อีกหนึ่งหลักสูตรพัฒนาพระวิทยากรเชิงปฏิบัติการเพื่อเป็นส่วนเสริมการสร้างพระธรรมทูตเพื่อช่วยเหลือคนให้พ้นทุกข์ในยุคไร้พรมแดน โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
พุทธวิธีในการค้นหาศักยภาพ
“สุ จิ ปุ ลิ” ทักษะเพื่อชีวิตดีงาม
โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙ ดร.
คราวที่แล้วเล่าถึงภาพรวมการทำงานของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหกด้านของพระสงฆ์ ตามมติมหาเถรสมาคม ที่ ๔๑๒/๒๕๕๖ เห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการสนับสนุน การดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการทำงานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ฉบับนี้ขอเล่าเรื่องการถอดบทเรียน หลักสูตร “สุ จิ ปุ ลิ เพื่อชีวิตดีงาม” ซึ่งเป็นหลักสูตรเตรียมพระธรรมทูต สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐ ที่จัดขึ้นที่วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี ลาดกะบัง ๕๔ ซอย จรเข้น้อยซอย ๘ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๙-๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙ อันเป็นอีกหลักสูตรหนึ่งของการสร้างพระธรรมทูตเชิงปฏิบัติการที่เป็นส่วนเสริมในการสร้างพระธรรมทูตไปปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีอยู่ทั่วโลกในวันนี้ โดยในการอบรมดังกล่าวมี พระวิทยากร คือ พระมหา ดร.ขวัญชัย กิตฺติเมธี และ พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป มีพระผู้เข้าอบรมทั้งหมด ๒๕ รูปจากทั่วประเทศ
สุ จิ ปุ ลิ เป็นเรื่องสำคัญของการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสื่อสารเพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ และผลจากการที่เราฝึกฟัง คิด ถาม และเขียน อย่างชัดเจนแล้วจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทุกข์ของชีวิต และการทำงานสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น ในการเรียนการสอน ก็ทำให้ครูกับศิษย์เรียนรู้กันได้มีประสิทธภาพมากขึ้น ตลอดจนการสื่อสารกับใครก็ตามย่อมทำให้เกิดความเข้าใจกัน มิตรภาพก็จักปรากฏไปทุกแห่งหน
และสำหรับพระธรรมทูต นั่นคือ ทักษะในการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ตรงตามทุกข์ที่เขาประสบ โดยแนะแนวทางวิธีที่เขาจะหาหนทางในการแก้ทุกข์ให้ได้ด้วยตนเองด้วยเป็นประเด็นสำคัญ เพราะการพึ่งตนเองที่จะทำให้ตนเองพ้นทุกข์ได้
คือเป้าประสงค์ของพระพุทธองค์และพระพุทธศาสนา
โดยความหมายของสุ จิ ปุ ลิ ก็คือ
๑. สุ ย่อมาจากคำว่า สุตตะ แปลว่า การฟัง
๒. จิ ย่อมาจากคำว่า จินตะ หรือ จินตนา แปลว่า การคิด
๓. ปุ ย่อมาจากคำว่า ปุจฉา แปลว่า การถาม
๔. ลิ ย่อมาจากคำว่า ลิขิต แปลว่า การเขียน
เมื่อทุกท่านสามารถนำทักษะทั้ง ๔ นี้ไปปฏิบัติได้จริง จะทำให้สามารถพึ่งตนได้และช่วยเหลือผู้อื่นได้ และกิจกรรมสามวันนี้ก็เพื่อขุดศักยภาพในการฟัง คิด ถาม และการเขียนที่นอนเนื่องอยู่ในจิตออกมาพัฒนาเพื่อให้ทำงานได้จริง
กิจกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ในภาคเช้า-ภาคบ่าย พระมหาประสิทธ์ เริ่มด้วยการแบ่งกลุ่ม แล้วร่วมกันค้นหาความหมายของ สุ จิ ปุ ลิ และกิจกรรม “หนึ่งคำบันดาลใจ” โดยให้แต่ละรูปหาคำหรือประโยคที่เป็นแรงบันดาลใจแล้วพูดคุยกัน และเขียนบันทึก
