพียรเพื่อนำตนออกจากทุกข์ในสังสารวัฏ  จึงหาวิธีที่จะ ทรงจำพระพุทธพจน์ให้เป็นกิจกรรมในการดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการ เจริญสมาธิภาวนา

การเจริญพระพุทธมนต์  ที่ต้องสวดเป็นภาษาบาลีเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพระพุทธพจน์ ซึ่งกระทำควบคู่ไปกับการเจริญสมาธิภาวนา  เป็นกิจวัตรในการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์สาวกในสมัยพุทธกาล  ที่ถ่ายทอด  สืบต่อมาสู่พระสงฆ์สาวกในยุคปัจจุบัน

อานิสสง์ของการสวดมนต์ในชีวิตประจำวัน

การสวมมนต์เริ่มต้นได้แต่วัยเยาว์… 

  นอกจากการสวดมนต์ จะมุ่งให้เกิดความสุขสงบทางใจตามความมุ่งหมายทางพระพุทธศาสนาแล้ว การสวดมนต์ยังเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย เพราะการสวดมนต์จะทำให้จิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ทำให้สุขภาพจิตดี  และมีพฤติกรรมเป็นไปในแนวทางที่ดี 

ผู้สวดมนต์เป็นประจำ ทำให้จิตได้รับการขัดเกลาอยู่เสมอ ย่อมเกิดประโยชน์  ดังนี้

ประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และ สังคม

         จิตที่สงบราบเรียบละเอียดอ่อน เป็นผลมาจากการสวดมนต์ภาวนา จะทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่เปี่ยมล้น ด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย จิตที่สงบสุขย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากความอ่อนแอ ในขณะเดียวกัน ร่างกายที่มีโรคภัยไข้เจ็บ  ย่อมจะทำให้จิตใจอ่อนแอตามไปด้วย  การสวดมนต์เป็นประจำ จะทำให้

เป็นคนมองโลกในแง่ดี 

ผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำ  จะทำให้เป็นคนมองโลกในแง่ดี และมักจะมีสุขภาพที่ดี  ภายใต้จิตใจที่เบิกบานแจ่มใส   อยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข   ซึ่งก็เป็นธรรมดา เหมือนการฝึกสมาธิจนจิตสงบ  จะมีผลทำให้เป็นคนมองโลกในแง่ดี

         ไม่มีความเคร่งเครียด 

ผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำ จะทำให้ไม่เป็นคนหมกมุ่นครุ่นคิด ย้ำคิดย้ำทำ  ด้วยพลานุภาพแห่งจิตที่สงบจากการสวดมนต์ เมื่อความเครียดเกิดขึ้น ก็จะคลายลงได้ จนกระทั่งความเครียดนั้นจางหายไปจากจิตใจในที่สุดทำให้จิตอยู่ในภาวะปกติ

จิตใจละเอียดอ่อน สงบนิ่ง เยือกเย็น 

การสวดมนต์จะช่วยให้ความเร่าร้อนทางอารมณ์ ที่ถูกแผดเผาด้วยเพลิงโทสะ เพลิงโมหะ เพลิงอิจฉาริษยา และความอาฆาตพยาบาท เบาบางลง จนเกิดความสงบสุข อย่างประหลาด ทำให้เป็นสุภาพชน ที่มีลักษณะสุขุมเยือกเย็น ภายใต้จิตใจที่อ่อนโยน งดงาม  มีวาจาที่สุภาพนุ่มนวล

ไม่เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร

ความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่ง   ที่ทำให้เกิดระบบทางเดินอาหารผิดปกติ    เพราะน้ำย่อยหรือน้ำดีจะหลั่งออกมาจากตับ  ทำให้ระคายเคืองผนังกระเพราะอาหาร  ผู้ที่มีความเครียดมักจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง หรืออาเจียนได้

การสวดมนต์ช่วยให้ลดระดับการเกร็งของประสาททุกส่วนในร่างกาย จึงทำให้ความเครียดลดลง และทำให้อาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหารหายไปด้วย เมื่อไม่มีความเครียดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ก็หมดไป  การสวดมนต์ จึงช่วยปรับความสมดุลของระบบทางเดินอาหารในกระเพาะ

         มีความคิดสร้างสรรค์    ปฏิบัติหน้าที่การงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เนื่องจากร่างกายมีสุขภาพดี จิตใจก็ย่อมปลอดโปร่งมีความสุข จิตใจที่ปลอดโปร่งย่อมทำงานได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่มีจิตปลอดโปร่งเป็นสมาธิ ย่อมมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย 

