จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๔) “เทวโลก โลกของผู้เข้าถึงความเป็นเทวดา อันนับเนื่องในสวรรค์” จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

จากปลายปากกาอันอบอุ่น สู่หลักธรรมในชีวิตอันงดงาม

ทรัพย์ที่แท้จริง ไม่ว่าเกิดภพชาติใด ก็จะตามไปช่วยเหลือเกื้อกูลไม่ให้ลำบาก

จดหมายธรรม ที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้เกิดความรัก ความศรัทธา แห่งความกตัญญู

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

เทวโลก โลกของผู้เข้าถึงความเป็นเทวดา  อันนับเนื่องในสวรรค์

เทวโลกนั้นแบ่งออกไปอีกเป็น ๒ ระดับคือ โลกของเทวดา  เรียกว่า  “สวรรค์”  และโลกของพรหม  เรียกว่า  “พรหมโลก”  สวรรค์เป็นภพภูมิที่มีความวิจิตรแตกต่างกันไปตามบุญกุศลของผู้ที่ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นนั้นๆ  สวรรค์เป็นที่อยู่ของเทวดามีอยู่  ๖ ชั้นดังนี้

จาตุมหาราชิกาภูมิ  โลกของเทวดาชั้นที่ ๑

เทวโลกชั้นนี้มีท้าวมหาราชทั้ง ๔ เป็นใหญ่  ปกครองเทพในทิศทั้ง ๔  เราเรียกเทวดาทั้ง ๔ ท่านนี้ว่า “ท้าวจตุโลกบาล” แปลว่า” เทวดาทั้ง ๔ ผู้ดูแลโลก  ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นี้เอง  เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ  ได้น้อมนำบาตรมาถวายพระพุทธเจ้าเพื่อรับอาหารมื้อแรกจากตปุสสะและภัลลิกะ  สองพ่อค้าวาณิชที่เดินทางผ่านมาพบพระพุทธเจ้าหลังการตรัสรู้

 ตอนแรกท้าวมหาราชได้น้อมนำบาตรที่ทำด้วยแก้วมรกตมาถวาย  แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับ  จะเพราะเหตุไรไม่อาจทราบได้  อาจทรงเห็นว่าเป็นของมีค่า มากเกินไป  ไม่เหมาะสำหรับนักบวชอย่างพระองค์ก็ได้  จากนั้นได้น้อมนำบาตรที่ทำด้วยศิลามาถวาย  พระพุทธเจ้าของเราจึงทรงรับไว้  ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นำบาตรมาองค์ละใบ  รวมเป็น ๔ ใบ  แล้วพระพุทธองค์ได้อธิษฐานประสานให้เหลือเพียงใบเดียว

ในยุคหลังจึงนิยมทำบาตรให้มีรอยตะเข็บแบ่งเป็นส่วนๆ  เห็นจะถือคติมาจากการประสานบาตรศิลา ๔ ใบให้เหลือใบเดียวของพระพุทธองค์นี้กระมัง 

เรื่องทั้งหมดนี้อยู่ในคัมภีร์ทางศาสนา  อาตมานำมาเล่าให้โยมแม่ใหญ่ฟัง อาจดูเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์  แต่ก็เป็นเรื่องที่ถูกบันทึกไว้จริง  โดยพระสงฆ์สมัยพระพุทธเจ้า

เทวดาที่อยู่เทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกานี้  มีความใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด  มีความเป็นอยู่คล้ายมนุษย์  และให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้ง่าย  ชื่อเทวดาชั้นนี้ที่เราคุ้นหูมาก  คือ  พระภูมิเจ้าที่  เทวาอารักษ์  รุกขเทวดา  อากาสเทวดา  ท้าวจตุโลกบาล  ยมฑูต  พระยายม พระยายมราช ฯลฯ แล้วแต่เราจะเรียกกัน

เกี่ยวกับเทวดาในชั้นนี้  มีเรื่องเล่าอยู่ในพระไตรปิฎกว่า  พระภิกษุรูปหนึ่งจะตัดต้นไม้  ที่เป็นวิมานของรุกขเทวดาตนหนึ่งไปสร้างกุฎี  เทวดาห้ามว่า “ท่านต้องการจะทำที่อยู่  ท่านก็อย่าได้ทำลายที่อยู่ของเราเลย”  พระภิกษุรูปนั้นไม่ใส่ใจคำร้องขอของเทวดา  ได้ตัดต้นไม้ลง  และฟันแขนทารกลูกของเทวดานั้นขาด  เทวดาคิดจะตบภิกษุนั้นให้ตายคามือ  ก็กลับได้คิดว่าจะเป็นบาป

