จากโครงการสร้างพระนักเขียน โดย สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ สู่การเขียนบทความอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

วิบากกรรม หวย ๓๐ ล้าน

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

จากคอลัมน์ เขียนธรรมให้ถึงโลก หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก

วันอังคารที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑

           การดำเนินชีวิตถ้าตั้งอยู่บนฐานด้วยการทุจริตทางกาย วาจา และใจ แม้ชีวิตเพียบพร้อมไปด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ เงินทองมากมายก็หามีความสุขไม่ เพราะใจของเราจะไม่มีวันสงบ ทุกข์ใจ กังวลใจ จิตใจเศร้าหมอง เหมือนใจตกนรกทั้งเป็นดังคำโบราณที่ว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ”

           อนึ่ง ข่าวที่คนในสังคมตามติดให้ความสนใจพร้อมทั้งสร้างความสับสนให้กับสังคมเป็นอย่างมาก คือ ลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ๓๐ ล้าน เป็นของใครระหว่างอดีตข้าราชการตำรวจ และ ครูชำนาญการพิเศษ ซึ่งหนึ่งในสองคนนี้ต้องมีคนกระทำความผิดโกหกพูดเท็จต่อสังคมอยู่หนึ่งคน

สำหรับผู้กระทำความผิดต้องรับโทษทางอาญา และชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ตลอดถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดก็ต้องร่วมรับโทษไปด้วย และถ้าข้อเท็จจริงทนายทราบว่าหนึ่งในสองคนนี้กระทำความผิดแล้วยังช่วยเหลือ ถือว่าผิดมารยาททนายความนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตทนายความได้

นอกจากจะผิดกฎหมายบ้านเมือง ยังเป็นการผิดศีล ๕ เพราะละเมิดศีลข้อที่ ๔ เว้นจากการพูดเท็จ ผู้ที่ละเมิดศีลข้อที่ ๔ ย่อมได้รับผิดวิบากกรรม และถ้าใครสามารถรักษาศีลข้อที่ ๔ ให้บริสุทธิ์ก็ย่อมได้รับอานิสงส์เช่นกัน ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย มุสาวาทอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัยวิบากแห่งมุสาวาทอย่างเบาที่สุด  ย่อมยังการกล่าวตู่ด้วยคำไม่เป็นจริงให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ฉบับหลวง เล่ม ๒๓ หน้า ๑๙๓ )

           จะเห็นว่าเมื่อใครละเมิดศีลข้อที่ ๔ ย่อมได้รับวิบากกรรมดังนี้ ๑) เกิดในนรก ๒) เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ๓) เกิดเป็นเปรต ๔) โทษเบาที่สุดหากเกิดเป็นมนุษย์บุคคลนั้นมีวาจาที่ไม่น่าเชื่อถือ และถูกกล่าวหาด้วยคำไม่จริงอยู่เสมอ

“มุสวาทา เวรมณี มีผลเป็นต้นอย่างนี้ คือ ความมีอินทรีย์ผ่องใส ความเป็นผู้พูดวาจาไพเราะสละสลวย ความมีพื้นเรียงเรียบและสะอาด ความไม่อ้วนเกินไป ความไม่ผอมเกินไป ความไม่เตี้ยเกินไป ความไม่สูงเกินไป ความมีสัมผัสสบาย ความมีปากมีกลิ่นดังดอกอุบล ความมีตนใกล้ชิดเชื่อฟังดี ความมีวาจาที่เชื่อถือได้ ความมีลิ้นอ่อนแดงบางเสมือนดอกโกมลและอุบล ความไม่ฟุ้งซ่าน ความไม่คลอนแคลน”  (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ พรรณนาสิกขาบท มก. เล่ม ๓๙ หน้า ๔๑ )

           อานิสงส์ของผู้รักษาศีลข้อที่ ๔ คือ ๑) มีอินทรีย์ผ่องใส ๒) เป็นบุคคลพูดจาไพเราะ สละสลวย ๓) มีฟันสะอาดและเรียบเรียงเสมอกัน ๔) ไม่อ้วนเกินไป ๕) ไม่ผอมเกินไป ๖) ไม่เตี้ยเกินไป ๗) ไม่สูงเกินไป ๘) มีความสุขกาย สุขใจ ๙) มีกลิ่นปากหอมเหมือนดอกอุบล ๑๐) บริวารหรือคนรอบข้างเชื่อฟังดี ๑๑) มีคำพูดที่เชื่อถือ ๑๒) มีลิ้นงดงามเหมือนดอกโกมลและดอกอุบล ๑๓) จิตไม่ฟุ้งซ่าน ๑๔) ชีวิตมีความมั่นคง  

