น้อมเศียรเกล้า อาจาริยบูชา ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓

ครบรอบ ๖ ปี วันสลายสรีรสังขาร

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พระเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์

ความทรงจำ พระพุทธศาสนาโลก

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม

ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์

(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

๙ มีนาคม ๒๕๕๗

คำปรารภ

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม

ตอนที่ ๑๗

หาคอมมิวนิสต์ เห็นโรงละครโลก

“ จบสงครามเย็น มองเห็นจีนเด่นขึ้นมา ”

: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เมื่อครั้งจาริกธรรมในอเมริกา (ภาพในอดีต)
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เมื่อครั้งจาริกธรรมในอเมริกา (ภาพในอดีต)

จบสงครามเย็น มองเห็นจีนเด่นขึ้นมา

เรื่องของอัฟกานิสถานยังไม่จบ แต่จะวุ่นวายกันไปอีกนาน ตอนนี้พักไว้ก่อน  ลองตามกลับไปกับทัพโซเวียต ปรากฏว่า เรื่องที่อัฟกานิสถานยังไกลตัว ขณะนั้น โซเวียตมีเรื่องใกล้ตัวหรือข้างในตัวที่สําคัญอย่างยิ่ง

เรื่องก็คือ ประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันออก ที่เป็นบริวารและเป็นคอมมิวนิสต์ตามรัสเซีย รวมอยู่ด้วยกันในสหภาพโซเวียตนั้น ได้เริ่มปลีกตัวออก ตั้งต้นแต่ปี1981/ ๒๕๒๔ ที่โปแลนด์/Poland นายเลก วาเลนซา/Lech Walesa ได้เป็นผู้นําในการปฏิรูปประชาธิปไตย และก็สําเร็จ ต่อมาในปี1990/๒๕๓๓ ก็ได้เป็นประธานาธิบดี

แล้วประเทศข้างเคียงอย่างฮังการี/Hungary เชคโกสโลวาเกีย/Czechoslovakia และโรมาเนีย/Romania ก็ตามอย่าง

ตอนนั้น  เป็นช่วงเวลาดํารงตําแหน่งของกอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachev) คือท่านที่เรียกทัพโซเวียตกลับจากอัฟกานิสถานนั่นเอง ท่านผู้นี้ได้ริเริ่มนโยบาย Glasnost (เปิดเผย – openness) และ Perestroika (ปฏิรูป, ปรับโครงสร้าง = reform, restructuring) ตัวท่านเองได้ทําให้การเมืองของโซเวียตเป็นประชาธิปไตยขึ้น และก็ปล่อยให้ประเทศในยุโรปตะวันออกปฏิรูปการเมืองเป็นประชาธิปไตยกันไป โดยไม่เข้าไปแทรกแซง กับทั้งได้ปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาให้ดีขึ้นอย่างมาก เป็นอันว่า ม่านเหล็ก (Iron Curtain) ได้ถูกเปิดออกไปแล้ว

เมื่อเหล่าประเทศอย่างที่ว่ามา ได้เลิกเป็นคอมมิวนิสต์และมีการปกครองตัวเองเป็นประชาธิปไตย  โดยโซเวียตเปิดปล่อยไม่เข้าไปแทรกแซง สหภาพโซเวียต (Soviet Union หรือเรียกเต็มว่า Union of Soviet Socialist Republics, USSR) ก็สลายตัวในปี1991/๒๕๓๔ กอร์บาชอฟจึงเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต (1988– 91/๒๕๓๑-๓๔) และเหลือเป็นประเทศรัสเซีย/Russia กับประเทศอิสระนั้นๆ

ในความเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ก็มีเหตุการณ์ที่ถือเป็นสัญลักษณ์อันสําคัญรวมอยู่ด้วย คือ ได้มีการทลายเปิดประตูกําแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ในวันที่๙-๑๐ พ.ย. 1989/๒๕๓๒ อันนับว่าเป็นการสิ้นสุดสงครามเย็น (Cold War) พอถึงเดือนตุลาคม 1990/๒๕๓๓ เยอรมนีตะวันออก กับเยอรมนีตะวันตก ก็กลับรวมกันเป็นประเทศเดียว โดยมีการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลเดียวกันในเดือนธันวาคมปีนั้นเอง

เมื่อสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นชาติอภิมหาอํานาจคู่แข่งสลายไป ในวันที่๘ ธ.ค. 1991/๒๕๓๔ ก็คงเหลือสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอํานาจยิ่งใหญ่ที่สุดผู้เดียว

