"จิตใจที่เปี่ยมบุญ" เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร
“จิตใจที่เปี่ยมบุญ” เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร

บาตรเดียวท่องโลก …

(ตอน)

ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง และ เป็นบุญอย่างใหญ่หลวง

เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร

เณรหนุ่มอินเดียวัยวัย ๒๐ ปี จากรัฐอรุณาจัลประเทศ ที่อยู่ติดเขตชายแดนพม่า ประเทศอินเดีย เป็นเณรที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือ เรียนดี พูดภาษาไทยได้ชัดเจน เพราะพระอาจารย์ชาวไทยอุปการะมาเป็นเวลาเกือบ ๑๐ กว่าปี มีโอกาสคลุกคลีกับคนไทย โดยเฉพาะช่วงที่กลุ่มคนไทยไปแสวงบุญที่อินเดีย เณรต้องจากบ้านเกิดมาตั้งแต่ ๙ ขวบ เพื่อมาบวชเป็นสามเณร เรียนหนังสือที่เมืองราชคฤห์และเมืองคยาในปัจจุบัน ซึ่งไกลมากจากบ้านเกิด ต้องเดินทางด้วยรถไฟเป็นเวลาสองคืนจากเมืองคยา

เณรเล่าว่า จำเป็นต้องมาเพราะพ่อแม่ต้องการให้มา โดยส่วนตัวในเวลานั้นก็มิได้รู้อะไรมาก เพียงแค่ทำตามที่ผู้ใหญ่บอกและคิดว่าต้องมาเรียนหนังสือ เพราะท่านคิดว่ามีโอกาสให้ชีวิตได้มากกว่าที่บ้านเพราะฐานะค่อนข้างลำบาก

“มีอยู่หลายครั้งในช่วงแรกๆ ที่เดินร้องไห้ไปโรงเรียนเพราะคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ คิดถึงครอบครัว แต่ก็ต้องอดทน นอกเหนือจากความเศร้ายังมีเรื่องราวอื่นๆ ที่ต้องเรียนรู้ ค้นหา ต้องปรับตัว ทั้งน่าตื่นเต้น ทั้งน่าเบื่อ

แต่ที่เณรชอบที่สุดในเวลานั้น อย่างน้อยก็ได้สนุก อยู่กับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มาจากรัฐเดียวกัน ที่เป็นสามเณรเหมือนกัน ทำให้ช่วยคลายความเหงา ความเศร้าไปได้มาก

"จิตใจที่เปี่ยมบุญ" เขียนโดย พระครูใบฎีกาพิทยา ฐานิสสโร จากคอลัมน์ บาตรเดียวท่องโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑)
“จิตใจที่เปี่ยมบุญ” เขียนโดย พระครูใบฎีกาพิทยา ฐานิสสโร จากคอลัมน์ บาตรเดียวท่องโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑)

อาตมากลับมาพุทธคยาอีกครั้ง เวลาได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนวันนี้ รู้สึกว่า พุทธคยา กลายเป็นครอบครัว เป็นบ้านเสียแล้ว เพราะเมื่อมีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด กลับคิดถึง ต้องการกลับมาที่ พุทธคยา เป็นสิ่งที่เห็นชัดว่า อะไรๆ ในชีวิต ไม่มีแน่นอนซักอย่าง! โดยเฉพาะจิตใจที่ไม่ได้รับการฝึกฝนให้ละวาง

“การเป็นคนมีความสุข มีความอบอุ่นในตัวเอง แปลว่าเขาจะอยู่ได้แม้ไม่มีใครใกล้ชิด ดูแล เอาใจใส่ เพราะจิตใจไม่รู้สึกขาด และการได้ฝึกฝนอยู่ในกรอบ มีระเบียบวินัย ได้ฝึกความอดทน ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน”

พระพิทยา ฐานิสสโร

ชีวิตของพระเรา ต้องเชื่อฟังพระอุปัชฌาย์อาจารย์ มีสัมมาคารวะ ฝึกการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในกิจวัตรประจำวัน นับว่าโชคดีถ้าสามารถยอมรับ ทำตามอย่างเต็มใจ ถึงแม้อาจไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือครอบครัว แต่พระก็จะเติบโตอย่างรู้จักกาลเทศะ มีความสุขในการดำรงชีวิตเพราะมีความอดทน เจียมตัว

