บันทึกไว้ในความทรงจำ…วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
ฯพณฯอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์อัญเชิญพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทานวางหน้าหีบศพพระราชทานแก่ ศาสตราจารย์อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง เมื่อเวลา ๑๗.๒๕ น. วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ วัดสระเกศ ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร นับเป็นเกียรติยศแก่ผู้วายชนม์ วงศ์ตระกูล และศิษยานุศิษย์ทุกๆคนเป็นอย่างยิ่ง เหล่าข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจักสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ไว้ตลอดไป (กราบขอบพระคุณเพจ ธรรมาศรมธรรมมาตา)
อาจาริยบูชา ๘ ปี แห่งการละขันธ์ ( ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ – ๒๕๖๗) ๑๐๓ ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง (๒๘ พฤษภาคม ๒๔๖๔ – ๒๕๖๗)
จากรายงานพิเศษ นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๑๒๔๙ วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ และภาพถ่ายโดย สมคิด ชัยจิตวนิช
ไปแล้วด้วยดี
แม่ทัพธรรมหญิง
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
“ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิต ที่ทุกท่านได้แสดงกตเวทิตาร่วมแสดงความอาลัยถึงคุณแม่รัญจวนที่เคารพอย่างสูง…เราควรร่วมแสดงความยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านไปอย่างมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนบริบูรณ์ อาจหาญสมเป็นแม่ทัพธรรมหญิงท่านหนึ่งในพระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
“คำพูดสุดท้ายที่ท่านกล่าวย้ำซ้ำหลายรอบด้วยระดับเสียงที่แผ่วลงๆ เป็นลำดับ มีอยู่ประโยคเดียวอย่างมั่นคงจนถึงนาทีสุดท้ายคือ…เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระธรรมเจ้า เห็นพระสังฆเจ้า เป็นการจบที่สงบ สบายและสง่างามที่สุด ในเวลา ๑๕.๒๐ น. วันจันทร์ที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ณ โรงพยาบาลศิริราช ”
ข้อความของ ศิษย์ผู้ดูแลจนถึงนาทีสุดท้าย มากว่า ๒๗ ปี ที่ไม่ประสงค์เอ่ยนาม บอกกล่าวถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของอุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง ให้เราได้ทราบว่า เมื่อการปฏิบัติจริง ผลย่อมจริง
ศิษย์ผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดยังกล่าวอีกว่า ประหนึ่งเป็นการทิ้งทวน เป็นการให้ของขวัญตอบแทนลูกศิษย์ทุกคนที่ดูแลว่า ให้มั่นใจนะ สิ่งที่แม่ปฏิบัติมาเป็นอย่างนี้เอง
“เราสัมผัสได้ตรงนั้น คือท่านรู้ว่า ท่านกำลังจะไป ท่านชัดเจน แล้วท่านก็กำหนดเลยว่าเห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระธรรมเจ้า เห็นพระสังฆเจ้า เสียงท่านมั่นคง เต็มกำลังของสังขารที่มี ท่านกล่าวอย่างนี้ถึงสามชุด แล้วเสียงก็ค่อยๆ แผ่วลง ตามกำลังที่ลดลง จนเหลือปากที่บริกรรมนิดๆ แล้วก็เงียบไป อย่างกระจ่างแจ้งและสง่างาม
“เป็นบุญตาจริงๆ ที่ได้ดูแลท่านมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ก็เลยอยากจะบอกกล่าวเป็นกำลังใจให้ลูกศิษย์ท่านทั่วประเทศ และทุกคนที่ก้าวสู่หนทางธรรมนี้ว่า เมื่อปฏิบัติอย่างถึงที่สุดแล้วจะได้ใช้อย่างแน่นอน เพราะคำสอนที่คุณแม่ให้ทั้งชีวิตเป็นประโยชน์อนันตกาล สำหรับคนรุ่นต่อๆ ไปด้วย “
จากนั้นเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา มีพิธีรดน้ำสรีระสังขารอุบาสิกา คุณรัญจวน ที่ศาลาใหญ่ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เวลา ๑๗.๐๐ น. แล้วในเวลา ๑๘.๓๐ น. พระอาจารย์ชยสาโร ปัจจุบัน พระธรรมพัชรญาณมุนี (ฌอน ชยสาโร) แสดงธรรม ก่อนการสวดพระอภิธรรมในเวลา ๑๙.๐๐ น. ซึ่งการสวดพระอภิธรรมมีไปจนถึงวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ โดยมีแสดงธรรมเทศนาก่อนสวดพระอภิธรรมทั้งสามวัน เว้นวันที่ ๕ พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล (ในรัชกาลที่ ๙ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙) งดสวดอภิธรรม และวันเสาร์ที่ ๗ พฤษภาคม เวลา ๑๓.๓๐ น. พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม ปัจจุบัน พระราชวชิรธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดป่าหนองไผ่ จังหหววัดสกลนคร และเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี แสดงธรรม เวลา ๑๔.๐๐ น.
พระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เวลา ๐๗.๓๐ น. พิธีบังสุกุล ณ วัดป่าหนองไผ่ จังหวัด สกลนคร เวลา ๑๐.๐๐ น. และลอยอังคาร ณ แม่น้ำโขง จังหวัดนครพนมในเวลาต่อมา
อุบาสิกาแพทย์หญิง เสริมทรัพย์ ดำรงรัตน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งธรรมาศรมธรรมมาตา เพื่อเป็นอาศรมสำหรับสตรีผู้สละโลก อุทิศชีวิตแด่พระธรรม สวนโมกขพลาราม ตามดำริของท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งมีการจัดคอร์สอบรมอานาปานสติภาวนาสำหรับลูกผู้หญิงในโครงการ “ฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม”มากว่า ๒๐ ปีแล้ว กล่าวถึงการสานต่อโครงการธรรมมาตาในครั้งกระโน้นว่า ท่านอาจารย์ธรรมทาส น้องชายของท่านอาจารย์พุทธทาส ขอให้ท่านอาจารย์รัญจวน ดำเนินงานเกี่ยวกับธรรมมาตาต่อหลังจากท่านอาจารย์พุทธทาสมรณภาพ ท่านจึงเสมือนเป็นแม่ทัพธรรมของธรรมมาตาที่สำคัญในการสร้างหลักสูตรการสอน ที่จะทำให้ลูกผู้หญิงผู้เข้าอบรมได้ฝึกปฏิบัติอย่างเต็มที่เป็นเวลา ๓-๔ เดือนในแต่ละปี
“ที่ผ่านมา ถึงแม้เมื่อท่านอายุมาก สุขภาพถดถอยตามอายุขัย ท่านก็ยังเมตตา เป็นห่วง ให้คำแนะนำ มาโดยตลอด ลูกศิษย์จากธรรมมาตาทุกคนมากราบสรีระท่านด้วยความซาบซึ้งในความเมตตา ห่วงใยเสมอมา ท่านทำหน้าที่ครูอย่างสมบูรณ์จนวาระสุดท้ายของชีวิตที่ได้พบท่านเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ท่านก็ไม่ได้กล่าวอะไรนอกจากบอกว่า จะไปละนะ “
เป็นความงดงามจริงๆ ของท่านอาจารย์รัญจวนที่ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัสมาตลอดอายุของท่านจนถึงเวลานาทีสุดท้ายแห่งชีวิตในวัย ๙๔ ปี กับสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์พร้อม
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน อีกหนึ่งในลูกศิษย์ของท่านอาจารย์รัญจวน ได้จัดทำนิทรรศการ ระลึกถึงคุณแม่รัญจวนในวันพระราชทานเพลิงศพ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ และนำไปจัดที่เสถียรธรรมสถานต่อจนถึงช่วงวันเกิดของท่านอาจารย์รัญจวน คือวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ด้วยการนำเรื่องราวที่ท่านอาจารย์รัญจวนได้เกื้อกูลทางธรรมให้กับเสถียรธรรมสถานมาโดยตลอด
“เรานั่งอ่านจดหมายของคุณแม่รัญจวนแล้วซาบซึ้ง คุณแม่เขียนถึงเราขึ้นต้นว่า ลูกตุ๊กที่รัก และลงท้ายว่า ด้วยความระลึกถึงเสมอ… จากแม่ ทุกครั้ง ท่านกล่าวถึงวันสตรีสากล กล่าวถึงเรื่องสถานะแม่ชีไทย ที่เราเคยทำงานด้วยกัน ตลอดเวลาที่ได้ทำงานกับท่านตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๒ – ๒๕๓๓ ได้เรียนรู้ความอาจหาญของคุณแม่ และได้สัมผัสกับความเย็นอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พบว่า เมื่อประพฤติธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครอง คือ ท่านไม่ได้เป็นคนมีธรรม แต่เป็นคนที่ประพฤติอยู่ตลอดเวลา …การที่เราได้ทำงานกับคุณแม่รัญจวนที่ท่านให้การเกื้อกูล กับเสถียรธรรมสถาน เป็นอะไรที่หมดสงสัย “
จึงขอยกคำกล่าวของศิษย์ผู้ใกล้ชิดที่ได้อยู่กับท่านอาจารย์รัญจวนในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตอีกสักนิดว่า ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ เราไม่ควรเสียใจกับการจากไปของท่าน แต่ควรจะทำจิตให้เบิกบานด้วยธรรม
“เพราะท่านได้พิสูจน์ให้เราเห็นอย่างประจักษ์แจ้งว่า ท่านสามารถอยู่กับเวทนากันแรงกล้าได้ และผ่านสิ่งเหล่านี้ไปอย่างงดงาม ธรรมะที่ประพฤติมาตลอดชีวิตเป็นจริงทำได้จริง ”
ผู้อาจหาญทางโลกและทางธรรม
ศาสตรจารย์อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง เกิดเมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๔ ที่บ้านคุณยาย สมัยก่อนคือ ตำบลบางรัก อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร
เริ่มรับราชการเป็นครูโรงเรียนมัธยม ต่อมาเป็นศึกษานิเทศก์ฝ่ายห้องสมุด เลขานุการกรมวิสามัญศึกษา และผู้อำนวยการกองการสัมพันธ์ต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ ในขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สถาบันการศึกษาหลายแห่ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โรงเรียนเสนาธิการกองทัพอากาศ และวิทยาลัยการทัพอากาศ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ และสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ๓ สมัย กรรมการมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน เลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขา วิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เส้นทางการปฏิบัติธรรม
