เสื้อดำกับความยุติทำ (ธรรม)

โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

จากคอลัมน์ เขียนธรรมให้ถึงโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑)

ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่นักปราชญ์ ราชบัณฑิต แสวงหามาโดยตลอดว่าอะไรคือความหมายของคำว่า “ยุติธรรม” เพื่อจะนำมาเป็นบรรทัดฐานของสังคม ให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมเสมอภาค เพราะมนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาที่จะได้รับความยุติธรรมเช่นกัน ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายจัสติเนียน “ความยุติธรรมคือเจตจำนงอันแน่วแน่ตลอดกาลที่จะให้แก่ทุกคน ตามส่วนที่เขาควรจะได้”

สภาพของสังคมมีความหลากหลายของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ความยุติธรรมจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้สังคมเกิดดุลยภาพ และความยุติธรรมยังเป็นตัวชี้วัดความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง หรือความผาสุกของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี ดังปรากฏในพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่ว่า

“การยุติธรรมอันเดียว เป็นการที่สำคัญยิ่งใหญ่ เป็นหลักเป็นประธานการชำระ ตัดสินความทุกโรงทุกศาล เป็นเครื่องประกอบรักษาให้ความยุติธรรมเป็นไป ถ้าวัดได้ดีขึ้นเพียงใด ประโยชน์ความสุขของราษฎร์ก็จะเจริญยิ่งขึ้นเท่านั้น”

ณ วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๓ เป็นวันครบรอบ ๒ ปี  ที่เสือดำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกของประเทศไทย ถูกลอบทำร้ายจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการกฎหมายไปแล้ว วันนี้เราจะมาถอดบทเรียนกัน

อนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ทำให้สังคมเกิดความสับสนว่าอะไรคือความยุติธรรม ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งถือว่าเป็นต้นน้ำของความยุติธรรม เจ้าหน้าที่ดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก และผู้ถูกกล่าวหา  สังคมสับสนว่าใครถูกใครผิด ใครควรได้รับความยุติธรรม และมากไปกว่านั้น เมื่อคนในสังคมได้รับข่าวนี้ก็ต่างพากันอาฆาตพยาบาท สาปแช่ง ให้คนที่ทำผิดควรได้รับกรรม ทำให้จิตใจคนของคนที่เสพข่าวเศร้าหมอง หรือจิตตกไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

เพราะเมื่อเราเห็นข่าวเช่นนี้ควรตั้งสติให้ดี ควรวางใจให้เป็นกลาง รักษาใจของตนให้ดี อย่าให้ใจของเราเสีย หรือเศร้าหมอง ถ้าไม่เช่นนั้นจิตของเราก็ไม่ต่างไปจากผู้ที่ยิงเสือดำ แต่ควรกลับมาตั้งคำถามและเรียนรู้ไปด้วยกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในสังคม หรือจะทำอย่างไรให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม  

ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าความยุติธรรมในสังคมจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ๔ ตามที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ในหนังสือนิติศาสตร์แนวพุทธ หลักความยุติธรรมอันแท้จริงที่เป็นหลักสากล ตามพรหมวิหาร ๔  ประกอบไปด้วย  เมตตา  กรุณา  มุทิตา  และอุเบกขา  ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ทำให้มนุษย์มีความสมบูรณ์ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ทุกสังคมจะแบ่งความสัมพันธ์ออกเป็น ๒ ประเภท คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ 

พรหมวิหารสี่  จึงเป็นตัวสร้างความสมดุลของความสัมพันธ์ทั้งสองประเภทนี้  เพื่อให้เกิดความยุติธรรมได้อย่างดุลยภาพ