นอกจากนั้น  ก็จะไม่ได้เข้าไปที่ประชุมเทวดาทุกๆ ๑๕  วัน  ว่ากันว่า 

รุกขเทวดาก็มีรุกขธรรมที่ประพฤติร่วมกัน

 รุกขธรรม

หรือธรรมะของรุกขเทวดาที่ว่านั้นก็คือ 

ถ้าต้นไม้ซึ่งเป็นวิมานของเทวดาถูกมนุษย์ตัด

 ก็จะไม่โกรธ  ไม่คิดร้ายต่อผู้ตัด  

หากรุกขเทวดาตนใดโกรธ 

และทำร้ายผู้ทำลายวิมานของตน 

ก็จะไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุมของรุกขเทวดา

นี้เป็นรุกขธรรมของรุกขเทวดา

คงจะเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง  คนที่ตัดไม้ทำลายป่าจึงไม่ถูกเทวดาหักคอ  อย่าว่าแต่หักคอเลย  แม้แต่โกรธก็ยังไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุมของเทวดา  หากถึงกลับลงมือหักคอ เทวดาก็ต้องตกนรก  เทวดารู้ดังนี้จึงได้มีรุกขธรรมที่ประพฤติร่วมกัน  เพื่อเป็นการป้อง กันไม่ให้เทวดาทำร้ายคนที่ทำลายต้นไม้  อันเป็นวิมานของตน  อันจะเป็นเหตุให้ตายจากความเป็นเทวดาไปเกิดในนรก  เทวดาจึงประชุมกันทุกๆ ๑๕ วัน  เพื่อสอบถามรุกขธรรมของกันและกันว่า  “ประพฤติกันอยู่หรือเปล่า” ความก็จริงคือเพื่อเป็นการเตือนสติกันนั่นเอง

เทวดานั้นได้นำเรื่องที่ภิกษุทำลายต้นไม้อันเป็นวิมานตนไปกราบทูลพระพุทธเจ้า  และได้กราบทูลให้ทราบถึงเรื่องที่ตนสามารถหักห้ามความโกรธไว้ได้ มิเช่นนั้น  ตนก็คงได้สร้างบาปมหันต์ 

พระพุทธเจ้าตรัสสอนเทวดาว่า

บุคคลใด 

สามารถหักห้ามความโกรธที่เกิดขึ้นไว้ได้ 

เหมือนสารถีหยุดรถซึ่งกำลังแล่นไป 

เราตถาคตไปเรียกบุคคลนั้นว่า 

“สารถี” 

ชนนอกนี้เป็นแต่คนถือบังเหียน”

พอพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบลง  เทวดานั้นได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน  พระพุทธองค์ได้บอกต้นไม้อันเป็นวิมานแห่งใหม่ให้เทวดานั้น  ต้นไม้นี้อยู่ในเขตวัดพระเชตวันนั่นเอง  เป็นต้นไม้ที่เทวดาผู้เป็นเจ้าของวิมานองค์ก่อน  เพิ่งหมดบุญจุติไปไม่นาน  ต้นไม้นั้นจึงว่างลง  เทวดานั้นไดรับการคุ้มครองจากพระพุทธเจ้า  ไม่มีเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่องค์ใดเบียดเบียนให้ลำบาก  และได้เป็นพุทธอุปัฏฐายิกา  คอยอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าด้วย

ว่ากันว่า  เมื่อท้าวมหาราช ๔ ทั้งมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  จะต้องมาเยี่ยมเทวดานั้นก่อนจึงไป  ด้วยเหตุตามที่กล่าวมานี้  เทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา  จึงมีความใกล้ ชิดกับมนุษย์มาก  โดยมีท้าวมหาราชปกครองเทพในทิศทั้ง ๔  ชื่อของท้าวมหาราชปรากฏในบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์สวดให้เราฟัง  ดังนี้

ปุริมะทิสัง  ธตะรัฏโฐ     ทักขิเณน  วิรุฬหะโ

ปัจฉิเมนะ  วิรูปักโข       กุเวโร อุตตะรัง  ทิสัง

จัตตาโร  เต  มหาราชา  โลกะปาลา  ยะสัสสิโน

เตปิ  ตุมเห  อะนุรักขันตุ    อาโรคะเยน  สุเขนะ  จะฯลฯ

ท้าวธตรัฐสถิตอยู่ด้านทิศตะวันออก  ท้าววิรุฬหกสถิตอยู่ด้านทิศใต้  ท้าววิรูป กข์สถิตอยู่ด้านทิศตะวันตก  ท้าวกุเวรสถิตอยู่ด้านทิศเหนือ  ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้นเป็นผู้ดูแลโลก  เป็นผู้มียศ  แม้ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จงคุ้มครองรักษาท่านทั้งหลายให้ อยู่ด้วยความไม่มีโรค  และจงมีแต่ความสุข ฯลฯ