ในค่ายคอมมิวนิสต์นั้น เมื่อมองดูสหภาพโซเวียตแล้ว ก็ควรพูดถึงจีน หรือ สาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย เพราะนอกจากเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่อันดับถัดไป และกําลังโดดเด่นมากขึ้นแล้ว แม้แต่มองในแง่เนื้อที่และประชากร ก็ควรรู้ไว้

จีนนั้น ถึงจะมีเนื้อที่เป็นรองรัสเซีย แต่ใหญ่พอๆ กับสหรัฐอเมริกา คือ เกิน ๙ ล้าน ตร.กม. และที่ใหญ่ยิ่งคือ จีนมีประชากรมากที่สุดในโลกเกิน ๑.๓ พันล้านคน

เมื่อใกล้ที่สหภาพโซเวียตจะสลายนั้น ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟได้ไปเยือน อเมริกา พบกับประธานาธิบดีเรแกนในปี1987/๒๕๓๐ แล้วต่อมาในปี1989/๒๕๓๒ ก็มาเยือนเมืองจีน  แม้ว่าเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเรียกกอร์บาชอฟว่าเป็นผู้ทรยศ (“traitor”) ต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ที่จริง ทั้งสองประเทศต่างก็กําลังดําเนินแนวทางที่เฉจากลัทธิคอมมิวนิสต์ มีการเยื้องย้ายนโยบายถึงขั้นพื้นฐาน

ตอนที่กอร์บาชอฟไปเยี่ยมจีนนั้น ก่อนจะถึง นักศึกษาได้มาชุมนุมกันที่จตุรัส เทียนอันเหมิน/Tiananmen Square ในเมืองหลวงปักกิ่ง คนมากันเป็นจํานวนล้าน เพื่อเรียกร้องเสรีภาพทางการเมือง และการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่รัฐบาลให้ทหารเอารถถังมาปราบและขับไล่หมดไปได้ทันก่อนพิธีต้อนรับ คนตายไปมากมาย

ดังว่าแล้ว ตอนที่ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟมาเยี่ยมนั้น จีนก็กําลังเปลี่ยนแปลง  ผู้ที่นําการเปลี่ยนแปลง คือ เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping หรือ Teng Hsiao-p’ing, ท่านเติ้งนี้เคยไปเยี่ยมสหรัฐเสริมไมตรีกันเมื่อปี1979/๒๕๒๒)

เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ชื่อว่าเป็นผู้นําที่มีอํานาจยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนต่อจากประธานเหมา ขอทวนความว่า เหมา เจ๋อตง เป็นผู้นํานับแต่ตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี1949/ ๒๔๙๒ จนสิ้นชีพในเดือน ก.ย. 1976/๒๕๑๙

ระหว่างนี้เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง เข้ามา เขาเห็นว่า ประธานเหมายึดติดเคร่งต่อ หลักการคอมมิวนิสต์เกินไป ทําให้เสียผลทางเศรษฐกิจ เขาเสนอแนวทางเปลี่ยนแปลง ก็คือขัดแย้งกับประธานเหมา ต่อมา พวกปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution, 1966– 76/๒๕๐๙-๑๙) โจมตีให้เติ้งหลุดหมดตําแหน่ง แต่นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล หนุนเติ้ง ให้กลับเข้ามาได้ตําแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในปี1973

ครั้นโจว เอินไหล สิ้นชีพในเดือน ม.ค. 1976 พวกกลุ่มกวนทั้งสี่ (“Gang of Four”) ก็จัดการเอาเติ้งออกจากตําแหน่ง แต่ต่อมาอีก ๘ เดือน ประธานเหมาสิ้นชีพ และ พวก “Gang of Four” สิ้นอํานาจ ท่านเติ้งจึงกลับเข้ามาใหม่ แล้วรุ่งโรจน์แต่นั้นไปตลอด

เติ้ง เสี่ยวผิง นําจีนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมาก เฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ โดยนําสาระบางอย่างของระบบทุนนิยมมาปรับใช้หรือแทรกใส่ในเศรษฐกิจของจีน ผ่อน ลดการควบคุมของรัฐ หันไปหนุนการได้ประโยชน์และผลกําไรของปัจเจกชน เชิญชวต่างชาติเข้ามาลงทุน  อิงกลไกตลาดเสรีผูกโยงตัวกับเศรษฐกิจโลก เร่งความเจริญ “สี่ ทันสมัย” คือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีและการป้องกันประเทศ

