โลกไซเบอร์ หรือ โลกดิจิทัล เริ่มมีความสำคัญต่อมนุษยชาติมากขึ้นๆ ทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้คนจะหมกมุ่นอยู่กับโลกไซเบอร์มากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง และ อาจถูกชักนำจนเกิดความรู้สึกว่า ดำรงชีพอยู่ไม่ได้ หากปราศจากโลกไซเบอร์
สมดุลของมนุษย์ที่ค่อยๆ เสียไป เมื่อมนุษย์มีความเจริญทางด้านวัตถุมากขึ้น จะยิ่งเสียหายหนักขึ้น เพราะถูกเทคโนโลยีครอบงำ มนุษย์จะเกิดความหลงทะนงตน ด้วยความมั่นใจในความรู้ความสามารถที่ได้รับจากโลกไซเบอร์ จนละเลยโลกทางกายภาพ โลกทางสังคม และ โลกทางจิตวิญญาณ ทำให้วิวัฒนาการของมนุษย์หักเหทิศทางอย่างน่าเป็นห่วง
อันตรายที่สุด ก็คือ
หยุดการเรียนรู้และฝึกฝนทางจิตวิญญาณ
ที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด
ของการเกิดมาเป็นมนุษย์
เพราะคิดว่า วิวัฒนาของโลกไซเบอร์
จะทดแทน หรือ เหนือกว่า
โลกทางจิตวิญญาณ ได้
นพพร เทพสิทธา
จากตัวอย่างง่ายๆ ในสังคมเมืองยุคปัจจุบัน เกือบทุกคนไม่ว่า เด็กเล็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย ต่างมีโมบายโฟนหรือสมาร์ทโฟนเชื่อมโยงกับโลกไซเบอร์เกือบตลอดเวลา เพื่อใช้ติดต่อสื่อสาร ใช้หาความสนุกสนานสำราญใจจากรายการบันเทิงที่เปิดดูได้ตลอดเวลา ใช้บริโภคข่าวสารข้อมูลแสวงหาความรู้ ใช้บันทึกเรื่องราวของตนเองและเรื่องต่างๆ ใช้สร้างสังคมใหม่ เปลี่ยนสถานะตนเองจากผู้ไม่มีใครรู้จัก (Nobody) กลายเป็น คนหนึ่ง (Somebody) ที่ยืนอยู่ในสังคมได้อย่างรู้สึกว่าตนมีคุณค่า และ ใช้ขยายเครือข่ายของตนให้กว้างออกไปทุกทิศทาง ทำให้ได้รับคุณค่าและถ่ายทอดคุณค่าผ่านเครือข่ายได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ฯลฯ
แต่เมื่อพลิกเหรียญอีกด้านหนึ่งของโลกไซเบอร์ขึ้นมาดู ก็จะพบว่า มีโทษนานัปประการคอยอยู่เบื้องหน้า หากขาดความระมัดระวังและสติปัญญา
นพพร เทพสิทธา
การบริโภคข่าวสารข้อมูลและความรู้ที่มีมากเหลือล้นในโลกไซเบอร์ จนไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นจริงอะไรเป็นเท็จ อะไรเป็นข้อมูลอะไรเป็นความเห็น อะไรเป็นขยะอะไรเป็นทอง อาจทำให้สับสน หลงผิด แยกแยะคุณค่าไม่ออก เสียเวลาเสพติดสิ่งที่ดูเหมือนดี แต่แท้จริงแล้วไม่มีคุณค่าอะไรต่อชีวิตเลย กลับทำให้เสียเวลาไปเปล่าๆ จนตายก็ยังไม่รู้ตัว
ยิ่งหากทำสิ่งผิดๆลงไป ตามพื้นฐานความเชื่อและความรู้ที่มี หรือ ตามอารมณ์พาไปไม่ทันยั้งคิด เช่น การแชร์ข้อมูลผิดๆ การให้ร้ายคนอื่นอย่างผิดๆ การกระทำของเราก็จะกระจายออกไปอย่างรวดเร็วในโลกไซเบอร์ สร้างกรรรมเวรให้กับตนเองและผู้อื่นที่รับต่อจากเราไปไม่รู้อีกกี่ทอด ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้ว่ากรรมที่ทำ จะย้อนกลับมาสนองเมื่อใด บางทีได้รับโทษภัยแล้ว ก็ยังไม่รู้เลยว่าเพราะทำกรรมอันใดไว้ และ เวรที่ผูกไว้ทางใจกับผู้อื่น ก็ไม่รู้ว่าจะมัดโยงเราไว้ต่อไปอีกกี่ชาติภพ ถึงจะสิ้นเวรต่อกัน
การหาความสนุกสนานสำราญใจจากรายการบันเทิงในโลกไซเบอร์ ทำให้เรามีความสุขเพียงชั่วขณะที่เสพ ถ้าต้องการอีกก็ต้องเสพอีกไม่สิ้นสุด เหมือนยาเสพติดชนิดหนึ่ง เสพมากไปก็เป็นโทษ ไม่เสพเลยดีที่สุด
โลกบันเทิงและโลกไซเบอร์
พาให้เราออกจากโลกแห่งความจริง
ไปหาความสุขได้เพียงชั่วขณะ
ทำไมไม่แสวงหาความสุขที่ยั่งยืนกว่านั้น ?