บทสวดมนต์บทนี้  เรียกชื่อว่า  “อาฏานาฏิยปริตร”  กล่าวถึงชื่อท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้เป็นราชาของเหล่าเทพในทิศทั้ง ๔ ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา  ท้าวเธอมาเฝ้าพระพุทธองค์  แนะนำพระองค์ให้สอนสาวกสวดอาฏานาฏิยปริตร  เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากเทวดาที่ไม่ปรารถนาดีต่อพระภิกษุ  ผู้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมหากได้รับการรบกวนจากเทพเหล่านี้  ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงธรรม

ในปุริมทิศ คือ  ทิศตะวันออกมี  ท้าวธตรัฏฐ์  เป็นพระราชาของเหล่าภูตพราย  ตลอดจนหมู่เทพคนธรรพ์  ที่ชำนาญการดนตรีทั้งหลาย  เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์   หลังจากแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาจบลงแล้ว  ปัญจสิขเทพบุตร  หนึ่งในเทพคนธรรพ์ผู้ชำนาญในการดีดพิณ  ได้ดีดพิณขับร้องประสานเสียงด้วยความไพเราะ  นำเสด็จมาเบื้องหน้าพระพุทธเจ้า

เมื่อครั้งพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ  ได้ประทับที่ต้นอชปาลนิโครธ  ปัญจสิขเทพบุตรองค์นี้  ได้ขับเพลงสรรเสริญพระพุทธเจ้าด้วยความยินดีว่า  พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก

ในทักขิณทิศ  คือ  ทิศใต้   มีท้าววิรุฬหก  เป็นพระราชาของเหล่าเทพทั้งหลาย     

ในปัจฉิมทิศ  คือ  ทิศตะวันตก  มีท้าววิรูปักข์  เป็นพระราชาของเหล่านาคทั้งหลาย

ส่วนในอุตตรทิศ  คือ  ทิศเหนือ  มีท้าวกุเวร  เป็นพระราชาของเหล่ายักษ์ ทั้งหลาย

ท้าวกุเวรนั้นยังมีชื่ออีกอย่างว่า  “ท้าวเวสวัณ”  ว่ากันว่า  พระเจ้าพิมพิสารที่ถวายวัดเวฬุวันให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา  ก็ได้มาเกิดเป็นยักษ์ผู้ใหญ่  ชื่อว่า  “ชนวสภยักษ์” และได้เป็นเพื่อนของท้าวกุเวร  ความจริงพระเจ้าพิมพิสารเป็นถึงพระโสดาบันปรารถนาจะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นสูงกว่านี้ก็ได้  แต่เพราะพระองค์เคยอยู่ ที่นี่มาก่อน  จึงปรารถนาจะกลับมาอยู่ที่เดิมของตน  

นอกจากนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ยังทำหน้าที่เป็นพระยายมราช  เทพผู้มีหน้าที่คอยตรวจดู  ผู้ทำดีทำชั่วในทิศทั้งสี่ด้วย  ในวันพระ ๘ ค่ำ  ท้าวมหาราชได้มอบหมายให้ยมฑูต  เทพอำมาตย์ของพระองค์  เป็นผู้คอยตรวจตราในวัน ๑๔ ค่ำ  ท้าวเธอมอบหมายให้บุตรของพระองค์เป็นผู้ตรวจตรา 

ส่วนในวันพระ ๑๕ ค่ำ  ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จะเป็นผู้ตรวจเอง

ในเรื่องพระมหาชนกชาดก  ที่พระมหาชนกรอดชีวิตจากเรือแตกกลางทะเลมาได้  เพราะการช่วยเหลือของนางมณีเมขลา  เทพธิดาผู้ได้รับมอบหมายให้คอยดูแลท้องทะเล  ขณะพระมหาชนกเดินทางไปค้าขายทางทะเล  เรือเผชิญพายุแตกกลางทะเล  นางมณีเมขลามาช่วยให้รอดชีวิต  นางมณีเมขลาได้รับบัญชาจากท้าว มหาราชให้เป็นผู้ดูแลมหาสมุทร  คอยช่วยคนดีที่เรือแตกแต่ยังไม่ถึงคราวตาย  ให้รอดชีวิต  วันที่เรือมหาชนกแตก  นางมณีเมขลาไปเทวสมาคม  ไม่ได้ตรวจดูมหาสมุทรหลายวัน  ครั้นวันที่ ๗ เห็นพระมหาชนกแหวกว่ายอยู่กลางทะเลจึงได้ช่วยชีวิตไว้ 

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๔) “เทวโลก โลกของผู้เข้าถึงความเป็นเทวดา อันนับเนื่องในสวรรค์” จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here