นับเป็นเวลาหลายพันปีที่มนุษย์พยายามค้นหาการแก้ปัญหาต่างๆ ในโลกใบนี้ จนกระทั่งเกิดมีศาสนาขึ้น นับจากนั้นมนุษย์ก็เริ่มมีความหวังในการมีชีวิตมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าปัญหาทั้งหมดในโลกจะสิ้นสูญไปแต่อย่างไร

แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์จะมีแนวทางในการอยู่ท่ามกลางความทุกข์ยากได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการค้นหาผู้ช่วยให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากที่ตะวันตกเรียกว่า เอกบุรุษ (The One)  หรือที่ชาวตะวันออกเรียกว่า อภิมนุษย์ (Superman) หรือที่ชาวพุทธเรียกบุคคลนี้ว่า “มหาบุรุษ” ซึ่งลักษณะสำคัญของบุคคลเหล่านี้คือ ผู้ช่วยเหลือและเยียวยาให้มนุษย์อยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์นี้ได้อย่างมีความสุข สงบ

“มหาสุทัสสนสูตร” ผู้นำให้รอดจากทุกข์

โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี

           ยิ่งสภาพสังคมเต็มไปด้วยความทุกข์มากขึ้นเท่าใด ดูเหมือนว่าการมองหาผู้ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาหรือพระเอกขี่ม้าขาวจะยิ่งแจ่มชัดยิ่งขึ้น เลยทำให้นึกไปถึง “มหาสุทัสสนสูตร” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่าเรื่องพระเจ้ามหาสุทัสสนะผู้ทำให้ภาพของวีรบุรุษหรือที่เรียกว่า “พระเจ้าจักรพรรดิ” ผู้นำที่ช่วยทำให้สังคมสุขสงบ

           ในสมัยหนึ่ง มีพระราชาพระนามว่า “มหาสุทัสสนะ” ได้ปกครองเมืองนี้ที่ชื่อเดิมว่า “กุสาวดี” ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ โดยสังเกตได้จากประชากรหนาแน่น มีเศรษฐกิจดี ทั้งเสียงช้าง ม้า รถ กลอง เสียงขับร้อง ดนตรีดังไม่ขาด ใครใคร่กินสิ่งใดหรือแสวงหาสิ่งใด ก็ล้วนได้รับสิ่งที่ต้องการทั้งสิ้น

           ด้วยพระบารมีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะที่ทรงปกครองด้วยอำนาจบารมีอย่างหาที่เปรียบมิได้ ตั้งแต่ทรงได้รับมูรธาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงถือศีลอุโบสถในวัน ๑๕ ค่ำ พร้อมกันนี้ก็ได้ปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ตามตำนานเล่าถึงจักรแก้วนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระบารมีของพระองค์ เพราะไม่ว่าพระองค์พร้อมทั้งเหล่าทัพจะยาตราไป ณ ที่แห่งหนตำบลใด เหล่าพระราชาที่ปกครองบ้านเมืองแห่งนั้นๆ ก็ต่างออกมายอมสิโรราบพระองค์แต่โดยดี พร้อมน้อมรับพระราชโองการในการปกครองว่า

พวกท่านไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ถึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ถึงประพฤติในกาม ไม่ควรดื่มน้ำเมา จงครอบครองราชสมบัติตามเดิมเถิด”

           นอกจากนั้นพระราชายังทรงมีบุคคลที่เพียบพร้อมรอบกายอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนางแก้วผู้เพียบพร้อมด้วยคุณความดี เศรษฐีคหบดีที่พร้อมจะสนับสนุนเงินทอง และผู้ชี้แนะที่เพียบพร้อมด้วยปัญญา อีกทั้งพระองค์ยังทรงพร้อมด้วยคุณสมบัติที่เลิศเหนือผู้อื่นคือ มีพระวรกายงดงามน่าเลื่อมใส มีพระชนมายุยืนยาวนานกว่าคนทั่วไป โรคาพาธน้อย มีทุกข์ทางกายน้อย และเป็นที่รักที่ชอบใจของเหล่าพราหมณ์และคหบดี

           พระราชาทรงมีวิสัยทัศน์ในการสร้างสถานที่ต่างๆ ให้พร้อมทั้งประโยชน์และความงดงาม โดยจะขุดสระด้วยทอง เงินและแก้วไพฑูรย์ แล้วปลูกดอกไม้ นำสิ่งของที่ผู้คนต้องการมาไว้ที่ขอบสระ ทั้งข้าว น้ำ ผ้า ยาน ที่นอน เงินทองสำหรับผู้ที่ต้องการสิ่งใดก็หาได้จากที่นั้นทันที อีกทั้งทรงสร้างสวนตาลเพื่อให้เกิดเสียงของใบตาลยามต้องลมชวนให้เกิดเสียงไพเราะ น่าฟังอย่างยิ่งแก่ผู้คนที่ชื่นชมในการกิน การเที่ยวก็ได้อาศัยเสียงดนตรีธรรมชาติเหล่านี้ช่วยขับกล่อม

เมื่อสถานที่ต่างๆ สำเร็จเสร็จสิ้น พระราชาก็จัดเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงสมณพราหมณ์ให้เอิบอิ่มตามสมณสารูป ก่อนจะมานั่งดำริถึงสิ่งที่ทำให้พระองค์ทรงดำเนินกิจการต่างๆ ได้มากมายเพียงนี้เพราะทางทำกรรม ๓ อย่างคือ

๑. การให้ เป็นการที่พระองค์ทรงข่มไว้ซึ่งการอยากได้ในกามคุณที่ชอบใจทางตา หู จมูกลิ้นกายใจไว้ได้

