รู้” อะไรแท้ อะไรเทียมก็จะพบทางออก โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

0
2026

“เราอย่ามัวแต่ถามหาความผิดทั้งของตนเองและคนอื่นมากจนเกินไป  เพราะส่วนใหญ่สิ่งที่เราชี้ผิดชี้ถูกกันส่วนใหญ่มันมักจะเป็นแค่ค่านิยมตามสมัย  ไม่ใช่อะไรที่เป็นแก่นสาร”

รู้” อะไรแท้ อะไรเทียมก็จะพบทางออก

โดย พระมหาประสิทธิ์  ญาณปฺปทีโป

           มีคนมาสะท้อนให้ฟังว่า ได้ทบทวนตัวเองเหมือนอย่างที่ได้บอกไป แต่พบว่า มีเรื่องผิดหวังมากจนทำให้รู้สึกท้อแท้ใจ  เหมือนสิ่งที่เคยพลาดมาตอกย้ำความผิดให้จิตพลอยรู้สึกตกต่ำลงไปอีก  เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่คิดถึงอดีต ขอก้าวไปข้างหน้าต่อไปโดยที่ไม่สนใจว่า ที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไรก็ตาม

           ฟังแล้วก็อดยิ้มไม่ได้  เพราะแท้จริง นั่นคือสิ่งที่เขาได้จากการทบทวน และค้นพบด้วยตนเองแล้วว่า  อดีตไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากไปกว่าเป็นบทเรียน  สิ่งสำคัญคือก้าวปัจจุบันต่างหากที่จะนำไปสู่อนาคต  เพราะฉะนั้นแล้ว  การทบทวนเพื่อการเรียนรู้  ไม่ใช่ว่าจะต้องได้อะไร แต่สิ่งที่เราได้นั่นแหละคือคำตอบ ไม่ว่ามันจะคืออะไรก็ตาม  เพราะมันเป็นสิ่งที่เราได้ตระหนักรู้ด้วยตนเอง  นั่นแหละคือเป้าหมายของการเรียนรู้  เมื่อไหร่ที่เกิดกระบวนการคิดด้วยตนเอง (cognitive) หรือภาษาพระเรียกว่า “โยนิโสมนสิการ”  เมื่อคิดอย่างแยบคายจนค้นพบแล้วว่าจะไปอย่างไรต่อ  ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

           สิ่งที่ทำได้ก็คือ ให้กำลังใจ และขอให้ทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จต่อไป 

           เราอย่ามัวแต่ถามหาความผิดทั้งของตนเองและคนอื่นมากจนเกินไป  เพราะส่วนใหญ่สิ่งที่เราชี้ผิดชี้ถูกกันส่วนใหญ่มันมักจะเป็นแค่ค่านิยมตามสมัย  ไม่ใช่อะไรที่เป็นแก่นสารแท้จริงสักเท่าไหร่  สิ่งที่เคยถูกไม่นานมันก็ผิด สิ่งที่เคยผิดก็อาจจะกลายเป็นความนิยมขึ้นมาก็ได้  ดูอย่างในโทรทัศน์ สมัยก่อนคำหลายๆ คำ ถือว่าเป็นคำหยาบพูดออกสื่อแม้เพียงพลาดก็อาจจะถูกสังคมประณามกันจนแทบจะตกงาน  แต่มายุคนี้เรากลับได้ยินคำเหล่านั้นแทบจะทุกช่องทุกรายการ  และบางทีเรื่องที่ด่าๆ กันในสื่อเมื่อดูแล้วก็ยังงงๆ ว่า เพื่ออะไร?  บางทีเราอาจจะไม่ไปจับประเด็นที่ความถูกผิด เราลองมองด้วยหลักคุณค่าแท้คุณค่าเทียม

           ๑. คุณค่าแท้  ไม่ต้องมองว่าถูกหรือผิด  แต่มองว่า คุณค่าแท้ของมันคืออะไร  เช่น กระเป๋าหรู กับถุงผ้า  คุณค่าของมันก็คือการใช้ใส่ของเท่าที่จำเป็น  ต่อให้ราคาต่างกันแค่ไหนมันก็ใช้ใส่ของเหมือนกัน 

           ๒. คุณค่าเทียม เมื่อเข้าใจคุณค่าแท้แล้วก็มองให้เห็นคุณค่าเทียม  ซึ่งก็มีความจำเป็นเหมือนกัน  ไม่ใช่ว่าเทียมแล้วไม่ใส่ใจ  เหมือนหีบห่อต่อให้สวยแค่ไหนก็ไม่สำคัญเท่าคุณภาพด้านใน  แต่ว่าถ้าของดีแต่หีบห่อที่บรรจุเชยๆ คนก็อาจจะมองข้ามได้ 

           ๓. ทางออก   คนส่วนใหญ่มักชี้ผิดหรือจี้ที่ปัญหา  แต่น้อยคนจะมองปรากฏการณ์อย่างสร้างสรรค์  แล้วช่วยแนะทางออกด้วย  ผู้เขียนโดนบ่อยมักจะมีคนมาช่วยชี้ที่ปัญหาจนบางครั้งต้องตอบกลับไปว่า “ปัญหาก็รู้แล้ว ทางออกล่ะอยู่ตรงไหน” แต่สิ่งที่สวนกลับมาคือ “ไม่ใช่ปัญหาของฉัน”  เป็นงั้นไป 

