วันนี้วันพระ

วันแม่แห่งชาติ

“พระพุทธองค์ตรัสว่า “การให้ธรรมทาน ชนะการให้ทุกอย่าง” การให้ธรรม คือ การบอกทางที่จะเดินไปสู่ความดี คุณพ่อ คุุณแม่ สอนลูกให้เป็นลูกที่ดี คือ การบอกทางที่จะเดินไปสู่ความดี คือ การให้ธรรมเป็นทาน นั่นเอง”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) จากหนังสือ ธรรมะให้ลูกดี

วันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

สำหรับตอนนี้ผู้เขียนเล่าย้อนไปในช่วงที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ หรือหัวหน้าคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต่อเนื่องยาวนานถึง ๑๕ ปี (พ.ศ.๒๕๐๗-๒๕๒๑) ผ่านบันทึกของพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๖๑. มหาจุฬาฯ สู่ยุคของเลขาธิการ

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๖๑. มหาจุฬา สู่ยุคของเลขาธิการ

ท่านเจ้าคุณเลขาธิการ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เมื่อเป็นเลขาธิการมหาจุฬาฯ  ครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระราชวิสุทธิเมธี, พระเทพคุณาภรณ์, พระธรรมคุณาภรณ์ จนถึงพระพรหมคุณาภรณ์  ดํารงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาฯ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑

ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ร้ายในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา  ได้มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งงานบริหารและตัวบุคคลผู้บริหารงานของมหาจุฬาฯ  นับว่าบ่อยทีเดียว มีอธิการบดี  หรือผู้รักษาการอธิการบดี  เรียกตำแหน่งไม่ลงตัว  มีรองอธิการบดีแล้วไม่มี  มีสั่งการเลขาธิการหลายท่าน  แล้วมีเลขาธิการในเวลาสั้นๆ  และไม่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้นที่เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีกไม่แน่นอน แม้แต่ขอบเขตของงานในความรับผิดชอบก็อาจจะค่อนข้างสับสน

จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ เมื่อยุติเรื่องตัวบุคคล  โดยท่านเจ้าคุณเลขาธิการ  เข้ารับงานประจําหน้าที่แล้ว  ก็เป็นอันถึงจุดนิ่ง  ลงตัว  แล้วงานก็ต่อเนื่องสืบมา

ผู้เล่า (พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ไม่ได้ร่วมรู้ร่วมเห็นแจ้งชัดถึงสถานการณ์ในช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๗  เพราะตนเองได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ  เมื่อเรื่องราวกําลังเข้าสู่จุดลงตัวในปี พ.ศ. ๒๕๐๗  นั้นแล้ว  ก็ทํางานในระยะเวลาที่ตําแหน่งต่างๆ  และตัวบุคคลทั้งหลายเข้าที่นิ่ง  เข้าขบวนไปกับท่านเจ้าคุณเลขาธิการสืบมาแต่บัดนั้น

ได้บอกแล้วว่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการรูปที่ ๒ แบบฉับพลัน  ไม่ทันได้รู้ตัวมาก่อน  ณ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๗  นึกไม่ออกว่า  ไม่รู้ความใดก่อนมีประกาศแต่งตั้งนั้นออกมา  มีแต่ว่าก่อนนั้นไม่กี่วัน  เมื่อ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗  ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการ  แผนกโรงเรียน พุทธศาสนาวันอาทิตย์

  มีความจําเลาๆ เป็นภาพเลือนๆ ไม่แน่นักว่าจะจำถูกเวลาแน่ไหมว่า  ก่อนมีการประกาศนั้นออกมา ๒ – ๓ – ๔ วัน  ขณะอยู่ในห้อง  ในกุฏิที่วัดพระพิเรนทร์  จู่ๆ พระอาจารย์เจ้าคุณพระราชวิสุทธิเมธี (สมเด็จเกี่ยว)  และพระอาจารย์เจ้าคุณ พระกวีวรญาณ ก็เข้าไปเยี่ยมในห้องที่อยู่นั้น

