ทำไม…

คิดดี ทำดี แล้วยังไม่ได้ดี

คำถาม :

(๑) ทำไมคิดดี แล้ว พูดดีแล้ว ทำดีแล้ว ก็ยังไม่ได้ดี  หรือว่า (๒) ต้องใช้กรรมที่เคยทำไว้ก่อน หรือว่า (๓) ทุกอย่างก็ตกลงในกฏไตรลักษณ์หมดเลย คือไม่ว่าเราจะทำดีอย่างไร คิดดีอย่างไร และพูดดีอย่างไร ก็คาดหวังอะไรไม่ได้เลย อย่างนั้นหรือเปล่า?  หรือว่า (๔) ลึกๆ แล้ว จิตยังคิดไม่ดี แม้ทำอะไรออกไป ก็เลย ยังไม่ดีจริงๆ ? (๕) ถ้าเราไม่สนใจเรื่องภายนอกเลย ไม่สนใจเรื่องบ้านเมืองเลย ถือเป็นการปฏิบัติธรรมไหม?

ถาม-ตอบ สนทนาธรรม

เรื่อง “กรรม กับ ความเป็นจริง

ระหว่างความเชื่อ และ ความศรัทธา

โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร

สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง

แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

ตอบ

: คำถามนี้อาจแยกให้ชัดเป็นข้อๆ ได้ตามที่แบ่งไว้ โดยข้อ (๑)-(๔) เป็นเรื่องของ “กรรม” และเป็นเรื่องอจินไตยคือไม่ควรคิด อาจเป็นไปได้ที่คิดแล้วจะมีคำตอบหรืออาจสร้างความสงสัยให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็เป็นได้ 

จะสังเกตได้ว่า

คำว่า “กรรมนั้น”

อยู่ในเรื่องของ “ศรัทธา”

คือความเชื่อ ประกอบด้วย

กัมมสัทธา เชื่อว่ากรรมมีจริง

วิปากสัทธา เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง

กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน

โดยศรัทธานั้นได้สร้างกรอบในการคิดให้แคบขึ้น เพียงแค่เราเชื่อก็จะทำให้เราตัดข้อสงสัยเรื่องกรรมและการให้ผลกรรมไปได้ แต่ “ศรัทธา” ที่เราไม่อาจตรวจสอบได้จะทำอย่างไร เรื่องนี้ต้องพิจารณาจาก ตถาคตโพธิสัทธา คือเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นการศรัทธาต่อผู้ที่ตรัสคำสอนนี้ไว้ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลผู้เลิศ ผู้ประเสริฐ  โดยยืนยันได้ว่าเรื่องกรรมมีจริง

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ดังข้อความในพระไตรปิฎกว่า “บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น” เป็นข้อยืนยันความสงสัยที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการทำดี ทำชั่ว การคิดดี คิดชั่ว การพูดดี พูดชั่ว ล้วนมีผลทั้งสิ้น เป็นไปตามที่พระพุทธองค์ผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายยืนยันไว้เรียบร้อยแล้ว

แต่ข้อ (๕) นั้นเป็นการพิจารณาระหว่าง ก. การปฎิบัติธรรมเพื่อบรรลุธรรม กับ ข. ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (ธมฺมานุธมฺมปฎิปัตฺติ) กล่าวคือ

๑) ปฎิบัติธรรมเพื่อบรรลุธรรม เป็นการหลีกเร้นจากสิ่งยั่วยุภายนอกที่ทำให้เกิดความอยาก หรือความอยากมีอยากเป็น เพื่อแสวงหาที่สัปปายะสำหรับการบรรลุธรรม สำหรับพระภิกษุหรือบุคคลที่ต้องการหลีกจากหมู่จากสังคมหาที่ปฏิบัติด้วยตนเอง

เช่นที่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวว่า

“ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน

เที่ยวไปด้วยกันได้

เป็นสาธุวิหารี

เป็นนักปราชญ์

ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด

เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว

ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว

และเหมือนช้างมาตังคะละ

ทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น”

          “เพราะกามทั้งหลายสวยงามมีรสอร่อย น่ารื่นเริงใจยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบบุคคลเห็นโทษในกามคุณแล้วจึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด”

“เป็นผู้ไม่โลภไม่หลอกลวง

ไม่กระหาย ไม่มีความลบหลู่

กำจัดอาสวะ (กิเลสดุจน้ำย้อม) และโมหะได้แล้ว

ไม่มีความหวัง

ในโลกทั้งปวงจึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด”

(ผู้สนใจอ่านเพิ่มเติมใน ขัคควิสาณสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ข้อที่ ๓๕ เป็นต้นไป)

“เรื่องของ “กรรม” เป็นเรื่องอจินไตยคือไม่ควรคิด

อาจเป็นไปได้ที่คิดแล้วจะมีคำตอบ

หรืออาจสร้างความสงสัยให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็เป็นได้”

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

๒) ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นการนำเอาข้อปฏิบัติมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้น โดยอาจพิจารณาได้จากการปฏิบัติธรรมตามหน้าที่ในสังคม เช่น พ่อแม่และผู้ปกครองมีหลักพรหมวิหาร, ผู้เป็นประชาชนมีหลักฆราวาสธรรม, มนุษย์ต้องมีศีล เป็นต้น ข้อปฏิบัตินี้จึงเป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงประกาศหลังจากบรรลุธรรม ขณะเดียวกันก็ส่งพระภิกษุผู้บรรลุธรรมเพื่อประกาศหลักปฏิบัติ ด้วยถ้อยคำว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์”

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

เพื่อให้ทุกคนรู้จักการปฏิบัติธรรม และสร้างความหมายของการปฏิบัติธรรมว่าสามารถทำได้ทุกที่ โดยเฉพาะบุคคลที่มีธรรมเท่านั้นจึงจะทำให้โลกนี้ดำเนินไปได้อย่างสุขสงบ

ฉะนั้น หลักปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาจึงมีทั้ง ๒ แบบ โดยแบบที่ ๑ เหมาะกับผู้ต้องการจะหาที่สงบจิตสงบใจอย่างที่ผู้มีความทุกข์จะได้แสวงหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ด้วยการปฏิบัติธรรม เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง

ขณะเดียวกันเมื่อปฏิบัติธรรมจนเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วจึงอาจเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วยการปฏิบัติธรรมในแบบที่ ๒ ที่เป็นแบบปฏิบัติที่เหมาะกับทุกคนที่อยู่ในสังคมจะได้ใช้แนวทางที่ตนได้ปฏิบัติธรรมจนเข้าใจแจ่มแจ้งเพื่อมาใช้ในการอยู่ร่วมกัน

สำหรับอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมแบบหลีกหนีไปอยู่คนเดียวก็สามารถปฏิบัติธรรมได้เช่นกัน ด้วยการคำนึงถึงประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลัก มีจิตใจเสียสละแก่สังคมบ้านเมือง เห็นประโยชน์ที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ ก็ถือเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ชัดเจนที่สุดแล้ว

เจริญพร

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

ถาม-ตอบ สนทนาธรรม เรื่อง “กรรม กับ ความเป็นจริง ระหว่างความเชื่อ และ ความศรัทธา โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here