วันนี้วันพระ วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

ศึกษาปฏิปทาพระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต

บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน

เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

สำหรับสองบทนี้ผู้เขียนสรุปสาระสำคัญบางประการเกี่ยวกับที่มาของ “คมความคิด” และจุดกำเนิดสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๗๒. คมความคิด ๗๓. ความสัมพันธ์ของวัดกับชุมชน

 : เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๒.คมความคิด

              “ทำพระเณรตนเองให้ดี”

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ  ให้ความสำคัญกับการศึกษา  โดยกล่าวว่า  พระ-เณรต้องเรียน  เรียนอะไรก็ได้ ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย  เพราะพระ-เณรจะเป็นผู้รักษาพระศาสนา  และเน้นให้ทำงานช่วยกันปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรม  จริยธรรม  และศีลธรรมให้กับเยาวชนและประชาชนในชาติ  ซึ่งหนทางนี้เท่านั้น  จะช่วยให้เกิดความมั่นคงแก่พระศาสนา  จึงเป็นจุดเริ่มต้นการจัดตั้ง  “สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์”

              หลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ  มองเห็นความสำคัญในการที่จะสืบต่ออายุกาลพระพุทธศาสนานั้น จะต้องเริ่มต้นด้วยการส่งพระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนให้มีคุณภาพทางการศึกษา  ดังโอวาทธรรมของหลวงพ่อ ได้กล่าวทุกๆ คืนภายในพระอุโบสถ

ต้องเรียนหนังสือ  ยังไม่อาวุโส  อย่างพึ่งคิดเรื่องการทำงาน  เมื่อเข้าช่วงวัยศึกษาต้องแสวงหาความรู้  ถือว่าเป็นหน้าที่ต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ได้รับการศึกษา”

 หลวงพ่อได้ให้การสนับสนุนการศึกษาพระภิกษุสามเณรเป็นประจำทุกปี  เพื่อให้ได้รับการศึกษาอันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง  เนื่องจากการศึกษาจะสอนให้เราได้บุคคลที่มีกิริยามารยาทที่งดงาม มีวาจาที่อ่านหวาน  พูดจาไพเราะ  มีหลักการของเหตุผล  มีภูมิความรู้ที่เต็มศักยภาพ  ถือว่าเป็นการทำประโยชน์ส่วนตนได้สมบูรณ์

              หลังการที่ได้พัฒนาตน  ทำประโยชน์ส่วนตนสมบูรณ์แบบแล้ว  ต้องฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ  เพื่อให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลืองานวัด  ช่วยทำงานร่วมกับชุมชน ให้เป็นที่พึ่งเขาได้  เมื่อเขาลำบากทั้งทางกาย  ทางใจ  เราจะได้มีวิธีในการช่วยเขาได้แก้ไขปัญหาอุปสรรคของความทุกข์นั้นได้  คือ

“เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

              ในการพัฒนาบูรณปฏิสังขรณ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  หลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านจะทำไปเรื่อยๆ ค่อยบูรณะในแต่ละที่ทีละส่วน  เพื่อจะได้ไม่เบียดเบียนคนอื่นมากเกินไป  เพราะว่าหลวงพ่อไม่อยากที่จะไปรบกวนจตุปัจจัยของชาวบ้าน  หรือของชุมชน  มีเงินก็ค่อยทำไป  ทำในส่วนที่สำคัญก่อน  มีการวางแผนในการบูรณะวัดเพื่อให้มีความงดงาม  พร้อมกับช่วยเหลือชุมชน  ประชาชน  ให้ได้รับความความสุขในการมากราบไหว้พระ

๗๓. ความสัมพันธ์ของวัดกับชุมชน     

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  มีชีวิตอยู่อย่างสมถะเรียบง่าย  ปฏิปทาที่ยึดถือปฏิบัติมาตลอดชีวิต คือ  “ไม่บอกบุญ  ไม่เรี่ยไร  ไม่สร้างวัตถุมงคลใดๆ”  ตลอดชีวิตเจ้าประคุณสมเด็จจึงไม่เคยเอ่ยปากขอให้ใครสร้างอะไรให้ท่าน  และไม่สร้างวัตถุมงคลใดๆ  ส่วนใครจะสร้างท่านก็ไม่ว่าอะไร  ถือเป็นการอนุเคราะห์ตามคติโลก  เพียงแต่ตัวท่านไม่สร้าง  หากใครมาขออนุญาตสร้าง  ท่านก็เมตตาอนุญาต

              การส่งพระภิกษุสามเณรไปทำงานร่วมกับชุมชน  เพื่อพระสงฆ์จะได้ตอบแทนชุมชมได้ให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา  หลวงพ่อมองว่าการจะเชื่อมกับชุมชนได้ดี  ต้องช่วยเหลือชุมชนให้มาก  สิ่งไหนที่เราพอที่จะช่วยได้ให้เข้าไปช่วย  เช่น  ไปให้ธรรมะ  ไปให้กำลังใจ  ช่วยเหลือแบ่งปันแจกของอุปโภคบริโภคในสิ่งที่เขาจำเป็นต้องกินต้องใช้ให้กับชุมชน

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๗๒. คมความคิด ๗๓. ความสัมพันธ์ของวัดกับชุมชน : เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here