น่าแปลกใจ  ทําไมพระอาจารย์เปี่ยมเมตตามาเยี่ยมลูกศิษย์แบบไม่รู้ตัวถึงในกุฏิ  ในห้องเล็กๆ ราว ๓.- ๓.๕ เมตร  เข้าใจว่าท่านมางานศพที่ศาลาข้างนอก  แล้วก็เลยถือโอกาสแวะเข้ามาดูว่าลูกศิษย์เป็นอย่างไร  แล้วหลังจากนั้นไม่กี่วันที่มหาจุฬาฯ  ก็มีประกาศแต่งตั้งพระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต  เป็นผู้ช่วย เลขาธิการรูปที่ ๒ ดังได้เล่าข้างต้น

อีก ๔ วันจากนั้น คือ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗  ท่านก็ให้ไปนั่งประจำที่โต๊ะทํางานของท่านเจ้าคุณพระกวีวรญาณ  แล้ว ณ วันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านเองก็ลาออกจากตําแหน่งไป

  ต่อแต่นั้น  ในห้องสํานักงานเลขาธิการ  ที่หน้ามุขชั้น ๒ ท้ายตึกด้านตะวันตก  ก็เป็นที่ทํางานของผู้เล่า โดยมีท่านที่อยู่ด้วยกันตลอด ๙๐ ปี  จนผู้เล่านี้ลาจากไปในปี พ.ศ.๒๕๑๗  คือ อาจารย์สมบูรณ์ (พระมหาสมบูรณ์ สมฺปุณฺโณ)

ส่วนท่านเจ้าคุณเลขาธิการอยู่ในห้องอธิการบดีที่หน้ามุขชั้นล่างท้ายอาคาร  ด้านตะวันออก  ท่านมาสม่ำเสมอโดยไม่ทิ้งช่วงยาว  เพราะนอกจากงานในตําแหน่งหน้าที่แล้ว  ก็ยังมีงานสอน  งานจร  และกิจนัดหมายพิเศษ  แต่ท่านมาทุกวันไม่ได้  เพราะมีงานด้านอื่นหลายอย่าง  โดยเฉพาะงานด้านการคณะสงฆ์ที่ว่าเป็นการดูแลวงล้อมรอบมหาจุฬาฯ  รวมทั้งเรื่องของวัดสระเกศฯ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงอันมีกิจการมากมายใหญ่โต  แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่ให้พร่อง  การสื่อสาร  การบอกเล่า  รายงาน  และการปรึกษา ฯลฯ”

  คําบอกเล่าซึ่งนํามาบันทึกไว้ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม”  ซึ่งตัดตอนมาให้เห็นว่า ในช่วง ๑๐ ปีที่ พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต  กับเจ้าประคุณพระราชวิสุทธิเมธี (สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)) ทําหน้าที่ในฐานะเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการร่วมกันมาอย่างใกล้ชิดยาวนานในมหาจุฬาฯ ถึง ๑๐ ปี  ปริศนาธรรมอันลี้ลับนี้  สาธารณชนทั่วไปไม่มีใครทราบมาก่อนเลย

ความสัมพันธ์ในการทํางานร่วมกันเช่นนี้เอง  ทําให้ได้แลเห็นการประสานความคิดของสองปราชญ์ เพื่อประกาศพุทธธรรมเคียงข้างกันและกัน  ทั้งในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  รวมทั้งการทําหน้าที่สําคัญในประวัติศาสตร์  เมื่อสามปราชญ์คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์  (ช่วง วรปุญฺโญ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระเทพวรเมธี  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระศรีวิสุทธิโมลี  มีโครงการเยี่ยมเยือนเพื่อนร่วมโลกในทวีปเอเชียและสหรัฐอเมริกา  และทวีปยุโรปในฐานะผู้แทนจากประเทศไทย ประกอบด้วยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนา  ดังรายงานการบันทึกของพระธรรมปิฎก  หรือ พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ดังที่ได้เล่าไว้ในข้างต้น

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๖๑. มหาจุฬาฯ สู่ยุคของเลขาธิการ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here