Q&A Quickly Dhrama Healing

by พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี

๒. เราจะเรียกร้องสิทธิให้ตัวเองเพื่อความเป็นธรรมได้หรือไม่ ?

Question  : การเรียกร้องสิทธิพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เป็นธรรมหรือไม่คะ และจะเรียกร้องอย่างไร หมายความว่า คุณค่าของงานกับมูลค่าน่าจะไปด้วยกัน ขอให้พระอาจารย์ช่วยให้คำแนะนำด้วยค่ะ

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี Answer : พออ่านคำถามนี้ขอสรุปปัญหาไว้สัก ๒ ข้อสำคัญในนี้คือ ๑. เราจะเรียกร้องสิทธิให้ตัวเองเพื่อความเป็นธรรมได้หรือไม่ ๒. สังคมควรเห็นคุณค่าของกันและกันบนธรรมะอะไร

ก่อนจะตอบคำถามนี้ขอให้เราเข้าใจคำว่า “ที่พึ่ง” (นาถ) โดยมนุษย์เรานั้นต้องการที่พึ่งยามที่ประสบกับปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะปัญหาการดำเนินชีวิตจากการทำงาน หรือปัญหาจากภัยอันตรายต่างๆ เหมือนอย่างในอดีตที่คนพยายามหาที่พึ่งเป็นต้นไม้ ภูเขา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม้แต่การที่เราหาคนสักคนหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อช่วยเหลือบริหารจัดการให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้เรารู้สึกปลอดภัยขึ้น พระพุทธศาสนามองว่า เรากำลังมองหา “ที่พึ่ง” อยู่ และที่พึ่งนั้นมี 2 แบบ คือ ที่พึ่งภายนอก กับที่พึ่งภายใน โดย “ที่พึ่งภายนอก” นั้นเป็นสิ่งที่เราแสวงหา หรือแนวทางเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

ดังใน พระไตรปิฎกเล่มที่ 25 ขุททกนิกาย ธรรมบท กล่าวถึงว่า “มนุษย์จำนวนมาก ผู้ถูกภัยคุกคามต่างถึงภูเขา ป่าไม้ อาราม และรุกขเจดีย์เป็นสรณะนั่นมิใช่สรณะอันเกษม นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ส่วนผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะย่อมใช้ปัญญาชอบพิจารณาเห็นอริยสัจ ๔ ประการ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความสงบระงับทุกข์นั่นเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุดเพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”

หรือยามเผชิญหน้ากับปัญหาก็หาบุคคลเป็นที่พึ่ง ดังใน อัคคัญญสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 11 ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค ว่า “ชนทั้งหลายจึงได้ประชุมกันปรับทุกข์กันว่า ‘ท่านผู้เจริญ บาปธรรมปรากฏในหมู่เราแล้ว คือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักปรากฏ การติเตียนจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถืออาวุธจักปรากฏ ทางที่ดี พวกเราควรแต่งตั้งผู้หนึ่ง ซึ่งจะว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ พวกเราจักแบ่งปันข้าวสาลีให้แก่สัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเข้าไปหาท่านที่มีรูปงดงามกว่า น่าดูกว่า น่าเลื่อมใสกว่า น่าเกรงขามกว่า แล้วจึงได้กล่าวดังนี้ว่า ‘มาเถิด ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียน จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบเถิดและพวกเราจักแบ่งปันข้าวสาลีให้แก่ท่าน’ ผู้นั้นรับคำแล้ว ได้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน  ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ และสัตว์เหล่านั้นก็ได้แบ่งปันข้าวสาลีให้แก่สัตว์ผู้นั้น” 

สังเกตได้ว่า การที่คนจำนวนมากแสวงหาสิ่งภายนอกมาเป็นที่พึ่งนั้นมีเป็นจำนวนมาก ทั้งหมดก็เพื่อชีวิตที่ขึ้น แต่ที่พึ่งนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เราพึ่งได้ภายนอก ส่วนพระรัตนตรัยนั้นกลับแตกต่าง ไม่ใช่ที่พึ่งเพียงให้เรายึดถือเท่านั้น แต่ทำให้เราสร้างที่พึ่งของเราเองขึ้น เรียกว่า “ที่พึ่งภายใน”

           “ที่พึ่งภายใน” จึงเป็นผลจากการที่เราเกิดจากความเชื่อมั่น หรือสามารถผ่านความทุกข์ไปได้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง ดังใน พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือ กรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”

การที่เราทำกรรมดีมากๆ ใจจะมีศรัทธาต่อความดี และถือเอาความดีที่ทำนั้นเป็นเองที่พึ่งภายใน โดยปล่อยให้ใจไม่เกี่ยวข้องกับกรรมไม่ดีหรือต้องขัดแย้งกับโลกภายนอก ใจจะเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ทำนั้น ถ้าสิ่งนั้นตนเองถือว่าดีและถูกต้องตามธรรม ในที่นี้จึงถือได้ว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน (อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ)