หลับก็สบาย ตื่นก็เป็นสุข 

ผู้ที่นอนหลับยาก  การสวดมนต์จะช่วยปรับความสมดุลทางจิตให้ก้าวลงสู่ความหลับอย่างสบาย ไม่กระสับกระส่าย  เพราะจิตใจไม่แปรปรวน  ตื่นขึ้นมาก็สดชื่นไม่ง่วงซึม  ทำให้หลับก็เป็นสุขตื่นก็สบาย

        ๏ มีครอบครัวอบอุ่น   

ทำให้ครอบครัวไม่มีปัญหา ลูกหลานเป็นคนมีระเบียบวินัยดี มีความกตัญญูเคารพพ่อแม่ และมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่  รู้จักกาลเทศะ  ไม่เป็นคนอวดดื้อ  ถือดี  อวดเก่ง

โปรดติดตาม “อานิสงส์ การเจริญพระพุทธมนต์” หรือ “การสวดมนต์ “กันต่อ ในวันพระหน้า

ถวายพรพระ

คาถาว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธองค์

พระพุทธมนต์สำหรับใช้สวดในชีวิตประจำวัน

คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร สวดมนต์ทำวัตรในพระอุโบสถ วัดสระเกศฯ ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย ระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ถวายพรพระ : เพื่อประสบชัยชนะในที่ทุกสถาน

วิธีไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน

คาถาประพันธ์ของบุรพาจารย์

ตำนานและอานุภาพการป้องกัน

บทถวายพรพระเป็นคาถาที่บุรพาจารย์คัดเลือกพุทธมนต์บทต่างๆ มาต่อกัน เพื่อให้มีเนื้อความสั้นเข้า เหมาะสำหรับใช้เป็นบทสวดมนต์ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะใช้เป็นบทสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน นอกจากนั้น ยังนิยมนิมนต์พระมาสวดในการทำบุญต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอีกด้วย

เนื้อความของบทถวายพรพระ บุรพาจารย์ได้นำเอาบทสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณที่ปรากฏใน “ธชัคคสูตร “ มาเป็นบทเริ่มต้น แล้วตามด้วย “บทชัยมงคลคาถา” พรรณาถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ชนะพญามาร ผ่านพ้นอุปสรรคครั้งสำคัญไปด้วยดี ด้วยวิธีของพระองค์เป็นคาถาว่าด้วยชัยชนะที่พระองค์มีต่อพญามาร (พญาวสวัตตีมาราธิราช ), อาฬวกยักษ์, ช้างนาราคิริง, โจรองคุลิมาล, นางจิญจมาณวิกา, สัจจนิคนถ์ , นันโทปนันทนาคราช และท้าวพกามหาพรหม ตามที่กล่าวไว้แล้วในตอนว่าด้วยบทพุทธชัยมงคลคาถา จากนั้นต่อด้วย “บทชัยปริตร” จบลงด้วย “บทภะวะตุสัพพ์” เป็นการน้อมนำพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ และสังฆานุภาพมาให้เกิดชัยมงคลตามที่กล่าวในบทถวายพรพระ

สำหรับผู้ที่ต้องการสวดมนต์ก่อนนอน ให้เริ่มต้นด้วย “บทกราบพระรัตนตรัย” ดังนี้

บทกราบพระรัตนตรัย

 อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธังภะคะวันตัง อภิวาเทมิ (กราบ)
    สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม , ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)
    สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ (กราบ)

บทนมัสการพระพุทธเจ้า

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะฯ (ว่า ๓ จบ)

บทไตรสรณคมน์

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
 ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
 สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ฯ
    ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
 ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
 ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ฯ
    ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
 ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
 ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ฯ

หลังจากนี้ให้นั่งพับเพียบ และเลือกสวดมนต์ตามที่ต้องการ เสร็จแล้วสวดบทถวายพรพระ หากมีเวลาก็ทำสมาธิ และแผ่เมตตาเป็นลำดับสืบไป

บทถวายพรพระ เป็นที่นิยมสวดกันแพร่หลาย เพราะเชื่อว่ามีอานุภาพทำให้ชีวิตผ่านพ้นปัญหา อุปสรรคและภยันตรายต่างๆ ในชีวิต ตลอดจนให้ประสบในสิ่งปรารถนาทั้งหลาย

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

บทสวดถวายพรพระ

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะธัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ ฯ

สะหวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ ฯ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ ฯ

พาหุงสะหัส สะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง ครีเมขะลัง อุทิตะโฆ ระสะเสนะมารัง ทานาทิธัมมะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ ฯ

มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง โฆรัมปะนา ฬะวะกะมักขะมะถัทธะยังขัง ขันตีสุทันตะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ ฯ

นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง ทาวัคคิจัก กะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง เมตตัมพุเสกะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ ฯ

