น้อมเศียรเกล้ารำลึกถึงพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ (วัดโคกโก) เจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และเป็นประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส ในขณะนั้น ซึ่งท่านมรณภาพจากสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ณ วัดรัตนานุภาพ

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๒ ขอน้อมนำธรรมะจากพระพุทธเจ้า ซึ่งพระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จิตฺตธมฺโม) เมตตาให้ไว้ พร้อมภาพถ่ายของท่านกับพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ ที่หน้าองค์พระพุทธชินราช ในศาลาธรรมมานุภาพ​ที่วัดรัตนานุภาพ เพื่อเป็นกำลังใจในการบำเพ็ญเพียรเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ในวัฏสงสาร ทุกวัน ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก ดังนี้

“ปธาน ๔ ประการ”

“ปธาน ๔ ประการ ปธาน แปลว่า ความเพียร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัมมัปปธาน แปลว่า ความเพียรชอบ หรือความเพียรที่ถูกที่ควร หมายถึง ความเพียรที่ควรตั้งไว้ในใจ เป็นธรรมสำหรับกำจัดความเกียจคร้านและปลุกใจให้ฝักใฝ่ในการสร้างคุณงามความดี มี ๔ ประการ คือ

๑. สังวรปธาน สังวรปธาน เพียรระวัง หรือ เพียรปิดกั้น คือ ความเพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน ได้แก่ พยายามระมัดระวังไม่ให้ความชั่ว คือ โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นใจจิตใจ ด้วยการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส และใจรับรู้ธรรมารมณ์ อันจะเป็นสาเหตุให้ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลได้

๒. ปหานปธาน ปหานปธาน เพียรละ หรือ เพียรกำจัด คือ เพียรละหรือกำจัดบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ ความพยายามในการกำจัดความชั่ว คือ โลภะ โทสะ โมหะ ที่เกิดขึ้นแล้วและมีอยู่ในจิตใจให้หมดไป ด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เพื่อถ่ายถอนความชั่วทั้งหลายเสียให้ได้

๓. ภาวนาปธาน ภาวนาปธาน เพียรเจริญ หรือ เพียรทำให้เกิดขึ้น คือ ความเพียรในการสร้างกุศลให้เกิดขึ้นในสันดาน ได้แก่ ความพยายามในการสร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้นในสันดานให้มาก ๆ ด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา คนที่ยังไม่มีก็พยายามทำให้มี คนที่มีอยู่แล้วทำอยู่แล้ว ก็พยายามทำให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

๔. อนุรักขนาปธาน อนุรักขนาปธาน เพียรรักษา คือ ความเพียรในการรักษาคุณงามความดีที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสื่อมไป ได้แก่ การพยายามประคับประคองรักษาคุณงามความดีของตนที่มีอยู่ไม่ให้เสื่อมถอย รักษาสภาพจิตใจของตัวเองที่ดีอยู่แล้วไม่ให้อ่อนแอจนตกไปเป็นทาสของกิเลส รักษาจิตใจให้เข้มแข็ง ไม่ให้ถูกชักจูงไปทำความชั่วได้ง่าย ๆ

อีกความหมายหนึ่ง ความเพียร ๔ ประการ วิริยะ คือ ความเพียรอย่างยิ่งในการทำความดี เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้า ความสำเร็จ ความเพียรที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา มี ๔ ประการ คือ

เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นภายในใจ

พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปลูกฝังความพอใจ ใช้ความเพียรอย่างต่อเนื่อง ในการรักษาใจ ประคองใจไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ในเวลาที่ตาเห็นรูป หูฟัง เสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจนึกตรึกตรองปรุงแต่งถึงอารมณ์ที่มาสัมผัส ถูกต้อง เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว พระพุทธองค์ทรงสอนให้มีความพอใจ ใช้ความพยายามกระทำความเพียรอย่างต่อเนื่องในการละบาปอกุศลที่บังเกิดขึ้นแล้ว จะมากหรือน้อยเท่าไรก็ตาม เมื่อละได้แล้วให้ประคองจิตไว้ในที่นั้นๆ แล้วพยายามต่อไป โดยพิจารณาเห็นโทษของบาปอกุศล ที่เกิดขึ้นนั้น มีผลนำความทุกข์มาให้

เพียรพยายามสร้างบุญกุศลให้เกิดขึ้นในใจ

พระพุทธองค์ทรงสอนให้สร้างความพอใจความยินดีในการทำความดี มี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้นให้บังเกิดขึ้น โดยยึดหลักการปฏิบัติดีอย่างต่อเนื่อง ความดีที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น เมื่อสร้างได้แล้ว ให้พยายามรักษาคุณภาพจิตไว้และพยายามต่อไป ไม่ย่อท้อแม้มีอุปสรรคสะดุดล้มในบางครั้ง ต้องพยายามประคับประคองใจ ไม่ยอมแพ้ เพียรรักษาสิ่งที่ดี ที่บังเกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไป

พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปลูกฝังความพอใจใช้ความพยายามกระทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง ในการที่รักษากุศล คือ ความดีต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ไม่ให้เสื่อมไป เหมือนเกลือรักษาความเค็ม

ฉะนั้น ความเพียร ๔ ประการนี้ เรียกว่า ความเพียรในทางที่ชอบ หรือ ความเพียรชอบ ในอริยมรรค เป็นหลักธรรมที่ทรงสอนให้บุคคลประกอบความดีให้บังเกิดขึ้นในชีวิตของตน แม้แต่การบริหารบ้านเมือง อยู่ในโครงสร้างของความเพียรเช่นกัน

เพียรป้องกันสิ่งซึ่งเป็นพิษเป็นภัยที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดขึ้น เพียรกำจัดสิ่งที่เห็นว่าเป็นโทษเป็นภัยเป็นอันตรายที่เกิดขึ้น แล้วกำจัดให้หมดไป เพียรทำแต่เรื่องที่ดี มีประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนและบุคคลอื่น ให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น เพียรรักษาสิ่งดีงามเหล่านั้นให้คงอยู่และมีความเจริญงอกงามไพบูลย์เต็มที่

พระพุทธศาสนาเน้นความสำคัญเรื่องความเพียรอย่างถูกต้อง ซึ่งสามารถให้ผลสำเร็จก้าวหน้าในชีวิตของบุคคล ในหน้าที่การงาน ในการดำเนินชีวิต และในการปฏิบัติธรรม ล้วนต้องอาศัยความเพียรพยายามทั้งนั้น แต่จะต้องเป็นความเพียรพยายามในทางที่ชอบดังกล่าว เพราะเมื่อปฏิบัติเช่นนี้ ได้ชื่อว่าดำเนินตามหลักอริยมรรคที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้

“ปธาน ๔ ประการ” ธรรมะสำหรับการปลุกใจให้ฝักใฝ่ในการสร้างคุณงามความดี และเพียรสร้างบุญกุศลให้เกิดขึ้นในใจ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here