วันนี้วันพระ
วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
“ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.
ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์
ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”
“สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสพระโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งขึ้นต้นที่แปลเป็นใจความว่า “ขันติ เป็นบรมตบะ นิพพาน เป็นบรมธรรม” ซึ่งเป็นที่เข้าใจความหมายโดยทั่วไป “พระอรหันตสาวก” ได้ปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่างแก่คนในยุคพุทธกาล แม้ในปัจจุบัน พระเถระที่ท่านยึดเป็นหลักปฏิบัติจนปรากฏแก่สายตาของผู้ได้พบเห็นยังมีอยู่
“ท่านแสดงให้เห็นถึงความอดทน จนกล่าวได้ว่า เป็นแนวแห่งบรมตบะ และได้ปฏิบัติให้เกิดควาามสงบทางกาย วาจา และทางใจจนแสดงให้เห็นได้ว่า ท่านมีใจสงบตามแนวแห่งบรมธรรม
“ท่านพระเถระ ที่ถือปฏิบัติตามหลักสองประการนี้ ท่านสามารถสร้างความเจริญกาย เจริญใจ แก่คนทั้งหลายที่ได้พบเห็น สามารถธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ทั้งในทางรูปธรรมแและนามธรรม ท่านผู้นับถือพระพุทธศาสนา มีความมั่นใจได้ว่า พระเถระที่ยึดถือปฏิบัติดังกล่าวโดยย่อ ยังมีปรากฏให้ได้เห็นกันอยู่”
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต
บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน
เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”
วิถีแห่งผู้นำ
: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
๕๖. ลำดับสมณศักดิ์ ๕๗.ปฏิปทาหลวงพ่อสมเด็จฯ
เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
๕๖.ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระเมธีสุทธิพงศ์
พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวิสุทธิเมธี ตรีปิฎกโกศล โสภณธรรมวาที ศึกษาธิบดีธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพคุณาภรณ์ สุนทรธรรมวาที ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมคุณภรณ์ สุนทรคัมภีรญาณ ตรีปิฏกาธารวิมล โสภณปริยัติกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระพรหมคุณาภรณ์ สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัตติโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ภาวนากิจวิธานปรีชา ญาโณทยวรางกูร วิบูลวิสุทธิจริยา อรัญญิกมหาปริณายก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี
พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
๕๗ .ปฏิปทาหลวงพ่อสมเด็จฯ
ด้านพระกรรมฐาน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เรียนพระกรรมฐานในเบื้องต้นจากหลวงพ่อพริ้ง ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์องค์สำคัญของเกาะสมุย โดยหลวงพ่อพริ้งได้นำเจริญพระกรรมฐานบนหลุมฝังศพขณะมีอายุ ๑๒ ขวบ ต่อมา ได้เรียนพระกรรมฐานจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ซึ่งมีความชำนาญในพระกรรมฐานด้านกสิณ และยังได้ให้ความสนใจวิธีการเจริญพระกรรมฐานตามแนวต่างๆ ที่ปฏิบัติในประเทศ จนมีความชำนาญทุกสาย
เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ริเริ่มนำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดงานพระศาสนาเชิงรุกที่สำคัญในด้านต่างๆ ริเริ่มให้พระสงฆ์นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา อนุวัติให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่
ได้บริจาคเงินสร้างตึกสงฆ์อาพาธในท้องถิ่นชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญหลายแห่งในนาม “อาคารผู้มีพระคุณ” เพื่อพยาบาลพระภิกษุ สามเณร ผู้อาพาธ และสาธุชนทั่วไป
ในด้านต่างประเทศ เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ริเริ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ริเริ่มการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ ริเริ่มให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศ ริเริ่มสานงานศาสนสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และริเริ่มฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศจีน ได้ออกเดินทางไปต่างประเทศทั่วทุกมุมโลก เพื่อหาแนวทางที่จะให้มีวัดเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ
และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นประจำ
ด้านการเผยแผ่ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้แสดงพระธรรมเทศนาภายในพระอุโบสถวัดสระเกศฯ ตลอดพรรษา และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นประจำ แสดงธรรมทางสถานีวิทยุ ๙๑๙ ในรายการ “ของดีจากใบลาน”
และมีผลงานหนังสือมากมาย เช่น ธรรมะสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ดีเพราะมีดี, การนับถือพระพุทธศาสนา, ปาฐกถาธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), พระธรรมเทศนาและบทความสมเด็จพระพุฒาจารย์, การดำรงตน, กตัญญูกถา, คุณสมบัติ ๕ ประการ, เย็นหิมะในรอยธรรม, สมาธิ หลักของใจ, ธรรมะให้ลูกดี, ธรรมะปรารภยามเช้า, ธรรมะปรารภยามค่ำ, สุขทุกข์อยู่ที่ใจ, พระธรรมเทศนาหน้าพระที่นั่ง เป็นต้น