กล้วยต้มกลางพายุ โดยหมอนไม้

         ในวันเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้เขียนออกไปทำหน้าที่พลเมืองแต่เช้าที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน หลังแปดโมงเล็กน้อย ก็เป็นที่น่ายินดีว่า มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจนต้องต่อคิวกันแล้ว ใช้เวลาไม่นานนักก็กลับบ้าน  เพราะทำตามขั้นตอนทุกอย่าง ตั้งแต่การตรวจดูสิทธิ์ของตนก่อนหน้า และดูหมายเลขที่จะไปใช้สิทธิ์เรียบร้อยเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็วไม่รบกวนเวลาของคนที่ต่อแถวมาติดๆ จะว่าไปการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าเราไม่หวังผล ก็ได้เรียนรู้อะไรมากทีเดียว อย่างน้อยก็เรื่อง “สิทธิพื้นฐาน” ที่ทุกคนมีเสมอกัน

           การศึกษานโยบายพรรคให้ละเอียดด้วยตนเอง จะนำไปสู่การเลือกพรรคและสมาชิกพรรคได้อย่างที่สามารถเป็นตัวแทนให้เราได้ แม้ว่า เขาคนนั้น หรือ พรรคนั้น อาจไม่ได้รับคะแนนเสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล หรือ แม้แต้เสียงที่เราเลือกให้ไปก็อาจไม่พอที่จะเป็นหนึ่งในส.ส.ที่จะเข้าไปทำงานในสภาด้วยซ้ำ แต่นั่น ก็คือ การเรียนรู้ที่จะใช้สิทธิ์ของตนอย่างชอบธรรม จะเรียกว่าการใช้สิทธิ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตอย่างเป็นผู้เลือกก็ย่อมได้ และเป็นการเรียนรู้สำคัญในการ “เลือก” สิ่งต่างๆ ในชีวิตตามมา

           เพราะการเลือกด้วยเหตุผลที่ตนเองศึกษาดีแล้ว เป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เราก็ไม่เสียใจเพราะได้ทำหน้าที่ คิดเอง ศึกษาเอง และเลือกเองแล้ว เป็นความสามารถในการที่เรารู้ว่า “สิทธิ์” ขั้นพื้นฐานของเรานั้นมีอะไรบ้าง และเรียนรู้ที่จะใช้ “สิทธิ์” ต่างๆ อย่างชอบธรรมในทุกกรณี

           หลังจากใช้สิทธิ์เสร็จแล้วก็เดินกลับบ้าน มาถึงบ้านก็นำกล้วยน้ำว้าที่สุกแล้วกินไม่ทัน ยังเก็บไว้ในตู้เย็น นำมาต้มกิน ระหว่างต้มก็มานั่งเขียนงานและรอบทความจากพระอาจารย์อีกสองท่านที่ช่วยกันเขียนเป็นธรรมทานสำหรับหน้าธรรมวิจัยแห่งนี้

           กล้วยเปลือกดำๆ ที่ดูเหมือนจะเสีย เมื่อมาอยู่ในหม้อเล็กๆ ต้มสักพักก็เริ่มส่งกลิ่นหอม คิดในใจว่า ยังดีนะ ที่ไม่ทิ้งไปเสียก่อน อย่างน้อยและอย่างมาก ก็เป็นอาหารอีกมื้อได้ สำหรับผู้มีรายได้น้อยอย่างข้าพเจ้า

           เมื่อนึกถึงการมีรายได้น้อย (มาก)  แล้วอยู่ได้อย่างไรในภาวะเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับว่าอยู่ยากจริงๆ สำหรับคนทำงานเขียนที่ทำงานหนัก และงานไม่ได้น้อยลงกว่าตอนที่เคยทำงานประจำ แต่งานกลับมากขึ้นด้วยซ้ำ ขณะเดียวกัน ค่าแรงก็ไม่สามารถเรียกร้องได้ เพราะเราไม่มีอำนาจการต่อรอง คนเล็กๆ กับการต่อรองเรื่องรายได้ เป็นเรื่องยากจริงๆ เพราะเมื่อเริ่มต่อรอง ก็จะได้รับคำว่า “ขอบคุณ” ไม่เป็นไร เขายังมีนักเขียนที่สามารถเขียนให้ฟรีได้อีกมากมาย
           นักเขียนเมืองไทย จึงไม่อาจจะอยู่ได้ดีเหมือนอาชีพอื่น ถ้าไม่อดทนและแสวงหามุมมองใหม่ในการทำงานเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ แตกต่างจากผู้อื่น และที่สำคัญ งานเขียนจะต้องต่อเนื่อง และจะต้องเป็นประโยชน์กับผู้อ่านมหาศาล จึงจะติดลมบน  

แต่ก็แน่นอนว่า อาชีพเขียนหนังสือ ไม่ใช่ทุกคนจะรักและอยากทำ คงมีเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่ทำเพราะรัก ทำเพราะศรัทธา อดมื้อกินมื้อเป็นอย่างไร เข้าใจแล้ว ยิ่งสมัยนี้ แม้หนังสือพิมพ์ นิตยสารมากมายทยอยปิดตัวลง หากแต่สนามการเขียนกลางอากาศกลับกว้างขวางมหาศาล สำหรับผู้สูงอายุที่รักงานเขียน และทำงานเขียนเป็นอาชีพมากว่า๓๐ ปีอย่างข้าพเจ้า แทบไม่เคยคิดเลยว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร  

           เมื่อวันก่อนไปจ่ายภาษีที่สรรพากรใกล้บ้าน แม้รายได้ไม่ถึงกำหนดที่จะต้องจ่ายภาษี จนเจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ต้องมาก็ได้พี่ แต่ก็ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า มาดีกว่าจ้ะน้อง เป็นหน้าที่ของพลเมืองเล็กๆ เจ้าหน้าที่ก็ยังถามต่อมาว่า พี่ๆ รายได้เท่านี้อยู่ได้อย่างไร  ถ้าเป็นหนูไม่ทำแล้วอยู่บ้านเฉยๆ ดีกว่า

           “นั่นนะซี ถ้าไม่รักงานเขียนจริงๆ ก็คงไม่ทำหรอกน้อง” ก็ได้แต่บอกเขาไปเช่นนั้น

           และแล้วฝนก็ตกลงมาในวันเลือกตั้งราวกับพายุ มะม่วงสุกหลุดจากขั้วหล่นร่วงอยู่บนหลังคาดังกระหึ่ม ฉันเบรกตัวเองมานั่งกินกล้วยน้ำว้าต้มสุกด้วยความขอบคุณกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับชีวิต    

และนี่คือ “การเลือก”
รางวัลที่เลือกแล้ว คือ
เราได้อยู่กับสิ่งที่เรารัก…เพื่อนบอก…

กล้วยต้มกลางพายุ โดยหมอนไม้
กล้วยต้มกลางพายุ โดยหมอนไม้

ท่านใดที่สนใจการเขียนสร้างสรรค์ ชีวประวัติตนเอง ฯลฯ ติดต่อได้ที่ email : manasikulo@gmail.com   

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here