๒. การข่มใจ เป็นการไม่สร้างพยาบาท จองเวรผู้อื่น

๓. การสำรวม เป็นการไม่เบียดเบียนกันกัน จึงทำให้พระองค์ทำกรรมดีได้

เมื่อพิจารณาอย่างนั้นจึงเป็นเหตุให้พระองค์ทรงแผ่เมตตาคือความรัก กรุณาคือความสงสาร มุทิตาคือความยินดี และอุเบกขาคือวางเฉยในโทษภัยต่างๆ ไปยังสรรพสัตว์ในทั่วทุกสารทิศ ทำให้พระบารมีเปี่ยมล้น นับวันก็ยิ่งจะมีบ้านเมืองที่มาขึ้นกับพระองค์มากขึ้น ทั้งปราสาทราชวัง ผู้คน ข้าวของเครื่องใช้มากมายเนื่องแน่น แต่กลับไม่มีใครอดยากถึงขนาดต้องปล้น จี้กัน เกิดการเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

           ต่อกาลผ่านไป พระราชเทวีเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า “ขอพระเจ้ามหาสุทัสสนะผ่องใสยิ่ง อย่าได้สวรรคตเลย ขอพระองค์ได้โปรดทรงพอพระทัยในบ้านเมืองที่มาขึ้นต่อกรุงกุสาวดี อีกทั้งปราสาทราชวัง ทรัพย์สิน บริวาร สตรี เครื่องประดับ ช้าง ม้า ผ้าเนื้อดี และอีกมากมาย”

คำกล่าวนั้นทำให้พระราชาทรงเกิดสังเวช พลันระลึกถึงชีวิตพระองค์ว่าจำต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านั้น ด้วยสติระลึกรู้อย่างนั้นจึงตรัสขึ้นด้วยวาจาหนักแน่นและจริงจัง

“ความพลัดพรากทอดทิ้งทั้งที่ยังรัก ยังอาลัยต่อสิ่งเหล่านั้นเป็นทุกข์ การสวรรคตของผู้ยังมีความอาลัยเป็นทุกข์ อีกทั้งปราสาทราชวัง ทรัพย์สิน บริวาร สตรี เครื่องประดับ ช้าง ม้า ผ้าเนื้อดี และอีกมากมาย โปรดละความพอใจทิ้งไปเสีย..”

เมื่อพระราชเทวีได้ฟังพระดำรัสดังนั้นก็กลั้นพระอัสสุชลไม่อยู่ต้องหลั่งมาอย่างเศร้าเสียใจ ซึ่งต่อมาไม่นาน พระเจ้ามหาสุทัสสนะก็ได้สวรรคตพร้อมด้วยพระปีติจากสิ่งที่พระองค์ทรงดำเนินมาด้วยกรรมดีตลอดพระชนม์ชีพจึงไปบังเกิดในพรหมโลก

           พระพุทธองค์ทรงนำเรื่องนี้มาเล่าแก่พระอานนท์พร้อมกับตรัสว่า พระเจ้ามหาสุทัสสนะคือพระองค์เอง แม้จะครอบครองทรัพย์สมบัติยิ่งใหญ่เพียงใดก็ไม่หลีกหนีจากความตายไปได้ แม้แต่พระพุทธองค์เองก็จำต้องทิ้งสรีระนี้ไป จึงได้ตรัสคาถาสรุปเรื่องราวนี้ว่า

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความสงบแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข”

           …จากพระเจ้าสุทัสสนะ เป็นผู้นำทางโลกที่เป็นแบบอย่างในการสร้างสังคมให้เต็มไปด้วยความสุข สงบและเพียบพร้อม ให้มนุษย์ผู้แสวงหาความสุขสงบจากชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ได้กิน ได้อยู่ด้วยความเป็นปกติสุข แม้พระองค์จะทำให้เราหลุดรอดจากความอดยาก หิวโหย ความทุกข์จากการใช้ชีวิตได้ ขณะเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้นำทางธรรมที่ทำให้มนุษย์เกิดความสุขสงบทางจิตใจ หลุดพ้นจากทุกข์ในชีวิต ไม่กลับมาผจญกับทุกข์ในชีวิตอีกเลย

บางยุคสมัยเราอาจเจอผู้นำทางโลกที่เยี่ยมยอด บางยุคสมัย เราอาจพบผู้นำทางธรรมที่ไม่มีใครเปรียบ แต่การเจอเท่านั้นไม่อาจทำให้เราผ่านพ้นความทุกข์ไปได้อย่างแน่นอน

ถ้าเราไม่เดินตามหรือสนับสนุนให้ท่านเหล่านั้นหรือคำสอนของท่านเหล่านั้นชัดเจนและแจ่มชัดขึ้น ด้วยการปฏิบัติตามธรรมที่ท่านสอนและแนะนำไว้ นั่นจึงจะทำให้ “บุรุษผู้เลิศ” เป็นผู้เลิศทั้งในโลกนี้ โลกหน้า ทางโลก ทางธรรม และโลกทั้งปวง นำพาผู้คนออกจากความทุกข์ได้อย่างแท้จริง

ภาพวาด “กาลเวลาและศรัทธา” โดย ศิลปิน จรรยา เพชรแต่ง จากหนังสือ “สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์” โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อนันตะ พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖
ภาพวาด “กาลเวลาและศรัทธา” โดย ศิลปิน จรรยา เพชรแต่ง จากหนังสือ “สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์” โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อนันตะ พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

“มหาสุทัสสนสูตร” ผู้นำให้รอดจากทุกข์ โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี

วิปัสสนาบนหน้าข่าว

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก

วันอังคารที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ปธ.๙ ดร.
“มหาสุทัสสนสูตร” ผู้นำให้รอดจากทุกข์ โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here