อุกขิตตะขัค คะมะติหัตถะ สุทารุณันตัง ธาวันติโย ชะนะปะถัง คุลิมาละวันตัง อิทธีภิสัง ขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ ฯ

กัตตะวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ สันเตนะ โสมะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิฯ

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง วาทาภิโร ปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง ปัญญาประทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ ฯ

       นันโทปะนันทะ ภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต อิทธูปะเทสะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ ฯ

ทุคคาหะทิฏฐิ ภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง พรัหมมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภาธานัง ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ ฯ

เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละ อัฏฐะคาถา โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที หิตตะวานะ เนกะวิ วิธานิ จุปัททะวานิ โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ ฯ

มะหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง ปูเรตะวา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เม ชะยะมังคะลังฯ

ชะยันโต โพธิยา มูเล สักกะยานัง นันทิวัฑฒะโน เอวัง ตะวัง วิชะโย โหหิ ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล อะปะราชิตะปัลลังเก สีเส ปะฐะวิโปกขะเร อะภิเสเก สัพพะพุทธานัง อัคคัปปัตโต มะโมทะติ ฯ

สุนักขัตตัง สุมังคะลัง สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง สุขะโณ สุมุหุตโต จะ สุยิฏฐัง พรัหมมะจาริสุ ปะทักขิณัง กายะกัมมัง วาจากัมมัง ปะทักขิณัง ปะทักขิณัง มะโนกัมมัง ปะณิธีเต ปะทักขิณา ปะทักขิณานิ กัตตะวานะ ละภันตัตเถ ปะทักขิเณ ฯ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เม ฯ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา สัพพะธัมมานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เม ฯ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เม ฯ

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

คำแปล

เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ทรงถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า ทรงเป็นครูของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม ทรงมีความสามารถในการจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ฯ

พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล สามารถแนะนำให้ผู้อื่นมาพิสูจน์ได้ว่า “ท่านจงมาดูเถิด” ควรน้อมเข้ามาไว้ในตัว ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ฯ

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ปฏิบัติเหมาะสม ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ ท่าน นั่นแหละ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาน้อมนำมาบูชา ควรแก่สักการะที่เขาเตรียมไว้ต้อนรับ ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรให้ความเคารพ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ

พญามารเนรมิตรแขนตั้งพัน ถืออาวุธครบมือขี่ช้างคลีเมขล์สะพรึบพร้อมด้วยพลมาร โห่ร้องกึกก้องน่าสะพรึงกลัว เข้ามาผจญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชนะพญามารด้วยวิธีทางธรรม มีทานบารมีเป็นต้น ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีที่ได้ทรงชนะพญามารนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ฯ

อาฬวกยักษ์ ผู้ดุร้าย หยาบช้า เหี้ยมโหดต่อคนไม่เลือกหน้า ได้เข้ามารุกรานราวีพระพุทธองค์ตลอดทั้งคืน หนักเสียยิ่งกว่าครั้งผจญพญามาร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชนะอาฬวกยักษ์ ด้วยวิธีทรมานที่ดี คือ ขันติธรรม ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีที่ได้ทรงชนะอาฬวกยักษ์นั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านฯ

พญาช้างนาฬาคิรีกำลังตกมันเต็มที่จึงดุร้ายมาก ร้องแปร๋แปร้นแล่นเข้ามาราวกับไฟป่าโหมไหม้ หรือไม่ก็เหมือนจักราวุธอันแรงร้ายราวสายฟ้าฟาด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชนะพญาช้างนาฬาคิรีด้วยวิธีรดด้วยน้ำคือเมตตา ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีที่ได้ทรงชนะพญาช้างนาฬาคิรีนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน ฯ

มหาโจรองคุลิมาล สันดานบาปหยาบช้า ทั้งฝีมือก็ยอดเยี่ยม ถือดาบเงื้อง้าวิ่งไล่ติดตามพระองค์ไปตลอดทาง ๓ โยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีทรงชนะมหาโจรองคุลิมาลด้วยการบันดาลฤทธิ์ทางใจ ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนี ที่ได้ทรงชนะมหาโจรองคุลีมาลนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านฯ

