เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระผู้นำพระพุทธศาสนาสู่โลกกว้าง

พระผู้สร้างพระสงฆ์เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้ดับทุกข์ทางใจได้มากที่สุดในยุคกึ่งพุทธกาล

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๑๐๒ . สร้างพระสงฆ์ แสงสุดท้ายแห่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

๑๐๓. แนวคิดในความคิดของหลวงพ่อสมเด็จฯ

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

สำหรับสองบทนี้ ผู้เขียนเล่าถึงเหตุและปัจจัยของความคิดที่หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสร้างพระสงฆ์ให้มีคุณภาพและมากพอที่จะช่วยเหลือผู้คนบนโลกให้พ้นทุกข์ทางใจได้ตามรอยพระพุุทธเจ้า

๑๐๒ .สร้างพระสงฆ์  แสงสุดท้ายแห่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนา  

ความสอดคล้องของวิธีการเผยแผ่ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ความสำคัญกับการศึกษา  พระเณรต้องเรียน  เรียนอะไรก็ได้  ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย  เพราะพระเณรจะเป็นผู้รักษาพระศาสนา  และเน้นให้ทำงานช่วยกันปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมให้กับเยาวชนและประชาชนในชาติ  ซึ่งหนทางนี้เท่านั้น  จะช่วยให้เกิดความมั่นคงแก่พระศาสนา  จึงเป็นจุดเริ่มต้นการจัดตั้ง 

               “สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง  แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์” 

              แม้ในยามที่ร่างกายโรยแรง  เริ่มชราภาพลง  แต่ข่าวคราวที่พระสงฆ์สามเณรและชาวพุทธถูกฆ่าที่ภาคใต้  กลับเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น  พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  จำนวน ๒๖๐ รูป  ในสตูล  สงขลา  ยะลา  นราธิวาส  และปัตตานี  จึงถูกก่อตั้งขึ้นตามดำริของเจ้าประคุณสมเด็จฯ  เพื่อปลุกจิตสำนึกให้พระสงฆ์ร่วมกันทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย  นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นต้นมา

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ประทานโอวาทแก่พระธรรมทูตอาสาว่า “หากไม่มีพระสงฆ์ในพื้นที่  ชาวพุทธก็หมดที่พึ่ง…ก็ชื่อว่า พระพุทธศาสนาได้หมดไปแล้ว  ขอให้ทุกองค์ทุกรูปหนักแน่น  มั่นคง  อยู่เป็นกำลังใจให้ชาวพุทธ  ถึงแม้วันหนึ่งวันใดข้างหน้า  พระพุทธศาสนาจะหมดไปจาก จังหวัดชายแดนภาคใต้  ก็ขอให้วันนั้น  มีพระสงฆ์เดินออกจากพื้นที่เป็นคนสุดท้าย”

              นับเป็นแสงแห่งจิตวิญญาณความมั่นคงพระพุทธศาสนา  แสงสุดท้าย  ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณความรักในพระพุทธศาสนา  ผ่านพระธรรมทูตอาสา  อันเป็นอมตะวาจาที่ตรึงใจเหล่าพุทธบุตร  ผู้ทำหน้าที่พระธรรมทูตอาสา  ไปตราบนานเท่านาน

              ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั่วโลก  จนพระพุทธศาสนาเบ่งบานกลางหิมะในโลกตะวันตกอย่างแข็งแกร่ง  เกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้ริเริ่มการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก  ริเริ่มการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ และริเริ่มให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศ  เป็นเหตุให้พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตได้ยึดเป็นแนวทางอันเดียวกัน  เป็นที่มาแห่งความสำเร็จของงานพระศาสนาในต่างประเทศ  นับได้ว่า  เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก  ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไป  เป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวไทย  และประชาชนในต่างประเทศทั่วโลก

              เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้  จะถูกจดจำ เล่าขานถ่ายทอดสืบต่อกัน จนกลายเป็นตำนาน จากตำนานกลายเป็นประวัติศาสตร์  จากประวัติศาสตร์กลายเป็นความทรงจำของโลก

              ที่สุดแล้ว นามของพระมหาเถระท่านนี้ ก็จะถูกจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำของโลก  ในนามผู้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานยังแผ่นดินตะวันตกอันไกลโพ้น ตลอดไป