ดังนั้น เป็นบทสะท้อนว่า เวลาเรามองที่ปัญหามันง่ายมากที่จะชี้ช่องโหว่  และแนะว่า ทำไมไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ และต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอหาอาสาคนช่วยทำกลับโบกมือบอกว่าไม่ใช่หน้าที่  

ผู้เขียนก็เลยเก็บคำแนะนำเหล่านั้นไว้พิจารณาเอง ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ค่อยๆ เป็นไปตามเหตุปัจจัย  เพราะบางครั้งทางออกมันมีอยู่แล้วเรา แค่ยังไปไม่ถึง มัวแต่ฟังคำคนข้างทางมากไปหน่อยเท่านั้นเอง

           วิธีคิดในทางพระพุทธศาสนามีมาก อยากให้ลองฝึกใช้กันดู  แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อการศึกษาให้เราเข้าใจสัจจะ หรือความเป็นจริงของปรากฏการณ์  เท่านั้น  ไม่ต้องไปเติมความถูกผิดให้กับมันมาก  เรื่องบางเรื่องรู้แล้วก็วาง  ใจของเราจึงจะว่างไม่วุ่นวายฟุ้งซ่าน  โดยเฉพาะเรื่องของคนอื่น

           เคยมีโยมศรัทธาซื้อรองเท้ามาถวายยี่ห้อดีสีดำ  และวันถัดกันไปนั้นก็มีอีกท่านมาถวายของใช้ทั่วไปและในนั้นก็มีรองเท้าแตะสีดำด้วย   ทั้งสองท่านก็ประสงค์ให้พระส่งรองเท้าของตัวเอง 

           วันที่ใส่รองเท้ายี่ห้อดัง  ก็มีคนมาทักว่า  “เดี๋ยวนี้หรูนะ  ใส่ของแพงซะด้วย”

           วันที่ใส่รองเท้าแตะธรรมดา   ก็มีคนทักว่า “สมถะเกินไปไหม ดีกว่านี้ไม่มีใส่เหรอ”

           ต้องมีคนเดาว่า  ผู้เขียนจะถอดรองเท้าเดินแน่ๆ เลย

           จริงๆ แล้ว  ก็ใส่เท่าที่โอกาสจะอำนวยแค่นั้นแหละ  ใส่ให้เหมาะสมกับพื้นที่การใช้งานและกาลเทศะ  ไม่ได้ใส่ใจในคำพูดของคนอื่นมากนัก  เพราะนี่มันเท้าของเราเอง  คนอื่นอุตส่าห์ใส่ใจแค่นี้ก็ปลื้มแล้ว

           เห็นไหมละว่า “รองเท้า” คุณค่าแท้ของมันก็แค่ รองเท้าใส่เวลาเดิน  แต่คุณค่าเทียมของมันก็มีสีสันยี่ห้อและก็รูปแบบที่สร้างสรรค์จนน่าใส่  ส่วนทางออกเราก็ต้องพิจารณาด้วยตัวเองว่าจะใส่แบบไหน พระบางรูปใส่รองเท้าแตะแล้วรู้สึกสมถะ  แต่บางรูปใส่ดีหน่อยเพื่อสุขภาพของเท้าเวลาเดินเมื่อใช้งาน ญาติโยมเองก็เช่นเดียวกัน รองเท้ามันเป็นแค่รองเท้าก็จริง แต่ถ้าเราเลือกใช้ให้เหมาะกับสุขลักษณะและการใช้งาน  ถือเป็นเรื่องที่ดีแสดงว่าใช้ของอย่างมีสติปัญญา 

           ชีวิตเกาะติดกระแสก็เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม  แต่เราอย่าปล่อยให้ถูกกระแสพัดไปจนหวั่นไหวไขว้เขว  ดำรงอยู่ให้ชีวิตเป็นไปได้อย่างปกติสุขในสังคม แต่ไม่ยึดติดจนปล่อยให้ตัวเองถูกเหลี่ยมเล่ห์ของสังคมทิ่มแทงเอาได้

           เราเปลี่ยนสถานการณ์ไม่ได้  ก็พิจารณาดูว่าอันไหนคือคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม และทางออกที่เหมาะสม  อันไหนจะสร้างสรรค์มากกว่ากัน 

ถ้ายังไม่พบทางออกที่ดีที่สุด  ก็ออกทางที่มันออกได้ขณะนั้นก่อนก็แล้วกัน

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน

“การทบทวนเพื่อการเรียนรู้  ไม่ใช่ว่าจะต้องได้อะไร แต่สิ่งที่เราได้นั่นแหละคือคำตอบ ไม่ว่ามันจะคืออะไรก็ตาม  เพราะมันเป็นสิ่งที่เราได้ตระหนักรู้ด้วยตนเอง  นั่นแหละคือเป้าหมายของการเรียนรู้  เมื่อไหร่ที่เกิดกระบวนการคิดด้วยตนเอง (cognitive) หรือภาษาพระเรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” เมื่อคิดอย่างแยบคายจนค้นพบแล้วว่าจะไปอย่างไรต่อ  ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ”

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here