นางจินจมาณวิกา ทำมารยาเอาผ้าห่อไม้กลมผูกแนบไว้ที่ท้องแสร้งทำเหมือนหญิงท้องแก่ มาใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธองค์ท่ามกลางชุมชน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชนะนางจินจมาณวิกา ด้วยวิธีสงบนิ่ง วางพระองค์สง่าผ่าเผย เหมือนดวงจันทร์ลอยเด่น ท่ามกลางฟากฟ้า ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีที่ได้พิชิตสัจจนิครนถ์นั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน ฯ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชนะนันโทปนันทนาคราช ผู้มีฤทธิ์มาก แต่มีความหลงผิด ด้วยทะนงจิตจึงบังอาจสำแดงฤทธิ์แผ่พังพานกั้นฉนวนอากาศ ปิดทางพระพุทธองค์เสด็จ พระจอมมุนีโปรดให้พระมหาโมคคัลลานะ ผู้เป็นพุทธบุตร เนรมิตรกายเป็นนาคราชไปทรมานด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ ต้านฤทธิ์จนได้รับชัยชนะสิ้นพยศ รู้ผิด รู้ชอบ ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีที่ได้ทรงชนะนันโทปนันทนาคราชนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านฯ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชนะพรหมชื่อ พกะ ผู้สำคัญตนว่ามีความบริสุทธิ์ มีรัศมีเรืองอำนาจ และมีฤทธิ์ไม่มีใครยิ่งกว่า เลยเกิดความเห็นผิดไปว่า ชีวิตของพรหมเป็นชีวิตที่เป็นอมตะจึงโต้แย้งคำสอนของพระพุทธองค์ เปรียบเหมือนคนถูกงูกัดที่มือ พระจอมมุนีทรงใช้วิธีแสดงพระญาณครอบพระญาณให้กว้างกว่า ทำให้พรหมหมดความเห็นผิดจึงได้รับชัยชนะ ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีที่ได้ทรงชนะพรหมชื่อพกะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

นรชนใดไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี น้อมระลึกถึงก็ดี ซึ่งพุทธชัยมงคลคาถา ๘ บทนี้เป็นประจำทุกวันๆ นรชนนั้นจะพึงได้ล่วงได้เสียซึ่งอุปัทวันตรายทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นผู้มีปัญญาและถึงซึ่งความสุขพ้นทุกข์ภัยทั้งหลายฯ

พระพุทธเจ้าทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ประกอบด้วยพระกรุณาอันยิ่งใหญ่ ทรงบำเพ็ญพระบารมีทุกประการ เพื่อเกื้อกูลแก่มวลสรรพสัตว์ ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณอันสูงสุดแล้ว ด้วยการกล่าวคำสัตว์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน ขอท่านจงประสบความสำเร็จในการประกอบพิธีชัยมงคล เหมือนองค์พระทศพลผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจแห่งชาวศากยะ ทรงมีชัยชนะต่อพญามาร ที่ควงต้นโพธิ์พฤกษ์ ทรงถึงความเป็นผู้เลิศ บันเทิงอยู่เหนืออปราชิตบัลลังก์ คือ บัลลังก์ของผู้มีชัยไม่พ่ายแพ้ ณ ผืนแผ่นดินอันเป็นจอมดิน ซึ่งเป็นที่ตรัสรู้แห่งพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ กายกรรม วาจากรรม มโนกรรม ความปรารถนาของท่านเป็นประทักษิณในเวลาใด วันเวลานั้นเป็นฤกษ์ดี มงคลดี แจ้งดี รุ่งดี ขณะดี ครู่ดี และเป็นการบูชาอย่างดี สำหรับผู้ประพฤติดีทั้งหลาย คนทำกรรมอันเป็นประทักษิณแล้ว ย่อมได้ประโยชน์อันเป็นประทักษิณ ฯ

ขอมงคลทั้งปวงจงมี ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงคุ้มครองรักษาด้วยพุทธานุภาพทั้งปวง ขอท่านจงประสบแต่ความสุขสวัสดีตลอดกาลทุกเมื่อ

ขอมงคลทั้งปวงจงมี ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงคุ้มครองรักษาด้วยธรรมานุภาพทั้งปวง ขอท่านจงประสบแต่ความสุขสวัสดีตลอดกาลทุกเมื่อ

ขอมงคลทั้งปวงจงมี ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงคุ้มครองรักษาด้วยสังฆานุภาพทั้งปวง ขอท่านจงประสบแต่ความสุขสวัสดีตลอดกาลทุกเมื่อ ฯ

จบ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน ในขณะนั้น กับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน ในขณะนั้น กับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ความเป็นมาและอานุภาพพระพุทธมนต์ ” บทถวายพรพระ” คาถาว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธองค์ โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

จากหนังสือ “ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร” เรียบเรียงโดย พระราชกิจจภาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ฯ ฉบับธรรมทาน , หนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม” โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม ) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๙ โดยกองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศฯ ฉบับธรรมทาน, บทความเรื่อง “ทำไมเราต้องสวดมนต์เป็นภาษาบาลี” โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ และ บทความ เรื่องของการสวดมนต์โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น ตีพิมพ์ลงในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และนสพ.คมชัดลึก ปี พ.ศ.๒๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here