๐๓.แนวคิดในความคิดของหลวงพ่อสมเด็จฯ

              ในวิธีการมองของหลวงพ่อสมเด็จ โดยลักษณะวิธีคิดมุมมองของท่าน  ทำอย่างไรจึงจะให้พระสงฆ์ในพื้นที่  ทำงานในพื้นที่  จากที่มีความพยายามเอาพระสงฆ์จากนอกพื้นที่เข้ามาทำงานในพื้นที่  อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายาม  แต่ส่วนสำคัญก็คือ  ส่วนที่จะได้ผลในพื้นที่นั้นๆ ก็เอาพระสงฆ์ในพื้นที่นั่นแหละทำงานในพื้นที่  เพราะพระสงฆ์ในพื้นที่จะเข้าใจในวัฒนธรรมการเป็นอยู่  วิธีคิด  วิถีชีวิต  ทั้งภาษาและวัฒนธรรมต่างๆ 

เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำงาน  การรักษาพระพุทธศาสนาในชายแดนใต้ให้ได้ผล  ก็คือเอาพระในพื้นที่ทำงานในพื้นที่ให้ได้  จึงเป็นที่มาของการฝึกอบรมพระธรรมทูตอาสาชายแดนใต้ขึ้นมา  จากเดิมที่มีความพยายามส่งพระจากนอกพื้นที่เขามา  ซึ่งอาจจะเจอปัญหาความไม่เข้าใจทั้งภาษา  และวัฒนธรรม  การยอมรับอะไรต่างๆ ส่วนรูปที่ทำงานได้ผลก็มี  แต่ว่าโดยมากก็จะเจอปัญหาเรื่องที่กล่าวคือภาษา  วัฒนธรรม หรือเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ได้

              เพราะฉะนั้น  หลวงพ่อสมเด็จฯ จึงมองว่า  ก็เอาพระในพื้นที่นั่นแหละ  ทำงานในพื้นที่  ท่านเข้าใจในภาษาวัฒนธรรม  แนวคิด  วิธีการแสดงออกต่างๆ  จะสื่อสารกันได้ง่าย  เราจึงฝึกท่านขึ้นมา  ฝึกจากอะไร การไปฝึกนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าไปฝึกท่าน  แต่ในความเป็นจริงคือ  ไปชวนท่านคิด  ไปชวนท่านทำงาน ท่านอยู่ในพื้นที่ท่านควรจะทำงาน  ท่านอยากทำงานอะไร  ไม่ใช่เราไปคิดแทนท่าน  เอางานไปให้ท่านทำ  ไม่ใช่เราคิด  เขียนโครงการแล้วเอาไปให้ท่านทำ 

ผู้ก่อตั้งพระธรรมทูตอาสาที่ส่งไปนี้  ไปฟังความคิดเห็นของท่าน  ไปฟังปัญหาของท่าน  ท่านส่งไปฟังปัญหาของเขา  ไปฟังความคิดเห็นเขา  ไปให้เขาปรับทุกข์ให้เราฟัง  พอปรับทุกข์ให้เราฟังแล้ว  ก็ถามท่านว่า  ท่านอยากทำอะไร  ท่านคิดว่า  ท่านอยากทำไรอะไร  อยากแก้ไขอย่างไร  เสร็จแล้วเราก็ไปเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยท่าน  ในการทำในสิ่งที่ท่านอยากทำ  เช่น การก่อตัวพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ก็เป็นความต้องการของท่าน  เป็นความต้องการที่ท่านอยากจะมีองค์กรที่มันเหนียวแน่นขึ้นมา  แล้วทำอย่างไรท่านถึงจะทำงานร่วมกันได้  อย่างเช่นเชื่อมกันทำงานทั้งหมดใน ๕ จังหวัด  มันเหมือนกับว่าในจังหวัดนี้ก็สามารถที่จะรู้ข่าวคราวในจังหวัดนั้น  จังหวัดโน้น  รู้ความเป็นไปได้ตลอด  โดยเชื่อมกันแบบนี้  พูดภาษาเดียวกัน  กินอาหารแบบเดียวกัน  มีวัฒนธรรมแบบเดียวกัน  การเป็นอยู่แบบเดียวกัน