ท่านเริ่มต้นชีวิตการเป็นครู ตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี ทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษามาโดยตลอด จนเมื่อได้สัมผัสชัดด้วยใจในสิ่งที่เรียกกันว่า “ความทุกข์” จึงได้สลัดชีวิตทางโลกเข้าสู่ชีวิตของผู้ประพฤติธรรมภายใต้การอบรมของท่านพระอาจารย์ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพงจังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อหลวงพ่อท่านพระอาจารย์ชาอาพาธหนัก ไม่สามารถจะสอนและอบรมธรรมต่อไปได้ จึงได้ไปมอบตนเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกษุแห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๕๒๕ และได้อยู่ศึกษาปฏิบัติธรรม ณ สวนโมกขพลาราม จนกระทั่งท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุล่วงลับไป
ณ สวนโมกข์นี้ นอกจากการศึกษาและปฏิบัติธรรมในส่วนตนแล้ว ยังได้เป็นกำลังสำคัญผู้หนึ่งในการอบรมอานาปานสติภาวนา ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตามที่สวนโมกข์ได้จัดเป็นประจำทุกเดือน
และในช่วงเวลาระหว่างนั้นจัดรายการ “ธรรมสนทนา” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง ๑๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นรายการที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมทุกระดับ
และได้รับการสนองตอบจากผู้ชมว่า “พูดธรรมะเข้าใจง่าย แต่ก็ถึงแก่นของพระธรรม”
ศาสตรจารย์อุบาสิกา คุณรัญจวน มีหลักในการเผยแผ่ธรรมะว่า ต้องให้ผู้ฟังได้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องถึงหัวใจคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงจะสามารถนำมาปฏิบัติจนเกิดความสุขสงบเย็นที่แท้จริงได้
นอกจากนี้ยังมีงานเขียนที่ได้รับความนิยมหลายเรื่อง เช่น ภาพชีวิตจากนวนิยาย ,วรรณกรรมวิจารณ์, ลอยธรรมะมาลัย, สวนโมกข์ทำไม? ทำไมสวนโมกข์? ,เป็นต้น และในรูปแบบของวรรณกรรมธรรมะเล่มเล็ก เรียบเรียงจากธรรมบรรยายในที่ต่างๆ ได้พิมพ์แจกเป็นธรรมทานแล้วมากกว่า ๒๐ เรื่อง
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ ได้รับรางวัลวรรณกรรมไทยชมเชยของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ จากเรื่อง “สวนโมกข์ทำไม? ทำไมสวนโมกข์?”
ปี ๒๕๔๒ ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการกองทุนศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) และการประกาศเชิดชูเกียรติว่า “เป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่น ในด้านการสร้างสันติภาพและสันติสุขในสังคมไทย” เป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ปี ๒๕๔๔ ได้รับรางวัล “ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์” จากรายการธรรมสนทนาทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๑๑ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ
ปี ๒๕๔๖ ได้รับรางวัล “นราธิป” อันเป็นรางวัลวรรณกรรมดีเด่น สำหรับนักเขียนอาวุโส จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
และปี -๕๔๘ ได้รับการยกย่องเป็น International Outstanding Woman in Buddhism จากองค์การสหประชาชาติ เนื่องในวันสตรีสากลแห่งโลก
ก่อนล่วงลับที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อราวห้าโมงเย็นวันที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เวลา ๑๕.๒๐ น. ท่านพำนักปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดป่าหนองไผ่ ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม เป็นเจ้าอาวาส
(เพียงพร : คัดทานจากหนังสือ ห้าสิบปีสวนโมกข์ ท่านอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง แจกเป็นธรรมทานในการอบรมมาตาภาวนา ที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ สวนรถไฟ จตุจักร)