เพื่อให้เศรษฐกิจของจีนเจริญเดินหน้า ไม่ว่าแนวคิดไหนดีจะเป็นของคอมมิวนิสต์หรือเป็นทัศนะในระบบการปกครองแบบไหน เติ้ง เสี่ยวผิง นํามาใช้อย่างยืดหยุ่น สมที่เขาเป็นเจ้าของวาทะ (1962/๒๕๐๕) ว่า “แมวนั้น จะดําหรือขาว ก็ไม่สําคัญ ให้มันจับหนูได้ก็แล้วกัน” (“It does not matter whether a cat is black or white so long as it catches mice.”)

โดยการนําของเติ้ง เสี่ยวผิง จีนมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ยกระดับการครองชีพของประชาชนขึ้นได้ ขยายเสรีภาพของบุคคล เปิดเสรีภาพทางวัฒนธรรม  ได้กลไกเศรษฐกิจเชิงทุนนิยมมาขับเคลื่อน เพื่อจะให้จีนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว  โดยยังมีการปกครองที่ครองอํานาจโดยพรรคเดียว

[แนวทางเศรษฐกิจของเติ้งนี้น่าจะตรงข้ามกับโครงการก้าวกระโดดใหญ่ไป ข้างหน้า (Great Leap Forward, 1958-1960/๒๕๐๑-๐๓) ของท่านประธานเหมา ที่ระบบคอมมูน/commune ของท่าน ทําให้คนจีนอดตายไปราว ๒๐ ล้านคน]

แม้ว่าเติ้งจะช่วยให้สังคมจีนเปิดกว้างขึ้นทางการเมือง คนจีนไม่น้อยก็ยังต้องการให้เป็นประชาธิปไตยมากกว่านั้น จึงได้มีนักศึกษาและประชาชนมากมายมาชุมนุม เรียกร้องที่เทียนอันเหมิน ดังว่าข้างต้น และทานเติ้งก็เร่งให้ใช้กําลังปราบปรามจนจบไป

แม้เมื่อเติ้งลาออกเป็นทางการจากตําแหน่งสูงสุดในเดือน พ .ย. 1989 (ปีเดียวกับที่กอร์บาชอฟมา) และลาหมดทุกตําแหน่งแล้ว ก็ยังมีอํานาจสูงสุด ดังที่เขาเรียกท่านว่า “paramount leader” (ผู้นําสูงสุด) จนท่านสิ้นชีพในปี1997/๒๕๔๐ (เรียงเป็นยุค: ประธานเหมา 1949/๒๔๙๒-1976/๒๕๑๙; เติ้ง เสี่ยวผิง 1977/๒๕๒๐-1997/๒๕๔๐)

จีนมีเรื่องมาก ควรพักไว้เท่านี้ก่อน ไปมองที่อื่นเพิ่มให้เห็นภาพรวมของโลกทั่วขึ้น

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ทางทิศใต้ลงไป โลกมีข่าวใหญ่ที่ดีมากเรื่องหนึ่ง คือ แอฟริกาใต้/South Africa ซึ่งเป็นประเทศที่มีการแบ่งแยกรังเกียจผิวอย่างมากตลอดมา โดยมีคําเรียกเฉพาะว่า “apartheid” รัฐธรรมนูญกําหนดให้คนผิวขาวที่เป็นชนส่วนน้อย ต้องเป็นผู้ปกครอง และมีสิทธิ์สมัครเขารับหรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในตําแหน่งราชการ โดยเฉพาะคนผิวดําถูกจํากัดสิทธิ์ให้ด้อยที่สุด และคนต่างสีผิวต้องอยู่แยกต่างหากกัน

การแบ่งแยกรังเกียจผิวที่ว่านี้ถือกันมานานแล้ว จนถึงปี1948/๒๔๙๑ ก็กําหนดเป็นทางการ ในฝ่ายคนผิวดํา ก็มีผู้เรียกร้องสิทธิกันมา จนกระทั่งนายเดอ เคลิร์ก (F. W. de Klerk) ได้เป็นประธานาธิบดีในปี1989/๒๕๓๒ คนผิวขาวผู้นี้ทําการจริงจังในการเลิก “apartheid” ปีต่อมา เขาปล่อยนายเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) นักเรียกร้องสําคัญซึ่งถูกขังคุก ๒๗ ปีแล้ว ออกมา เขาจัดการกับบรรดากฎหมายจนถึงร่างรัฐธรรมนูญให้การปกครองโดยคนผิวขาวจบสิ้นไป แล้วทุกคนทุกสีผิวก็ได้เลือกตั้งด้วยกัน โดยเนลสัน แมนเดลา ได้เป็นประธานาธิบดีผิวดําคนแรกของที่นั่น (1994-99/๒๕๓๗-๔๒)

