(Q) :  ทำไมจิตถึงไหวไปจับอารมณ์ที่ลบๆ ได้เร็วมาก และพร้อมที่จะวีนออกไปเมื่อได้ยินในสิ่งที่ไม่อยากฟังคะพระอาจารย์. เหตุเกิดจากเพื่อนคนหนึ่งเพิ่งออกมาจากกรรมฐานที่วัดแห่งหนึ่งเป็นเวลาหลายเดือนแต่พออกมาคำถามแรกที่โทรมาคือ ถามข่าวคราว และถามหลายๆเรื่องที่ไม่อยากตอบ เห็นจิตกลับไปอยู่ในโหมด โมโหอีกแล้ว เห็นจิตเป็นอันธพาลค่ะ พระอาจารย์. ทำไงดีคะ

(A)  :  จากคำถามข้างต้นขอขยายความหมายบางอย่างให้ทราบก่อนคือ

-“จิต” คือ “ความคิด” ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต (จินฺเตตีติ จิตฺตํ) และความคิดนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตลอดเวลา รวดเร็วจนเรียกเป็นขณะ คือ ขณะเกิดขึ้น ขณะตั้งอยู่ ขณะดับไป ด้วยความรวดเร็วดังกล่าว

พระพุทธองค์จึงตรัสเปรียบไว้เหมือนลิงในอัสสุตวาสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ สังยุตตนิกาย นิทานวรรคว่า “จิตเป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปตลอดทั้งคืนและวัน เปรียบเหมือนลิงเมื่อเที่ยวไปในป่าเล็กและป่าใหญ่จับกิ่งไม้ ปล่อยกิ่งไม้นั้นแล้ว ย่อมจับกิ่งอื่น ปล่อยกิ่งนั้นแล้วย่อมจับกิ่งอื่นต่อไป”

-ลักษณะของจิตที่ดี คือ ความรวดเร็วของจิตนี้เองได้ก่อให้เกิดทั้งจิตที่ดีและไม่ดี  โดยส่วนใหญ่จะเป็นจิตไม่ดีหรืออกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับธรรมชาติของน้ำ ฉะนั้น เมื่อจิตเป็นกุศลหรือคิดบวกได้จึงเกิดจากการรู้ทันจิต หรือที่เรียกว่าฉลาดในขณะจิตของตน

ดังในสจิตตสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ได้อธิบายว่า “ฉลาดทันจิตของตนคือ สามารพิจารณาว่าตอนนี้เราเป็นอย่างไร   ตอนนี้เราอยากได้ของเขาหรือไม่ เรามีจิตพยาบาท…หดหู่…ฟุ้งซ่าน…สงสัย…โกรธ…เศร้าหมอง…กระสับกระส่าย…เกียจคร้าน..หรือไม่ 

เหมือนสตรีหรือบุรุษที่ยังหนุ่มสาว ชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกเงาอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือในภาชนะน้ำที่ใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้นก็พยายามขจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย หากไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ดีใจ ภูมิใจด้วยเหตุนั้นเองว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ”

การที่เรามีอกุศลหรือความโกรธประกอบกับจิตนั้นเป็นธรรมดาของจิตที่มักจะไหลลงสู่ที่ต่ำ  เราจึงปฎิบัติธรรมหรือปฎิบัติกรรมฐานเพื่อสร้างสติไว้คอยพิจารณาไม่ให้จิตตกไปในที่ต่ำ คอยพิจารณาให้จิตที่ดีหรือกุศลเพิ่มมากขึ้นจึงค่อยๆ บอกจิตว่า

“นั่นนะ ระวังนะจิตโกรธกำลังเกิดขึ้น”

คนที่รู้ว่าตนเองกำลังโกรธคือคนที่มีสติ แต่คนที่มารู้ทีหลังว่าตนเองกำลังโกรธถือว่าขาดสติ แต่ผู้ปฎิบัติธรรมจะค่อยๆ รู้เท่าทันมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

*การที่เราไม่อยากพูดหรือไม่อยากฟังสิ่งที่ขัดเคืองในใจก็เพราะเราลืมสติปล่อยให้ความคิดร้าย (คิดไม่ดี) นำไปสู่การว่าร้าย (พูดไม่ดี) และการทำร้าย (ทำไม่ดี) ตามมา

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคจึงสอนให้เรียนรู้จักตนเองว่าเราเป็นคนมีอารมณ์แบบไหนมาก ก็ปรับด้วยการใช้อารมณ์ตรงข้ามมาช่วยฝึกให้เกิดสติ เช่น เป็นคนเจ้าโทสะหรือชอบโกรธก็ฝึกด้วยอยู่กับคนที่จิตใจดี สงบ อารมณ์ไม่โกรธ ฝึกแผ่เมตตาให้มาก ส่วนคนที่รักสวยรักงามก็ให้อยู่กับคนที่หยาบกระด้าง ฝึกเจริญอสุภกรรมฐาน (กรรมฐานพิจารณาซากศพ) เป็นต้น การฝึกให้เราอยู่กับสิ่งที่ตรงข้ามกับอารมณ์ตนเองนี้ช่วยสร้าง “ความอดทน” อันเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง (ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา)

เพราะจิตเดิมจะคอยเฝ้าไปอยู่ที่อารมณ์ที่ตัวเองชื่นชอบและยึดติดกับอารมณ์นั้นจนเกิดความสุดโต่งกลายเป็นความยึดมั่นว่าสิ่งนี้เท่านั้นถูก สิ่งนั้นผิด เป็นต้น การจะผ่อนหรือปรับตัวเองสู่ทางสายกลาง เช่นเดียวกับพระกรรมฐานปรับอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธาให้เท่ากับปัญญา วิริยะเท่ากับสมาธิ และมีสติเป็นเครื่องประคอง ให้ใจเบา ไม่หนักด้วยอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากจิตเดิมที่ยึดมั่นถือมั่นตลอดเวลา

            การฟังสิ่งที่ไม่ชอบ การอยู่ที่ไม่น่าปรารถนา เป็นการฝึกจิตเรา และหากผ่านพ้นไปได้ เราก็จะไม่ยึดติดกับอารมณ์ที่ทำให้ทุกข์นี้อีกต่อไป

เจริญพร
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี

Q&A Quickly Dhrama Healing by
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here