“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย

สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

(ชาติที่ ๒)

พระมหาชนก : วิริยะบารมี

“เกิดเป็นคนควรมีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ นรชนผู้มีปัญญา แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง”

(ตอนที่ ๕)

“ขุมทรัพย์จอมจักรา”

เขียนโดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

(ความเดิมตอนที่แล้ว) หลังจากปุโรหิตแห่งมิถิลานครได้แนะนำเหล่าอำมาตย์ให้ประกอบพิธีอัศวเมธ ปล่อยราชรถเทียมม้ามงคลสีขาวออกไป ในที่สุด ม้าสีขาวก็ไปหยุดอยู่ที่พระมหาชนก…จากนั้น เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ ปุโรหิต ตลอดอาณาประชาราษฎร์ ได้ประกอบพิธีอภิเษกพระมหากษัตริย์ ถวายพระนามว่า “พระมหาชนกราช”

ขุมทรัพย์จอมจักรา

ฝ่ายพระธิดาสีวลี ต้องการจะทดลองพระมหาชนก มหากษัตริย์แห่งมิถิลานครพระองค์ใหม่ จึงรับสั่งให้ทหารไปตามมาเข้าเฝ้าโดยด่วน ทหารไปกราบทูลพระราชาตามรับสั่ง

แม้พระราชาสดับแล้ว ก็แสร้งทำเป็นเหมือนไม่ได้ยิน เพราะความที่พระองค์เป็นบัณฑิต จึงรับสั่งกับเหล่าอำมาตย์ชมเชยปราสาทราชฐานว่า มีความวิจิตรงดงามตระการตาตามปกติ เมื่อทหารนั้นไม่อาจทำให้พระราชาได้ยิน จึงกลับมาทูลพระธิดาว่า พระราชามัวแต่ชมปราสาทราชฐาน ไม่ใส่ใจคำพูดพระธิดา

พระธิดาทรงคิดว่า ชายผู้นี้มีอัธยาศัยกว้างขวางลุ่มลึก จึงส่งทหารไปเชิญเสด็จอีกถึงสองสามครั้ง แม้พระมหาชนกก็เสด็จชมปราสาทราชฐานไปตามปกติ ตามความพอพระทัยของพระองค์ เหมือนการดำเนินของพญาราชสีห์ จนเสด็จเข้าไปใกล้พระสิวลี พระธิดาไม่อาจต้านทานเดชานุภาพได้ จึงเสด็จมาถวายให้เกี่ยวพระกร พระมหาชนกทรงรับเกี่ยวพระกรพระธิดาขึ้นประทับนั่ง ณ ราชบัลลังก์ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมาถามว่า ก่อนที่พระราชาจะเสด็จสวรรคต ได้สั่งอะไรไว้บ้าง อำมาตย์กราบทูลให้ทราบถึงปริศนาที่พระราชารับสั่งไว้ ดังนี้

(๑) ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้ที่ทำให้พระธิดาโปรดปรานได้ พระมหาชนกตรัสว่า “พระธิดาเสด็จมาถวายเกี่ยวพระกรพระองค์แล้ว ข้อนี้เป็นอันว่า เราได้ทำให้พระธิดาโปรดปรานแล้ว ”

(๒) ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้ที่รู้ด้านหัวนอนแห่งบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม

พระมหาชนกดำริว่าปัญหาข้อนี้รู้ยาก ต้องอาศัยอุบายจึงจะรู้ได้ จึงถอดปิ่นทองคำบนพระเศียรออกวางที่พระหัตถ์พระธิดา ทรงรับสั่งว่า “เธอช่วยหาที่วางปิ่นทองนี้ด้วย” พระธิดาสีวลีรับปิ่นทองไปเนื่องจากปิ่นทองเป็นเครื่องประดับพพพระเศียรพระมหากษัตริย์ พระนางเลือกวางไว้ในที่ ๆ เหมาะสม จึงวางไว้ส่วนที่เป็นเบื้องหัวนอนแห่งบัลลังก์นั้น

พระมหาชนกทราบได้ทันทีว่า ตรงนั้นเป็นข้างหัวนอนแห่งบัลลังก์ แต่ทำเป็นไม่ได้ยินอำมาตย์ จึงตรัสทวนคำถามซ้ำว่า “ท่านถามเราว่าอย่างไร” ครั้นอำมาตย์กราบทูลให้ทราบ จึงรับสั่งว่า “การรู้จัก หัวนอนบัลลังก์ ๔ เหลี่ยมไม่ยาก ด้านนี้เป็นด้านหัวนอน” พร้อมกับชี้บัลลังก์ด้านที่ปิ่นวางอยู่

(๓) ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้ยกธนูน้ำหนักพันแรงคนยกขึ้นได้ พระมหาชนกตรัสสั่งให้นำธนูนั้นมา แล้วประทับบนราชบัลลังก์นั้นเอง ยกธนูขึ้น เหมือนยกกงดีดฝ้ายของเหล่าาสตรี