เรื่องที่เล่าเสร็จไปที่ว่าเป็นข่าวดีมากนี้ก็ดีจริงแน่ แต่มองอีกทีก็เป็นเพียงการ แก้ไขเรื่องที่ไม่ดีให้ลงตัวเข้าที่ตามที่มันควรจะเป็นอย่างสามัญตามปกติเท่านั้นเอง

ทีนี้ที่ว่า “สงครามเย็น/cold war” จบไปแล้วนั้น ก็น่าสงสัยว่า โลกจะอยู่ดีคนจะมีสุขขึ้นหรือไม่ เพราะมองอีกด้านหนึ่ง “สงครามร้อน/hot war” กลับมีทีท่าว่าจะไม่ได้เบาลงไป

กลับมาทางด้านตะวันออกกลางอีก คราวนี้มองลึกเข้าไปในตัวตะวันออกกลางเอง ในเวลาระหว่างนี้ นอกจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างยิวกับอาหรับ ที่เรื้อรังมาไม่รู้จบแล้ว เหตุการณ์ที่เด่น ก็มีสงครามใหญ่ที่แดนอิรัก/Iraq เริ่มด้วยครั้งแรกในปี1990-91/ ๒๕๓๔-๓๕ เรียกว่า สงครามอ่าวเปอร์เซีย/Persian Gulf War (เรียกสั้นๆ ว่า Gulf War)

เรื่องเกิดขึ้นว่า ซัดดัม ฮุซเซน/Saddam Hussein ผู้นําอิรัก ให้ยกทัพไปยึดครองคูเวต/Kuwait ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ แต่อุดมด้วยน้ำมัน เสร็จแล้วมีท่าทีที่ทําให้สงสัยกันว่า จะรุกเขาไปในซาอุดีอาระเบีย/Saudi Arabia ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของน้ำมัน

ตรงนี้คือเรื่องน้ำมันนั้น เป็นผลประโยชน์สําคัญอย่างยิ่ง  ชาติทั้งหลายยอมไม่ได้  จึงร่วมกัน ๓๙ ประเทศ โดยการนําของสหรัฐอเมริกา ในสมัยของประธานาธิบดีบุช ผู้บิดา (George Herbert Walker Bush) และสหประชาชาติส่งกองทัพไปป้องกัน กดดัน ขับไล่ จนอิรักพ่ายแพ้ถอนตัวกลับไป เรื่องจบลง แต่ความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน และ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมจากการเผาบ่อน้ำมันเกิดมลพิษมากมาย มีผลซ้ำเติม ทุกข์มากมายแก่โลกมนุษย์ไปอีกนาน

สืบเนื่องจากสงครามนั้น จึงมีการปลดอาวุธอิรักเพื่อป้องกันภัยเบื้องหน้า อิรักถูกกําหนดให้รับการตรวจสอบอาวุธโดยคณะผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติ(UN weapons inspectors) แต่เรื่องไม่เป็นไปด้วยดี อิรักไม่ค่อยร่วมมือ อิดออดว่ากันไปว่ากันมา

ในที่สุด สหรัฐ โดยประธานาธิบดีบุช ผู้บุตร (George Walker Bush) ก็กล่าวหาว่าอิรักละเมิดข้อกําหนดปลดอาวุธของสหประชาชาติ ซัดดัมมีอาวุธร้ายแน่ ๆ แล้วในเดือน มีนาคม 2003/๒๕๔๖ ก็ใช้กําลังทหารโจมตีอิรัก โดยมีอังกฤษเป็นต้น ร่วมด้วย ทําให้รัฐบาลของซัดดัม ฮุซเซน สิ้นสุดลง ซัดดัมหนีไปหลบซ่อนตัว แต่ในที่สุดก็ถูกจับได้แล้ว ถูกเจ้าหน้าที่อิรักประหารชีวิต เมื่อวันที่๓๐ ธ.ค. 2006/๒๕๔๙ โดยที่ว่า อีกด้านหนึ่ง คณะผู้ตรวจสอบก็ไม่พบอาวุธร้ายอยางที่สหรัฐยืนยันว่ามีในอิรัก แต่อย่างใด