           ทั้งนี้ จะเห็นว่าใครละเมิดศีลข้อที่ ๔ ก็ย่อมได้รับวิบากกรรม แต่ถ้าใครรักษาศีลข้อที่ ๔ ชีวิตก็นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นในการดำเนินชีวิตของเราไม่ควรตั้งอยู่บนฐานของการโกหกพูดเท็จ แต่ควรเป็นคนมีสัจจะ กล่าวคือ เป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ เที่ยงตรง จริงใจ ประพฤติชอบด้วยความสุจริตทั้งทางกาย วาจา และใจ ดังนี้

๑) สัจจะต่อหน้าที่การงาน หมายถึง รับผิดชอบงานจริง เอาใจใส่ต่อหน้าที่ได้รับมอบหมาย และทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียรมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน เช่น ได้รับผิดชอบให้ทำงานใด ก็ต้องใส่ใจต่อหน้าที่ และทำงานนั้นให้สำเร็จ

           ๒) สัจจะต่อวาจา หมายถึง พูดจริง ทำจริง ไม่ผิดคำพูด เป็นบุคคลที่มีวาจาสิทธิ์ และคำพูดนั้นต้องจริงใจทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เช่น สัญญา สาบาน กับใครไว้ต้องทำตามนั้น รับปากหรือพูดอะไรกับใครไว้ต้องทำให้ได้

           ๓) สัจจะต่อบุคคล หมายถึง มีความซื่อสัตย์ จริงใจต่อบุคคลที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่น จริงใจต่อครูบาอาจารย์ จริงใจต่อพ่อแม่และคนในครอบครัว จริงใจต่อเพื่อน จริงใจกับเพื่อนร่วมงาน   

           ๔) สัจจะต่อบุญ หมายถึง ตั้งใจมั่นในความดี ทำดีเพื่อดี ไม่ใช่เพื่อหวังได้ลาภ ยศ สรรเสริญฯ โดยมุ่งมั่นประพฤติ ปฏิบัติทำความต่อดีให้เป็นปกติในการดำเนินชีวิตของตนเอง เช่น การทำดีต้องทำดีทั้งต่อหน้า และหลับหลัง เสมอต้น เสมอปลาย

           อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในสังคมเราควรหันกลับมาทบทวนตนเอง เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาพัฒนาตนเองด้วยการเป็นคนไม่มีความโลภ ไม่แสวงหาทรัพย์สินโดยผิดกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรมอันดีงาม แต่การดำเนินชีวิตควรตั้งมั่นอยู่บนฐานของ “สัจจะ” เป็นหลักธรรมนำใจชีวิตก็จะพบแต่ความดีงาม เจริญรุ่งเรือง และมีธรรมคุ้มครอง ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

         ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าคดีนี้จะตัดสินออกมาอย่างไรทางโลกก็ขอให้ผู้ชมไตร่ตรองอย่างมีสติและปัญญาเพื่อให้เห็นธรรม ตามความเป็นจริงถึงที่สุด และไม่กล่าวว่าใครต่อไปอีก เพราะอานิสงส์แห่งศีลคือคำตอบของการกระทำเป็นที่แน่ชัดอยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท พึงมีสติระลึกรู้ตนเองเป็นดีที่สุด

พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

“วิบากกรรม หวย ๓๐ ล้าน” บันทึกเขียนธรรมให้ถึงโลก โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม จากคอลัมน์ เขียนธรรมให้ถึงโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

หลักสูตรพระนักเขียน เป็นหนึ่งในหลายๆ หลักสูตรของสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ดังนี้

๑. หลักสูตรพระวิทยากรกระบวนธรรม เน้นฝึกพระวิทยากรให้มีทักษะด้านการอบรมแบบเป็นกระบวนการ โดยใช้กระบวนการด้านการให้คำปรึกษาเชิงพุทธ

๒. หลักสูตรพระวิทยากรบรรยายธรรม เน้นฝึกพระวิทยากรให้มีทักษะด้านการอบรมแบบบรรยาธรรม โดยให้พระวิทยากรมีทักษะในรูปแบบต่างๆ ประกอบการบรรยาย ทั้งสาระธรรมและกิจกรรมนันทนาการ

๓. หลักสูตรพัฒนาสื่อออนไลน์ เน้นฝึกให้พระวิทยากรใช้สื่อออนไลน์ในการเผยแผ่

๔. หลักสูตรพระนักเขียน เน้นฝึกให้พระวิทยากรได้มีทักษะด้านการเขียนแบบรายงานกิจกรรมการฝึกอบรมแต่ละครั้ง ความเรียง บทความ คอลัมน์หนังสือพิมพ์ บทความทางวิชาการ และหนังสือเล่ม

๕. หลักสูตรพัฒนาศักยภาพการปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยา เป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาให้เหมาะกับการทำงานการเป็นวิทยากรของกลุ่มแม่ชี ผ่านกระบวนการด้านการให้คำปรึกษาแนวพุทธเชิงลึก เป็นต้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here