ฆราวาสก็เช่นกัน ถ้าเรามองว่าชีวิต เป็นชีวิตที่ขาดอิสรภาพไม่ได้ทำตามใจ ถูกจำกัด เต็มไปด้วยกฎระเบียบ เมื่อความเห็นเป็นเช่นนั้น เขาได้ชื่อว่าโชคร้าย เพราะเขาจะเติบโตแบบคนก้าวร้าว ไร้ความสุขในตัวเอง โทษสิ่งและบุคคลภายนอกเสมอ ความคิดที่ยึดติด ความฝังใจ เกิดจากจิตใจที่เคยสั่งสมความคิดเช่นนั้นไว้ไม่ปล่อยวาง วิบากกรรมก็จะทำหน้าที่ของตัวเอง

“จิตใจที่เจริญ ย่อมต้องฝึกฝนให้ละวาง กรรมที่ติดตัวมาจึงมีโอกาสแปรเปลี่ยนไปในทางที่ดี แม้อาจเริ่มต้นไม่ดีก็ตาม”

พระพิทยา ฐานิสสโร

การได้อยู่กับครอบครัว ไม่สามารถรับประกันได้เลยว่า เด็กจะเติบโตอย่างมีความสุข มีความมั่นคงภายใน มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักกาลเทศะ โดยเฉพาะเด็กที่ถูกพ่อแม่ ผู้ปกครองเลี้ยงดูด้วยความสะดวกสบาย เต็มไปด้วยวัตถุ การเสพติดเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต เป็นภัยอันตรายที่น่ากลัวที่สุด

ถ้าขาดสติในการใช้ก็กลายเป็นการหลอก หลง สร้างมายาคติให้กับตัวเองไปวันๆ  ส่งผลให้จิตใจหวั่นไหว ไม่อดทน ไม่เข้าใจความจริงแห่งชีวิต ทนสภาพอะไรที่บีบคั้นไม่ได้ จิตใจจะไม่ค่อยอดทน เมื่อพบกับความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้ไม่พอใจ ทำให้เกิดความทุกข์ได้ง่ายในทุกๆ เรื่องราวของชีวิต

บางทีความยากจน ขัดสน ลำบาก อาจเป็นโอกาสให้เราได้เจอสิ่งใหม่ๆ และไม่ได้หมายความว่า เราต้องทุกข์หรือคิดว่าโชคร้ายเสมอไปเมื่อต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะจิตใจภายในของคนๆ นั้นต่างหาก ว่าเลือกจะมองมุมไหน 

” ผู้มีปัญญา จะไม่โทษ โกรธ เกลียด คร่ำครวญ จมอยู่กับสิ่งที่กำลังประสบ โดยเฉพาะสิ่งไม่ดี หรือแม้แต่หลงเพลิดเพลินในสิ่งดีก็จะไม่เป็น แต่เขาหรือเธอ จะใช้โอกาสนั้น ในทุกวิถีทาง เพื่อฝึกฝนสร้างอิสรภาพแก่จิตใจตัวเอง”

พระพิทยา ฐานิสสโร

เมื่อเรามองเห็นทุกข์จากความยึดมั่น ถือมั่นในความไม่พอใจที่ยังคงมีอยู่ เราจะพบกับความสงบสุขที่แท้จริง ที่ไม่ขึ้นกับโลกธรรม ๘ ที่ประกอบด้วย ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ แม้แต่น้อย ถึงแม้ยังต้องพึ่งปัจจัยสำคัญแห่งการดำรงชีพอยู่ก็ตาม

จิตใจที่เปี่ยมด้วยบุญ

จะอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นปรกติ

การดำรงอยู่เพื่อผู้อื่น

จะไม่มีตัวตน ของตนอยู่ในนั้น

พระพิทยา ฐานิสสโร ผู้เขียน
พระพิทยา ฐานิสสโร ผู้เขียน

“ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง และเป็นบุญอย่างใหญ่หลวง” เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here