สงครามครั้งหลังนี้เรียกว่า สงครามอิรัก/Iraq War (บางทีก็เรียกว่า สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่๒/Second Persian Gulf War)

สงครามที่อิรักจบไป ก็เพียงผ่านพ้นเหตุการณ์ใหญ่ แต่ที่จริง เรื่องร้ายไม่จบเลย ประเทศอิรักเองก็ไม่สงบ มีเรื่องวุ่นวาย ไร้ความมั่นคง และแผ่ความเดือดร้อนออกไป กระทบแดนข้างเคียง เป็นแหล่งเพิ่มความขาดสันติแก่โลกจนบัดนี้

ทีนี้ชิดชานตะวันออกกลาง ก็ดังได้ว่าแล้ว เรื่องที่อัฟกานิสถาน เมื่อโซเวียตเลิกยุ่งด้วยและถอนทหารกลับไปแล้ว ฝ่ายขบถก็โค่นรัฐบาลพวกคอมมิวนิสต์โซเวียตได้สําเร็จ ถึงโอกาสที่จะมีรัฐบาลอย่างที่ตนต้องการ แต่ก็หาได้เป็นไปด้วยดีอย่างนั้นไม่

เรื่องต่อมาก็คือ พอศัตรูไปแล้ว มูจาฮีดินหลายกลุ่มหลายพวกก็แย่งชิงอํานาจกัน เปลี่ยนรัฐบาลกันเรื่อย จนผ่านไป ๓-๔ ปีก็มีพวกทาลิบัน/Taliban เกิดขึ้นแล้วมีอํานาจเข้มแข็งมากขึ้นๆ ได้เข้าควบคุมดินแดนกว้างออกไปๆ จนกระทั่งก่อนถึงปี2001/ ๒๕๔๔ ก็คุมดินแดนอัฟกานิสถานได้ทั้งประเทศ เว้นส่วนเหนือเพียงหย่อมเล็กๆ แห่งเดียว

พวกทาลิบันปกครองโดยใช้หลักศาสนาอิสลามที่ตนตีความเคร่ง เช่น ห้ามมีห้ามดูโทรทัศน์ ห้ามเครื่องบันเทิงสมัยใหม่แทบทุกอย่าง ให้สตรีแต่งตัวปกปิดมิดชิดในที่สาธารณะ ห้ามเด็กหญิงไปโรงเรียน ห้ามสตรีไปทํางานนอกบ้าน

ในปี2001/๒๕๔๔ นั้นเอง พวกทาลิบันก็ประกาศจะทําลายพระพุทธรูปและรูป เคารพทั้งหมดในอัฟกานิสถาน แล้วในเดือนมีนาคม ก็ได้ใช้ปืนใหญ่และวัตถุระเบิดทําลายพระพุทธรูปใหญ่ทั้ง ๒ องค์ อายุราว ๑,๗๐๐ ปี ซึ่งแกะสลักไว้ที่หน้าผา ( สูง ๕๓ และ ๓๗ เมตร) ที่พามิยาน (Bamiyan หรือ Bamian) จนแหลกละเอียดหมดสิ้นไป

หลังจากนั้น ๖ เดือน ที่อเมริกา ณ วันที่๑๑ ก.ย . 2001/๒๕๔๔ ก็ได้มีผู้ก่อการร้ายพวกอัล-คาอีดะ ขับเครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกคู่ World Trade Center ในนครนิวยอร์ก มอดไหม้พังทลายหมดไปทั้งสองตึก และชนตึก Pentagon Building อันเป็นที่ตั้งกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ใกล้กรุงวอชิงตัน ดี.ซี./Washington, D.C.