(๔) ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้นำขุมททรัพย์ ๑๖ แห่งออกมาได้

พระมหาชนกตรัสถามถึงปริศนาเกี่ยวกับขุมทรัพย์นั้น เมื่อพวกอำมาตย์กราบทูลปริศนา พระองค์ก็ทราบได้ทันทีเหมือนคนเห็นดวงจันทร์ในวันเพ็ญลอยเด่นอยู่ท่ามกลางท้องฟ้า พระมหาชนกตรัสว่า “วันนี้เย็นแล้ว พรุ่งนี้จะเปิดขุมทรัพย์ทุกแห่ง”

ครั้นรุ่งขึ้นอีกวัน พระมหาชนกให้ประชุมเหล่าอำมาตย์แล้วตรัสถามว่า พระราชาเคยนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้ามาฉันในพระราชนิเวศน์หรือไม่ เมื่ออำมาตย์กราบทูลว่า เคยนิมนต์มาฉัน พระมหาชนกจึงดำริว่า

ดวงอาทิตย์น่าจะไม่ใช่ดวงอาทิตย์ตามที่ มองเห็น แต่หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งมีคุณแรงกล้าเหมือนดวงอาทิตย์ ขุมทรัพย์คงจะอยู่ในสถานที่ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้า”

พระมหาชนกรับสั่งให้ขุดตรงที่พระราชาประทับยืน ขณะเสด็จออกต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้า นำขุมทรัพย์ออกมาได้ และให้ขุดตรงที่พระราชาประทับยืน ขณะเสด็จส่งพระปัจเจกพุทธเจ้ากลับ นำขุมทรัพย์ออกมาได้ มหาชนกต่างโห่ร้องถวายสาธุการสรรเสริญพระปัญญาด้วยความปีติยินดีว่า “คนเป็นอันมากเที่ยวขุดหาทรัพย์ทางทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตก แต่ขุมทรัพย์อยู่นี่เอง” พระมหาชนกแก้ปัญหาต่างๆ ดังต่อไปนี้

ให้ขุดขุมทรัพย์ภายในธรณี แห่งพระประตูใหญ่ของพระราชฐาน เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ภายใน”

ให้ขุดขุมทรัพย์มาแต่ภายนอกธรณี แห่งประตูใหญ่ของพระราชฐาน เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ภายนอก”

ให้ขุดขุมทรัพย์ใต้ธรณีประตูใหญ่ของพระราชฐาน เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายในไม่ใช่ภายนอก”

ให้ขุดขุมทรัพย์มาแต่ที่เกย สำหรับพระราชาเสด็จเหยียบขึ้นช้างได้ เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ขาขึ้น”

ให้ขุดขุมทรัพย์ตรงที่พระราชาเสด็จลงจากคอช้างทรง เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ขาลง”

ให้ขุดขุมทรัพย์ทั้ง ๔ ใต้เท้าพระแท่นบรรทมทั้ง ๔ ซึ่งทำจากไม้รังใหญ่ เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ที่ไม้รังใหญ่ทั้ง ๔”

ให้ขุดขุมทรัพย์จากที่ประมาณชั่วแอกโดยรอบพระที่สิริไสยาสน์ เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ในที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ”

ให้ขุดขุมทรัพย์ทั้ง ๒ ในโรงช้างต้น ตรงใต้งาทั้ง ๒ ข้าง เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายงาทั้งสอง”

ให้ขุดขุมทรัพย์ในโรงช้าง เฉพาะตรงปลายหางของช้างต้น เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง”

ให้วิดน้ำในสระโบกขรณีขนเองขุมทรัพย์ขึ้นมา เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ที่น้ำ”

ให้ขุดขุมทรัพย์ภายในเงาไม้รังเวลาเที่ยงวันตรงที่โคนไม้รังใหญ่ในพระราชอุทยาน เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายไม้”

พระมหาชนกให้นำขุมทรัพย์ใหญ่ทั้ง ๑๖ มาได้แล้ว ตรัสถามว่ายังมีปัญหาอื่นอีกหรือไม่ เมื่อเหล่าอำมาตย์กราบทูลว่า ปัญหาหมดสิ้นแล้ว มหาชนต่างโห่ร้องร่าเริงด้ววยความดีใจ

พระมหาชนกโปรดให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ โรงทานกลางพระนครแห่งหนึ่ง โรงทานที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ด้าน และโรงทานที่ประตูพระราชนิเวศน์ ๑ แห่ง สำหรับให้ทาน

(โปรดติดตามตอนต่อไป )

ญาณวชิระ นามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ญาณวชิระ นามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ชาติที่ ๒) พระมหาชนก : วิริยะบารมี (ตอนที่ ๙) “ขุมทรัพย์จอมจักรา” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here