              เพราะฉะนั้นวิธีคิดของความคิดในวิสัยทัศน์  หรือมุมมองของท่านก็คือว่า  เอาคนในพื้นที่  เอาพระในพื้นที่ทำงานในที่ของท่าน  ความรักหวงแหนในพื้นที่  ในท้องถิ่นมีทุนเดิมอยู่แล้ว  ความต้องการอยากจะช่วยให้คนคลายทุกข์  คือตัวเองก็มีทุกข์อยู่แล้ว  และก็เห็นคนอื่นทุกข์  คนของตัวเองก็มีปัญหาอยู่แล้ว  เพราะอยู่ตรงนั้น  ก็เห็นคนอื่นมีปัญหา  เพราะฉะนั้นก็อยากช่วยแก้ปัญหา  เพราะรู้ปัญหาและหาทางออกจากปัญหาได้อย่างเข้าใจและตรงประเด็นได้ดี

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ  เป็นผู้ที่มีกิจพระศาสนาทุกลมหายใจ  ขณะนั่งไปในรถ  ท่านนึกอะไรได้เกี่ยวกับงานพระศาสนา ท่านก็จะบอกว่า  ให้ช่วยจำด้วยนะ  ถึงวัดแล้วเตือนท่านด้วย  จากนั้นท่านจะทำโน้ตไว้ที่โต๊ะทำงานหน้าห้อง  ซึ่งท่านเดินผ่านเข้าออกประจำ  ให้มองเห็นได้  จากนั้น  ถ้าท่านจะมอบหมายงานให้พระรูปใดไปจัดการ  ท่านมักกล่าวว่า

 “สั่งงานแล้ว ให้ปฏิบัติทันที ผลเป็นอย่างไร ต้องรายงานทุกครั้ง”

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ได้ปรารภถึงสถานการณ์ของสังคม  มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  และสิ่งสำคัญ คือภัยคุกคามที่เกิดขึ้นต่อสังคมไทย  โดยมุ่งไปที่สถาบันหลักของชาติ  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนชาติไทย คือ  สถาบันชาติ  พระศาสนา  พระมหากษัตริย์  อันมีความผูกพัน  ประสานเป็น ๓ สถาบันหลักของชาติ เป็นฐานรองว่ารับให้คงความเป็นชาติไทยตลอดมา

              ปัจจุบัน  สังคมไทยมีความอ่อนแอ  ผู้คนในชาติเกิดแนวคิดที่หลากหลาย  มีข้อโต้แย้งกันมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ของสังคม  ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทุกวิถีทาง  จึงปรากฏประหนึ่งว่า  ผู้คนในสังคมไม่เห็นความสำคัญของคุณธรรม  จริยธรรมของพระพุทธศาสนา  ว่าเป็นรากฐานเดิมของสังคมไทย จะทำอย่างไรที่จะพลิกฟื้นจิตใจแห่งพุทธะขึ้นมาได้ ที่จะเป็นศูนย์รวมแห่งดวงใจของชาวพุทธขึ้นมาได้ ด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา อันจะนำจิตเราไปสู่ความเมตตากรุณาต่อกันอย่างแท้จริง ด้วยตระหนักว่า เราต่างเป็นพ่อแม่ พี่น้องและเพื่อนร่วมทุกข์ในสังสาารวัฏแห่งการเวียนว่ายตายเกิดด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เวลาที่เหลืออยู่บนโลกอันน้อยนิด จะได้ทำความเพียร หายใจเข้า-หายใจออกไปกับสติ จนกว่าจะเห็นสัจธรรมตามความเป็นจริงของสรรพสิ่งว่า ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป หรือแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา

ทำอย่างไรให้เวลาอันมีค่านี้ เป็นเวลาแห่งการสร้างกุศลคุณงามความดี เป็นเวลาที่ลดละเลิกกิเลสทั้งหลายทั่งปวง เป็นเวลาแห่งการปฏิบัติธรรมได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก ที่ล้วนมีแต่อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาให้เราสัมผัสด้วยใจเราเอง

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต

บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน

เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๑๐๒ . สร้างพระสงฆ์ แสงสุดท้ายแห่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ๑๐๓. แนวคิดในความคิดของหลวงพ่อสมเด็จฯ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here