ภาคค่ำ พระมหา ดร.ขวัญชัย กิตติเมธี บรรยายเรื่อง “คุณค่าของการทำงานเป็นกลุ่ม” แล้วให้แต่ละกลุ่มเขียนเป้าหมาย และเลือกเป้าหมายที่ทุกคนพึงพอใจ ก่อนจะให้ทุกคนถามคำถามที่จะทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น และให้โจทย์คำถามจากเรื่องเล่า โดยให้ทุกคนช่วยกันตอบ เพื่อฝึกการฟังกัน การคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างละเอียดด้วยการถาม และจดบันทึกเรื่องเหล่านั้นไว้
“ถ้าคิดแล้วไม่ได้ทำ เหมือนกับเราไม่เคยได้คิด” คำกล่าวจากพระอาจารย์ผู้เข้าอบรมแบ่งปันประสบการณ์จากกิจกรรม ทำให้ต้องตระหนักว่า เมื่อคิดสิ่งใดจนตกผลึกแล้วก็น่าจะต้องทำดูเพื่อให้เห็นจริง
ต่อมาในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ภาคเช้า พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ บรรยายเรื่อง “พุทธวิธีการสอน” ก่อนจะพาทำกิจกรรม “หนึ่งธรรมในกำมือ” ด้วยการให้แต่ละรูปค้นหาสิ่งรอบตัวมาเพื่อสอนธรรม และในภาคบ่าย พระมหาประสิทธ์ก็นำทำกิจกรรม “หนึ่งเป้าหมายหลายวิถี” โดยให้แต่ละรูปเขียนเกี่ยวกับอุปสรรคของตนเอง และเขียนวิธีการแก้ไขอย่างน้อย ๗ วิธี จากนั้นเลือกข้อที่ทำได้เลย ทำได้ไว ทำได้แน่นอน ก่อนจะเขียนเล่าเป็นเรื่อง และเขียนคำแนะนำของกัลยาณมิตรไว้
ข้อคิดที่สะท้อนผ่านพระผู้เข้าอบรมทั้ง ๒๕ รูปสรุปได้ว่า
๑. ทำให้รู้จักตนเองมากขึ้น
๒. เรียนรู้และฟังคนอื่น ช่วยเหลือกัน
พระมหา ดร.ขวัญชัย กิตฺติเมธีสรุปเป็นกระบวนการ “เขียน คิด และฟัง” คือ
๑. ฝึกหัดให้เกิดการคุยกับตนเอง เพราะพระพุทธองค์ก่อนจะทรงตรัสรู้ได้ดำริในใจตลอดถึงเป้าหมายและวิธีการที่พระองค์ปฏิบัติ สุดท้ายนำไปสู่หลักอิทธิบาท ๔
๒. ได้เพิ่มเติมข้อคิดจากกัลยาณมิตร เพราะการคุยกันถึงอุปสรรคของตนและได้แง่คิด เท่ากับสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายคนพูดก็สบายใจ ฝ่ายคนให้กำลังใจก็เกิดความเชื่อมั่น
๓. ได้วิธีการเขียนเรียงเรียงความคิดทีละประเด็น
ส่วนในภาคค่ำ พระมหาประสิทธ์ ฝึกการเขียนแบบสรุป เริ่มต้นด้วยการบรรยายเรื่องการปรับตัวไปสักพักหนึ่ง พอเล่าเสร็จก็ถามผู้เข้าอบรมว่าได้ข้อสรุปอะไรบ้าง ฝึกการจดประเด็น, สรุปประเด็น, สรุปความ ต้องจดรายละเอียดให้มากที่สุด
จากนั้นให้ผู้เข้าอบรมเล่านิทาน และทุกคนตั้งใจฟังแล้วบันทึกเป็นประเด็นไม่เกิน ๗ ประเด็น รวมไปถึงว่า เรื่องนี้สอนให้รู้อะไร
โดยประเด็นสำคัญก็คือ เราฟังอะไรมาควรแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น แล้วสรุปเชิงพรรณนาเรื่องที่ได้ฟังมาไม่เกิน ๕ บรรทัด
ในตอนค่ำของกิจกรรมวันที่สอง พระมหา ดร.ขวัญชัย กิตติเมธี สรุปเนื้อหากิจกรรมว่า
๑. การสรุปต้องมีทักษะในการฟังก่อน และถ้าจะต่อยอดต้องมีข้อมูล โดยเฉพาะมีหลักฐานข้อเท็จจริงเพื่อเปรียบเทียบ และสร้างสมมติฐานเมื่อเราศึกษามากขึ้น
๒. ทุกรูปต้องเตรียมตัวให้พร้อม เป็นคนหูไวตาไว และตั้งใจอย่างจริงจัง จึงต้องเตรียมเครื่องมือไปเก็บความรู้ทุกอย่างในอินเดียกลับมา ซึ่งจะเป็นการเดินทางครั้งต่อไป และนำเสนอให้ชัดที่สุด
ต่อมาในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ฝึกทักษะด้านการเขียนบทความ โดยพระมหาประสิทธ์ ญาณปฺปทีโป โดยเริ่มต้นจากการมีบทเกริ่นนำ เนื้อหา และสรุป โดยข้อคิดที่สะท้อนผ่านผู้อบรมมีมากมาย
สรุปเป็นภาพรวมได้ว่า ทำให้มีประสบการณ์ในการสอนธรรมจริง , ได้ฟังข้อคิดที่เป็นประโยชน์จากทุกคน เพราะการฟังผู้อื่นเท่ากับได้ตรวจสอบตนเอง