นี้เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงใหญ่โตแสนตระหนก จํากันแม่น จนพูดสั้นๆ ก็รู้กัน จึงนิยมเรียกง่ายๆ ว่า 9/11 (บางทีก็เขียนว่า 9-11)

สหรัฐกล่าวหาว่า พวกทาลิบันช่วยเหลือและเป็นแหล่งอาศัยของอัล-คาอีดะ ที่มี บิน ลาเดน เป็นหัวหน้า จึงขอให้ทาลิบันจับตัวบิน ลาเดน กับพวกอัล-คาอีดะชั้นนําส่งให้แก่ตน แต่พวกทาลิบันปฏิเสธ สหรัฐอเมริกากับพันธมิตรจึงเริ่มงานปราบทาลิบัน จนในที่สุด ปลายปี2001/๒๕๔๔ นั้นเอง ฝ่ายขบถก็ขับไล่พวกทาลิบันให้หมดอํานาจไป

จากนั้น สหรัฐช่วยให้กลุ่มอํานาจและเผ่าชนต่างๆ มาพบปะกันหาทางตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่แต่ก็มีการแย่งชิงอํานาจกันต่อมา จนกระทั่งถึงกลางปี2002/๒๕๔๕ จึงตั้งรัฐบาลช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อชั่วคราว ๒ ปีขึ้นมาได้ โดยมีนายฮามิด การ์ไซ/Hamid Karzai เป็นประธานาธิบดี  แม้ว่าเรื่องราวที่ดําเนินต่อมาจะมีความยุ่งยากมากมาย แต่ฮามิด การ์ไซ ก็ยังเป็นที่ยอมรับและเป็นประธานาธิบดีของอัฟกานิสถานอยู่จนบัดนี้

หลังโค่นทาลิบันลงแล้ว สหรัฐค้นหาตัวบิน ลาเดน ต่อมาอีกนาน จนในที่สุดจับจุดได้ว่าอยู่ในปากีสถาน ที่เมืองขนาดย่อมๆ ชื่อว่า แอบบอตตาบัด/Abbottabad ใกล้เมืองหลวง คือ อิสลามาบัด/Islamabad แล้วกองกําลังทหารอเมริกันเล็กๆ หน่วยหนึ่ง มาโดยเฮลิคอปเตอร์ก็เขาจู่โจมสังหารบิน ลาเดน สิ้นชีพไปในวันที่๒ พ.ค. 2011/๒๕๕๔

(โปรดติดตามตอนต่อไป …)

พระมองโลก มองความเป็นไป มองเหตุปัจจัย รวมทั้งมองการเมืองโดยมองแบบพระ ไม่ใช่มองแบบชาวบ้าน คือพระมองด้วยเจตนาเพื่อรู้เข้าใจสภาพของมนุษย์และภาวะการของโลกตามที่มันเป็น ให้ชัดเจนเพียงพอเพื่อสนองเจตนาที่จะแก้ปัญหาของโลกของมนุษย์ ให้ลุถึงประโยชน์สุข โดยไม่มีเจตนาที่เป็นเรื่องของตนเอง ไม่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง หรือโยงอิงหมู่พวกใด ที่จะได้จะเอาอะไรๆ หรือเพื่อใคร เพื่อพวกใด จึงเรียกว่า รู้โลก เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ พหุชนหิตายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนมาก พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของคนมาก โลกานุกัมปายะ เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก

ที่ว่านี้ ก็โยงมาถึงการที่จะเล่าเรื่องของมหาจุฬาฯ กลายเป็นว่าจะพูดถึงมหาจุฬาฯ แต่เลยไปพูดถึงทั้งโลก ที่จริง นี่แหละคือเรื่องที่ควรพูดเพราะว่ามหาจุฬาฯก็ดำเนินเดินหน้าไป ในบ้านเมือง ในโลก อย่างน้อยก็ต้องรู้ตระหนักว่าตัวเป็นอยู่เป็นไปในสภาพแวดล้อม ท่ามกลางบ้านเมือง และในโลก ที่กำลังเป็นไปอย่างไร ตอนนั้นเวลานั้นมหาจฬาฯ อยู่ในบรรยากาศในสภาพแวดล้อมที่เป็นอย่างไร ไม่ใช่เดินไปในความมืด มองอะไรมัวๆ เมื่อตัวไม่รู้ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิด แล้วก็เลยคิดเห็นไป กลายเป็นลุ่มหลงไม่ตรงตามจริง จะต้องรู้ให้พอที่จะมองเห็น ไม่ใช่มัวแต่หรืออยู่แค่คิดเห็น

ยิ่งกว่านั้น ในที่สุด แม้มองถึงจุดหมายที่แท้ เมื่อมาเรียนที่มหาจุฬาฯก็เพื่อมีการศึกษา ที่จะให้เจริญงอกงามในธรรมวินัย แล้วสามารถไปบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อคนทั้งมวล ทั้งโลก ด้วยรู้เข้าใจทั่วทันโลกดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com  และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺตโต) ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604

https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here