นพพร เทพสิทธา
ภาพถ่ายโดย Manasikul_O
การบันทึกเรื่องราวเก็บไว้ในโลกไซเบอร์ แม้นว่าจะช่วยขยายหน่วยความจำของเราออกไปอย่างไร้ขีดจำกัด ช่วยแก้ปัญหา อยากจำกลับลืม แต่คงไม่สามารถแก้ปัญหา อยากลืมกลับจำ และ ยิ่งเก็บไว้มากๆ กลับกลายเป็นภาระที่ต้องคอยดูแลรักษา เพื่อให้เป็นความทรงจำที่ดีอยู่เสมอ
สุดท้ายก็ต้องหาวิธี เก็บเท่าที่จำเป็นและไม่เป็นภาระอย่างไร ? เก็บแล้วใช้อย่างไรให้มีคุณค่ากับชีวิต ? โลกไซเบอร์อาจช่วยเราในเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาจากโลกจิตวิญญาณจัดการเรื่องนี้
มนุษย์กำลังพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดทางกายภาพ ด้วยการอวตารไปอยู่ในโลกไซเบอร์ และ ใช้เทคโนโลยีพัฒนาทักษะในระยะเวลาอันสั้น ทำให้สามารถทำในสิ่งที่เมื่อก่อนทำไม่ได้ นอกจากจะผ่านการฝึกฝนจนมีพลังจิตพิเศษ เช่น เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นทุกแห่งในโลก เห็นอดีต และ คาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ
สิ่งที่น่าคิด ก็คือ ไม่ว่ามนุษย์จะเพิ่มขีดความสามารถเพียงใดในโลกไซเบอร์ แต่ก็จะยังมีข้อจำกัด ไม่สามารถไปได้ไกลกว่าขีดความสามารถของโลกไซเบอร์ หากยังพึ่งโลกไซเบอร์อยู่ ก็ไม่มีทางเก่งกว่า รู้มากกว่า คิดและทำได้ดีกว่า ปัญญาประดิษฐ์ในโลกไซเบอร์ ยกเว้นบ่มเพาะปัญญาจากโลกทางจิตวิญญาณ
โลกไซเบอร์
สามารถตอบโจทย์วิวัฒนาการ
ของชีวิตทางกายภาพได้
แต่ไม่สามารถตอบโจทย์วิวัฒนาการ
ของชีวิตทางจิตวิญญาณ
โดยเฉพาะ การบ่มเพาะปัญญา
เพื่อสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ชีวิต
นพพร เทพสิทธา
ภาพถ่าย โดย Manasikul_O
พระพุทธศาสนา สอนให้มนุษย์บ่มเพาะปัญญาเพื่อวิวัฒนาการของชีวิตทางจิตวิญญาณ ด้วยการเดินบนทางสายกลาง หรือ มรรค ๘ เมื่อจิตตื่นรู้ ต่อความจริงตามธรรมชาติของชีวิต ก็จะมีสันติสุขทุกลมหายใจโดยไม่อาศัยสิ่งใดๆอีกต่อไป เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสรรพสิ่งในโลกโดยไม่แบ่งแยก สร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ เปี่ยมด้วยความสะอาด สงบ สว่าง ให้แก่สังคมอย่างสมดุล
พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา จัดแสดงอยู่ที่ “National Museum in New Delhi, India” ภาพถ่ายโดย Manasikul_O
หากสร้างสมดุลระหว่างโลกไซเบอร์และโลกทางจิตวิญญาณ ก็จะช่วยให้มนุษย์เดินอยู่บนทางสายกลางได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น โลกไซเบอร์ช่วยให้การสื่อสารต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว แม้ไม่เท่าจิต แต่ก็ตอบสนองได้รวดเร็วกว่าโลกทางกายภาพ เป็นกระจกเงาของจิต จึงใช้เป็นที่บ่มเพาะและทดสอบ มรรค ๘ ได้อย่างดีเยี่ยม โดยการเชื่อมโยง ความเห็นชอบ คิดชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ สติชอบ และ สมาธิชอบ เข้ากับโลกไซเบอร์ ก็จะเป็นการสร้างทางสายกลางอีกสายหนึ่ง ในพระพุทธศาสนา ๔.๐
การท่องไปในโลกไซเบอร์ ด้วย สติ อยู่กับปัจจุบัน โดยมองไปในโลกไซเบอร์ และ โลกทางจิตวิญญาณ ไปพร้อมๆกันเสมอ จะทำให้จิตตื่นตัวตลอดเวลา และ ด้วยจิตตื่นรู้ นี่แหละ จะทำให้มนุษย์ใช้โลกไซเบอร์ได้อย่างมีคุณค่ามากขึ้นกว่าเดิม เสริมซึ่งกันและกันอย่างสมดุล มีแต่คุณ ไม่มีโทษ
นพพร เทพสิทธา