ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม  และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

มานะ ๙ ประการ “สำคัญตนผิด”กับหนทางในการพัฒนาตนให้ถูกธรรม

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

            “สำคัญตนผิดไป” เป็นคำตอบจากพระอาจารย์ท่านหนึ่งเมื่อขอความรู้ว่าทำไมคนสมัยนี้จึงมีปัญหาทางด้านอารมณ์กันมาก  ซึ่งการสำคัญตนหรือความถือตัวถือตนในทางพระเรียกว่า “มานะ” มีอยู่ ๙ อย่างด้วยกัน

            ๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา  

คือคนที่เป็นคนเก่งจริงๆ นั่นแหละ แต่ก็ถือตัวเองว่าเก่งกว่าคนอื่น ซึ่งบางคนก็อาจจะคิดว่าแบบนี้ก็น่าจะสำคัญถูกแล้ว แต่ปัญหาก็คือ คนที่ถือตัวแบบนี้เรามักจะเห็นในกลุ่มคนเก่งแต่ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ทำให้มักมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน

๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา

เป็นลักษณะของคนเก่งที่ถ่อมตัวอยู่ตลอดเวลา ศักยภาพของตนเองมีมากกว่าคนอื่น บางครั้งควรจะกล้าก้าวออกมาเป็นผู้นำ เป็นการมองตนต่ำกว่าความเป็นจริง

๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา

เป็นลักษณะของคนที่มองข้ามศักยภาพของตนเอง และมองตนต่ำกว่าคนอื่น มักจะพบเห็นในกลุ่มคนที่อาจจะมาจากพื้นฐานทางสังคมระดับล่างแล้วมักคิดว่าตัวเองต่ำต้อย ทั้งๆ ที่มีศักยภาพมากกว่าคนอื่น หรือมองตนเองว่าต่ำต้อยเพราะจน ทั้งๆ คุณธรรมความดีมีมากกว่าคนรวยเสียอีก ทำให้ไม่กล้าที่จะแสดงศักยภาพของตนเองเต็มที่

๔. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา  

เป็นลักษณะของคนที่มองตนสูงกว่าคนอื่นทั้งๆ ที่ก็พอๆ กัน ถ้าปรับใจให้ดีจะเห็นโอกาสก้าวหน้ากว่าคนอื่น มีความมั่นใจในตนเองสูง คนกลุ่มนี้จะกล้าก้าวออกมาเป็นผู้นำ แม้ความสามารถจะพอๆ กันกับคนอื่น ถ้ามีใจสามารถสร้างความเป็นทีมงานได้ เป็นไปได้ที่เขาจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น

๕. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา

กลุ่มนี้จะต้องเสริมสร้างความมั่นใจให้เกิดการพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้น กลุ่มนักธุรกิจนักกีฬาที่เห็นว่า คู่แข่งพอๆ กันกับตัวเอง เขาจะพัฒนาและหาข้อดีของตนเองเพิ่มขึ้นและสร้างโอกาสในการชนะ หรือก้าวไปสู่ความสำเร็จได้

๖. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา

ข้อนี้คล้ายๆ กับข้อ ๓ คือมองตนเองต่ำกว่าคนอื่น ทั้ง ๆ ที่พอๆ กัน หรือเท่าเทียมกัน เมื่อมองไม่เห็นว่าตนเองก็เท่าเทียมกับคนอื่น ก็มักจะถูกรังแกหรือเอาเปรียบแล้วไม่กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิของตนเอง หรือไม่กล้าที่จะก้าวของมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์อันเป็นของตัว มักจะพบในกลุ่มชาวบ้านทั่วไป

๗. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา

ลักษณะของคนกลุ่มนี้มักจะถูกตำหนิในทำนองที่ว่า “โง่แล้วยังอวดฉลาด” “ว่าแต่เขาอีเหนาเป็นเอง” “หิ้งห้อยกับไฟ”  หรือ “คางคกขึ้นวอ”  คือถือตนสูงกว่าคนอื่น  มักจะพบในกลุ่มที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เช่น  นาย A เป็นลูกเจ้าของบริษัท จึงได้รับตำแหน่งประธานบริษัทจากพ่อ แต่ความสามารถไม่ถึง ไม่รับฟังความคิดเห็นของบอร์ดบริหาร ทำให้กิจการขาดทุน การบริหารงานผิดพลาดทำถูกปลดจากตำแหน่ง ถ้าดูละครไทยจะเห็นตัวอย่างลักษณะนี้เยอะมาก

๘. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา

กลุ่มนี้ก็มักจะถูกมองว่า “ตีตนเสมอท่าน”  หรือ “อยากจะวัดรอยเท้าท่าน”  บางคนก็ตีตัวเสมอครูอาจารย์ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ “ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง” เพราะมีความทะเยอทะยาน อยากได้อยากมี อยากเป็นมากเกินไป ซึ่งบางครั้งก็ดิ้นรนจนได้มาจริงๆ แต่จะรักษาไว้ไม่ได้นาน

๙. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา

 เป็นลักษณะที่มักจะมีคนตำหนิว่า “โง่แล้วยังขี้เกียจ” คือไม่กระตือรือร้นที่จะยกตนให้สูงขึ้น กลับมองเห็นแต่ข้อด้อยของตนเอง ทำให้ขาดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

จากทั้ง ๙ ข้อนั้นสามารถที่จะสรุปลงไว้ที่ ๓ ประเด็นคือ

๑.สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา (I’m ok, you are not ok)

๒.สำคัญตัวว่าเสมอเขา (I’m ok, you are ok)

๓.สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา (I’m not ok, you are ok)

ถ้าให้อ่านหนังสือแนวจิตวิทยา ก็จะคุ้นๆ กับภาษาอังกฤษว่าเหมือนทฤษฎีของฝรั่ง  ซึ่งจริงๆ ก็มีในพุทธศาสนามานานแล้วเหมือนกัน

ความสำคัญตนผิด ไม่ว่าจะสูงกว่า เสมอกัน หรือต่ำกว่า ล้วนนำมาซึ่งปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนอื่น เป็นสิ่งที่เราจะต้องฝึกมุมมองและความเข้าใจของตนเองให้เหมาะสม เพื่อที่จะ “วางตนให้สมกับฐานะ”

เป็นการฝึกให้เกิดอัตตะสัมมาปณิธิ คือตั้งตนไว้ชอบ หรือ เหมาะสมแก่ฐานะ เพศ วัย และเป็นไปเพื่อการพัฒนาตน ถ้ารู้ว่าตนเองแย่ ก็ต้องแก้ไขให้เยี่ยม  เมื่อศักยภาพเราได้ โอกาสที่จะไปถึงยอดก็มี และเมื่อถึงวันนั้น ก็จะเรียกว่า “ยอดเยี่ยม” คือไปถึงจุดที่เหมาะสม ถูกที่ถูกเวลา

เมื่อคนเรามองกันและกันว่าเป็น “เพื่อนมนุษย์” ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ในความหลากหลาย แต่ถ้าสำคัญตนผิด ก็มองมิตรว่าเป็นศัตรู มองคู่ค้าว่าเป็นคู่แข่ง  เมื่อมองแบบเหยียด การแบ่งแยกก็เกิด อาจจะเตลิดไปสู่การขัดแย้ง แย่งยึด ย่ำยีกันและกันตามมา มนุสสา ก็จะหาความสงบไม่ได้สักที

 ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม  และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

มานะ ๙ ประการ “สำคัญตนผิด” กับหนทางในการพัฒนาตนให้ถูกธรรม

จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒)

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here