มนุษย์มีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองแบ่งออกเป็น ๓ สถานการณ์ คือ ๑) เวลาที่เขาปกติสุขดี เราก็ต้องมีจิตใจที่ปรารถนาดีต่อกัน เรียกว่า เมตตา  ๒) เวลาที่เขาตกต่ำทุกข์ยากเดือดร้อน เราก็ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อให้เขาพ้นจากความทุกข์ เรียกว่า กรุณา  ๓) เวลาที่เขามีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จในชีวิต เราก็ต้องมีจิตใจที่ชื่นชม ยินดี กับเขาเรียกว่า มุทิตา ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับกฎของธรรมชาติ  คือ สถานการณ์ที่ ๔ เรียกว่า อุเบกขา 

สำหรับ อุเบกขา เป็นกฎเกณฑ์ที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ(กฎหมาย)เพื่อไม่ให้มนุษย์ละเมิดต่อธรรม(กฎหมาย) หรือรับผิดชอบต่อธรรม(กฎหมาย) ต้องมีอุเบกขา วางใจให้เป็นกลางเพื่อดำรงไว้ซึ่งความมีเหตุผลเป็นธรรม

เช่น การบังคับใช้กฎหมายต้องเท่าเทียมเสมอภาคกัน คนจน คนรวย ชาวไร่ ชาวนา นักธุรกิจ ข้าราชการ ฯ ถ้าใครทำผิดกฎหมายบ้านเมืองต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเที่ยงต่อธรรม แต่ถ้าเที่ยงต่อคนก็จะหาความยุติธรรมไม่เจอ

ดังนั้น เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้ว ต้องมีสถานการณ์ที่ ๔ มาเป็นตัวรักษาธรรมไว้เพื่อธำรงความยุติธรรมในสังคม อุเบกขาจึงเป็นกลไกที่สำคัญอันจะทำให้เกิดดุลยภาพในจิตใจของมนุษย์ได้  อีกทั้งยังช่วยให้เกิดผลภายนอก ๓ ประการ คือ ช่วยรักษาบุคคล  รักษาสังคม และรักษาธรรม(กฎหมาย) แต่กฎหมายใช่ว่าจะสร้างความยุติธรรมได้เสมอไป

เพราะกฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม

ดังตามพระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เกี่ยวกับความยุติธรรมมีดังนี้

“…โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคำนึงถึงแต่ความผิดตามกฎมายเท่านั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ…”

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าความยุติธรรม คือ สภาวธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์หรือเป็นผู้ที่ประกอบด้วยหิริ โอตตัปปะ

สำหรับคนที่จะเข้าถึงความยุติธรรมได้ต้องเป็นผู้มีสติและใช้ปัญญาอย่างมีเหตุผล  เมื่อมนุษย์เป็นผู้ตั้งมั่นในธรรมแล้ว จึงได้สร้างกฎเกณฑ์ของความยุติธรรมออกมาในรูปแบบของกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือนำไปสู่ความยุติธรรม

ความยุติธรรมจึงอยู่เหนือกฎหมาย

ถ้าเปรียบเสมือนร่างกายของมนุษย์จิตอยู่เหนือกาย กล่าวคือ มนุษย์ประกอบด้วยรูป(กาย) กับนาม(จิต) กฎหมายคือรูป  ความยุติธรรมคือนาม ถ้าร่างกายป่วย จิตใจก็เศร้าหมอง บุคคลนั้นอีกไม่นานก็คงจะเสียชีวิต

เฉกเช่นดียวกัน ถ้าบ้านเมืองใดกฎหมายก็บกพร่อง ความยุติธรรมก็หาไม่เจอ บ้านเมืองนั้นก็คงยากที่จะทำให้กลุ่มคนในสังคมที่หลากหลาย หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เกิดดุลยภาพ และทำให้สังคมเกิดความสงบสุขได้

พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

สังคมไทยเดินต่อไปได้ด้วย “พรหมวิหาร ๔ ” ถอดบทเรียน ๒ ปี เสื้อดำกับความยุติทำ (ธรรม) โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม จากคอลัมน์ เขียนธรรมให้ถึงโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here