           เมื่อทราบคำว่า “ที่พึ่ง” ทั้งสองแบบนี้จะพบว่า การที่เราต้องทุกข์กับเรื่องต่างๆ เป็นเพราะเราอาศัยที่พึ่งภายนอกมากเกินไป ไม่สร้างที่พึ่งภายในของเราเองให้เข้มแข็ง หรือให้เราคิดแบบนี้ว่า เราเปลี่ยนสิ่งอื่นภายนอกไม่ได้ เท่ากับเราเปลี่ยนภายในของเราให้เป็นที่พึ่งให้ได้ เหมือนเราเดินผ่านแสงแดดที่ร้อน เราจะรู้สึกอย่างไร “ระหว่างเราร้อนแล้วด่าว่าพระอาทิตย์ หรือทำใจให้เป็นธรรมดาว่าพระอาทิตย์ก็ต้องให้แสงความร้อนแบบนี้เสมอ” พิจารณาดูว่าใจทั้งสองแบบอย่างไหนมีความสุขกว่ากัน

         ขณะเดียวกันการที่เราสร้าง “ที่พึ่ง” ให้กับตนเองก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอาเปรียบคนอื่นได้ เพราะสังคมคือคนจำนวนมากมาอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่อยู่คนเดียวการที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ต้องอาศัยการพึ่งพาอาศัยกันด้วยธรรมะ ดังสุภาษิตว่า ไม้พึ่งเรือ เสือพึ่งป่า คือขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ หรือ อยู่กันยากขึ้น โดยต้องมองให้เห็นว่า สิ่งที่เรามีอยู่นี้เป็นเพราะใครทำให้บ้าง อย่างข้าวที่ในเมืองกินนั้นมาจากชาวนาที่ต่างจังหวัดทนลำบากปลูก และดูแลจนออกรวง มีพ่อค้าไปรับซื้อและนำมาแปรรูป นำไปขายที่ร้านค้าก่อนที่คนในเมืองจะไปหาซื้อมารับประทาน

จะเห็นว่ามีหลายคนเกี่ยวข้องในกระบวนการเหล่านี้ และการเห็นความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันทั้งหมดจะช่วยให้เราเห็นว่าทั้งหมดล้วนอาศัยกัน ทุกคนจึงสำคัญ และเกี่ยวเนื่องกันในฐานะใดฐานะหนึ่งแก่กันและกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม หากขาดใครไปเราจะลำบากและยุ่งยากมากขึ้นในการหาข้าวสักมือมารับประทาน

           เราควรทำตนเช่นเดียวกับพระพุทธองค์เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ก็หวังจะสร้างที่พึ่งให้กับตนเองด้วยการปฎิบัติธรรมและยังหวังประโยชน์สุขให้กับผู้อื่นจากการเกื้อกูลด้วยกำลังเท่าที่มีจะช่วยได้ ต่อมาเมื่อบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งแก่พระองค์ได้แล้วก็ยังดำเนินไปโปรดสรรพสัตว์ในโลกเป็นที่พึ่งให้กับเหล่าผู้ประสบความทุกข์ 

ฉะนั้น หากเราหาที่พึ่งให้กับตนเองได้ไม่ว่าจะมากน้อยก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นที่เขายังไม่มีที่พึ่งให้ลืมตาอ้าปากได้ แต่ทั้งหมดคือ

  • ๑. ต้องมี “ที่พึ่ง” ในใจที่เข้มแข็ง มุ่งมุ่นในความดี ไม่มุ่งหวังให้ทุกอย่างเป็นอย่างใจ เปลี่ยนใจตนเองให้มุ่งมั่นตั้งใจทำให้ดี อย่ามัวไปหวังให้คนอื่นเปลี่ยน เปลี่ยนที่ตัวเราให้ชัดเจนก่อน
  • ๒. เป็น “ที่พึ่ง” ของผู้อื่น มองถึงชีวิตเรามีได้ด้วยอาศัยกันและกัน ให้ที่พึ่งแก่คนที่ยังขาด ใช้ความสามารถที่มีอย่างเป็นประโยชน์ ช่วยแนะนำชี้ทางเท่าที่ตนเองมีความสามารถ เหมือนพี่สอนน้อง หรือพี่ให้น้อง ไม่ต้องมากแต่เท่าที่เราจะสามารถช่วยได้ ทำได้ …

อีกอย่าง หากเรา “พึ่งตนเอง” ได้ ไม่นานจะมีคนมาขอพึ่งเรา และเราจะมีค่ามากขึ้นโดยที่เราไม่ต้องให้คนอื่นมาตีค่าเราอีก

เจริญพร

พระมหาขวัญชัย กิตฺฺติเมธี

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี

          
สังเกตได้ว่า การที่คนจำนวนมากแสวงหาสิ่งภายนอกมาเป็นที่พึ่งนั้นมีเป็นจำนวนมาก ทั้งหมดก็เพื่อชีวิตที่ขึ้น แต่ที่พึ่งนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เราพึ่งได้ภายนอก ส่วนพระรัตนตรัยนั้นกลับแตกต่าง ไม่ใช่ที่พึ่งเพียงให้เรายึดถือเท่านั้น แต่ทำให้เราสร้างที่พึ่งของเราเองขึ้น เรียกว่า “ที่พึ่งภายใน”

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here